fbpx
เควิน เฮวิสัน : ประชาธิปไตยไทยบนเครื่องวิ่งอัตโนมัติ - วิ่งบ้าง เดินบ้าง แต่ยังอยู่ที่เดิม

เควิน เฮวิสัน : ประชาธิปไตยไทยบนเครื่องวิ่งอัตโนมัติ – วิ่งบ้าง เดินบ้าง แต่ยังอยู่ที่เดิม

สมคิด พุทธศรี และพันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

หากมีการจัดอันดับว่า นักวิชาการนานาชาติคนใดที่มีอิทธิพลต่อการทำความเข้าใจเศรษฐกิจการเมืองไทยร่วมสมัยมากที่สุด ชื่อของศาสตราจารย์เควิน เฮวิสัน (Professor Kevin Hewison) อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเอเชียศึกษา แห่ง University of North Carolina at Chapel Hill (UNC) ย่อมปรากฏขึ้นมาลำดับต้นๆ

หลังจากเขียนงานวิชาการชิ้นแรกเกี่ยวกับรัฐประหาร 2519 (เผยแพร่ในปี 2520) เควินก็ติดตามพัฒนาของเศรษฐกิจการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่งานชิ้นใหญ่ของชีวิตอย่างวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง Class and State in Thailand (ตีพิมพ์ในปี 2521) งานวิจัยและงานเขียนในวารสารวิชาการจำนวนมาก รวมถึงการให้ทัศนะเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมืองไทยตามหน้าสื่อต่างประเทศ  ในวัย 67 แม้จะเกษียณจากอาชีพนักวิชาการมหาวิทยาลัยแล้ว เขาก็ยังมีผลงานวิชาการตีพิมพ์เกี่ยวกับประเทศไทยอยู่เรื่อยๆ โดยผลงานล่าสุดคือบทความเรื่อง “Crazy Rich Thais: Thailand’s Capitalist Class, 1980–2019” (เผยแพร่ปี 2562)

หลังเกษียณจากมหาวิทยาลัย ตำแหน่งทางการของเขาเหลือเพียงตำแหน่งเดียวคือ บรรณาธิการบริหารวารสาร Journal of Contemporary Asia  วารสารวิชาการภาษาอังกฤษที่ติดตามประเด็นร่วมสมัยในภูมิภาคเอเชียอย่างเข้มข้น ภายใต้งานบรรณาธิการของเควิน วารสารได้ออกฉบับพิเศษในชื่อซีรีส์ Military, Monarchy and Repression: Assessing Thailand’s Authoritarian Turn ซึ่งประกอบไปด้วยชุดของบทความว่าด้วยการเมืองไทยร่วมสมัยที่ถูกนำไปอ้างอิงมากที่สุดชุดหนึ่ง

ท่ามกลางบรรยากาศการเฉลิมฉลองก่อนปี 2020 จะมาถึง 101 นัดดื่มกาแฟและสนทนากับเควิน เฮวิสัน ว่าด้วยอนาคตการเมืองไทย

“ผมไม่ค่อยมีหวังมากนัก อาจจะเป็นเพราะผมแก่แล้ว” เควินบอกกับเราก่อนพร้อมกับหัวเราะเล็กๆ อย่างอารมณ์ดีก่อนที่การพูดคุยอย่างจริงจังจะเริ่มขึ้น แต่บทสนทนาของเขากลับบอกเป็นนัยว่า ลึกๆ แล้วเขายังมีหวัง มิเช่นนั้น เขาคงหยุดสร้างความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยไปแล้ว

 

ศาสตราจารย์เควิน เฮวิสัน (Professor Kevin Hewison)

 

หลังการเลือกตั้งไม่นาน คุณเขียนบทความเรื่อง ‘ผลการเลือกตั้งของประเทศไทยสร้างปัญหาให้กับเผด็จการทหาร’ ในตอนท้ายของบทความ คุณทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่ต้องจับตาดูคือคณะรัฐประหารจะไปสุดทางแค่ไหนในการทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นอย่างที่ต้องการ แล้วยังทำนายด้วยว่า ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรก็ตามแต่ แต่เมื่อไหร่ที่พวกเขาถูกมองว่าเป็นผู้ปล้นการเลือกตั้ง ผลลัพธ์ที่ตามมาย่อมเป็นความขัดแย้งทางการเมือง มาถึงตรงนี้ คุณคิดว่า คณะรัฐประหารไปไกลแค่ไหน และผลลัพธ์ใกล้เคียงกับที่คุณประเมินไว้หรือไม่ อย่างไร

พวกเขาไปไกลอย่างที่ผมคาดและก็กำลังไปต่อในทิศทางเดิมอยู่ หลังเลือกตั้งเราเห็นกระบวนการนับคะแนนที่ล่าช้า และหลักเกณฑ์การคิดคะแนนที่ชวนปวดหัว แต่กระบวนการทั้งหมดเป็นคุณกับพรรคที่สนับสนุนทหาร การจัดตั้งรัฐบาลโดยมีวุฒิสภาคอยสนับสนุนทำให้พวกเขารู้สึกมั่นคงมากขึ้น และสภาพปัจจุบันทำให้พวกเขาไม่ต้องกังวลกับสภามากนัก ในภาพใหญ่ นี่คือรัฐบาลทหารที่สืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งเพื่อทำให้ตัวเองกลายเป็นรัฐบาลพลเรือน

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณเชิงบวกด้วยเหมือนกัน การมีรัฐสภาทำให้ความขัดแย้งเปลี่ยนรูปแบบไป กล่าวคือ ความขัดแย้งในสังคมย้ายมาเกิดขึ้นในสภาแทน ซึ่งทำให้สภามีความหมายสำคัญมากกว่าที่มันเคยเป็น และต้องยอมรับว่าพรรคอนาคตใหม่และพรรคฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ดีกว่าที่รัฐบาลคิด ข้อน่ากังวลคือ มีการพยายามใช้กลไกและสถาบันทางการเมืองกำจัดพรรคอนาคตใหม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นเมื่อไหร่ ความขัดแย้งก็จะย้ายออกมานอกสภาอีก ซึ่งจะอันตรายมากเพราะเป็นความขัดแย้งที่ไม่สามารถคาดเดาทิศทางได้

อันที่จริง ผมคาดว่าเขาจะกำจัดพรรคอนาคตใหม่ออกไปเร็วกว่านี้ แต่ดูเหมือนพวกเขาจะยื้อเวลาออกไปนานหน่อย (หัวเราะ)

 

จนถึงตอนนี้คุณคิดว่าเหตุการณ์ไหนเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ที่สุดในสถานการณ์การเมืองไทยช่วงที่ผ่านมา

เป็นคำถามที่น่าสนใจ มีสิ่งหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจว่าเซอร์ไพรส์หรือเปล่า แต่มันค่อนข้างน่าผิดหวังสำหรับผม นั่นคือ ท่าทีของคนจำนวนมากที่มีต่อพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะคนที่ด่าทอและประสงค์ร้ายอย่างไม่ค่อยมีเหตุผล อย่างไรก็ตาม ผมเองก็ประหลาดใจกับเสียงวิจารณ์ที่สุภาพและดูเหมือนจะมีเหตุผลด้วยเช่นกัน กล่าวคือ คนจำนวนไม่น้อยพยายามบอกว่าพรรคอนาคตใหม่มีท่าทีที่แข็งกร้าวเกินไป ต้องใจเย็นๆ และใช้แนวทางการเมืองแบบทางสายกลาง (moderate)

พรรคอนาคตใหม่มีข้อเสนอทางการเมืองที่ชัดเจนและพวกเขาก็พยายามยึดถือมาตลอด ด้วยข้อเสนอเช่นนี้ ทำให้พวกเขาได้เสียงสนับสนุนจำนวนมากจากผู้เลือกตั้ง ผมคิดว่า พรรคอนาคตใหม่ควรลงสนามในท่าทีแบบเดิม มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว พวกเขาควรให้คุณค่ากับประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้ มากกว่าการทำตามคำแนะนำที่บอกว่าต้องเดินเกมแบบไหนถึงจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง

สิ่งที่ผมจะพูดคือ ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยอาจมองว่าสิ่งที่อนาคตใหม่ทำจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบสุดโต่ง (radical change) ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้สุดโต่งขนาดนั้นหรอก มันเป็นนโยบายปกติในระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยแค่พยายามคงแนวทางในการต่อต้านประชาธิปไตยไว้ โดยการออกมาแนะนำว่า ไม่ควรท้าทายรัฐบาลและกลุ่มนายทหารที่อยู่ในอำนาจ

 

ทำไมคนจึงมองว่า พรรคอนาคตใหม่รุนแรง ทั้งที่ข้อเสนอของพรรคเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย

โดยทั่วไป สังคมไทยเป็นสังคมที่ค่อนข้างหัวโบราณ และคนที่ออกมาพูดเรื่องความก้าวร้าว รุนแรง และสุดโต่งของอนาคตใหม่ ก็มักเป็นคนที่มีแนวโน้มจะสนับสนุนรัฐบาลทหาร ในแง่หนึ่งมันจึงเป็นการสนับสนุนรัฐบาลทหารในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ในทางตรงกันข้าม พวกเขาจะไม่ให้คำแนะนำแบบเดียวกันกับรัฐบาลเลย

ต้องออกตัวว่า ผมพูดถึงคำวิจารณ์ต่ออนาคตใหม่ที่เป็นกระแสหลัก (mainstream) ในสังคมไทยมากกว่าข้อวิจารณ์แบบเฉพาะเจาะจงของใคร หรือกลุ่มไหน

 

ศาสตราจารย์เควิน เฮวิสัน (Professor Kevin Hewison)

 

ในรอบปีที่ผ่านมา คุณเคยเขียนบทความเกี่ยวกับการเมืองไทยหลายชิ้นที่ตั้งคำถามถึงศักยภาพของพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคสืบทอดอำนาจของทหาร จนถึงตอนนี้ คุณประเมินผลงานของพรรคพลังประชารัฐอย่างไรบ้าง พวกเขาสำเร็จ หรือล้มเหลว

นี่เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ตอบยาก ในด้านหนึ่งนักวิเคราะห์ก็มองกันว่าพวกเขาทำได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะการได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับสอง และยังอ้างได้ว่า พรรคได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งผิดจากความคาดหมายในตอนแรก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผมเชื่อว่า ด้วยทั้งหมดที่ทำมา พวกเขาต้องการชนะการเลือกตั้งด้วยผลลัพธ์ที่ล้นหลามกว่านี้ ดังนั้นจะเรียกว่าเป็นความล้มเหลวก็ได้

ผลงานในสภาของพวกเขาเองก็ไม่ดีนัก พวกเขาไม่สามารถนำเสนอนโยบายที่แข็งแรงได้มากนัก และนี่คือสิ่งที่คณะรัฐประหารเริ่มเรียนรู้แล้วว่า ในเกมสภาแบบนี้พวกเขาทำอะไรได้น้อยกว่าที่คิด ในทางกลับกัน สภากลายเป็นที่ฝ่ายค้านได้แสดงจุดแข็งออกมามากกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ด้วยสภาพที่เป็นอยู่รัฐบาลก็รู้สึกแสบๆ คันๆ เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ผมจึงบอกว่าประเมินยาก พรรคพลังประชารัฐไม่ได้อย่างที่พวกเขาอยากได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่พวกเขาได้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องได้ ที่สำคัญคือ พวกเขายังเดินเกมตามแผนระยะยาวไว้ต่อไปเรื่อยๆ

 

งานวิชาการในช่วงต้นทศวรรษ 2010 ของคุณเป็นจำนวนมากเน้นศึกษานโยบายประชานิยมในยุครัฐบาลทักษิณและนัยสำคัญของชุดนโยบายเหล่านี้ต่อสังคมการเมืองไทย มาถึงตรงนี้ คุณคิดว่าหมดยุคคุณทักษิณแล้วหรือยัง

ผมคิดว่าไม่นะ จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็พูดได้ว่าแรงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ ก็ได้มาจากฐานเก่าของคุณทักษิณ ได้มาจากประชาชนที่ให้คุณค่ากับผลงานในอดีตของเขา ในช่วงระหว่างเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่ค่อนข้างผลักดันนโยบายที่ซับซ้อนและสร้างข้อถกเถียงร้อนแรงในสังคมหลายครั้ง ในขณะที่พรรคเพื่อไทยก็แอบอยู่หลังม่านหน่อยๆ ซึ่งก็เหมาะกับลักษณะของพรรคในตอนนั้น ถึงแม้ว่าหลายคนจะลงความเห็นว่าพรรคเพื่อไทยทำผลงานได้แย่ในการเลือกตั้ง แต่ผมคิดว่าเขาทำออกมาได้ดีทีเดียว คล้ายกับว่าคนที่สนับสนุนฝั่งทักษิณก็ยังสู้ ออกไปลงคะแนนเสียงทั้งๆ ที่มีปัญหาติดขัดในระหว่างการหาเสียง

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีประชาชนอีกฝั่งที่พร้อมต่อต้านทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ กระทั่งหลายคนที่ไม่ชอบคุณธนาธรก็มองว่าเขาคือคุณทักษิณคนใหม่ ในแง่ที่เป็นเศรษฐีที่ลงมาเล่นการเมืองและนำเสนอนโยบายที่ต่างออกไปจากสังคมไทยกระแสหลัก ในแง่นี้ ยุคของคุณทักษิณจึงยังไม่จบ อย่างน้อยก็สำหรับคนที่ต่อต้านทักษิณ ไม่เชื่อคุณลองสังเกตดูว่า เมื่อไหร่มีข้อเสนอ คอมเมนต์ หรือคำแนะนำที่อ้างว่ามาจากทักษิณ รัฐบาลก็จะออกมาตอบโต้ทันที

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ความนิยมในตัวเขาไม่เสื่อมลงเลย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่เขาผิดพลาดและสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล โดยเฉพาะกรณีพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงและบ้ามาก บทเรียนหนึ่งที่ได้รับการตอกย้ำจากกรณีนี้คือ ทักษิณไม่เคยอยู่ฝั่งประชาธิปไตยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว การอยู่ฝั่งประชาธิปไตยของเขาเกิดขึ้นจากการถูกบีบให้อยู่ฝั่งประชาธิปไตยเสียมากกว่า

 

ถ้าพิจารณานโยบายเศรษฐกิจของพลเอกประยุทธ์ จะเห็นว่ามีนโยบายที่คล้ายคลึงกับประชานิยมองทักษิณ คุณมีข้อสังเกตกับเรื่องนี้อย่างไร อะไรคือความเหมือนและความต่างระหว่างรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ทำไมนโยบายที่เคยมีประสิทธิภาพกลับไร้ประสิทธิภาพในตอนนี้

ตอนที่คุณทักษิณออกนโยบายนี้คือตอนปี พ.ศ. 2543 – 2544 ประเทศยังคงบอบช้ำจากวิกฤตเศรษฐกิจ นโยบายเหล่านั้นจึงแก้ปัญหาของยุคนั้นได้ แต่การที่รัฐบาลทหารจะมาพัฒนานโยบายแบบเดียวกัน คำถามคือเราอยู่ในยุคไหนแล้ว มันผ่านมา 20 ปีแล้ว พูดตามตรง ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะบังคับใช้นโยบายแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกอยู่ดี เพราะมันสื่อให้เห็นถึงการออกนโยบายที่ขาดความแหลมคมและขาดความเข้าใจในความเป็นสังคมร่วมสมัยและโลกที่ก้าวหน้า รวมไปถึงความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเจอในโลกอันก้าวหน้านี้ด้วย

ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเลือกนโยบายแบบนี้เพราะคิดว่ามันเป็นประโยชน์ในการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายแล้วมันคือนโยบายที่รับใช้อดีต ไม่ใช่การออกแบบมาสำหรับอนาคต

บางคนบอกว่า เราไม่ควรเปรียบเทียบรัฐบาลประยุทธ์กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป แต่ควรมองเทียบกับยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ

(หยุดคิดนิดหนึ่ง) มีหลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายกันระหว่างยุคนี้กับยุคพลเอกเปรม เอาเข้าจริง สถานภาพแบบยุคพลเอกเปรมอาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการ แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้ให้สิ่งนี้กับพวกเขา

สิ่งที่พลเอกเปรมทำได้คือการเลือกอยู่ข้างสภาอย่างเหนียวแน่น มีพรรคพวกเป็นเทคโนแครตในคณะรัฐมนตรีเพื่อต่อรองกับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ แต่รัฐบาลประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ทำแบบนั้น พวกเขาต้องทำงานเสมือนว่าตัวเองเป็นพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งพลเอกเปรมไม่เคยต้องใช้วิธีนี้เลย นี่คือส่วนที่แตกต่างกันอย่างมาก

ถ้าหากคนออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยึดการเมืองสมัยพลเอกเปรมจริง เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะมีมุมมองที่คลาดเคลื่อนต่อการบริหารในยุคพลเอกเปรม เพราะถึงแม้ว่าพลเอกเปรมจะอยู่ในอำนาจเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่ได้เป็นการปกครองที่มีเสถียรภาพตลอดเวลา มีการแข่งขันช่วงชิงทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย และบางครั้งก็เป็นความขัดแย้งที่แหลมคมมากๆ  เพียงแต่พลเอกเปรมผ่านวิกฤตมาได้เท่านั้นเอง

 

อีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จของพลเอกเปรม คือการบริหารประเทศโดยใช้พลังเทคโนแครตขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และนี่คือสิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์ตั้งแต่หลังรัฐประหารพยายามจะทำมาโดยตลอด คุณคิดว่าพวกเขาจะสามารถทำได้เหมือนรัฐบาลพลเอกเปรมไหม

นี่คือคำถามที่ง่ายที่สุดตั้งแต่คุณถามผมมา (หัวเราะ) รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ยังทำงานได้ไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่พลเอกเปรมทำได้เลย เหตุผลอย่างหนึ่งที่สำคัญคือพวกเขาดึงระบบราชการให้มาเล่นการเมือง (politicize) มากเกินไป การทำแบบนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ระบบราชการ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไร้ประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังทำให้สังคมไม่ไว้ใจระบบราชการด้วย

พูดกันแบบตรงๆ ผมไม่คิดว่าประชาชนส่วนใหญ่จะมองว่า นโยบายของรัฐบาลชุดนี้คือ ผลงานของเทคโนแครตคุณภาพสูง เอาแค่ภาพลักษณ์ก่อนก็ได้ คณะรัฐมนตรีมีใครบ้างที่พอจะบอกได้ว่าเป็นเทคโนแครต

 

คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และทีมเศรษฐกิจของเขา?

สมคิดก็เป็นเทคโนแครตได้ในบางมุม แต่เขาก็ไม่ใช่เทคโนแครตแบบที่เราคุ้นเคย อาจเป็นเพราะเขาเคยอยู่กับคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองก่อนแล้วค่อยไปอยู่กับทหาร ภาพเลยไม่ชัด คนที่ใกล้เคียงกว่าคือคุณวิษณุ เครืองาม ในแง่ที่เขาเป็นนักกฎหมายที่ทำงานให้กับทุกรัฐบาล  แต่ก็นั่นแหละ ผมไม่คิดว่า รัฐบาลประยุทธ์มีภาพความเป็นเทคโนแครตเท่าไหร่

 

ศาสตราจารย์เควิน เฮวิสัน (Professor Kevin Hewison)

 

การเมืองในปี 2020 มีอะไรที่ต้องจับตามอง

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่น่าจับตามองอย่างมากและมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองไทย โดยเฉพาะหากยังหวังว่าการเมืองแบบรัฐสภาจะยังคงทำงานได้ดี หากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ หรือมีการตัดสิทธิทางการเมืองของสมาชิกคนสำคัญของพรรค แนวโน้มที่จะเกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองก็มีอยู่มาก แต่ถ้าถามว่ามากเท่าไหร่ ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญมากๆ คือ การเมืองไทยกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านที่อะไรที่ไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ระบอบอำนาจนิยมไทยเคยมีวิถีการใช้อำนาจเฉพาะตัวและระมัดระวังอย่างยิ่ง ซึ่งทำให้กลุ่มชนชั้นนำสามารถสร้างระบอบการปกครองได้ในวิถีที่อยากให้เป็น แต่ในหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มชนชั้นนำได้ใช้อำนาจในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในหลายๆ ครั้ง และในหลายๆ ด้าน ซึ่งเท่าที่ดูก็มีแนวโน้มว่าสถานการณ์เช่นนี้จะยังคงดำเนินต่อไป

 

ตลอดกว่า 40 ปีในแวดวงวิชาการ คุณสนใจศึกษาชนชั้นนายทุนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2019 คุณตีพิมพ์บทความเรื่อง Crazy Rich Thais: Thailand’s Capitalist Class, 1980–2019’ ซึ่งศึกษาการกระจุกตัวของทุนไทยและพยายามที่จะเชื่อมโยงมันเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภาพใหญ่ คุณมองเห็นอะไรจากการศึกษาพลวัตนายทุนไทยกว่า 40 ปี

ผมขออธิบายที่มาที่ไปของงานชิ้นนี้ก่อน ตลอดชีวิตนักวิชาการของผม งานวิจัยที่ผมทำจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงวิพากษ์ (Critical Political Economy) ดังนั้น ผมจึงสนใจความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนายทุน การทำธุรกิจของพวกเขา และตัวแปรพื้นฐานทางสังคมการเมือง นั่นทำให้ผมสะสมข้อมูลจากนิตยสาร Forbes มานานแล้ว เมื่อมีคนขอให้ผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องชนชั้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมเลยคิดว่าถ้าเริ่มจากประเทศไทยก็น่าจะดี เพราะเป็นประเทศที่ผมรู้จักดีที่สุด ดังนั้น ในตอนแรกบทความที่ผมเขียนจึงเป็นเรื่องของจังหวะเวลามากกว่าคำถามวิจัยที่ชัดเจน

ระหว่างที่กำลังปะติดปะต่อข้อมูลทำให้ผมต้องกลับไปดูงานเก่าของตัวเองในช่วงปลายยุค 70 และต้นยุค 80 และพยายามพิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับชนชั้นนายทุน พวกเขาเปลี่ยนแปลงไปมากไหมในช่วงเวลาที่ผ่านมา สิ่งที่ผมค้นพบคือ ชนชั้นนายทุนไทยแทบไม่เปลี่ยนเลย ทุนไทยกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มเดิมๆ มาตลอด 40 ปี ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจจะพัฒนาและทุนนิยมไทยก็วิวัฒน์จากทุนนิยมอุตสาหกรรม ไปสู่ทุนนิยมธนาคาร ไปสู่ทุนโทรคมนาคม พูดอีกแบบคือ ชนชั้นนายทุนไทยกลุ่มเดิมๆ สามารถขยายฐานธุรกิจของตัวเองออกไปได้เรื่อยๆ แม้โครงสร้างของระบบทุนนิยมไทยจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม

ถ้าดูตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย นักวิชาการเริ่มศึกษาเรื่องชนชั้นนายทุนในอินโดนีเซียหลังจากยุคการปกครองของประธานาธิบดีซูฮาร์โตจนถึงปัจจุบัน และพบการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับชนชั้นนายทุน คือ เห็นว่าเศรษฐีตระกูลไหนรวยขึ้น-จนลง ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่ประมาณ 30-50 ครอบครัว แต่เรากลับไม่พบลักษณะนี้ในประเทศไทย คือ มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง แต่พูดได้ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเลย กระทั่งวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ซึ่งเคยประเมินกันว่าส่งผลกระทบอย่างรุนแรงของชนชั้นนายทุนไทย แต่เมื่อดูจากข้อมูลแล้ว กลุ่มทุนหลักของไทยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ก็ยังคงอยู่มาได้อย่างต่อเนื่อง และแข็งแกร่งกว่าที่เคยเป็นมาเสียอีก

ข้อเสนอของผมคือ ประเทศไทยยังไม่เคยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนานใหญ่ที่สะเทือนถึงชนชั้นนายทุนเลยสักครั้ง ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่บ้าง มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ชนชั้นนายทุนไทยแทบไม่เปลี่ยน ชนชั้นนายทุนหลักของไทยสามารถเข้ามากุมอำนาจทางเศรษฐกิจในประเทศไทย และสามารถทำผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง ซ้ำยังรวยขึ้นมหาศาล พวกเขากลายเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือระบบเศรษฐกิจ และกลายเป็นผู้เล่นคนสำคัญในภาคการเมืองด้วย

 

ชนชั้นนายทุนอาจจะอยากได้ความมั่นคง แต่พวกเขาก็ควรที่จะอยากได้รัฐบาลที่ฉลาดและมีสมรรถนะในการบริหารประเทศสูงด้วย แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลที่นำโดยทหารกลับไม่ได้มีลักษณะแบบที่ว่าเลย คุณพอจะมีคำอธิบายไหมว่าทำไมชนชั้นนายทุนถึงคิดว่าเขาเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้

ถ้าคุณย้อนกลับไปดูการก่อร่างสร้างตัวของชนชั้นนายทุนไทย คุณจะพบว่ามันสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับพัฒนาการการเมืองการปกครอง ยิ่งอำนาจกระจุกตัวมากเท่าไหร่ นายทุนยิ่งสะสมทุนได้มากเท่านั้น ในทางทฤษฎี ปัจจัยใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวโยงกับระบบประชาธิปไตยล้วนถือว่าเป็นการคุกคามทั้งสิ้น กรณีนี้ค่อนข้างชัดในอินโดนีเซีย ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านประชาธิปไตยขนานใหญ่ บวกกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ชนชั้นนำทางธุรกิจก็เปลี่ยนไปด้วย

กรณีของประเทศไทยนั้นน่าสนใจ หลังวิกฤต 2540 ประเทศไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ได้คุณทักษิณ ซึ่งเป็นหนึ่งในชนชั้นนายทุนเข้ามาเป็นนายกฯ มีงานวิจัยจำนวนมากในช่วงนั้นที่พยายามวิเคราะห์ว่าทุนทักษิณและพรรคไทยรักไทยประกอบด้วยใครบ้าง แต่ท้ายที่สุด ทักษิณกลับโดนหมายหัวว่าเป็นศัตรูของชนชั้นนายทุน ทั้งที่เป็นพวกเดียวกันแท้ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาทำให้ดุลอำนาจระหว่างชนชั้นนายทุนเปลี่ยนไป ซึ่งก็ต้องคุยกันยาวว่า ทำไมถึงเป็นแบบนี้

การได้รัฐบาลที่มีสมรรถนะสูงเป็นเรื่องดี ตราบเท่าที่รัฐบาลนั้นไม่แตะระบบที่เอื้อให้กลุ่มชนชั้นนายทุนสามารถทำเงินมหาศาลได้ต่อไป เวลาพูดถึงความมั่นคงของชนชั้นนายทุน มันไม่ใช่ความมั่นคงธรรมดา แต่มันคือการที่คุณจะต้องรับประกันให้ได้ว่าธุรกิจและทรัพย์สินจำนวนมหาศาลสามารถจะส่งต่อได้จากรุ่นสู่รุ่น ภายในไม่กี่ครอบครัวได้อย่างราบรื่น การที่คุณจะทำอย่างนี้ได้นอกจากจะร่ำรวยมหาศาลแล้ว คุณจะต้องมีอำนาจมหาศาลที่จะควบคุมความเป็นไปของประเทศด้วย

ถ้าถามว่าทำไมพลเอกประยุทธ์จึงเป็นคำตอบ เพราะเขาสามารถคุ้มครองระบอบนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้

 

แล้วกรอบคิดนี้อธิบายช่วงที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างไร

ถ้าคุณไปอ่านบทความที่นักวิชาการพยายามจะเขียนเกี่ยวกับการเมืองไทย ยิ่งในช่วงทศวรรษ 2520 ก็จะเห็นงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกระบวนการสร้างประชาธิปไตย (democratization) สมมติฐานสำคัญที่นักรัฐศาสตร์ในยุคนั้นยึดถือคือ ถ้าคุณมีชนชั้นนายทุนที่แข็งแรง ชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น สังคมก็จะพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงแล้ว ทฤษฎีนี้ใช้อธิบายเมืองไทยได้ไม่ดีนัก

ผมเสนอว่า ระบอบอำนาจนิยมไม่ใช่สิ่งที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยแบบตรงไปตรงมา แต่มันเป็นระบอบในตัวมันเองที่เกิดขึ้นและวิวัฒนาการได้ ในบางช่วงที่ประเทศดูเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตย อาจไม่ได้ทำให้ความเป็นเผด็จการลดลง เพียงแต่เกิดการซ่อนรูปของอำนาจ และการจะเข้าใจแก่นของระบอบจะต้องมุ่งทำความเข้าใจธรรมชาติและพื้นที่ของการแข่งขันช่วงชิงทางการเมือง (nature and sites of political contestation)

ในแง่นี้ ส่วนหนึ่งของคำอธิบายที่ว่า ทำไมระบอบอำนาจนิยมถึงยังธำรงอยู่ในการเมืองไทยได้ นั่นเป็นเพราะมันตอบสนองต่อกลุ่มผลประโยชน์หลักๆ ในสังคมไทยได้ แน่นอนว่าในยามที่ประเทศเป็นประชาธิปไตย พวกเขาก็ยังทรงอำนาจและมีอำนาจต่อรองสูง เพียงแต่มันซ่อนรูปเท่านั้นเอง เมื่อมีแรงกดดันทางการเมืองเกิดขึ้น พวกเขาก็พร้อมที่จะกลับมาสนับสนุนรูปแบบที่ให้หลักประกันที่ดีกว่าสำหรับพวกเขา

 

ถ้าเป็นแบบนี้ โอกาสที่คุณประยุทธ์จะอยู่ยาวแบบ 8 ปี 10 ปีก็มีสูงมาก

นี่คือหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ และเป็นเป้าหมายที่เขาปักหมุดเอาไว้แน่วแน่ อะไรก็ตามที่จะทำให้พวกเขาพ่ายแพ้การเลือกตั้ง จะต้องไม่เกิดขึ้น พวกเขาจึงต้องสถาปนาระบอบการเลือกตั้งที่ออกแบบมาให้ตัวเองชนะ โดยมีรัฐธรรมนูญ 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นเครื่องมือ โดยมีเหล่านายทุนเป็นผู้สนับสนุนหลัก

อย่างที่คุยกันไปแล้วว่า พลเอกประยุทธ์คือตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้ว เขาอาจไม่ได้ฉลาดมากหรือเชื่อมือได้ในอนาคต แถมยังเป็นนักพูดในที่สาธารณะที่แย่มากด้วยซ้ำ แต่เขาคือตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้วในเวลานี้ ตัวเลือกที่สองอาจจะเป็นพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่จะเข้ามาเสียบแทนหลังจากพลเอกประยุทธ์ลงจากตำแหน่งไปแล้ว

 

เป็นเรื่องตลกร้ายไม่น้อยที่บทความวิชาการชิ้นแรกของคุณ เขียนเกี่ยวกับรัฐประหารในปี พ.ศ. 2519 ในประเทศไทย คุณรู้สึกอย่างไรที่ผ่านมา 40 ปีแล้วประเทศไทยก็ยังอยู่ในวังวนรัฐประหาร

มันคล้ายกับความรู้สึกบนเครื่องวิ่งอัตโนมัติ เดินบาง วิ่งบ้าง เหมือนเดินมาไกล แต่พอมองดูอีกทีกลับอยู่ที่เดิม บทความที่ผมเขียนในปี 2519 ก็คล้ายกับที่เราคุยกันในวันนี้ ผมพยายามตอบคำถามว่า ทำไมถึงเกิดรัฐประหาร 2519 ใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ และทำไมประเทศไทยจึงต้องจบลงด้วยระบอบอำนาจนิยม

บางทีตอนนี้ผมค่อนข้างจะมองโลกในแง่ร้ายมากกว่าปี 2519 เสียอีก ในตอนนั้นผมยังรู้สึกว่า โลกยังมีข้อเสนอที่ทรงพลังให้เราเลือกต่อสู้ กระแสประชาธิปไตยเป็นการคัดง้างกับอำนาจนิยมที่ทรงพลังมาก แต่สถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ค่อนข้างซับซ้อน และสถานการณ์โลกก็ไม่ได้ช่วยสนับสนุน ตอนนี้เสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal democracy) ทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะถดถอย สิ่งที่ผมกำลังสนใจตอนนี้คือทำอย่างไรที่จะยับยั้งไม่ให้รัฐบาลของออสเตรเลียกลายเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม (หัวเราะ) อาจฟังดูตลกร้าย แต่พวกเขากำลังเป็นแบบนั้นจริงๆ รัฐมนตรีบางคนเพิ่งออกมาพูดเมื่อไม่นานมานี้ว่า รัฐสภาคือปัญหาการเมือง และเขาก็คือรัฐมนตรีคนเดียวกันกับที่ควบคุมการกักกันผู้ลี้ภัย และเป็นคนเดียวกับที่ต่อต้านการประท้วงที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ถึงอย่างนั้นก็ยังอยากถามอยู่ดีว่า ถ้ามองจากแว่นตาเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงวิพากษ์ เราจะขยับจากระบอบอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตยอย่างไร

ผมตอบไม่ได้หรอก สมัยก่อนผมให้คำแนะนำไว้เยอะมาก แต่ไม่มีคำแนะนำไหนที่ใช้ได้เลย (หัวเราะ) บางทีมันเป็นปัญหาที่คนในสังคมไทยต้องเผชิญและหาทางออกด้วยตัวเอง

ตอนนี้ระบบอำนาจนิยมกำลังเกิดขึ้นทั่วโลกใน และมันสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองทั่วโลกมีปัญหา คุณพอมองเห็นตัวอย่างของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยกับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยจากทั่วโลก น่าจะมีบางเรื่องเอามาใช้เป็นบทเรียนได้

 

ศาสตราจารย์เควิน เฮวิสัน (Professor Kevin Hewison)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save