fbpx

มานิ : วิถีพรานในวารวันที่ป่าเปลี่ยน และชีวิตไร้สิทธิเสียงในเทือกเขา

มานิ

1.

บรรทัด


เทือกเขานำทางเรามาที่นี่

ชั่วโมงกว่าจากท่าอากาศยานดอนเมืองสู่ตรัง สองชั่วโมงจากตรังสู่สตูล เทือกเขานำทางเรามาที่นี่ ผ่านตัวเมืองที่เห็นเพียงยอดเขียวเข้มไกลลิบตา สู่อำเภอทุ่งหว้า ซึ่งผาหินตระหง่านเคียงข้างถนนแทบทุกสาย ไม่ว่ารถของเราจะแล่นผ่านไปยังจุดใด ราวกับเทือกเขายิ่งใหญ่จะเฝ้าดูเราอยู่เสมอ เช่นเดียวกับที่มันทำมาตลอดหลายพันปี ก่อนที่นักธรณีวิทยาจะตั้งชื่อให้มันว่า ‘เทือกเขานครศรีธรรมราช’ ก่อนคนใต้จะเรียกกันติดปากว่า ‘เทือกเขาบรรทัด’ มันก็อยู่ตรงนี้ เป็นสักขีพยานของประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัย และเป็นเจ้าบ้านที่สุขุม งดงาม เปี่ยมเรื่องเล่าตั้งแต่อดีตกาลถึงปัจจุบัน

เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ ‘มานิ’ เป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่เทือกเขาบรรทัดเก็บงำไว้ คนเหล่านี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผิวสีดำแดง ผมดกหยิก รูปร่างสันทัด บางส่วนยังคงดำรงชีพอย่างพราน คือหาของป่าและล่าสัตว์ บางส่วนก็ปรับเปลี่ยนตนเข้ากับสังคมสมัยใหม่ แต่ทั้งหมดทั้งมวลแทบไม่เคยจากเทือกเขาไปไหน หลายคนมีแมกไม้เป็นทิวทัศน์แรกในยามเกิด และกลิ่นชื้นเขียวเป็นความทรงจำสุดท้ายเมื่อยามดับ

ดังนั้นถ้าอยากรู้จักมานิ ต้องมาเยือนป่าฝนเทือกเขาบรรทัด

กลางเดือนกันยายน 2566 เจ้าบ้านกำลังรอต้อนรับเรา ณ จุดหมายแรกของการเดินทาง — บ้านคีรีวง



2.

บ้านคีรีวง


ถนนลาดยางซับความร้อนของแดดเช้าถึงเที่ยงวัน กำลังบ่มระอุเข้าเนื้อ พร้อมเล่นงานฝ่าเท้าใครก็ตามที่จอดรถลงเหยียบย่าง สองข้างทางปรากฏเพียงบ้านเรือนประปราย มีต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ โดยปกติจึงไม่ค่อยมีคนนัดพบกันกลางถนนที่เพิ่งพ้นด่านตรวจบ้านคีรีวง และถัดจากป้ายบอกทาง ‘คีรีวง ซอย 2’ อีกราวสองสามร้อยเมตร ยกเว้นแต่คนผู้นั้นจะรู้ว่าที่นี่เป็นที่ตั้งเพิงขายสมุนไพรของชาวมานิ อย่างอาจารย์จรูญและพี่นิจ ซึ่งทำงานร่วมกับเครือข่ายสิทธิพลเมืองพัฒนาคุณภาพชีวิต ติดตามความเป็นอยู่ของชาวมานิมาหลายปี

ทั้งสองยืนรอข้างเพิงอยู่แล้วในตอนที่เราไปถึง ร่างอาบด้วยไอร้อนจากพื้นและดวงตะวัน แต่ยังมีเรี่ยวแรงพูดจาฉะฉาน ชี้ชวนให้สำรวจเพิงที่ประกอบขึ้นจากลำไม้ไผ่วางเรียงกันเหนือลานดิน มีกิ่งไม้ท่อนหนาปักพื้นต่างเสา ค้ำยันหลังคาใบไม้แห้งเหี่ยวจากการถูกเคี่ยวกรำโดยแดดฝน เพิงมีทั้งหมดสามหลัง ใต้ร่มเงาคือชาวมานินับ 20 คนเบียดพิงอิงแอบกัน บ้างนั่ง บ้างนอน บ้างป้อนนมให้ลูกในอ้อมกอด เกินกว่าครึ่งที่เราเห็นเป็นเด็กเล็ก ซึ่งพากันเขม้นมองคนแปลกหน้าด้วยดวงตาดำตัดขาว

“เขาออกจากบ้านมาอยู่ตรงนี้กันแต่เช้า พอตกเย็นเดี๋ยวก็กลับ” อาจารย์จรูญ หรือจรูญ น้อยปาน กล่าว เขาเป็นศิลปินที่ศึกษาวิถีชีวิตมานิมาร่วม 4 ปี จึงรู้ดีว่าถิ่นฐานแท้จริงของมานิเหล่านี้อยู่บนเขาห่างออกไปราว 4 กิโลเมตร ในตอนที่พื้นลาดยางยังไม่ทันร้อน สองตายาย คือ เฒ่าชา และ ป้าจิน จะอุ้มลูกจูงหลานลงมานั่งใต้เพิง เปิดแผงขายสมุนไพรติดริมถนนแทบทุกวัน



“พี่น้องมานิตรงนี้ยังอยู่ในยุคที่ยังไม่มีการเพาะปลูก พวกหัวมัน ของต่างๆ ที่เขาเอามากิน หรือสมุนไพรพวกนี้ก็เป็นของที่ขึ้นเองตามป่า แล้วเขาก็ไปเก็บ” อาจารย์จรูญเล่าขณะที่พวกเราพากันลดตัวนั่งยอง มองกองท่อนไม้บนแคร่ไม้ไผ่หน้าเพิงคู่ตายาย แต่ละชิ้นถูกหั่นยาวขนาดหนึ่งฝ่ามือ มัดแบ่งออกเป็นกำสีส้ม สีเทา และสีน้ำตาล

“เป็นยาที่เขากินอยู่ประจำเวลาไม่สบาย หรือกินบำรุงเรื่อยๆ โรคภัยไข้เจ็บของเขาจะไม่เหมือนกับเรา”

เราสบตากับป้าจิน ใต้โหนกคิ้วและโหนกแก้มเด่นสูง ดวงตาของเธอเป็นทรงเรียวโค้งแลเป็นมิตร ป้าจินสามารถพูดไทยสำเนียงใต้ แต่จะพูดสั้นๆ กับเราเฉพาะตอนถูกถามว่าสมุนไพรกองไหนชื่ออะไร มีสรรพคุณแบบใดเท่านั้น

“อันนี้แก้ไอ แก้หอบ” นั่นคือกองสีส้ม “เรียกกล้วยหมูสัง”

“แก้ปวด แก้เมื่อย” เป็นกองสีน้ำตาลสักอย่าง ไม่บอกชื่อ

“นี่บำรุงกำลัง” ท่อนไม้ลายตะปุ่มตะป่ำสีเทาหน้าตาแปลกกว่ากองอื่น อาจารย์จรูญเสริมว่ามันคือ ‘ไอ้เหล็ก’ ยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศของท่านชาย เสียงกลั้วหัวเราะของคนคุ้นเคยเรียกรอยยิ้มบนหน้าป้าจินได้ เธอเรียกของพวกนี้ว่า ‘ยาป่า’ ไม่ใช่คำว่า ‘สมุนไพร’ เพราะสำหรับป้าจิน ‘ยา’ คือสิ่งที่ไว้ใช้ต้มกิน ส่วน ‘สมุนไพร’ คือสิ่งที่เธอคุ้ยหยิบจากใต้แคร่วางบนฝ่ามือเรา เป็นเหง้าหัวเล็กๆ เอาไว้บดทาผิวภายนอก

“วิธีใช้ของพวกนี้ก็กินน้ำที่ต้มออกมาจากมันนี่แหละ” วินิจ สงสุวรรณ หรือพี่นิจ ที่ยืนใต้เพิงข้างเฒ่าชา สามีของป้าจินช่วยแนะนำสินค้าอีกแรง แต่ถึงแม้จะเป็นคนสนิทสนมกัน พี่นิจก็ยังไม่รู้รายละเอียดว่าสูตรต้มยาแบบฉบับมานิต้องต้มนานเท่าไหร่ ผสมอะไรบ้าง — ดูเหมือนมานิจะไม่อาจถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่คนนอกได้ครบถ้วน เพราะส่วนมากพวกเขาเรียนรู้ผ่านการติดตาม และจดจำจากคนรุ่นก่อน อย่างมากคือสอนกันปากต่อปากผ่านภาษาของตัวเอง เป็นเพียงภาษาพูด ไม่มีตัวอักษร และไม่เหมือนภาษาไทย

เมื่อองค์ความรู้ไม่ถูกบันทึกโดยเจ้าของ ทำให้ชื่อเรียกของสรรพสิ่ง การแจกแจงขั้นตอน และคำอธิบายภูมิปัญญาเริ่มกร่อนหายไปตามกาล เหลือเพียงเสี้ยวส่วนน้อยนิดให้คนใกล้ชิดอย่างจรูญพอจะเก็บเกี่ยวมาเขียนเผยแพร่เป็นหนังสือ บอกเล่าให้เรารู้ว่านอกเหนือจากสิ่งที่ป้าจินนำมาขาย ชาวมานิยังใช้สมุนไพรและยาอีกหลายประเภทต้านพิษสัตว์ร้ายและโรคภัย เช่น ‘เห็ดงู’ เห็ดที่นำมาฝนโปะบนแผลงูกัด ‘ขิงแห้ง’ ขิงที่งอกบนคาคบไม้ ใช้ต้มแก้หวัด และเถาวัลย์ไร้ชื่อรสขม ซึ่งสามารถนำมาต้มเป็น ‘ยาลูกขาด’ เพื่อคุมกำเนิด


ป้าจิน


“เหตุผลที่เขาคุยภาษาใต้ได้ เพราะสัมพันธ์กับคนท้องถิ่นมานานแล้ว มานิกลุ่มนี้ไม่ได้เรียนหนังสือหรอก อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” อาจารย์จรูญว่า ก่อนชี้ไปทางเด็กหนุ่มชาวมานิคนหนึ่งที่พาดผ้าขาวม้าสีแดง-น้ำเงินรอบคอ “มีแต่ ‘ยม’ คนเดียวที่ได้เรียนอยู่บ้าง”

ยม ถูกชี้ตัวแล้วได้แต่ยิ้มรับไม่ตอบคำ เขาเป็นหลานชายของป้าจิน ใบหน้าอ่อนเยาว์ แขนขาเริ่มยาวเก้งก้างอย่างวัยรุ่น ทำให้กะประมาณด้วยสายตาได้คร่าวๆ ว่าอายุราว 14-15 ปี — น้อยคนนักที่จะรู้ชัดว่าชาวมานิแต่ละคนอายุจริงเท่าไหร่ จำนวนเลขและการนับเวลาในภาษาของเราแทบไม่มีความหมายต่อพวกเขา ไม่มีโมงยาม ไม่มีศักราช หลายครั้งเฒ่าชาและป้าจินจึงไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆ อย่าง ‘มาขายของตั้งแต่กี่โมง’ หรือ ‘ป้าอายุกี่ปี’ อาจารย์จรูญและพี่นิจเองก็ได้แต่คาดเดาไปต่างๆ นานาจากการสังเกตร่องรอยความชรา และจากคำบอกเล่าของชาวบ้านใกล้เคียงว่าเห็นกันมาตั้งแต่ พ.ศ. ไหน

“ผมสังเกตอย่างหนึ่งนะ ชาวมานิเนี่ย อายุเท่าไหร่ผมก็ยังดกดำ” อาจารย์จรูญเพยิดหน้าไปทางเฒ่าชาที่นั่งชันเข่าไม่พูดจา แต่ดันตกเป็นเป้าสายตาให้คนดูผมหยิกดำ “ดูสิ เฒ่าชาไม่มีผมหงอกสักเส้น”



ถึงแม้มานิจะไม่รู้จักตัวเลขและเวลา แต่มูลค่าของเงินตรานั้นกลับเป็นอีกเรื่อง ป้าจินพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำทีเดียวว่าสมุนไพรบนแคร่ขายกำละ 10-20 บาท แพงสุด 30 บาท เงินที่ได้จะนำไปใช้ซื้อข้าวสารและกับข้าวจากร้านขายของชำละแวกนั้น

ท่ามกลางค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน เราไม่มั่นใจว่าธนบัตรสีเขียวไม่กี่ใบจะสามารถแลกเปลี่ยนข้าวสารมาเลี้ยงดูมานิหลายสิบชีวิตได้ไหม แต่เราเพิ่งมาตระหนักรู้ภายหลังบอกลามานิที่แผงขายสมุนไพรเพื่อมุ่งหน้าขึ้นเขาคีรีวง จากปากคำของพี่นิจกระซิบเล่าระหว่างทางว่า – ยาน่ะขายไม่ได้เท่าไหร่หรอก การออกมานั่งให้คนที่ผ่านไปมาแวะถ่ายรูปต่างหาก คนพวกนั้นมักจะให้เงินมากกว่าค่ายา

ทุนนิยมประสบความสำเร็จอย่างร้ายกาจ ไม่ว่ามานิจะตั้งใจหรือไม่ ใบหน้าของพวกเขากลายเป็นสิ่งมีราคา  

เมื่อรุ่งสางมาถึง เฒ่าชาและป้าจินจะอุ้มลูกจูงหลาน เดินเท้ากว่า 4 กิโลไปนั่งอยู่ตรงนั้น ฟังเสียงรถยนต์แล่นผ่านถนนลาดยาง คันแล้วคันเล่า

ไม่มีใครหยุดรถ ไม่มีใครนัดพบกันกลางถนน จนกว่าคนผู้นั้นจะรู้ว่าที่นี่มีชาวมานิ



3.

เขาคีรีวง


“ยม กลับบ้านด้วยกันไหม?”

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประพาสจังหวัดพัทลุง พ.ศ.2447 ได้ทอดพระเนตรเห็นรูปถ่ายชาวเงาะในป่า ทรงมีพระดำริอยากชุบเลี้ยง ‘ลูกเงาะ’ ไว้สักคนหนึ่ง ขุนนางท้องถิ่นจึงรับสนองพระราชประสงค์ด้วยการจัดเลี้ยงอาหารและแสดงมโนราห์ให้ชาวมานิดู รอจวบจนพากันผล็อยหลับ ค่อยอุ้มเด็กชายกำพร้าชื่อ ‘คนัง’ กลับไปถวายตัวในวัง

ณ ที่แห่งนั้น คนังกลายเป็นมหาดเล็ก เป็นพลเสือป่า เป็นแรงบันดาลใจให้รัชกาลที่ 5 พระราชนิพนธ์ตำนานรักของซมพลาและลำหับ แต่ครั้งนี้เราไม่ได้ชวนยมกลับบ้านไปกับเราที่เมืองหลวง เราชวนให้ยมนำทางไปยังบ้านของเขา ไปพบกับชาวมานิที่เหลือบนเขาคีรีวง

“ไปสิ! ยม ไปด้วยกันเถอะ!” อาจารย์จรูญและพี่นิจช่วยคะยั้นคะยอ กวักมือเรียกเจ้าหนุ่มอยู่หลายที ก่อนที่ยมจะตกลงใจ ผละจากเพิงขายสมุนไพรกระโดดขึ้นท้ายรถกระบะ ร่วมนั่งโขยกเขยกผ่านป้าย ‘คีรีวง ซอย 2’ เข้าไปถึงครึ่งทาง ก่อนถนนดินจะแคบลงจนทุกคนต้องเปลี่ยนมาเดินเท้า ขึ้นเนินสูงที่คนใต้เรียกกันว่า ‘ควน’ และชมทิวทัศน์ที่ยมเห็นอยู่ทุกวัน คือสีเขียวเข้มและเขียวอ่อนจากพันธุ์ไม้ เป็นกอ เป็นพุ่ม เป็นต้นสูงแผ่ร่มใบ


ยม


“ป่าฝนที่นี่อุดมสมบูรณ์มาก เมื่อก่อนอุดมสมบูรณ์ยิ่งกว่านี้ ผมว่านะ มานิอาจจะอยู่มาก่อนบรรพบุรุษของเราอีก”

ก้าวเดินด้วยรองเท้าแตะของยมมั่นคงกว่าคนสวมรองเท้าเดินป่ามากนัก ทำให้เรานึกถึงคำพูดของอาจารย์จรูญ และข้อสันนิษฐานของเขาเรื่องความเป็นมาของชาติพันธุ์มานิในพื้นที่ปักษ์ใต้ ข้อแรก – เขาเชื่อว่าหลายล้านปีก่อน แผ่นดินเอเชียและแอฟริกายังติดเป็นผืนเดียว ชนเผ่าตระกูลนิกริโต (Nigrito) หรือ ‘นิโกรตัวเล็ก’ (Little Nigro) เหล่านี้เดินทางจากทวีปแอฟริกามาตั้งถิ่นฐานที่นี่ สังเกตจากการมีภูมิคุ้มกันโรคบางอย่างโดยธรรมชาติ เช่น ไข้มาลาเรีย ซึ่งอาจตรงกับคนแอฟริกัน และภาษาของมานิที่ไม่เหมือนภาษาไทยหรือภาษายาวี (แม้มีมานิกลุ่ม ‘โอรังอัสลี’ ในยะลาและนราธิวาสที่พูดยาวีได้)

“อีกข้อหนึ่งคือย้อนไปสมัยยุคค้าทาส พื้นที่อำเภอทุ่งหว้าในสตูล กับอำเภอปะเหลียนในตรัง เคยเป็นแหล่งปลูกเครื่องเทศ คนที่นำมาปลูกคือชาวโปรตุเกส อาจเป็นไปได้ว่าเขานำชาวมานิมาใช้แรงงาน เสร็จแล้วก็ทิ้งไว้ ตัวมานิเองก็มีทักษะเพียงพอจะอยู่รอดได้ ทั้งหมดนี้เป็นข้อสันนิษฐานนะครับ”


จรูญ น้อยปาน

มีประวัติศาสตร์ฉบับชาวบ้านเกี่ยวกับมานิอีกมากที่อาจารย์จรูญหยิบยกมาแบ่งปัน เช่น เขาบรรทัดเคยเป็นที่หลบซ่อนของกลุ่มคอมมิวนิสต์ในไทย สหายบางคนจึงเคยพบปะ และพึ่งพาอาศัยชาวมานิเพื่อเอาตัวรอดในป่า ครั้นเห็นว่ามานิในตอนนั้นยังคงนุ่งใบไม้ บางคนเปลือยกายทั้งที่แทบโตเป็นสาว สหายคนหนึ่งจึงคว้าผ้าขาวม้ามามอบให้ แต่เมื่อคุณเธอรับไปกลับฉีกแบ่งมานิทุกคนในกลุ่ม ฉีกไปฉีกมา เหลือผ้าขาวม้าคนละผืนเท่าฝ่ามือกลายเป็นเรื่องขบขันและเพิ่งรู้กันเดี๋ยวนั้นว่าชาวมานิผูกพันกันมาก ได้อะไรมา ไม่ว่าของกินของใช้จะต้องแบ่งทุกคนอย่างเท่าเทียม

“ยุคที่พรรคคอมมิวนิสต์หนีมาอยู่ในพื้นที่ป่า เครื่องบินมาทิ้งระเบิด มานิก็โดนระเบิดตายไปหลายคน”

กระทั่งเรื่องเล่าของ ‘คนัง’ ก็ดูเหมือนยังเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อชีวิตเด็กๆ ชาวมานิและตัวยมในทุกวันนี้ นอกเหนือจากวิถีชีวิตที่น้อยครั้งจะเกี่ยวพันกับทักษะอ่านเขียน ทำให้ยมเรียนๆ หยุดๆ จนเลิกล้ม อาจารย์จรูญกล่าวว่าส่วนหนึ่งที่พ่อแม่มานิไม่ยอมส่งลูกเข้าระบบการศึกษา เพราะกลัวว่าสักวันหนึ่งลูกๆ ของตนจะหายตัวไป เพิงสมุนไพรตรงตีนเขานั่นไงล่ะคือตัวอย่างที่เห็นชัด ผู้ใหญ่ไปไหน เด็กต้องไปด้วย ไปกันเป็นขบวน เราจะไม่แยกจากกัน

เราไม่รู้ว่ามานิพร่ำสอนกันอย่างไร ถ้อยคำกระซิบเล่าเรื่องราว ประกอบกันเป็นประวัติศาสตร์แบบไหน

แต่ผลลัพธ์ในปัจจุบัน การเกาะกลุ่มอยู่ร่วมกัน และสายตามองคนนอกอย่างระวัง น่าจะเป็นคำตอบชัดในตัวมันเอง




อากาศในป่าชื้นเย็น และดูท่าจะเย็นเหมือนกันแทบตลอดทั้งปี ทำให้การเดินขึ้นๆ ลงๆ บนเนินไม่ใช่เรื่องเหนื่อยหนาสาหัส

โชคดีที่ฝนไม่ตก – เราเปรยกับเพื่อนร่วมทางขณะมองพื้นใต้เท้า ทับถมด้วยใบไม้สดและแห้ง เนื้อดินแน่นแต่นุ่ม ผสมน้ำทีคงฉ่ำแฉะกลายเป็นโคลน

“เดี๋ยวมันก็ตก” พี่นิจหัวเราะหึๆ เมื่อได้ยิน “ไว้ใจได้เลย อยู่ที่นี่ ตกแทบทุกวัน”

ทุกคำพูดของเขาผสมกับกลิ่นควัน ริมฝีปากของพี่นิจไม่เคยเว้นว่างจากบุหรี่ แม้ความชื้นในป่าจะทำให้ไฟปลายมวนติดๆ ดับๆ แต่เขาก็ดึงดันจะจุดมันใหม่ สูบมันเข้าไป แล้วใส่ถ้อยคำขณะพ่นออกมา วนซ้ำตั้งแต่ตีนเขาจนถึงปลายทาง

“มีคนขึ้นมาถึงที่นี่บ่อยเหมือนกัน แต่ทำข่าวน่ะไม่ค่อยมีหรอก นานๆ จะมีสักครั้ง ปกติก็ขึ้นมาดูเฉยๆ” พี่นิจเล่าว่าเดิมทีชาวมานิอาศัยในป่าลึก นานๆ จะได้เห็นหน้าค่าตากันสักครั้ง แต่ปัจจุบันพวกเขาออกมาอยู่ใกล้เมืองมากขึ้น และจากที่เคยโยกย้ายที่อยู่ตามแหล่งอาหาร เช่น หัวมัน ก็เปลี่ยนมาลงหลักปักฐาน อย่างมากจะเคลื่อนย้ายไปมาใกล้บริเวณเดิมๆ เนื่องจากของป่าเริ่มหายากขึ้นทุกที และข้าวสารได้เข้ามาแทนที่หัวมันพักใหญ่แล้ว

“เวลาไปเจอหัวมัน เขาจะขุดขึ้นมากินส่วนหนึ่ง ที่เหลือฝังไว้ แล้วย้ายที่ไป บางทีเว้นไปเป็นปีๆ ให้มันโตถึงค่อยย้อนกลับมากินอีกรอบ” เสียงของพี่นิจอู้อี้เพราะปากต้องคาบมวนบุหรี่ จุดใหม่ “หรือถ้ามีคนเสียชีวิตก็ย้าย แต่ตอนนี้ไม่ได้เข้มงวดกันขนาดนั้น ใครเสียก็พาไปเผาที่วัดหมด”


วินิจ สงสุวรรณ


ภายหลัง เราสนทนาประเด็นนี้กับอาจารย์จรูญอีกครั้ง ได้ความว่ามานิไม่นับถือศาสนาหรือความเชื่อใดเป็นพิเศษ ตามประสาคนที่ยังดำรงชีพเช่นมนุษย์ยุคพราน ไม่มีการสักการะบูชาเทพเจ้า ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีเพียงธรรมชาติที่สอนให้พวกเขาหากิน ดำรงอยู่ และแตกดับ เมื่อมีผู้ล่วงลับก็ปราศจากพิธีรีตองมากมาย

“พอคนตาย เขาจะล้อมวงกันนิ่งๆ อยู่พักหนึ่ง ไม่มีการร้องห่มร้องไห้ใดๆ ทั้งสิ้น แค่รับรู้กันว่าคนคนนี้ไปแล้ว สักพักก็นำไปฝัง ไม่ต้องมีอะไรมาก” อาจารย์จรูญว่า

“ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเชื่อในสวรรค์หรือนรกบ้างไหม แต่เท่าที่เห็น เขาคงถือว่าชีวิตที่ตายแล้วก็เหมือนใบไม้ใบหนึ่ง ที่ร่วงจากกิ่งแล้วสลายไปในผืนป่า”

เส้นทางสิ้นสุดตรงลานดินกว้าง อันเกิดจากการถางต้นไม้เพื่อตั้งที่อยู่อาศัย — ในที่สุดเราก็มาถึงบ้านของยม บ้านของมานิกลุ่มคีรีวง หนุ่มน้อยได้จังหวะเผ่นแผล็วออกจากขบวนหลบเข้าที่พัก ซึ่งเรียกกันว่า ‘ทับ’ ลักษณะคล้ายกระท่อมเล็กๆ ยกตัวเหนือดินและหลุมบ่อ พอให้พื้นไม้ไผ่ราบเรียบเสมอกัน หลังคาขึ้นโครงแล้วปูทับด้วยใบเหนากับผ้าใบพลาสติก ส่วนผนังสุดแล้วแต่ทับของใครจะหยิบจับอะไรมากันลมฝน บางหลังก็ก่อกำแพงด้วยลำไผ่ บางหลังใช้แค่ใบไม้ใหญ่ๆ ไม่ก็ทำหลังคาลาดถึงพื้น



นับดูแล้ว ทับที่นี่มีทั้งหมด 4-5 หลัง แต่ละหลังเหลือคนเฝ้าอยู่ไม่มาก หนึ่งในนั้นคือป้าบุน ภรรยาอีกคนของเฒ่าชา

ป้าอยู่ที่นี่มานานหรือยัง “อยู่ตั้งแต่เกิด”

ป้าสร้างทับเองหรือเปล่า “ทำเอง”

ป้าไม่ไปขายยากับเขาเหรอ “ต้องอยู่เฝ้า”

แม้เธอจะตอบทุกคำถามด้วยคำสั้นๆ เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็ใจกว้างมากพอจะให้เราชะโงกหน้าชมภายในทับตามสบาย มองเห็นแผงไม้ไผ่ที่ยกสูงขึ้นด้านหนึ่งใช้หนุนหัวต่างเตียงนอน ถ้วยชามรามไห พลั่วด้ามยาวไว้ขุดหัวมัน กระบุงสานจากใบเตยดำ งานฝีมือของป้าบุน และกองไฟกลางทับที่อาจารย์จรูญย้ำนักว่าเป็น ‘สิ่งสำคัญที่สุดของมานิ’

“เมื่อก่อนไฟเป็นสิ่งที่หายากมากสำหรับเขา ความที่เป็นป่าฝน ไฟจะจุดติดยาก ไม้จะเปียกตลอดเวลา หาไม้แห้งแทบไม่มี แต่มานิจะมีเทคนิคร่วมกัน ที่เขาสอนผมคือให้เอาไม้ไผ่สดๆ ซอยเป็นซี่เล็กๆ มาถูกับหวาย เดี๋ยวมันก็ติดไฟ ถ้ามีไม้ไผ่นี่สบาย” อาจารย์จรูญกล่าว

“พอจุดติดแล้วก็เลี้ยงไว้อย่าให้ดับ จะเคลื่อนย้ายไปไหนก็ต้องมีกองไฟไว้ ช่วยทำอาหารให้สุก ไล่สัตว์ใหญ่ ไล่แมลง ไล่ยุง ไล่ความหนาวเย็นในป่า”

เดี๋ยวนี้ไฟไม่ได้หายากขนาดนั้นอีกแล้ว โลกเปลี่ยนไป มานิก็เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ไม้ขีดไฟและไฟแช็กกลายเป็นสิ่งสามัญประจำทับ เช่นเดียวกับยาเส้นและบุหรี่ใบจาก ชายชาวมานิทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่พากันจับจองที่นั่งข้างกองเถ้าถ่าน คอยเติมไฟให้ลุกโพลง เพื่อลนปลายมวนยาแทบตลอดเวลา ในป่าที่แทบไม่มีสิ่งใดเคลื่อนไหว การสูบควันเข้าปาก กลั้นไว้ แล้วปล่อยให้ลอยอ้อยอิ่งโดยปราศจากถ้อยคำ คงเป็นความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ ที่ชาวมานิพอจะค้นเจอ



ครั้นเดินแยกย้ายกันสำรวจรอบๆ ลานดิน เราเห็นสิ่งน่าสนใจอีกมากมาย อย่างเสื้อผ้าหลากหลายแบบและขนาด ส่วนหนึ่งแขวนไว้ที่ต้นไม้ และอีกส่วนปะปนอยู่กับดิน มีเสื้อนักเรียน กางเกงนักเรียน รองเท้าหนัง รองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ ของเล่นพลาสติก ตุ๊กตา ขวดนม ขวดน้ำ ซองขนมสีเงิน ถุงก๊อบแก๊บ ฉลากอาหาร

แล้วฝนก็เทโครมลงมา

อย่างที่พี่นิจว่า ไว้ใจได้เลย ทุกคนหนีความเปียกปอนมาหลบในทับของป้าบุนและยม แต่ก็ไม่วายโดนหยดน้ำทะลุทะลวงผ่านหลังคาใบเหนาร่วงใส่หัวใส่ไหล่เป็นระยะ ไม่หัวเรา ก็ไหล่แจม-กอบบุญ ช่างภาพรุ่นน้องที่ไปด้วยกัน เขาถือโอกาสเล่าให้ฟังว่าเมื่อครู่ได้ไปดู ‘ลูกดอก’ ของมานิ ที่เคยได้ยินแต่ในวรรณคดีเงาะป่า เป็นอาจารย์จรูญอีกนั่นละที่คะยั้นคะยอให้ยมนำมาโชว์พี่ๆ ทำทีเหมือนกำลังเป่าผ่านลำไม้ไผ่เพื่อล่าสัตว์ โดยที่หนุ่มน้อยไม่เคยปฏิบัติจริงมาก่อนในชีวิต

“เขาไม่ให้เด็กเล่นเลย ต้องให้ผู้ใหญ่ใช้ล่าสัตว์เท่านั้น ยมเองก็รู้”

อาจารย์จรูญกล่าวว่านอกจากหัวมัน รังผึ้ง และผลหมากรากไม้ อาหารสำคัญอีกอย่างของชาวมานิคือเนื้อสัตว์ ทั้งหมูป่า ลิง ค่าง พญากระรอก มานิจะเป่าลูกดอกอาบพิษใส่เป้าหมาย เมื่อปลายลูกดอกที่มีส่วนคอดเล็กๆ หักคาตัวสัตว์ พิษจะกระจายไปทั่วร่าง ไม่นานสัตว์จะตายลง คนจะคว้านเนื้อส่วนโดนพิษทิ้ง แล้วนำที่เหลือกลับไปย่างกินแบ่งกันทุกครอบครัว ล่าได้น้อยแบ่งน้อย ล่าได้มากแบ่งมาก ไม่มีใครถือเป็นเจ้าของผลงานหรือตระหนี่กินคนเดียว



“เขาจะไม่กินของดิบ ต้องเอามาย่างให้สุก เวลากินก็จะไม่มีการปรุงรส” อาจารย์จรูญเสริม เขาว่าสูตรยาพิษของมานิเองก็เป็นความลับ มีแต่มานิเท่านั้นที่รู้กัน ตัวลูกดอกเองก็ไม่ให้เด็กจับจนกว่าจะถึงเวลา แต่เหตุที่ยมรู้วิธีใช้ เพราะมานิจะทำของเล่นคล้ายของจริงให้เด็กทดลองสร้างความคุ้นเคย

“เด็กจะเรียนรู้จากการดูผู้ใหญ่ เอากระบอกไม้ไผ่มาเป่า ตามพ่อแม่ไปเก็บสมุนไพร ขุดมัน ล่าสัตว์ รู้ว่าอะไรกินได้ อะไรกินแล้วเมา กินแล้วเป็นพิษ”

พูดถึงเด็ก เราก็เห็นเด็กมาแต่ไกล — ฝนทำให้มานิส่วนหนึ่งที่เพิงขายสมุนไพรตัดสินใจกลับบ้าน แม่ลูกอ่อนคนหนึ่งสะพายทารกแนบอก มีเด็กเล็กคนหนึ่งขึ้นขี่คอ ส่วนเด็กที่โตหน่อยก็เด็ดใบกล้วยถือต่างร่ม มีเพียงหนูน้อยบางคนเท่านั้นที่ไม่ยี่หระต่อสายฝน วิ่งโร่ด้วยเนื้อตัวเปล่าเปลือยไปคว้ายางล้อจักรยาน ไถเล่นไปกับพื้นโคลนอย่างสนุกสนาน ชวนให้คนมองขบขันและเอ็นดู



“ที่นี่ไม่ใช่ว่าลูกจะต้องเรียนรู้จากพ่อแม่ของตนเองเท่านั้น เด็กๆ จะโตมาด้วยกัน และจะเรียนรู้จากผู้ใหญ่คนไหนก็ได้” อาจารย์จรูญยิ้มว่า “เรื่องทุกอย่างถ่ายทอดโดยการบอก โดยการทำให้ดู มันไม่มีการสอนเป็นเรื่องเป็นราวหรอก ไม่มีกระดาน ไม่มีปากกาเขียน”

โลกการเรียนรู้ของมานิแตกต่างไปจากโลกตามหลักสูตรการศึกษาในระบบอย่างสิ้นเชิง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเครื่องแบบนักเรียนถูกห้อยทิ้งไว้บนกิ่งไม้ ปล่อยให้เปียกฝน ชื้นแฉะ เช่นเดียวกับรองเท้าหนังสีดำคู่เล็ก และอีกสารพัดสิ่งที่คนเมืองนำมามอบให้ในนามของการบริจาค



“คนส่วนใหญ่ก็ย้ายขยะที่บ้านมาทิ้งไว้ที่นี่” อาจารย์จรูญถอนหายใจ คว้าหยิบชุดกระโปรงผ้าชีฟองตรงพื้นทับป้ายมให้เราดู เป็นชุดที่มองมุมไหนก็ไม่เหมาะกับชีวิตในป่า ของที่มานิไม่ได้ใช้ ให้ไปเขาก็โยนทิ้ง อาจารย์แกว่า แล้วจะต่างอะไรกับการย้ายขยะจากเมืองมากองสุมบ้านคนอื่น

แต่เมื่อเราหันไปถามป้าบุนว่า แล้วมานิต้องการอะไร ป้าบุนแค่เผยยิ้ม ไม่กล่าวคำ

อาจจะเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง ผ้าขาวม้า อาจารย์จรูญว่า มองฝนที่เริ่มซา แดดที่เริ่มส่อง เด็กออกมาวิ่งเล่น

เท้าเปล่าเหยียบดิน คว้ากิ่งไม้ขึ้นแกว่ง เสียงแหลมสูงพลันกำจาย

ในป่าเขาที่ราวกับอยู่เหนือกาลเวลา ป้าบุนคงไม่รู้จริงๆ ว่าต้องการอะไรยิ่งไปกว่านี้



4.

ห้วยหนาน


พ่อของปิเอโตรในนวนิยายเรื่องแปดขุนเขา สอนกฎเหล็กเมื่อต้องเดินขึ้นเขาแก่ลูกชายสามข้อ หนึ่ง – เดินให้เป็นจังหวะ รักษาจังหวะไว้แล้วอย่าหยุดเดิน สอง – ห้ามพูด สาม –  ทุกครั้งที่พบทางแยกให้เลือกเส้นทางที่ขึ้นเนิน

แม้ระยะทางจากตีนเขาบรรทัดถึงหมู่บ้านมานิกลุ่มห้วยหนานจะไม่ทรหดห่างไกลเหมือนปีนขึ้นยอดเขากรานาในอิตาลี แต่ลำพังความลาดชัน บ่อน้ำขัง และพื้นดินสูงๆ ต่ำๆ ของเส้นทางหนึ่งกิโลเมตรกว่าๆ ก็ทำให้เราเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่าทำไมพ่อจึงสอนปิเอโตรจดจ่ออยู่กับ ‘จังหวะของขา ปอด หัวใจ ซึ่งสัมพันธ์กับความพยายามอันเป็นส่วนตัวและเงียบเชียบ’ เท่านั้น

การเดินขึ้นเขาคือการต่อสู้กับตนเอง — เมื่อถึงจุดหนึ่ง ดูเหมือนพืชพรรณรอบตัวจะหมดความน่าสนใจ ไม่มีใครอยู่กับเรานอกจากเสียงหอบอื้ออึงทั้งสองหู และสองขาที่ต้องจ้วง จ้ำ ย่ำ ก้าว ซ้ำๆ โดยหวังว่าถึงที่สุดแล้ว เราจะพาสารร่างไปสู่ปลายทางข้างบนนั้น ที่ตั้งของชุมชนมานิที่พัฒนามากที่สุดกลุ่มหนึ่งในจังหวัดสตูล เป็นกลุ่มที่เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการอาศัยในทับและเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหาร มาสู่การตั้งรกราก สร้างบ้านด้วยไม้และมุงหลังคาสังกะสี บนที่ดินกลางป่าเขาซึ่งได้รับบริจาคมาจากผู้ใจบุญ พร้อมด้วยความช่วยเหลือจาก พี่ตาล – สรวรรณ นิรันรัตน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิพลเมืองพัฒนาคุณภาพชีวิต คนนำทางเราในวันนี้


สรวรรณ นิรันรัตน์


“เบื้องต้นคือทรัพยากรป่าลดลง อาหารการกินในป่าลดลง ป่าก็ลดลง นี่คือเหตุผลที่เขาต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา เมื่อก่อนมานิอยู่ในป่า วันนี้ก็ต้องมาอยู่ตะเข็บขอบป่า เมื่อหมดหัวมัน จากสารเคมี ยาฆ่าหญ้า ก็ต้องหันมากินข้าวสาร บ้านของเขาที่เคยเคลื่อนทับกันก็หมดไป ต้องหยุดเคลื่อน ตั้งที่อยู่อาศัย แต่การตั้งที่อยู่อาศัยก็ทำยาก เพราะพี่น้องมานิไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง”

พ้นผ่านการต่อสู้อันยาวนาน จนเวลาล่วงเข้าเที่ยงวัน เราพักหาที่นั่งคุยกับพี่ตาลบนชานพักบ้านของมานิครอบครัวหนึ่ง บ้านที่นี่หน้าตาไม่เหมือนกันสักหลัง บ้างเล็ก บ้างใหญ่ บ้างติดพื้นเรี่ยดิน บ้างยกสูงเปิดใต้ถุน ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวจะออกแบบอย่างไร “เราหาแค่วัสดุอุปกรณ์ให้ ที่เหลือเขาจัดการกันเองได้” พี่ตาลว่า ไม่ไกลจากกันคือพื้นที่สวนยาง แซมต้นผลไม้อย่างเงาะ ส้มโอ ขนุน กล้วย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและช่วยสร้างอาชีพให้มานิราว 40 ชีวิตที่นี่อยู่ได้

“กลุ่มห้วยหนานเขาได้รับการยกระดับชีวิตขึ้นมา มีบ้านที่มั่นคง มีที่ดิน มีสวนของตนเอง ทั้งหมดเป็นพื้นฐานของชีวิตคนเลย เรามองว่าเหตุผลที่พี่น้องมานิพัฒนาได้ช้าที่สุด เพราะไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง เขาไม่ได้เลือกที่จะพัฒนาหรือไม่พัฒนา แต่เขาพัฒนาได้เพราะมีโอกาส ถ้าเลือกได้ ใครก็อยากอยู่สบาย กินอิ่ม มีความสุข แต่หลายกลุ่มที่ไม่ได้พัฒนา เพราะไม่มีโอกาสเลือก” พี่ตาลกล่าวเสียงหนักแน่น

“เพราะงั้นเราจึงพูดเสมอว่าถ้าต้องการให้พี่น้องมานิมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ ต้องเริ่มจัดสรรให้เขามีที่ดิน เข้ามาพัฒนาอาชีพ พัฒนาที่อยู่อาศัย แล้วเขาก็จะมีวิถีชีวิตแบบบุคคลทั่วไป เราไม่สามารถยับยั้งไม่ให้เขาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตได้แล้ว เพราะสังคมเปลี่ยน ธรรมชาติเปลี่ยน ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยน เราจะสตัฟฟ์มานิให้อยู่แบบเดิมไม่ได้”



ประสบการณ์ ‘สัมพันธ์’ กับชาวมานิและการทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในนามเครือข่ายสิทธิพลเมืองฯ ตั้งแต่ปี 2562 ของพี่ตาล ทำให้เธอทราบมาว่าคนจำนวนหนึ่งเห็นดีเห็นงามกับการให้มานิคงอยู่ด้วยวิถีดั้งเดิมไม่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จะเพราะเห็นเป็นเสน่ห์ หรือเพราะความไม่เข้าใจ “แต่คนที่คิดแบบนั้นก็ไม่เคยมาสัมผัสกับมานิโดยตรงเลยว่ามานิอยากอยู่แบบไหน การที่เราจะตัดสินว่าใครควรอยู่แบบไหนก็ควรสัมพันธ์กับเขา วิถีทั้งหมดของเขาให้ชัดเจนลึกซึ้งเสียก่อน” พี่ตาลกำชับ

เสียงเล็กๆ ดังสอดแทรกบทสนทนาบนชานพัก เด็กน้อยชาวมานิหลายคนแอบจ้องมองผ่านกำแพงและหลังกรอบประตูด้วยสายตาใคร่รู้ปนระแวดระวัง แม้วิถีการดำรงชีพจะเปลี่ยนไป แต่ดูเหมือนชาวมานิห้วยหนานยังคงเอกลักษณ์เดียวกันกับกลุ่มอื่นๆ ไว้ คือห่มคลุมตนเองด้วยความนิ่งเงียบเสมือนเกราะป้องกันตัวจากคนแปลกหน้า เมื่อใดก็ตามที่เราเดินผ่าน ผู้ใหญ่ที่ผ่าฟืนอยู่ก็จะหยุด ที่ทอดจำปาดะก็จะปล่อยไหม้

มีเพียง พี่แมว เท่านั้นที่ยอมปลดเปลื้องความเงียบออกจากกาย นั่งสูบยาเส้นแบ่งปันเรื่องราวผ่านสำเนียงใต้อย่างฉะฉาน เขาคือคนแรกที่สอนศัพท์ภาษามานิแก่คนฟัง — ‘ฮามิ’ แปลว่า คนบ้าน หรือคนที่อยู่ในเมือง


พี่แมว


“เป็นลูกครึ่ง แม่เป็นมานิ พ่อเป็นฮามิ” ในบรรดาพี่น้องร่วมมารดาจำนวน 5 คน พี่แมวเป็นคนเดียวที่มีพ่อเป็นคนนอก และไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาพ่อของตัวเอง “ตาโซะแกเอาผมมาเลี้ยงตั้งแต่เด็กๆ แต่แกเสียไปแล้ว”

ตาโซะ หรือเฒ่าโซะ คือผู้อาวุโสของที่นี่ โดยปกติคนมักจะเรียกกลุ่มมานิด้วยชื่อผู้อาวุโส เช่น กลุ่มเฒ่าชา กลุ่มเฒ่าโซะ แต่เฒ่าโซะที่ว่าเพิ่งเสียไปเมื่อสองปีที่แล้วด้วยความชรา ทิ้งไว้เพียงความทรงจำว่าเป็นคนพาพี่แมว ผู้เกิดในอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง มาอุปการะยังหมู่บ้านแห่งนี้

“หลายๆ คนที่นี่ก็รู้ว่าพ่อผมเป็นใคร แต่ก็ไม่บอก” พี่แมวยิ้ม “เขากลัวผมไปชิงสมบัติมั้ง” ประโยคหลังเรียกเสียงหัวเราะฮาครืน แซวกันว่าเผลอๆ พี่แมวจะเป็น ‘นายหัว’ บ้านไหนหรือเปล่า ทำเอาหนุ่มวัยสามสิบกว่าส่ายหน้าหัวเราะ ถ้าเป็นลูกนายหัวสักคน คงไม่ต้องกรีดยางไปขายเลี้ยงเมียและลูกอีกสามคนแล้ว แถมพี่แมวยังเป็นชาวมานิไม่กี่คนที่ส่งเสียลูกเข้าโรงเรียนอีกด้วย

“ต่อไปข้างหน้ามันจะได้รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง ต่อไปข้างหน้ามันจะไปอยู่ส่วนตัวของพวกมันเอง เราก็ต้องเตรียมไว้” ที่ผ่านมา พี่แมวเห็นว่าชาวมานิหลายคนประสบปัญหาในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่นเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ก็ไม่รู้ว่าถูกเรียกคิวตรวจ เพราะดูเลขไม่เป็น อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ต้องรอให้เรียกชื่อถึงรู้ตัว “เราก็คิดว่าเด็กต้องทันสมัยข้างหน้า มันต้องได้เรียนรู้”



แม้ทุกวันนี้ลูกของพี่แมวจะไปเรียนบ้าง ขาดเรียนบ้าง แต่พี่แมวก็หวังว่าเด็กๆ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากใคร สามารถใช้ชีวิตเหมือนชาวบ้านทั่วไป ฝ่ายพี่ตาลเองก็พยายามเดินทางขึ้นเขามาสอนหนังสือเด็กๆ ที่เหลือหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ด้วยกัน ผ่านการทำสมุดทำมือ ล้อมวงกินขนม ต้มกาแฟ แล้วสอดแทรกเรื่องสิทธิที่พวกเขาควรได้ในฐานะพลเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันชาวมานิทั้งหมดมีบัตรประชาชนครบทุกคนแล้ว นับตั้งแต่การยื่นหนังสือเรียกร้องต่อประธานกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยตัวแทนชาวมานิ ร่วมกับเครือข่ายสิทธิพลเมืองฯ ของพี่ตาลในงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะ ปี 2563

“ตอนนั้นก็ไม่ได้พูดแค่เรื่องบัตรประชาชนนะ พูดเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย อาชีพ และการศึกษาด้วย แต่ผลตอบรับที่เร็วที่สุดที่ได้รับคือเรื่องบัตรประชาชน” พี่ตาลเล่า

“เรามองว่าชาวมานิควรมีสิทธิเท่าเทียมกับเรา เพราะเขาคือคนไทย มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ดังนั้นสิทธิต่างๆ ก็ไม่ควรแตกต่าง ยกเว้นเรื่องวิถีชีวิตที่เราควรให้สิทธิเขาให้ได้ใช้ชีวิตตามวิถีของเขา ซึ่งแตกต่างจากเราที่อยู่ในเมือง

“ชีวิตของเขาควรเป็นของเขา ไม่ควรมีใครเข้ามายุยง ยุแยง เปลี่ยนแปลง โดยไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากพี่น้องมานิเอง” ทุกอย่างต้องเกิดจากความต้องการของเขา พี่ตาลเน้นย้ำ ยกตัวอย่างให้ชัดเจนที่สุดคือต้องไม่จัดสรรให้ไปอยู่รวมกันในที่ที่มานิไม่ต้องการ

“ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้พี่น้องมานิมีสิทธิ์ในที่ดินทำกิน อย่างน้อยกลุ่มละหนึ่งแปลง ในพื้นที่ที่เขาพร้อมจะอยู่อาศัย ในพื้นที่ที่เขาอยู่แล้วมีความสุข ในทุกๆ สิทธิตอนนี้ สิทธิที่ดินต้องมาก่อน”



หากพี่น้องมานิสามารถปักหลัก สร้างบ้านสร้างอาชีพ สร้างชีวิตที่มั่นคงขึ้นได้ การตระหนักถึงเรื่องอื่นๆ อย่างการศึกษาก็จะตามมาในไม่ช้า แต่แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือจะทำอย่างไรให้การศึกษาสามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตของชาวมานิด้วย

“เราอยากเห็นการศึกษาที่พัฒนาเข้ากับวิถีชีวิตของเขาได้ ไม่ใช่การศึกษาที่ลากเขาไปสู่สังคมภายนอก แล้วล้มล้างวิถีชีวิตของเขา” พี่ตาลยืนยัน “ทุกวันนี้การศึกษาไม่จำเป็นต้องจบปริญญา แค่ให้เขาอ่านออกเขียนได้ บวกเลขเป็น ไม่โดนโกงเวลาไปซื้อของ การศึกษาไม่ควรจะอยู่แค่ในระบบอีกต่อไปแล้ว มันควรเป็นการศึกษานอกระบบ”


บ่ายคล้อย แดดร่มลมตก เมฆครึ้มส่งสัญญาณให้เด็กๆ ทยอยออกมาช่วยพ่อแม่เก็บผ้าผ่อนบนราวตาก แต่บางส่วนก็ถือโอกาสทำตัวให้เปียกล่วงหน้า พากันกระโจนลงแหวกว่ายในธารน้ำติดหมู่บ้าน วักสาดใส่เพื่อนอย่างสนุกสนาน

คำพูดของพี่ตาลลอยมาสำทับในความคิดอีกครั้ง

พื้นที่ที่อยู่แล้วมีความสุข นั่นละ คือสิ่งที่ทำให้คนอยากหยุดลงหลักปักฐาน สร้างบ้าน และสร้างอนาคต



5.

วังสายทอง


“รำรำรำ มาซิมารำกับพี่ รำวงสระบุรี คนดีอย่าหนีหน้าไกล มาเถิดหนาทรามชื่น คนอื่นที่ไหนเมื่อไร จะรำคู่ใครนะ เจ้าขวัญใจสระบุรี”

คงเป็นเพราะน้ำตกวังสายทองในอำเภอละงู ขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสตูล คนหลากหลายภูมิหลัง ทั้งคนสระบุรี ลูกอีสาน ชาวเหนือ เด็กภาคกลาง หรือกระทั่งคนขับรถที่หลงรักในเสียงเพลงรำวงแบบฉบับของโชค ไทรถแห่ จึงล้วนพบเห็นได้บนถนนจากอำเภอทุ่งหว้า มุ่งหน้าสู่น้ำตกหินปูนหกชั้น

เราเองเป็นหนึ่งในนั้น นั่งฟังจังหวะคึกคักที่พลขับเปิดเป็นเพื่อนร่วมทาง แต่แทนที่จะไปถึงน้ำตก เราเลือกลงรถตรงเลยย่านบ้านสะพานวามาอึดใจ ก้ำกึ่งถึงวังนาใน กลางถนนที่มีเพียงสวนยางล้อมหน้าล้อมหลัง มีเพียงร้านขายของชำตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว พี่ตาลจอดรถรออยู่แล้ว วันนี้เธอจะพาเราลัดเลาะผ่านสวนไปยังชายป่า ในที่ที่ความรื่นเริงของเพลงรำวงสระบุรีเข้าไม่ถึง ที่นั่นมีมานิกลุ่มเฒ่าเปียวตั้งทับอาศัยอยู่อย่างเงียบงัน

“เดิมเขาอยู่ที่อำเภอทุ่งหว้า จนพอวันที่พี่เข้าไปยื่นหนังสือที่หลีเป๊ะ แล้วเขามีคำสั่งให้ทำบัตรประชาชนแก่พี่น้องมานิ ก็มีทีมเจ้าหน้าที่จากอำเภอละงูไปขนย้ายพี่น้องมานิจากทุ่งหว้ามาอยู่นี่ พาไปทำบัตรประชาชนที่อำเภอละงู โดยให้เหตุผลว่าถ้าอยู่ทุ่งหว้าจะไม่ได้ทำบัตร ไม่ได้เงินสวัสดิการ เขาเลยต้องมา ทั้งที่ตอนนั้นอำเภอทุ่งหว้าก็เตรียมการทำเอกสารให้เรียบร้อยหมดแล้ว” พี่ตาล เล่าขณะเดินผ่านทางดินที่หดแคบลงเรื่อยๆ จนต้องเหยียบพุ่มไม้ถางทาง

“บางทีเรื่องแบบนี้ก็น่าตั้งคำถามนะว่าทำไมต้องไปขนเขามา ทั้งๆ ที่มานิอยู่ทุ่งหว้าก็ดีอยู่แล้ว ที่โน่น ทำมาหากินก็ไม่ได้ลำบาก อยู่กันหลายกลุ่ม จะช่วยเหลือกันก็ได้”

ผ่านทางเข้าสวนยางไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร บนเนินดินติดป่าทึบ ก้ำกึ่งระหว่างเรือกสวนอันมีเจ้าของและผืนดินที่ไม่มีใครครอบครอง เราพบทับมานิกว่า 4-5 หลังตั้งเรี่ยพื้น พร้อมๆ กับฝนซึ่งเริ่มโปรยลงมา เม็ดใหญ่เท่าลูกกวาด ส่งเสียงดังก้องกังวาน

เป็นอีกครั้งที่เราขออาศัยชายคาใบเหนาและผ้าใบพลาสติกหลบอากาศอันแปรปรวนของภาคใต้ ทำให้ได้รู้จักกับมานิสองตายายผู้อาวุโสแห่งวังสายทอง เฒ่าเปียวและยายโกบ


เฒ่าเปียว


“วันนี้บนเทือกเขาบรรทัด เฒ่าเปียวอาวุโสที่สุด เราคำนวณว่าเฒ่าเปียวน่าจะอายุประมาณ 120 ปี” พี่ตาลกล่าว ตาข้างหนึ่งของเฒ่าโดนต้อกระจกเคลือบจนขุ่นเป็นสีฟ้า นั่งนิ่งสูบยาเส้นไม่พูดจา ต่างกับยายโกบที่ยิ้มทักทายคนคุ้นเคยแล้วยอมหยิบ ‘ลูกหับ’ ที่เก็บไว้ออกมาให้ดู หลังเห็นเราสนอกสนใจสร้อยลูกไม้ขัดเงาสีดำวาวบนคอ — ว่ากันว่าสร้อยลูกหับเป็นเครื่องรางที่ชาวมานิมอบให้เด็กๆ พกติดตัวตั้งแต่เป็นทารก เมื่อโตขึ้น บางคนอาจคล้องชิ้นส่วนของสัตว์ เช่น เขี้ยวลิง กระดูกค่าง เกล็ดตัวนิ่ม ที่ล่ามาประดับเพิ่มเติม ถือเป็นวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ประจำของชาติพันธุ์ อันหาชมที่อื่นไม่ได้


ลูกหับ
ยายโกบ


“พี่น้องมานิที่นี่ส่วนหนึ่งได้เงินจากภาคการท่องเที่ยว แต่ส่วนใหญ่ก็ยังหาของป่า หาหัวมัน ล่าหมูดิน”

คล้อยหลังเราไม่นาน ชายที่แทนตัวว่า พี่บ่าว ก็ตามมาสมทบในทับของเฒ่าเปียว เขาคือคนทำงานอีกคนในเครือข่ายสิทธิพลเมืองฯ และเป็นคนที่คุ้นเคยกับมานิกลุ่มวังสายทองดีขนาดที่พี่ตาลพูดติดตลกว่าไม่มีพี่บ่าว เราเข้ามาหามานิที่นี่ไม่ถูกแน่นอน

“หมูดินคือหมูหริ่ง หน้าเหมือนหมู ตีนเหมือนหมี ขนเหมือนหมา” หนุ่มใหญ่อายุ 48 ยิ้ม อธิบายว่านอกจากมานิกลุ่มเฒ่าเปียวจะหาของป่ามาบริโภคเองแล้ว บางครั้งยังนำมาขายแก่คนภายนอก บ้างก็ออกไปรับจ้างทำงานจิปาถะให้ชาวบ้าน เช่น ตัดกิ่งไม้ แบกของ เพื่อหาเงินมาซื้อข้าวสารอาหารแห้ง เพราะอย่างที่พี่ตาลเคยว่าไว้ ป่าเปลี่ยน โลกเปลี่ยน แหล่งอาหารลดน้อยลง

“อย่างฝนตกแบบนี้ ก็ออกไปหาอาหารไม่ได้เหมือนกัน ต้องรอ บางทีฝนตกสามวันก็ไม่รู้จะไปหายังไง” พี่ตาลเสริมขึ้นมา ฝ่ายพี่บ่าวพยักหน้าเอ่ย “พี่น้องมานิถ้าไม่มีอาหาร แกก็นอน เคลื่อนไหวน้อยๆ”

จริงดังทั้งคู่ว่า ตลอดเวลาที่ฝนทิ้งเป็นสาย เสมือนม่านกั้นระหว่างในและนอกทับ มานิหลายคนเลือกล้มตัวลงกึ่งนั่งกึ่งนอนบนแคร่ไม้ไผ่ ทั้งยายโกบ ทั้ง เหน่ง เด็กหนุ่มวัย 13 ปีที่ปกติแล้วอาจจะออกไปรับจ้างชาวบ้าน ตัดลองกองบ้าง ขึ้นต้นมะพร้าวบ้าง ก็ได้แต่เอนหลังนอนคุยกับเราแทน


เหน่ง


“บางทีก็มีงานมา บางทีก็ไม่” เหน่งว่า แถมทำงานครั้งหนึ่งยังได้คราวละไม่กี่ร้อย กระนั้นต่อให้มีคนออกแรงแค่คนเดียว เหน่งก็ยัง “เอาเงินไปซื้อข้าวสาร มาม่า ปลาป๋อง เอามาแบ่งแม่ เอามาแบ่งพ่อ เอามาแบ่งเพื่อนๆ แบ่งกันทุกคน”

ครั้นเราถามเล่นๆ ว่าข้าวของราคาเป็นอย่างไร เหน่งตอบเสียงดังฟังชัด “แพง แพงมาก” เจ้าตัวขมวดคิ้ว “บางทีก็ โอ๊ย ตุกติกด้วย”

ถ้ารู้ว่าร้านไหนออกอาการ ‘ตุกติก’ เหน่งก็จะไม่ไปซื้อร้านนั้นอีกต่อไป บ่งบอกว่าแม้จะไม่รู้หนังสือ บวกลบเลขไม่เป็น แต่มานิหลายคนก็ยังจดจำได้ ใช้จ่ายเงินเท่าไหร่ ควรได้ของปริมาณเท่าไหน และเงินทอนทั้งหมดกี่บาท

“พี่น้องมานิจะไม่ทวงเงินทอนนะ จะใช้วิธียืนคอยจนกว่าจะได้รับเงินคืน เขารู้ว่าใครโกงบ้าง ถ้าจะไปซื้อขายอีกก็ไม่เอาแล้ว” พี่บ่าวกล่าวเพิ่มเติม “แม่ค้าในตลาดส่วนใหญ่ก็ชอบมานินะ วันนี้ได้เงินเท่าไหร่ เขาก็ใช้ซื้อของหมดเลย ซื้อทีละเยอะๆ เพราะลงไปทีเดียว แล้วต้องเอามาแบ่งกันหมด”



เมื่อต้องออกจากทับไปพบปะผู้คนเป็นระยะ หรือกระทั่งต้องเจอนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาถึงถิ่น เราจึงถามว่าชาวมานิวังสายทองว่ารู้เรื่องราวโลกภายนอกมากน้อยแค่ไหน การเมืองรู้บ้างไหม โควิดเป็นอย่างไร ซึ่งพี่บ่าวเป็นผู้ให้คำตอบว่ามีคนมาบอกให้มานิไปใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่หลายครั้ง ต่อให้พวกเขาจะไม่รู้จักหน้าค่าตาผู้สมัครและตัวเลข แต่ “บางคนก็บอกว่าให้ไปกาเบอร์นี้นะ เขาจะเขียนเบอร์ให้จำไว้”

คนพูดยิ้มเล็กน้อย ถ้าไม่โลกสวยจนเกินไป เรื่องพรรค์นี้ที่ไหนก็มีอยู่แล้ว

ส่วนโควิด กลุ่มเฒ่าเปียวแทบจะเป็นชาวมานิกลุ่มเดียวที่ฉีดวัคซีนครบทุกคน แต่พี่บ่าวและพี่ตาลพบว่าพี่น้องมานิหลายคนร่างกายอ่อนแอลงหลังจากได้รับวัคซีน มีอาการเหนื่อยง่าย ปวดตามกระดูก ตามข้อ จึงพูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่มานิได้เพิ่มภูมิคุ้มกัน เพราะสิ่งที่หน่วยงานรัฐควรทำจริงๆ คือการเติมเต็มช่องโหว่เรื่องสิทธิรักษาพยาบาล ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสุขภาพชาวมานิเป็นประจำต่างหาก

“สิทธิรักษาพยาบาลเขาก็มีหมดละ แต่ถ้าสมมติมีคนเป็นลมขึ้นมา เขาจะทำยังไง จะเข้าถึงโรงพยาบาลยังไง สัญญาณโทรศัพท์ก็ไม่มี จะให้พวกนี้วิ่งไปตามคนด้านนอกมาเหรอ ถ้าเขาไม่ช่วยซะอย่างจะทำไงได้ แบบนี้เรียกเข้าถึงสิทธิไหม” พี่บ่าวตั้งคำถาม

“ถ้าจะให้ดี ต้องมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ไม่ต้องมากหรอก อย่างน้อยทุกเดือนเข้ามาเยี่ยมสักหน่อย มาเช็กร่างกาย ดูว่าเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบายไหมก็พอ”

ในภาพรวมที่ผ่านมา แม้มีการส่งเสริมให้ชาวมานิบางคนได้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้แก่พี่น้องที่เหลืออยู่บ้าง แต่ในความเป็นจริงคือสถานพยาบาลส่วนใหญ่มักให้ความรู้เรื่องสุขภาพและการป้องกันโรคแก่คนเหล่านั้นน้อยมาก จนดูคล้ายกับว่าต้องการเพียงชื่อของชาวมานิปรากฏเป็นประจักษ์เท่านั้น เช่นเดียวกับโรงเรียนบางแห่งที่ได้รับคำชื่นชมเพราะรับเด็กมานิเข้าไปเรียน แต่กลับไม่เข้าใจและไม่ใส่ใจสอนชาวมานิอย่างจริงจัง

“เราเคยเห็นมานิที่เรียนจบ ม.3 และม.6 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” พี่บ่าวกล่าว “เรามีตัวอย่างเด็กมานิเก่งๆ ได้เรียนมหาวิทยาลัย คนก็ชื่นชมให้ความสนใจแค่ตรงนั้น แต่เด็กที่เหลืออีกร้อยกว่าคน ไม่ได้ไปถึงจุดนั้น”



ฝนเริ่มขาดช่วง เล็กเหลือเม็ดเท่าลูกปัด เราบอกลาเฒ่าเปียว ยายโกบ ลงจากทับมาสู่ริมถนนนอกสวนยาง ชาวมานิอีกนับสิบคนตามลงมาเช่นเดียวกัน แต่มีเป้าหมายคือร้านขายของชำตรงปากทาง

เหน่งนำขบวนเข้าไปหยิบข้าวสารและเนื้อสัตว์ ส่งให้เจ้าของร้านทยอยชั่งกิโล เด็กและผู้ใหญ่ต่างจับจ้องเข็มบนหน้าปัดดีดเป็นรูปครึ่งวงกลม แต่ตัวเลขที่สะท้อนบนแก้วตาดำเหล่านั้นดูคล้ายจะสื่อความหมายไปไม่ถึงคนมอง

“เราอาจจะต้องใช้คำว่าพี่น้องมานิอยู่ในหลุมดำนะ” คือหนึ่งในประโยคที่พี่บ่าวทิ้งไว้ในบทสนทนาบนทับวังสายทอง

“เขากำลังตามโลกนี้ไม่ทัน ถ้าเราไม่ช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าในอีกสิบปี พี่น้องมานิจะหายไป”

ตอนนั้นเราถามพี่บ่าวกลับว่า พี่น้องมานิจะหายไปไหน

รู้ทั้งรู้คำตอบ แต่สุดท้าย ก็ไม่มีใครเปล่งเสียงออกมา



6.

มานิ


ปัจจุบัน ชาวมานิทั้งหมดที่กระจัดกระจายตามแนวเทือกเขานครศรีธรรมราชในจังหวัดตรัง สตูล พัทลุง สงขลา รวมกับกลุ่มซึ่งเรียกกันว่า ‘โอรังอัสลี’ ในเทือกเขาสันกาลาคีรี จังหวัดยะลาและนราธิวาส นับรวมแล้วเหลือไม่ถึง 500 ชีวิตในประเทศไทย

แต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่ล้วนมีรายละเอียดของปัญหาในการดำเนินชีวิตแตกต่างกันไป แต่ประเด็นที่ชัดเจนและประสบร่วมกันมากที่สุด คือปัญหาด้านสิทธิที่ดินทำกินและสิทธิด้านการศึกษา ซึ่งปรากฏให้เห็นผ่านความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การถูกไล่ที่ โยกย้ายโดยไม่เต็มใจ และการขาดทักษะอ่านเขียน คิดคำนวณตัวเลขขั้นพื้นฐาน อันนำไปสู่การถูกเอารัดเอาเปรียบในชีวิตประจำวัน รวมถึงไม่สามารถต่อยอดความรู้ให้ทันโลกทันสมัย

ยิ่งไปกว่านั้น เราพบว่ามีขบวนการแสวงหาผลประโยชน์จากชาวมานิอีกหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น การอ้างตนเป็น ‘ผู้ดูแล’ เพื่อรับเงินและสิ่งของบริจาคแทนชาวมานิ ริบบัตรประชาชนชาวมานิไว้เพื่อนำไปขึ้นเงินสวัสดิการคนจน แล้วแบ่งให้เพียงส่วนเดียว การพาชาวมานิออกไปต้อนรับนักท่องเที่ยว ทำกิจกรรมต่างๆ ให้รับชมและถ่ายภาพ โดยปราศจากการสอบถามความสมัครใจหรือมอบค่าจ้างที่เป็นธรรม บางครั้งเกิดการข่มขู่ คุกคาม และทำอันตรายถึงแก่ชีวิต จนชาวมานิไม่อาจเรียกร้องหรือขัดขืนตอบโต้ได้

หลายคนยังต้องการให้มานิดำรงชีพเช่นเดิมอย่างที่เคยเป็นเมื่อครั้งอดีต เพราะมองว่าวิถีชีวิตของมานิมีเสน่ห์และเป็นจุดขาย การพัฒนาหลายด้านจึงยังชะงักงันและล้มเหลวอยู่ร่ำไป  

มีอีกหลายเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์มานิที่เทือกเขาเก็บงำไว้

แต่หนึ่งในหลายสิ่งที่ประจักษ์ชัดเจนพอจะกล่าวได้

มานิและฮามิ

ที่สุดแล้ว ไม่มีใครเป็นมนุษย์เหนือกว่าใคร




MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save