fbpx

ประเทศไทยจะแต่งตัวยังไง? ขายรสนิยมแบบไหน?  คุยกับ ‘กมลนาถ องค์วรรณดี’ ถึง 3 เดือน ในตำแหน่งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่น

ผ่านไปราว 3 เดือน นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเป็นกลุ่มผลักดันนโยบายในการสร้างรายได้ให้ประเทศ กมลนาถ องค์วรรณดี ดีไซเนอร์และที่ปรึกษาด้านแฟชั่นและความยั่งยืน เข้ามารับตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ สาขาแฟชั่นและสิ่งทอ และต้นเดือนกุมภาพันธ์ เธอกับทีมได้ตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่ง

คงปฏิเสธได้ยากว่าการลาออกของกมลนาถนำมาซึ่งคำถามมากมายของสังคม โดยเฉพาะในห้วงยามที่คนยังไม่เห็นภาพทิศทางของยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ไทยมากนัก นอกจากการส่งเสริมให้จัดอีเวนต์ตามวาระโอกาสวัฒนธรรมสังคม และการเผยงบประมาณและโครงการของแต่ละสาขาในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งต้องใช้เวลาราว 6 เดือน และ 1 ปีในการบรรลุผลออกมาชัดเจน

หลายคนเข้าไปค้นเฟซบุ๊กกมลนาถเพื่อหาสาเหตุ และพบประเด็นการวิจารณ์การจัดงานสวมกางเกงช้างเข้า แต่สิ่งแรกที่เธอให้สัมภาษณ์หลังประกาศลาออกจากตำแหน่ง คือไม่ใช่เพียงเพราะกางเกงช้างที่มีส่วนในการตัดสินใจลาออก แต่ประกอบด้วยกระบวนการทำงานหลายอย่างที่เธออาจจะไม่ได้มีเวลาเข้ามาช่วยจัดการได้เท่าที่ควร ซึ่งนับรวมถึงการทำงานด้านอื่นๆ ที่เธอมีความคิดเห็นส่วนตัวในแง่การจัดระบบการทำงาน และแนวคิดการวาง ‘กลยุทธ์’ แตกต่างจากแนวทางของยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์​ ทำให้เธอต้องกลับมาพิจารณาขั้นตอนการทำงานเหล่านั้นของตัวเอง และตัดสินใจขอยุติการทำงานในที่สุด

101 สนทนากับกมลนาถ ถึงประสบการณ์ 3 เดือนของการทำงานในฐานะคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ มองภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ตั้งรอวันที่รัฐเข้ามาสนับสนุน, ฐานแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ในมุมมองโลกแฟชั่นที่จะเป็น ‘ยุทธศาสตร์’ พร้อม ‘ขายของ’ ให้คนมาสนใจ และภาพรวมการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ที่รอวันดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศได้ตามที่หวัง



ก่อนหน้าที่คุณจะเข้ามาเป็นคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ คุณมองเห็นภาพรวมอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาอย่างไร มีอะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นบ้างไหม

ย้อนกลับไปสมัยเรายังเรียนมัธยม ตอนนั้นยังอยู่ในรัฐบาลไทยรักไทยและยังไม่มีรัฐประหาร เศรษฐกิจภาพรวมดี คนมีกำลังจับจ่าย บรรยากาศแฟชั่นไทยก็คึกคักมาก มีงานกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น ซึ่งมีเวทีให้คนรุ่นใหม่หรือเปิดต้อนรับดีไซเนอร์ใหม่ๆ มาแสดงความสามารถ, มีการจัดงานแฟชั่นวีก อย่าง Bangkok International Fashion Week, Fashion Week Thailand, มีโชว์เคสที่นักศึกษาเอางานไปเดินรันเวย์ในเซ็นทรัลเวิลด์ มีแบรนด์สินค้าจากดีไซเนอร์ไทย เราเองก็ใช้ชีวิตแบบโตมาเป็นวัยรุ่นแฟชั่นสยาม ทำให้ได้เห็นงานดีไซเนอร์ไทยมาแสดง มีนักออกแบบหลายคนที่เรานับถือ เพราะเขาเก่งมากๆ 

ตอนนั้นประเทศไทยยังเป็นหมุดหมายการช็อปปิงของคนเอเชีย เพราะงานดีไซเนอร์ไทยมีเอกลักษณ์มาก ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ Soda, GREYHOUND ORIGINAL และอีกหลายๆ แบรนด์ของรุ่นพี่ที่เขาทำกันมาก่อน ซึ่งทุกคนเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อๆ มาอยากจะทำเสื้อผ้า อยากเรียนแฟชั่น เพราะเขาเห็นว่าสายงานนี้สนุก ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และยังสร้างรายได้ดี มันจึงเป็นความสำเร็จในเชิงวัตถุได้  

นอกจากนี้ ยุคนั้นยังมีการสนับสนุนให้เด็กไทยได้ไปเรียนต่อ หรือมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากเมืองนอกมาให้ความรู้ เช่น ช่างแพทเทิร์นจากแบรนด์ BALENCIAGA เข้ามาสอนในไทย และที่สำคัญคือมีการตั้ง TCDC (Thailand Creative & Design Center — ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) , มีโครงการโอท็อป (OTOP — โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) 

ในขณะเดียวกัน อีกภาพที่คิดว่าสำคัญ คือฝั่งอุตสาหกรรมสิ่งทอ เราเป็นฐานการผลิตของโลกมานาน 30 ปี ด้วยคุณภาพการผลิต ทำให้ต่างประเทศมาสั่งผลิตสิ่งทอในไทยเยอะ แม้ว่าค่าแรงเราจะสูงกว่าเพื่อนบ้าน บางแบรนด์เข้ามาผลิตตั้งแต่เขาเพิ่งเริ่มต้นเปิดแค่ 5 สาขา ตอนนี้มีร้อยกว่าสาขาก็ยังผลิตกับโรงงานในไทยอยู่ ถือว่าภาคการผลิตของเรามีคุณภาพ 

และแม้เราจะไม่ได้มีเครื่องจักรเทคโนโลยีใหม่เหมือนประเทศมหาอำนาจ แต่เรามีดีเอ็นเอของช่างฝีมือ มีภูมิปัญญาเฉพาะ งานหัตถกรรม งานฝีมือพื้นบ้านที่เป็นวัฒนธรรมคู่กับสังคมเกษตรกรรม ถ้าลองมองเทียบกับยุโรปหรืออเมริกาที่เข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมานานแล้ว เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมเหล่านี้ของเขาหายไปหมด ตอนเราไปเรียนที่อังกฤษ เขาตื่นเต้นกันมากที่เห็นภาพกลุ่มแม่ๆ นั่งทอผ้า ย้อมผ้า อันนี้คืองานคราฟต์ที่เป็นภูมิปัญญาส่งต่อแบบรุ่นสู่รุ่น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวแค่ในเชิงการค้า แต่เป็นวัฒนธรรมในวิถีชีวิตและจิตวิญญาณคนท้องถิ่น เช่น การทอผ้าเพื่อถวายพระ หรือทอผ้าเพื่อพิธีกรรมต่างๆ

อาจจะพูดได้ว่าที่เล่ามาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในบ้านเรามาหลายสิบปี ถือว่าประเทศเรามีทักษะด้านสิ่งทอตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ คือผลิตเส้นใย ฟอก ย้อม ทอ การตัดเย็บ ไปจนถึงการออกแบบจากดีไซเนอร์ และที่สำคัญเมื่อหลายสิบปีก่อน คนมีกำลังซื้อ เข้าใจรสนิยมการออกแบบ ทุกอย่างก็คึกคัก

เมื่อภาพรวมอุตสาหกรรมเป็นแบบนี้ ตอนเราทำงานร่วมกับทีมอนุกรรมการฯ ทำให้สรุปคำที่น่าสนใจ คือ local value chain, craftsmanship, openness to diversity และ sabai-style, high quality. 

แต่ก่อนจะนำไปสู่นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ปัญหาคือว่าในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอซบเซาลงไปมาก 


อะไรคือจุดอ่อนที่ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอในไทยซบเซาลงไปมาก

มันมีทั้งปัญหาภายในและภายนอก เรื่องแรกก่อน คือปัญหาภายใน เศรษฐกิจเราไม่ดี กำลังซื้อน้อยลง ราคาขายตอนนี้ยังเท่ากับเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอยู่เลย แต่คนอาจจะรู้สึกแพงกว่าเดิมด้วยซ้ำ เช่น เมื่อก่อนคนขายผ้าพันคอผืนละ 2,500 บาท หมดไวมาก ดีไซเนอร์ได้เงินแสนแค่แป๊บเดียว แต่ยุคนี้ถ้าขาย 2,500 คนซื้อคิดแล้วคิดอีก ถ้าพูดตรงไปตรงมาคือ ข้าวของทุกอย่างแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ในขณะที่รายรับเท่าเดิม ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาพรวมเศรษฐกิจ ทำให้ฐานผู้ซื้อคนไทยมีกําลังซื้อลดลง 

ในขณะที่ปัจจัยภายนอก ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน ธรรมชาติของธุรกิจเปลี่ยน การเติบโตของอุตสาหกรรมแฟชั่นมีความเร่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เน้นถูกและเร็ว จาก fast fashion สู่ hyper fast fashion ปัจจุบันจึงมีแต่แบรนด์ที่มีฐานผลิตใหญ่ๆ เข้ามาตีตลาดในไทยพร้อมสายป่านยาว กระเป๋าลึกก็มีทุนในการผลิต สร้างร้านใหญ่ ทำของเยอะ ได้ราคาถูกลง จ้างพนักงานสร้างประสบการณ์การขายได้ ขายออนไลน์ก็ได้ เขาได้เปรียบทั้งราคาและคุณภาพ 

ด้านการเป็นผู้ผลิต เนื่องจากเพื่อนบ้านมีค่าแรงถูกกว่า หลายแบรนด์ก็ย้ายฐานการผลิตไป หรืออย่างจีนเองก็มีการสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตขนานใหญ่ช่วยให้คุณภาพสินค้าดีแต่ลดต้นทุนได้มากด้วย economy of scale

มาจนถึงเทรนด์แบรนด์ไอจี เปิดร้านขายเสื้อผ้าในโซเชียลมีเดียด้วยการนำเข้าสินค้าจากจีน ไม่มีกำแพงภาษี บางร้านบินไปซื้อเสื้อผ้าที่เกาหลีหรือจีนมาขายเอง เพราะถูกกว่า พวกนี้ก็เป็นปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบกับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังรวมไปถึงความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศที่ทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุน

จะเห็นว่าพอตลาดโลกเปลี่ยน แต่ทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอบ้านเราตามไม่ทัน ขาดการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างรัฐกับเอกชน ถ้าพูดกันในภาษามาร์เก็ตติ้ง ทุกวันนี้แบรนด์ดิ้งหรือความเป็นภาพจำของสิ่งทอบ้านเราไม่ชัดเจน ทำให้เราติดอยู่ใน trap ตรงกลางที่ไม่รู้จะวางตัวเองไว้ตรงไหน จะไปในทางหรูหรา (luxury), ความคิดสร้างสรรค์สูง (high creative), มีคุณค่าสูง (high value) แบบ made in Italy ขายของแพงให้คนรวยหมดเลยก็ไม่ได้  เพราะแรงงานเรายังไม่ได้เพิ่มทักษะอย่างทั่วถึง หรือจะไปทางแมส ผลิตเยอะๆ ขายของถูก เราก็สู้ราคาของประเทศอื่นๆ ไม่ไหว และไม่มีเทคโนโลยีเครื่องจักรสมัยใหม่ที่พอจะเข้ามาซัพพอร์ตตรงนี้ได้ 

ปัญหาตอนนี้มันเลยกลายเป็นไส้เดือนในเขาวงกต เจอปัญหาทั้งภายนอกและภายใน คือเศรษฐกิจย่ำแย่ การเมืองไม่นิ่ง นักลงทุนไม่เชื่อมั่น ซึ่งแค่เท่านี้ในประเทศก็เหนื่อยแล้ว แต่ยังมีปัจจัยการแข่งขันในอุตสาหกรรมสูงลิบ และอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยก็ยังไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในสิบปีที่ผ่านมา

เราก็จะเห็นว่าแบรนด์ที่ยืนหยัดมาได้คือเก่งมากแล้ว เพราะจากสิบกว่าปีที่ผ่านมาจนตอนนี้ มีหลายแบรนด์ปิดตัวกันไปเยอะ หรือเปิดได้แป๊บเดียว กอบโกยได้ช่วงหนึ่งก็ต้องปิดตัวลง ปัจจุบันจะเห็นว่าทางรอดของธุรกิจแฟชั่นคือออนไลน์ แบรนด์ที่ยอดขายดีๆ ส่วนใหญ่เปิดตัวในอินสตาแกรม ซึ่งเป็นเทรนด์ขึ้นมาจากยุคอีคอมเมิร์ซ เพราะไม่ต้องลงทุนหน้าร้านจึงสามารถลดต้นทุนได้มาก เข้าถึงผู้ซื้อโดยตรงได้ ตัดคนกลางออกไป มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่ไม่ใช่คนที่เรียนจบแฟชั่นหรือเป็นนักออกแบบเข้ามาเปิดแบรนด์ของตัวเองมากมาย กลายเป็นเรื่องของแต่ละคนแล้วว่าใครจะทำถึงหรือไม่ถึงยังไง คนที่อยู่ตรงนี้แล้วสำเร็จได้จึงเก่งมาก เพราะรัฐไม่ได้เข้ามาสนับสนุนเท่าที่ควร 

ทางออกที่พอจะเป็นไปได้ และจริงๆ คือทางรอดด้วยซ้ำ คือ Value Creation การสร้างมูลค่าเพิ่ม ต้องแข่งด้วยการสร้างคุณค่า Value-driven creative economy คือทํายังไงให้ทําน้อยลงหรือทําเท่าเดิม แต่ขายได้แพงขึ้น และเน้นที่การส่งต่อคุณค่าที่อยู่ในแก่นแกนของตัวสินค้า/บริการ



จากที่คุณพูดมาทั้งหมดคือการผลักดันอุตสาหกรรมให้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ถ้ามองเป็นกลยุทธ์ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ตอนที่ยังเป็นคณะกรรมการฯ คุณคิดว่าจะต้องผลักดันแฟชั่นและสิ่งทอไทยในยุทธศาสตร์นี้อย่างไร

ถ้าพูดเรื่องนี้ก็ต้องทำความเข้าใจในคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ก่อน ถ้าถามในมุมเรามันเป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ เราตั้งใจจะให้อุตสาหกรรมนี้ขายกับตลาดต่างประเทศได้ ทํายังไงให้ประเทศเรามีความสามารถที่จะดึงดูดต่างชาติ ทําให้คนชอบหลงใหลในเรื่องราว ซื้อของเราโดยที่เราไม่ต้องฮาร์ดเซลล์หรือซื้อเพราะถูก 

พูดง่ายๆ คือการหาจริต แล้วสร้างเสน่ห์ให้ตัวเอง เหมือนที่แฟชั่นคือการที่คุณใส่เสื้อผ้าเพื่อแสดงออกว่าตัวตนเราคืออะไร บุคลิก รสนิยมเราเป็นแบบไหน แล้วถ้าเราชัดเจนในตัวตน เพื่อนเห็นภาพว่าตัวตนคุณคืออะไร คุณมีเสน่ห์อะไร และกำลังขายอะไร แล้วเพื่อนชอบ อันนี้คือซอฟต์พาวเวอร์อยู่แล้ว เพราะอยู่ในชีวิตประจําวันของคน 

มองใหญ่กว่านั้น นึกภาพประเทศไทยเป็นคน คุณรู้หรือยังว่าคุณค่าที่ยึดถือ ดีเอ็นเอของคุณคืออะไร ปรัชญา หลักการ หรือวิสัยทัศน์ในการใช้ชีวิตคืออะไร แล้วคุณจะสื่อออกมายังไง จะแต่งตัวให้ประเทศยังไง คุณอยากนําเสนอตัวตนแบบไหนให้โลกรับรู้และชอบ อันนี้คือแฟชั่นอยู่แล้ว เพราะแฟชั่นและสไตล์คือเครื่องมือแสดงออกถึงอัตลักษณ์ที่ลื่นไหลตามสมัยนิยม คนคนหนึ่งไม่ได้แสดงออกถึงตัวตนแค่เสื้อผ้า แต่รวมถึงอาหารที่เรากิน ที่ที่เราไปเที่ยว หนังที่เราดู เพลงที่เราฟัง สิ่งเหล่านี้เราเรียกรวมกันว่า รสนิยมหรือสุนทรียภาพในการใช้ชีวิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับ essense และ spirit ของประเทศ (nation) 

ดังนั้นเราต้องไม่เข้าใจคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ผิดกับการพัฒนาอุตสาหกรรม หมายความว่าอุตสาหกรรมก็ต้องพัฒนากันไป ส่วนซอฟต์พาวเวอร์คือเรื่องของการแสดงออกและสื่อสารถึงคุณค่า รสนิยม สุนทรียะ ที่มันสามารถไปสร้างอิทธิพลเหนือผู้อื่น จะทำยังไงให้เรามีเสน่ห์ในสายตาคนอื่น ขายรสนิยมนี้ได้ ในเมื่อเรามีเสน่ห์คนก็อยากเข้าหา สุดท้ายฉันจะตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อ–ไม่รู้ แต่ฉันชอบเธอ แล้วเดี๋ยววันหนึ่งฉันก็ซื้อของเธอ หรือฉันอาจจะปักหมุดว่า ฉันอยากมาเที่ยวที่นี่ ฉันอยากมากินอาหารที่นี่ 

เรื่องพวกนี้ไม่ได้อยู่แค่ในตัวสินค้า ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่แค่ปลายทาง แต่รวมตั้งแต่ Why, What, How ตลอดกระบวนการ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรมเลย 

อยากให้เราลองสวมหมวกนักการตลาด เราจะเข้าใจว่าซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่แค่เมสเสจ คอนเทนต์ หรือสินค้าที่ทำออกไปเพราะนั่นคือปลายทาง แต่โจทย์คือว่าถ้าคุณจะโปรโมตประเทศในยุคที่วิกฤตท่วมท้นทั่วโลกขนาดนี้ คุณต้องกลับมารู้ซึ้งถึง pain point ของผู้คนก่อนว่าคนเขามีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับเรื่องอะไร เรื่องความเหลื่อมล้ำไหม เรื่องโลกร้อนมั้ย เรื่องความเท่าเทียมทางเพศไหม เหมือนที่ภาพยนตร์ Barbie ประสบความสำเร็จถล่มทลายเพราะเข้าถึงความรู้สึกร่วมของผู้หญิงทั่วโลก ซึ่งอันนี้คนยังไม่ค่อยพูดถึง ถ้าเห็นตามข่าว เราจะเห็นคำพูดที่ว่าจะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ จะขายสินค้า ในโลกมีคนขายของเยอะนะ แม่ค้าเยอะมาก มัน supply-driven ล้วนๆ แต่เรายังไม่คุยกันเลยว่าคนที่เราอยากจะขายให้ ใครเป็น top of mind เขามี demand อะไร เขาเจ็บปวดกับเรื่องอะไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรที่จะเข้าถึงใจเขามากที่สุด 

ที่เราควรทำตรงนี้ เพราะเรามีเวลา เงิน และคนจำกัด ทรัพยากรก็มีจำกัด ตอนนี้เราล้าหลังไป 20 ปีกับประเทศเกาหลีใต้ ถ้ามัวแต่ทำโดยไม่มีกลยุทธ์ เราอาจจะได้แต่หว่านแห แต่ไม่ได้ปลาเท่าที่ควร 


ในความคิดเห็นของคุณ ไทยจะมีภาพลักษณ์ในการขายได้อย่างไรบ้าง

เราต้องมาดูโจทย์ก่อน คำถามว่าเราจะมีภาพลักษณ์อะไรไปขายให้คน ก็ต้องไปดูว่าโลกต้องการอะไร ถ้าเราอยากให้คนมารัก มาชอบเรา เราต้องแก้ปัญหาให้โลกได้ ถ้าเรานําร่องเรื่องนี้ได้ในรูปแบบของเราเอง ไม่ต้องวิ่งตามคนอื่น มันจะชนะมากเลย 

เราใช้วิธีคิดแบบการสร้างแบรนด์เลย มีอยู่สามส่วน หนึ่ง-เรามีดีอะไร สอง-กลุ่มเป้าหมายคือใคร เขาต้องการอะไร แต่ละเจนฯ โหยหาต่างกันอย่างไร ในที่นี้ลูกค้าเราคือพลเมืองโลก สาม-คู่แข่งเราเป็นใคร เขาทำอะไรอยู่ แล้วเราจะทำอะไรที่ไม่เหมือนเขาได้บ้าง มีพื้นที่อะไรที่ความเป็นเราจะได้เปรียบ และยังไม่มีใครลงมาเล่นตลาดนี้บ้าง (winning zone) 

เมื่อมองทั้งหมดแล้ว ประเทศไทยมีต้นทุนที่มีศักยภาพเยอะมาก พอเราเอามารวมกับปัญหาที่ประชากรโลกกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะโลกร้อน, สุขภาพจิต, ปัญหาสงคราม ภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ความขัดแย้ง, เทคโนโลยี AI แย่งงาน, สังคมผู้สูงวัย ยังมีอะไรสิ่งที่คู่แข่งในตลาดโลกยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เราสรุปสิ่งที่ไทยทำได้ผ่าน 4-5 คำ

คำแรกคือว่า sustainability อันนี้เป็นคำตอบที่ดีได้เลย ปัญหาสิ่งแวดล้อมตอนนี้ เช่น ขยะล้นโลก, อาหารขาดแคลน, การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศเสื่อมโทรม ในขณะที่จริงๆ แล้วประเทศเรามีต้นทุนทางเกษตรกรรมและวัฒนธรรมสูงมาก มีผลผลิตที่เราปลูกเอง ซึ่งมี waste stream เยอะ และมีองค์ความรู้และทักษะในการทำเกษตรแบบอินทรีย์หรือชุมชนก็มีภูมิปัญญาในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ้ามองผ่านโลกแฟชั่นตอนนี้ตรงกับเทรนด์ระดับมหภาค (macro trend) ที่นักลงทุนและแบรนด์ที่คิดไปข้างหน้าเขาสนใจ คือเรื่องของการฟื้นฟู (regenerative) ซึ่งจะสอดคล้องกับกฏหมายการปฏิรูปสีเขียวของยุโรปที่ใส่ใจไปถึงต้นน้ำว่าการเพาะปลูกเส้นใยมีที่มาอย่างไร

ดังนั้นความเป็นต้นทุนเกษตรกรรมของเรา ถ้ามาแมทช์กับภาคอุตสาหกรรมได้ จะสามารถสร้าง local supplychain ที่ตรวจสอบย้อนหลังได้ เชื่อมต่อทั้งต้น-กลาง-ปลายน้ำ เช่นเดียวกัน การใช้เส้นใยผลไม้ที่เหลือจากการขายมาทำเป็นเส้นด้ายได้ ตอนนี้มีสตาร์ทอัปของต่างชาติมาเปิดในไทยเพื่อที่จะใช้ทรัพยากรเหล่านี้ แล้วก็เอาเทคโนโลยีของเขาในการสร้างเส้นใยเอง แต่เราที่เป็นเจ้าของทรัพยากรยังขาดองค์ความรู้และการลงทุนในนวัตกรรมสิ่งทอต้นน้ำอย่างจริงจัง 

องค์ความรู้การทําเกษตรแบบฟื้นฟู หรือชีวพลวัต (regenerative & biodynamic) ก็เป็นทิศทางที่โลกต้องการ เราก็มีต้นทุนอยู่แล้ว เรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ ยิ่งโลกร้อน หลายๆ แบรนด์ก็อยากมาพูดเรื่องการอนุรักษ์ สิทธิชนพื้นเมืองในฐานะที่เขาปกป้องป่า อยากพูดเรื่องสปีชีส์พื้นถิ่น ซึ่งเราก็ยังมีเยอะมากๆ 

คำต่อมาที่น่าสนใจคือ mental health หรือสุขภาพจิต ตอนนี้มนุษย์เครียดมาก เพราะการแข่งขันบนโลกสูง ปัญหาเยอะ เร็วขึ้นทุกวัน ไหนจะกลัว AI มาแย่งงานอีก สิ่งที่คนโหยหาที่สุดในโลกหลังโควิด คือเรื่องของความสบายใจ ไม่เครียด เราเคยถามเพื่อนฝรั่งหลายๆ คนรักประเทศไทยมาก เพราะ ‘ความสบาย’ นี่คือคีย์เวิร์ดซอฟต์พาวเวอร์ของคนไทยเลย คนต่างชาติจะรู้สึกว่าพวกเธอใจดีจัง เป็นคนชิลๆ มีความใส่ใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่หัวร้อน ไม่เห็นแก่ตัวเอง อาจจะด้วยพื้นเพคนไทยที่อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน (collective) สิ่งเหล่านี้มีพลังดึงดูดนะ และถ้ามองในภาพกว้าง โลกยุคนี้ต้องการ care economy มากๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริการ เอาใจใส่เทคแคร์คนอื่น เช่น สปา การนวด การเสิร์ฟอาหารอย่างใส่ใจ การท่องเที่ยวเชิงบำบัด หรือการดูแลผู้ป่วย การดูแลผู้สูงอายุ ที่ต้องการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจหลังต่อสู้กับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เรื่องนี้จะเชื่อมกันกับคำต่อมา คือ จิตวิญญาณ (spiritual) ได้ ประเทศไทยมีเรื่องจิต-วิญญาณในสายเลือด คำคำนี้ไม่ได้หมายถึงแค่สายมู หรือศาสนาพุทธ แต่รวมถึงความเคารพในธรรมชาติหรือเคารพในสิ่งต่างๆ ที่เราเชื่อว่าใหญ่กว่าตัวเรา อย่างวิธีการทางพุทธศาสนา ในแง่ของการปฏิบัติในวัดป่า สิ่งนี้ดึงดูดฝรั่งมาก ลองเข้าไปดูในยูทูบ คลิปเรื่องพุทธศาสนาที่นำมาแปลเป็นภาษาเข้าใจง่ายๆ คนดูเป็นล้าน เพราะตอนนี้พลเมืองโลกหันมาสนใจการทำสมาธิ (mindfulness) การกลับมาอยู่กับตัวเอง เข้าใจตนเอง และเรื่อง spiritual wellbeing ที่จะช่วยเยียวยาจิตใจ ก่อนหน้านี้ฝรั่งจะเคยเข้าใจว่าที่อินเดียหรือทิเบตจะเด่นเรื่องนี้เท่านั้น แต่จริงๆ ที่ไทยก็มี และเป็นขุมทรัพย์ที่พวกเขามาค้นพบ

อีกสปิริตอันหนึ่งที่ไทยมีและโดดเด่นคือ ความเป็นกันเองกับความหลากหลายทางเพศ พูดอย่างตรงไปตรงมา ไม่น่าจะมีกะเทยประเทศไหนเลิศเท่าประเทศไทย และเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีทัศนคติเชิงลบต่อความหลากหลายทางเพศเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ถึงแม้ว่าเราจะยังมีเรื่องให้ต้องต่อสู้อีกเยอะมาก แต่ก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่าถ้ามองในมุมแฟชั่น ประเทศเราเปิดพื้นที่ให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้แสดงออกสูง และเรามีดีไซเนอร์เก่งๆ ที่เป็นกลุ่ม LGBTQ เยอะมาก 

อีกเรื่องคือความเป็นเล็กพริกขี้หนู คนไทยมีสปิริตของความเป็นไฟต์เตอร์ มีเลือดนักสู้ ไม่ท้ออะไรง่ายๆ คนไทยมีความน่าชื่นชมตรงที่ไม่ย่อท้อ มีความยืดหยุ่น (resillience) เป็นสปิริตของคนบ้านเราที่เอาตัวรอดเก่ง อย่างพี่บัวขาว ลิซ่า กับน้อง Chiquita ก็ครองใจคนทั้งโลกได้ด้วยความสามารถและความขยันฝึกฝนตัวเองสุดๆ  

ทั้งหมดใน 4-5 เรื่องนี้ก็มากพอจะตอบ pain point ของคนในยุคปัจจุบันได้แล้ว และเป็นจุดแข็งที่เอามาสร้างรสนิยม หรือความเป็นไลฟ์สไตล์ของพวกเราให้ดึงดูดต่างชาติได้ และคำเหล่านี้เอาไปประยุกต์กับทุกอุตสาหกรรมได้เลย


ถ้ายกตัวอย่างเป็นรูปธรรม คิดว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอจะนำรสนิยมเหล่านี้ไปใช้เพื่อสร้างสิ่งที่จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างไรบ้าง

อย่างเรื่องความยั่งยืน เรายกตัวอย่างการสนับสนุนแบรนด์ที่สามารถตอบโจทย์ local supply chain ให้โดดเด่นขึ้นมาได้ ซึ่งต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ส่วนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถ้าพูดง่ายๆ เราสนับสนุนดีไซเนอร์และนักออกแบบทุกเพศ และสร้างสินค้าที่เป็น non-binary, genderless fashion 

ถ้าเป็นเรื่องสปิริตนักสู้ เราเคยคิดว่าสายแฟชั่นจะเข้าไปทำงานกับกีฬา เรื่องเสื้อผ้านักกีฬา ชุดโอลิมปิก หรืออีเวนต์กีฬาอื่นๆ เพราะนักกีฬาใส่ชุดไปเล่นให้คนเห็นทั่วโลก เราหาวิธีออกแบบแนวคิดและดึงดูดให้คนมาสนใจได้ โดยเฉพาะการนำเสนอไอเดียการออกแบบชุดหรือกระบวนการทำ 

เรื่องความสบายๆ ชิลๆ ประเทศเราเป็นประเทศเมืองร้อน ที่คนทั่วโลกมาพักผ่อน โอกาสอยู่ที่ Resortwear และแฟชั่นก็เข้าไปออกแบบร่วมกับสปา การนวด หรือการดูแลสุขภาพได้สบายเลย เพราะแฟชั่นควรอยู่ในทุกพาร์ตของชีวิตประจำวันได้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแฟชั่นจะต้องตามคำเหล่านี้แล้วออกแบบให้ได้สินค้ามาอย่างเดียวเท่านั้นนะ เราสร้างความรู้สึกในกระบวนการซื้อก็ได้ เช่น เรื่องการเยียวยาใจ เราเห็นโมเดลธุรกิจหรือหลายๆ แบรนด์ที่ทำงานร่วมกับช่างฝีมือหรือเจ้าของภูมิปัญญาในชุมชน แล้วผลลัพธ์สินค้าออกมาดี ลบภาพจำของ ‘งานชาวบ้าน’ คนก็อยากซื้อเพื่อสนับสนุนชุมชนเหล่านี้นะ เพราะผู้บริโภคยุคนี้มองหาสินค้าที่ตอบโจทย์ความเป็นผู้บริโภคที่มีจริยธรรม (ethical consumer) เขาอยากใช้เงินที่ได้สนับสนุนคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ว่าราคาจะเท่าไหร่ เขาไม่ตั้งคำถาม เพราะเขารู้ว่ากระบวนการทำและการใส่ไอเดียลงไปในงานเหล่านี้มีมูลค่า และงานจากคนตัวเล็กตัวน้อยควรได้รับการมองเห็น ผลงานที่ยั่งยืนไม่ได้ผ่านการขูดรีดทางทรัพยากร ควรได้รับการสนับสนุน กลุ่มผู้บริโภคแบบนี้มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Millennial และ Gen Z ที่ต้องการ vote with our wallet 



ประเด็นภาพลักษณ์ที่คุณนำเสนอมา ทำให้นึกถึงการเสนอภาพลักษณ์ ‘ความเป็นไทย’ ของหลายรัฐบาลตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เช่น การแต่งชุดไทย ผ้าไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังเชื่อมโยงกับการปลูกฝังเรื่องชาตินิยม สุดท้ายแล้วซอฟต์พาวเวอร์จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับความเป็นชาตินิยมไหม

ขอยอมรับตรงไปตรงมาว่า อาจจะไม่ได้มีความรู้เรื่องรัฐศาสตร์มากเลยอาจจะไม่สามารถอธิบายเป็นหลักการได้ว่าทั้งหมดเกี่ยวพันกันอย่างไร แต่สิ่งที่เรารู้อย่างหนึ่งคือ ถ้าจะทำนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ให้สำเร็จ ต้องเริ่มจากคนในชาติภูมิใจในสิ่งนี้ก่อน 

ส่วนการเอาวัฒนธรรมในอดีตมานำเสนอเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว แต่ต้องไม่แช่แข็ง เราเอามาประยุกต์ให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้ไหม เข้ากับยุคสมัยได้ไหม เพราะซอฟต์พาวเวอร์จะเกิดได้ต้องมีคนเสพในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่อีเวนต์ เหมือน K-POP, anime หรือหนังฮอลลีวูด อย่างสไตล์เสื้อผ้าของดีไซเนอร์ญี่ปุ่นก็นำรากชุดแบบดั้งเดิม (traditional) มาตีความใหม่ เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการปรับเปลี่ยน ตีความ ประยุกต์  มีคนซื้อ คนเข้าถึงได้ งานเข้ากับไลฟ์สไตล์เขา 

แล้วก็วนกลับไปที่คำว่าการสร้างภาพจำอย่างที่บอก ชุดไทยและผ้าไทยเป็นสื่อ แต่ถ้าเอามาออกแบบตามแบรนด์ดิ้งที่เราอยากให้คนจำได้ ทำได้ไหม เพราะมันคือเรื่อง essence และ spirit เราเอาผ้าไทยมาพูดเรื่องความยั่งยืนได้ไหม หรือถ้าพูดเรื่องจิตวิญญาณ เราเอายันต์อาจารย์ต่างๆ มาออกแบบขายบนชิ้นงานโมเดิร์นขึ้นได้ไหม ขายพระพุทธรูปปั้นเซรามิกประยุกต์สีพาสเทลน่ารักได้ไหม หรืออย่างที่มีคนทำพระเครื่องจากขยะรีไซเคิล มันคือการเอาภาพลักษณ์ที่เรามีและสิ่งที่ตอบโจทย์โลกมาตีความในโปรดักต์เหล่านี้

นึกถึงกิโมโนของญี่ปุ่น เขามีสตอรีเบื้องหลังเล่า ผ้ากิโมโนโบราณที่ต้องทำทุกอย่างด้วยมือ ปัจจุบันเขาแบ่งเกรดผ้าทอมือ กับผ้าทอด้วยเครื่องจักรอย่างชัดเจน มีเอกชนสนับสนุนให้วิศวกรมาทำงาน ออกแบบเครื่องทอคอมพิวเตอร์ที่สามารถทอผ้านี้เพื่อลดต้นทุนให้ผลิตได้เร็วขึ้น ถูกลง แล้วเราทำกับผ้าไทยได้ไหม เปลี่ยนสีได้ไหม ลดทอนลายบางอย่างเพื่อให้ร่วมสมัยได้ไหม หรือแบ่งเกรดออกมาเพื่อให้คนเข้าถึง เพราะส่วนที่เราต้องอนุรักษ์แน่นอนว่าก็อนุรักษ์ต่อไป แต่จำเป็นมากที่จะต้องมีส่วนพัฒนาเป็นนวัตกรรมและรสนิยมแบบ global ให้คนสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย 


เมื่อเรามีภาพลักษณ์รสนิยมที่ตอบโจทย์กับความต้องการชาวโลกแล้ว เราจะต้องวางแผนในการส่งออกเพื่อไปให้ถึงมือกลุ่มเป้าหมายของเราอย่างไรบ้าง

อันนี้เป็นเรื่องนโยบายต่างประเทศ จะมี 3 คำที่เป็นคีย์ในแง่การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ คือ 

หนึ่ง – Creative Culture คือส่วนที่เราพูดมาทั้งหมด การสร้างแบรนด์ดิ้งจากการเผยแพร่วัฒนธรรมที่หาจุดร่วมระหว่างความเป็นตัวเราและสิ่งที่คนบนโลกต้องการ

สอง – Political Value เรามีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร คุณค่า หลักการที่เรายึดถือคืออะไร อย่างที่เราเห็นในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียนที่เป็นต้นแบบเรื่องรัฐสวัสดิการ เชื่อมั่นเรื่องความเท่าเทียมของคนในสังคมและสวัสดิการ 

ข้อนี้สำคัญอยู่นะ เพราะถ้าเราเป็นคนแต่งตัวสวยมาก คนเข้าหา แต่พอจะถามว่าเธอเชื่อเรื่องอะไร เธอให้คุณค่ากับอะไร คุณกลับตอบไม่ได้ มันคือการแสดงออกว่าคุณคิดอะไรอยู่ คุณเชื่อในเรื่องประชาธิปไตยใช่ไหม หรือคุณมีความเชื่ออะไรที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลบ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้แสดงออกถึงความเจริญแล้ว 

ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณเชื่อในความคิดนั้นก็ต้องปฏิบัติด้วย ถ้าเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน คุณก็ต้องจ่ายค่าแรงคนทำงานอย่างเป็นธรรม ดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพคนทำงาน ความเชื่อต้องปฏิบัติออกมาในการใช้ชีวิตของคนคนนั้น 

หรือมองในมุมแฟชั่นจ๋าๆ ชุดเราสายแฟ แต่งตัวดีครีเอทีฟมาเต็ม ชุดออกไปเฉิดฉายข้างนอก แล้วบอกว่าชุดนี้มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนะ และสนับสนุนการผลิตจากวิสาหกิจชุมชนด้วย ผ้ายูนีกมาก เพราะว่ามีแค่หมู่บ้านนี้เท่านั้นที่ผลิตลายนี้ เท่านี้ก็สะท้อนคุณค่าในแบรนด์ดิ้งและจุดยืนของเราแล้ว

สาม – Foreign Policy นโยบายต่างประเทศ  อันนี้สำคัญมาก ตัวอย่างเช่น สมัยรัชกาลที่ 5 ต้องเสด็จไปเยี่ยมมหาอำนาจในประเทศตะวันตกเพื่อให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์เจริญแล้ว และไม่ให้ประเทศอื่นๆ ไปล่าอาณานิคม มีการปรับระบบราชการ การแต่งตัว วัฒนธรรมต่างๆ ให้ดูทันสมัย อันนี้เป็นนโยบายต่างประเทศ 

ยุคนี้ถ้าเราพูดถึงการส่งออกก็น่าจะคล้ายกัน จะทำอย่างไรให้คนรับรู้ภาพลักษณ์เรา อาจจะต้องพึ่งสถานทูตไทยในต่างประเทศไหม หรือจะส่งนักเรียนเราไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ แล้วเอานักเรียนต่างประเทศมาที่บ้านเรา หรือเราจะส่งออกคอนเทนต์แบบเกาหลีทำ ผ่านภาพยนตร์ ผ่านเพลง หรืออย่างในภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ เรามีงานของนักออกแบบไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ รัฐสนับสนุนให้ไปโชว์เคสต่างประเทศบ่อยๆ ได้ไหม หรือถ้ามีแฟชั่นโชว์ เฟสติวัลต่างประเทศ รัฐส่งพวกเขาไปร่วมให้คนเห็นเยอะขึ้นได้ไหม ซึ่งที่ผ่านมาก็มี แต่อาจจะขาดการลงทุนตรงนี้เพื่อให้ทำถึงและต่อเนื่อง 


ทั้งแนวคิดและแผนการที่คุณกล่าวมานี้เชื่อมโยงกับงบประมาณที่คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ สาขาแฟชั่นและสิ่งทออย่างไรบ้าง เพราะก่อนคุณจะลาออก ได้มีการเปิดเผยตัวเลขและโครงการออกมาแล้ว และคนก็ให้ความสนใจกันไม่น้อย

ใช่ๆ อย่างแรกเลยคือจะบอกว่าข่าวที่ออกเป็นเพียงตัวเลขที่เสนอ ไม่ใช่ตัวเลขที่ได้มา ตอนนี้ยังไม่มีงบใดๆ มาเลย เพราะทางรัฐบาลต้องทำเรื่องขออนุมัติไปที่สำนักงบฯ อีกหลายขั้นตอนมากๆ และที่เราเสนอไปเป็นเพียง 5% ของทั้งคณะ มีคนคอมเมนต์ว่าเป็นงบพีอาร์เยอะ ถ้าพูดตรงไปตรงมา คืองานซอฟต์พาวเวอร์เป็นงานพีอาร์ แต่สำหรับสาขาแฟชั่น ถ้าแกะโครงการมาดูจริงๆ เราทำควบคู่ไปสองพาร์ตคือ ‘พัฒนา’ และ ‘ต่อยอด’ สิ่งที่ทีมให้ความสำคัญที่สุดคือเรื่องพัฒนาทักษะ เพราะเราคิดว่าสำคัญมากๆ แต่มันนานกว่าจะเห็นผล จึงต้องมีพาร์ตต่อยอด แบรนด์ที่เป็นฮีโร่อยู่แล้ว ให้เป็นคนนำร่องไปก่อนด้วย

เราวางกลยุทธ์ตาม overview ของอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นในไทย มองรอบด้านว่ามีผู้มีส่วนร่วมคือใครบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแบรนด์หรือนักออกแบบที่เป็นยอดพีระมิด ซึ่งเป็นคนสร้างคุณค่าสูงสุดในการสร้างแบรนด์ให้ประเทศได้, OEM กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม, กลุ่มอีคอมเมิร์ซ, กลุ่มคราฟต์พื้นถิ่น สิ่งเหล่านี้ทำให้เราวางกลยุทธ์ออกมาสองส่วน

กลุ่มแรก—ต่อยอดแบรนด์ที่มีศักยภาพไประดับโลกได้ กลุ่มที่สอง—ปูพื้นฐาน สำหรับคนที่เป็น SME กำลังเริ่มแต่ยังไม่มีประสบการณ์ หรือทำมาสักพักแล้วแต่ยังไม่พร้อม หรือแบรนด์ของแม่ๆ ชุมชนที่ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งการวางงบประมาณอยู่บนคำ 3 คำ คือต้นทุนทางวัฒนธรรม (cultural asset), การหาอัตลักษณ์ตัวตน (charateristic), งานฝีมือ (craftmanship) เราเด่นมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เรายังขาดความรู้ทางธุรกิจและการสนับสนุนระยะยาวจากรัฐ

ดังนั้น เราวางแผน 5 โครงการ สำหรับส่วนแรกนำเสนอตัวตนและครีเอทีฟไทย เราดึงจากกลุ่มแรกที่เป็นแบรนด์มีศักยภาพมาต่อยอด เรามีโปรเจกต์ Top 10 Top Thai designer หาแบรนด์ฮีโร่ออกมาดันไปขายให้คนจำได้และยอมรับ

เป้าหมายคือทำยังไงให้อุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอของไทยได้รับการมองเห็นและมีภาพจำใหม่ จากเดิมที่เรามีภาพเป็นประเทศขายของก๊อปปี้ ของราคาถูก ให้เป็นประเทศขายของ high value, high creativity ยกระดับ ดังนั้น กลุ่มดีไซเนอร์หัวหอกสำคัญมาก 

ยกตัวอย่างญี่ปุ่นยุค 80s เขาเลือกไปโชว์ที่ปารีส Comme Des Garcons, Yohji Yamamoto, Kenzo, Issey Miyake เพื่อปักตัวในซีนแฟชั่นโลก เรามองว่าของไทยมีคนเก่งๆ เป็นดีไซเนอร์เยอะมาก แต่เขาไม่ได้มาเป็นแพ็ก เขาอยู่กระจัดกระจาย บางคนก็ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง



อันที่สอง—การพัฒนาต้นทุนทางวัฒนธรรม อันนี้จะหยิบเอา cultural asset ที่โดดเด่นของไทยมาให้ฮีโร่แบรนด์ตีความเพื่อจะผลักออกไปให้เป็นภาพเดียวกัน เป็นแคมเปญเล่าเรื่อง เช่น ไปมิลาน 20 แบรนด์ ออกแบบงานมามี thematic พูดเรื่องเดียวกันหมดเลย ซึ่งปี 2024 นี้จะมีโอลิมปิก เราลองวางแพลนว่าให้องค์ประกอบของวัฒนธรรมมวยไทยเป็นจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจ แล้วสตรีทแฟชั่นก็ยังอยู่ในเทรนด์ และประเทศไทยเป็นฐานการผลิต sportswear ที่ใหญ่มากของโลก เราเลยเขียนเรื่องนี้ไป 

ทีนี้เราไม่ได้พีอาร์อย่างเดียว เรามีโครงการปูรากฐานเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม เช่น Fashion Alliance เราออกแบบคอร์สสำหรับสามกลุ่มคือ กลุ่มคนในอุตสาหกรรม/ผู้ประกอบการ/แบรนด์ (Fashion Powerhouse) , กลุ่มเด็กจบใหม่เริ่มสร้างตัว (Fashion Freshie & Startup), กลุ่มนักพัฒนาธุรกิจท้องถิ่นและชุมชนทำงานคราฟต์ (Crafts Revolution) ซึ่งเมื่ออบรมไปแล้วจะมีกิจกรรมพัฒนาและเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาธุรกิจร่วมกัน เพราะอีกสิ่งหลักที่ประเทศไทยขาดมาก คือการเชื่อมโยงจุดแข็งของคนกลุ่มนี้เข้าด้วยกันให้ทำงานร่วมกัน เรียนรู้ แลกเปลี่ยน สุดท้ายคือพัฒนาโปรเจกต์และเอางานไปออกตลาดต่างประเทศกัน 

มีงบจิ๋วๆ อีกสองอันคือ craft exchange การยกระดับงานคราฟต์ชุมชนให้มีประสบการณ์ทำงานกับแบรนด์ระดับโลก เช่น อินเดียมีโรงเรียน Crafts ที่ทำงานกับ Dior Haute Couture หรือ แบรนด์ Fendi ทำโปรเจกต์ Hand in Hand เอากระเป๋า Baguette ซึ่งเป็นชิ้นไอคอนิก ให้ช่างฝีมือจากหลากหลายหมู่บ้านตีความ โครงการนี้เราแพลนทำเป็นโครงการแลกเปลี่ยนให้ช่างฝีมือต่างชาติมาขลุกตัวเรียนรู้กับชุมชนเพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กัน ไม่ใช่ให้เขามาสอนเรา แต่ให้เขามาเรียนกับเราได้ด้วย เพราะสิ่งใหม่ในงานคราฟต์จะเกิดจากการผสมผสาน cross-culture, cross-discipline เข้าด้วยกัน  

อีกอันสุดท้ายเป็นเรื่องย่าน ถ้าสังเกตประเทศที่เด่นเรื่องแฟชั่นจะมีย่านสำคัญ เช่น เกาหลีมีดงแดมุน ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนมาเช่าสตูดิโอ มีร้านขายผ้า มีข้อมูลต่างๆ ห้าง Lotte ก็มีการเปิดพื้นที่ให้สตาร์ทอัปแฟชั่นเริ่มต้นและเข้าถึงเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆได้ง่าย เราก็น่าทำ ตั้งใจว่าปีแรกจะเป็นการรีเสิร์ชย่าน และพัฒนาว่าที่ไหนจะเป็นจุดมีอนาคตที่สุด

ดังนั้น เวลาคิดโปรเจกต์จะดูทั้งรากฐานและต่อยอด พัฒนาอุตสาหกรรมไปด้วย ต่อยอดการสื่อสาร แคมเปญ สตอรี่ต่างๆ ให้ขายของ ซึ่งเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ ให้นักร้อง นักแสดงใส่ชุดเพื่อเป็นการขายในซอฟต์พาวเวอร์ได้

แต่ทั้งนี้ งบที่ร่างไปนั้น คนพิจารณาหรือยื่นเพื่อเบิกสำนักงบประมาณคือข้าราชการ เราเพียงแค่เป็นคนเสนอไอเดียโครงการ หมายความว่า หากมีโครงการบางอย่างที่หน่วยงานอื่นๆ ทำอยู่ แสดงว่าอาจจะไม่ต้องเบิกมาทำในส่วนที่มีการเสนอโครงไปก็ได้


จะขับเคลื่อนให้แฟชั่นเป็นซอฟต์พาวเวอร์ คุณคิดว่าต้องมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องทำงานร่วมกันอีกบ้างไหม

พอซอฟต์พาวเวอร์จะขับเคลื่อนด้วย creative economy ชื่อก็สื่อสารแล้วว่าไม่ได้มีแค่ creative แต่ต้องมี economy ที่สนับสนุนด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ไม่ใช่แค่การอัดฉีดในระยะสั้น แต่คือการแก้ปัญหาไม่ให้เกิดรวยกระจุกจนกระจาย เราต้องการให้เกิดกลุ่มผู้ซื้อที่มีกำลังในระบบ และเกิดผู้ซื้อคุณภาพ (quality buyer) มากขึ้น เพราะสุดท้ายทำของออกมา ถ้าคนมีค่าแรงไม่พอ หรือรายได้ไม่พอจะเอามาจับจ่ายสุรุ่ยสุร่าย มันก็จะไม่เคลื่อนไปข้างหน้า เรื่องเศรษฐกิจก็ต้องเข้ามามีบทบาท 

จริงๆ ภาครัฐมองเรื่องนี้อยู่เหมือนกันนะคะ แต่จุดอ่อนคือเรามองแค่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ซอฟต์พาวเวอร์ต้องเชื่อมโยงเรื่องนี้กับรากฐานอื่นๆ ด้วย เช่น นโยบายทางสังคมที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนฐานรากได้ เพราะ creative economy ก็จะเกิดไม่ได้หากไม่มี creative citizen หรือสภาพแวดล้อมที่เป็น creative environment ในการเรียนรู้หรือเสพงานที่หลากหลาย ถ้าคุณอยากให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ คุณต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ ดูแลคุณภาพชีวิตของพวกเขาที่ไม่ต้องมากังวลกับการเดินทาง เบียดเสียดกันขึ้นรถ นั่งรอรถเมล์ในเมืองหลวง หรืออยู่ต่างจังหวัด แต่ไม่มีซัปพอร์ตการเข้าถึงการสร้างงานเลย 

ประเด็นคือประเทศเราไม่ได้ยากจนแต่ประเทศเราเหลื่อมล้ำ ดังนั้น ต้องมีปัจจัยที่ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายโอกาสมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องย้อนไปถึงเรื่องการศึกษาด้วย จะทำอย่างไรให้คนเห็นคุณค่าในงานสร้างสรรค์ คนก็ต้องเข้าถึงการศึกษาหลากหลาย เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค ออกแบบหลักสูตรใหม่ ทำยังไงให้คนไม่ได้เป็นแค่ผู้บริโภคที่มีคุณภาพ แต่เป็นผู้สร้างและผู้ประกอบการได้ด้วย เพราะตอนนี้ปัญหาหลักของไทยก็ยังขาดแรงงานฝีมือที่มีทักษะที่เป็น high-skilled labour เพราะเราไม่ได้สนับสนุนตรงนี้ ถ้าเป็นช่างที่ทำงานทั่วไป เขาจะจ้างแรงงานเพื่อนบ้าน เพราะค่าแรงต่ำกว่าคนไทย คนรุ่นใหม่ก็ไม่อยากมาจับงานด้านนี้เพราะไม่เห็นอนาคตทางเศรษฐกิจ ทำให้ขาดโอกาสในการรับช่วงต่อภูมิปัญญาและฝึกทักษะบางอย่างที่กำลังจะสูญหายไป

ในการกระจายรายได้ก็เชื่อมโยงกับเรื่องที่ว่า ทำยังไงให้คนได้ใช้ชีวิตในบ้านเกิด ถ้าคุณไม่อยากให้คนต้องวิ่งเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ เข้าระบบอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แล้วจะทำอย่างไรให้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้พวกเขาสามารถสร้างรายได้ที่บ้านได้ ซึ่งจะเป็นรายได้ที่เกี่ยวข้องกับบริบททางวัฒนธรรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวชุมชนหรือผลิตภัณฑ์ชุมชน เพราะว่าจริงๆ ประเทศไทยเรายังมีภูมิปัญญาที่อยู่กับวัฒนธรรม อย่างที่เล่าว่าฝรั่งตื่นเต้นกับการเห็นภาพแม่ๆ ทอผ้ามาก จริงๆ บ้านเราควรมีการสนับสนุนให้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานภายในครอบครัว และมีการตั้งศูนย์สนับสนุนการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ในระดับท้องถิ่นแบบของญี่ปุ่นด้วย ไม่งั้นก็จะออกมาเหมือนๆกันหรือทำตามๆ กันแบบที่ตอนนี้โอท็อปเริ่มเสียแบรนด์ไปแล้วอยู่ดี  

เรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมด้วยค่ะ เพราะ creative economy พึ่งพาทรัพยากรในประเทศ โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติ บ้านนี้มีปลาหลากหลายพันธุ์นะ มีข้าวหลากหลายชนิด ทำให้เกิดเมนูอาหารแตกต่างจากคนอื่น หรือเป็นครามจากพื้นที่ภูมิศาสตร์ (geo-location) นี้ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวสนใจความเป็นท้องถิ่นของพื้นที่นั้นๆ ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) เป็นต้นทุนสำคัญของการทำ creative economy ไม่ว่าจะอาหารหรือเสื้อผ้าล้วนผลิตมาจากธรรมชาติ ดังนั้นเราต้องเลิกมองแยกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ เกี่ยวเต็มๆ

เมื่อเราปรับปรุงระบบการศึกษา กระจายรายได้และโอกาสแล้ว เราก็น่าจะมีผู้นำในท้องถิ่นที่ผูกพันและดูแลรักษาธรรมชาติในบ้านเกิดรวมไปถึงวัฒนธรรมด้วย ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ ที่ดั้งเดิมก็ใช้ชีวิตแบบนี้อยู่แล้ว แต่มักถูกแทรกแซงจากนายทุนและรัฐที่ต้องการจัดสรรผลประโยชน์ในพื้นที่ โจทย์ต่อมาคือเราจะสร้างนโยบายอย่างไรให้คนท้องถิ่น upskill หรือมีความเป็นผู้ประกอบการทต่อยอดจากทักษะที่ส่งต่อกันในบ้านหรือในชุมชนได้ ทุกวันนี้พ่อแม่ต้องออกไปหารายได้ ไม่มีเวลาอยู่ที่บ้าน เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย กลับมาอยู่กับเกม อยู่กับโทรศัพท์ เพราะโลกมันก็เปลี่ยนไป ทำยังไงเราจะทำให้พวกเขามาคอนเนกต์กันได้ อันนี้ก็อาจจะเชื่อมโยงทั้งเรื่องเศรษฐกิจด้วย ถ้าเสาหลักของบ้านเหนื่อยกับการหาเงินแล้ว เรื่องอื่นๆ ก็จะถูกลดทอนความสำคัญลง ส่งผลเป็นทอดๆ ไป



อีกเรื่องสำคัญคือการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ถ้าจะขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ แต่ไม่มีขนส่งดีๆ ให้เขาเดินทางมาชื่นชมรสนิยมของเรา มันก็ไม่มีความหมาย การสร้างขนส่งที่ดียังเป็นต้นทุนให้คนในท้องถิ่นกระจายสินค้าและวัฒนธรรมได้กว้างด้วย ยกตัวอย่างในเชียงใหม่ได้เลย หลายครั้งเราเห็นแบรนด์ชุมชนดีๆ แต่เขาอยู่ห่างตัวเมืองแบบนั่งรถ 3 ชั่วโมง แล้วเป็นอุปสรรคมากเมื่อไม่มีขนส่งสาธารณะ ถ้าจะบอกว่าเดี๋ยวนี้เขาเป็นอีคอมเมิร์ซแล้ว ขายของในโซเชียมีเดียแล้ว แต่คนหลายกลุ่มยังไม่ถนัดในการใช้เทคโนโลยี หรือบางอย่างมันก็ต้องไปถึงที่จริงๆ ถึงจะสัมผัสกับรสนิยมนั้นได้ ดังนั้น การมีขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพถึงสำคัญ

เรื่องที่จำเป็นอีกอย่าง คือประชาธิปไตย หลายคนอาจจะงงว่าเชื่อมยังไง เราต้องมองว่าระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพทำให้คนเชื่อมั่น คนรุ่นใหม่ก็เชื่อมั่น ทำให้ไม่เกิดปราฏการณ์สมองไหล คนภูมิใจในประเทศตัวเองมากขึ้น เราเห็นแล้วว่าค่านิยมของคนรุ่นใหม่เชื่อมโยงกับค่านิยมระดับสากล ซึ่งส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ประเทศดูดี เขาก็จะยิ่งใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาประเทศมากขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงไปกับเสรีภาพในการแสดงออกด้วย แล้วภาพที่ต่างชาติมองมาที่ไทยก็จะเชื่อมั่นมากขึ้น

เรื่องสุดท้ายที่จะต้องทำงานไปคู่กัน คือระบบราชการ หลายเดือนก่อนเราได้ฟังสรุปของ THE STANDARD Economic forum พูดเรื่องการปรับตัว รีสกิลสำหรับอนาคต เขาบอกว่าองค์กรเดี๋ยวนี้ที่ไม่เปลี่ยนรูปแบบในการทำงาน แต่ละหน่วยงานมุ่งทำแต่ในส่วนของตัวเอง (SILO) ไม่เชื่อมโยงกับหน่วยอื่นๆ ไม่มีการข้ามศาสตร์หรือบูรณาการ รวมไปถึงระบบลำดับชั้น สิ่งเหล่านี้คืออุปสรรคสำคัญเลย เพราะปัญหาทุกวันนี้ท้าทาย รวดเร็ว ต้องตอบสนองทันที และโลกหมุนเร็วมาก แต่ระบบราชการเราช้าสุดๆ ยังไม่ตอบโจทย์ความท้าทายที่เกิดขึ้น ระบบอาวุโสสูงมาก ขาดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ยังไม่รวมถึงเรื่องคอรัปชันที่เป็น norm ใหญ่ของประเทศและไม่รู้จะแก้ได้อย่างไร 

จะเห็นว่าถ้าจะทำ creative economy เป็นซอฟต์พาวเวอร์ จะมีแค่ครีเอทีฟไม่ได้ มันต้องวางรากฐานให้ระบบนิเวศ (ecosystem) เอื้อต่อการพัฒนาคนและดูแลธรรมชาติไปพร้อมๆ กันด้วย


จากที่ฟังมาดูเหมือนว่ามีหลายเรื่องและหลายหน่วยงานที่ต้องลงมือทำไปพร้อมๆ กันเพื่อให้ได้ตรงตามเป้าหมายนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่แต่ละหน่วยงานควรลงมือทำตอนนี้

สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการบูรณาการกันทุกภาคส่วน ซึ่งก็ต้องอาศัยเมสเซจและนิยามที่ตรงกันก่อน แล้วร่วมมือกันอย่างเข้าใจในจุดหมายเดียวกันค่ะ สำหรับเรา ประเทศไทยติดอยู่คำว่า ‘อีกนิดเดียว’ เพราะเรามีทรัพยากร มีความคิดสร้างสรรค์ มีต้นทุนหลายอย่างที่พอจะสนับสนุนได้แล้ว แต่เราไม่เชื่อมโยงกัน ไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบเลย มันทำให้การดำเนินงานมีอุปสรรคและทำให้นโยบายเป็นไปได้ยาก

ปูพื้นฐานที่ดีที่สุดคือทุกคนมานั่งในห้อง คุยกัน ทำงานร่วมกัน โดยมีตัวหลักที่เข้าใจในสิ่งที่จะทำแล้ววางแผนกลยุทธ์ประเทศอย่างเข้าใจ จริงๆ ก็มีหน่วยงานมีหน้าที่รับผิดชอบหลัก คือ CEA (Creative Economy Agency – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) แต่ไม่แน่ใจว่ามีการนำแนวทางมาใช้ตรงส่วนกลางไหม และเท่าที่ได้ทำงานกับหมอเลี้ยบ (สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์) เขากำลังพยายามเลาะระบบที่แช่แข็งให้เกิดการร่วมมือระหว่างหน่วยงานได้ หมอเลี้ยบไปคุยกับทุกกระทรวงเพื่อบอกว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนคืออะไร ซึ่งเราว่าเป็นทิศทางที่ดีอยู่ ถ้าทำได้สำเร็จเราว่าก็เก่งมากแล้วในการทำให้ระบบราชการไทยทำงานร่วมกัน

แต่สิ่งที่อาจจะต้องเตรียมกันตอนนี้คือแผนยุทธศาสตร์กลางที่มีความชัดเจน เป็นระบบ มีไทม์ไลน์และระยะเวลาทำงาน จะเลือกอุตสาหกรรมไหนขึ้นมาลีดก่อน แล้วอุตสาหกรรมไหนค่อยๆ ทยอยลงมือทำ เพราะเราก็มีงบประมาณจำกัด ตอนนี้ 11 สาขา งบที่ขอไปคือ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เยอะถ้ามานั่งดูตัวเลขแต่ละอัน ปัญหาคือเราทำพร้อมกันทุกสาขามันเลยอาจจะไม่เห็นผลชัดเจน แต่ถ้าเราวางแผนดีๆ งบที่มีจะลงอะไรก่อนในเฟสแรก มีสาขาไหนบ้างที่จะนำทางไปก่อน แล้วค่อยๆ วางไปทีละสาขา ทีละเฟส น่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ตอนที่เราเป็นคณะกรรมการฯ ยังไม่มีสิ่งนี้

โดยส่วนตัวเราคิดว่าถ้าจะทำนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ 11 สาขาพร้อมกันเลยมันยากเหมือนกัน มันเหมือนเรา multitasking โดยที่ไม่มีแพลน แต่เข้าใจว่ารัฐบาลก็คงหนักใจถ้าจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะอาจจะมีคำถามว่าสาขาอื่นๆ ไม่สำคัญหรือเปล่า เราคิดว่าต้องมองงบนี้คนละส่วนกับการพัฒนาอุตสาหกรรม เพราะการพัฒนายังต้องสนับสนุนให้เกิดทุกสาขา อันนั้นคือการสร้างซัพพลาย ส่วนซอฟต์พาวเวอร์คือการวางแผนสร้างดีมานด์ทีจะแผ่อิทธิพลทางวัฒนธรรมของเราออกไป เราต้องค่อยๆ วางแพลนรบดำเนินไปทีละอย่างได้ ซึ่งจะเอาอะไรขึ้นก่อนจะวางแผนยังไงก็ต้องมีการวิจัยศึกษาอย่างเป็นระบบด้วย

ดูเกาหลีได้เลย เขาไม่ได้ดันทุกอย่างพร้อมกัน คนรู้จักผ่านซีรีส์แดจังกึมก่อน แล้วก็มาชอบอาหาร แล้วค่อยๆ มาฟังเพลง K-Pop ทั้งหมดเกิดในระยะเวลา 20 ปี ไม่ใช่สั้นๆ 


ในตอนที่คุณเป็นคณะกรรมการฯ ได้ร่วมแบ่งปันแนวทางและแนวคิดเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

เราได้พูดไปเยอะพอสมควรเหมือนกันค่ะ เราได้แชร์วิชั่นของการสร้างแนวทางซอฟต์พาวเวอร์เบื้องต้นก่อน แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือเรื่อง essence และ spirit อย่างที่บอก อันนี้เป็นจุดร่วมที่เราไม่ได้คิดมาใช้แค่แฟชั่นอย่างเดียว แต่คิดว่าทุกๆ อุตสาหกรรมสามารถเอาไปปรับใช้ได้ 

ในที่ประชุมมีข้อจำกัด คือเขาจะให้พูดในปัญหาของแต่ละกลุ่ม แต่ไม่ได้มีการซิงค์กันในฐานะที่เราเป็นแบรนด์ประเทศไทยอันเดียวกัน ตอนนี้คือการพูดว่าแต่ละอันทำอะไรบ้าง แต่ยังขาดวิชั่นหลักว่า สรุปพวกเรามองภาพอะไรตรงกัน ทางที่เราจะไปร่วมกันคืออะไร ทิศทางที่เราต้องการจะไปคืออะไร


ปัญหาเหล่านี้ทำให้การเป็นคณะกรรมการฯ ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ตอบโจทย์สำหรับคุณแล้วหรือเปล่า ทำให้คุณตัดสินใจลาออก

อันนี้ขอตอบในฐานะประชาชน คือคนจะพูดกันว่าเราลาออก เพราะเรื่องงานกางเกงช้าง ซึ่งอาจเป็นปัญหาส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีเรื่องระบบงานที่เราอาจจะไม่สามารถตอบโจทย์กับลักษณะวัฒนธรรมขององค์กรเท่าไหร่ คิดน่าจะมีคนที่เหมาะกว่าได้ และที่สำคัญคือเราอาจจะไม่สามารถทุ่มเวลากับลักษณะงานของคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ได้เนื่องจากต้องอาศัยทรัพยากรส่วนตัวสูงมาก 

อีกเรื่องที่คือลักษณะงานยังขาดทิศทางในการมองยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนอยู่ ขาดพื้นที่ในการหารือร่วมระหว่างสาขา การประชุมที่ยังไม่มีข้อสรุปในยุทธศาสตร์กลาง แม้เราจะชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ แต่ตอนนี้เรากระโดดกันไปทำ action plan ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับมอบหมายให้ทำขึ้นมา ซึ่งเราสับสนนิดหน่อยว่าเราต้องคุยทางที่เราจะไปร่วมกันก่อนไหมนะ ก่อนจะเข้าไปทำงานในแต่ละสาขาของตัวเอง อันนี้คือประเด็นแรก

ประเด็นที่สองที่คิดว่าเป็นปัญหา คือระบบการทำงานภาครัฐ การสื่อสารที่ยังไม่ค่อยมีความชัดเจน ไม่ค่อยมีการวางแผนงานอย่างเป็นระบบ และขาดแผนการทำงานร่วมกันกับเอกชน เราก็ใหม่มากในการมาทำงานในฐานะคณะกรรมการฯ แต่จากบรีฟ เข้าใจว่าหน้าที่หลักของเอกชน คือการมาเสนอไอเดีย เหมือนเป็น creative agency ให้ภาครัฐ ซึ่งถ้าพูดตรงไปตรงมาคือ วันแรกที่ได้คำชวนคือการเสนอให้มาเป็นที่ปรึกษา อยากให้เอกชนมาช่วยเสริมกับรัฐ แล้วเขาจะอำนวยความสะดวกในการจัดการให้ เพราะเขาไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรม เขาไม่มั่นใจในข้อมูล แต่ตอนหลังแผนงานหลายอย่างดูเหมือนว่าเอกชนรับหน้าที่คิดแผนทุกอย่างแล้วส่งให้รัฐ แล้วต้องรอส่งเป็นลำดับขั้น มีกระบวนการติดขัดล่าช้า ทำให้งานไม่เดิน

สิ่งเหล่านี้อาจจะไปสู่อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาส่วนบุคคล พอเราต้องทำงานทุกอย่างในฐานะคณะกรรมการฯ ที่งานเร่งและความคาดหวังสูงมาก แต่เรายังต้องหารายได้ให้ตัวเองด้วย มันเลยจัดสรรเวลาที่จะมาทุ่มเทพลังทั้งหมดให้เรื่องนี้ได้ค่อนข้างยาก เพราะการเป็นคณะกรรมการฯ ไม่ได้มีตำแหน่งทางข้าราชการ หลายคนเข้าใจว่าเราได้รับเงินเดือน แต่จริงๆ ไม่ใช่งานที่ได้รับเงิน เราเป็นเอกชนที่เขาเชิญมาร่วมให้ความเห็นด้วย ซึ่งเรายินดี แต่พอระบบทำงานอาจต้องใช้เวลาด้วยเยอะ ทำให้เราจัดสรรพลังและการทำงานทั้งในฐานะคณะกรรมการฯ และงานส่วนตัวได้ยาก ดังนั้น ถ้าเหตุผลที่เราลาออกหลักๆ คือ เรื่องเวลาที่เราไม่สามารถทุ่มเทได้

เราคิดว่าวิชั่นที่จะทำยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์มาดีแล้ว ถ้าเป็นไปได้จริงก็ดีมากๆ เลย แต่ปัญหาอยู่ที่การวางระบบที่เอื้อต่อการร่วมมือกันจริงๆระหว่างทุกภาคส่วน ถ้าแก้ไขตรงนี้ได้ มันมีโอกาสที่นโยบายนี้จะไปได้ไกลและประสบความสำเร็จ




แม้ว่าคุณจะลาออกจากการเป็นคณะกรรมการฯ แล้ว แต่มีอะไรที่คุณคาดหวังว่าอย่างน้อยจะต้องเกิดขึ้นจากการพูดคุยในนโยบายนี้บ้างไหม

ด้วยความที่ยุทธศาสตร์นี้มันต้องทำงานระยะยาวเนอะ เข้าใจได้ว่าทุกอย่างต้องใช้เวลา ตอนเราเป็นคณะกรรมการฯ ก็เพิ่งผ่านไป 3-4 เดือนเอง

แต่ก็ยินดีมากที่ได้เสนอวิชั่นบางส่วน ตั้งแต่แนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ผลักดันทิศทางให้ไปในเรื่องความยั่งยืนอย่างเห็นภาพชัด คือที่ผ่านมา บ้านเรายังมีปัญหาความชัดเจนในนโยบายเรื่องความยั่งยืน โดยเฉพาะในแต่ละอุตสาหกรรม ถ้าไปดูตัวอย่าง IKEA วางนโยบายเลยว่าแบรนด์ฉันจะเป็น circular material ทั้งหมดภายในปี 2030 คือไม่ใช่วัตถุดิบใหม่เลย เราคิดว่าเป้าหมายของอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอไทยก็ควรมีร่วมกัน เพื่อให้อุตสาหกรรมดำเนินต่อไปได้ในระยะยาวและลดความเสี่ยงต่างๆ เนื่องจากประเทศที่เป็นลูกค้าของเราก็ออกมาตรการควบคุมมาเรื่อยๆ เช่น กฏหมายการปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ซึ่งปัจจุบันน่าเป็นห่วงเพราะเขาจะเริ่มใช้ปลายปีนี้แล้ว แต่เรายังไม่มีแผนรับมืออะไรเลย 

เรื่องนี้ต้องทำงานทั้งผู้ผลิต นักออกแบบ และผู้บริโภค เราต้องทำความเข้าใจร่วมกันไปจนถึงมีทิศทางที่จะทำงาน โดยเฉพาะ ‘การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม’ (Just Transition) คำนี้ถูกใช้เยอะในวงการพลังงาน เพราะเขาคุยกันเรื่อง energy transition ที่จะเปลี่ยนจากฟอสซิลมาเป็นพลังงานทดแทน จะทำอย่างไรให้ผู้คนในอุตสาหกรรมที่ใช้ฟอสซิลปรับตัว ไปต่อได้ด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มคนเปราะบาง แฟชั่นก็จะต้องคิดถึงการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้เช่นกัน

แต่ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่คิดถึงเป้าหมายและการเปลี่ยนผ่านในระยะยาวสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมันเชื่อมมาถึงเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ คือถ้าคุณวางวิชั่นว่า อีก 10 ปี ประเทศไทยจะเป็น sustainability and diversity hub ในอาเซียน แล้วดึงเอา creativity economy มาทำงานครบ มีอาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แฟชั่น ภาพยนตร์ แล้วเราจะวางแผนรองรับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างไร ต้องเตรียมตัว พัฒนาคนในประเทศอย่างไรให้ตอบโจทย์นี้ได้ 

ถ้าเราเตรียมอันนี้ได้นะ เราจะฟินมากเลย ไม่รู้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายทำไปจะสำเร็จไหม แต่อย่างน้อยมีความหวัง เพราะเราได้วางแผนแล้ว เห็นภาพตรงกัน ไม่ว่าใครจะมีวิธีการอะไรในการเดินไป แต่เราเห็นเป้าหมายร่วมกัน อันนี้คือเรื่องที่อยากให้เกิดขึ้น

มีความหวังอยู่นะคะหากยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์เกิดขึ้นจริงได้ เราเห็นความพยายามของคณะกรรมการฯ คนอื่นๆ เช่นกัน  จริงๆ เป็นโอกาสที่ดีมากที่รัฐมาให้ความสำคัญกับ creative economy อีกครั้ง เราพูดเรื่องนี้กันมานานมาแล้วตลอดหลายปีในรัฐบาลที่ผ่านมา คนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์พยายามส่งเสียงแต่ไม่ได้รับการได้ยิน แม้ตอนนี้ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่มันก็กำลังค่อยๆ เคลื่อนไป ขอเพียงรัฐบาลและราชการร่วมกันทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ไม่เป็นเพียงปากว่าตาขยิบ และมีการอำนวยความสะดวก ช่วยให้เอกชนทำงานง่ายขึ้น ร่วมมือกันในหลายองค์กร โปรเจกต์นี้ก็น่าจะประสบความสำเร็จได้ และส่วนตัวก็มองว่า ยังอยากกลับมาช่วยงานประเทศในส่วนนี้ ในวันที่เราพร้อมทางเวลาและทรัพยากรส่วนตัวมากกว่านี้ค่ะ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save