“ถ้าพรรค MUDA เดินรอยตามพรรคก้าวไกล ด้วยการก้าวข้ามไปไกลกว่าแค่การเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ มันน่าจะทำให้ MUDA และมาเลเซียมีความหวังมากขึ้น”
“มันคงจะดีมากถ้าพรรค PSI (Partai Solidaritas Indonesia) ทำได้แบบนี้บ้าง”
หลังจากที่พรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่แสดงความรู้สึกกันอย่างอึกทึกครึกโครม กระแสข่าวนี้ยังสร้างความตื่นเต้นต่อผู้คนในประเทศรอบอาเซียน รวมถึงในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่พบว่าชาวเน็ตจำนวนหนึ่งออกมาทวีตข้อความแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของพรรคก้าวไกลในครั้งนี้ และจำนวนไม่น้อยหันย้อนมามองเปรียบเทียบกับพรรคคนรุ่นใหม่ในประเทศตัวเอง ดังตัวอย่างข้อความที่เห็นข้างต้น
การเติบโตขึ้นมามีบทบาททางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในช่วงปลาย Gen X ไปจนถึง Gen Z ในหลายประเทศอาเซียน ถือเป็นปัจจัยนำมาซึ่งการก่อกำเนิดของพรรคการเมืองที่สร้างแบรนดิงว่าเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ ในช่วงทศวรรษ 2010-2020 เริ่มจากพรรค PSI อินโดนีเซียที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2014 หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนั้น ตามด้วยพรรคอนาคตใหม่ของไทยที่เกิดขึ้นในปี 2018 ก่อนถูกยุบพรรคและเปลี่ยนผ่านสู่พรรคก้าวไกลในปี 2020 และในปีเดียวกันนั้นเอง มาเลเซียก็ก่อกำเนิดพรรค MUDA (Malaysian United Democratic Alliance) ขึ้น โดยบอกว่าพรรคอนาคตใหม่คือหนึ่งในแรงบันดาลใจของการตั้งพรรค
แม้จะอยู่ท่ามกลางบริบทสังคมการเมืองที่แตกต่างกัน แต่สามพรรคคนรุ่นใหม่ในทั้งสามประเทศนี้มีความมุ่งหมายสูงสุดคล้ายกัน คือการต่อสู้กับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึก พาประเทศออกจากวังวนการเมืองเก่าสู่การเมืองใหม่ที่สร้างสรรค์ ทันความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ ได้มีบทบาทหรือส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางประเทศมากขึ้น
ทว่าชะตาชีวิตของสามพรรคร่วมอุดมการณ์กันนี้กลับไม่ได้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่พรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล สามารถก้าวขึ้นเป็นพรรคขนาดใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งเป็นพรรคอันดับหนึ่งที่มีสิทธิชอบธรรมในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ MUDA และ PSI พรรคนรุ่นใหม่ในสองประเทศแถบภาคพื้นสมุทรอาเซียนกลับยังไปไม่ถึงฝัน
พรรค MUDA – มาเลเซีย
“…คนรุ่นใหม่มักจะให้ความสำคัญกับนโยบายและการแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคม มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและศาสนา และไม่ได้ชื่นชอบวิถีการเมืองแบบเก่าๆ…”
ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq) หัวหน้าพรรค MUDA วัย 30 ในตอนนั้น ให้สัมภาษณ์กับ 101 ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ของมาเลเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 อันถือเป็นการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกที่พรรคเข้าร่วม ด้วยความหวังว่าคนรุ่นใหม่ที่ฝันเห็นสังคม-การเมืองแบบใหม่จะเทคะแนนให้พรรค MUDA ที่มุ่งหวังตั้งใจตอบโจทย์พวกเขา
ในการเลือกตั้งครั้งนั้น MUDA จับมือเป็นพันธมิตรแบบหลวมๆ กับแนวร่วมการเมืองสายปฏิรูปที่อุดมการณ์คล้ายกันอย่างปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan: PH) ที่นำโดยอันวาร์ อิบราฮิม หลังจากการเจรจาแบ่งเขตพื้นที่ลงชิงชัยร่วมกับ PH แล้ว MUDA ได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันทั้งสิ้น 6 เขต จาก 222 เขตทั่วประเทศ
แม้ในที่สุดแนวร่วม PH+MUDA จะคว้าที่นั่งในสภาสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง และสามารถจับมือแนวร่วมอื่นๆ ตั้งรัฐบาล ส่งอันวาร์ขึ้นเป็นนายกฯ ได้สำเร็จ แต่เมื่อมองเจาะลงไปดูผลงานของพรรค MUDA พบว่าพรรคชนะการเลือกตั้งเพียง 1 จาก 6 เขต เท่านั้น โดยเขตพื้นที่ที่คว้าชัยชนะคือเมืองมัวร์ (Muar) ในรัฐยะโฮร์ (Johor) ซึ่งซาดีคคือผู้ลงชิงชัยด้วยตัวเอง ทำให้พรรค MUDA มีเพียงที่นั่งเดียวจาก 222 ที่นั่งในสภา และไม่ได้รับจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีแม้แต่ตำแหน่งเดียว
แม้คนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 18-40 ปี จะเป็นชนกลุ่มใหญ่สุด จนซาดีคและบรรดานักวิเคราะห์มองว่าคือ kingmaker ของการเลือกครั้งนี้ แต่ที่จริงแล้ว kingmaker เหล่านี้เลือกใครกันแน่?
เจมส์ ไช (James Chai) นักวิชาการอาคันตุกะภาควิชามาเลเซียศึกษา สถาบันวิจัย ISEAS-Yusof Ishak ทำการสำรวจถึงการตัดสินใจและแนวคิดทางการเมืองของคนรุ่นใหม่มาเลเซียในการเลือกตั้ง 2023 โดยพบว่าแนวร่วมที่คนรุ่นใหม่โน้มเอียงใจเข้าหามากที่สุด ไม่ใช่ PH+MUDA แต่เป็นแนวร่วมสายอนุรักษนิยมอย่าง เปอริกาตัน เนชันแนล (Perikatan Nasional: PN) ซึ่งประกอบด้วยสองพรรคใหญ่ คือพรรค PAS (Parti Islam Se-Malaysia )ที่นิยมแนวทางศาสนาอิสลาม และ Bersatu ที่มีแนวคิดเชื้อชาตินิยมมลายู อันถือได้ว่ายืนบนอุดมการณ์ขั้วตรงข้ามกับ PH+MUDA ที่ยึดแนวคิดพหุเชื้อชาติและพหุศาสนา โดย PN เป็นแนวร่วมที่คว้าที่นั่งสูงสุดอันดับ 2 ชนิดหายใจรดต้นคอ PH+MUDA และกำลังเป็นฝ่ายค้านในสภาปัจจุบัน
ความนิยมใน PN ที่มาแรงแม้กระทั่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือสิ่งสะท้อนอย่างดีว่าการเมืองอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติและศาสนายังคงหยั่งรากลึกในคนมาเลเซีย และไม่ได้เป็นอย่างที่ซาดีคคิดไว้ว่าคนรุ่นใหม่มาเลเซียไม่เอาการเมืองเชื้อชาติและศาสนานิยมแล้วแต่อย่างใด
งานศึกษาของไชยืนยันความจริงข้อนี้ โดยพบว่าคนรุ่นใหม่มากถึงร้อยละ 70 โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เชื้อสายมาเลย์ซึ่งเป็นเชื้อชาติส่วนใหญ่ ต้องการให้รัฐบาลใหม่ยึดมั่นแนวทางศาสนาอิสลาม ขณะที่ราวร้อยละ 55 เชื่อว่าการมีพรรคการเมืองที่มีแนวทางเชื้อชาตินิยมยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเมืองมาเลเซีย และเกินกว่าครึ่งยังเชื่อว่าการมีนโยบายรัฐที่อิงบนฐานเชื้อชาติในบางนโยบายยังคงต้องมีอยู่ และที่น่าสนใจคือคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเชื้อสายมาเลย์ ร้อยละ 67 มองอัตลักษณ์ตัวเองเป็นอิสลามมากกว่าเป็นเชื้อชาติมาเลย์ ซึ่งต่างจากในอดีตที่คนมักยึดถือเชื้อชาติมาก่อนศาสนา
แม้กระแสลมจะเอนไปทางอนุรักษนิยม แต่ก็ใช่ว่าคนหนุ่มสาวมาเลเซียจะปฏิเสธการเมืองใหม่เสียทีเดียว ผลสำรวจชี้ว่าคนรุ่นใหม่ร้อยละ 91 อยากเห็นการเมืองสะอาดและไม่มีทางยอมรับได้ต่อการคอร์รัปชัน หลังจากที่ต้องทนอยู่กับการเมืองที่เต็มไปด้วยการทุจริตมานานหลายปี กระทั่งฟางเส้นสุดท้ายขาดผึงเมื่อการทุจริต 1MDB ถูกเปิดโปงในปี 2015 ภายใต้ยุครัฐบาลแนวร่วมบาริซาน เนชันแนล (Barisan Nasional: BN) ที่ผูกขาดอำนาจมานาน โดยคนหนุ่มสาวมาเลเซียยังเชื่อว่าปัญหาคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกสัมพันธ์อย่างยิ่งกับปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและปัญหาสังคมต่างๆ นานาที่พวกเขาเผชิญอยู่ ทำให้พวกเขาปฏิเสธแนวร่วมดั้งเดิมอย่าง BN และหันมามอง PN และ PH+MUDA ที่ต่างก็ชูประเด็นการเมืองสะอาดขึ้นเป็นจุดขาย
หากถามว่าคนหนุ่มสาวมาเลเซียเลือกแนวร่วมใดในสองทางเลือกนี้ คำตอบก็ต้องย้อนกลับไปที่ประเด็นศาสนาและเชื้อชาติ โดยผลสำรวจพบว่าคนที่เลือก PN ซึ่งส่วนมากเป็นมาเลย์มุสลิม ต้องการรัฐบาลที่สะอาดและยึดตามหลักศาสนาอิสลาม ขณะที่คนเลือก PH+MUDA ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่คนเชื้อสายมาเลย์ ก็ต้องการรัฐบาลสะอาด ทว่าใฝ่ฝันถึงสังคมพหุวัฒนธรรม และการเมืองที่แยกขาดจากศาสนา
เมื่อมองไปยังพรรค MUDA จึงอาจบอกได้ว่าแนวคิดของพรรคที่ไม่ได้ยึดติดเพียงศาสนาอิสลามและเชื้อชาติมาเลย์ ไม่สามารถดึงดูดใจคนรุ่นใหม่มาเลย์มุสลิมอนุรักษนิยมที่ถือเป็นคะแนนเสียงกลุ่มใหญ่ได้ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด
งานศึกษาของไชยังให้เหตุผลว่า อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรค MUDA ไปไม่ถึงฝั่งฝัน คือภาพลักษณ์ของความเป็นพรรคคนเมือง จึงเจาะพื้นที่ชนบทและชานเมืองได้ยาก เมื่อเทียบกับฝั่งแนวร่วม PN โดยเฉพาะพรรค PAS ที่มีข้อได้เปรียบในฐานะพรรคเก่าแก่ที่สร้างเครือข่ายหยั่งรากในพื้นที่ชนบทห่างไกลหลายพื้นที่มาอย่างแข็งแรงและยาวนาน และยังสามารถปลูกฝังกล่อมเกลาแนวคิดของพรรคเข้าสู่เยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งผ่านทางเครือข่ายโรงเรียนสอนศาสนา และเครือข่ายเยาวชน จนเป็นฐานคะแนนทางการเมืองอันแข็งแกร่งที่พรรคหน้าใหม่อย่าง MUDA ยากจะทะลวง อีกทั้งการเป็นพรรคใหม่เอี่ยมที่ยังไม่เห็นผลงานประจักษ์มาก่อน ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้คนยังไม่มั่นใจในพรรคมากนัก
ขณะที่ดันแคน แม็กคาร์โก (Duncan McCargo) ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษานอร์ดิกและศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ก็ชี้ว่าการที่ MUDA เน้นการหาเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยไม่ได้ลงพื้นที่มากพอ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พรรคยังเจาะคะแนนเสียงหลายพื้นที่ได้ยาก
แม็กคาร์โกยังให้ความเห็นว่าปัญหาของพรรค MUDA ที่ทำให้ยังไปไม่ไกลเหมือนพรรคอนาคตใหม่ คือภาพลักษณ์และท่าทีในความเป็นผู้ต่อต้านระบบเก่าที่ยังไม่แข็งแรงพอ อีกทั้งการที่พรรคมีผู้นำที่เป็นจุดขายเพียงคนเดียวคือซาดีค ก็เป็นอีกสาเหตุ ซึ่งแม็กคาร์โกชี้ว่าต่างจากพรรคอนาคตใหม่ที่สามารถสร้างคนอื่นๆ ในพรรคขึ้นมาเป็นจุดขายได้นอกเหนือไปจากเพียงหัวหน้าพรรค ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบ MUDA กับอนาคตใหม่-ก้าวไกล ก็ต้องคำนึงถึงความต่างของบริบทกฎเกณฑ์แวดล้อม ขณะที่อนาคตใหม่-ก้าวไกล ส่งผู้สมัครลงครบทุกเขตพื้นที่ทั่วประเทศ พรรค MUDA ส่งผู้สมัครเพียง 6 เขตเท่านั้น ซึ่งส่วนมากเป็นเขตพื้นที่ที่ MUDA ไม่ได้มีความถนัด นอกจากนี้กติกาการเลือกตั้งของมาเลเซียที่มีเพียงการเลือก ส.ส. เขต โดยไม่มี ส.ส. บัญชีรายชื่อเหมือนอย่างไทย ก็ทำให้ MUDA ไม่ได้มีโอกาสพิสูจน์คะแนนนิยมของพรรคตัวเองในระดับประเทศ
พรรค PSI – อินโดนีเซีย
คล้อยหลังเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนจากการเลือกตั้งไทยที่พรรคอนาคตใหม่สามารถคว้าเก้าอี้สูงสุดเป็นอันดับ 3 ในสภา พรรค PSI ก็ลงสนามเลือกตั้งใหญ่เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งอินโดนีเซีย เดือนเมษายน 2019 นำโดยหัวหน้าพรรค เกรซ นาตาลี (Grace Natalie) อดีตนักข่าวสาวที่มีอายุ 37 ปีในตอนนั้น ซึ่งพรรค PSI สนับสนุนโจโก วิโดโด (Joko Widodo) จากพรรค PDI-P เป็นประธานาธิบดี
พรรค PSI มีสมญานามว่าพรรคของคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ (Partai Millenial) ด้วยสมาชิกส่วนใหญ่ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ภายใต้ข้อบังคับของพรรคที่รับเพียงสมาชิกที่มีอายุไม่เกิน 45 ปี ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของพรรคหนีไม่พ้นคนหนุ่มสาวที่มีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงกลุ่มนิวโหวตเตอร์ที่มีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 30
คนรุ่นใหม่ไม่ใช้กลุ่มเป้าหมายเดียวของ PSI แต่ในภาพใหญ่ พรรคตั้งเป้าหมายในการต่อสู้เพื่อคนกลุ่มน้อย ทั้งกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มคนที่ไม่ได้นับถือมุสลิม เพื่อให้มีสิทธิมีเสียงในสังคม-การเมืองมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งทั่วไป 2019 ปรากฏว่าพรรค PSI ได้คะแนนเสียงทั่วประเทศคิดเป็นสัดส่วนเพียงราวร้อยละ 1.9 ซึ่งไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามกฎหมายอินโดนีเซียที่กำหนดให้พรรคที่จะมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรต้องได้รับคะแนนเสียงในสัดส่วนร้อยละ 4 ขึ้นไป จึงแปลว่า PSI ไม่ได้ที่นั่งเลยแม้แต่ที่เดียว
มีหลายปัจจัยที่ทำให้ PSI ยังไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนั้น เหตุผลหนึ่งในนั้นไม่ต่างจากสิ่งที่พรรค MUDA ของมาเลเซียเผชิญ นั่นคือกระแสการเมืองอัตลักษณ์ทางศาสนาและเชื้อชาติที่โหมแรงขึ้นทุกขณะ รวมถึงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยหนึ่งปีก่อนหน้านั้นเกิดกรณีผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาชาวจีน-คริสเตียน บาซูกี จาฮาจา ปุรนามา (Basuki Tjahaja Purnama) หรือ อาฮก (Ahok) ถูกขับออกหลังกลุ่มมุสลิมพากันประท้วงขับไล่ในข้อหาที่เขาดูหมื่นศาสนาอิสลาม ก่อนที่เขาจะถูกจำคุกในเวลาต่อมา
ความตึงเครียดระหว่างเชื้อชาติ-ศาสนาที่ขยายตัวในอินโดนีเซีย จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อหัวหน้าพรรคอย่างนาตาลี ซึ่งมีเชื้อสายจีน-มาเลย์-ดัตซ์ และนับถือคริสต์ ขณะที่แนวทางของพรรคที่ให้ความสำคัญกับคนที่ไม่ใช่มุสลิมและกลุ่มผู้หญิง ก็ถูกมองว่าท้าทายขนบสังคม
นอกจากนี้ การเป็นพรรคหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีผลงานพิสูจน์ให้เห็นก็ทำให้พรรคยากที่จะดึงดูดใจประชาชน รวมถึงกลุ่มเป้าหมายของพรรคอย่างคนรุ่นใหม่ เมื่อเทียบกับพรรคใหญ่ดั้งเดิม นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาสำหรับพรรค PSI เท่านั้น แต่พรรคการเมืองหน้าใหม่ทั้งสี่พรรคที่ลงเลือกตั้งในครั้งนั้นก็ไม่มีพรรคใดได้ที่นั่งในสภาเลย สะท้อนว่าอิทธิพลของกลุ่มการเมืองเก่ายังทรงอิทธิพลอยู่มากจนยากที่พรรคน้องใหม่จะแทรกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท ที่พรรค PSI แทบไม่สามารถคว้าคะแนนเสียงได้เลย โดยส่วนหนึ่งมีการวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะแบรนดิงของพรรคที่เอนไปทางคนเมืองเสียมาก
ถึงตรงนี้เห็นได้ว่าจุดอ่อนของพรรค PSI คล้ายคลึงกับพรรค MUDA ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย แต่สำหรับ PSI แล้ว จุดหนึ่งที่ทำให้พรรคแตกต่างจาก MUDA และอนาคตใหม่-ก้าวไกล อีกทั้งยังเป็นจุดที่นำไปสู่การวิเคราะห์ว่าอาจเป็นเหตุให้ PSI กวาดคะแนนเสียงไม่ได้นั้น คือการมีหัวหน้าพรรคและสมาชิกเกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง ภายใต้สังคมอินโดนีเซียที่ผู้คนยังไม่ได้เปิดกว้างต่อผู้หญิงในพื้นที่การเมืองมากนัก
ก้าวต่อไปของ MUDA-PSI กับอานิสงส์สึนามิก้าวไกล?
สนามเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาของพรรค MUDA และ PSI ยังเป็นเพียงครั้งแรกเท่านั้น สำหรับ MUDA การเลือกตั้งใหญ่ของถัดไปต้องรอถึงปี 2027 หากไม่มีการยุบสภาเสียก่อน แต่ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังมีการเลือกตั้งระดับรัฐใน 6 รัฐของมาเลเซีย เป็นสนามให้พรรค MUDA ได้ลองฝีมือ โดยผลเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกแก่พรรค MUDA ว่ากระแสความคิดของคนมาเลเซียกำลังพัดเข้าใกล้หรือออกห่างจากพรรค ขณะที่ PSI ไม่ต้องรอนานนัก เพราะใกล้จะได้เข้าสู่ศึกเลือกตั้งใหญ่ครั้งใหม่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024 ภายใต้การนำทัพของหัวหน้าพรรคคนใหม่ กีริง คเนศา (Giring Ganesha) อดีตนักร้อง-นักแสดงหนุ่มวัย 39 ปี
MUDA และ PSI จะถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรก ปรับกลยุทธ์ ตีโจทย์ใหม่ แล้วก้าวขึ้นมากระชับพื้นที่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้หรือไม่ ยังคงต้องรอติดตาม แต่ที่น่าสนใจไม่น้อยคือสึนามิสีส้มที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อเดือนที่แล้ว จะส่งแรงกระเพื่อมให้ MUDA และ PSI มีแรงฮึด หรือจะช่วยให้คนมาเลเซียและอินโดนีเซียเริ่มหันมามองพรรคคนรุ่นใหม่ในประเทศตัวเองมากขึ้นหรือไม่?
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ดูเหมือนว่าก้าวต่อไปของ MUDA และ PSI อาจยังคงไม่ง่ายเหมือนอย่างพรรคก้าวไกล เพราะมีก้างชิ้นใหญ่ คือกระแสการเมืองอัตลักษณ์ที่กำลังพุ่งแรงทั้งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ขณะที่พรรคก้าวไกลเสนอแนวทางเสรีนิยมที่สอดคล้องไปทางเดียวกันกับกระแสความคิดคนรุ่นใหม่ ทั้งยังสามารถดึงดูดใจคนรุ่นอื่นๆ และยังทะลวงพื้นที่ต่างจังหวัดได้ จนเรียกได้ว่าพรรคก้าวไกลในวันนี้ก้าวข้ามคำว่าพรรคคนรุ่นใหม่ไปแล้ว พรรค MUDA และ PSI ที่เสนอชุดความคิดคล้ายกันกับก้าวไกล กลับสวนทางกับวิถีคิดของคนรุ่นใหม่จำนวนมากในประเทศที่มุ่งเข้าหาอนุรักษนิยม
ภายใต้บริบทที่สวนกระแสกันกับประเทศไทยนี้ คือโจทย์สำคัญที่พรรค MUDA และ PSI ต้องตีให้แตกว่าจะโน้มน้าวกระแสความคิดประชาชนให้เข้าหาตนได้อย่างไร หรืออาจต้องยอมโอนอ่อนปรับจูนแนวทางวิสัยทัศน์เพื่อให้คนหนุ่มสาวยอมเปิดใจหันมามองมาขึ้นหรือไม่?
อ้างอิง
Young Hearts and Minds: Understanding Malaysian Gen Z’s Political Perspectives and Allegiances
Where to Grow From Here? MUDA’s Struggles in Muar, and Beyond
ขบวนการคนหนุ่มสาวมาเลเซีย เมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่งอก
Podcast – Malaysia’s GE15: Reflections on a Snap Election
The Future of Indonesia’s ‘Millennials Party’
PSI: Indonesia’s new millennials party
A ‘millennials party’ dares to break Indonesia’s political mould
In Indonesia, one party’s lonely battle for minority voices
Will Indonesian youths vote for change?
Floating Liberals: Female Politicians, Progressive Politics, and PSI in the 2019 Indonesian Election