fbpx

ระเบียบของกระแสสำนึกใน ‘พัทยาและมาหยา’

ท่านผู้อ่านเคยกลับไปอยู่กับแฟนเก่าแบบสองต่อสองไหม

เคยกลับไปใช้ช่วงเวลาสั้นๆ ในที่ๆ มีกันสองคนเท่านั้นกับแฟนเก่าหรือไม่

หากคำตอบคือเคย คำถามก็คือในห้วงเวลาขณะนั้น ท่านคุยอะไรกับแฟนเก่าบ้าง การถามสารทุกข์สุกดิบต่างๆ ใช่หรือไม่ หากใช่ ก็ดี… แต่ถ้าไม่ใช่ จริงๆ แล้วท่านอยากคุยอะไรกับแฟนเก่าของท่านกันแน่

ท่านมีสิ่งที่ตกค้างในใจกับใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่? ถ้ามี เหตุใดท่านจึงปล่อยให้มันกลายเป็นขวากหนามทิ่มตำใจท่านเนิ่นนานจนอาจทำให้ท่านกลายเป็นคนเย็นชาต่อความรู้สึกใดๆ และมันอาจกลายเป็นบุคลิกของท่านไปแล้ว หากมันไม่ใช่อะไรที่จะทิ่มตำจิตใจของท่าน… ก็ดี

ในความไม่ราบเรียบของความสัมพันธ์ที่ผ่านมา ท่านคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกอยู่กี่เปอร์เซนต์และคิดว่าอีกฝ่ายคือคนผิดอยู่กี่เปอร์เซนต์ ขอให้คิดอย่างเด็ดขาดว่าไม่เราถูกที่สุดเขาก็ผิดที่สุด เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะผิดบ้างและเขาผิดบ้าง เรื่องนี้ไม่น่าจะจริงและน่าจะอยู่ในละครคุณธรรมเสียมากกว่า

‘พัทยาและมาหยา dead daring and buried bae’ เป็นนวนิยายขนาดร้อยหน้านิดๆ ที่เล่าเรื่องอดีตคู่รักที่ต้องมานั่งรถอยู่ด้วยกันบนเส้นทางปราณบุรีถึงเชียงใหม่ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องโดยสารที่คับแคบเป็นทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและทาบทับด้วยเรื่องราวในอดีตและการคาดเดาว่าอีกฝ่ายจะรู้สึกอย่างไร แน่ล่ะนี่เป็นนวนิยายที่เล่าถึงความสัมพันธ์ที่ไม่สมบูรณ์ แหว่งวิ่น มีรอยแผล มีรอยช้ำประทับอยู่ในความทรงจำ ซึ่งเป็นเนื้อหา ‘ยอดฮิต’ ที่มีอยู่มากมายในตลาดวรรณกรรมไทยร่วมสมัยและเป็นเนื้อหาที่อาจอยู่ในวรรณกรรมหลายๆ แนว แต่สิ่งที่ผมสนใจในนวนิยายเรื่องนี้ก็คือวิธีในการเล่าที่มีความน่าสนใจ ทำให้เราเห็นว่านักเขียนรุ่นใหม่ๆ นั้นเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือเล่าเรื่องที่หลากหลาย

สำนึกถึงกระแสของกระแสสำนึก

ในคำตาม ผู้เขียนได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเขียนวรรณกรรมเอาไว้ว่า

“ในช่วงที่ฉันเริ่มเป็นนักเขียนเต็มตัว (ที่หมายความว่ามีอาชีพเดียวคือเป็นนักเขียน) งานเขียวแนวกระแสสำนึกเป็นสิ่งที่ตรึงใจฉันมาก หนังสือที่ทำให้ฉันได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่ากระแสสำนึกคือ To the lighthouse ของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) แน่นอน…แวบแรกคือฉันอ่านแทบไม่รู้เรื่อง เป็นความรู้สึกประหลาด ทั้งที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ฉันก็อ่านมันแทบไม่รู้ความ แต่ที่แปลกยิ่งกว่าคือ ฉันก็ยังดันทุรังอ่านมันอยู่ดี และในตอนจบ เมื่อถึงหน้าสุดท้าย ฉันก็รู้ว่ามันคือแนวที่น่าหลงใหล มันคือธรรมชาติของความคิดมนุษย์ซึ่ง…เละเทะ ลักลั่น แถมยังเอาแน่เอานอนไม่ได้

ความประทับใจในกลวิธีและแนวการเขียนแบบกระแสสำนึกของผู้เขียนคือ ลาดิด (Ladys) ทำให้เธอสนใจที่จะจับเอาแนวการเขียนเช่นนี้มาใช้ในการเขียนวรรณกรรม ในบทสัมภาษณ์ลาดิดในเว็ปไซต์ The Matter เธอพยายามอธิบายงานเขียนแนวกระแสสำนึกเอาไว้ว่า ไม่ได้เรียนมานะ  ไม่มั่นใจเหมือนกัน แต่สำหรับเรา มันคือการทำให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ เช่น นี่คือกำไลหินลาพิสลาซูรี (ยกข้อมือให้ดู) มันก็เป็นแค่หินสีน้ำเงินธรรมดา แต่ถ้าเขียนแบบกระแสสำนึก มันจะไหลไปได้ว่า ตอนที่เห็นเรานึกถึงอะไร อย่างเรา เห็นก้อนหินนี้แล้วนึกถึงท้องฟ้าในคืนที่มืดจนมองเห็นแสงของดวงดาว เราคิดถึงความทรงจำวัยเด็กที่ได้ไปเชียงใหม่กับที่บ้าน ท้องฟ้าคืนนั้นมืดในแบบที่ไม่เคยเห็นที่บ้านเกิดของตัวเอง เหมือนจะเหงา แต่ก็อบอุ่น ทั้งที่ปีนั้นเชียงใหม่ยังหนาวอยู่ แต่เรากลับรู้สึกดีมากๆ เพราะในวัยนั้น เรายังมีโอกาสได้ไปสนุกแบบนั้น”[1] ต่อคำถามในบทสัมภาษณ์เดียวกันในประเด็นเรื่องความคาดหวังที่มีต่อผู้อ่านเรื่อง ‘พัทยาและมาหยา dead daring and buried bae’ คืออะไร ลาดิดตอบว่า ข้อแรกต้องบอกว่างานกระแสสำนึกที่คนไทยเขียนมีน้อยมาก เพราะฉะนั้น เรารู้สึกว่าแค่ได้เพิ่มจำนวนหนังสือประเภทนี้เข้าไปในตลาดก็คงช่วยให้คนไทยอ่านง่ายขึ้น เพราะมันไม่ต้องแปลต่อมาอีกทอด[2]

ประเด็นที่ผมสนใจก็คือ ลาดิดนั้นไม่เพียงแต่หลงใหลในงานเขียนแนวกระแสสำนึกแต่ยังนำวิธีการมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองและยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่างานของเธอคืองานเขียนแนวกระสำนึก นอกจากนี้ เรายังเห็นได้ว่า การตีความและความเข้าใจแนวเขียนแบบกระแสสำนึกของลาดิดนั้นมีลักษณะในเชิงปฏิบัติ นั่นคือ เมื่อเธออ่านงานวรรณกรรมแบบกระแสสำนึก เธอจะเห็นว่า งานกระแสสำนึกให้ความสำคัญกับกับบรรยายและอธิบายอารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำ ที่หลั่งไหลกันอย่างต่อเนื่อง

ผมไม่ได้มีหน้าที่มาตรวจสอบว่าความเข้าใจในเรื่องแนวเขียนแบบกระแสสำนึกของลาดิดนั้นถูกต้องตามตำราหรือไม่ อย่างไร สิ่งที่ผมให้ความสนใจประการหนึ่งก็คือ การเห็นลักษณะในเชิงปฏิบัติมากกว่าทฤษฎีของลาดิด กล่าวคือลาดิดนำประสบการณ์ตรงจากการอ่านเขียนแนวกระแสสำนึกและฉวยเอาเทคนิคของกระสำสนึกมาใช้ประโยชน์ในวิธีการเล่าเรื่องของเธอเอง ผมคิดว่านักเขียนแต่ละคนมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเลือกวิธีการ/รูปแบบ/กลวิธี ในการนำเสนอเรื่องราวที่ตนเองอยากจะเล่า บางครั้งอาจเป็นการดัดแปลง ‘ประเภท’ (genre) ต่างๆ ของวรรณกรรมหรือสื่อในรูปแบบอื่นๆ เช่น ศิลปะ ภาพยนตร์ มาฉวยใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเล่าเรื่องของตัวเอง

แม้กระนั้น เราอาจทำความเข้าใจในเบื้องต้นร่วมกันได้ก่อนว่ากระแสสำนึกนั้นเป็น ‘เทคนิคทางวรรณกรรม’ อย่างหนึ่งที่นักเขียนนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 20 คุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งก็คือบทบาทของผู้เล่าเรื่องได้ลดน้อยลงไปมากและไปเน้นการขยายรายละเอียดในส่วนลึกของจิตใจตัวละคร หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นเอากล้องจุลทรรศน์ไปส่องจิตใจของตัวละครและปล่อยให้ทุกอย่างพรั่งพรูออกมาอย่างไร้ทิศทาง ไร้การควบคุม ดังที่เวอร์จิเนีย วูลฟ์กล่าวไว้ว่า

“Let us record the atom as they fall upon the mind in the order in which they fall, let us trace the pattern, however disconnected and incoherent in appearance, which each sight or incident scores upon the consciousness” [3]

ดังนั้นเมื่อเราอ่านงานเขียนแนวกระแสสำนึก โลกภายในจิตใจตัวละครจะถูกตีแผ่อย่างละเอียดที่สุดและไร้ระเบียบมากที่สุด เพื่อแสดงศักยภาพของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด

ระเบียบของอดีตและความทรงจำกับปัจจุบันในห้องโดยสาร

อย่างที่ผมบอกไปว่า สิ่งที่ผมสนใจในนวนิยายเรื่องนี้คือวิธีการเล่ามากกว่าเรื่องที่ถูกเล่า ตัวเรื่องเป็นการเล่าถึง ‘พัทยา’ และ ‘มาหยา’ อดีตคู่รักที่ต้องมาร่วมรถคันเดียวกันอีกครั้งหลังจากเลิกรากันไปหลายปี วิธีการเล่าของนวนิยายเรื่องนี้คือการบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องโดยสารตลอดทางปราณบุรีถึงเชียงใหม่อย่างละเอียดลออ ในขณะเดียวกันก็มีการเล่าย้อนอดีตสลับไปมาอย่างไม่เป็นระเบียบโดยมีจุดอ้างอิงอาจเป็นสิ่งของหรือเหตุการณ์บางอย่างในปัจจุบันที่ทำให้ตัวละครทั้งสองนึกย้อนไปถึงอดีต หน้าที่ของผู้เล่าเรื่องคือการเข้าไปอธิบายเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้

ประเด็นที่ผมสนใจก็คือ การจัดวางอดีตกับปัจจุบันเอาไว้ในที่แห่งเดียวกันซึ่งดูเหมือนจะไร้ระเบียบแต่เต็มไปด้วยระเบียบที่ชัดเจนอย่างที่สุด ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักของอดีตคู่รักถูกเล่าผ่านบรรยากาศอันแสนอึดอัดนั่นคือในพื้นที่ห้องโดยสารรถยนต์ ลาดิดบรรยาย ‘บรรยากาศ’ ของความอึดอัดที่ห้อมล้อมตัวละครทั้งสองเอาไว้ เช่น

“เป็นหล่อนเองที่อยู่ไม่สุขเมื่อไร้บทสนทนา เธอจะไม่พูดอะไรเลยหรือ หล่อนอยากถามออกไปเหมือนในอดีต อยากพูดง่ายอย่างนั้น แต่หล่อนพูดไม่ออก หล่อนไม่แน่ใจว่าควรพูดดีหรือไม่ อีกทั้งหล่อนไม่รู้ หล่อนใคร่รู้หรืออยากถามอะไรจากมาหยากันแน่ ดวงตาใต้แว่นกันแดดเหลือบมองคนขับอีกหน คงจะง่าย หากเธอยังเหมือนเดิม คล้ายว่าฝันลมๆ แล้งๆ พัทยาหัวเราะเสียงเบากับตนเอง หล่อนเห็นว่ามายาหันมา ‘ไม่มีอะไร ไม่มีอะไร’ หล่อนย้ำถึงสองครั้ง มาหยาหันกลับไปมองถนนแล้ว แต่ดวงตายังจดจ้องใบหน้าหล่อนอยู่” (หน้า 35)

เกือบตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นการบรรยายบรรยากาศเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา และเราจะสังเกตได้ว่าหากตัวละครใดตัวละครหนึ่งเกิดความกังวลใจ อึดอัด หรือรู้สึกไม่สบอารมณ์ก็จะแสดงอากัปกิริยาที่ชัดเจนและสม่ำเสมอมากๆ เช่น พัทยานั้นจะชอบกอดอก ส่วนมาหยาจะเม้มปาก ตลอดทั้งเรื่องนั้นหากเราจับ ‘แก่น’ ของวิธีการบรรยายก็จะอยู่ในลักษณะเช่นนี้ ‘อย่างสม่ำเสมอ’ และเป็นระเบียบเรียบร้อยมากๆ

สถานการณ์ในปัจจุบันที่อยู่ในห้องโดยสารรถยนต์เป็นจุดศูนย์กลางที่นำไปสู่การบรรยายเหตุการณ์ในอดีตหรือความทรงจำของตัวละครทั้งสองคนอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อต้องบรรยายความทรงจำของตัวละครทั้งสองก็มักจะปล่อยให้การบรรยายเกิดขึ้นคล้ายว่าจะปล่อยให้ความทรงจำไหลท่วมท้นทั้งหมดอย่างไร้ทิศทางแต่สุดท้ายแล้วผมกลับเห็นว่าลาดิดมีกรอบของการเล่าความทรงจำหรือภูมิหลังของตัวละครที่ชัดเจน นั่นก็คือการใช้เหตุการณ์หรือวัตถุเป็นจุดศูนย์กลางในการพาเรื่องราวจากปัจจุบันไปสู่อดีต เช่นในตอนที่มาหยาขอแวะคอนโดเพื่อเอาสิ่งของบางอย่าง บทสนทนาที่เกิดขึ้นก็คือมาหยาถามพัทยาว่า “คุณอยากลงไปยืดเส้นยืดสายหรือเปล่า ฉันจะได้ดับเครื่อง – ฉันขึ้นไปไม่นานหรอก” (หน้า 45) หลังจากนั้นเหตุการณ์ในอดีตจากความทรงจำของพัทยาที่เกี่ยวข้องกับคอนโดของมาหยาและความสัมพันธ์อีกชุดหนึ่งของพัทยาก็ถูกบรรยายอย่างเป็นระเบียบ

เมื่อต้องเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีต บทสนทนาต่างๆ จะเปลี่ยนไปใช้เครื่องหมายคำพูดเล็ก (‘-’) ซึ่งเป็นการแยกให้เห็นอย่างชัดเจนว่าบทสนทนาดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เหตุการณ์ในอดีตที่ถูกเล่านั้นจนจบและมักจะถูกดึงกลับสู่ปัจจุบันด้วยสถานการณ์บางอย่างหรือเหตุการณ์บางอย่างหรนือบทสนทนาบางบทที่จะเป็นจุดเปลี่ยนในการอธิบายความขัดแย้งในความสัมพันธ์ชุดต่อไป

ผมคิดว่าในนวนิยาย ‘พัทยาและมาหยา dead daring and buried bae’ ของลาดิดชิ้นนี้เป็นงานที่มีระเบียบและโครงสร้างในการเขียนที่ชัดเจน สม่ำเสมอ อยู่ตลอดทั้งเรื่อง แม้จะมีความพยายามทำเหมือนกับว่า ห้วงเวลาของปัจจุบันและอดีตนั้นวิ่งวนไปมาโดยที่หาทิศทางไม่ได้ พยายามทำเหมือนกับว่าความทรงจำในอดีตเป็นสิ่งที่โผล่ผุดขึ้นมาโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่แท้จริงแล้วห้วงเวลาที่ดูเหมือนจะทาบทับกันอย่างไร้ระเบียบนั้นกลับเป็นสิ่งที่มีระเบียบอย่างชัดเจน เป็นความมีระเบียบที่สบสมมาตรกันในทุกๆ มุม ผู้อ่านจะสามารถคาดเดาได้อย่างแน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้นและเมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างหรือบทสนทนาบางชุดเกิดขึ้นมาตัวละครจะนึกถึงเรื่องอะไร

ส่งท้าย

ผมคิดว่า ‘พัทยาและมาหยา dead daring and buried bae’ เป็นงานที่มีความทะเยอทะยานในการเล่าที่น่าสนใจมาก แต่ในความทะเยอทะยานนั้น ผมกลับคิดไปว่า ลาดิด ‘ประนีประนอม’ กับงานของตัวเองและผู้อ่านมากเกินไป ผมทึกทักเอาเองว่า ลาดิดดูเหมือนจะมีความกังวลว่าคนอ่านจะตามไม่ทันกับวิธีของการเล่า ทั้งที่จริงแล้วผมคิดว่าลาดิดมีศักยภาพมากพอที่จะผลักดันได้มากกว่านี้…ผมไม่ได้หมายความว่า ลาดิดควรจะเขียนให้ซับซ้อนกว่านี้หรือทำให้เรื่องทั้งหมดนี้ไม่รู้เรื่องหรืออ่านไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย เพราะผมคิดว่าถ้าเรา – ในฐานะผู้อ่าน – สามารถเข้าไปโลดแล่นอยู่ในกระบวนการคิดของตัวละครทั้งสองตัวได้มันอาจจะช่วยให้เราเข้าใจพัทยาและมาหยาได้อีกหลากหลายมิติ เพราะ “มันคือธรรมชาติของความคิดมนุษย์ซึ่ง…เละเทะ ลักลั่น แถมยังเอาแน่เอานอนไม่ได้” อย่างที่เธอเคยบอกไว้เอง

อย่างไรก็ตาม ผมต้องยืนยันว่ามันเป็นการทึกทักเองของผม ไม่ใช่ข้อสังเกต ไม่ใช่ข้อวินิจฉัย ซึ่งแปลว่ามันผิดได้

และผมขอให้มันผิด


[1] โปรดดูต่อใน https://thematter.co/entertainment/book/ladys/215309?fbclid=IwAR0ooKDasUKeGvTEMtYu93cXSjdZbSQmUqUS2BK_qaG3QL1ASOxpCch991Q 

[2] โปรดดูต่อใน https://thematter.co/entertainment/book/ladys/215309?fbclid=IwAR0ooKDasUKeGvTEMtYu93cXSjdZbSQmUqUS2BK_qaG3QL1ASOxpCch991Q 

[3] โปรดดูต่อใน Verginia Woolf. (1979). ‘Modern Fiction’ in The stream-of-Consciousness technique in the modern novel e.d. Erwin R. Steinberg. New York: Kennikat press p.67

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save