fbpx

สมมติฐานว่าด้วยหนงจื้อเกากับประวัติศาสตร์ล้านนา (2)

หนงจื้อเกาคือใครในประวัติศาสตร์ล้านนา


อ่าน ‘สมมติฐานว่าด้วยหนงจื้อเกากับประวัติศาสตร์ล้านนา’ ตอนที่ 1 ได้ที่นี่

หากจะเทียบเรื่องราวของหนงจื้อเกากับเรื่องราวของบุคคลในตำนานเรื่องใดเรื่องหนึ่งของล้านนา ควรเป็นบุคคลในตำนานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการตั้งถิ่นฐานหรือการอพยพของคนไทจากทางเหนือ เท่าที่ผู้เขียนทราบ บุคคลที่พอจะเข้าเกณฑ์ดังกล่าวมีอยู่สองคน ได้แก่ ลวจังกราชหรือลาวจง ใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ รวมถึงและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (ขอเรียกรวมๆ ว่ากลุ่มตำนานราชวงศ์ลวจังกราช) และสิงหนติกุมาร ใน ตำนานสิงหนติ หรือ ตำนานโยนกเชียงแสน

ลวจังกราชหรือลาวจงเป็นวีรบุรุษในตำนานคนหนึ่งที่ถูกอ้างถึงว่าเป็นปฐมบรรพบุรุษของราชวงศ์มังราย เรื่องราวของลวจังกราชปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 เป็นอย่างช้า เพราะถูกกล่าวถึงสั้นๆ ใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าเป็นเทพบุตรที่อุบัติมาเป็นโอปปาติกะ (ผู้ถือกำเนิดขึ้นมาเองโดยไม่อาศัยพ่อแม่) อยู่ใต้ต้นพุทราต้นหนึ่งในบริเวณที่จะเป็นเมืองยางคปุระหรือเมืองเงินยาง เมื่ออุบัติเป็นโอปปาติกะแล้วได้รับความยอมรับจากมหาชนให้เป็นผู้นำ จึงได้สร้างเมืองยางคปุระขึ้นและเป็นปฐมกษัตริย์ในแคว้นโยน[1] เอกสารชั้นหลังๆ เช่น ตำนานราชวงศ์ปกรณ์ และ ตำนานพื้นเมืองพะเยา ยังระบุเพิ่มเติมว่าลวจังกราชมาอุบัติในโลกมนุษย์โดยการไต่บันไดเงินลงจากสวรรค์พร้อมกับบริวารพันองค์ เมื่ออุบัติลงมาแล้วชาวเมืองต่างบังเกิดความอัศจรรย์ใจและยกย่องให้เป็นกษัตริย์ครองเมือง[2]

ส่วนเรื่องของสิงหนติกุมารนั้น ปรากฏใน ตำนานสิงหนติ หรือ ตำนานโยนกเชียงแสน เนื้อหาใจความว่า มีกษัตริย์องค์หนึ่งชื่อเทวกาล ครองอาณาจักรไทยเทศ อันมีเมืองราชคฤห์หลวงเป็นเมืองหลวง พระเจ้าเทวกาลมีโอรสสามสิบองค์ ธิดาสามสิบองค์ โอรสองค์โตชื่อพิมพิสาร โอรสองค์รองชื่อสิงหนติ ต่อมาพระเจ้าเทวกาลแต่งตั้งเจ้าชายพิมพิสารเป็นอุปราช ให้สมรสกับราชธิดาองค์หนึ่ง จากนั้นจึงแบ่งสมบัติให้โอรสธิดา 29 คู่ที่เหลือแยกย้ายออกไปตั้งเมืองใหม่

สิงหนติกุมารเดินทางออกจากนครราชคฤห์ข้ามแม่น้ำสรภูมาทางตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามแม่น้ำน้อยใหญ่มาถึงที่ราบแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากแม่น้ำโขงมากนัก ใกล้เมืองสุวรรณโคมคำซึ่งร้างไปก่อนหน้านั้น และเป็นที่อยู่ของชาวมิลักขุซึ่งมีปู่เจ้าลาวจกเป็นผู้นำ พญานาคเจ้าถิ่นตนหนึ่งชื่อพันธุนาคราชได้เชื้อเชิญให้สิงหนติกุมารและผู้ติดตามปักหลักสร้างบ้านแปงเมืองอยู่บริเวณดังกล่าว พร้อมทั้งยังสร้างเมืองให้สิงหนติกุมาร สิงหนติกุมารจึงอยู่ครองเมืองดังกล่าวและตั้งชื่อเมืองว่าพันธุสีหนตินคร ตามชื่อของพญานาคเจ้าถิ่นและชื่อของตน

เมื่อขึ้นครองเมืองแล้ว พระยาสีหนติราชได้เรียกเอาผู้นำชาวมิลักขุทั้งหลายที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิมให้เข้ามาอยู่ในอำนาจ ต่อมามีเมืองหนึ่งชื่อเมืองอุโมงคเสลา อยู่บริเวณต้นแม่น้ำกก ไม่ยอมเข้ามาสวามิภักดิ์ พระยาสิงหนติราชจึงยกทัพไปปราบจนเมืองดังกล่าวถึงแก่ความวินาศ พระยาสิงหนติครองเมืองอยู่จนอายุ 120 ปีก็สิ้นอายุขัยไป[3]

ทั้งนี้ ตำนานสิงหนติ น่าจะเป็นตำนานที่แต่งใหม่ในยุคหลัง มีอายุไม่มากนัก เนื่องจากต้นฉบับตัวเขียนของตำนานเรื่องดังกล่าว ฉบับคัดลอกเก่าที่สุดเท่าที่พบในปัจจุบันมีอายุเพียงราวศตวรรษที่ 19 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของ ตำนานสิงหนติ น่าจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องของพระเจ้าพรหมมหาราช ซึ่งเป็นวีรบุรุษอีกคนหนึ่งในตำนานและเรื่องพระเจ้าไชยศิริ ซึ่งสืบเชื้อสายจากพระเจ้าพรหมมหาราชมานั้น ปรากฏอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ชั้นหลังของสยามอยู่หลายชิ้น เช่น พระราชพงศาวดารสังเขป ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส[4] จุลยุทธการวงศ์ ของสมเด็จพระวันรัตน์วัดพระเชตุพนฯ[5] และ ‘จดหมายเหตุโหร’ ที่เรียบเรียงไว้ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 8[6] กระทั่งเอกสารฝ่ายล้านนาหลายเรื่อง เช่น ตำนานเมืองพะเยา และ ‘พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน’ ที่เรียบเรียงไว้ใน ประชุมพระราชพงศาวดาร ภาคที่ 61 ก็กล่าวถึงบุคคลที่ปรากฏตัวใน ตำนานสิงหนติ เช่นปู่เจ้าลาวจกและพระเจ้าพรหมมหาราชด้วยเช่นกัน[7]

จะเห็นได้ว่าตำนานว่าด้วยวีรบุรุษทั้งสองคนต่างกล่าวถึงกลุ่มคนจากถิ่นอื่นที่อพยพโยกย้ายเข้ามาสร้างบ้านแปงเมืองในล้านนาเหมือนกัน โดยกลุ่มตำนานราชวงศ์ลวจังกราชระบุว่าลวจังกราชพาบริวารนับพันอพยพลงมาจากสวรรค์ฟากฟ้า ซึ่งอาจเป็นสัญญะหมายถึงแผ่นดินจีน ทำนองเดียวกับที่ขจร สุขพาณิช เคยตีความว่า ‘เมืองแถน’ (แปลความตรงตัวได้ว่าเมืองฟ้าหรือเมืองสวรรค์) ใน ตำนานขุนบูลม คืออาณาจักรเทียนในประเทศจีน[8] และเอกสารล้านนาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังรายเองก็นิยมเรียกจักรพรรดิจีนว่า ‘เจ้าลุ่มฟ้า’ หรือฟ้าที่ลวจังกราชและบริวารพากันอพยพลงมานั้นอาจหมายถึงมณฑลยูนนาน ซึ่งชื่อมณฑลมีความหมายในภาษาจีนว่า ‘เมฆใต้’ หรือ ‘สวรรค์แดนใต้’ ก็ได้เช่นกัน

ในขณะที่ ตำนานสิงหนติ ระบุว่าสิงหนติกุมารพาไพร่พลอพยพมาจากเมืองราชคฤห์ กระนั้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องหมายความว่าจะสิงหนติกุมารจะอพยพมาจากนครราชคฤห์แห่งแคว้นมคธในอินเดียเหนือจริงๆ ในทางหนึ่ง ตำนานสิงหนติฉบับชำระโดยหอสมุดแห่งชาติระบุว่าสิงหนติกุมารสืบเชื้อสายมาจากฮ่อหรือจีน แต่ข้อความทำนองนี้กลับไม่พบในต้นฉบับตัวเขียนทุกฉบับของตำนานดังกล่าวแต่อย่างใด[9] หากมองว่า ตำนานสิงหนติ อาจถูกแต่งเสริมเติมต่อเนื้อหาให้พิสดารขึ้นภายหลัง การที่ผู้แต่งกำหนดให้สิงนติกุมารอพยพมาจากเมืองราชคฤห์ซึ่งเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธ ทั้งยังให้เป็นน้องชายร่วมสายเลือดกับพระเจ้าพิมพิสารซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในพุทธประวัตินั้น อาจเป็นเพียงความพยายามเชื่อมโยงวงศ์กษัตริย์ดั้งเดิมของล้านนาเข้ากับราชวงศ์ของพระยาสมันตราชหรือพระมหาสมตติ ซึ่งถือกันว่าเป็นวงศ์กษัตริย์วงศ์แรกและเป็นวงศ์กษัตริย์ที่มีทั้งความศักดิ์สิทธิและสิทธิธรรมแท้จริงเพียงวงศ์เดียว ดังที่พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ สันนิษฐานว่า ตำนานสิงหนติ เป็นตำนานที่แต่งขึ้นโดยปราชญ์ในราชสำนักมังราย เพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงเรื่องราวของลวจังกราชซึ่งเป็นปฐมบรรพบุรุษของราชวงศ์มังรายกับเรื่องราวในสมัยพุทธกาล[10] เรื่องการวิพากษ์ วิเคราะห์ และตีความเนื้อหาของ ตำนานสิงหนติ นี้ คงจะได้มีผู้หยิบยกขึ้นมาอภิปรายในโอกาสถัดไป

ในเนื้อเรื่องช่วงกลางของตำนานทั้งสองยังปรากฏเรื่องราวของวีรบุรุษผู้พิชิตที่มีอัจฉริยภาพทางการทหารเป็นอย่างยิ่งในช่วงกลางของเนื้อเรื่องเหมือนๆ กัน ได้แก่ ขุนเจืองในกลุ่มตำนานราชวงศ์ลวจังกราช และพระเจ้าพรหมมหาราชของ ตำนานสิงหนติ น่าสังเกตว่าเรื่องราวชีวิตของวีรบุรุษผู้พิชิตทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเกิดมาเป็นโอรสของกษัตริย์ที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามภายนอก[11] วีรกรรมการต่อสู้กับข้าศึกต่างชนชาติจนได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ การแตกสายตระกูลของทายาทรุ่นหลัง[12] กระทั่งชื่อช้างศึกคู่ใจของวีรบุรุษทั้งสองก็ยังตรงกัน ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า พระเจ้าพรหมมหาราชอาจเป็นวีรบุรุษในตำนานที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากการ ‘ยืมเรื่อง’ และ ‘ยืมตัวตน’ ของขุนเจืองซึ่งเป็นวีรบุรุษในตำนานรุ่นเก่ากว่า หรือกระทั่งว่าเรื่องของพระเจ้าพรหมนั้นเป็นผลผลิตจากการนำเรื่องราวของขุนเจืองซึ่งเป็นวีรบุรุษในปกรณัมศาสนาท้องถิ่นมา ‘จับบวช’ หรือดัดแปลงให้สอดคล้องตามขนบทางวรรณกรรมในพระพุทธศาสนา[13]

กลุ่มตำนานราชวงศ์ลวจังกราชและ ตำนานสิงหนติ ยังปรากฏร่องรอยความคล้ายคลึงระหว่างทั้งสองตำนานในส่วนอื่นๆ อยู่บ้าง เช่น การกล่าวถึงปู่เจ้าลาวจก และการยืมเอานามของพญามังรายในกลุ่มตำนานราชวงศ์ลวจังกราชมาตั้งเป็นนามของพระยามังรายณราชใน ตำนานสิงหนติ อีกทั้งเนื้อหาบางส่วน ตำนานสิงหนติ ยังมีความสับสนลักลั่นเรื่องเวลาและสถานที่อยู่พอสมควร[14] จึงน่าคิดว่าหากเรื่องราวว่าด้วยพระเจ้าพรหมมหาราชเกิดขึ้นจากการหยิบยืมเรื่องราวและตัวตนของขุนเจืองมา ‘จับบวช’ มาจริง ตำนานสิงหนติ ทั้งเรื่องจะเกิดขึ้นจากการหยิบยืมเรื่องราวของกลุ่มตำนานราชวงศ์ลวจังกราชมา ‘จับบวช’ ด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ มีความเห็นว่าเนื้อหาของ ตำนานสิงหนติ นั้นไม่ควรยึดถือเป็นสารัตถะสำหรับอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ เพราะมิใช่ความทรงจำดั้งเดิมของคนล้านนา และไม่ปรากฏอยู่ในสารบบคำบอกเล่าเรื่องผีบรรพบุรุษของผู้คนในที่ราบเชียงแสน แต่เป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 15-16 โดยหยิบยกเอาเนื้อหาจากหลายแหล่ง เช่น พระสูตรในพระไตรปิฎก ตำนานของบรรพกษัตริย์ในราชวงศ์ลวจังกราช และตำนานเรื่องเล่าของบ้านเมืองต่างๆ รอบล้านนามาประกอบสร้างเป็นเรื่องราวใหม่ จึงควรใช้อ้างอิงเพียงเพื่อศึกษาและแสดงวิธีคิดของปัญญาชนล้านนาในช่วงที่ตำนานเรื่องนี้ถูกรจนาขึ้นมาเท่านั้น[15]

หากเชื่อว่า ตำนานสิงหนติ คือเรื่องราวของกลุ่มตำนานราชวงศ์ลวจังกราชที่ถูกดัดแปลงตามขนบวรรณกรรมพุทธตามที่ตั้งแนวสมมติฐานไว้ ทั้งลวจังกราชและสิงหนติกุมารซึ่งต่างมีบทบาทเป็นปฐมกษัตริย์ในตำนานที่อพยพจากดินแดนอื่นมานั้นย่อมมีตัวตนที่แท้จริงเป็นบุคคลเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นบุคคลเดียวกันหรือได้รับเค้าตัวตนจากหนงจื้อเกา (หรือลูกหลานและผู้ติดตาม) ที่อพยพมาถึงดินแดนล้านนา แต่หากยังถือว่าตำนานทั้งสองเรื่องมิใช่ตำนานเรื่องเดียวกัน และลวจังกราชยังคงเป็นคนละบุคคลกับสิงหนติกุมาร ก็ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าตัวตนของหนงจื้อเกามีโอกาสจะตรงกับลวจังกราชหรือสิงหนติกุมารมากกว่ากัน โดยประเด็นศักราชของเหตุการณ์ซึ่งทองแถม นาถจำนง ได้ใช้วินิจฉัยว่าหนงจื้อเกาน่าจะเป็นบุคคลคนละคนกับขุนเจืองก่อนหน้านี้อาจนำมาใช้วิเคราะห์เทียบหาตัวตนของหนงจื้อเกาได้เช่นกัน

การบันทึกศักราชของเหตุการณ์ใน ตำนานสิงหนติ นั้นสร้างความสับสนให้กับผู้อ่านและผู้ศึกษามานานแล้ว เนื่องจากเนื้อเรื่องของ ตำนานสิงหนติ ดำเนินผ่านกาลเวลาอันยาวนาน โดยใช้การตัดศักราชแต่ละครั้งเป็นหมุดหมายอ้างอิงสำหรับเทียบเวลากับประวัติศาสตร์นอกขอบเขตของตำนาน (นั่นคือประวัติศาสตร์ศาสนา ซึ่งถือเป็น ‘ประวัติศาสตร์สากล’ ของปราชญ์ยุคจารีต) และแต่ละครั้งที่เรื่องราวดำเนินมาถึงช่วงเวลาที่โลกภายนอกมีการตัดศักราช ศักราชในเนื้อเรื่องก็จะเปลี่ยนไปใช้ศักราชที่ตัดใหม่นั้น โดยมิได้ระบุชื่อศักราชที่เปลี่ยนแปลง เช่น สิงหนติกุมารเกิดในปีแรกของอัญชนะศักราช ศักราชในเนื้อหาช่วงต้นของ ตำนานสิงหนติ จึงเป็นอัญชนะศักราช เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงศักราช 148 นับตามอัญชนะศักราช ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าอชาตศัตรูและพระมหากัสสปะได้ตัดอัญชนะศักราชลงและเริ่มใช้พุทธศักราชเป็นศักราชใหม่ปีแรก ศักราชใน ตำนานสิงหนติ ก็เปลี่ยนจากศักราช 148 มาเป็นศักราช 1 แทน และเมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงพุทธศักราช 622 ซึ่งมีการตัดพุทธศักราชมาใช้มหาศักราช ศักราชใน ตำนานสิงหนติ ก็เปลี่ยนจากศักราช 622 มาเป็นศักราช 1 ทันที โดยเนื้อเรื่องของ ตำนานสิงหนติ จะดำเนินไปจบที่มหาศักราช 559 หรือจุลศักราช 1 ซึ่งตามตำนานระบุว่าเป็นปีที่มีการตัดศักราชใหม่อีกครั้ง[16]

ดังนั้น เนื้อเรื่องของ ตำนานสิงหนติ จึงดำเนินมาตั้งแต่ 148 ปีก่อนพุทธศักราช มาจนพุทธศักราชที่ 1181 หรือก็คือระหว่าง 691 ปีก่อนศักราชมาจนปี 638 เท่ากับว่าสิงหนติกุมารเกิดก่อนหนงจื้อเการ่วม 1,300 ปี และยังมีอายุเก่าแก่เกินกว่าอายุของหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของคนไท – ลาวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่าที่พบ แน่นอนว่าศักราชในตำนานเช่นนี้ไม่ควรถือเป็นสาระมากนักเพราะมักเป็นการระบุย้อนหลังให้เก่าเกินจริง โดยเฉพาะสำหรับ ตำนานสิงหนติ ซึ่งอาจมีจุดประสงค์ในการแต่งต้องการสร้างความเก่าแก่โบราณให้กับประวัติศาสตร์ล้านนาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่สมกับหลักฐานเช่นนี้ย่อมเป็นเครื่องชี้วัดความน่าเชื่อถือของตำนานในตัว

กระนั้นเอง ก็มิใช่ว่าเรื่องราวของลวจังกราชจะปรากฏการบันทึกศักราชที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือจนปราศจากข้อสงสัย โดยทั่วไปแล้วเป็นที่ทราบกันดีว่าลวจังกราชได้ลงมาอุบัติเป็นโอปปาติกะในปีจุลศักราช 1 ตรงกับปีพุทธศักราช 1181 หรือปี 638 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนปีเกิดของหนงจื้อเการาวสี่ศตวรรษ อย่างไรก็ตาม ที่มาของการระบุศักราชดังนี้ค่อนข้างคลุมเครือเนื่องจากใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งเป็นเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงลวจังกราชนั้นมิได้ระบุศักราชที่ลวจังกราชมีชีวิตอยู่แต่อย่างใด ใน ตำนานเมืองพะเยา เองก็เพียงระบุศักราชไว้ลอยๆ เอกสารที่กำหนดศักราชของลวจังกราชไว้อย่างละเอียดที่สุดคือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งกล่าวถึงการอุบัติลงมาเป็นโอปปาติกะของลวจังกราชไว้ว่า

…ลำดับพันธุมัตติกสกราชมาได้ 622 พระญาตรีจักขุอนุรุทธธัมมิกราชะเปนใหย่ในชัมพูทีป ตัดสกราช 622 นั้นเสียในปลีเปิกเส็ด แล้วตั้งสกราชใหม่ในปีปลีกัดใค้ วันนั้นแล

ในขณะยามนั้น อนุรุทธธัมมิกราชะตนนั้น เรียกหายังมหากระสัตรแลท้าวพระญาในสกลชัมพูทีปทังมวล หื้อเข้ามาพร้อมในราชสำนักแห่งตน ดั่งท้าวพระญามหากระสัตรเมืองอื่นค็เข้าไพพร้อมเสียง พั่นดั่งเมืองล้านนาไท หาไผจักไพพร้อมบ่ได้ เหตุว่าบ่มีมหากระสัตร เมื่อนั้น อนิรุทธธัมมิกราชะจิ่งขอกับด้วยอินทาธิราชะเจ้าว่า ขออินทาธิราชะเจ้าเปนที่เอาใจใส่ เมืองล้านนาไทอันเปนที่ตั้งวรพุทธสาสนาแล หากระสัตตราธิราชะตนเปนเจ้า เปนใหย่บ่ได้แด่ ว่าอั้นฉันนั้น อินทธิราชะเจ้าค็รับเอาคำว่า ดีดีนัก เราค็หากจักเอาใจใส่ชะแล ว่าอั้น แล้วอินทาธิราชะค็พิจจรณาหา ค็หันยังเทวบุตรตนนึ่งชื่อลวจังกรเทวบุตรอันมีบุญสมพารหากได้กัตตาธิการมากมาก อยู่เสวิยทิพพสัมปัตติในชั้นฟ้าตาวติงสา มีอายุหากจักเสี้ยงดั่งอั้น พระญาอินท์ค์เข้าไพสู่สำนักเทวบุตรตนนั้น แล้วค็กล่าวว่า มาริส ดูราเจ้าตนหาทุกข์บ่ได้ ท่านจุ่งลงไพเกิดในมมนุสสโลกเมืองฅนที่เมืองเชียงลาวที่นั้น แล้วกะทำราชภาวะเปนท้าวพระญามหากระสัตร เปนเจ้าเปนใหย่แก่ท้าวพระญาทังหลายในเมืองล้านนาไท แลรักษายังวรพุทธสาสนาเทิอะ ว่าฉันนั้น

ลวจังกรเทวบุตรค็รับเอาคำพระญาอินทาว่า สาธุ ดีดีแล ว่าอั้น แล้วค็จุตติแต่ชั้นฟ้าลงมากับปริวารแห่งตนพันนึ่งก่ายยเกินเงินทิพแต่ชั้นฟ้า นัยยะ 1 ว่าก่ายแต่ปลายดอยุงลงมาเอาปฏิสันธิโอปปาติกา โสฬสวสฺสุทฺเทสิโก ราชกุมาโร วิย เกิดมาเปนปุริสสามญะ เปนดั่งราชกุมารอันได้ 16 ขวบเข้า ทรงวัตถาภรณะเครื่องง้าอลังการนั่งอยู่เหนืออาสสนาใต้ร่มไม้พุทระ คือว่าไม้ทันควรสนุกใจ มีที่ใกล้น้ำแม่สายในเมืองชยวรนคอร คือว่าเมืองเชียงลาว ส่วนว่าปริวารพันนั้นอันเปนผู้ยิงผู้ชายค็ลงมาเกิดเอาปฏิสันธิโอปปาติกะในร่มไม้ทันด้วยนิยม…[17]

กล่าวโดยสรุปก็คือ การอุบัติขึ้นของลวจังกราชเกิดขึ้นในช่วงที่มีการตัดศักราชโดยพระญาอนิรุทธธัมมิกราชหรือพระเจ้าอโนรธาแห่งอาณาจักรพุกาม อันเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าพระเจ้าอโนรธาผู้นี้เป็นผู้ตั้งจุลศักราช อันเป็นศักราชที่นิยมใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลวจังกราชจึงควรเป็นคนรุ่นเดียวกันกับพระเจ้าอโนรธาและมีชีวิตใกล้เคียงกับช่วงที่พระเจ้าอโนรธาตัดมหาศักราชและตั้งจุลศักราช ผู้เรียบเรียงเอกสารในกลุ่มตำนานราชวงศ์ลวจังกราชหลายฉบับยึดถือเอาการกระทำของพระเจ้าอโนรธาคือการตัดศักราชเป็นสำคัญ จึงถือว่าการอุบัติขึ้นของลวจังกราชเกิดขึ้นเมื่อปีจุลศักราช 1 ซึ่งที่จริงก็น่ารับฟังเพียงพอจะสรุปเรื่องศักราชที่ลวจังกราชมีชีวิตอยู่แล้ว และระยะดังกล่าวก็ยังไม่ถือว่าเก่าเกินช่วงเวลาอันเป็นไปได้ที่คนไท – ลาวกลุ่มแรกๆ จะเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนล้านนา

อย่างไรก็ตาม หากลองพินิจเรื่องนี้โดยยึดเอาความร่วมรุ่นระหว่างพระเจ้าอโนรธาและลวจังกราชเป็นสำคัญ จะมีปัญหาสำคัญว่าด้วยเรื่องศักราชที่ลวจังกราชมีชีวิตอยู่ให้ขบคิดได้เพิ่มเติมอีกประการ นั่นคือพระเจ้าอโนรธามิได้เป็นผู้ตัดมหาศักราชและตั้งจุลศักราชดังที่ตำนานระบุ เพราะแท้จริงแล้ว จุลศักราชเป็นศักราชที่เริ่มใช้กันมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรปยูเรืองอำนาจก่อนการก่อตั้งอาณาจักรพุกาม กล่าวคือ พระราชพงศาวดารชะตาหลวง หรือ ซาทาดอว์บอนยาซะวิน (Zatadawbon Yazawin) ซึ่งเป็นพระราชพงศาวดารฉบับเก่าแก่ที่สุดของพม่าระบุว่าพระเจ้าอโนรธาถือกำเนิดในปี 1014 ขึ้นครองราชย์ปี 1044 และสิ้นชีวิตในปี 1077[18] ในขณะที่การนับปีจุลศักราชนั้นเริ่มนับปีแรกในปี 638 เท่ากับว่าปีที่ตั้งจุลศักราชเป็นเวลาก่อนช่วงชีวิตของพระเจ้าอโนรธาเกือบสี่ศตวรรษ หากถือว่าลวจังกราชเป็นคนรุ่นเดียวกับพระเจ้าอโนรธา ลวจังกราชก็ควรมีชีวิตอยู่ช่วงกลางศตวรรษที่ 11 ซึ่งจะตรงกับช่วงชีวิตของหนงจื้อเกาพอดี ทั้งยังจะตรงกับช่วงเวลาที่เกิดระลอกการอพยพครั้งใหญ่ของคนไทเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนล้านนาและส่วนอื่นๆ ของประเทศไทยในปัจจุบันเมื่อราวหนึ่งพันปีก่อน[19]

นอกจากนี้ ยังมีอีกร่องรอยหนึ่งที่ชวนให้คิดได้ว่าหนงจื้อเกาอาจเป็นบุคคลเดียวกันหรือมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวและตัวตนของลวจังกราชไม่มากก็น้อย คือการที่ลวจังกราชซึ่งมีชื่อภาษาล้านนาว่า ‘ลาวจง’ รวมถึงลูกหลานที่สืบทอดเชื้อสายราชวงศ์ลวจังกราชต่างใช้คำว่า ‘ลาว’ เป็นยศนำหน้านามของตนมาจนรัชสมัยของพญามังรายจึงได้เลิกใช้ยศดังกล่าว จนผู้รู้บางท่านก็ตั้งชื่อราชวงศ์ของลวจังกราชก่อนถึงรัชสมัยพญามังรายว่าราชวงศ์ลาว

การใช้คำว่าลาวเป็นยศเช่นนี้ชวนให้ประหวัดนึกถึงชื่อกลุ่มชนเผ่า ‘เรา’ หรือ ‘ผู้เรา’ ของหนงจื้อเกา ซึ่งถือกันว่าเป็นกลุ่มไท-ลาวเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในจีนยุคโบราณก่อนจะแตกสายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทต่างๆ ตามสายเผ่าตระกูล ดังที่เผ่าตระกูลนุงหรือหนงของหนงจื้อเกาได้กลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทนุงในปัจจุบัน ชื่อชนเผ่า ‘เรา’ หรือ ‘ผู้เรา’ ยังเป็นที่มาของชื่อชาติพันธุ์ลาวซึ่งเป็นประชากรหลักในประเทศลาวและชื่อชาติพันธุ์เกอลาวซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในมณฑลยูนนานของประเทศจีน[20] หากเป็นเช่นนั้น ย่อมไม่เป็นเรื่องแปลกที่ชื่อชนเผ่า ‘เรา’ หรือ ‘ผู้เรา’ ของหนงจื้อเกาจะเป็นที่มาของยศหรือสกุล ‘ลาว’ ของกษัตริย์ในราชวงศ์ลวจังกราชได้ด้วยเช่นกัน

กระนั้น ก็น่าคิดต่อว่านอกจากที่เฉลิมยศของกษัตริย์ยุคก่อนพญามังรายว่าลาวแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าชาวล้านนาเรียกตัวเองว่าลาวเลย อาจเป็นเพราะความทรงจำเรื่องชนเผ่า ‘เรา’ หรือ ‘ผู้เรา’ ซึ่งอาจกลายศัพท์มาเป็น ‘ลาว’ นี้เป็นเรื่องที่ถือกันเฉพาะในหมู่ชนชั้นปกครอง มิได้แพร่หลายมาถึงประชาชน เหมือนที่ชนชั้นนำสุโขทัยถือตนว่าเป็น ‘ไทยผู้ดี’ ที่ถือ ‘ผีชาวเลือง’ หรือสืบสายตระกูลเลืองมา[21] จนปรากฏนามที่เอกสารจีนเรียกชาวสุโขทัยคำว่า ‘ป๋อเล่อ’ หรือที่มีผู้สันนิษฐานว่าคือคำว่า ‘ปกเลือง’ (แคว้นเลืองหรือพวกเลือง)[22] แต่ก็ไม่ปรากฏในแหล่งใดว่าชาวสุโขทัยเรียกตัวเองว่าคนเลือง พบเพียงการเรียกโดยคนภายนอกซึ่งอาจเรียกตามที่เห็นจากการถือตนของชนชั้นปกครองก็เป็นได้


บทสรุปที่ยังไม่อาจชี้ชัดได้


แม้หลักฐานที่มีอยู่จะยังคงคลุมเครือเกินกว่าจะสรุปให้แน่ชัดได้ว่าตัวตนของหนงจื้อเกาจะตรงกับบุคคลใดในประวัติศาสตร์ล้านนา หรือกระทั่งจะได้อพยพมาถึงดินแดนล้านนาหรือไม่ แต่ร่องรอยในตำนานและหลักฐานแวดล้อมดังที่ได้อภิปรายในบทความนี้แสดงความเป็นไปได้ว่า หากหนงจื้อเกาแและ/หรือลูกหลานและผู้ติดตามได้อพยพมาถึงดินแดนล้านนาจริง ตัวตนของหนงจื้อเกาก็อาจตรงกับลวจังกราช ผู้เป็นปฐมบรรพบุรุษของกษัตริย์ล้านนาราชวงศ์มังราย นอกเหนือจากที่จะเป็นขุนเจืองดังข้อสันนิษฐานที่เป็นที่ทราบกันก่อนหน้านี้ เนื่องจากเรื่องราวชีวิตของลวจังกราชในฐานะผู้อพยพมาตั้งถิ่นฐานมีความสอดคล้องกับเรื่องราวการลี้ภัยของหนงจื้อเกามากกว่า อีกทั้งลวจังกราชและหนงจื้อเกายังอาจมีชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน และยังปรากฏร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างยศหรือตระกูลลาวของลวจังกราชกับชื่อชนเผ่าเราหรือผู้เราของหนงจื้อเกา

อย่างไรก็ตาม หากตัวตนของหนงจื้อเกาตรงกับลวจังกราชจริง ก็มิได้หมายความว่าหนงจื้อเกาจะต้องเป็นบุคคลเดียวกันกับลวจัวกราชเลยทีเดียว เพราะไม่ว่าอย่างไรเสีย บันทึกของราชสำนักซ่งก็ยังคงเป็นหลักฐานชั้นต้นว่าด้วยมรณกรรมของหนงจื้อเกาที่จัดทำในระยะใกล้กับเหตุการณ์ที่สุด จึงต้องถือว่าเรื่องรางในบันทึกดังกล่าวมีน้ำหนักมากที่สุดยิ่งกว่าทฤษฎีอื่นๆ กระนััน ก็ยังเป็นไปได้ว่าแม้ว่าลวจังกราชจะมิใช่ตัวหนงจื้อเกาเอง ก็อาจเป็นลูกหลานหรือผู้ติดตามกลุ่มหนึ่งของหนงจื้อเกาที่ได้อพยพหนีรอดมาถึงดินแดนล้านนา ยังเป็นไปได้อีกว่าความสัมพันธ์ระหว่างหนงจื้อเกากับลวจังกราชอาจเป็นเพียง ‘การยืมเรื่อง’ เหมือนที่ธิดา สาระยา และวินัย พงษ์ศรีเพียร ตั้งข้อสังเกตว่าตำนานขุนเจืองเองก็อาจยืมเรื่องมาจากเรื่องราวของหนงจื้อเกาด้วยเข่นกัน และแน่นอนว่าหากนำทฤษฎียืมเรื่องมาอธิบายความเกี่ยวข้องระหว่างหนงจื้อเกากับลวจังกราช ก็ย่อมมีปัญหาในทีเหมือนดังที่ผู้เขียนได้วิจารณ์ข้อเสนอทำนองนี้ของวินัยไว้แล้วในบทความนี้

กล่าวให้ถึงที่สุด หลักฐานทั้งหมดที่เราทราบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างหนงจื้อเกากับลวจังกราชยังคงเบาบางเกินกว่าจะสรุปไปทางใดทางหนึ่งได้ ดังจะเห็นได้ว่าในบทความนี่ปรากฏคำว่า ‘หาก’ ‘อาจจะ’ และ ‘เป็นไปได้ว่า’ อยู่เต็มไปหมด ยังคงมีความเป็นไปได้อื่นๆ เกี่ยวกับโชคชะตาของหนงจื้อเกาเต็มไปหมด หนงจื้อเกาอาจจะถูกสังหารที่ต้าหลี่และถูกส่งศีรษะไปยังราชสำนักซ่งดังที่บันทึกของราชสำนักซ่งว่าจริงๆ ก็ได้ หรือหนงจื้อเกาและ/หรือผู้ติดตามอาจจะพำนักในต้าหลี่จนถึงแก่กรรม หรืออาจอพยพลี้ภัยต่อไปทางอื่นและไม่เคยมาถึงล้านนาจริงๆ ก็ได้ หรือเรื่องการอพยพมาล้านนาของหนงจื้อเกาและ/หรือผู้ติดตามอาจเป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างทั้งหมดก็ได้ หรือกระทั่งว่าตำนานของลวจังกราชอาจไม่มีมูลความจริงใดให้ศึกษาได้เลยก็ยังเป็นได้ แต่หากเราสามารถรับสมมติฐานที่เชื่อมโยงหนงจื้อเกากับขุนเจืองไว้พิจารณาได้ ก็คงจะสามารถรับสมมติฐานที่เชื่อมโยงหนงจื้อเกากับลวจังกราชไว้พิจารณาได้ด้วยเช่นกัน

ผู้เขียนตระหนักดีว่าการอภิปรายในบทความนี้ยังห่างไกลจากจุดที่จะสรุปผล ปิดประเด็น หรือหาคำตอบให้กับปริศนาที่ค้างคาอยู่เกี่ยวกับหนงจื้อเกากับประวัติศาสตร์ล้านนาให้แน่ชัดลงไปได้ ข้อเสนอในบทความนี้จึงอาจเป็นเพียงสมมติฐานที่ต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอและข้อสังเกตต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงในบทความนี้จะมีผู้สนใจศึกษาต่อจากผู้เขียน รวมถึงหยิบยกเรื่องราวของหนงจื้อเกาขึ้นมาอภิปรายอีกในโอกาสถัดไป



[1] รัตนปัญญาเถระ, พระ, แสง มนวิทูร, แปล, ชินกาลมาลีปกรณ์. พระนคร: กรมศิลปากร, 1958. หน้า 92-93

[2] โปรดดู “ตำนานราชวงศ์ปกรณ์” ใน สงวน โชติสุขรัตน์, ประชุมตำนานล้านนาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2013. หน้า 109-110. และ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี, ตำนานเมืองพะเยา. เชียงใหม่: นครพิงค์การพิมพ์, 2011. หน้า 1-3

[3] “ตำนานสิงหนติโยนกไชยบุรีศรีเชียงแสน” ใน สงวน โชติสุขรัตน์, อ้างแล้ว. หน้า 33-37

[4] ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระ, “พระราชพงศาวดารสังเขป” ใน พระราชพงศาวดารสังเขป พระราชพงศาวดารย่อ และพระธรรมเทศนาพระราชพงศาวดารสังเขป. กรุุงเทพฯ: คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน ฯ, 2019.

[5] วันรัตน์, สมเด็จพระ, “จุลยุทธการวงศ์” ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 66. พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 1937.

[6] เทวโลก (แหยม วัชรโชติ), พระ, “จดหมายเหตุโหร” ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 8. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 1964.

[7] โปรดดู เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี, อ้างแล้ว. และ  “พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน” ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61. เชียงใหม่: ม.พ.พ., 1973.

[8] ขจร สุขพาณิช, “ถิ่นกำเนิดและแนวอพยพของคนไทย” ใน แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสาร โบราณคดี. 4(1). พระนคร, 1970.

[9] พิเศษ เจียจันทร์พงศ์, ตำนาน. กรุงเทพ:มติชน, 2012. หน้า 26-27

[10] เรื่องเดียวกัน. หน้า 32-33

[11] ขุนเจืองเป็นบุตรของจอมผาเรือง เจ้าเมืองพะเยา หลานลาวชิน เจ้าเมืองเงินยาง ในขณะนั้นเมืองพะเยา-เงินยางกำลังถูกรุกรานโดยกองทัพของท้าวกวา เจ้าเมืองแกวปะกัน ในสำนวนลาวว่าเป็นบุตรเจ้าเมืองเงินยาง ในขณะที่พระเจ้าพรหมมหาราชเป็นบุตรของพระองค์พังคราช เจ้าเมืองโยนกเชียงแสน ซึ่งพ่ายแพ้สงครามและต้องตกเป็นข้าขัณฑสีมาของขอมดำ

[12] ราชวงศ์ลวจังกราชสายของขุนเจืองได้ครองเมืองพะเยาเป็นอิสระแยกจากสายเมืองเงินยางซึ่งจะได้ก่อตั้งราชวงศ์มังรายและอาณาจักรล้านนาในเวลาต่อมา จนกระทั่งเมืองพะเยาถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาในช่วงศตวรรษที่ 14 ราชวงศ์สิงหนติสายของพระเจ้าพรหมมหาราชได้สร้างและปกครองเมืองไชยปราการแยกจากเมืองโยนกเชียงแสนจนกระทั่งถูกมอญเมืองงสะเทิมโจมตีและต้องอพยพลงไปยังเมืองไตรตรึงษ์

[13] โปรดดู พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, “ภูมิหลังพระเจ้าพรหมมหาราช” ใน สุจิตต์ วงศ์เทศ, บรรณาธิการ, พระเจ้าพรหมมหาราช วีรบุรุษในตำนานของโยนก – ล้านนา. กรุงเทพ: ศิลปวัฒนธรรม, 2002. หน้า 59-67

[14] อภิชิต ศิริชัย, วิเคราะห์ตำนานจากเอกสารพื้นถิ่น ว่าด้วยโยนก นคร เวียงสี่ตวง เวียงพางคำ เมืองเงินยาง และประวัติวัดพระธาตุจอมกิตติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2017.

[15] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, ตำนาน. หน้า 57-61

[16] เรื่องเดียวกัน. หน้า 28-31

[17] คณะอนุกรรมการตรวจสอบและชำระตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ 700 ปี. เชียงใหม่: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 1995. หน้า 5-6

[18] Coedès, George, The Indianized States of Southeast Asia. trans. Susan Brown Cowing.Honolulu: University of Hawaii Press, 1968. pp.133, 18-149, 155.

[19] Pittayaporn, Pittayawat, “LAYERS OF CHINESE LOAN WORDS IN PROTO-SOUTHWESTERN TAI AS EVIDENCE FOR THE DATING OF THE SPREAD OF SOUTH-WESTERN TAI” in MANUSYA: Journal of Humanities, Special Issue. 20. 2014 pp. 47-64 

[20] Ferlus, Michael, “Formation of Wthnonyms in Southeast Asia”, 42nd International Conference on Sino-Tibetan Languages and Linguistics. Chiang Mai, 2009. 3-4

[21] กรมศิลปากร. ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : คณะอนุกรรมการพิจารณาจารึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ในคณะกรรมการการชำระประวัติศาสตร์ไทย, 2548. น. 154.

[22] อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, “แคว้นสุโขทัย: ปกเลือง ชาวเลือง และปอเล่อ” การสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง สุโขทัยศึกษาและล้านนาศึกษา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2018 ณ  โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง ใน อรวรรณ ภิรมย์จิตรผ่อง, กระลำภักษ์ แพรกทอง, สรุปการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง สุโขทัยศึกษาและล้านนาศึกษา. ม.ป.ป. http://legacy.orst.go.th/?p=19213

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save