fbpx

“แพ้ ก็ดีกว่าไม่ทำอะไร” คุยกับขบวนการนักศึกษาอินโดนีเซีย กับการต่อสู้ครั้งใหม่ในยามประชาธิปไตยใกล้ริบหรี่

ในช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่เสียงปี่กลองค่อยๆ โหมดังขึ้นก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปของอินโดนีเซียซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมๆ กันนั้น เสียงตะโกนโห่ร้องของฝูงชนจำนวนหนึ่งตามท้องถนนในหลายมุมเมืองของอินโดนีเซียก็ดังคลอเคล้าขึ้นมาเป็นระยะ อันเป็นเสียงที่ต้องการส่งสารให้โลกรู้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจไม่เป็นไปอย่างชอบธรรม เสียงนี้ดังขึ้นมาจากประชาชนหลากหลายกลุ่ม แต่เสียงส่วนหนึ่งที่ดังฟังชัดที่สุดคือเสียงจากเหล่านักศึกษาปัญญาชนหนุ่มสาวของอินโดนีเซีย

การออกมาแสดงพลังทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาอินโดนีเซียยุคสมัยปัจจุบันไม่ได้เพิ่งเป็นที่เห็นประจักษ์ในช่วงเวลา 1-2 ปีมานี้เท่านั้น แต่การเคลื่อนไหวใหญ่เริ่มปรากฏชัดในช่วงเดือนกันยายน 2019 เพื่อต่อต้านการแก้ไขกฎหมายบางฉบับที่ถูกมองว่าจะเป็นการลดทอนสิทธิเสรีภาพและสวัสดิการของประชาชนในหลายประเด็น อันรวมไปถึงข้อกฎหมายห้ามหมิ่นประธานาธิบดี รวมทั้งยังทำให้อำนาจขององค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบภาครัฐลดน้อยลง ก่อนที่ในปี 2020 การเคลื่อนไหวใหญ่จะกระเพื่อมขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีการออกร่างกฎหมายสารพันหรือ Omnibus Law ซึ่งชาวอินโดนีเซียจำนวนมากมองว่าจะเอื้อประโยชน์แก่นายทุน และลิดรอนสิทธิแรงงานหลายประการ ทำให้นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับหลายภาคส่วนทั้งแรงงาน และภาคประชาสังคม โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพียงการกดดันให้ยุติเรื่องเหล่านี้เท่านั้น แต่บางส่วนยังมีข้อเรียกร้องที่ไกลกว่านั้นคือให้ประธานาธิบดี โจโก วีโดโด (Joko Widodo) ลาออก

ในภาพรวม การชุมนุมใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้อาจประสบความสำเร็จในแง่การทำให้การแก้ไขหรือผ่านร่างกฎหมายเหล่านี้ต้องล่าช้าออกไป และต้องได้รับการทบทวนปรับปรุงใหม่ แต่ในท้ายที่สุดหลายข้อกฎหมายก็ผ่านกระบวนการจนได้รับการบังคับใช้ท่ามกลางความไม่พอใจของใครหลายคน ขณะเดียวกัน การชุมนุมเองก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกดปราบทั้งด้วยการใช้ความรุนแรงและการเล่นงานด้วยข้อกฎหมายจนอ่อนแรงลงไปบ้าง แต่พลังของคนหนุ่มสาวก็ยังคงตื่นขึ้นเป็นระลอก กลายเป็นแนวหน้าสำคัญของการเคลื่อนไหวเรียกร้องทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และรวมถึงการเรียกร้องความบริสุทธิ์ยุติธรรมให้การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นานนี้

อันที่จริง หากย้อนมองประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของอินโดนีเซียนับแต่ได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ในปี 1949 การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเหล่านักศึกษาเคยโลดแล่นมานานก่อนหน้านี้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยการปกครองของเผด็จการพลเอกซูฮาร์โต (Suharto) ระหว่างปี 1965-1998 ที่กลุ่มนักศึกษาก่อหวอดชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นระยะ ก่อนจะประสบความสำเร็จในปี 1998 เมื่อซูฮาร์โตยินยอมก้าวลงจากอำนาจ เปิดทางให้อินโดนีเซียเดินเข้าสู่ยุคสมัย Reformasi อันเป็นการปฏิรูปการเมืองเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตย

เมื่อประชาธิปไตยเดินหน้าไปตามครรลอง กลุ่มนักศึกษาจึงแทบไม่ได้มีเหตุให้ต้องออกมาเคลื่อนไหวใหญ่ โดยมีแต่เพียงการเคลื่อนไหวเรียกร้องเล็กๆ ประปราย จนเสียงของพวกเขาเบาลงไปนาน กระทั่งในปี 2019 ที่เสียงพวกเขากลับมาคำรามดังอีกครั้ง

การตื่นขึ้นครั้งใหญ่ของขบวนการนักศึกษาในรอบ 20 ปี คือปรากฏการณ์ที่นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่า เป็นเพราะการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของอินโดนีเซียอาจกำลังถูกหักเหออกไปจากเส้นทางที่ควรจะเป็น จนปลุกให้คนหนุ่มสาวต้องลุกขึ้นมาต่อสู้อีกครั้ง[1]

การประท้วงของกลุ่มนักศึกษาอินโดนีเซียในปี 2019
ภาพโดย ADEK BERRY / AFP

อินโดนีเซียในทศวรรษ ‘โจโกวี’:
ประชาธิปไตยถอยหลัง นักศึกษาจึงกลับมา

“ก่อนที่โจโกวี (โจโก วีโดโด) จะเป็นประธานาธิบดี เขาหาเสียงไว้ว่าจะปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน และพัฒนาทุกอย่างให้ดีขึ้น ซึ่งเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลาม แต่พอเขาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ช่วงหลังๆ ปรากฏว่าเขากลับแหกกฎเกณฑ์และหลักการทุกอย่าง”

ดัฟฟา บาตูบารา (Daffa Batubara) หนุ่มนักศึกษาวัย 23 ปีจากวิทยาลัยด้านการบริหาร PPM (PPM School of Management) เล่าถึงมุมมองของเขาต่อประธานาธิบดีโจโกวี ผู้ที่เขามองว่าเป็นต้นเหตุแห่งความถดถอยของประชาธิปไตยอินโดนีเซียในวันนี้

โจโกวีขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2014 ท่ามกลางความคาดหวังจากหลายฝ่ายว่าเขาจะปฏิรูปการเมืองอินโดนีเซียให้ก้าวหน้ามากขึ้นได้ ด้วยภาพลักษณ์ของเขาแต่ต้นที่ดูใสสะอาดและไม่ได้มาจากตระกูลกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองเดิม แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดข้อกังขาจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการแก้หรือเสนอกฎหมายต่างๆ ที่ดูเป็นการเพิ่มอำนาจแก่ผู้นำและบั่นทอนหลักการประชาธิปไตย การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายแง่มุม การจับมือประนีประนอมกับกลุ่มชนชั้นนำเก่า ไปจนถึงการพาเครือข่ายพวกพ้องและครอบครัวญาติพี่น้องของตัวเองเข้ามามีบทบาททางการเมือง ขณะที่ดัชนี้ชี้วัดต้านประชาธิปไตยต่างๆ ก็มีแนวโน้มลดลงตลอดยุคสมัยของโจโกวี

ภาวะสั่นคลอนของประชาธิปไตยภายใต้ประธานาธิบดีโจโกวีนี้เอง ปลุกให้เกิดการรวมตัวก่อตั้งขบวนการนักศึกษาขึ้นมาหลายกลุ่ม เช่นเดียวกับดัฟฟาที่ก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และเข้าร่วมก่อตั้งกลุ่ม Blok Politik Pelajar (Student Political Block หรือ BPP) ขึ้นในปี 2021 โดยเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่จากหลากหลายที่เพื่อขับเคลื่อนทางการเมืองร่วมกัน รวมทั้งยังมีกิจกรรมให้ความรู้ทางการเมืองเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจและตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น

“เราก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาเพราะความยุติธรรมในสังคมอินโดนีเซียกำลังเลือนหายไป และเราก็ยังต่อสู้กับกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาโดยไม่ได้ตอบเจตนารมณ์ของประชาชนและกำลังส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของประชาชน อย่างเช่น กฎหมายการสร้างงาน (Job Creation Law ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายที่อยู่ภายใต้ Omnibus Law) ที่ประชาชนได้รับผลกระทบเยอะ รวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญบางข้อที่กำลังกระทบต่อหลักประชาธิปไตย อีกทั้งที่ผ่านมา รัฐก็ยังใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ออกมาเรียกร้องในหลายรูปแบบ เราถึงพยายามต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้” ดัฟฟากล่าว

ดัฟฟา บาตูบารา (Daffa Batubara)

นอกจากดัฟฟาแล้ว มิฟตาฮุล โชอีร์ (Miftahul Choir) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหนุ่มวัย 23 ปี ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคโจโกวี โดยแต่เดิม เขาเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในบันดุง เมืองเอกของจังหวัดชวาตะวันตก พร้อมทั้งเป็นผู้สื่อข่าวด้านสิทธิมนุษยชนของสำนักข่าวนักศึกษาประจำมหาวิทยาลัย จนกระทั่งการชุมนุมใหญ่ต่อต้านโจโกวีปะทุขึ้นในปี 2019 มิฟตาฮุลซึ่งมีอายุ 18 ปีในตอนนั้น ถึงได้เริ่มผันตัวมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นครั้งแรก

“ในปี 2019 มีการประท้วงต่อต้านการแก้กฎหมายลดอำนาจองค์กรตรวจสอบคอร์รัปชัน [Corruption Eradication Commission (KPK) Law Revision] ซึ่งในตอนนั้นถือเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียนับตั้งแต่เข้าสู่ยุค Reformasi (หลังสิ้นสุดระบอบซูฮาร์โตปี 1998) และผมก็ได้เข้าร่วมการชุมนุม โดยที่ผมมีบทบาทในการรวมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายคนไปเข้าร่วม” มิฟตาฮุลเล่า

นับแต่นั้นมา มิฟตาฮุลได้มีส่วนร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในอีกหลายสถานการณ์ โดยปัจจุบันเขายังเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) ประจำประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดจากการรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่หลายชาติ

จุดประสงค์ในการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของมิฟตาฮุลนั้นไม่ได้ต่างจากดัฟฟามากนัก นั่นคือการต่อต้านประธานาธิบดีโจโกวี ที่เขามองว่ามีหลายการกระทำที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าประชาธิปไตยของประเทศ

“สถานการณ์ของประเทศที่เป็นอยู่ตอนนี้เป็นผลพวงมาจากความทะเยอทะยานในการสั่งสมอำนาจของโจโกวี จนกระทั่งเขามีอำนาจสูงมากในปัจจุบัน จนเรียกได้ว่าเป็น ‘เผด็จการ’ ที่มีอำนาจเปี่ยมล้น” มิฟตาฮุลแสดงความเห็น

ประธานาธิบดี โจโก วีโดโด (Joko Widodo) หรือ โจโกวี (Jokowi)

การเคลื่อนไหวแบบไร้หัว: พลัง…และจุดอ่อน

ดังที่กล่าวไปแล้ว การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในอินโดนีเซียห้วงเวลานี้เป็นการกลับมาครั้งแรกหลังหายหายไปยาวนานถึงสองทศวรรษ กระทั่งว่าคนหนุ่มสาวที่ออกมาเคลื่อนไหวในทุกวันนี้หลายต่อหลายคนก็ไม่ได้เกิดทันหรือโตพอที่จะเห็นการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษายุคก่อนหน้าพวกเขาด้วยตาตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็พยายามย้อนกลับไปศึกษาจากขบวนการเคลื่อนไหวในอดีตเพื่อถอดบทเรียนมาปรับใช้ในการเดินหน้าขบวนการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน

“ถ้ากลุ่มเคลื่อนไหวมีแกนนำที่ชัดเจน มีโอกาสสูงที่แกนนำจะโดนรัฐล็อบบี ซื้อด้วยเงิน หรือไม่ก็ถูกจับ จนในที่สุดกลุ่มนั้นก็ล้มลง เดินต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราถึงจัดการกลุ่มเคลื่อนไหวไม่ให้มีใครเป็นแกนนำอย่างชัดเจน เพราะพอคนหนึ่งไม่เดินหน้าต่อ ก็จะยังมีคนอื่นๆ ที่พาองค์กรเคลื่อนต่อไปได้” ดัฟฟาเล่าถึงรูปแบบองค์กร BPP ที่ใช้แนวทางการเคลื่อนไหวแบบไร้หัว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในอินโดนีเซียยุคปัจจุบันหลายๆ กลุ่ม

ดัฟฟาเล่าต่อว่า BPP เองไม่ได้มีโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจน ขณะที่สมาชิกก็อยู่รวมกันอย่างหลวมๆ โดยเข้าร่วมกิจกรรมกันเป็นครั้งเป็นคราว ทำให้กลุ่มมีคนเข้าๆ ออกๆ จนไม่อาจนับได้แน่ชัดว่าจำนวนสมาชิกของกลุ่มมีเท่าใดกันแน่ แต่ถึงอย่างนั้น BPP ก็สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยการเรียกประชุมตามโอกาสเพื่อร่วมกันระดมความคิดกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง รวมทั้งยังมีการทำงานร่วมกับกลุ่มนักศึกษาอื่นๆ อยู่ตามโอกาส

การเคลื่อนไหวแบบไร้แกนนำที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียวันนี้ยังนับว่าสอดคล้องกับกระแสการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในหลายประเทศทั่วโลก โดยขบวนการเคลื่อนไหวในอินโดนีเซียเองก็ได้แรงบันดาลใจบางส่วนมาจากการเคลื่อนไหวในต่างประเทศ เช่น ดัฟฟาที่บอกว่าได้เรียนรู้รูปแบบการเคลื่อนไหวแบบไร้หัวส่วนหนึ่งมาจากการประท้วงในฮ่องกง ช่วงปี 2019-2020

อย่างไรก็ตาม ดัฟฟายอมรับว่าแนวทางการเคลื่อนไหวแบบไร้โครงสร้างและไร้ผู้นำที่ชัดเจนแบบนี้ก็เป็นจุดอ่อนเหมือนกัน

“ตามวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย ผู้คนยังเคยชินกับการมีแกนนำ เพราะฉะนั้นคนอินโดนีเซียยังไม่เชื่อมั่นเต็มที่ว่าการเคลื่อนไหวโดยไร้แกนนำแบบนี้จะประสบความสำเร็จได้” ดัฟฟากล่าว

ขณะที่นักเคลื่อนไหวอีกคนอย่างมิฟตาฮุลมองว่า “ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในอินโดนีเซียมักจะทำอะไรด้วยตัวเองไม่ค่อยได้ ถ้าปราศจากผู้นำที่ชัดเจนหรือขาดคนริเริ่ม และยังจำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากองค์กรภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเอ็นจีโอ หรือแม้กระทั่งพรรคการเมือง อยู่มาก”

การประท้วงของกลุ่มนักศึกษาอินโดนีเซียในปี 2022
ภาพโดย ADEK BERRY / AFP

ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาอินโดนีเซียในปัจจุบัน คือความแตกแยกไม่ลงรอยกันของแต่ละกลุ่มก้อน แม้ว่าทุกกลุ่มจะต่อสู้ด้วยเป้าหมายเดียวกัน แต่ปรากฏว่าบ่อยครั้งแต่ละกลุ่มมีความเห็นต่างกันในแนวทางการเคลื่อนไหว รวมถึงการกำหนดข้อเรียกร้องต่างๆ จนทำให้ในที่สุดบางกลุ่มต้องตัดสินใจแยกทางกันเดิน เช่น กลุ่ม BPP เองที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นส่วนหนึ่ง Aliansi Badan Eksekutif Mahasiswa Seluruh Indonesia (The All-Indonesian Student Executive Council Alliance หรือ BEM SI) ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่โดดเด่นที่สุดกลุ่มหนึ่งในยุคปัจจุบัน กระทั่งตัดสินใจแยกตัวมาตั้งกลุ่มอิสระของตัวเองในที่สุดด้วยความเห็นแย้งกันในหลายเรื่อง

“มันเคยมีความพยายามที่จะเคลื่อนไหวร่วมกันเป็นปึกแผ่น แต่ในระหว่างที่แต่ละกลุ่มประชุมกัน มันมีการโต้เถียงกันอยู่หลายเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ เช่นว่าจะใช้แฮชแท็ก (#) อะไรเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ รวมถึงมีความเห็นไม่ตรงกันว่าจะเขียนข้อเรียกร้องอะไรบ้าง” มิฟตาฮุลเล่าเบื้องลึกจากที่เขาได้พบเห็นด้วยตัวเอง

มิฟตาฮุลยังย้ำว่า ไม่ว่าจะในยุคสมัยซูฮาร์โตหรือในยุคปัจจุบัน การถูกแทรกแซงหรือความจำเป็นต้องพึ่งพาอิทธิพลภายนอกยังคงเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาของอินโดนีเซียไม่สามารถเป็นเอกภาพได้ และแม้ว่าในยุคปัจจุบัน รูปแบบการเคลื่อนไหวจะถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบไร้แกนนำที่ชัดเจน แต่ทั้งมิฟตาฮุลและดัฟฟาก็บอกตรงกันว่านักเคลื่อนไหวสำคัญๆ ในบางขบวนการได้เริ่มเข้าไปมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองต่างๆ จนถูกครอบงำ สอดคล้องกับตามหน้าข่าวท้องถิ่นของอินโดนีเซียที่เคยมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เช่นกัน[2] นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาบางกลุ่มก้อน รวมถึง BPP ตัดสินใจแยกออกมาเคลื่อนไหวด้วยตัวเองอย่างเป็นอิสระ โดยไม่พึ่งพิงหน่วยงานภายนอกใดๆ

ปัจจุบันนี้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในอินโดนีเซียจึงเป็นไปอย่างกระจัดกระจาย ทั้งยังอ่อนแรงลงไปพอสมควรจากการถูกปราบปราม ไม่ว่าจะด้วยการสลายการชุมนุม การพยายามปิดกั้นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัย รวมถึงการจับกุมและคุกคามนักเคลื่อนไหวในหลายรูปแบบ แต่ก็ใช่ว่าพลังของพวกเขาจะนิ่งสนิทลงไป

มิฟตาฮุล โชอีร์ (Miftahul Choir)

“Dirty Vote!” ปลุกพลังสู้การเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

“การเลือกตั้งครั้งนี้คือปาหี่ แย่กว่าหลายครั้งที่ผ่านๆ มา” ดัฟฟาพูดถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียครั้งล่าสุดในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยในวันที่ดัฟฟาคุยกับเรานั้นคือวันก่อนการเลือกตั้งเพียงสองวัน เขากล่าวต่อว่ากลิ่นไม่ชอบมาพากลของการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นนี้คือสาเหตุที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาหลายกลุ่ม รวมถึง BPP ต้องออกมาแสดงพลังใหญ่อีกครั้ง

การกลับมาเคลื่อนไหวใหญ่ระลอกใหม่ของกลุ่มนักศึกษาอินโดนีเซียเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในราวเดือนเมษายน 2022 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากกระแสข่าวที่หนาหูว่ามีความพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อให้โจโกวีสามารถลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 ได้ จากที่รัฐธรรมนูญจำกัดวาระดำรงตำแหน่งของผู้นำไว้ไม่ให้เกิน 2 สมัยติดต่อกัน ขณะเดียวกันก็มีเหตุที่ทำให้สังคมเกิดข้อกังขาว่ากำลังมีความพยายามที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ควบคู่กันนั้น การประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันของรัฐท่ามกลางภาวะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนหนักจากเงินเฟ้ออยู่แล้ว ก็เป็นอีกปัจจัยที่ปลุกให้ประชาชนจำนวนมากมาเข้าร่วมการประท้วง

แม้ในที่สุดการแก้รัฐธรรมนูญและการเลื่อนการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้น ขณะที่ประธานาธิบดีโจโกวีก็ปฏิเสธกระแสข่าวด้วยตัวเอง แต่ความเคลือบแคลงในความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้งก็ไม่ได้จางหาย ทำให้กลุ่มนักศึกษายังคงออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเป็นระยะ กระทั่งความไม่พอใจปะทุขึ้นในวงกว้างอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2023 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่เปิดทางให้ กีบรัน รากาบูมิง รากา (Gibran Rakabuming Raka) ลูกชายคนโตของโจโกวี สามารถลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีได้ แม้เขาจะมีอายุเพียง 36 ปี ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์อายุขั้นต่ำตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ที่ 40 ปี และยิ่งไปกว่านั้น หัวหน้าคณะผู้พิพากษาในกรณีนี้ยังเป็นน้องเขยของโจโกวีเอง ทำให้หลายคนยากที่เชื่อได้ว่าโจโกวีไม่มีส่วนรู้เห็นกับคำวินิจฉัยนี้ ทั้งยังทำให้ข้อครหาความพยายามสืบทอดอำนาจของโจโกวีผ่านเครือข่ายวงศ์วานของตัวเองชัดเจนขึ้น

การลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของกีบรันในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการจับมือคู่กับ ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) ที่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยปราโบโวเคยเป็นคู่แข่งของโจโกวีในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีติดต่อกันสองครั้งในปี 2014 และ 2019 ก่อนที่จะเกิดการจับมือข้ามขั้ว โดยโจโกวีชักชวนปราโบโวเข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจนถึงปัจจุบัน

ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto; ซ้าย) และ กีบรัน รากาบูมิง รากา (Gibran Rakabuming Raka; ขวา)

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง สัญญาณส่งเป็นนัยจากโจโกวียิ่งชัดเจนขึ้นว่าสนับสนุนทีมปราโบโว-กีบรัน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ท่ามกลางการครหาจากประชาชนจำนวนหนึ่งว่าโจโกวีไม่เป็นกลางอย่างที่ควรจะเป็นตามมารยาททางการเมือง ทั้งยังมีข้อสังเกตว่าพบความไม่ปกติหลายอย่างในการจัดการเลือกตั้ง

“รัฐพยายามเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้ง มีการระดมทรัพยากรและบุคลากรของรัฐ เช่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เพื่อสนับสนุนปราโบโวในหลายรูปแบบ” ดัฟฟาเล่า สอดคล้องกับกระแสของขบวนการนักศึกษากลุ่มต่างๆ ที่กล่าวหารัฐบาลในเรื่องนี้เหมือนกัน และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่เราคุยกับดัฟฟา สารคดีความยาวราว 2 ชั่วโมงเรื่อง ‘Dirty Vote’ หรือการเลือกตั้งสกปรก โดยนักข่าวสืบสวนคนหนึ่งของอินโดนีเซีย ก็เผยแพร่ออกมาทางออนไลน์จนเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว โดยสารคดีดังกล่าวเป็นการเปิดโปงความพยายามของรัฐที่ใช้กลไกต่างๆ เอื้อให้ปราโบโวได้รับชัยชนะ

การออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจวบจนช่วงระยะเวลาไม่กี่วันก่อนถึงการเลือกตั้ง แต่จนแล้วจนรอด เสียงของพวกเขายังเบาเกินกว่าที่หยุดยั้งปราโบโว ซึ่งสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์

ดัฟฟา บาตูบารา (Daffa Batubara)

ชัยชนะของปราโบโว: ก้าวต่อไปที่ยากขึ้น ในยุคที่เผด็จการอาจเผยใบหน้าชัดเจน?

“นี่คือการเลือกตั้งเพื่อยุติการเลือกตั้งทั้งหมด” (This is the election to end all of elections.) คือประโยคแรกที่มิฟตาฮุลตอบทันที เมื่อเราถามความเห็นของเขาต่อการเลือกตั้งครั้งนี้

“ปราโบโวเคยพูดไว้ว่าเขาต้องการแก้รัฐธรรมนูญให้กลับไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับดั้งเดิมในปี 1945 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันในช่วงปี 2014-2015 เขาก็เคยพูดว่าการเลือกตั้งคือเครื่องมือของโลกตะวันตกในการเข้ามาแทรกแซงอินโดนีเซีย ผมเชื่อว่าเขายังคงคิดแบบนี้อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะนั้นผมกลัวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย แต่ผมก็หวังว่าผมจะผิด” มิฟตาฮุลขยายความคำตอบของเขา อันมีนัยว่าประชาธิปไตยของอินโดนีเซียอาจกำลังย่ำแย่ลงอีกเมื่อปราโบโวขึ้นมาเป็นผู้นำ

“จริงๆ โจโกวีก็เผด็จการ แต่เขาก็ยังสวมหน้ากากบังหน้าให้เห็นว่าเป็นคนดีอยู่ ขณะที่ปราโบโวคือเผด็จการที่เปิดเผยใบหน้าชัดเจน” ดัฟฟาแสดงความเห็นสอดคล้องกัน

ตลอดเส้นทางชีวิตการทำงานของปราโบโว เขาเผชิญข้อครหามากมายที่นำไปสู่ข้อกังวลว่าเขาอาจทำให้ประชาธิปไตยอินโดนีเซียต้องถดถอยลง โดยเฉพาะในยุคเผด็จการซูอาร์โต ปราโบโวซึ่งเป็นนายทหารระดับสูงและบัญชาการมาแล้วหลายหน่วย พร้อมกับเป็นลูกเขยของซูฮาร์โตด้วย ณ ตอนนั้น มีบทบาทในการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะในการเคลื่อนไหวขับไล่ซูฮาร์โตช่วงปี 1997-1998 หรือในปฏิบัติการทางทหารในติมอร์ตะวันออกช่วงทศวรรษ 1980s

ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto)

ประสบการณ์การละเมิดสิทธิประชาชนอย่างโชกโชนของปราโบโวเหล่านี้ แน่นอนว่าทำให้ขบวนการนักศึกษาเกิดความกังวลว่าการเคลื่อนไหวนับจากนี้กำลังจะยากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทั้งดัฟฟาและมิฟตาฮุลเองก็ยอมรับในเรื่องนี้เหมือนกัน

“ผมว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาก็จะยังคงมีต่อไป แต่ก็คงมีคนถูกจับและถูกคุกคามมากขึ้น” มิฟตาฮุลมองอนาคต และย้ำว่าขบวนการนักศึกษาอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการเคลื่อนไหวนับจากนี้

“สถานการณ์อาจกำลังจะเทียบได้กับยุคซูฮาร์โต และเราก็อาจต้องหันไปเอาแนวทางการเคลื่อนไหวในช่วงนั้นมาปรับใช้ด้วย ต้องเข้าใจว่าในยุคซูฮาร์โตเป็นช่วงที่สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถูกจำกัดอย่างหนัก การออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในที่สาธารณะหรือการจัดชุมนุมเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ในตอนนั้นคือการทำกิจกรรมในเชิงสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเมือง ซึ่งต่อไปนี้ เราอาจต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับแนวทางนี้มากขึ้น” มิฟตาฮุลกล่าว

ส่วนดัฟฟานั้น แม้เขาไม่ได้ให้คำตอบเราว่าจะปรับแนวทางการเคลื่อนไหวอย่างไร แต่เขายืนยันเพียงว่าจะยังคงหาทางสู้ต่อไปเท่าที่สามารถทำได้

“ถึงจะแพ้ ก็ดีกว่าไม่ทำอะไร อย่างน้อยสิ่งที่เราทำก็ทำให้คนหันมาสนใจการเมืองกันมากขึ้น และเชื่อว่าอนาคต คนรุ่นใหม่ๆ ก็จะลุกขึ้นมาต่อสู้ต่อไป” ดัฟฟากล่าว

ถอดบทเรียนการต่อสู้ เรียนรู้จากการเคลื่อนไหวของไทยและเพื่อนบ้าน

การกลับมาเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาอินโดนีเซียตลอดระยะเวลาราว 5 ปีที่ผ่านมานั้น หากจะว่าไปก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างโดดๆ เพียงลำพังเฉพาะในประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ แต่มิฟฮาตุลมองว่าคือส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ระดับภูมิภาคเอเชีย ที่คนรุ่นใหม่หลายประเทศต่างตื่นตัวออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งนั่นรวมถึงประเทศไทย ที่เราได้เห็นการเคลื่อนไหวใหญ่ของกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่กลับมาปะทุอีกครั้งในปี 2020 ไล่เลี่ยกับในอินโดนีเซีย

ท่ามกลางปรากฏการณ์นี้ คนหนุ่มสาวอินโดนีเซีย รวมถึงมิฟตาฮุล จึงมีโอกาสได้เรียนรู้จากการเคลื่อนไหวของเพื่อนพ้องคนรุ่นใหม่ในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงหลายประเทศ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเคลื่อนไหวของตัวเอง แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวของไทยก็นับเป็นหนึ่งในต้นแบบให้คนรุ่นใหม่อินโดนีเซียได้ถอดบทเรียน เช่นเดียวกับมิฟตาฮุลที่ได้มาสัมผัสเห็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในไทยด้วยตัวเอง เพราะเป็นช่วงเวลาที่เขามีโอกาสได้มาศึกษาเล่าเรียนในประเทศไทยอยู่พอดิบพอดี

“ผมชื่นชมการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในไทยมาก โดยเฉพาะในแง่ความเป็นอิสระ พวกเขาไม่จำเป็นต้องรอให้ใครออกมานำหรือออกมาเริ่ม แต่พวกเขาสามารถเคลื่อนไหวกันเองได้ด้วยจุดมุ่งหมายที่เห็นพ้องต้องกัน โดยที่ทุกคนคือแกนนำร่วมกัน และยังสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเคลื่อนไหวได้จนเรียกว่ายืดหยุ่นเหมือนกับน้ำ แต่ที่อินโดนีเซีย เรายังทำไม่ได้ถึงขั้นนั้น” มิฟตาฮุลกล่าว พร้อมย้อนไปเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวของประเทศตัวเอง ตามที่เขาเคยพูดไว้ก่อนหน้านั้นว่ายังขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ไม่ดีนัก

มิฟตาฮุลยังมีข้อสังเกตว่าอีกสาเหตุที่ทำให้การเคลื่อนไหวของอินโดนีเซียยังไม่ได้รับแรงหนุนจากประชาชนมากพอเหมือนอย่างในหลายประเทศ อาจเป็นเพราะเบื้องลึกแล้วสถานการณ์การเมืองในอินโดนีเซียยังไม่สุกงอมพอที่จะทำให้คนตื่นรู้ในวงกว้างได้ขนาดนั้น

“เทียบกับประเทศอื่นอย่างไทยหรือพม่าแล้ว คนอินโดนีเซียจำนวนมากอาจไม่รู้รสชาติความโหดร้ายของการอยู่ภายใต้เผด็จการได้มากเท่า อย่างคนไทยและคนพม่ามักจะรู้ดีว่าเผด็จการทหารโหดร้ายขนาดไหน แต่สำหรับอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันยุคซูฮาร์โต พวกเขาอาจไม่เข้าใจดีพอ ขณะที่โจโกวีเองก็ไม่ได้มีภาพลักษณ์เผด็จการที่ชัดเจนเท่าผู้นำประเทศอื่น คนจำนวนมากเลยไม่เข้าใจว่าเราจะต่อสู้ไปทำไม” มิฟตาฮุลให้ความเห็น

มิฟตาฮุล โชอีร์ (Miftahul Choir)

นอกจากนั้น บทเรียนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในไทย ยังทำให้มิฟตาฮุลเห็นว่าการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวอินโดนีเซียในระดับที่เป็นอยู่อาจไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

“เราต้องหยุดเอาแต่เรียกร้องรัฐบาล นั่นคือจุดอ่อนที่ขบวนการนักศึกษาเป็นมาตลอด เพราะรัฐบาลไม่มีทางสนใจพวกเราจริงๆ เราไม่สามารถคาดหวังให้รัฐทำนู่นทำนี่ตามข้อเรียกร้องของเราได้ แทนที่จะทำอย่างนั้น ผมว่าเราต้องหาทางเข้าไปมีที่ทางทางการเมือง มีตำแหน่งแห่งหนในรัฐบาลหรือรัฐสภาให้ได้ เพราะฉะนั้นผมว่าเราต้องพยายามพัฒนาขึ้นไปเป็นกลุ่มหรือพรรคการเมือง เพื่อจะเข้าไปผลักดันเรื่องต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง” มิฟตาฮุลเสนอแนะ

“ในอินโดนีเซีย การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ยังไม่เคยถูกพัฒนาไปถึงขั้นเป็นพลังทางการเมือง ไม่เคยมีพรรคการเมืองที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าอย่างแท้จริง” มิฟตาฮุลพูดต่อ และย้ำว่าแม้จะมีบางพรรคการเมืองของอินโดนีเซียที่สร้างแบรนด์ว่าเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เช่น พรรค PSI (Partai Solidaritas Indonesia) ที่เขามองว่าไม่ได้มีอุดมการณ์ก้าวหน้าจริง และยังสนับสนุนประธานาธิบดีโจโกวีอย่างเปิดเผย

มิฟตาฮุลเผยกับเราต่อว่า แนวคิดของเขาที่อยากให้อินโดนีเซียมีพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ขึ้นมานี้ มาจากที่เขาได้มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

“ประเทศไทยมีพรรคก้าวไกลที่เป็นตัวแทนเสียงของคนรุ่นใหม่ เป็นพรรคที่มียุทธศาสตร์ชัดเจน และมีบทบาทผลักดันหลายเรื่องให้เข้าสู่รัฐสภาได้ เช่นเรื่องการยกเลิกมาตรา 112 เพราะฉะนั้นผมว่าพรรคก้าวไกลเป็นโมเดลที่น่าสนใจ” มิฟตาฮุลกล่าว

อย่างไรก็ตาม มิฟตาฮุลชี้ว่า ในบริบทการเมืองของอินโดนีเซีย การก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาโลดแล่นในสนามการเมืองระดับชาติไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อเทียบกับประเทศไทย ด้วยกฎกติกาหลายอย่างที่ไม่เอื้อนักต่อการเติบโตของพรรคใหม่หรือพรรคที่ไม่ได้มีเงินทุนสนับสนุนมากมาย เช่น ข้อกำหนดที่ให้พรรคการเมืองต้องมีสำนักงานสาขาในทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือการกำหนดเกณฑ์ให้พรรคการเมืองต้องได้คะแนนเสียงเลือกตั้งขั้นต่ำร้อยละ 4 จึงจะได้รับจัดสรรที่นั่งในสภา ซึ่งนี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูป

เมื่อพื้นที่การเมืองยังไม่เอื้อให้คนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าเข้าไปรวมพลังต่อสู้ได้มากนัก การเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่ที่ไม่เป็นทางการ ไม่ว่าจะบนท้องถนนหรือในโลกออนไลน์ จึงยังคงเป็นหนทางต่อสู้หลักของพวกเขา แต่รูปแบบการเคลื่อนไหวจะปรับเปลี่ยนไปทิศทางไหนนั้น คงขึ้นอยู่กับว่ากระแสลมแห่งประชาธิปไตยจะถอยหวนทิศหรือไม่ ภายใต้ว่าที่ประธานาธิบดีปราโบโว ที่จะขึ้นสู่อำนาจอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้

การประท้วงของกลุ่มนักศึกษาอินโดนีเซียก่อนการเลือกตั้งปี 2024
ภาพโดย DEVI RAHMAN / AFP)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save