fbpx

สมมติฐานว่าด้วยหนงจื้อเกากับประวัติศาสตร์ล้านนา (1)

ในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับทั่วไปในวงวิชาการด้านไทคดีศึกษา (Tai Studies) ว่ากลุ่มคนพูดภาษาไทที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย มีบรรพบุรุษทางภาษาและวัฒนธรรมเป็นกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งในหมู่กลุ่มชนพื้นเมืองหลายกลุ่มที่ชาวจีนนิยมเหมารวมเรียกว่า ‘เยว่’ หรือ ‘ไป่เยว่’ สันนิษฐานกันว่าชาวเยว่กลุ่มที่เป็นต้นเค้าของกลุ่มคนพูดภาษาไทในปัจจุบันนั้น เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างมณฑลกวางสีของจีนและภาคเหนือของเวียดนามในปัจจุบัน ก่อนค่อยๆ แยกย้ายอพยพไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณต่างๆ

กลุ่มที่อพยพมาทางตะวันตกเฉียงใต้นั้นได้อพยพเข้ามาถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อราวพันปีก่อนและกลายเป็นกลุ่มคนพูดไทตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Tai) กลุ่มคนพูดไท-ลาวที่กระจายตัวกันตั้งถิ่นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายกลุ่ม เช่น คนลาว คนไทใหญ่ คนสยาม รวมถึงคนล้านนาด้วย อย่างไรก็ตาม การอพยพของคนไท/เยว่ดังกล่าวมิได้เป็นการอพยพครั้งใหญ่ในคราวเดียว แต่ค่อยๆ เกิดขึ้นหลายระลอกในช่วงเวลาหลายร้อยปี โดยระลอกการอพยพที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานแรกๆ ของคนพูดไท-ลาวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สัมพันธ์กับวีรบุรุษในตำนานของชาวไทจ้วงและไทนุงคนหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘หนงจื้อเกา’ (Nong Zhigao – 侬智高)


ประวัติของหนงจื้อเกาโดยสังเขป


หนงจื้อเกา เป็นบุตรของหนงเฉวียนฟู่ (侬全福) กับภริยาชื่ออาหนง (阿侬) หรือย่าเวง เกิดเมื่อปี 1025 บิดาของหนงจื้อเกาเป็นหัวหน้าเผ่าหนง ซึ่งเป็นเผ่าตระกูล (แซ่) หนึ่งในหมู่คนไท-ลาวเดิมหลายเผ่าตระกูลที่มีชื่อเรียกชนเผ่ารวมๆ ว่า ‘เรา’ หรือ ‘ผู้เรา’ หรือที่บันทึกจีนเรียกว่าชาวเหล่า (僚人) มีเขตอำนาจอยู่ที่เมืองกวางหยวน (光原) หรือกว๋างเอียน (Quang Uyen) ตั้งอยู่ในจังหวัดกาวบั่ง (Cao Bang) ทางตอนเหนือของเวียดนามในปัจจุบัน

ในช่วงเวลาที่หนงจื้อเกาถือกำเนิดขึ้น เครือรัฐชนเผ่าของคนพูดไทซึ่งเป็นบ้านเล็กเมืองน้อยของคนหลายเผ่าตระกูลและกระจายกันตั้งอยู่ตามแอ่งหุบเขาต่างๆ ถูกขนาบข้างโดยรัฐศักดินาขนาดใหญ่กว่าในที่ราบ ซึ่งกำลังแผ่ขยายอำนาจเข้ามาขนาบล้อม ได้แก่ จักรวรรดิซ่งจากทิศเหนือที่เพิ่งรวบรวมแผ่นดินสำเร็จและกำลังปราบปรามกบฏทางตอนใต้ และจักรวรรดิไดโกเวียต (Dai Co Viet) จากทิศใต้ซึ่งก็กำลังพยายามขยายอำนาจไปทางทิศเหนือเพื่อรับมือกับจักรวรรดิซ่งเช่นกัน

รัฐศักดินาเหล่านี้มีขนาดพื้นที่ กำลังคน ทรัพยากร และเอกภาพทางการเมืองสูงกว่าเครือรัฐชนเผ่าของคนพูดไทมาก บรรดาผู้นำของเครือรัฐชนเผ่าไทซึ่งอยู่ในสถานะเป็นรองจึงต้องดิ้นรนปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันและภัยคุกคามจากรัฐศักดินาอันทรงอำนาจทั้งสอง ทั้งด้วยการต่อต้าน การสวามิภักดิ์ และการยกระดับโครงสร้างทางการเมืองภายในจากรัฐชนเผ่าให้เป็นรัฐศักดินาทัดเทียมกับมหาอำนาจรอบข้าง[1]

หัวหน้าเผ่าตระกูลหนงเองก็เป็นหนึ่งในผู้นำรัฐชนเผ่าที่ต้องดิ้นรนในสถานการณ์เช่นนี้ ในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 10 ผู้นำเผ่าตระกูลหนงเลือกวิถีทางสวามิภักดิ์ร่วมมือกับรัฐเพื่อนบ้านที่มีอำนาจมากกว่า และใช้สายสัมพันธ์ดังกล่าว พร้อมทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจจากการควบคุมแหล่งแร่ทอง เพิ่มพูนอำนาจของตนจนสามารถช่วงชิงสถานะผู้นำเครือรัฐของชาวผู้เราจากผู้นำเผ่าตระกูลหวง (Hoang) ซึ่งเป็นผู้นำเดิมได้ อย่างน้อยในสมัยปู่ของหนงจื้อเกาชื่อหนงหมินฟู่ (侬民富) เผ่าตระกูลหนงก็สามารถครองสถานะผู้นำของเครือรัฐชนเผ่าไทได้แล้ว โดยมีเขตอิทธิพลเหนือดินแดนส่วนมากของจังหวัดกาวบั่งและบางส่วนของมณฑลกว่างซี (广西) ของจีนในปัจจุบัน หนงหมินฟู่สามารถขยายอาณาเขตของตนเข้าไปทางตะวันตกของมณฑลกว่างซี จนจรดอาณาเขตของอาณาจักรต้าหลี่ได้ด้วยการร่วมเป็นพันธมิตรกับอาณาจักรต้าหลี่ และยังพยายามกระชับอำนาจของตนด้วยการสวามิภักดิ์กับจักรวรรดิซ่ง จนได้รับยศตำแหน่งขุนนางจากราชสำนักซ่ง ตามธรรมเนียมของราชสำนักจีนที่นิยมมอบตำแหน่งขุนนางให้กับผู้นำชนเผ่าต่างๆ ที่ยอมรับอำนาจของราชสำนัก[2]

เมื่อหนงเฉวียนฟู่ บิดาของหนงจื้อเกาขึ้นมามีอำนาจสืบต่อจากหนงหมินฟู่ ก็สานต่อนโยบายสวามิภักดิ์กับราชสำนักซ่ง พร้อมกับขยายอาณาเขตของเผ่าตระกูลหนงและกำจัดผู้นำของเผ่าตระกูลอื่นๆ เพื่อควบรวมอำนาจของเผ่าตระกูลหนงในหมู่ชนชั้นนำของเครือรัฐชนเผ่าไท หนงเฉวียนฟู่ยังพยายามปฏิรูประบบการเมืองการปกครองของเครือรัฐชนเผ่าไท โดยนำระบบศักดินามาใช้จัดระเบียบที่ดินและกำลังแรงงาน ในปี 1035 หนงเฉวียนฟู่ยกสถานะเครือรัฐที่ตนปกครองอยู่ให้เป็นอาณาจักรฉางเซิง (长生国) และตั้งตนเป็นจักรพรรดิองค์แรก ใช้ชื่อว่าจักรพรรดิเจาเซิ่ง (昭聖皇帝) พร้อมทั้งตั้งอาหนง ภริยาของตนเป็นจักรพรรดินี ใช้ชื่อว่าจักรพรรดินีหมิงเต๋อ (明德皇后)

อย่างไรก็ตาม จักรพรรดิลี้ท้ายตง (Ly Thai Tong) แห่งไดโกเวียต มองว่าการกระทำดังกล่าวกระด้างกระเดื่องท้าทายอำนาจของชนเผ่าชายแดนต่อราชสำนักไดโกเวียต จึงส่งกองกำลังรุกรานเข้ามาปราบปรามอาณาจักรของหนงเฉวียนฟู่ อาณาจักรฉางเซิงไม่อาจต้านทานกองกำลังไดโกเวียตได้ หนงเฉวียนฟู่พร้อมทั้งสมาชิกตระกูลหนงจำนวนมากถูกกองกำลังไดโกเวียตจับกุมตัว และถูกนำตัวไปประหารชีวิตที่นครหลวงทังลอง (Thang Long – กรุงฮานอยในปัจจุบัน) ในปี 1039[3]

กระนั้นเอง โชคชะตาของเผ่าตระกูลหนงยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากหนงจื้อเกา บุตรคนรองของหนงเฉวียนฟู่และอาหนงผู้เป็นมารดา สามารถหลบหนีเข้าไปในอาณาเขตของจักรวรรดิซ่ง เมื่อบิดาถูกประหารชีวิตไปแล้ว หนงจื้อเกาก็สืบทอดตำแหน่งผู้นำเผ่าตระกูลหนงต่อจากบิดาในปี 1041 หนงจื้อเกาและอาหนงข้ามเขตเข้ามารวบรวมสรรพกำลังและสถาปนาอำนาจในเขตอำนาจเดิมของเผ่าตระกูลหนงอีกครั้ง ในปีต่อมาจึงสถาปนาอาณาจักรต้าลี่ (大历国 – คนละอาณาจักรกับอาณาจักรต้าหลี่ (大理国) ในยูนนาน) พร้อมทั้งสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรต้าหลี่ซึ่งกำลังเรืองอำนาจอยู่ในดินแดนข้างเคียง แน่นอนว่า ราชสำนักไดเวียดไม่อาจยอมรับการกระทำดังกล่าวของหนงจื้อเกาได้และส่งกองกำลังมาโจมตีปราบปรามอาณาจักรต้าลี่เช่นเดียวกับที่ปราบอาณาจักรฉางเซิงก่อนหน้านี้ หนงจื้อเกาถูกกองกำลังไดโกเวียตจับตัวไว้และถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่นครหลวงทังลอง

อย่างไรก็ตาม ในคราวนี้ ราชสำนักไดโกเวียตมิได้ประหารชีวิตหนงจื้อเกา แต่กลับปล่อยตัวเป็นอิสระ ซ้ำยังแต่งตั้งยศศักดิ์และให้ครองเมืองบางส่วนที่เคยเป็นของเผ่าตระกูลหนงโดยให้จ่ายส่วยทองแก่ราชสำนักไดเวียด ชะรอยว่าจะเป็นการประนีประนอมกับเผ่าตระกูลหนง ซึ่งมีอิทธิพลในหมู่คนพูดไทและท้าทายอำนาจจนเกิดเป็นความวุ่นวายมาสองชั่วคนแล้ว[4]

ต่อมา ในปี 1048 หนงจื้อเกาประกาศตั้งอาณาจักรหนานเทียน (南天国) ขึ้นมาอีก พร้อมทั้งตั้งตนเป็นจักรพรรดิจิงรุ่ย (景瑞皇帝) ทั้งยังออกโองการประณามราชสำนักไดโกเวียตและยกทัพเข้าปล้นสะดมหัวเมืองชายแดนของไดโกเวียตอีกด้วย ราชสำนักไดโกเวียตสามารถปราบปรามอาณาจักรหนานเทียนในปี 1050 แต่ไม่สามารถจับตัวหนงจื้อเกาได้ หนงจื้อเกากับมารดา พร้อมทั้งกองทัพและผู้ติดตามอพยพลี้ภัยหนีเข้าไปยังดินแดนของจักรวรรดิซ่งเช่นเคย[5]

เมื่ออยู่ในดินแดนซ่ง หนงจื้อเกาพยายามสวามิภักดิ์และร้องขอตราตั้งรับรองจากราชสำนักซ่ง เช่นที่เคยได้ในรุ่นบิดาและรุ่นปู่ แต่ราชสำนักซ่งเห็นว่าในคราวนี้ หนงจื้อเกาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของไดเวียดไปแล้ว และไม่ต้องการมีปัญหากับไดเวียดจึงเพิกเฉยต่อคำร้องขอดังกล่าว หนงจื้อเกาใช้เวลารวบรวมสรรพกำลังสองปีแล้วจึงประกาศสถาปนาอาณาจักรต้าหนาน (大南国) ในปี 1052 และตั้งตนเป็นจักรพรรดิเริ่นฮุ่ย (仁惠皇帝) ก่อนที่จะประกาศฟื้นฟูอาณาจักรหนานเยว่หรือนามเวียต (南越国) ในปีถัดมา นับเป็นการก่อกบฏต่อจักรวรรดิซ่งโดยตรง

หนงจื้อเกาสามารถรวบรวมไพร่พลได้ราว 5,000 คนและเดินทัพเข้าสู่มณฑลกว่างตง กองทัพของหนงจื้อเกาสามารถยึดเมืองยงโจว (邕州 – นครหนานหนิงในปัจจุบัน) และสามารถระดมกำลังไพร่พลได้เพิ่มเป็นกว่า 50,000 คน ก่อนที่จะเดินทัพไปล้อมประชิดเมืองกว่างโจว (广州) อันเป็นเมืองหลวงเดิมของอาณาจักรหนานเยว่และเป็นศูนย์กลางอำนาจของจีนในแถบตะวันอออกเฉียงใต้ กองทัพของหนงจื้อเกาล้อมเมืองกวางโจวไว้ได้ 57 วัน ก่อนต้องล่าถอยกลับไปเมืองหย่งโจวเมื่อกองหนุนฝ่ายซ่งเดินทัพเข้ามากู้เมืองไว้ได้ อย่างไรก็ตาม กองทัพของหนงจื้อเกาสามารถต้านทานกองทัพมณฑลของจักรวรรดิซ่งที่ตามมาตีเมืองยงโจวได้ ทั้งยังสามารถสังหารแม่ทัพใหญ่ของกองทัพซ่งได้ด้วย ราชสำนักซ่งต้องส่งทัพหลวงนำโดยแม่ทัพตี๋ชิง (狄青) มาร่วมรบจึงสามารถชิงชัยยึดเมืองยงโจวคืนจากหนงจื้อเกาได้สำเร็จ

ความพ่ายแพ้ที่เมืองยงโจวสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับกองทัพของหนงจื้อเกา และทำให้หนงจื้อเกาต้องถอยร่นกลับไปยังเขตอิทธิพลเดิมของตนในกว่างซี หนงจื้อเกาพยายามขอความช่วยเหลือจากเผ่าตระกูลอื่นๆ ในเครือรัฐชนเผ่าไท แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเผ่าตระกูลเหล่านั้นต่างไม่พอใจการขยายอำนาจของเผ่าตระกูลหนงตั้งแต่รุ่นก่อนๆ แล้ว หนงจื้อเกายังพยายามขอความช่วยเหลือจากราชสำนักไดเวียด แน่นอนว่าราชสำนักไดเวียดปฏิเสธคำขอดังกล่าว

เมื่อเข้าตาจน หนงจื้อเกาถอยร่นไปยังดินแดนเท่อโม่ (特磨) ติดเขตอาณาจักรต้าหลี่ ก่อนที่จะเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากอาณาจักรต้าหลี่ โดยฝากไพร่พลและที่มั่นในเท่อโม่ให้อาหนงดูแล ทว่า ระหว่างที่หนงจื้อเกาเดินทางไปอาณาจักรต้าหลี่ กองทัพซ่งก็บุกติดตามมาถึงและจับกุมตัวอาหนง หนงจื้อกวาง บุตรชายของหนงจื้อเกา พร้อมทั้งไพร่พลผู้ติดตามบางส่วนไปประหารชีวิต หนงจื้อเกาจึงต้องลี้ภัยอยู่ในอาณาจักรต้าหลี่จนถึงแก่กรรม เป็นการยุติการต่อสู้ของหนงจื้อเกาลงเพียงเท่านั้น[6]


ล้านนากับบั้นปลายชีวิตอันเป็นปริศนาของหนงจื้อเกา


ชีวิตของหนงจื้อเกาหลังการล่มสลายของอาณาจักรต้าหนานยังคงเป็นปริศนาในหมู่ผู้ศึกษา บางหลักฐานระบุว่าราชาแห่งต้าหลี่สังหารหนงจื้อเกาและส่งศีรษะของหนงจื้อเกาเป็นบรรณาการแก่ราชสำนักซ่ง บางหลักฐานว่าชนเผ่าฮานีที่อาศัยปะปนกับชาวไทจ้วงเป็นผู้วางยาสังหารหนงจื้อเกา บ้างก็ว่าหนงจื้อเกาป่วยตาย ราชาแห่งต้าหลี่จึงถือโอกาสตัดศีรษะจากศพส่งเป็นบรรณาการ บ้างก็ว่าหนงจื้อเกาหายตัวไปอย่างลึกลับ และบ้างก็ว่าหนงจื้อเกายังคงนำกองโจรเคลื่อนไหวบริเวณชายแดนระหว่างอาณาจักรต้าหลี่และเขตอำนาจเดิมของเผ่าตระกูลหนงต่อไป[7]

แม้การต่อสู้ของหนงจื้อเกาจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่หนงจื้อเกาได้กลายเป็นวีรบุรุษของกลุ่มคนพูดไทที่อาศัยในมณฑลกว่างซี เช่น ไทจ้วง ไทนุง และไทโท้ เรื่องราวชีวิตและการต่อสู้ของหนงจื้อเกายังคงถูกจดจำไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ชนชาติ มีตำนานพื้นบ้านและชื่อสถานที่จำนวนมากที่ปรากฏความเชื่อมโยงกับเรื่องราวของหนงจื้อเกา และหนงจื้อเกายังคงถูกเคารพในฐานะวีรบุรุษ บรรพชน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาจนทุกวันนี้[8]

ยังมีคำอธิบายเกี่ยวกับจุดจบของหนงจื้อเกาอีกสำนวนหนึ่งกล่าวกันว่าหนงจื้อเกาและไพร่พลผู้ติดตามได้หลบหนีหรือถูกส่งตัวออกจากอาณาจักรต้าหลี่ลงไปตั้งถิ่นฐานบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน และลูกหลานของหนงจื้อเกายังคงตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือมาจนทุกวันนี้[9] ทฤษฎีดังกล่าวได้รับความสนใจจากแวดวงไทศึกษาไม่น้อย คริส เบเคอร์เห็นว่าการลุกฮือของหนงจื้อเกาเป็นเหตุกระตุ้นให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของคนไทเป็นระลอกที่สามจากที่เกิดขึ้นทั้งหมดห้าระลอกด้วยกัน โดยลูกหลานของกลุ่มชนเผ่าที่เข้าร่วมกับหนงจื้อเกานั้น ส่วนหนึ่งหลบลี้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่บนเขาสูงระหว่างยูนนาน กว่างซี และเวียดนาม อีกส่วนหนึ่งอพยพไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนซึ่งต่อมาจะเป็นสิบสองพันนา เมืองมาว และล้านนา[10] ฟ่านหงกุ้ยและหนงติ่งเซิงยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่าลูกหลานของหนงจื้อเกาและบริวารที่อพยพลงใต้ได้สถาปนาอาณาจักรล้านนาและสุโขทัยในเวลาต่อมา[11]

หากเชื่อถือตามทฤษฎีนี้ เรื่องราวของหนงจื้อเกาควรจะปรากฏความเชื่อมโยงกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์หรือตำนานของล้านนาอยู่บ้างเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยผู้ศึกษาไทคดีและล้านนาคดีบางส่วนเห็นว่าเรื่องราวของหนงจื้อเกาควรจะมีความเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยกับเรื่องราวของ ‘ขุนเจือง’ ซึ่งเป็นวีรบุรุษในตำนานของคนไท–ลาวลุ่มน้ำโขงหลายกลุ่ม รวมถึงคนล้านนาด้วย

ในหมู่ผู้ที่มีความคิดเห็นทำนองนี้ บ้างก็เห็นว่าหนงจื้อเกากับขุนเจืองคือบุคคลในประวัติศาสตร์คนเดียวกัน เช่น ผู้แปลหนังสือ ประวัติน่านเจ้า ระบุว่าขุนเจืองเป็นอีกชื่อหนึ่งของหนงจื้อเกา โดยใส่ชื่อขุนเจืองไว้ในวงเล็บท้ายชื่อของหนงจื้อเกา[12] และบ้างก็เห็นว่าเรื่องราวของหนงจื้อเกาเพียงแต่ส่งอิทธิพลหรือช่วยเติมแต่งเรื่องราวของขุนเจืองเพียงเท่านั้น เนื่องจากเป็นวีรบุรุษที่มีวีรกรรมด้านการต่อสู้คล้ายคลึงกัน และเป็นที่จดจำของกลุ่มคนที่มีภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน เช่น ธิดา สาระยา เห็นว่าขุนเจืองเป็นวีรบุรุษในตำนาน ซึ่งหากมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ก็จะมีชีวิตอยู่หลังช่วงชีวิตของหนงจื้อเกาไปกว่าศตวรรษ และเนื่องจากความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในชีวิตของขุนเจืองน่าจะเลือนรางจนมีช่องว่างในเนื้อหาอยู่มาก ตำนานของขุนเจืองจึงได้ซึมซับเอารายละเอียดเรื่องราวของหนงจื้อเกาซึ่งถูกบันทึกไว้ชัดเจนกว่ามาเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว[13]

วินัย พงษ์ศรีเพียร ยังเสนอว่าแท้จริงแล้ว เรื่องราวของหนงจื้อเกาอาจถูกกล่าวซ้ำจากรุ่นสู่รุ่น จนคลี่คลายตัวกลายเป็นตำนานขุนเจืองในเวลาต่อมา วินัยยังเสนอต่อไปอีกว่าแม้เรื่องราวของขุนเจืองจะปรากฎใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ว่าเป็นกษัตริย์องค์หนึ่งที่สืบสายจากลวจังกราช แต่ใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ของพระรัตนปัญญาเถระ ซึ่งเป็นหลักฐานที่เก่าแก่กว่ากลับมิได้กล่าวถึงขุนเจืองเลย ทั้งยังระบุว่าพญามังรายเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 24 นับจากลวจังกราช ในขณะที่ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่าเป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 นั่นคือมิได้นับขุนเจืองในลำดับกษัตริย์ด้วย เรื่องราวของขุนเจืองจึงอาจเป็นตำนานที่ถูกหยิบยืมจากเรื่องราวของหนงจื้อเกามาสอดแทรกใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ภายหลัง[14]

อีกด้านหนึ่ง มิใช่ทุกคนจะเห็นพ้องต้องด้วยว่าหนงจื้อเกาคือขุนเจืองหรือมีความเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับขุนเจือง ทองแถม นาถจำนง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนศึกษาและเรื่องกลุ่มคนไทในประเทศจีนเห็นว่าการเชื่อมโยงหนงจื้อเกาให้เป็นคนเดียวกับขุนเจืองเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะการลุกฮือต่อสู้ของหนงจื้อเกาเกิดขึ้นก่อนเรื่องราวของขุนเจืองกว่าร้อยปี[15] และที่สำคัญ ขุนเจืองหรือพญาเจิงเป็นปฐมกษัตริย์อันเป็นที่เคารพยกย่องอย่างยิ่งในหมู่ชาวไทลื้อสิบสองพันนา หากหนงจื้อเกาเป็นคนเดียวกับขุนเจือง หรือสืบสายเลือดโดยตรงมาถึงขุนเจืองจริง ก็ควรจะหลงเหลือตำนานที่แน่ชัดสืบทอดมามากกว่านี้ ขุนเจืองหรือพญาเจิงจึงน่าจะเป็นผู้นำคนไท–ลาวที่แผ่ขยายอำนาจขึ้นเหนือมาถึงสิบสองพันนามากกว่า[16]

ในประเด็นที่วินัยเสนอเพิ่มเติมมานี้ ผู้เขียนเห็นว่าเหตุที่เรื่องราวของขุนเจืองไม่ปรากฏใน ชินกาลมาลีปกรณ์ อาจเป็นเพราะผู้แต่ง คือพระรัตนปัญญาเถระ อาจตัดเนื้อหาที่เกี่ยวกับขุนเจืองออกไปเพราะเป็นเรื่องนอกศาสนาพุทธก็ได้ ดังปรากฏธรรมเนียมของคนลาวล้านช้างว่าห้ามอ่านวรรณกรรม ท้าวฮุ่ง – ท้าวเจือง ในวัด เพราะมีเนื้อหาขัดต่อคำสอนในพระพุทธศาสนา[17] ที่สำคัญ ชินกาลมาลีปกรณ์ มิได้ระบุชื่อของกษัตริย์ทุกองค์ตั้งแต่ลาวจงมาจนถึงพญามังราย เพียงแต่ระบุว่าลวจังกราชเป็นต้นตระกูลของพญามังราย และระบุจำนวนกษัตริย์จากลวจังกราชมาถึงพญามังรายเท่านั้น การที่ ชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุจำนวนกษัตริย์ไม่ตรงกับที่ระบุใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ มิได้หมายถึงว่ากษัตริย์ที่หายไปหนึ่งรัชกาลนั้นจะต้องเป็นขุนเจืองแต่อย่างใด

ไม่ว่าอย่างไรเสีย แนวคิดทำนองดังกล่าวมีปัญหาสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือหากยอมรับว่าตำนานขุนเจืองคือประวัติของหนงจื้อเกาที่คลี่คลายตัวมา ย่อมเป็นการยอมรับกลายๆ ด้วยว่าขุนเจืองไม่ใช่บุคคลที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์ เป็นเพียงวีรบุรุษในตำนานที่ถูกแต่งขึ้นจากเค้าโครงตัวตนของหนงจื้อเกา และหนงจื้อเกาและ/หรือผู้ติดตามก็ไม่ได้อพยพมาถึงภาคเหนือของไทยในปัจจุบันจริงๆ มาเพียงแต่เรื่องเล่าที่ถูกแปลงเป็นตำนานของขุนเจืองไปแล้วเท่านั้น และเป็นการผลักเรื่องของขุนเจืองและหนงจื้อเกาออกนอกปริมณฑลของประวัติศาสตร์ไปอยู่ในปริมณฑลของตำนานปรัมปราโดยปริยาย

นอกจากนี้ หากเชื่อถือแนวคิดที่ว่าหนงจื้อเกาและผู้ติดตาม (หรือลูกหลานของเขาเหล่านั้น) ได้อพยพจากอาณาจักรต้าหลี่ลงใต้มายังดินแดนที่เป็นภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน จะยิ่งเห็นว่าเรื่องราวของหนงจื้อเกาไม่เข้ากับเรื่องราวของขุนเจือง เพราะขุนเจืองเกิดและเติบโตที่เมืองเงินยางอยู่แล้ว มิได้อพยพมาจากที่ใด อีกทั้งขุนเจืองยังตายอยู่ในสนามรบ มิได้ต้องลี้ภัยทางการเมืองเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในชีวิตของหนงจื้อเกา หากตำนานของขุนเจืองจะได้รับอิทธิพลจากวีรบุรุษในประวัติศาสตร์คนใดคนหนึ่งที่คนไทรู้จักก็อาจเป็นฝุ่งฮึง (Phung Hung) ผู้นำชนเผ่าเรา/เลาที่ลุกฮือต่อต้านราชสำนักถึงในช่วงศตวรรษที่ 7 มากกว่า เนื่องจากมีรายละเอียดเหตุการณ์ รวมถึงชื่อของบุคคลและสถานที่ตรงกับที่ระบุไว้ในตำนาน ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง มากกว่า ดังที่เจมส์ อาร์ แชมเบอร์เลนเคยสันนิษฐานไว้[18]

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอละเรื่องต้นเค้าของตำนานขุนเจืองไว้ให้ผู้ที่สนใจได้อภิปรายต่อในโอกาสถัดไป


(ติดตามต่อได้ในตอนถัดไป)



[1] He Zheng-ting “On the National War Led By Nong Zhi-Gao” ใน ตำนานเกี่ยวกับท้าวฮุ่งท้าวเจือง: มิติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา, 1998. หน้า 83-86

[2] Anderson, James, The Rebel Den of Nùng Trí Cao: Loyalty and Identity Along the Sino-Vietnamese Frontier. Singapore: NUS Press, 2007. pp.75-76

[3] Barlow, Jeffrey G., “The Zhuang Minority Peoples of the Sino-Vietnamese Frontier in the Song Period” in Journal of Southeast Asian Studies. 18(2). September 1987. pp.256

[4] ทองแถม นาถจำนง, “จ้วงในอุ้งมือแกวและจีน” ใน ศิลปวัฒนธรรม. 10(6). เมษายน 1989. หน้า 130

[5] Anderson, James, ibid. pp.7

[6] Anderson, James, ibid. pp.112

[7] He Zheng-ting, ibid. หน้า 95-96

[8] โปรดดู ดำรงพล อินทร์จันทร์, “หนงจื้อเกา: สำนึกทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์และเครื่องมือทางวัฒนธรรมของชาวนุงในจีน” ใน วารสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. 34(2): กรกฎาคม – ธันวาคม 2015. หน้า 9-27

[9] Anderson, James, ibid. pp.8

[10] Baker, Chris, “From Yue to Tai” in Journal of the Siam Society. 90.1 & 2 (2002). pp.7-9

[11] โปรดดู Fan Honggui 范宏貴, Tong Gen Sheng De Minzu – Zhuangtai Ge Zu Yuanyuan Yu Wenhua 同根生的民族──壯泰各族淵源與文化 [Ethnic Groups with Same Root: The Origin and Culture of the Zhuang-Tai Ethnic Groups] Beijing: Guangming Ribao Chubanshe, 2000. และ Nong Dingsheng 侬鼎升, Yunnan Nong (Nong) shizupu 云南侬(农)氏族谱 [Genealogy of Nong Surname in Yunnan] N.p., 2005.

[12] ประวัติน่านเจ้า. กรุงเทพ: ม.ป.พ., 1980.

[13] โปรดดู ธิดา สาระยา, “จากหนงจื้อเกาถึงขุนเจือง ในพรมแดนของชนชาติ” ใน สุจิตต์ วงศ์เทศ, บรรณาธิการ, ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง วีรบุรุษสองฝั่งโขง. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 1995. หน้า 150-181

[14] วินัย พงษ์ศรีเพียร, ล้านนามหาปกรณัม ความทรงจำแห่งอภินวบุรี – ศรีหริภุญชัย │EP.2. [วิดีโอ] 18 ธันวาคม 2020. https://www.youtube.com/watch?v=HOXSax8vzOg

[15] ทองแถม นาถจำนง, “จ้วง-ไทย พี่น้องข้ามแผ่นดิน”, การบรรยาย, นิทรรศการและเสวนาวัฒนธรรมจีน-ไทย หลายมิติ เสาร์ 18 กรกฎาคม 2009 โรงเรียนวัฒนธรรมและการศึกษาซีโน-ไท ชั้น 3 ตลาดบางลำพู ขอนแก่น อ้างใน ประชุมประทีปไศลภูลี้เขาบังภู, ทองแถม นาถจำนง ชวนหาเหง้ากลุ่มไท จากจ้วงกวางสี. 2011. https://www.oknation.net/post/detail/634e171d933244170b027275

[16] ทองแถม นาถจำนง, “จ้วงในอุ้งมือแกวและจีน” หน้า 133

[17] สุจิตต์ วงศ์เทศ, “คำนำเสนอ” ใน สุจิตต์ วงศ์เทศ, บรรณาธิการ, ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง วีรบุรุษสองฝั่งโขง. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 1995. หน้า 64-65

[18] Chamberlain, James R., “A CRITICAL FRAMEWORK FOR THE STUDY OF THAO HOUNG OR CHEUNG”, Keynote Address, .o ใน ตำนานเกี่ยวกับท้าวฮุ่งท้าวเจือง: มิติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา, 1998. หน้า 10


ผู้เขียนขอขอบคุณคุณประพันธ์ เอี่ยมวิริยพันธุ์และคุณเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี ที่ได้กรุณาสละเวลาอ่านและออกความเห็นอันทรงค่ายิ่งสำหรับปรับปรุงต้นฉบับข้อเขียนชิ้นนี้ และขอขอบคุณคุณกนิษฐ์ วิเศษสิงห์ ที่ได้ออกความเห็นอันมีประโยชน์ในการค้นคว้าหาข้อมูลของผู้เขียน นอกจากนี้ ผู้เขียนขอกราบขอบพระคุณคณะสงฆ์วัดท่าตอน พระอารามหลวง ที่มีความกรุณาต่อผู้เขียนเป็นอย่างสูงในระหว่างที่เขียนบทความฉบับนี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save