fbpx

วิถี ‘ไทยเบฟ’ กับการเติบโตกลางคลื่นลม: เจริญ – ฐาปน สิริวัฒนภักดี

เส้นทางธุรกิจของ เจริญ สิริวัฒนภักดี เริ่มต้นในวัยเพียงเก้าขวบ ด้วยแรงบันดาลใจด้านการค้าขาย รวมถึงการปลูกฝังเรื่องความขยันและอดทนจากครอบครัว ซึ่งประกอบอาชีพขายหอยทอดในย่านการค้าสำคัญของพระนคร ตลาดเก่า ถนนทรงวาด

ตั้งแต่วัยเยาว์ เจริญค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยเป็นทุนเพื่อต่อยอดการค้าขาย เขามองเห็นโอกาสในทุกย่างก้าวบนเส้นทางที่ตนเองวางเอาไว้ ตั้งแต่อดีตที่เริ่มค้าขายกับโรงงานสุราบางยี่ขัน ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่ทำให้รู้จักธุรกิจสุรา ก่อนจะได้เข้ามาบริหารสุราแสงโสม ซึ่งถือเป็นการเปิดเส้นทางสู่โลกธุรกิจเครื่องดื่ม

ด้วยความเพียรพยายามและความมุมานะของเจริญจนกระทั่งถึงปัจจุบัน อาณาจักรธุรกิจในกลุ่มไทยเบฟเวอเรจก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มครบวงจรที่มั่นคงและยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน และนอกเหนือจากธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจร กลุ่มบริษัททีซีซี (TCC) หรือไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น ยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอีกหลากหลายประเภทอุตสาหกรรมและบริการ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ค้าปลีก ประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม การเกษตร ฯลฯ

เส้นทางธุรกิจกว่าครึ่งศตวรรษของเจริญเต็มไปด้วยเรื่องราวชีวิต ผู้คน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของสังคมไทย แม้เขาจะมองเส้นทางที่ผ่านมาอย่างเรียบง่าย คล้ายว่าไร้วิชา แต่สิ่งที่เขาทำมาทั้งชีวิตทำให้ศาสตร์การทำธุรกิจฝังอยู่ในตัว ทั้งวิชาฝ่าวิกฤตยามคลื่นเศรษฐกิจโหมซัด รวมทั้งการมีสายตาเฉียบคมในการมองหาโอกาสใหม่ๆ เสมอ

ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการรับไม้ต่อจากพ่อ แต่ก็ไม่เกินความสามารถของ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ที่ในวันนี้นำพาไทยเบฟเข้าสู่ยุคใหม่ ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ด้วยสายตาของคนรุ่นลูกที่เรียนเคล็ดวิชาโดยตรงมาจากพ่อ

โจทย์สำหรับองค์กรใหญ่อย่างไทยเบฟ นอกจากความท้าทายแบบเดิมๆ ที่ไม่เคยง่าย ยังมีความท้าทายแบบใหม่ๆ ที่รอคอยอยู่ในอนาคต พวกเขาเรียนรู้อย่างไรและปรับตัวรับมืออย่างไร คำตอบอยู่ในบทสนทนานี้

ตั้งแต่ทำธุรกิจมา มีวิกฤตครั้งไหนที่ลืมไม่ได้ และผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร

เจริญ: นักธุรกิจส่วนใหญ่ต้องการทำให้ธุรกิจใหญ่ขึ้น ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็คงไม่โดนพิษจากต้มยำกุ้ง รวมถึงโควิด-19 ที่ทำให้คนลำบากมาก เพราะคนทั่วไปที่ค้าขายหรือรับจ้างรายวันก็ได้รับผลกระทบด้วย

เรื่องวิกฤตต้มยำกุ้ง นักธุรกิจต้องการขยายธุรกิจหรือต้องการทำสิ่งใหม่ๆ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องโทษตัวเราเอง ซึ่งก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เกิดความเสียหายมากที่สุดตั้งแต่ผมทำมา สมัยก่อนเราทำสุรา (แสงโสม) อยู่ ก็ลำบากเหมือนกัน เพราะเป็นธุรกิจสัมปทานที่เรามีภาระในการชำระภาษีเพื่อให้การดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย และต้องแข่งขันกับคนทำเหล้าเถื่อนหลบเลี่ยงภาษี ผมก็คิดว่าเป็นแบบนี้แล้วคนรุ่นหลังจะทำอย่างไร จึงคิดถึงคำที่คนจีนมักพูดกันว่า “ธนาคารเป็นธุรกิจพันปี ไม่มีล้ม” ผมก็เลยไปลงทุนหุ้นของธนาคารมหานครและธนาคารศรีนคร พอลงทุนไปแล้วก็ไม่ได้ซื้อขายเพิ่มเติม พอเกิดต้มยำกุ้งก็เลยเสียหายมาก แต่เราพยายามประคับประคอง ไม่ขอลดดอกเบี้ย เพราะคู่ชีวิตผมคือคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี บอกว่าเราเดือดร้อนคนเดียวก็อดทน แต่อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน ผมทำธุรกิจก็เชื่อว่าถ้ามีโอกาสเราต้องพยายามทำสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่น อย่าเห็นแก่ประโยชน์ตัวเองเพียงอย่างเดียว

ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เราค้าขายทั่วประเทศ มีโอกาสผูกมิตรกับคนในจังหวัดต่างๆ ใครต้องการขายที่ดินเราก็รับซื้อไว้ บางครั้งเขาเดือดร้อนเราก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือกัน ทำให้มีที่ดินเยอะ แต่พอเกิดต้มยำกุ้งที่ดินราคาตกมาก สิ่งเหล่านี้ถือเป็นบทเรียนที่ล้ำค่ามากๆ

สมัยนั้นธุรกิจสุรามีปัญหาเรื่องเหล้าเถื่อน ผู้บริหารประเทศอยากจะเห็นประเทศเสรี ไม่มีผูกขาด ในปี 2543 ก็เลยมีการประมูลขายโรงงานกลั่นสุราทุกแห่ง (สังกัดกรมสรรพสามิต) เพื่อให้รายย่อยตั้งโรงกลั่นสุราได้ แต่ขอให้มีระบบที่ได้มาตรฐาน รักษาสิ่งแวดล้อม มีการบำบัดน้ำเสีย จึงทำให้สัมปทานโรงงานสุราทุกแห่งสิ้นสุดลงในปี 2542 นี่คือการแก้ปัญหาการผูกขาดกิจการสุรา ซึ่งเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประเทศ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีการพัฒนาคุณภาพ และไม่สามารถสร้างการเติบโต และพัฒนาธุรกิจไปสู่ตลาดโลกได้ 


วิกฤต 2540 เปลี่ยนวิธีคิดของคุณเจริญอย่างไรบ้าง

เจริญ: เปลี่ยนไปในทางที่ว่าต้องให้คนรุ่นหลังได้รับการฝึกฝนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผมเริ่มต้นจากการค้าขายกับโรงเหล้าบางยี่ขันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีกลอนของสุนทรภู่กล่าวถึง ต่อมาก็คิดเรื่องการพัฒนาเลยอยากนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นเพื่อให้มีประชาชนมาลงทุนและตรวจสอบด้วย เพราะผมไม่มีความรู้ ผมจบ ป.4 ค้าขายตั้งแต่เด็ก ทำมาตั้งแต่ปี 2503 ใช้เวลา 46 ปี ถึงจะสามารถนำเข้าตลาดหุ้นได้ในปี 2549 ซึ่งฐาปนเขาก็มีความตั้งใจฝึกฝน ฐาปนเข้ามาแปดปีแรกทำงานร่วมกับหัวหน้างาน จนหัวหน้ารับรองว่าทำงานดี ผมก็ให้ฐาปนช่วยมาตั้งแต่ปี 2551 (รับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไทยเบฟเวอเรจ) บริษัทพัฒนาไปได้ดีมาก ทำให้ผมสบายใจที่จะดูแลลูกอีกสี่คน

ทีแรกผมคิดแบบคนจีนว่าจะให้ลูกคนอื่นๆ มาดูแลจัดซื้อบ้าง บัญชีบ้าง ฐาปนเขาบอกว่า “ปะป๊า ถ้าทำด้วยกันแล้วความเห็นไม่ตรงกันจะทำอย่างไร คนทำงานก็จะงง ไม่รู้จะยึดถือใคร” ผมก็รู้สึกว่ามีเหตุผล ก็คิดต่อว่าแล้วจะให้ลูกอีกสี่คนทำอะไร

ตอนนั้นไทยเบฟไม่ได้ผลิตขวดเอง แต่คู่แข่งมีขวด เราไม่อยากทำเองก็เลยคุยว่าจะทำร่วมกับเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ คุยตั้งแต่ปี 2538 จนปี 2544 เจ้าของเขาอยากจะขายเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เราก็คิดว่าถ้าสร้างโรงงานแก้วเอง โรงงานเดียว 8,000 กว่าล้านบาท แต่ถ้าซื้อเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ก็ประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท ตกลงกันได้ก็ซื้อเลย ในที่สุดลูกสาวคนเล็ก (ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล) และลูกเขย (อัศวิน เตชะเจริญวิกุล) ก็เข้ามาช่วยรับผิดชอบไป ซึ่งมีผลงานดีมาก จากมูลค่า 6,000 กว่าล้านบาท ก็พัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 40,000-50,000 ล้านบาท ก็หลังจากนั้น เขาอยากจะทำค้าปลีกอยากประมูลคาร์ฟูร์จากฝรั่งเศส แต่ประมูลไม่ได้ก็เลยสนใจ Metro Cash & Carry Vietnam แล้วต่อมาก็มีบิ๊กซี นี่คือธุรกิจกลุ่มที่สอง

ส่วนกลุ่มที่สาม คุณหญิงวรรณาบอกว่าเราน่าจะส่งไทยเบฟออกสู่อาเซียนนะ น่าจะซื้อ F&N (เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ) ในการออกตลาดอาเซียน เพราะสมัยเด็กๆ ก่อนจะมีโค้กกับเป๊ปซี่ ก็มีซาสี่ของ F&N เครื่องหมายรูปสิงโตยังติดอยู่ในความทรงจำ ก็เลยตกลงซื้อ แต่บริษัทลูกของ F&N ที่ร่วมมือกับไฮเนเก้น ทางไฮเนเก้นก็อยากจะขอไปเพราะทำร่วมกันมา 80 ปีแล้ว เราจึงขายให้เพราะการทำธุรกิจต้องไม่ให้มีปัญหากัน เราเสียสละอะไรได้ก็เสียสละ ทะเลาะกันก็มีแต่เสียหาย ผมมีความคิดแบบโบราณที่พ่อแม่และคุณย่าทำเป็นตัวอย่าง และท้ายที่สุดได้แยกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกมาเป็นเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่ง ฐาปนก็สนับสนุนให้น้องคนเล็ก (ปณต สิริวัฒนภักดี) ดูแล

กลุ่มที่สี่ ในปี 2530 คุณรองสนิท โชติกเสถียร เดือดร้อนเรื่องอาคเนย์ประกันภัย มาขอให้ผมช่วย แต่ผมไม่ต้องการเป็นกรรมการ เขาก็บอกว่าอย่างนั้นไม่ต้องเป็นกรรมการ ไม่ให้มีเงินปันผล ผมช่วยเขาประมาณ 122 ล้านบาท แล้วก็เชิญคนมีความรู้ไปเป็นกรรมการ แต่ในที่สุดก็ทะเลาะกันเอง ทำจนเสียหาย ปี 2544 ปลัดกระทรวงพาณิชย์ก็มาขอร้องว่าให้ผมถือหุ้น 40% ถ้าผมไม่ช่วยจะเกิดผลกระทบต่อกิจการประกันภัยไปอีก 7-8 แห่งแล้วประเทศจะลำบากมาก ผมก็ตกลงช่วย ในปี 2545 ผมได้เพิ่มทุนอีก 2,200 ล้านบาท ดูแลจนได้ลูกสาวคนโต (อาทินันท์ พีชานนท์) และเขยคนโต (โชติพัฒน์ พีชานนท์) มาช่วยรับผิดชอบ และจัดตั้งเป็นไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์

กลุ่มที่ห้า คุณอากร ฮุนตระกูล เขาเดือดร้อนเรื่องโรงแรม (อิมพีเรียล) ผมก็เลยไปช่วย คุณหญิงวรรณาบอกว่าอย่าไปทำนะ คุณอย่ามาเก่งทุกอย่าง ผมก็ไม่กล้าเข้าไปยุ่ง จึงขอให้ ม.ร.ว. สฤษดิคุณ กิติยากร มาช่วยเป็นผู้บริหารสูงสุด ทำไปแล้วรู้สึกว่าธุรกิจโรงแรมไม่ประสบความสำเร็จ เพราะต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยสวยงามตลอดเวลา ก็เลยเอาออกจากตลาดหุ้นมาเก็บรวมๆ ไว้ในพอร์ต แล้วหลังจากนั้นก็ให้เอ๋ (วัลลภา ไตรโสรัส – ลูกคนที่สอง) และลูกเขย (โสมพัฒน์ ไตรโสรัส) มาดูแล จนกลายเป็น แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น (AWC)

ทั้งหมดนี้ทำให้ลูกได้รับผิดชอบครบทั้งห้าคน ตอนนี้ก็ยังมีกิจการและทรัพย์สินที่ไม่ได้อยู่ในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ได้ให้ลูกทั้งห้าคนมาช่วยธุรกิจส่วนกลางนี้

กลับมาที่ประสบการณ์เกี่ยวกับต้มยำกุ้ง เราก็ต้องยอมรับว่าเสียหายเพราะมีความโลภ มีการเปลี่ยนธุรกิจโดยไม่ชำนาญ ยังไม่มีความรู้ ทำให้คำนึงว่าคนรุ่นหลังต้องมีความชำนาญ ต้องมีการฝึกฝน ทุกอย่างต้องมีบทเรียน คนรุ่นหลังต้องเรียนรู้จากคนรุ่นก่อน สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมได้เรียนรู้จากพ่อแม่คือ ท่านไม่เคยทะเลาะกันเลย ขายหอยทอดเลี้ยงลูก 12 คน ที่บ้านไม่มีก๊อกน้ำก็ต้องไปหาบน้ำ คุณย่าก็ต้องช่วยคุณพ่อเก็บต้นหอมผักชี ทุกคนผ่านความยากลำบากมาด้วยการทำงานหนักจนทำให้เรามีวันนี้


หลักการทำธุรกิจที่อยู่ในใจคุณเจริญมาตลอดคืออะไร

เจริญ: ตั้งแต่เกิดมาผมได้เห็นคุณพ่อ คุณแม่ คุณย่า ท่านลำบากขายหอยทอด ไปตลาดแต่เช้า กว่าจะเก็บเสร็จก็เที่ยงคืน ผมเฝ้ามองมาตลอด การได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่จะมีความหมายต่อเด็กมาก หลักการทางธุรกิจต้องถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เล็กโดยมีพื้นฐานของความอดทน และไม่ทำอะไรเกินตัว

ตอน 9 ขวบผมเรียนอยู่ก็ค้าขายไปด้วย ขายสลากจับรางวัล ผมไปซื้อของเล่นพลาสติกจากสำเพ็งไปขาย สลากหนึ่งสลึง ถ้าจับได้รางวัลที่หนึ่งได้ของมูลค่าหนึ่งบาท รางวัลที่สอง 75 สตางค์ พอปี 2500 ผมอายุ 13 ตอนนั้นซื้อของจากทรงวาดไปขายที่เยาวราชตอนเย็น หลังห้าโมงเย็นร้านทองปิดผมก็ขายของต่อ เป็นชามลายเม็ดแตง (ชามข้าวต้ม) เถาสิบใบ 35 บาท ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศไม่ให้ขายของจีนแดง แล้วชามพวกนี้มาจากจีน ผมเลยลองย้ายไปขายที่สนามหลวง แต่ไม่มีที่ขาย ก็เอาเถาชามแขวนคอเดินขาย ถูกจับปรับ 30 บาท เลิกเลย แล้วไปเป็นลูกจ้างที่บริษัทอื้อจื่อเหลียง ได้เงิน 250 บาท ขี่จักรยานส่งจดหมาย เก็บเงิน พอสักปี 2503 ก็เข้าไปค้าขายกับโรงงานสุราบางยี่ขัน ไปขายของเล็กๆ ไม้กวาด โถส้วม ซื้อมาขายไป ผมใกล้ชิดกับทุกคน ไปรับใช้ ไปช่วยทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งใจทำดีกับทุกคนจนทำให้ได้รับความเมตตา

หลักสำคัญในชีวิตผมคือคิดว่าจะทำอย่างไรให้พ่อแม่ไม่ต้องเหนื่อย โอกาสมีอยู่ทุกที่ ถ้าเรามีกำลังใจที่จะทำ มีความซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร อดทนอดกลั้น แล้วเราก็จะสำเร็จ ถ้าเข้าไปทำงานในบริษัทก็ค่อยๆ ฝึกไป ลำบากหน่อยแต่เจ้าของบริษัทเอาความรู้เราไปไม่ได้ การบอกว่าให้คิดดีทำดีมันพูดง่าย แต่ต้องมีการหมั่นปฏิบัติ ค่อยๆ ศึกษา เรียนรู้ และพัฒนา

เมื่อเกิดวิกฤตเราต้องมีความสงบนิ่ง คิดว่าปัญหาประกอบด้วยหลายอย่าง ทั้งจากตัวเราและจากภายนอกที่เข้ามากระทบ ต้องมาวินิจฉัยว่าเราถูกหรือผิด ผิดแล้วต้องแก้ ไม่ใช่มุทะลุจะเอาแต่ใจ ส่วนสิ่งที่ถูกเราก็ต้องยึดมั่นทำให้ดีขึ้นไปอีก

– เจริญ สิริวัฒนภักดี

ในช่วงเวลาที่มืดมนมากๆ คุณเจริญมีหลักอะไรในการพาตัวเองฝ่าวิกฤต

เจริญ: เมื่อเกิดวิกฤตเราต้องมีความสงบนิ่ง คิดว่าปัญหาประกอบด้วยหลายอย่าง ทั้งจากตัวเราและจากภายนอกที่เข้ามากระทบ ต้องมาวินิจฉัยว่าเราถูกหรือผิด ผิดแล้วต้องแก้ ไม่ใช่มุทะลุจะเอาแต่ใจ ส่วนสิ่งที่ถูกเราก็ต้องยึดมั่นทำให้ดีขึ้นไปอีก อันนี้คือหลักการ

เรื่องที่ผมเรียนรู้มาก็ไม่ใช่เพราะพ่อแม่สอน แต่เขากระทำให้เราเห็น แล้วมันจะฝังอยู่ในใจ ฝังอยู่ในสมอง ฝังอยู่ในตัวเรา ผมส่งต่อหลักการพื้นฐานให้ฐาปน แล้วเขาก็เพิ่มเติมเรื่องระบบสมัยใหม่ขึ้นมาเยอะมาก รวมถึงการช่วยส่วนรวมตอนช่วงโควิด-19 ที่เอาแอลกอฮอล์ไปแจกจ่ายให้หน่วยงานด่านหน้าทั่วประเทศ ช่วงที่มีปัญหาเราก็มีการปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีทั้งหมด จากวิกฤตก็กลายเป็นสร้างคุณค่าได้

ผมเองก็อายุมากแล้ว ในธุรกิจทั้งห้ากลุ่มนี้ผมถือหุ้นไว้เยอะ ซึ่งต่อไปเราคงต้องหาโอกาสจัดสรรหุ้นให้ดีกว่านี้ ที่ผมถือไว้เยอะเพราะเปรียบเหมือนผมฝึกลูกโดยการโยนลงแม่น้ำ ถ้าลูกจะจมน้ำก็ต้องช่วยกัน ตอนนี้รอดก็จริง แต่ทำอย่างไรให้สมดุล เป็นเรื่องที่ต้องมีการขบคิดที่ดีและทำให้ลูกๆ เขาเกิดความสำเร็จไปด้วยดี

อย่างผมไปดูธุรกิจ F&N ก็ต้องรู้ภาษาอังกฤษ แต่ผมไม่ค่อยถนัดในเรื่องอ่านและฟัง แต่เราก็ดูว่าสิ่งที่จะทำให้เกิดปัญหามากที่สุดก็คือเรื่องหนี้สิน ถ้าหนี้สินปลอดภัย กำไรน้อยหรือมากก็ไม่เป็นไร คิดเสียว่าให้ลูกฝึก มีกระสอบแขวนไว้ให้เขาชก อีกหน่อยมือด้านแล้วก็จะแก้ไขปัญหาได้ ถ้าทำเป็นแล้วจะเร็วเลย จุดสำคัญที่สุดคืออย่าออกไปนอกธุรกิจที่เราถนัด เพราะเราอยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวโยงกันได้หมด ถ้าอยู่ดีๆ ไปทำอย่างอื่น ไม่อยู่ในวงจรธุรกิจเดียวกันก็จะลำบาก


ตั้งแต่ขึ้นชกมา สังเวียนไหนยากที่สุดในชีวิตธุรกิจของคุณเจริญ

เจริญ: ผมโชคดีมากที่มีคุณหญิงวรรณาคอยเป็นคู่คิด ช่วยกันผลักดัน และคอยเตือนสติอยู่เสมอ ไม่ให้ออกนอกพื้นที่ที่เราถนัด ไม่ทำอะไรสาหัสจนแก้ไม่ได้ คุณหญิงวรรณาเป็นคู่ชีวิตที่มีคุณค่ากับผมมาก จะบอกเสมอว่าทำอะไรก็ต้องไม่ให้เกินตัว ไม่ให้เสี่ยง สิ่งสำคัญที่สุดคือครอบครัว บรรพบุรุษ และตัวเรา จะทำอะไรต้องคิดถึงครอบครัว คิดถึงหมู่เหล่า เพราะถ้าเราไม่หายใจแล้วก็ไม่สามารถเอาอะไรไปได้เลย ถ้าสร้างไว้ดีคนรุ่นหลังก็ต่อยอดได้อย่างสบายใจ

สำหรับผม ยากที่สุดก็คือโควิด-19 เป็นเรื่องที่ยากมากๆ กระทบคนทุกกลุ่ม ทุกระดับ เพราะเราไม่รู้จะไปช่วยอย่างไร ตอนต้มยำกุ้งรากหญ้าก็ไม่ได้เสียหาย แต่พวกที่เสียหายส่วนมากคือนักธุรกิจที่ขยายธุรกิจออกไปมากเกิน ส่วนโควิด-19 กระทบคนระดับชาวบ้านและชุมชนทั่วประเทศ ภาครัฐและธุรกิจต้องผนึกกำลังมาช่วยกันประคับประคอง

ฐาปน: วิกฤตโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรายใหญ่เท่านั้น แต่เกี่ยวโยงทุกภาคส่วน ซึ่งน่าเห็นใจคนทั่วไป คนทำมาค้าขายระดับล่างที่เดือดร้อน ตอนนั้นสิ่งที่กลุ่มไทยเบฟให้ความสำคัญคือความปลอดภัยในชีวิตของผู้คน เราก็ช่วยดูแลในสิ่งที่เราพอจะบริหารจัดการได้ เช่น ทำหน้ากาก ส่งแอลกอฮอล์ให้โรงพยาบาล พอวัคซีนมาหอการค้าไทยก็ช่วยสร้างศูนย์ฉีดวัคซีนร่วมกับกรุงเทพมหานคร กลุ่มทีซีซีก็เป็นเครือข่ายที่ได้ร่วมจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนที่สามย่านมิตรทาวน์ (ร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย) ที่โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ และที่บิ๊กซี สาขาบางบอน (ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก)

ส่วนความท้าทายในมิติธุรกิจ ตอนนั้นเราส่งสัญญาณชัดเจนว่าต้องรัดเข็มขัด เพราะไม่รู้ว่ารายได้จะเข้ามาอีกเท่าไหร่ แต่องค์กรมีภาระต้องดูแลเงินเดือนพนักงาน ที่เราตัดก่อนคือค่าใช้จ่ายทั่วไป

นอกจากนั้นเราส่งสัญญาณชัดเจนเรื่องการเปลี่ยนแปลง โดยมี ThaiBev Transformation Program
สร้างความเข้าใจร่วมกันตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงพนักงานว่าเราต้องช่วยกันปรับแนวทางการทำงาน เราตั้ง COVID-19 ThaiBev Situation Room จากสถานการณ์ปกติเราต่างคนต่างทำ พอเกิดวิกฤตเราต้องกลับมาช่วยกันคิด รวบรวมข้อมูลทุกเรื่องมารวมศูนย์ เป็นช่วงที่เรามีรูปแบบการบริหารจัดการในหลากมิติ ทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้นและประคับประคองให้ผ่านพ้นไปได้ จนเกิดการเรียนรู้และได้นำมาต่อยอดพัฒนาธุรกิจจนถึงทุกวันนี้


วิกฤตโควิด-19 เปลี่ยนมุมมองวิธีคิดของคุณฐาปนอย่างไร

ฐาปน: มีสองมุมมอง หนึ่ง การมองแบบองค์รวม (holistic view) ทุกสิ่งทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด เมื่อถูกกระเทือนก็จะเกิด domino effect กระชากทั้งหมดไปด้วยกัน นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเผชิญปัญหา supply chain disruption

สอง ทำให้เห็นถึงทักษะ พลัง และขีดความสามารถ นอกเหนือจากพลังความสามัคคีแล้ว ในช่วงวิกฤตเราจะเห็นศักยภาพองค์กรที่ทำให้รู้ว่าใครทุ่มเท ใครเสียสละ ใครมีทักษะที่เป็นประโยชน์ในเรื่องที่เราไม่คาดคิด

วิกฤตจะกลายเป็นโอกาสได้เมื่อเรามีคนที่พร้อมทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤตจะทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น เข้าใจองค์กรมากขึ้น ในภาพรวมก็เป็นการเรียนรู้ของทุกคนในองค์กร โควิด-19 ทำให้เราปรับความสมดุลดีมากขึ้น ไม่สุดโต่งจนเกินไป

ในโลกธุรกิจสิ่งสำคัญคือการเติบโต แต่ต้องเติบโตอย่างสร้างสรรค์ เติบโตอย่างเป็นประโยชน์ทั้งต่อองค์กรและสังคมโดยรวม

ฐาปน สิริวัฒนภักดี

หากเชิญคุณฐาปนมาสอนมาสเตอร์คลาสหัวข้อ ‘วิชาฝ่าวิกฤต’ คุณจะสอนอะไรในคอร์สนี้

ฐาปน: ผมกับน้องชายเคยเจอนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชาวฮ่องกง เขาถามผมว่าทำไมคุณจึงยังสามารถสร้างการเติบโตได้ ทั้งที่เมื่อเขามองประเทศไทยแล้วเห็นความน่ากังวลใจ ความน่าเป็นห่วง และความอ่อนไหวอยู่ตลอดเวลา คำตอบก็จะกลับมาที่คำของคุณพ่อเรื่อง ‘ความต่อเนื่อง’ และ ‘การปรับตัวพัฒนาอยู่เสมอ’ (consistency and resiliency) ว่า ถ้าเราตั้งใจทำอะไรสักอย่างก็ต้องค่อยๆ ปรับตัวและแก้ไขปัญหาทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ 

คำถามที่ถามคุณพ่อก่อนหน้านี้ว่าชกมาแล้วสังเวียนไหนยากที่สุด ในมุมมองของผม คุณเจริญไม่ใช่นักมวย คุณเจริญไม่ใช่โปรโมเตอร์ คุณเจริญเป็นเหมือนโค้ชที่อยู่ขอบสังเวียนแล้วคอยให้น้ำเพื่อคลายความร้อนคลายเหนื่อยในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที เพื่อให้นักสู้กลับขึ้นมาสู้ได้ใหม่ รวมทั้งพูดคุยบอกให้ออกหมัด หรือชี้ไปที่จุดอ่อนของคู่ต่อสู้

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำงานกับคุณพ่อก็คือ ท่านมีผู้บริหารหลายคน เป็นนักสู้หลายสไตล์ แต่น่าสนใจว่าคุณพ่อยกบทบาทโปรโมเตอร์ให้คุณแม่ตลอดมา คุณแม่จะคอยชี้ให้เห็นอะไรบางอย่าง คุณพ่อก็จะฟังแล้วไปคิด ทั้งสองท่านมีความใกล้ชิดกัน เป็นคู่ชีวิตที่ช่วยกันคนละมุม คุณแม่จะวางกรอบไว้ว่าเรื่องนี้ไม่ควรเข้าไปยุ่ง คุณพ่อก็ต้องคิดหาวิธีแก้ว่าทำอย่างไรจึงจะโน้มน้าวคุณแม่ได้ ถ้าคุณแม่ยังบอกว่าเรื่องนี้เราไม่ทำ ก็ทำให้คุณพ่อได้คิดอีกหนักๆ ว่าเรื่องนี้ยังมีจุดบอดและมีความเสี่ยง ก็จะยังไม่ทำ

คุณพ่อเป็นทั้งผู้ฟังที่ดี นักแก้ปัญหาที่ดี เป็นผู้ที่ให้เกียรติทุกคน คุณพ่อเป็นผู้ฟังที่ดีสำหรับลูกเสมอ มีอะไรพวกเราก็ไปปรึกษาท่าน

สำหรับเรื่องวิกฤต เราต้องเตรียมความพร้อมของตัวเองอยู่เสมอและต้องประเมินสถานการณ์โดยรวม ในปัจจุบันจริยธรรมในการทำธุรกิจสำคัญมากขึ้นกว่ายุคก่อน มุมมองการค้าขายของเราคือเดินควบคู่ไปกับพันธมิตรทางธุรกิจ เขาเติบโต เราก็เติบโต เขาแข็งแรง เราก็แข็งแรงขึ้น อยู่ในคนละบทบาท แต่ต้องไม่สุดโต่งเกินไปข้างหนึ่ง หากเราไปเอาเปรียบคู่ค้า เอาเปรียบผู้บริโภค หรือค้ากำไรเกินความเหมาะสมก็คงจะไม่ยั่งยืนในโลกธุรกิจยุคปัจจุบันที่เน้นให้ความสำคัญด้านจริยธรรม

คุณพ่อมักกล่าวโดยเรียบง่ายว่าท่านไม่ได้มีวิชาอะไร แต่จริงๆ แล้วมีวิชาอยู่ในตัวของท่านเยอะ อยู่ที่เราจะสนใจสังเกต สอบถาม และเรียนรู้ ผมเคยถามคุณพ่อว่า คุณแม่มีโอกาสช่วยเหลือสังคมในมิติต่างๆ แล้วถ้าคุณพ่อมีโอกาสช่วยเหลือสังคม คุณพ่ออยากจะทำเรื่องอะไร คุณพ่อก็ตอบว่า “ฉันไม่มีเวลาเหมือนคุณหญิงที่มีโอกาสไปรู้เห็นภาพกว้างในสังคม แต่ถ้าจะถามว่าฉันช่วยอะไรได้ ก็คงอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวกับวิธีทำมาค้าขาย”

พอผมได้ทำโครงการผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสังคม (Beta Young Entrepreneur) ร่วมกับหอการค้าไทย ในชั้นเรียนมีน้องนักศึกษาถามตรงไปตรงมาว่า มีวิธีอย่างไรที่จะค้าขายแล้วสบายที่สุด รวยเร็วที่สุด ผมตอบว่าเท่าที่ผมเรียนรู้จากคุณพ่อ คำถามนี้ไม่มีคำตอบ เพราะความสำเร็จมาจากการทำงานที่ทุ่มเท ผมไม่อยากใช้คำว่าทำงานหนัก คุณพ่อมักบอกว่าต้องทำงานจนมันเข้าไปอยู่ในร่างกาย ในจิตวิญญาณ คิดอ่านเรื่องงานอยู่ตลอดเวลา นั่นคือการมีความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับงานที่เรารับผิดชอบตลอดเวลา เช่น ผมเดินทางท่องเที่ยวเห็นสินค้าเครื่องดื่มของตลาดต่างประเทศ ผมจะสนใจแพ็กเกจจิ้ง แบรนด์ดิ้ง การโฆษณา การบริการ นี่คือการเรียนรู้ไปในตัว ซึ่งต้องอาศัยความเอาใจใส่ ความรับผิดชอบ และความสนอกสนใจในทุกรายละเอียด

ในโครงการนั้นเองมีน้องๆ Beta Yong Entrepreneur ที่คิดว่าการค้าขายต้องเริ่มต้นด้วยการลงทุนและสร้างโรงงาน ผมก็เล่าเรื่องที่คุณพ่อผมตั้งแผงขายของจับสลากตั้งแต่ 9 ขวบ นั่นคือการซื้อมาขายไป ทำอย่างไรให้เงินเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่าเริ่มต้นก็กู้เงินแบงก์สร้างโรงงาน เสร็จแล้วขายสินค้าไม่ได้ก็ต้องเจรจาผ่อนชำระเงินกู้ ตอนเริ่มต้นเราต้องมองเรื่องการค้า ยังไม่ไปถึงเรื่องการลงทุนกับเรื่องอุตสาหกรรม

ตั้งแต่หลังโควิด-19 โซเชียลมีเดียยิ่งทำให้โลกใกล้กันมากขึ้น เสียงของผู้คนกว่า 8,000 ล้านคนก็ดังขึ้น นี่เป็นความท้าทายของการบริหารจัดการ วิกฤตจากสงครามรัสเซียกับยูเครนก็มีผลกระทบทั่วทั้งโลก ถ้าเราวางสถานะตัวเองได้แข็งแรงพอก็จะผ่านพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้น มันอาจจะเป็นปัญหาของเราน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เตรียมพร้อม ทั้งหมดนี้กลับมาที่คำว่าความสมดุล คุณพ่อกล่าวถึงคำว่าโลภไว้ แต่ผมคิดว่าโลภกับกิเลสไม่เหมือนกัน ความโลภมาจากความอยากได้ แต่ความอยากได้นั้นมีทั้งความอยากได้ที่เรามีขีดความสามารถที่จะได้มา และความอยากได้ที่เราไม่มีขีดความสามารถแต่ใช้ทางลัดที่ไม่ถูกต้อง ก็จะวนกลับมาในเรื่องของกิเลสที่ต้องมีจริยธรรมมาเป็นตัวกำกับไว้

ถ้ามันเป็นความอยากได้ที่เราพอจะมีขีดความสามารถ ก็ต้องทุ่มเท เอาใจใส่ มุ่งมั่น ภาษายุคใหม่ก็คือการบอกว่าธุรกิจจำเป็นต้องมีความเติบโต ผมในฐานะผู้นำองค์กรเคยบอกผู้บริหารระดับสูงว่า เวลาผมพูดถึงเรื่องการเติบโต ทุกคนหมดแรง เพราะคิดว่าภาระเพิ่มขึ้น แต่ถ้าผมเลือกที่จะไม่พูดเรื่องการเติบโต แล้วบอกว่าบริษัทจะถดถอย ขอให้ทุกคนเตรียมตัว ทุกคนจะรู้สึกดีขึ้นไหมก็คงเป็นไปไม่ได้ ในโลกธุรกิจสิ่งสำคัญคือการเติบโต แต่ต้องเติบโตอย่างสร้างสรรค์ เติบโตอย่างเป็นประโยชน์ทั้งต่อองค์กรและสังคมโดยรวม

พันธกิจของไทยเบฟกรุ๊ปคือ สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต (Creating and Sharing the Value of Growth) ในการเติบโตนั้นเรามาช่วยกันสร้างสรรค์ให้แข็งแรงและแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโตกับทุกภาคส่วน วิกฤตนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ ภูมิคุ้มกันของเราต้องแข็งแรงพอ ทั้งความพร้อมของทีมงาน ผู้บริหาร พนักงาน รวมไปถึงคู่ค้าหรือเอเยนต์ด้วย


ในโลกใหม่-โจทย์ใหม่ ไทยเบฟเตรียมตัวอย่างไรให้พร้อมรับมือวิกฤตหรือโอกาสในความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ฐาปน: มีสองคำของคุณพ่อคือเรียนรู้และปรับตัว เราต้องเรียนรู้อยู่เสมอ ซึ่งง่ายกว่าการปรับตัว ยากที่สุดสำหรับองค์กรคือเรื่องการปรับตัว เพราะทุกคนมีข้อจำกัดแตกต่างกัน คุณพ่อบอกว่าไม่มีใครมาเปลี่ยนแปลงตัวเราได้เท่ากับที่ตัวเราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ถ้าเราปรับตัวช้าก็เสียโอกาส แล้วเราจะยอมเสียโอกาสนั้นเพื่อแลกกับอะไร นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องทักษะ แต่สิ่งที่สำคัญคือการประมวลสถานการณ์แล้วมองความพร้อมว่าอะไรบ้างที่ควรเร่งปรับ อะไรบ้างที่เรายังพอยอมรับได้

เราเป็นองค์กรใหญ่เห็นความท้าทายอยู่ตลอด แต่ไม่ใช่ว่าเราพร้อมแล้วปรับเลย ถ้าผมปรับเป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่สุด ไม่แพ้บริษัทต่างชาติ แต่คู่ค้าผมเดินตามมาไม่ทัน ก็เท่ากับผมทำร้ายตัวเอง น้องชายผมคือคุณปณตกำลังพัฒนาโครงการของวัน แบงค็อกด้วยแนวคิดเมืองอัจฉริยะ (smart city) แต่ถ้าเราลงทุนกับเทคโนโลยีแล้ว ‘too smart’ เราก็อาจจะไม่อัจฉริยะ แต่เรากำลัง over-invest

คำว่าเมืองอัจฉริยะหมายถึงเราลงทุนกับเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันในสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้ในอนาคตอันใกล้เเล้วได้ประโยชน์ โดยที่เราต้องเข้าใจเทคโนโลยี ต้องเตรียมเงินพร้อมลงทุน เพื่อก้าวไปอีกขั้นไม่ให้ช้ากว่าคนอื่น


อะไรคือเคล็ดลับที่จะทำให้องค์กรของเราเป็นองค์กรแห่งการเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัว

ฐาปน: เคล็ดลับขึ้นอยู่กับบุคลิกของแต่ละคน อย่างคุณพ่อจะไม่เคยหักหาญน้ำใจใคร ไม่พูดให้เสียกำลังใจ จะบอกว่าเอาเท่าที่ได้ ไม่เป็นไร แต่คุณพ่อจะค่อยๆ คิดหาวิธีทำเรื่องนั้นให้สำเร็จ เช่น ท่านบอกกับใคร แล้วเขานิ่ง ยังไม่เริ่มสักที ท่านก็จะไม่จี้ พูดครั้งสองครั้งแล้วท่านก็จะไปบอกให้คนอื่นทำแทน วิธีของคุณพ่อคือการบริหารบุคลากรตามขีดความสามารถของคน

สำหรับผมก็มีความท้าทายอีกมุมหนึ่ง ผมต้องจัดโครงสร้างองค์กร ถ้าผมมีทีมอยู่ 15 คนแล้วประกาศว่าให้เดินไปพร้อมกันทั้งหมด ก็อาจจะมีคนพร้อมเดินสัก 6-7 คน คนที่เหลือก็ยังคิดอยู่ เราจะเปลี่ยนไปใช้คนอื่นที่อยู่นอกกระดานนี้ไม่ได้ จะผิดโครงสร้าง ผมก็มีความท้าทายว่าทำอย่างไรทีมผู้บริหารระดับสูงจะสามารถเข้าใจและปรับตัวได้ ก็ต้องทำความเข้าใจกันว่าจะช่วยกันปรับตัวอย่างไร เป็นปกติของการบริหารจัดการ

ในมุมของครอบครัว คุณพ่อจะเรียบง่าย เข้าใจถึงจิตใจทุกคน ส่วนคุณแม่จะมีกรอบวิธีคิดชัดเจน รู้ว่าอะไรได้หรือไม่ได้ การหาองค์ประกอบที่เข้ากันแล้วเดินไปในทิศทางเดียวกันแบบนี้ก็สำคัญ ความท้าทายคือการสร้างระบบนิเวศที่มีองค์ประกอบครบในทุกมิติ เพราะเราไม่สามารถเฮละโลกันไปข้างหนึ่งได้ หากเกิดวิกฤตขึ้นมาภูมิคุ้มกันบางส่วนของเราจะขาดหายไป

คุณแม่บอกว่าสุขภาพเป็นของเราเอง เงินทองเป็นของคนอื่น อำนาจเป็นเรื่องชั่วคราว ชื่อเสียงเป็นเรื่องชั่วนิรันดร์…ส่วนคุณพ่อจะมีสี่คำที่ยึดถือปฏิบัติ คือ อดทน เสียสละ เงียบ และร่าเริง

ฐาปน สิริวัฒนภักดี

ซีอีโอสไตล์คุณฐาปนต่างจากคุณเจริญอย่างไร หากคุณพ่อเป็นโค้ช คุณแม่เป็นโปรโมเตอร์ แล้วคุณฐาปนเป็นนักมวย คุณเป็นนักมวยที่ชกแบบไหน อะไรคือบทเรียนที่ได้เรียนรู้ในวิถีไทยเบฟแบบเดิม

ฐาปน: ผมทำงานกับคุณพ่อ ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง แต่ท่านไม่ชอบประเมิน ไม่ชอบพูดว่าใครไม่ดี ผมเคยบอกคุณพ่อว่ามีสี่หัวข้อมาให้ช่วยประเมินผม ท่านก็ไม่ประสงค์จะประเมินให้ ผมก็เลยประเมินตัวเองแล้วถามท่านว่าตรงใจไหม ท่านก็ไม่บอกว่าตรงใจแค่ไหน สี่คำนั้นคือ ‘เชื่อใจ มั่นใจ ถูกใจ ทันใจ’ ทุกคำ มี ‘ใจ’ หมด เพราะถ้าไม่มีใจจะทำงานกับท่านลำบาก

เชื่อใจ ก็คือท่านรู้ว่าผมเจตนาดี ไม่มีอะไรแอบแฝง รู้ว่าทำเพื่อเป้าหมายอะไรและผลลัพธ์คืออะไร

มั่นใจ คำนี้มาจากทักษะและประสบการณ์ มีหลายเรื่องที่ท่านมั่นใจผมและมีอีกหลายเรื่องที่ท่านยังไม่มั่นใจ เช่น มุมมองด้านกฎหมาย ท่านอาจจะบอกว่า “เดี๋ยว หนุ่มใจเย็น ฟังพี่เขาก่อน” เพราะเขาอาจจะให้มุมมองกฎหมายที่ครบถ้วนกว่า

ถูกใจ คำนี้ยาก เพราะเราต้องเข้าใจท่าน ต้องรู้บรรยากาศรอบๆ ว่าตอนนี้ท่านเน้นเรื่องอะไร ต้องเข้าใจบริบทและต้องรู้เรื่องที่เรากำลังจะทำงานส่งมอบให้ท่าน

ส่วนข้อสุดท้าย ทันใจ ส่วนใหญ่ผมมักจะได้ศูนย์ เพราะมักจะไม่ค่อยทันใจ คุณพ่อท่านคิดเร็ว ตัดสินใจเร็วแล้วก็ลงมือทำเลย

ถ้าหันกลับมามองในสิ่งที่ผมเรียนรู้จากคุณแม่ ท่านเรียบง่าย สิ่งที่ท่านให้ความสำคัญเสมอคือเรื่องความถูกต้อง คำสั้นๆ แต่คิดได้เยอะ ถูกต้องของท่านหมายความถึงถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด ไม่มีคำว่าผิดมากหรือผิดน้อย ถ้ารู้ว่าผิดแล้วก็ไปแก้ไข หันมาทำให้ถูกต้อง


เส้นแบ่งหลักการเรื่องความถูกต้องของคุณหญิงวรรณาคืออะไร อะไรที่ไม่ควรทำ และอะไรที่ต้องปฏิบัติ

ฐาปน: เราทำมาค้าขายมีเรื่องมากมายเข้ามา เราก็พยายามอยู่ในจุดยืนที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นความท้าทายที่คุณพ่อต้องพยายามหลีกเลี่ยง คุณพ่อบอกว่าธุรกิจการค้าของท่านยุคแรกๆ ประมาณ 40-50 ปีก่อนไปเกี่ยวโยงกับคนที่มีอิทธิพลในท้องถิ่น น่าสนใจว่าคุณพ่อไม่ไปขัดเขา และก็ไม่ไปยุ่งกับเขา แล้วคุณพ่อก็อาศัยความถูกต้องที่เราไม่ไปปะปนกับเรื่องอื่นๆ ทำให้เราผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้

ส่วนเส้นความถูกต้องของคุณแม่ก็คือการยืนอยู่บนความถูกต้อง ไม่ให้เราเอียงไปชิดขอบจนเกือบจะข้ามเส้นในเรื่องหมิ่นเหม่ที่ไม่รู้ว่าตกลงถูกหรือผิด เราต้องพยายามดึงตัวเองกลับมา แต่เวลาเราคิดว่าตัวเราเองนั้นถูกต้องดีแล้วแสดงว่าเรายึดตัวเราเองเป็นที่ตั้ง คุณพ่อก็จะบอกว่าทุกคนมีเหตุผลของเขา พื้นฐานความคิดและชีวิตทำให้คนเราคิดอ่าน เลือก ตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ แตกต่างกันไป

ส่วนเส้นแบ่งของผมกว้างไปกว่านั้น เส้นแบ่งอาจสะท้อนถึงความเข้าใจและความพึงพอใจของพวกเราโดยรวม ซึ่งหมายถึงองค์กร คงเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะหักหาญน้ำใจ บอกว่าแบบนี้ถูกต้องแล้วเดินหน้าไปโดยไม่ฟังเสียงใครเลย เราต้องสร้างความสมดุลในตรรกะ ทั้งมุมมอง ความคิด แล้วสร้างความเข้าใจ การยอมรับ บนพื้นฐานเดียวกัน

ทั้งหมดนี้มาจากที่คุณพ่อและคุณแม่วางรากฐานความเป็นตัวตนจนเป็นวัฒนธรรมองค์กรดังที่เราเป็นทุกวันนี้


แล้วสำหรับคุณเจริญ ต้องทำอย่างไรจึงจะมั่นใจหรือถูกใจใคร

เจริญ: หนึ่ง ต้องดูการกระทำกับความคิดอ่าน สำหรับคนดี จิตใจของเขาจะต้องคิดถึงคนอื่นเป็นพื้นฐาน ไม่ท้อ ช่วยอุ้มชูคนด้อยโอกาสให้ขึ้นมา คนกลุ่มนี้จะมีความก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง เราต้องพยายามทำสิ่งดีให้คนรอบข้าง

สอง อดทน สิ่งที่ผมปฏิบัติมาคืออดทนอดกลั้น เหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นทั้งหมดต้องโทษตัวเรามากกว่าภายนอก ถ้าเราปฏิบัติตนอย่างสมเหตุสมผล เหตุการณ์ก็ไม่เกิด แต่ทั้งหมดนี้เป็นการกระทำแบบระบบเก่า ในระบบใหม่ต้องใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาเสริมจะสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่า มันเป็นการก้าวที่เร็วมาก ถ้าพัฒนาอย่างสร้างสรรค์เอาของเก่ามาประยุกต์กับของใหม่ก็จะไปได้ เพราะสิ่งที่คนรุ่นใหม่พัฒนาก็ต่อเนื่องมาจากรุ่นเก่า


ครอบครัวสิริวัฒนภักดีมีเรื่องไหนที่ยึดถือเป็นคติในการใช้ชีวิต

ฐาปน: มีคำพูดที่คุณพ่อคุณแม่บอกลูกๆ มาตลอด คุณแม่จะมีสี่ประโยค คุณพ่อมีสี่คำ

คุณแม่บอกว่าสุขภาพเป็นของเราเอง เงินทองเป็นของคนอื่น อำนาจเป็นเรื่องชั่วคราว ชื่อเสียงเป็นเรื่อง
ชั่วนิรันดร์ แม่มักบอกว่าเวลาลูกเจ็บป่วยแล้วแม่เป็นห่วงก็ช่วยไม่ได้ จะตรงกับคำของคุณพ่อที่บอกว่าอย่าทำอะไรเกินตัว ซึ่งมีทั้งมุมเรื่องสุขภาพและเรื่องสภาวะธุรกิจที่โตเร็วเกินไปก็เป็นภาระ ไม่โตก็เป็นภาระ จึงต้องสมดุลพอดี

ส่วนคุณพ่อจะมีสี่คำที่ยึดถือปฏิบัติ คือ อดทน เสียสละ เงียบ และร่าเริง

อดทนจะทำให้เราสำเร็จ เสียสละจะทำให้เราพ้นภัย เงียบจะทำให้เรามีสติแล้วเกิดปัญญา อย่างตอนโควิด-19 กระแทกเราก็งงเหมือนกัน คุณพ่อบอกว่าอยู่มาตลอดชีวิตไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ การมีสติทำให้มีวิธีคิดก้าวข้ามผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ เหล่านั้น สุดท้ายคือร่าเริง ก็ทำให้มีชีวิตชีวา มีสุขภาพที่ดี มีความสดชื่นสดใสในทุกวันทำให้คิดสร้างสรรค์ทำประโยชน์ต่างๆ ได้

เจริญ: คำที่คุณหญิงพูดมีความหมายมาก เพราะเรื่องสุขภาพ เราจะไปเจ็บปวดแทนเขาก็ไม่ได้ เงินทองเราทำเท่าไหร่ก็เป็นของคนอื่น เราเอาไปไม่ได้ เพราะเราต้องไปมือเปล่า อำนาจก็ชั่วคราว ถ้าเราลืมตัวเหนื่อยมากไปหาความสุขแบบไม่ถูกต้องก็จะเกิดกิเลส เกิดปัญหา ในที่สุดก็เกิดอุบัติเหตุ ส่วนเรื่องชื่อเสียงเป็นสิ่งที่กินไม่หมดไปถึงลูกหลานด้วย

สำคัญที่สุดก็คืออยากให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้จากคนรุ่นเก่า อย่ามองข้ามคนรุ่นเก่าที่เขาผ่านประสบการณ์ทั้งผิดพลาดและสำเร็จ ให้เอาความสำเร็จของเขามาใช้ สิ่งที่เขาผิดพลาดก็ไม่ทำตาม

– เจริญ สิริวัฒนภักดี

ในโลกใหม่ นอกจากเทคโนโลยีเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยน ความคิดของผู้บริโภคก็เปลี่ยน เส้นขอบจริยธรรมต่างๆ ก็ขยับไปด้วย มีอะไรที่ท้าทายเครือทีซีซีและไทยเบฟ และคุณฐาปนปรับตัวรับมืออย่างไร

ฐาปน: บริบทโลกเมื่อ 30 กว่าปีก่อนคือโลกาภิวัตน์ (globalization) แต่หลังจากโควิด-19 เราต้องกลับมามองสังคมตัวเอง (localization) เราต้องเข้าใจบริบทโลก และต้องรับมือความท้าทายในพื้นที่ของตัวเอง มีประเด็นสังคมมากมายที่เป็นความท้าทาย เราต้องมีความพร้อมและทักษะในการปรับตัว โจทย์คือเราจะสร้างขีดความสามารถของเราให้เชื่อมโยงกับโลก โดยพร้อมสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยด้วยอย่างไร

ความท้าทายเมื่อ 30-40 ปีก่อนคือเรื่องการรวมกิจการภายในอุตสาหกรรมนั้นๆ (industry consolidation) แต่อนาคตอันใกล้เราจะเห็นการรวมกิจการข้ามอุตสาหกรรม (cross-industry consolidation) วันนี้ประชากรทั่วโลกมี 8,000 ล้านคน ไทย 71 ล้านคน ทุกคนมองไปที่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน แก๊ส การบริโภคต่างๆ อยู่ที่ว่าใครจะบริการอย่างไร ซึ่งวันนี้ธุรกิจเชื่อมโยงกันไปหมด แล้วเราก็ต้องดูความต้องการของ smart consumer ผู้บริโภคฉลาดขึ้น มีความต้องการมากขึ้น แล้วภาคธุรกิจจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีพอแล้วก็เกิดประโยชน์ได้อย่างไร

ปี 2025 เราจะเห็นการปรับตัวของสถานะการเงินโลกเกี่ยวโยงกับสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก เมื่อเราพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำแล้วคงเป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยให้เงินเฟ้อสุดโต่ง เดี๋ยวมันจะต้องกลับมาสมดุล วันหนึ่งดอกเบี้ยก็ต้องลดลง อยู่ที่จะเร็วขนาดไหน การลงทุนต้องมองถึงระยะเวลาในการลงทุน ใน 1-2 ปีนี้น่าจะยังต้องเหนื่อยกันอยู่ ตอนนี้มีสัญญาณจากข้างนอกมาแล้ว ส่วนจะเกิดวิกฤตหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่กับสถานการณ์นั้นไหวไหม ถ้าเรามีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ วิกฤตของคนอื่นก็อาจจะไม่ใช่วิกฤตของเรา วิกฤตของโลกก็อาจจะไม่ใช่วิกฤตของประเทศไทย

พอมองไปถึงปี 2030 ก็จะเป็นเรื่องพลังศักยภาพคนและเทคโนโลยี เพราะจะกลับมาอยู่ในฐานการแข่งขันโดยที่กระดานจะข้ามไปมา ซึ่งน่าสนใจว่าหลัง 2030 หน้าตาเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าภาคการเงินจะวางรากฐานความยั่งยืนในคุณภาพชีวิตของคนได้ดีมากน้อยแค่ไหน เกี่ยวโยงกับโลกที่ยั่งยืนใบนี้ด้วย

หลังปี 2030 จะมีเรื่องที่คนเป็นศูนย์กลาง (people-centric) มากขึ้น คนจะมีบทบาทมากขึ้น แม้เทคโนโลยีจะไปสุดโต่ง อย่างโรงงานโออิชิวันนี้เป็น fully automated แล้ว ในพื้นที่โรงงานแทบจะไม่มีคนอยู่ เช่นเดียวกับหลากหลายธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม ตอนนี้เรากำลังพูดถึงรถยนต์ไร้คนขับ ประเด็นที่ตามมาคือองค์กรเรามีคนขับรถส่งของอยู่ประมาณ 4,000 อัตรา ถ้าผมไม่ใส่ใจก็จ่ายชดเชยตามกฎหมายแรงงานแล้วก็เลิกจ้าง แต่ผมต้องใส่ใจว่าองค์กรของเราเป็นฟันเฟืองเล็กๆ หนึ่งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมไทยที่ช่วยดูแลเรื่องการว่าจ้าง จึงจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถของพนักงาน ต้องฝึกทักษะใหม่ๆ ให้พวกเขาพัฒนาเพื่อปรับตัวไปพร้อมกับโลกเทคโนโลยีและองค์กรของเรา


การสร้างภูมิคุ้มกันภายในของไทยเบฟคืออะไร

ฐาปน: ข้อแรกคือเรื่องศักยภาพของคน ข้อที่สองคือเสถียรภาพทางการเงิน มีสุภาษิตขงจื่อบอกว่า โอกาสผ่านหน้าเราอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ เราก็คงไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นคือโอกาส ขนาดเรามีความรู้และเข้าใจว่าสิ่งนั้นคือโอกาสก็ยังไปคว้ามาไม่ได้ เพราะเราไม่มีทักษะ เราต้องมีทั้งความรู้และทักษะจึงจะไปคว้าโอกาสนั้นมาเป็นประโยชน์ให้กับเราได้


คุณฐาปนฉายภาพอนาคตและความท้าทายแล้ว แล้วคุณเจริญ ในฐานะโค้ชมีอะไรอยากบอกไหม

เจริญ: หลักการของผมที่ต้องการให้เขาทำคือการตอกเสาเข็ม สิ่งที่เขาพูดมานั้นคือการเท่าทันเหตุการณ์อนาคต แต่การตอกเสาเข็มก็คือเรื่องระบบ เราจะพัฒนาธุรกิจอย่างไรให้ไปสู่โลกกว้างใหญ่ที่เราฝันไว้ คืออาเซียน ไปจนถึงอาเซียนบวกสาม อาเซียนบวกหก คงต้องคิดกันเรื่องการตอกเสาเข็ม ซึ่งจะทำได้ก็ด้วยกลยุทธ์แบบรุ่นใหม่

การจะตอกเสาเข็มนั้นเป็นเรื่องคน เรื่องทักษะ ทำอย่างไรให้คนมาร่วมมือกัน เพราะที่ผมทำมาได้ถึงวันนี้ ก็เพราะว่าเราทำอย่างไรให้คนรอบข้างเข้าใจเราและช่วยเรา


ในการส่งต่อไปรุ่นลูก คุณเจริญมีเรื่องกังวลไหม

เจริญ: ตลอดชีวิตผมจะทำให้ดีที่สุด เพราะต้องมีการส่งต่อ จึงพยายามทำสิ่งดีๆ ให้กับคนรุ่นหลังเพื่อเป็นตัวอย่าง ผมเกิดมาในครอบครัวแบบนี้ ตอนเด็กๆ เล่นโปลิศจับขโมยแล้วทุบข้างหลังเพื่อน คุณย่าก็สอนเลยว่าคิดร้ายคนอื่นไม่ได้ ป้องกันตัวเองต้องมี แล้วก็ให้ทำสิ่งที่ดีๆ เราถึงจะเจริญ ไม่ไปทำร้ายคนอื่น ครอบครัวผมสอนง่ายๆ ว่าอะไรที่เราชอบ คนอื่นก็ชอบ อะไรที่เราไม่ชอบ คนอื่นก็ไม่ชอบ ให้เราทำสิ่งที่เราชอบให้กับเขาง่ายๆ ไม่ต้องไปเรียนหนังสืออะไร ศาสตร์พวกนี้เราเอาไปใช้กับสังคมได้

มีเรื่องที่คุณหญิงวรรณาวางไว้ว่าปัญหาสำคัญที่สุดคืออย่าทำเกินตัว ถ้าไม่มีอุบัติเหตุมันก็พอกินพออยู่ เพราะเรากินวันหนึ่งก็ไม่เท่าไหร่หรอก เราทำทั้งหมดอยู่ในหมู่เหล่าพรรคพวกที่ต้องสมดุลกัน เรากินไม่เท่าไหร่ ไม่ได้ใช้อะไร อย่างที่คุณหญิงปฏิบัติไว้มันดีมากๆ


มีอะไรที่อยากฝากไว้ให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ในโลกยุคใหม่

ฐาปน: ผมขอยกพระราชปรารภของในหลวงรัชกาลที่ 9 จากบทพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ความว่า “ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์” สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจดีต่อประโยชน์โดยรวมของสังคมและประเทศชาติต้องมีความเพียรพยายาม แล้วจะทำให้เกิดสติปัญญาในการพัฒนาและสร้างประโยชน์ เรื่องที่คนรุ่นใหม่อาจมองข้ามคือกำลังกายที่สมบูรณ์ เพราะเรายังแข็งแรงอยู่ แต่ถ้าไม่มีกำลังกายที่สมบูรณ์ ก็คงจะทำให้ความเพียรนั้นไม่เป็นผล

เจริญ: พระราชปรารภนี้ประเสริฐที่สุดแล้ว เป็นหลักของการประสบความสำเร็จ ถ้าพูดง่ายๆ เรื่องความเพียรก็คือเราต้องไม่ทำเพื่อหวังจะรวย เพียงแต่วันนี้ต้องปฏิบัติให้สมบูรณ์ พรุ่งนี้ก็ต้องปฏิบัติให้สมบูรณ์อีก มีความเพียร อดทนที่จะทำให้มันสมบูรณ์ แล้วการจะมีปัญญาที่เฉียบแหลม สุขภาพที่ดี เราก็จะต้องไม่บั่นทอนสุขภาพเรา นี่คือปรัชญาชีวิตที่เป็นพื้นฐานของครอบครัว

ประเทศเราจะมีความสมดุลได้ สำคัญที่สุดก็คืออยากให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้จากคนรุ่นเก่า อย่ามองข้ามคนรุ่นเก่าที่เขาผ่านประสบการณ์ทั้งผิดพลาดและสำเร็จ ให้เอาความสำเร็จของเขามาใช้ สิ่งที่เขาผิดพลาดก็ไม่ทำตาม ต้องมีความเพียรที่บริสุทธิ์ อย่าคิดเรื่องผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ ทำไปเรื่อยๆ แล้วจะสำเร็จ นี่เป็นหัวใจสำคัญที่สุด


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทย และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save