fbpx

‘เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม’: ความเชื่อแบบไทยๆ อุปสรรคใหญ่ของนโยบายครอบครัวอุปถัมภ์

การเลี้ยงดูที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเด็กที่สุดคือการเลี้ยงดูแบบครอบครัว แต่เด็กจำนวนมากในประเทศไทยยังไม่ได้รับโอกาสนั้น มีเด็กกว่า 120,000 คนที่ต้องเติบโตนอกครอบครัว ทั้งในสถานรองรับระยะยาว โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ หรือแม้แต่วัด[1] แม้ว่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในยามจำเป็น แต่ก็ห่างไกลกับภาพฝันถึงความเหมาะสม อีกทั้งยังอาจถูกทำร้ายซ้ำตลอดกระบวนการ

ทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กเหล่านี้ได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงครอบครัวมากที่สุด คือการรับเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ อย่างไรก็ดี การรับเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ให้กับเด็กที่ไม่แม้แต่จะมีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดก็ยังคงถูกท้าทายด้วยคติความเชื่อของคนไทยที่ว่า ‘เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม’

มีลูกไว้เลี้ยงตอนแก่ ความคาดหวังของการมีลูกในไทย

‘เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม’ เป็นสำนวนไทยที่หมายถึงการรับลูกของคนอื่นมาเลี้ยง เป็นภาระที่คาดหวังผลตอบแทนไม่ได้ สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของคนไทยตั้งแต่ในอดีตว่าเมื่อมีลูกแล้วจะต้องได้รับผลตอบแทนกลับมา ซึ่งตัวอย่างหนึ่งของความคาดหวังนี้คือ การมีลูกไว้เลี้ยงตอนแก่

“อยากมี เพราะว่าเป็นการ invest เราในอนาคต”

“คิดว่าแก่มา แล้วไม่มีใครเลี้ยง ไม่อยากไปอยู่บ้านคนชรา ถ้าแก่มามีคนเลี้ยงก็ยังดี ดีกว่าไม่มีเลย”

นี่คือตัวอย่างทัศนคติเชิงบวกของการมีลูกจากผู้ให้สัมภาษณ์ในงานวิจัยเรื่อง ‘การตัดสินใจด้านการเจริญพันธุ์ของคนเจนวาย (Gen Y and Fertility Decisions)‘ โดย รศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงให้เห็นถึงความคาดหวังว่าลูกต้องมาเป็นที่พึ่งให้ในยามที่ตนเข้าสู่วัยชรา[2]

เช่นเดียวกันกับรายงานการสำรวจและการศึกษาเพื่อการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมประจำปี 2561 เรื่องที่ 1 ทัศนคติและปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อการมีบุตร ในกลุ่มประชากรเจเนอเรชันวาย ซึ่งหมายถึงผู้ที่เกิดในระหว่าง พ.ศ. 2523-2543 (อายุ 18-38 ปีในขณะนั้น) จำนวน 3,474 คน พบว่า ทั้งกลุ่มตัวอย่างอายุ 18-25 ปี และ 26-38 ปีต่างก็เห็นด้วยกับคำถามที่ว่า “การมีลูกช่วยให้มีคนดูแลยามบั้นปลายชีวิต

ครอบครัวอุปถัมภ์ เมล็ดพันธุ์ที่เพาะไม่โต

รากฐานความคิดเกี่ยวกับการมีลูกแบบ ‘หว่านพืชหวังผล’ คือเนื้อดินของสังคมไทย ซึ่งทำให้การผลักดัน ‘ครอบครัวอุปถัมภ์’ ไม่อาจงอกเงยขึ้นได้แม้พยายามผลักดันมากว่า 22 ปีแล้ว

‘ครอบครัวอุปถัมภ์’ คือครอบครัวรับดูแลเด็กชั่วคราวจนกว่าเด็กจะอายุ 18 ปีบริบูรณ์ เป็นทางเลือกให้เด็กที่ไร้คนดูแลยังคงมีโอกาสได้เติบโตใน ‘ครอบครัว’ แทนที่จะต้องถูกส่งเข้าสถานสงเคราะห์ซึ่งไม่เหมาะแก่การเติบโตนัก อาจกล่าวได้ว่าครอบครัวอุปถัมภ์คือการ ‘ช่วยรัฐเลี้ยงเด็ก’ ผู้อุปถัมภ์เป็นเหมือนเจ้าหน้าที่ในสถานสงเคราะห์ ทว่าทำงานที่บ้านของตน ซึ่งให้ความอบอุ่นและสนับสนุนการเติบโตของเด็กได้มากกว่า และกรมกิจการเด็กและเยาวชนยังชี้ว่ามีต้นทุนต่ำกว่าการดูแลในสถานสงเคราะห์ ซึ่งอาจมากถึง 4 เท่าตามประสบการณ์จากทั่วโลก[3]

แม้จะมีข้อดีหลายด้าน ทว่าปัจจุบันไทยมีครอบครัวลักษณะนี้อยู่เพียงราวสามร้อยครอบครัวเท่านั้น เพราะการรับอุปถัมภ์เด็กไม่สอดรับกับค่านิยมในการเลี้ยงดูของสังคมไทย ความคาดหวังให้ลูกโตมา ‘เลี้ยงดูตอนแก่’ ดูจะไปกันได้กับการ ‘รับเป็นบุตรบุญธรรม’ มากกว่าการรับเลี้ยงชั่วคราว

‘ทำบุญ’ หรือ ‘ลงทุน’ เส้นแบ่งที่รัฐขีดได้

ตราบใดที่ภาระในการดูแลเด็กคนหนึ่งไม่ตกมาอยู่กับตัว การช่วยเหลือนั้นมักถูกเรียกว่าการ ‘ทำบุญ’ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงิน สิ่งของ หรือการจัดกิจกรรมเลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก และรัฐเองก็ยังส่งเสริมให้เกิดการทำบุญเหล่านี้ ทั้งในรูปแบบของการประชาสัมพันธ์ที่คนเข้าถึงได้ง่าย ไปจนถึงการลดหย่อนภาษีจากการบริจาคเงินไปยังสถานสงเคราะห์ต่างๆ

ทว่าเมื่อเปลี่ยนเป็นการรับเด็กมาเลี้ยงดู ‘บุญ’ ก็กลับกลายเป็น ‘ทุน’ ที่ถูกคาดหวังให้ไถ่ถอนได้ อย่างน้อยคือการมีใครสักคนช่วยดูแลในบั้นปลายชีวิต

ด้วยทัศนะการลงทุนหวังผลตอบแทน กระบวนการรับอุปถัมภ์เด็กในปัจจุบัน ที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐเพียงเล็กน้อยและยุ่งยากจากระบบราชการ จึงสร้างความรู้สึกว่าการรับอุปถัมภ์มีต้นทุนสูงให้ผลตอบแทนต่ำ (ติดลบ)

เงินที่รัฐให้ไม่พอใช้ (รัฐช่วยเพิ่มเงินหน่อยได้ไหม?)

เมื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณของรัฐเพื่อสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ก็พบว่า เงินที่รัฐจัดสรรให้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จากประกาศกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่ 298/2558 เรื่องกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์อัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยค่าเลี้ยงดูเด็กแก่ครอบครัวอุปถัมภ์ และ/หรือช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กตามความจำเป็น พบว่ารัฐให้เงินสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์เดือนละ 2,000 บาท/คน/เดือน และ/หรือสนับสนุนเครื่องอุปโภคมูลค่าไม่เกิน 500 บาท/คน/เดือน แต่ในทางปฏิบัติ ผู้เกี่ยวข้องในกรมให้สัมภาษณ์ว่าเลือกให้ความช่วยเหลือเพียงทางใดทางหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเงินค่าเลี้ยงดูเด็ก 1 คนที่คำนวณแบบการคำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตจะพบว่า ในหนึ่งเดือนต้องใช้เงินอย่างน้อย 3,305 บาท/คน/เดือน หรือในกรณีของเด็กเล็กก็ต้องใช้เงินอย่างน้อย 3,373 บาท/คน/เดือน

นอกจากนี้ยังพบว่า การให้เงินสนับสนุนของรัฐทำอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ โดยพบว่ารัฐให้เงินสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์เท่ากันทั้งหมดคือ 2,000 บาทโดยไม่คำนึงถึงช่วงอายุ ความจำเป็น หรือสภาพแวดล้อมและอาณาบริเวณที่เด็กไปอยู่อาศัย ในขณะที่ต่างประเทศ เช่น รัฐ Western Australia ประเทศออสเตรเลีย การให้เงินสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์มีการปรับตามอายุของเด็ก และอาจให้เพิ่มขึ้นได้ 10-20% ตามที่อยู่อาศัยของเด็กในขณะนั้น[4] การสนับสนุนจากภาครัฐที่เหมาะสมกับทั้งเด็กและครอบครัวที่รับอุปถัมภ์จะช่วยทำให้ผู้รับอุปถัมภ์ใช้เงินในกระเป๋าตัวเองน้อยลง และลดความคิดของการคืนทุนจากการรับเด็กคนหนึ่งมาอุปถัมภ์

เอกสารยุ่งยาก

ต้นทุนอีกแง่หนึ่งคือความยุ่งยากในระบบราชการ การดำเนินการเพื่อรับเด็กเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ ต้องมีการจัดการในเรื่องของเอกสาร อาทิ ใบสูติบัตร บัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของเด็กที่ต้องการอุปถัมภ์ แต่การจัดการเอกสารเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย งานศึกษาของ UNICEF ในปี 2014 ระบุว่าเรื่องเอกสารเป็นอุปสรรคหนึ่งในการรับเด็กมาอุปถัมภ์ โดยเฉพาะเอกสารที่พ่อแม่ที่แท้จริงของเด็กต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง[5]


ทั้งเงินสนับสนุนที่ไม่เพียงพอ และความยุ่งยากของเอกสาร ผลักให้ความฝันของรัฐที่จะเพิ่มครอบครัวอุปถัมภ์ไกลจากความเป็นจริง โดยเฉพาะในยุคที่การมีลูกเป็นทางเลือกสุดท้ายของคนเจน x และ y และมองว่าการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาได้อย่างดีต้องใช้เงินจำนวนมาก[6]

ท้าทายความเชื่อเก่า ก้าวให้พ้น ‘บุญ/ทุน ต้องทดแทน’

การให้เด็กได้เติบโตในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่แท้จริงของเด็กหรือครอบครัวอุปถัมภ์ เป็นสิ่งที่รัฐพยายามส่งเสริม จะเห็นได้จากการดำเนินงานเกี่ยวกับครอบครัวอุปถัมภ์ร่วมกับ องค์กร Care for Children[7]หรือการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2569) ร่วมกับ UNICEF[8]ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือการผลักดันเด็กให้ออกจากสถานรองรับระยะยาวและกลับไปอยู่ในการดูแลของครอบครัว

การจะพัฒนาครอบครัวอุปถัมภ์ในประเทศไทยต้องพัฒนาควบคู่กันไป ทั้งในเชิงเม็ดเงินสนับสนุนจากรัฐหรือการจัดการระบบให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น และลงลึกไปถึงรากฐานความคิดของคนไทยในเรื่องการหวังผลตอบแทนเมื่อจะมีลูกหรือรับเด็กคนหนึ่งมาเลี้ยงด้วย

“ลูกสอนให้เรารู้จักแบ่งปัน การสร้างความผูกพันในครอบครัว อยากให้ครอบครัวที่มีความพร้อม มาเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ ให้ความอบอุ่นแก่เด็ก แล้วจะรู้ว่าแววตาของพวกเขาจะสดใสขึ้น มีความสุขขึ้น อยากให้ครอบครัวอื่นๆ มาเติมเต็มความรักให้เด็กที่ขาดความอบอุ่นแบบนี้ค่ะ” คุณสมร คุณแม่อุปถัมภ์[9]

เรื่องราวของคุณสมรเป็นตัวอย่างของการปรับมุมมองที่ก้าวข้ามการ ‘ลงทุน’ และ ‘ทำบุญ’ ที่ต้องทำไปเพื่อหวังผล ‘ยามชรา’ หรือกระทั่ง ‘ชาติหน้า’ มาสู่การทำในสิ่งที่เห็นผลได้ยามนี้ชาตินี้ สำหรับสมร การอุปถัมภ์ไม่ใช่แค่เธอเป็นผู้ให้ แต่ลูกยังสอนบางสิ่งและมอบคุณค่าที่ยิ่งใหญ่กว่าเงินทองเป็นการตอบแทน 

การจะหว่านไถให้เมล็ดพันธุ์ความเชื่อใหม่นี้งอกเงยขึ้นได้ รัฐจะต้องทำให้การอุปถัมภ์เด็กเป็นเรื่องได้มากกว่าเสีย เพิ่มเงินอุดหนุนให้เพียงพอ ลดความยุ่งยากที่ไม่จำเป็น ขณะเดียวกันการใช้เครื่องมือเชิงอุดมการณ์เกี่ยวกับการสร้างครอบครัวในมิติต่างๆ นับแต่การรณรงค์ การส่งเสริมแนวคิด ‘บุญคุณพ่อแม่’ ควรต้องได้รับการทบทวนให้เปิดกว้างต่อรูปแบบครอบครัวใหม่ๆ มากขึ้น เปลี่ยนความคิดเรื่อง ‘เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม’ ให้กลายเป็น ‘ช่วยรับเด็กมาเลี้ยง เป็นเยี่ยงอย่างที่ต้องชม’ ให้ได้ เพื่อที่เด็กๆ อีกนับแสนคนที่ไม่มีโอกาสเติบโตในบ้านของตัวเอง จะได้รับโอกาสในการก้าวเข้าสู่สังคมได้อย่างมั่นคงและแข็งแรง

References
1 Ladaphongphatthana, K., Lillicrap, A., & Thanapanyaworakun, W. (2022). Counting every child, identifying over 120,000 children in residential care in Thailand. โดยที่สถานรองรับระยะยาวของรัฐต้องดูแลเด็กราว 5,000 คน/ปี ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลที่ 101 PUB รวบรวมจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน
2 มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ, การตัดสินใจด้านการเจริญพันธุ์ของคนเจนวาย Gen Y and Fertility Decisions, https://ipsr.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2022/03/07_Manasigan-Gen-Y.pdf
3 กรมกิจการเด็กและเยาวชน, 2018, “รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์การเลี้ยงดูทดแทนในประเทศไทย”.
4 Government of Western Australia Department of communities, Financial Support Information Family or Foster Carer Subsidy, https://www.wa.gov.au/system/files/2023-07/fostering_financial_support_info.pdf
5 UNICEF พฤษภาคม 2015, การศึกษาทบทวนก้านการเลี้ยงดูทดแทนในประเทศไทย นโยบายสู่การปฏิบัติโดยมุ่งเน้นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์(CABA).
6 เจณิตตา จันทวงษา, (2022), สังคมแบบไหนที่คนไทยอยากมีลูก101 Public Policy Think Tank .
7 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 4 เมษายน 2023, พม. จับมือ Care for Children สร้างเด็กดีมีคุณภาพ ด้วยครอบครัวอุปถัมภ์แบบ Foster Care .
8 กรมกิจการเด็กและเยาวชน, กันยายน 2022, แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก ระยะที่ 1 (พ.ศ.2565-2569).
9 THE PEOPLE, “ ‘น้องเซ็น’ ชีวิตใหม่ในครอบครัวอุปถัมภ์ที่เต็มเติมความรัก“, 19 เมษายน 2023.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save