fbpx
“เราอาจตายไปโดยไม่รู้ความจริง แต่หวังว่าคนรุ่นต่อไปจะยังตั้งคำถาม” 20 ปีคดีอุ้มหายทนายสมชาย กับ อังคณา นีละไพจิตร

“เราอาจตายไปโดยไม่รู้ความจริง แต่หวังว่าคนรุ่นต่อไปจะยังตั้งคำถาม” 20 ปีคดีอุ้มหายทนายสมชาย กับ อังคณา นีละไพจิตร

12 มีนาคม 2547 มีผู้พบเห็น ‘ทนายสมชาย นีละไพจิตร’ ครั้งสุดท้ายที่ย่านรามคำแหง ก่อนที่เขาจะถูกคนกลุ่มหนึ่งผลักตัวเข้าไปในรถ และหลังจากวันนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีในการเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน ทนายสมชายทำงานใช้หลักกฎหมายเพื่อความยุติธรรม เขาช่วยเหลือคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีทางสู้ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหรือมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนหน้าที่เขาจะถูกบังคับสูญหาย สมชายถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับกลุ่มก่อการร้ายเจไอ

12 มีนาคม 2567 ครบรอบ 20 ปีที่สมชายหายตัวไป ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยังคงมีคดีอุ้มหายเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ต่อสู้เพื่อทวงถามความจริงและความยุติธรรมจากภาครัฐ รวมถึงการผลักดันข้อกฎหมายและการดำเนินคดีคนหายในประเทศไทยยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ‘พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565’ เป็นหนึ่งในหลักฐานของความเปลี่ยนแปลง

101 ร่วมวงสนทนากับ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รองประธานในคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นักเคลื่อนไหว และภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ถึงความเป็นไปของคดีความ ช่วงชีวิตใน 20 ปีที่ผ่านมา และทิศทางของกระบวนการยุติธรรมไทย

“เราอาจตายไปโดยไม่รู้ความจริง แต่หวังว่าคนรุ่นต่อไปจะยังตั้งคำถาม” 20 ปีคดีอุ้มหายทนายสมชาย กับ อังคณา นีละไพจิตร

จนถึงทุกวันนี้ คดีสมชาย นีละไพจิตรยังคงเป็นที่พูดถึง คิดว่าเป็นเพราะอะไร

ก่อนที่ทนายสมชายจะหายตัวไป เรารับทราบมาตลอดเมื่อมีการอุ้มหายเกิดขึ้นในประเทศไทย ตอนนั้นเราตั้งคําถามว่าทําไมญาติถึงไม่ทําอะไรเลย คุณสมชายก็บอกว่าไม่มีใครกล้าทำอะไรหรอก เพราะญาติกลัว เลยไม่กล้าลุกขึ้นมาพูด

พอมันเกิดขึ้นกับเรา เราก็กังวลว่าจะทําอย่างไรดี ตอนที่แน่ใจว่าคุณสมชายหายแน่ ตํารวจบอกว่าแจ้งความไม่ได้ เพราะต้องรอ 48 ชั่วโมงก่อน คือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การแจ้งความคนหาย ต้องหายครบ 48 ชั่วโมงก่อน แต่เมื่อมีการพูดเรื่องนี้มากๆ เข้า ก็มีการปรับปรุงกฎหมายให้เป็น 24 ชั่วโมง ตอนที่เราเป็นกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ. คนหายฯ เราเขียนไว้เลยว่าต้องมีการสืบสวนสอบสวนโดยทันที เพราะช่วงเวลาที่คนหายไปสําคัญต่อชีวิตมาก มันหมายถึงความเป็นความตายของมนุษย์ ถ้ารอ 24 ชั่วโมงก็แทบไม่เหลืออะไรแล้ว

ต้องยอมรับว่าเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจะหาคนหาย หาตัวคนผิด สิ่งสําคัญคือเจตจํานงทางการเมือง ถ้ารัฐบาลมีเจตจํานงที่จะทําอะไร มันทําได้อยู่แล้ว เพียงแต่ทําหรือไม่ทำแค่นั้นเอง กรณีสมชายอาจจะโชคดีที่มีการกดดันมาก มีการตั้งกระทู้ถามนายกทักษิณในสภาฯ และมีการส่งเรื่องไปที่สหประชาชาติ ทางสหประชาชาติก็ถามมายังรัฐบาลไทย เป็นช่วงที่คุณทักษิณบอกว่า UN ไม่ใช่พ่อ

ถ้าจำไม่ผิด วันที่ 1 เมษายน 2547 มีการออกหมายจับตำรวจสี่คน ซึ่งถือว่าเร็วมาก หลังจากนั้นอีกสักสองสัปดาห์ก็มีการออกหมายจับตํารวจอีกคนหนึ่งที่มียศสูงกว่าสี่คนแรก ทำให้สมชายเป็นคดีคนหายคดีแรกที่ถูกนําขึ้นสู่ศาล

เปรียบเทียบกับกรณีอื่นอย่างสงครามยาเสพติด คนหายภาคใต้ อุปสรรคสําคัญที่สุดก็คือญาติไม่ประสงค์ที่จะดําเนินการเนื่องจากกลัว ไม่กล้าที่จะพูด พยานเองก็ไม่กล้าให้ข้อมูล อย่างประจักษ์พยานคดีสมชายเป็นผู้หญิงอายุยี่สิบต้นๆ ไปศาลคนเดียว ไม่มีการคุ้มครองพยานใดๆ ศาลชั้นต้นก็เขียนไว้ในคำพิพากษาว่าพยานมีอาการหวาดกลัว ไม่กล้าหันไปมองจำเลยทั้งห้าคน      

คดีแบบนี้ พยานส่วนใหญ่จะกลับคำให้การ ตอนที่ให้การเป็นพยานชั้นตํารวจก็จะบอกว่าจําได้ ชี้รูปได้ แต่พอมานั่งเผชิญหน้ากับจําเลย ไม่มีพยานคนไหนกล้าชี้เลย เราเองก็ยังสงสัยว่าทําไมอัยการไม่ขอสืบพยานลับหลัง สืบพยานเผชิญหน้าแล้วพยานจะมีชีวิตอยู่อย่างไร

อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้คุณตัดสินใจสู้

เราสู้ทั้งที่เราก็รู้ว่าแพ้ เราไปศาลคนเดียว นั่งคนเดียว บางครั้งก็จะมีองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มาสังเกตการณ์คดีมานั่งเป็นเพื่อนกัน ใครๆ ก็บอกว่าทำอะไรไม่ได้หรอก เหมือนการสบประมาท แต่เราก็อยากสู้ เพราะอยากฟังว่าศาลสูงจะตัดสินอย่างไร เพราะศาลชั้นต้นลงโทษจําเลยที่หนึ่งจําคุกสามปี แต่ศาลให้ประกันตัว สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้พักราชการ

ตำรวจห้าคนบอกว่าไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ในวันที่สมชายถูกอุ้มหาย ทั้งห้าคนมีการโทรศัพท์ติดต่อกัน 70 กว่าครั้ง และอยู่ในสถานที่เดียวกันด้วย อีกทั้งน่าจะมี 20-30 คน แต่ไม่ได้ติดต่อกันถี่เท่าห้าคน ที่ราชบุรี ตำรวจคนหนึ่งไปซื้อถังน้ำมัน 200 ลิตร ตํารวจอีกคนไปซื้อน้ำมันใส่แกลลอน เราจะรู้ได้เลยว่าใครอยู่ตรงนั้น แต่หลักฐานโทรศัพท์ไม่มากพอที่จะบอกว่าเขาเป็นคนฆ่า อัยการถามว่าทําไมต้องซื้อน้ำมันใส่แกลลอน เขาตอบว่าก็ซื้อเก็บไว้ คนที่ไปซื้อถังน้ำมัน 200 ลิตร ก็บอกว่าซื้อถังเอาไว้เผาใบไม้

ทุกวันนี้ ตํารวจที่เกี่ยวข้องในคดีหลายคนเปลี่ยนชื่อ บางคนยังปรากฏตัวในโทรทัศน์ มีหน้ามีตา ได้รับการส่งเสริม เราคิดว่าเขารู้อยู่แล้วว่าใครทํา แต่เราก็อยากสู้ให้ถึงที่สุด สุดท้ายคือเราขอเป็นโจทก์ร่วม เพื่อให้เราสามารถส่งเอกสารให้ศาลได้ เขียนแถลงการณ์ปิดคดีและเขียนอุทธรณ์เองด้วย ในขณะที่ทนายจําเลยคัดค้านมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ไม่ให้ครอบครัวมีส่วนร่วม อ้างว่าไม่มีหลักฐานว่าสมชายตายหรือบาดเจ็บ เราก็อุทธรณ์เรื่อยมา เมื่อมาถึงศาลฎีกา ก็มีคําพิพากษาว่าเราไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ร่วม เพราะว่าไม่มีหลักฐานว่าสมชายบาดเจ็บหรือว่าเสียชีวิต เพราะคนฟ้องต้องเป็นสมชายเอง ก็เลยทําให้สังคมเห็นว่าคดีคนหาย ณ วันที่ยังไม่มีกฎหมายเรื่องนี้ มันไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายหายไปแล้ว แล้วก็ไม่มีหลักฐานว่าตาย ทำให้ดําเนินคดีฆาตกรรมไม่ได้

พอเป็นคดีคนหาย ตํารวจเจ้าหน้าที่ก็จะชะล่าใจว่า ถ้าไม่มีศพ อย่างไรก็เอาผิดไม่ได้อยู่แล้ว ตํารวจเป็นคนทําผิด ตํารวจทําสํานวนส่งศาล ทุกอย่างอยู่ในมือคนกลุ่มเดียวหมด เรื่องอุ้มหายจึงยังเกิดขึ้น ก็ถือว่าคดีสมชายบอกสังคม ทําให้เห็นว่าไม่มีกฎหมายเรื่องอุ้มหายจริงๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลเองปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าจําเป็นต้องให้มีกฎหมายนี้

“เราอาจตายไปโดยไม่รู้ความจริง แต่หวังว่าคนรุ่นต่อไปจะยังตั้งคำถาม” 20 ปีคดีอุ้มหายทนายสมชาย กับ อังคณา นีละไพจิตร

สมาชิกในครอบครัวเผชิญอะไรบ้าง ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงวันนี้ พูดคุยถึงเรื่องนี้กันอย่างไร

ครอบครัวเราเอง ญาติพี่น้องก็หายไปหมดเลย หลายคนถามว่าแน่ใจหรือที่จะมีเรื่องกับตํารวจ เพื่อนทนายกันเอง ช่วงแรกๆ บางคนก็ไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นภาวะที่ยากลําบากมากเลย เราสงสารลูก ตอนนั้นรถโดยสารประจําทางก็จะมีวิทยุ เดินผ่านร้านหนังสือพิมพ์ก็เจอพาดหัวข่าว ‘อุ้มทนายโจร’ เด็กๆ ไปโรงเรียน บางทีเพื่อนๆ ก็ถามคําถามที่ตอบไม่ได้ เช่น จะกลับมาไหม หายไปไหน ใครเป็นคนทํา ยังอยู่ไหม หรือตายแล้ว ทุกคนก็เลยไม่ค่อยอยากพูด

บางทีเราเห็นเขาไปอยู่ตามมุม คุยกัน ร้องไห้ ทุกคนจินตนาการว่าพ่อคงคิดถึง ตอนที่พ่อถูกทําร้าย พ่อคงเจ็บ เขาจะแอบไปนั่งร้องไห้ ไม่ค่อยมาร้องไห้ให้เราเห็น ผ่านไประยะหนึ่ง เราต้องคุยกับลูกๆ อย่างจริงจังว่าจะเอาอย่างไรดี เราจะอยู่เฉยๆ ไหม เพราะช่วงนั้นมีคนเสนอว่าจะช่วยเหลือค่าใช้จ่าย จะให้ทุนการศึกษาลูกๆ ไปเรียนต่างประเทศ แต่ถ้าเรายืนยันว่าเราจะหาความเป็นธรรม เราก็ต้องเจอกับการคุกคามนะ คําหนึ่งที่บอกกับลูกๆ คือถ้าวันไหนไม่ไหว ก็บอกนะ พร้อมที่จะหยุดทันที ไม่ใช่ว่าพอคนคนหนึ่งหายไป แล้วต้องทำให้คนในครอบครัวอีกหลายคนใช้ชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ ซึ่งหลายๆ ครอบครัวก็คงเจอภาวะแบบนั้น

ทุกวันนี้ เวลาที่ลูกจะต้องกรอกข้อความในแบบฟอร์ม เขาก็ยังไม่รู้เลยว่าจะเขียนว่าพ่อมีชีวิตอยู่หรือเปล่า เราเองก็ลังเลทุกครั้งที่จรดปากกาว่าจะเขียนว่าหม้ายหรือหย่า ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

นอกจากนั้น ความเป็นเพศหญิงยังถูกนำมาใช้ในการลดทอนคุณค่าของเรา จะเห็นได้ว่าเวลามีการละเมิดสิทธิชุมชน ส่วนมากเหยื่อเป็นผู้ชาย แต่คนที่ออกมาเรียกร้องมักเป็นผู้หญิง เพราะฉะนั้นจึงมีเรื่องของการเหยียดเพศเข้ามา มักมาในประเภทที่ทําให้เรารู้สึกว่าเรากลายเป็นคนไม่ดี เช่น ออกมาสู้ เดี๋ยวเดียวก็มีผัวใหม่ มันเหมือนการทําลายศักดิ์ศรี

ศักดิ์ศรีสําคัญ ถ้าใครไม่ถูกพรากไป จะไม่รู้ว่าสําคัญแค่ไหน ไม่ต้องพูดถึงยากดีมีจน ฐานะทางเศรษฐกิจหรือการศึกษา แต่แค่คุณค่าของความเป็นมนุษย์ เวลาที่คุณออกมาพูดอะไรเพื่อที่จะปกป้องตัวเอง แต่กลับถูกทําให้กลายเป็นคนไร้ค่า มันบั่นทอนมาก

สถานะคดีล่าสุดเป็นอย่างไร

เดือนตุลาคมปี 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษก็ส่งหนังสือมาแจ้งให้ทราบว่าต้องงดการสอบสวนเนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้กระทำผิด หลังจากที่ได้รับหนังสือ เราก็ไปขอพบอธิบดีกรม เขาบอกว่าต้องงดการสอบสวน เพราะว่าเขารับเป็นคดีพิเศษตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2548 จนกระทั่งตุลาคม 2559 เป็นเวลากว่า 11 ปี การที่เขาไม่สามารถหาตัวคนผิดได้ มันกระทบต่อตัวชี้วัดการทํางานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เขาบอกว่างดการสอบสวนไม่ได้หมายความว่ายุติ ถ้ามีหลักฐานอะไรเพิ่มเติมก็เอามาได้ แล้วก็จะเริ่มใหม่ วันนั้นเราถามเขาว่า แล้วแต่งตั้งเราเป็นพนักงานสอบสวนได้ไหมล่ะ เราจะได้มีอํานาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คดีพิเศษ ไม่อย่างนั้นเราคนธรรมดาจะไปหาหลักฐานจากไหน แค่มีชีวิตอยู่แต่ละวันก็ไม่ง่ายแล้ว

ก่อนหน้านั้น ช่วงปี 2554-2555 มีการประท้วง กรมสอบสวนคดีพิเศษบอกว่ามีผู้ชุมนุมบุกรุกเข้าไปในออฟฟิศที่ศูนย์ราชการ แล้วก็ทําแฟ้มคดีสมชายหาย กรมสอบสวนคดีพิเศษมีระบบป้องกันความปลอดภัยสารพัด ไม่ใช่ใครจะงัดหรือบุกเข้าไปได้ เราก็งงว่าจะหายไปได้อย่างไร ก็เลยไปพบปลัดกระทรวงยุติธรรม และสองวันต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษก็แถลงข่าวว่าหาเจอแล้ว ตกอยู่ในซอกตู้

เราตั้งคำถามกลับไปว่า เอาจริงๆ แล้ว แฟ้มคดีสมชายมีจริงหรือเปล่า อาจมีแต่แฟ้ม แต่ข้างในไม่มีอะไรหรือเปล่า เพราะเคยไปขอดูตั้งหลายครั้ง เขาก็ไม่เคยให้ดู สอบสวนอะไรไปบ้าง เราก็ไม่เคยเห็นเลย ทั้งๆ ที่ตามรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าทั้งโจทก์และจําเลยมีสิทธิที่จะเข้าถึงพยานหลักฐานตามสมควร เราก็คิดมาตลอดว่า เขาอาจรู้อยู่แล้วว่าใครเป็นคนทำ อยู่ที่ว่าเขามีความจริงใจในการหาตัวสมชายมากแค่ไหน

ปี 2553 มีการเยียวยากรณีเสื้อแดง หลังจากนั้นก็ กปปส. และปี 2555 ก็มีการเยียวยากรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วก็มีการเยียวยาครอบครัวสมชาย เหตุผลที่ระบุไว้ในมติ ครม. คือการเยียวยาผู้ผู้สูญหายที่เชื่อว่าเกิดจากการกระทําของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่สิ่งที่หลายคนหรือญาติทุกคนยังสงสัย คือในเมื่อเป็นการกระทําของเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วทําไมจึงไม่มีการดําเนินการตามกระบวนการยุติธรรม เราได้เงิน แต่ไม่ได้รับความยุติธรรม

เรารู้สึกว่าคดีมันถูกขีดไว้ว่าเอาแค่นี้แหละ ไม่ขึ้นไปมากกว่านี้ ไม่ลงไปมากกว่านี้

“เราอาจตายไปโดยไม่รู้ความจริง แต่หวังว่าคนรุ่นต่อไปจะยังตั้งคำถาม” 20 ปีคดีอุ้มหายทนายสมชาย กับ อังคณา นีละไพจิตร

คุณคิดเห็นอย่างไรกับ พ...ซ้อมทรมานอุ้มหาย พ... นี้จะเปิดความเป็นไปได้ให้คดีทนายสมชายและคดีอื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง

กฎหมายฉบับนี้ เราเป็นกรรมาธิการเข้าไปร่าง ตอนนั้นเป็นช่วงก่อนที่จะเข้ามาทํางานให้สหประชาชาติ เราพยายามนำหลักสากลมาเทียบเคียง ในกฎหมายอนุสัญญาคนหายสหประชาชาติ เขียนเรื่องคนหายไว้ละเอียดมาก โดยเฉพาะสิทธิที่จะทราบความจริง ซึ่งเขาเขียนว่าเป็นสิทธิสมบูรณ์ เป็นสิทธิของเหยื่อ ที่จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นชีวิตก็จะอยู่กับความคลุมเครือตลอด วันหนึ่งมีคนบอกว่าตาย อีกวันหนึ่งบอกว่าไม่ตาย ความคลุมเครือทําให้ทุกข์ทรมานใจ เพราะฉะนั้น สิทธิที่จะทราบความจริงก็ถูกเขียนไว้ในมาตราที่ 4 คือรัฐต้องสืบสวนจนกว่าจะพบตัวผู้สูญหายหรือพบว่าเสียชีวิต และรู้ตัวผู้กระทําผิด

มาตรานี้เจ้าหน้าที่กลัวมาก เขาถามตอนที่ร่างกฎหมายว่า อย่างนี้ก็ต้องสืบไปเรื่อยๆ หรือ ซึ่งก็ใช่ คุณต้องสืบไปเรื่อยๆ ในต่างประเทศ ในลาตินอเมริกา อาร์เจนตินา ชิลี ผ่านไปแล้ว 60-70 ปี จนคนผิดแก่หรือตายไป ถึงได้มีคนยอมเปิดเผยความจริง และบอกว่าศพถูกซ่อนไว้ที่ไหน เพราะฉะนั้น จึงมีความสําคัญว่าต้องเขียนให้ชัดว่าการบังคับสูญหายเป็นการกระทําที่ต่อเนื่อง หลายคนรวมถึงนักกฎหมาย ถามว่าจะย้อนหลังได้อย่างไร แต่อันที่จริง มันไม่ได้ย้อนหลังเลย แต่ความผิด 20 ปีที่แล้ว วันนี้ยังเป็นความผิดอยู่ คนยังหายอยู่ เพราะฉะนั้นก็ยังเป็นความผิดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะพบตัว และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องตรวจสอบและสืบสวน

สำหรับการนำกฎหมายไปใช้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทั้งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ก็จะพูดถึงแต่เรื่องการป้องกันการทรมาน การจัดอบรม แต่ยังไม่มีใครพูดถึงว่าแล้วจะหาตัวคนหายอย่างไร คณะกรรมการมีทําข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกเอกสารการตรวจสอบของหน่วยงานมาให้ข้อมูล แต่ยังไม่เห็นคณะกรรมการริเริ่มดำเนินการตามคนหาย ในเมื่อมีกฎหมายแล้ว ทําไมรัฐจึงไม่ทํา เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องสืบสวนจนกว่าจะทราบ อย่างน้อยที่สุดคณะกรรมการเชิญแต่ละครอบครัวไปให้ข้อมูล สอบถามทุกปี ญาติของเหยื่อในพฤษภา 2535 ผ่านมา 30 กว่าปี ญาติส่วนมากเสียชีวิตแล้ว อีกจํานวนไม่น้อยที่เป็นผู้สูงอายุ แทบจะไม่มีแรงเรียกร้อง ทำไมคณะกรรมการไม่เข้าไปดูว่าจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไรบ้าง ชดใช้เยียวยาความเสียหายเขาได้อย่างไรบ้าง

วันนี้ถามรัฐบาลไทย ถามกระทรวงยุติธรรมว่ามีคนหายกี่คนในประเทศไทย ไม่มีใครทราบ เพราะรัฐไม่เคยบันทึกเลยว่ามีคนหายในประเทศไทยกี่คน ทุกวันนี้เพียงแค่อ้างอิงจํานวนคนหายของสหประชาชาติ

เพราะฉะนั้นก็อยากให้รัฐบาลเริ่มต้น คนหายทุกคนมีชื่อ มีครอบครัว อย่างน้อยที่สุด อย่างกรณีพรรคคอมมิวนิสต์ที่พัทลุง หากรัฐเปิดโอกาสให้ญาติร้องเรียน บันทึกข้อมูล สอบประวัติ การคืนศักดิ์ศรีมันสำคัญ อยากเห็นว่ารัฐบาลจะทำอะไรบ้าง

ทุกวันนี้ตำรวจจำนวนมากมองว่า พ..บ.ซ้อมทรมานอุ้มหาย สร้างภาระในการทำงานหรือทำให้ทำงานยากขึ้น อยากบอกอะไรกับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น

ผ่านมา 20 กว่าปีนี้ เจ้าหน้าที่มีความสามารถมาก อย่างกรณีสมชาย นีละไพจิตร เจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาก็มีประวัติไปเรียนกับ FBI ด้วย ทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่ไทยได้รับการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น ได้รับการอบรมต่างๆ มีวิทยาการในเรื่องการหาหลักฐาน มีนิติวิทยาศาสตร์ที่เจริญขึ้น แต่เขาก็ยังเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะทําให้เขาทํางานยากขึ้น เพราะบางคนยังเชื่อว่าต้องใช้วิธีกดดันเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีความคิดความเชื่อเดิมๆว่า “ถ้าใครที่มันเป็นอุปสรรคมาก ทําให้มันหายไปแล้วจะเงียบกันหมด” ซึ่งไม่ใช่เฉพาะครอบครัวเขาหรือคนคนนั้นคนเดียวที่จะพูดไม่ได้ แต่หมายถึงคนที่ทํางานกับเขาอีกหลายคน ความเชื่อเหล่านี้ทําให้เรื่องแบบนี้ยังอยู่ เพราะญาติเองก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีศักยภาพที่จะออกมาพูด คนในสังคมก็น้อยคนมากที่จะรู้ที่จะเข้าใจ ขณะนี้ยังเคยมีอัยการคนหนึ่งบอกเราว่า “ทําอะไรไม่ได้หรอก ทําไมไม่รับเงินแล้วใช้ชีวิตเรียบๆ ง่ายๆ ไป” ขนาดเป็นอัยการนะ

“เราอาจตายไปโดยไม่รู้ความจริง แต่หวังว่าคนรุ่นต่อไปจะยังตั้งคำถาม” 20 ปีคดีอุ้มหายทนายสมชาย กับ อังคณา นีละไพจิตร

หลังจากที่อยู่ในรัฐบาลทหารมาอย่างยาวนานจนเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพลเรือน เห็นความเปลี่ยนแปลงหรืออนาคตเรื่องการอุ้มหายอย่างไร

อย่างน้อยที่สุดก็มีกฎหมาย กฎหมายฉบับนี้ อันที่จริงผ่านมติ ครม. สมัยรัฐบาลประยุทธ์ ถ้าถามว่ารัฐบาลมีเจตจํานงที่จะเห็นความสําคัญของสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า ก็ตอบยาก แต่อย่างหนึ่งคือรัฐบาลไม่สามารถหยุดยั้งความพยายามของประชาชนในการผลักดันเรื่องนี้ได้ มติ ครม. ปี 2559 ช่วงนั้นมีการตั้งคําถามเยอะ ตั้งแต่ปี 2559 – 2565 กว่า พ.ร.บ.จะเข้าสภา มันไม่ได้ง่าย ตอนเข้าไปถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็บอกว่าไม่จําเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ ไปแก้ ป.วิอาญาบางมาตราก็ได้ แต่ในฐานะครอบครัว เราให้ความเห็นว่าต้องแก้ตั้งแต่นิยามเลย

จริงๆ แล้วเรื่องนิยามของของผู้เสียหายในกฎหมาย ป.วิอาญา ควรแก้ตาม พ.ร.บ.ซ้อมทรมานอุ้มหายด้วยซ้ำไป เพราะตอนที่ร่าง พ.ร.บ.ซ้อมทรมานอุ้มหาย เรานิยามผู้เสียหายรวมไปถึงคนที่อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียน คู่รักเพศเดียวกัน ผู้อุปการะหรืออยู่ในอุปการะ หรือบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ของผู้นั้น เช่น ชุมชน องค์กร เพื่อนฝูง ก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องความเป็นธรรม ตรงนี้เป็นกฎหมายอภิวัฒน์ ซึ่งก็ถูก สนช. ตีกลับมา พอหลังเลือกตั้ง สนช. กลายเป็น สว. ก็มีการเริ่มต้นรับฟังความคิดเห็นใหม่ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมก็ค้านแทบทุกมาตราเลย แต่แม้ว่าตอนที่กฎหมายเข้าสภาจะถูกถามหรือค้านทุกมาตรา แต่สุดท้ายตอนโหวตก็ไม่มีเสียงคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว

แต่เมื่อไปถึง สว. ก็มีการแก้หลายมาตรา เช่น เขาไม่เข้าใจว่าทำไมคดีถึงไม่มีอายุความ เขาตัดทิ้งเรื่องที่เราเขียนว่าห้ามนิรโทษกรรม เราก็เสียดาย แล้วก็หวังว่าประเทศไทยจะมีเจตจํานงทางการเมืองในการที่จะปรับแก้พ.ร.บ. นี้ใหม่อีกครั้งเพื่อให้มีความทันสมัยและเป็นไปเพื่อสิทธิมนุษยชนได้จริง

สำหรับคดีคนไทยหายในต่างประเทศ มีมาตรการอย่างไร

มีกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจริงใจจะใช้แค่ไหน อย่างกรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ช่วงแรก อัยการก็บอกว่ามีกรอบความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค แต่เอาเข้าจริง อัยการกลับบอกว่า ประเทศไทยเป็นเป็นประเทศต้นทาง เขาเป็นพลเมืองของไทย แล้วประเทศที่เขาพํานักอยู่ไม่มีข้อมูล ก็ดูเหมือนจะจบ แต่จริงๆ แล้ว ควรมีการตรวจสอบ เช่น มีการรับฟังข้อเท็จจริงจากครอบครัว เพื่อนฝูง คนรู้จัก ให้ยืนยันตัวตนได้ว่าเขาอยู่ตรงนั้น เป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องทํา

ถ้ายกตัวอย่างกัมพูชา กัมพูชาให้สัตยาบันอนุสัญญาคนหายสหประชาชาติ ตั้งแต่สมัยหลังเขมรแดง สำหรับกรณีวันเฉลิม คณะกรรมการสหประชาชาติเขามีข้อสรุปเชิงสังเกตว่า ประเทศไทยควรติดต่อกับกัมพูชา ในฐานะที่วันเฉลิมเป็นพลเมืองไทย เพื่อที่จะตรวจสอบ ไม่ใช่ให้ครอบครัว ให้พี่สาวไปดักรอถามคุณทักษิณ ถามฮุนเซน ไปถึงก็โดนตํารวจสกัด ทำเหมือนไม่ให้เกียรติญาติ เขาเองก็สูญเสียและเดือดร้อนมาก รัฐควรเป็นปากเป็นเสียงแทนด้วยซ้ำไป

ข้อเสนอแนะข้อแรก กัมพูชาต้องทำให้มั่นใจว่าผู้ถูกบังคับสูญหายจะได้รับการค้นหาโดยไม่ชักช้า รวมถึงกรณีของวันเฉลิม การสอบสวนต้องมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ข้อสอง ใช้เครื่องมือในการค้นหาสอบสวนระดับต่างๆ ถึงแม้จะไม่มีการร้องเรียนไปยังทางการ ก็ให้มีการรับประกันว่ามีการใช้แนวทางที่หลากหลายในทุกขั้นตอนของกระบวนการค้นหา ข้อสาม ให้มั่นใจว่าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดจะถูกดําเนินคดี และหากพบว่ามีความผิดจะถูกลงโทษตามความร้ายแรงของความผิด และข้อสุดท้าย รัฐบาลกัมพูชาต้องรับประกันว่าตัวแทนของบุคคลสูญหายรวมถึงครอบครัว สามารถมีส่วนร่วมในการค้นหาและสอบสวนทุกขั้นตอนการพิจารณาคดีภายใต้กรอบของกระบวนการที่ชอบธรรมตามกฎหมาย

กรณีสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ที่หายตัวไป ก็มีการพบศพเพื่อนของเขาสองศพ คือกาสะลองและภูชนะ ถูกกรีดท้องแล้วเอาแท่งซีเมนต์ยัด ซึ่งไม่ใช่แท่งซีเมนต์ที่อยู่ในประเทศไทย แต่ใช้ในประเทศเพื่อนบ้าน ในเมื่อรู้แบบนี้ ทําไมจึงไม่ประสานกับประเทศเพื่อนบ้าน ควรที่จะสืบสวนได้มากกว่านี้ มากกว่าที่จะบอกว่าไม่พบตัวผู้กระทําผิด และตอนนี้ก็งดการสอบสวน 

คดีแทบทั้งหมดจะถูกงดการสอบสวน เมื่อไรก็ตามที่สังคมไม่สืบ ไม่ตาม เจ้าหน้าที่ก็แอบปิดคดีไป การที่มีคนถูกละเมิดสิทธิก็แย่แล้ว แต่การที่ทําให้คดีเงียบไปโดยไม่มีการสืบสวนต่อโหดร้ายยิ่งกว่า

“เราอาจตายไปโดยไม่รู้ความจริง แต่หวังว่าคนรุ่นต่อไปจะยังตั้งคำถาม” 20 ปีคดีอุ้มหายทนายสมชาย กับ อังคณา นีละไพจิตร

ตลอดการต่อสู้มา 20 ปี มองว่าคุณพ่ายแพ้ต่ออํานาจของอีกฝ่าย หรือสุดท้ายก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน 

ถ้าถามความรู้สึก ก็รู้สึกว่าเราแพ้ แพ้ตรงที่เราไม่สามารถหาความจริงได้วันนี้ เราก็ยังเจ็บปวด ในขณะเดียวกัน เราก็ภูมิใจที่ผู้หญิงธรรมดาๆ อย่างเรา สามารถทําให้กระบวนการยุติธรรมกระเพื่อม เราอาจเป็นเหมือนก้อนหินที่ถูกโยนลงไปในน้ำ แล้วสิ่งที่เคยถูกปกปิดไว้กลายเป็นที่รับรู้กันทั่วโลก สิ่งที่ดีใจมากคือมีคนมาร่วมกับเรามากขึ้น หลังจากคดีสมชาย พอมีคนหาย เราก็จะเห็นแม่กัญญา เห็นพี่สาววันเฉลิม เห็นใครต่อใครที่ไม่เคยมีตัวตนในสังคม กล้าออกมาพูดเรื่องเหล่านี้มากขึ้น แต่ที่อยากจะฝากคือ อย่าทิ้งให้พวกเขาโดดเดี่ยว บางทีต่อให้เขาพูดเท่าไร เสียงเขาก็ไม่ดัง ถ้าหากไม่มีคนช่วยทําให้เสียงเขาดังขึ้น และอีกอย่าง คือเวลาที่คําพูดของเขาถูกได้ยิน สิ่งที่เขาทำได้เป็นที่รับรู้ ก็เป็นกลไกหนึ่งที่จะปกป้องเขาด้วย

ถ้าทุกคนสังเกต ระยะหลังๆ เราจะไม่เกิดพูดเรื่องทนายสมชายแล้ว แต่จะพูดกรณีของคนอื่นมากขึ้น สิ่งที่เราต้องการก็คือทําอะไรให้พ้นไปจากความเป็นปัจเจก หรือความเป็นการกระทําเพื่อคนคนเดียว แต่ทําให้เรื่องนี้เป็นระบบ ไม่ว่าใครก็ตามที่จะหายไป ใครก็ตามที่ถูกทําให้หายไปแล้ว เจ้าหน้าที่คนไหนคิดจะอุ้มคนต่อไป จะต้องไม่ทำอีก แล้วเราก็รู้สึกภูมิใจว่าเรามาถึงจุดที่ทําเพื่อคนอื่นได้

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ต่อสู้เรื่องนี้ เปลี่ยนแปลงตัวคุณอย่างไรบ้าง

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมามันเปลี่ยนตัวเรามาก วันนี้ยังมานั่งนึกว่าถ้าไม่มีเรื่องนี้ เราก็คงเป็นผู้หญิงธรรมดา เกษียณแล้วเราก็อยากใช้ชีวิตธรรมดา เราเป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบสังคม จากที่เมื่อก่อนเราเป็นคนไม่มีโทรศัพท์ แต่พอเกิดเรื่องสมชายเริ่มได้รับโทรศัพท์ แม้แต่ตอนกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นตํารวจหรือคนที่มาคุกคาม

เวลาอยู่คนเดียว เราก็มักนึกย้อนไปตลอดเลยว่าถ้าวันนั้นไม่เกิดขึ้นอะไร ก็คงอยู่แบบเรียบง่าย เราไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งเราจะได้ใช้ชีวิตเป็นคู่ผู้สูงอายุที่จูงมือกัน ชีวิตเราแทบจะไม่เคยไปไหนด้วยกัน เพราะเขาก็จะทํางานตลอด แล้วก็พูดตลอดว่าจะทํางานจนกว่าจะไม่มีแรง แต่เราก็คงมีชีวิตของเรา

เคยมีเพื่อนบอกว่า เหมือนเราอาจถูกเลือกให้ต้องทําอะไรบางอย่าง เราไม่ใช่คนเก่ง ไม่ใช่คนที่อดทนมากกว่าคนอื่น จริงๆ เราก็เป็นผู้หญิงธรรมดา มีอ่อนแอบ้าง แต่เราเชื่อว่าถ้าเราพูดในสิ่งที่ถูกต้อง เราก็มีสิทธิที่จะพูด

สิ่งที่เสียมากที่สุดคือความเป็นส่วนตัว เราไม่สามารถเป็นคนธรรมดาได้ ในแง่มุมหนึ่งเราก็ต้องขอบคุณสังคมที่มีความเป็นมิตรอบอุ่น แต่อีกมุมหนึ่ง เราก็เสียความเป็นส่วนตัว เวลาไปไหนกับลูก เขาก็จะรู้สึกว่ามีคนมอง ในทางที่ดีคือ มันทําให้เวลาที่เราพูด เสียงดังขึ้น แล้วก็สามารถเข้ามามีบทบาทในการพูดแทนคนอื่นมากขึ้น จนกระทั่งมาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน จากการที่เราเป็นผู้หญิงธรรมดา วันหนึ่งเราก็มีบทบาทในเรื่องสิทธิมนุษยชน เราเข้ามาทํางานในระดับโลก ในการพูดแทนเหยื่อที่ถูกอุ้มหายทั่วโลก เหมือนกับชีวิตถูกเขียนไว้ว่าเราจะต้องเป็นแบบนี้ ถึงเวลา มันก็ไปต่อเอง

วันนี้ลูกๆ ก็ทํางานด้านสิทธิมนุษยชนด้วย รู้สึกอย่างไรบ้าง มีความกังวลอะไรไหม

อยากให้เขามีชีวิตในสิ่งที่เขาอยากจะเป็น ไม่ใช่ว่ามาเป็นนักกฎหมายเพราะพ่อ แต่อยากให้เขาไปให้ถึงจุดที่เขามุ่งมั่นตั้งใจ แล้วพอถึงวันนี้ก็ดีใจว่าทุกคนเขาได้ทํางานในสิ่งที่เขารัก ก็มีหลากหลาย เป็นผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ หรือทํางานราชการก็มี เขาก็ได้ไปถึงจุดที่เขาอยากจะเป็น ไม่ได้ร่ำรวยมีเงินมีทอง แต่ก็เลี้ยงตัวเองได้

“เราอาจตายไปโดยไม่รู้ความจริง แต่หวังว่าคนรุ่นต่อไปจะยังตั้งคำถาม” 20 ปีคดีอุ้มหายทนายสมชาย กับ อังคณา นีละไพจิตร

ผ่านมา 20 ปี ยังมีความหวังอยู่ไหมว่าจะได้รู้ความจริง

เราอาจตายไปโดยที่ไม่รู้ความจริงก็ได้ แต่ก็ยังหวังว่าคนรุ่นต่อไปจะยังคงตั้งคําถาม ยังนึกถึงคนที่ถูกอุ้มหาย แล้วก็ยังคงเรียกร้องประเด็นนี้อยู่ตลอด แม้เราจะไม่อยู่แล้ว แต่ประสบการณ์จากการเห็นเรื่องนี้ในต่างประเทศ เราเห็นว่าสังคมต้องช่วยกันทวงถาม การทวงถามเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก เพราะจริงๆ แล้ว การอุ้มหายอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เจ้าหน้าที่รัฐเองก็อาจจะถูกอุ้มหายได้เหมือนกัน

มีความหวังในคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง

ทีแรก เราเคยคิดว่าจะหยุดแล้ว เหนื่อยแล้ว แต่เราก็รู้สึกว่าสังคมตื่นตัวมากขึ้น เมื่อปี 2563 ตอนที่วันเฉลิมถูกอุ้มหายพร้อมนักกิจกรรมเก้าคน แล้วตอนนั้นที่มีการชุมนุมทางการเมือง มีโปสเตอร์ภาพคนหายเต็มถนนราชดําเนิน วันนั้นเรารู้สึกว่าในสังคมนี้ เรื่องแบบนี้ปิดไม่ได้ต่อไปแล้ว จากที่เมื่อก่อนต้องแอบคุยกัน แต่วันหนึ่งโปสเตอร์ขึ้นเต็ม จากที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะกดคนถูกอุ้มหาย กดญาติของเขา ถึงเวลาวันหนึ่ง คุณปกปิดไม่ได้แล้ว เราก็รู้สึกดีใจ

ถามว่ามันจะกระตุกภาครัฐไหม อย่างน้อยที่สุดก็มีการพูดเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่ในต่างประเทศด้วย อย่างน้อยที่สุดคุณก็อับอาย คุณจะสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติเดือนกันยายนนี้ จะมีคนตั้งคําถามว่า แล้วคนที่ถูกละเมิดสิทธิในประเทศล่ะ เราให้คํามั่นต่อสหประชาชาติแล้ว การจะก้าวเข้าไปนั่งในเวทีทํางานระดับโลก ทําให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาให้คํามั่น ก็ต้องทำตามให้ได้ อย่างตอนนี้เรามีกฎหมาย แต่ก็กลับไม่ริเริ่มดำเนินการ

เรามีความหวังในคนรุ่นใหม่ ผู้พิพากษารุ่นใหม่มีผู้หญิงเยอะมากและเป็นคนอายุน้อย เราเชื่อมั่นว่าพอมีคลื่นลูกใหม่เข้ามาแล้วคลื่นลูกเก่าก็จะหายไป ในความเป็นระบบก็ยังมีความเป็นปัจเจก

เด็กๆ รุ่นใหม่เติบโตมา สังคมค่อนข้างเปิดกว้าง เขาเติบโตมาพร้อมกับรับรู้ว่าเขามีสิทธิอะไร แล้วรัฐต้องดูแลเขาอย่างไร เราเถียงกับผู้ใหญ่หลายคน เราบอกว่าคนรุ่นเรานั่นแหละที่เป็นคนปูพื้นฐานสิ่งเหล่านี้ เพียงแต่ว่าคนรุ่นเราไม่รู้ว่าเรามีสิทธิอะไร ไทยเราไปให้สัตยาบันในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการแสดงออก แต่เรากลับไม่ได้ใช้ แต่ว่าคนรุ่นปัจจุบันเขาเข้าถึงและเรียนรู้ เราก็ดีใจว่าสิ่งที่เราพยายามทํามา คนรุ่นปัจจุบันสามารถนำมาใช้เพื่อที่จะปกป้องตัวเองและปกป้องสังคม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save