fbpx

‘ผิดเราเป็นครู ผิดเขาเป็นครูใหญ่’ มนุษย์เรียนรู้จากความผิดพลาดได้จริงไหม?

คนไทยมีภาษิต ‘ผิดเป็นครู’ ที่หมายถึงว่าเราควรศึกษาจากความผิดพลาด ใช้ความผิดพลาดของเราเองนั้นเป็น ‘ครู’ ของเรา ซึ่งก็มีคนแซวว่าบางคนก็ผิดบ่อยหน่อยจนควรจะได้เป็นครูใหญ่!  

มีข้อพิสูจน์อะไรทางวิทยาศาสตร์บ้างหรือไม่ว่าเราเรียนรู้จากความผิดพลาดได้จริงๆ เพราะบ่อยครั้งที่เราเห็นคนอื่น (หรือหากสังเกตให้ดี อย่างไม่มีอคติ ดูจากตัวเองก็อาจพบได้บ่อย) ยังทำผิดซ้ำๆ ในเรื่องเดิมๆ เหมือนไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย

คำตอบคือ มีแง่มุมจากงานวิจัยที่น่าสนใจอยู่พอสมควรเลยครับ

การทดลองแรกที่อยากนำมาแบ่งปันระบุว่า คนที่เชื่อว่าตัวเองแก้ไขความผิดพลาดได้ ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้ มีการตอบสนองในหัวที่แตกต่างจากคนที่ไม่เชื่อแบบเดียวกันนี้ และเรื่องนี้เกิดจาก ‘ชุดความคิด’ (mindset) ที่แตกต่างกัน และนำไปสู่การตอบสนองที่แตกต่างกันด้วย

นักวิจัยทดลองโดยให้อาสาสมัครมาทำแบบทดสอบซึ่งแม้จะไม่ได้ยากอะไรมาก แต่เมื่อทำติดต่อกันไปนานๆ กลับมีแนวโน้มที่จะทำผิดได้ง่ายๆ เช่น การให้ระบุอักษรตัวกลางจากตัวอักษร 5 ตัวที่เขียนติดกัน เช่น MMMMM หรือ NNMNN ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อทำต่อเนื่องกันไปนานๆ ก็จะล้าและทำผิดพลาดได้แบบง่ายๆ

เมื่อตอบผิดไป ผู้เข้าร่วมการทดลองก็มักจะสังเกตเห็นได้ทันที และรู้สึกตัวว่างี่เง่าที่ตอบเรื่องง่ายๆ แบบนี้ผิดไปได้ไง

ก่อนการทดลอง ผู้เข้าร่วมการทดลองจะต้องสวมหมวกที่มีขั้วไฟฟ้าที่ใช้วัดกระแสสัญญาณประสาทไว้ก่อน ขณะที่ทดลองไปนักวิจัยก็จะบันทึกรูปแบบสัญญาณคลื่นสมองไปด้วย สิ่งที่นักวิจัยพบก็คือเมื่อใดก็ตามที่อาสาสมัครตอบผิด สมองจะส่งสัญญาณออกมาอย่างรวดเร็วเป็น 2 รูปแบบ สัญญาณแรกแสดงให้เห็นถึงการรู้ตัวว่าตอบผิด เป็นการตอบสนองแบบที่นักวิจัยบอกว่าเหมือนตะโกนออกมา (ในหัว) ว่า “โอว ฉิบ!”

ส่วนสัญญาณที่สองแสดงถึงความพยายามจะแก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาดไป สัญญาณทั้ง 2 แบบนี้สั้นเพียง 1/4 ของวินาทีหลังจากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น หลังจากทดลองเสร็จสิ้น นักวิจัยก็ทดสอบกับอาสาสมัครเพื่อแยกแยะ จนรู้ว่าพวกเขาแต่ละคนอยู่ในกลุ่มคนที่คิดว่าแก้ไขข้อผิดพลาดได้หรือไม่

เรื่องที่น่าสนใจคือ คนเชื่อว่าความผิดพลาดนี้แก้ไขได้ จะพยายามให้มากขึ้น และจะเรียนรู้เรื่องนี้เพื่อแก้ไขต่อไป โดยมีรูปแบบของสัญญาณของคลื่นสมองที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนจากพวกที่คิดว่า “ไอ้ตัวเราก็คงฉลาดได้เท่านี้แหละ!” ไม่น่าจะแก้ไขอะไรได้แล้วล่ะ โดยสัญญาณสมองชุดที่ 2 ของพวกเชื่อในความสามารถตัวเองว่าจะแก้ไขได้ จะมีสัญญาณที่รุนแรงกว่ามาก

นักวิจัยจึงสรุปว่าความแตกต่างของชุดความคิดของคน 2 กลุ่มนี้ ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกันมากตามมาหลังจากทำผิดพลาด โดยกลุ่มที่เรียนรู้จากข้อผิดพลาดจะมีสัญญาณสมองที่แสดงถึงความตั้งใจมากขึ้น

รู้แบบนี้แล้วมีประโยชน์คือ น่าจะนำมาใช้ออกแบบวิธีฝึกการคิด (โดยดูจากการตอบสนองของสัญญาณคลื่นสมอง) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และแก้ไขข้อผิดพลาดต่อไปในอนาคตได้  

มีการทดลองอีกชุดหนึ่งที่ใช้การทายทิศทางของหัวลูกศรแทนการระบุตัวอักษร ทำให้พบว่าสมองตอบสนองต่อความผิดพลาดอย่างไม่คาดฝันด้วยเวลาที่นานกว่าเล็กน้อยคือ ราว 1 วินาที แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือพวกเขาพบว่าสมองจะมีระบบแจ้งเตือนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ทำซ้ำอีก และระบบนี้กินเวลาเพิ่มขึ้นอีกราว 2-3 วินาทีหลังจากค้นพบข้อผิดพลาด หมายความว่าสมองจะใช้เวลาเล็กน้อยในการ ‘ตั้งหลัก’ เพื่อทบทวนและไม่ทำผิดพลาดแบบเดิม

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของการเรียนรู้จากความผิดพลาดก็คือ ความผิดพลาดอาจจะเป็น ‘ปัจจัยหลัก’ ให้เกิดการเรียนรู้ แม้ไม่มีใครอยากเผชิญกับความผิดพลาดใหญ่น้อยของตัวเอง แต่ความผิดพลาดโดยเฉพาะในโรงเรียน อาจจะมีประโยชน์กับการเรียนรู้ของนักเรียนได้มาก

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้นำผลการศึกษาจำนวนมากของนักวิจัยหลายกลุ่มมาวิเคราะห์ ทำให้รู้ว่าหากเปรียบเทียบระหว่างการเรียนรู้ด้วยการจดจำคำตอบที่ถูกต้อง กับการเรียนรู้โดยการลองผิดลองถูก แต่ผลลัพธ์ออกมาผิดจนต้องแก้ไขให้ถูกต้อง กรณีหลังดีกับตัวนักเรียนมากกว่า เพราะเด็กๆ จะจดจำได้ในระยะยาวมากกว่า

เรื่องสำคัญไม่แพ้กันก็คือ ยิ่งนักเรียนมั่นใจว่าถูกต้อง แต่กลับกลายเป็นผิดจนต้องแก้ไข จะยิ่งทำให้จดจำได้ดียิ่งขึ้น

นักวิจัยจึงแนะนำว่าคุณครูและผู้ปกครองควรกระตุ้น ให้กำลังใจ และสนับสนุนให้เด็กๆ ลองทำสิ่งต่างๆ ที่ท้าทายและเสี่ยงต่อความผิดพลาด โดยเฉพาะหากเป็นความผิดพลาดที่มีความเสี่ยงไม่สูงจนเกินไปนัก และเมื่อได้เห็นผลลัพธ์แล้วก็เกิดการเรียนรู้ได้ดี

การช่วยเหลือเด็กๆ จึงต้องเน้นไปที่การฝึกฝนให้นักเรียนพุ่งเป้าไปที่ ‘ความพยายาม’ แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ ‘ผลสำเร็จ’ หรือผลลัพธ์ที่ถูกต้องเสมอไป

วิธีการนี้จะส่งผลให้เด็กๆ ก้าวผ่านความกลัวการล้มเหลวได้ดียิ่งขึ้น และยังมีความเห็นอกเห็นใจตัวเองมากขึ้นเมื่อล้มเหลว ซึ่งสำคัญมากต่อการมีสุขภาพจิตที่ดีในระยะยาว และช่วยให้มีกรอบความคิดที่เติบโตได้ตลอดเวลา เพราะไม่กลัวความล้มเหลว

อีกทั้งยังมองว่าความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เสมอ

เคยมีการสำรวจโดยลิงก์อะโกล (Linkagoal) ทำให้พบว่าผู้ใหญ่เกือบ 1 ใน 3 (31%) มีความทุกข์จากความกลัวล้มเหลว ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากทีเดียว

ประเด็นสุดท้ายที่น่าตั้งคำถามก็คือ เราเรียนรู้จากความล้มเหลวของตัวเองได้เท่านั้นหรือ? เราเรียนรู้จากความล้มเหลวของคนอื่นได้หรือไม่? และหากได้ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะได้มากน้อยแค่ไหนกัน?   

การศึกษาของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอลระบุว่า เมื่อนำอาสาสมัครมาเล่นเกมโดย ‘แข่งกับคอมพิวเตอร์’ ซึ่งในเกมพวกเขาจะต้องพยายามเก็บทรัพยากรอาหารไปอย่างช้าๆ โดยอาศัยการเลือกกล่องที่ถูกต้องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไปถึงเป้าหมาย

ผลจากการสแกนสมองขณะเล่นพบว่า เมื่อพวกเขาเล่นชนะ สมองจะส่งสัญญาณแสดงการเรียนรู้บางอย่าง จนมีกระแสประสาทเพิ่มมากขึ้น นั่นคือหากคู่แข่งที่เป็นคอมพิวเตอร์แพ้ สมองจะแสดงอาการลิงโลด แต่ในทางกลับกันมีการเรียนรู้น้อยมากเมื่อฝ่ายตรงข้ามคือคอมพิวเตอร์เล่นชนะ

นอกจากนี้ หากตอนไหนที่คู่แข่งเล่นแย่ สมองส่วนให้รางวัลและส่วนการเรียนรู้จะแสดงอาการถูกกระตุ้นให้เห็นอย่างชัดเจน ชี้ว่านอกจากเรารับรู้เรื่องความล้มเหลวของคอมพิวเตอร์แล้ว เรายังเรียนรู้จากวิธีการเล่นที่ล้มเหลวของมัน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองต้องทำความผิดพลาดคล้ายๆ กันนั้นในอนาคตด้วย

ที่น่าสนใจคือหากดูจากสัญญาณสมองแล้ว การเรียนรู้เวลาเครื่องคอมพิวเตอร์แพ้กลับมากกว่าตอนตัวเองแพ้เสียอีก เรียกว่านอกจากสะใจแล้ว ยังจำได้แม่น พร้อมหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเดียวกันด้วย!

อีกเรื่องหนึ่งที่งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นก็คือ ‘เซลล์ประสาทแบบกระจกเงา’ (mirror neuron) ที่มีการศึกษากันมาก และพบว่าเซลล์แบบนี้ของสมองจะได้รับการกระตุ้น หากมีปฏิกิริยาบางอย่างระหว่างคนด้วยกัน โดยเฉพาะการแสดงอารมณ์หรือความเห็นใจแบบเดียวกับคนที่อยู่ในสภาวะบางอย่าง เช่น เศร้า เสียใจตามไปด้วย อยากจะร้องไห้เมื่อเห็นคนร้องไห้

แต่ในการทดลองนี้กลับพบว่าเซลล์ประสาทแบบกระจกเงากลับได้รับการกระตุ้นด้วย ราวกับสมองก็มองเห็นว่าเครื่องคอมพิวเตอร์มีชีวิตจิตใจด้วยเช่นกัน  

จึงสรุปได้ว่าจากการทดลองต่างๆ ที่ยกมา เราเรียนรู้จากความล้มเหลวได้จริงๆ ทั้งจากความล้มเหลวของตัวเองและคนอื่น และการสร้างทัศนคติที่ดีต่อความล้มเหลว และปล่อยให้เด็กล้มเหลวบ้าง อาจสำคัญกับการใช้ชีวิตให้มีความสุขในอนาคตด้วย  

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save