fbpx

บุกเบิกการเรียนรู้สู่ ‘มานิ’ กลางผืนป่าที่ตัวเลข เวลา และการศึกษายังเข้าไม่ถึง

มานิ

เวลา


ชีวิตของ เหน่ง เป็นอย่างนี้ – เขาเป็นเด็กชายชาวมานิ เกิดและเติบโตอยู่ในป่า ไม่เคยเหยียบย่างเข้าสู่ระบบการศึกษา และไม่รู้ว่าชีวิตในรั้วโรงเรียนเป็นอย่างไร หนังสือ เครื่องแบบ เกมกีฬา ทั้งหมดคือสิ่งห่างไกลเกินกว่าจะจินตนาการ แลดูไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตแบบชาวมานิที่พึ่งพาการขุดหาของป่า ล่าสัตว์ และโยกย้ายถิ่นฐานตามแหล่งอาหารเป็นหลัก

หลักสูตรสำคัญสำหรับเด็กๆ ของพวกเขา คือวิธีการเอาตัวรอดในป่า กินอย่างไร อยู่อย่างไร หาแหล่งน้ำจากที่ไหน ล่าสัตว์แต่ละตัวอย่างไร พืชพันธุ์ใดมีพิษและปลอดพิษ ทั้งหมดคือองค์ความรู้ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเริ่มลงหลักปักฐานในเทือกเขานครศรีธรรมราช ภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีผู้ใหญ่ภายในกลุ่มคอยเป็นครูชี้แนะตั้งแต่เล็กจนโต ชาวมานิส่วนมากมักไม่แบ่งแยกสายตระกูลเพื่อดูแลลูกหลานแบบของใครของมัน เด็กๆ มานิจึงเติบโตมาด้วยกัน และเรียนรู้จากผู้อาวุโสคนไหนก็ได้ อาจเป็นคนในครอบครัวของตน พ่อของเพื่อน เพื่อนของพ่อ ไปจนถึงตาเฒ่ารุ่นทวด ผ่านการติดสอยห้อยตามไปออกล่า ไปศึกษาเส้นทางในป่า ซึมซับสารพัดภูมิปัญญาเพื่อรอวันถ่ายทอดแก่ลูกหลานต่อไป

ด้วยความที่ชีวิตผูกพันอยู่กับป่า สามารถหากินและดูแลครอบครัวโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ทำให้เดิมทีชาวมานิติดต่อกับ ‘ฮามิ’ หรือคนภายนอกน้อยมาก ไม่ต้องมีเทคโนโลยี ไม่ต้องมีเงินตรา กระทั่ง ‘เวลา’ ยังเป็นเรื่องไม่สำคัญ มานิส่วนใหญ่ไม่รู้จักปี ไม่มีศักราช ไม่แบ่งโมงยาม

แต่ต่อให้ไม่มีคำเรียกขาน ก็ใช่ว่ากระแสเวลาจะละเลยพวกเขา

เมืองขยับขยาย ต้นไม้ถูกโค่น ทรัพยากรเสื่อมถอย แหล่งอาหารร่อยหรอ – มานิในวันนี้จำเป็นต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนของธรรมชาติ เหน่งคือตัวอย่างของเด็กมานิรุ่นใหม่ที่ได้รับสืบทอดความรู้ดั้งเดิมจากผู้ใหญ่ในกลุ่ม แต่ก็ต้องออกจากป่าไปทำงานรับจ้างให้ชาวบ้านในสวนยางและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ตัดลองกอง ขึ้นต้นมะพร้าว แบกของ ตัดหญ้า เพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว


เหน่ง


“บางทีก็มีงานมา บางทีก็ไม่”

วันที่เราพบเหน่งในทับของชาวมานิ กลุ่มวังสายทอง อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นวันที่ฝนทิ้งตัวไม่ขาดสาย เม็ดฝนทำให้เขาไปทำงานไม่ได้ ออกล่าในป่าก็ไม่ได้ ได้แต่ฆ่าเวลาด้วยการนอนเฉยๆ ในทับ และเล่าว่าปกติถ้าทำงานได้เงินมาครั้งละร้อยสองร้อยจะ “เอาเงินไปซื้อข้าวสาร มาม่า ปลาป๋อง เอามาแบ่งแม่ เอามาแบ่งพ่อ เอามาแบ่งเพื่อนๆ แบ่งกันทุกคน”

นิสัยแบ่งปันข้าวของกันและกันอย่างถ้วนหน้า ชนิดมีน้อยแบ่งน้อย มีมากแบ่งมาก มีอยู่ในตัวชาวมานิทุกคนจนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมประจำชาติพันธุ์ แต่สิ่งที่เหน่งมีแตกต่างไปจากคนอื่นคือทักษะการสื่อสารและการใช้ชีวิตร่วมกับคนภายนอก เขากล้าพูดกับคนแปลกหน้า รู้มูลค่าของเงินอย่างคร่าวๆ รวมถึงสามารถแนะนำตัวว่าอายุ 13 ปี – เป็นชาวมานิส่วนน้อยที่หัดนับเวลาและอายุของตนเองตามแบบสากล

ทั้งหมดนี้ ผลิดอกออกผลมาจากการสอนของ พี่ตาล – สรวรรณ นิรันรัตน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิพลเมืองพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่มักใช้เวลาว่างจากการทำงานขับเคลื่อนสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์มานิ จัดการเรียนการสอนแก่เด็กๆ ในสถานที่ของเครือข่ายฯ ว่าด้วยความรู้พื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น การพูดภาษาไทย การนับเวลา อายุ บวกลบตัวเลขง่ายๆ กระทั่งวิธีการใช้เงินจับจ่ายใช้สอย โดยเธอจะจัดหารถมารับส่งให้สำหรับคนที่สนใจมาเรียนด้วยกัน

“เขาเป็นนักเรียนของเรา นักเรียนรุ่นแรกที่ประสบความสำเร็จ” พี่ตาลกล่าวอย่างภาคภูมิใจ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมุ่งมั่นตั้งใจกับการเรียนจนสามารถประยุกต์ใช้ได้จริงเหมือนเหน่ง ต่อให้หลายเรื่องจะเป็นเพียงพื้นฐานการใช้ชีวิตประจำวันสำหรับคนทั่วไปก็ตาม และไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมเดินทางไปเรียนไกลบ้าน หากไม่เป็นเพราะไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างถึงที่สุด


สรวรรณ นิรันรัตน์


“เพราะเรียนกับป้าตาล เราถึงได้ไป เพราะรู้จักกัน” เหน่งกล่าวด้วยรอยยิ้ม โดยปกติแล้ว ชาวมานิหวงลูกหลานของตนมาก จากประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่ง ขุนนางท้องถิ่นเคยลักตัวเด็กชาย ‘คนัง’ ไปถวายแก่ในหลวงรัชกาลที่ 5 เพื่อชุบเลี้ยงเป็นมหาดเล็ก จนถึงปัจจุบัน จากปากคำของพี่ตาล ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติบางส่วนออกปากอยากได้เด็กชาวมานิกลับไปอุปการะอยู่ประปราย ทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่อยากปล่อยให้ลูกไปไหนไกลตัวและระวังระไวคนแปลกหน้าที่เข้ามาหาเสมอ

ตัวเหน่งเอง ถึงแม้จะร่ำเรียนมากับพี่ตาล และได้ใช้ความรู้ฉบับคนเมืองปรับตัวสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ กระนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าควรส่งลูกหลานในอนาคตของตนไปโรงเรียน หรือไปเรียนกับคนอื่นๆ นอกเหนือจากพี่ตาลดีไหม

“ยังไม่ได้คิดเลย” เขาว่า “ต้องดูก่อน ถ้าเป็นคนดีก็ให้ไป แต่ถ้าดูไม่ดีเท่าไหร่ ก็ไม่ให้ไป”

ชีวิตของชาวมานิเป็นอย่างนี้ – บางคนอาจจะเห็นภาพของเมื่อวาน เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

แต่ยังไม่มีภาพอนาคตว่าควรดำเนินต่อไปทางไหน



ตัวเลข


ท่ามกลางชาวมานินับร้อยชีวิตในจังหวัดสตูล มานิกลุ่มห้วยหนานซึ่งอาศัยอยู่บนยอดเขาในอำเภอทุ่งหว้า ถือเป็นกลุ่มที่เจริญก้าวหน้ามากกว่าใคร กล่าวคือแทนที่จะต้องโยกย้ายทับไปเรื่อยๆ ตามแหล่งอาหาร ชาวมานิกว่า 40 คนที่นี่เริ่มต้นตั้งถิ่นฐานบนที่ดินซึ่งได้มาจากการบริจาค ปลูกบ้าน ทำสวนยางและสวนผลไม้ เพื่อบริโภคและค้าขายหาเลี้ยงตนเอง 

แต่ถึงมีบ้านอันมั่นคงและไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้อง ทั้งหมู่บ้านกลับมีเพียงพี่แมวคนเดียวที่เลือกส่งลูกเข้าโรงเรียน

ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพียงไม่กี่ข้อ หนึ่งในนั้นคือ ‘กลัวจะอ่านเลขไม่ได้’

พี่แมวเล่าว่าตนเคยเห็นชาวมานิหลายคนเข้ารับการรักษาโรงพยาบาล ซึ่งใช้ระบบรับบัตรและขานเลขเรียกตรวจตามลำดับ พอไม่รู้จักตัวเลข ก็ทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยตกหล่นมากมาย ขณะที่การใช้ชีวิตประจำวันด้านอื่นๆ ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เช่น ถ้าไม่รู้ว่าเงินมีค่าแค่ไหน ใช้จ่ายแล้วควรได้ทอนกลับมามากน้อยเท่าไร ชาวมานิจะถูกคนนอกเอารัดเอาเปรียบได้โดยไม่ทันรู้ตัว

ทุกวันนี้ เพราะเป็นคนเดียวที่พอจะนับเลขได้ อ่านภาษาไทยออกบ้าง ทำให้พี่แมวกลายเป็นตัวแทนของหมู่บ้านติดต่อกับคนภายนอก เพื่อขายยาง ขายผลไม้ บางครั้งก็ดูแลเรื่องสิทธิต่างๆ ที่พี่น้องมานิกลุ่มห้วยหนานควรได้รับ ร่วมกับพี่ตาล – สรวรรณ และตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาสังคม เช่น การรับเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ราชการเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากเจ้าของเก่าสู่มือชาวมานิ เป็นต้น

นั่นทำให้พี่แมวคิดว่าการอ่านออกเขียนได้นั้นสำคัญกับชีวิตลูกอย่างมาก โดยเฉพาะในวันที่ไม่มีพ่อเคียงข้าง


พี่แมว


“ต่อไปข้างหน้ามันจะได้รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง ต่อไปข้างหน้ามันจะไปอยู่ส่วนตัวของพวกมันเอง เราก็ต้องเตรียมไว้” พี่แมวกล่าว “เราก็คิดว่าเด็กต้องทันสมัยข้างหน้า มันต้องได้เรียนรู้”

กระนั้น ด้วยความเป็นเด็กเพียงคนเดียวในหมู่บ้านที่ไปเรียน ขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ ได้เล่นสนุกตามแต่ใจ ทำให้ดูเหมือนลูกพี่แมวในวัยประถมไม่กระตือรือร้นเรื่องเรียนสักเท่าไหร่นัก

“วันนี้มันก็ขาดเรียน มันนึกว่าจะได้ออกไปเที่ยวด้วยกัน เราบอกให้มันไปโรงเรียนนั่นแหละ แต่มันคิดของมัน มันอยากเที่ยวมากกว่าเลยไม่ไป” พี่แมวหัวเราะอย่างติดจะอ่อนใจ

หากมองในภาพกว้าง โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระบบของเด็กชาวมานิขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งทุนทรัพย์ ระยะทาง และความสะดวกสบายของการเดินทาง ครอบครัวส่วนใหญ่ไม่มีเงินมากพอจะจ่ายค่าเทอมหรือซื้ออุปกรณ์การเรียนให้ อีกทั้งการอาศัยบนเขา ในป่า หรือพื้นที่นอกเมือง ก็ทำให้เด็กๆ ชาวมานิเดินทางไปยังสถานศึกษาอย่างยากลำบาก ใช้เวลามาก ภายใต้เงื่อนไขว่าการคมนาคมสาธารณะยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง

ยิ่งไปกว่านั้น จากคำบอกเล่าของพี่ตาล เด็กมานิบางส่วนที่ได้ไปเรียนยังเจอปัญหาเรื่องการบูลลี่อีกด้วย

“พี่น้องมานิบางส่วนไปโรงเรียนไม่ได้เพราะเจอการบูลลี่ แล้วคนที่เคยไปเรียนพอโดนมาแบบนั้น เวลาตัวเองมีลูกหลานก็ไม่อยากให้ไปเจอสภาพเดียวกัน” ไม่ใช่แค่ในสตูล แต่เด็กมานิแทบทุกที่ – ตรัง พัทลุง สงขลา ล้วนเจอคำพูดทำนองล้อเลียนรูปลักษณ์และสีผิวทั้งจากเพื่อนนักเรียนและครู ทั้งโดยตั้งใจและไม่เจตนา

“เพราะความเป็นมานิ มันก็ค่อนข้างเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน” พี่ตาลเล่า “แต่พี่จะสอนเขาตลอดว่าเราไม่แปลกนะ ดูอย่างคนแอฟริกาสิ มีคนแบบเราอีกมากมายบนโลก”



แม้ที่ผ่านมา บนหน้าข่าวจะปรากฏตัวอย่างเด็กชาวมานิที่มีโอกาสเรียนถึงระดับชั้นมหาวิทยาลัย แต่พี่ตาลระบุว่านั่นเป็นส่วนน้อยมากที่เกิดจากความร่วมมือกันของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่โรงเรียนไร้การบูลลี่ มีผู้ใหญ่ให้งบสนับสนุน มีคนในเครือข่ายฯ ของเธอคอยรับส่งไปโรงเรียน

หากต้องการเปลี่ยนจากเด็กเพียงหนึ่งในร้อยที่ได้รับโอกาสหนึ่งในพัน เป็นเด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาเท่าๆ กัน สิ่งที่ควรมองหาอาจเป็นการศึกษานอกระบบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของชาวมานิ และไม่บังคับให้ ‘คนป่า’ เปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นแบบ ‘คนเมือง’ เสียทั้งหมด

“การเกณฑ์คนไปเรียนอาจไม่ได้ประโยชน์เสมอไป เพราะการเรียนไม่ได้มีเฉพาะในห้องเรียน” พี่ตาลกล่าวจากประสบการณ์ตรง “ทุกวันนี้การศึกษาไม่จำเป็นต้องจบปริญญา แค่ให้เขาอ่านออกเขียนได้ บวกเลขเป็น ไม่โดนโกงเวลาไปซื้อของ การศึกษาไม่ควรจะอยู่แค่ในระบบอีกต่อไปแล้ว มันควรเป็นการศึกษานอกระบบ”

ดังที่พี่แมวทิ้งท้ายไว้ ในฐานะคนเป็นพ่อ เขาบอกว่าไม่ได้คาดหวังให้ลูกต้องเรียนได้เกรดดี หรือโตไปเป็นหมอ เป็นทหารแต่อย่างใด

ขอเพียงเอาตัวรอดได้ นับเลขได้ ไม่ถูกเอาเปรียบจากใคร เท่านั้นก็เพียงพอ



การศึกษา


บังพงษ์ หรือ สมพงษ์ หลีเคราะห์ อาจไม่ใช่คนทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มชาติพันธุ์มานิโดยตรง แต่เขาเป็นคนที่คลุกคลีเรื่องการศึกษาสำหรับเด็ก เยาวชน และเสริมสร้างศักยภาพความรู้ในระดับชุมชนภายใต้หมวกนายกสมาคมวัฒนพลเมืองมาเนิ่นนาน งานของเขาส่วนมากคือการชวนชาวบ้านมาร่วมสร้างองค์ความรู้ของท้องถิ่น แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการทำวิจัย รวมถึงส่งเสริมให้โรงเรียนจัดการเรียนรู้แบบใหม่ ให้เด็กเล็กออกนอกห้องเรียนไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ที่พบปะผู้คนมาหลากหลาย บังพงษ์กล่าวว่าการจัดการศึกษาแก่ชาวมานินั้นถือเป็นโจทย์โหดหินที่ยังไม่มีใครทำสำเร็จ

“เวลาที่เราเห็นเด็กมานิไปโรงเรียนปกติ ส่วนใหญ่เป็นเด็กจากครอบครัวที่อยู่กันแบบชาวบ้าน ทำมาหากิน เป็นลูกจ้าง ขับมอเตอร์ไซค์พาลูกไปโรงเรียน มีวิถีชีวิตเหมือนคนทั่วไปแล้ว” บังพงษ์เล่า เท่าที่เขาเห็นมามีเพียงมานิกลุ่มช่องงับ จังหวัดสตูลเท่านั้นที่สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเข้ากับชาวบ้านได้โดยสมบูรณ์ ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ยังคงดำรงชีพอย่างนักล่า กล่าวคือ “ฐานทรัพยากรอยู่ไหน เขาก็ไปอยู่นั่น พออาหารหมดแล้วเขาก็ย้ายที่ไป

“ถึงวันนี้สัตว์และของป่าจะน้อยลง จนเขาต้องย้ายจากการอยู่ในป่า มาอยู่ริมป่า การหากินก็พึ่งพิงชาวบ้าน ทำงานรับจ้าง แต่มายด์เซ็ตของเขาก็ยังเป็นนักล่า เขาหาเพื่อกิน ไม่ได้หาเพื่อสะสม และยังมีเคลื่อนทับกันอยู่บ้าง ย้ายที่ไปมา”


สมพงษ์ หลีเคราะห์


บังพงษ์กล่าวว่าการโยกย้ายแหล่งอาศัยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวมานิไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพราะ “ถ้าเด็กมาเรียนได้ 5 วัน 10 วัน ไม่ถึงเดือนพ่อแม่บอกต้องย้ายบ้าน แล้วเขาจะทำยังไง ทุกวันนี้เขาอยู่ในที่ของชาวบ้านบ้าง อยู่ตามหัวสวน ทำหน้าที่ถางป่าขยายพื้นที่ ชาวบ้านถึงยอมปล่อยให้อยู่เพราะได้ประโยชน์ แต่สักพักเดี๋ยวเขาก็ต้องหาที่ใหม่ อยู่แบบนี้กันมานานแล้ว

“เวลาไปทำงานกับชาวบ้าน ผมเห็นภาพเลยว่ากลุ่มคนที่เช่าบ้านคนอื่นอยู่จะไม่ค่อยวางแผนระยะยาว แม้จะอยู่ที่เดิมนานๆ แต่ก็มีความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ที่ของเรา พอคนไม่มีบ้าน จะเริ่มทำอะไรก็ไม่รู้จะนับหนึ่งจากตรงไหน ต้องคิดเผื่อตลอดว่าถ้าย้ายบ้านแล้วจะเป็นยังไง กลายเป็นว่าคนคิดแคบลง คิดแค่เรื่องระยะสั้น

“ฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือทำให้เขาอยู่เป็นที่ เรื่องที่ดินทำกินสำคัญมาก เพราะถ้าเราจะเริ่มจัดการศึกษา แต่เขาย้ายไปย้ายมา แล้วใครจะไปเดินตามเขาล่ะ” บังพงษ์หัวเราะ พลางหยิบยาเส้นขึ้นมาจุดไฟสูบ เว้นวรรคดับเครียด แล้วค่อยเล่าต่อว่าในสายตาเขา การบังคับให้มานิต้องเข้าเรียนในโรงเรียนไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่หากเราเลือกจัดการศึกษาแบบอาสาสมัคร เข้าไปตั้งค่ายสอนกันถึงถิ่น ก็ต้องใช้ทั้งเวลาและกำลังทรัพย์ในการเข้าไปติดตามชาวมานิอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจมากพอจนพวกเขายอมให้เข้าออกทับและพูดคุยฉันมิตร

“ถ้าเราจะทำ เราต้องมีคนไปเฝ้า ไปอยู่กับมานิตลอด เพราะมานิมีพื้นที่ปลอดภัยของเขา ต้องออกแบบให้ดีและเข้าใจเขาด้วย ถ้าพลาดไป มานิจะไม่ต้อนรับเอา”



นอกเหนือจากประเด็นว่าด้วยสิทธิในที่ดินทำกินและการตั้งถิ่นฐาน โจทย์ยากอีกเรื่องที่บังพงษ์เน้นย้ำไม่ให้มองข้าม คือวิธีคิด ทัศนคติที่ผู้ปกครองชาวมานิมีต่อการศึกษา

“การจัดการศึกษาทุกวันนี้ ถ้าจะประสบความสำเร็จ พ่อแม่ต้องพร้อมด้วย ไม่ได้หมายความว่าต้องมีเงิน แต่หมายถึงมายด์เซ็ต วิธีคิดต้องพร้อม ต้องรู้สึกว่าลูกต้องเรียน นี่คือจุดเริ่มต้นของการศึกษา ถามว่ามานิที่เราเจอ พ่อแม่พร้อมแล้วหรือยัง รู้หรือยังว่าเด็กของเขาจำเป็นต้องได้รับสิ่งนี้

“ฉะนั้น การศึกษาของมานิไม่ใช่ว่าต้องโฟกัสที่เด็กฝ่ายเดียว พ่อแม่ก็ต้องมีความเข้าใจ แต่ตอนนี้หลายคนยังไม่รู้เลยว่าอะไรคือพร้อม เรียนคืออะไร สิ่งไหนจำเป็นบ้าง ทำให้เราอาจต้องจัดการศึกษาให้พ่อแม่ด้วย”

แน่นอน บังพงษ์ยอมรับว่าการปรับทัศนคติของผู้ปกครองไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องอาศัยเวลา อาจต้องจัดการศึกษาแก่เด็กๆ พร้อมกับการนั่งพูดคุย ชี้ให้ผู้ใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญขององค์ความรู้พื้นฐานในโลกสมัยใหม่ และผู้จัดต้องถอดบทเรียนว่าอะไรคือแนวทางที่จะทำให้ชาวมานิเริ่มปรับตัว กระตือรือร้นต่อการเปิดรับความรู้มากขึ้น

“เราต้องดูความต้องการของเขา ถ้าการศึกษาในระบบไม่ตอบโจทย์ ก็อย่าปล้ำเอาการศึกษาในระบบไปใส่ให้มานิ เพราะเขาไม่ได้เอาไปใช้งาน หลายคนที่ออกไปเรียนในโรงเรียน กลับมาเขาก็อยู่แบบมานั่นล่ะ ไม่ได้ไปทำงาน หรือเรียนไปเพื่อสอบบรรจุอะไร

“มันต้องเป็นหลักสูตรที่ไม่ใช่ไม่รู้เรียนไปทำไม แต่เรียนเสร็จนำไปใช้ได้เลย หรือระหว่างเรียนก็นำไปใช้ได้”



ครั้นถามถึงทักษะสำคัญที่มานิรุ่นใหม่ควรได้ร่ำเรียน บังพงษ์ตอบทันทีว่า “สำคัญที่สุด อย่างแรกคืออ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น จ่ายเงินเป็น รู้มูลค่าสินค้าที่เขาได้มา” ของป่าหลายอย่าง เช่น น้ำผึ้ง สมุนไพร ผลหมากรากไม้ที่ชาวมานิเก็บมาล้วนเป็นของหายากขายได้ราคาดี แต่เพราะไม่มีความรู้เรื่องโลกภายนอก ทำให้มักถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาอย่างไม่เป็นธรรมอยู่ร่ำไป “เขาต้องรู้มูลค่าการใช้ชีวิตของเขา ว่าของที่เขาหามาได้ องค์ความรู้ที่เขามี จะสามารถทำเงินได้ยังไง”

“อย่างที่สอง เป็นสิ่งที่ผมกลัว คือมานิรุ่นเก่ากับใหม่ คนละเจเนอเรชันกัน เริ่มมีวิถีชีวิตที่ต่างกันมาก ตอนนี้มีเด็กมานิบางคนเริ่มเล่นโทรศัพท์ ไปดูทีวีของชาวบ้านบ้าง กลายเป็นว่าสื่อสมัยใหม่เริ่มเข้าไปแทรกแซงชีวิตเขาแล้ว เด็กๆ ถูกปลูกฝังอะไรต่อมิอะไรที่พ่อแม่เขาไม่รู้ พอโตขึ้นมา เขาอาจจะหันมาเลียนแบบวัยรุ่นในเมือง แล้วใช้ชีวิตอยู่ในป่าไม่เป็น จะไปหาของป่ากินเหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ไม่ได้แล้ว อยู่ป่าก็ไม่ได้ ออกมาอยู่เมืองก็ไม่ได้ กลายเป็นคนไม่รู้อะไร”

ในฐานะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประชากรเหลือน้อยลงทุกวัน บังพงษ์มองว่าวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเกี่ยวกับป่ายิ่งเป็นสิ่งมีค่าที่ลูกหลานควรสืบสานไว้ “ถามว่าทุกวันนี้มานิยังมีภูมิปัญญาเหลืออยู่ไหม มี แต่เด็กรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยสนใจกันแล้ว เพราะถูกแทรกแซงด้วยความเป็นสมัยใหม่ ถ้ามานิไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก โดยเฉพาะเรื่องสมุนไพรรักษาโรค วิธีหากินหาอยู่ เรื่องฐานทรัพยากร เด็กรุ่นหลังจะไม่ได้รักษาอะไรไว้เลย”

กระทั่งเรื่องภาษามานิที่ใช้พูดกัน ปัจจุบันยังแทบจะกลืนกลายหายไปตามกาลเวลา เนื่องจากชาวมานิติดต่อกับคนภายนอกด้วยภาษาไทยเป็นหลัก บางครั้งพูดผสมไทยคำ มานิคำ จนเจ้าของภาษาเองก็แยกไม่ออกว่าศัพท์คำไหนมีรากเหง้าจากที่ใด อีกทั้งเมื่อเป็นภาษาที่ไม่มีตัวอักษรสำหรับจดจารึก ย่อมทำให้การบันทึกและส่งต่อแก่คนรุ่นหลังเป็นเรื่องยากลำบากมาก



“เราต้องส่งเสริมให้คนรุ่นก่อนมาจัดการเรียนรู้ให้เด็กชาวมานิด้วย เป็นการเรียนรู้วิถีชีวิต ซึ่งเป็นความรู้ของเขาเอง ต้องทำให้เขาเห็น ตั้งเป็นเป้าหมาย สร้างความตระหนักให้เขาเลยว่าภูมิปัญญาของมานิต้องดำรงอยู่ต่อไป

“ถ้าเราวางเป้าหมายการศึกษาได้แบบนี้ ก็จะเห็นภาพว่าต้องออกแบบหลักสูตรให้เหมาะ ทำให้ต่อเนื่อง และรู้ว่าต้องเอาคนแบบไหนมาทำ”

โดยคำตอบของบังพงษ์ว่าด้วยคนที่จะมาเป็น ‘ครู’ ของชาวมานิได้ในระยะยาว ก็คือชาวมานิด้วยกันนั่นเอง

“เราต้องยกกระดับคนที่เป็นมานิด้วยกันให้เป็นจัดการเรียนรู้แก่คนของตัวเอง โดยพาคนเหล่านี้ไปเรียนรู้เรื่องการอ่านเขียน สอนให้รู้จักหาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วกลับมาแบ่งปันให้คนในกลุ่ม เพราะต่อให้คนนอกเข้าไปจัดการศึกษาให้ เผลอๆ ก็ทำได้อย่างมากแค่ปีเดียว ในปีสองปีแรกเราจึงต้องเข้าไปเริ่มทำให้เขาคิดได้ แล้วหลังจากนั้น เขาต้องทำด้วยกลไกที่สร้างขึ้นเอง หน้าที่เรามีเพียงไปพัฒนากลไกของเขาให้ยกระดับขึ้นมา”

สิ่งสำคัญที่บังพงษ์ย้ำแล้วย้ำอีกจากประสบการณ์ทำงานกับท้องถิ่น คืออย่าติดกับดักนิยามการศึกษาจากส่วนกลาง — หากมองจากสายตาผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงอาจมองว่าการศึกษาที่ดี ต้องเป็นการศึกษาที่ครบถ้วนด้านวิชาการ ทั้งคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ตามขนบ แต่อันที่จริง การศึกษาจะมีคุณภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับช่วยพัฒนาชีวิตผู้เรียนได้มากแค่ไหน เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อผู้เรียนหรือไม่ ซึ่งในแต่ละกลุ่มชุมชน แต่ละบริบทพื้นที่ ล้วนมีโจทย์และแนวทางการเรียนรู้ของตนเอง

 “ระบบการศึกษาตอนนี้มีแต่คนคิดเหมือนกัน มีวิธีเรียนตายตัว อย่าว่าแต่มานิเลย ชาวบ้านทั่วไปยังไม่มีสิทธิจัดการศึกษาด้วยตัวเอง เราควรมีสิทธิออกแบบหลักสูตรของตัวเองนะ โชคดีตอนนี้มีพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (พ.ศ. 2562) ที่ทำให้บางแห่งเริ่มเขียนหลักสูตรเอง กำหนดวิธีวัดประเมินผลเอง จัดการระบบใหม่ทั้งหมดได้ เป็นงานที่เราพยายามทำอยู่”

ท้ายที่สุดแล้ว อาจกล่าวได้ว่าหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่โอกาสทางการศึกษาที่เปิดกว้าง เหมาะสมกับบริบทพื้นที่และวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ คือการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่น ดังที่บังพงษ์กล่าวว่า “การศึกษาต้องกำหนดโดยคนท้องถิ่น ไม่ใช่ผู้อาศัย” อันหมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ถูกแต่งตั้งจากส่วนกลาง รับมอบนโยบายจากกระทรวงมาดำเนินงาน แต่อยู่ในตำแหน่งไม่กี่ปีก็โยกย้ายไปทำงานที่จังหวัดอื่นๆ ต่อ

“การกระจายอำนาจจะทำให้คนในพื้นที่ออกแบบการศึกษาด้วยตัวเอง ยิ่งให้อำนาจลงไปในระดับเล็กเท่าไร่ยิ่งดี ให้เขาได้คิดเอง ไม่ใช่ให้ใครคิดแทน ทุกคนมีสิทธิ์ออกแบบ เหมือนตอนเราทำงานวิจัยท้องถิ่นนั่นล่ะ โจทย์เป็นของชาวบ้าน ชาวบ้านเป็นคนทำ และผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับเขา – นี่คือภาพความเสมอภาคเท่าเทียมทางการศึกษาที่เราอยากให้เป็น”


มานิ

มานิ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save