fbpx
พ่อของเขา ความทรงจำของเรา และความตายที่ไม่มีวันจบ

พ่อของเขา ความทรงจำของเรา และความตายที่ไม่มีวันจบ

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ช่วงปีใหม่ 2562 ขณะที่สังคมไทยกำลังจดจ่ออยู่กับการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา หลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารนับแต่ปี 2557 ในความทรงจำของ กึกก้อง บุปผาวัลย์ นั่นเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของชายหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อพ่อของเขาหายตัวไป และพบร่างในแม่น้ำโขงพร้อมร่องรอยการถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม

พ่อของเขา ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ ‘สหายภูชนะ’ ลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศลาวนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 ก่อนจะหายตัวไปในช่วงปลายปี 2561 พร้อมกับ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ และไกรเดช ลือเลิศ หรือ ‘สหายกาสะลอง’ 

ต่อมามีการพบร่างของชัชชาญและไกรเดชลอยมาตามแม่น้ำโขง ที่นครพนม ส่วนสุรชัยยังไม่พบร่องรอยจนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งสามคนไม่ใช่กรณีแรกสำหรับการหายตัวไปของผู้ลี้ภัยการเมืองไทย และไม่ใช่กรณีสุดท้าย เพราะต่อมายังเกิดเหตุการณ์หายตัวไปของ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, สยาม ธีรวุฒิ, กฤษณะ ทัพไทย และรายล่าสุดคือ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

สังคมอาจจดจำชื่อของชัชชาญในฐานะหนึ่งในบุคคลที่ถูกอุ้มฆ่าท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ภายใต้ความคลุมเครือและยากที่จะหาความกระจ่าง แต่สำหรับลูกชาย นี่คือเรื่องราวอันเจ็บปวดของครอบครัว ความทรงจำของเขาที่มีต่อพ่อนั้นมีเลือดเนื้อ มีชีวิต ไม่มีลูกชายคนใดอยากจดจำภาพร่างของพ่อตัวเองในแม่น้ำโขง แทนที่จะเป็นภาพถ่ายครั้งพ่ออุ้มตัวเองยามเป็นเด็ก

เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่หายตัวไป ทุกคนมีเรื่องราวของตัวเอง มีความรักความผูกพันกับคนรอบตัว ชีวิตของพวกเขาประกอบขึ้นด้วยเรื่องเล่ามากมาย ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเหยื่อจากความรุนแรง 

แม้พวกเขาจะหายตัวไป แต่เรื่องเล่าเหล่านี้จะยังคงอยู่ ตราบใดที่เราไม่เลิกพูดถึงมัน

และนี่คือเรื่องราวของลูกชายคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่กับความทรงจำเกี่ยวกับพ่อที่ยังดำเนินต่อไปไม่จบสิ้น

ก้อง บุปผาวัลย์ ลูกชายของ 'สหายภูชนะ'

ก้อง บุปผาวัลย์ ลูกชายของ 'สหายภูชนะ'

พ่อและลูกชาย

แม่ของกึกก้องเป็นคนกรุงเทพฯ ทำธุรกิจกงสีของครอบครัว พ่อเป็นคนมุกดาหาร จบปริญญาตรีด้านอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านงานหลายรูปแบบ ทั้งทำร้านซ่อมอิเล็กทรอนิกส์ ขายขาหมู ขายทุเรียน เป็นโฟร์แมนตามไซต์งานก่อสร้าง จนช่วงสุดท้ายรับติดจานดาวเทียมเคเบิลทีวี โดยหาลูกค้าตามเวทีการเมือง

กึกก้องและน้องชายอีกหนึ่งคนโตในกรุงเทพฯ เขาเล่าว่าตั้งแต่ยังเล็กพ่อแม่หย่ากันด้วยเหตุผลทางโหราศาสตร์ แต่ยังใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในความสัมพันธ์แบบ ‘คนที่ต้องอยู่ไกลกัน’ เพราะใกล้กันเมื่อไหร่ก็จะมีเรื่องทะเลาะ แม่ไม่สนใจว่าพ่อจะมีคนอื่น ขอเพียงแต่อย่าออกหน้าออกตาหรือทุ่มเทเงินทองมากมาย

“พ่อเป็นคนใจดี มีเหตุผล ไม่ดุลูกไปเรื่อย เขาเป็นคนหลีกเลี่ยงการปะทะ เป็นฝ่ายที่อดทนเอง มีปัญหากับคนอื่นก็จะเดินหนีไปสงบสติอารมณ์ เวลาถูกเอาเปรียบก็จะไม่เรียกร้อง แต่จะตีตัวออกห่าง ชีวิตเขาโดนโกงมานับครั้งไม่ถ้วนเพราะนิสัยแบบนี้”

ตอนกึกก้องอยู่ ป.5 พ่อตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่มุกดาหาร เขาตามพ่อไปอยู่ต่างจังหวัด ขณะที่แม่และน้องยังอยู่กรุงเทพฯ ไม่กี่ปีหลังจากนั้นพ่อแม่คืนดีกันและเริ่มมองหาอนาคตที่มั่นคง พ่อกลับมาอยู่กับแม่ที่กรุงเทพฯ แต่กึกก้องยืนยันจะอยู่มุกดาหารต่อเพราะกลัวไม่มีเพื่อน และอยู่คนเดียวจนเรียนจบ ม.6 ที่มุกดาหาร

“พ่อเป็นคนสนใจประวัติศาสตร์อยู่แล้ว แต่เมื่อก่อนไม่สนใจการเมืองเลย พอแม่ไปฟังทักษิณปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้าแล้วมาเล่าให้พ่อฟัง พ่อก็จุดประกายไอเดียว่าถ้าเป็นที่ชุมนุมจะขายของได้ หลังจากนั้นพ่อใส่เสื้อเหลืองไปขายของในม็อบพันธมิตร ไปโฆษณารับติดตั้งจานดาวเทียม ตอนนั้นมีช่องการเมืองทางเคเบิลทีวีแล้ว แต่เขาไม่อิน เพิ่งมาอินตอนเวทีเสื้อแดง ฟังเสื้อแดงแล้ว ‘ใช่’ กว่า เลยออกไปเคลื่อนไหวพร้อมกับรับติดจานดาวเทียมด้วย”

ราวปี 2551 ชัชชาญลงสมัครนายก อบต.นิคมคำสร้อย มุกดาหาร แต่ไม่ได้รับเลือก และเป็นหนี้จากการหาเสียง เป็นชนวนสร้างรอยร้าวในครอบครัว ประกอบกับการเผชิญเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ที่กึกก้องมองว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้พ่อของเขาสนใจการเมืองมากขึ้นหลายระดับ จากการเป็นเพียงผู้เข้าร่วมก็อยากออกมาเคลื่อนไหวเอง ชัชชาญไปตามเวทีการเมืองสัญจรและช่วยงานนักการเมืองในภาคอีสาน

กึกก้องเล่าว่าพ่อไม่ค่อยอยู่บ้านตั้งแต่ลงสมัครการเมืองท้องถิ่น จนปลายปี 2554 พ่อกับแม่เริ่มระหองระแหงกัน และปี 2555 พ่อก็ตัดสินใจออกไปจากบ้าน

“แม่พูดตลอดว่ากลัวพ่อจะมีอันตราย แต่พอทะเลาะกันพ่อก็จะไม่ฟังแม่แล้ว ก่อนพ่อจะออกไปจากบ้าน พ่อกลับไปบ้านที่มุกดาหาร แม่ให้ผมไปตามกลับมา ผมก็ไปกับน้อง แต่ผมไม่ได้พูดอะไรเลย มีแต่น้องที่พูด เพราะระหว่างผมกับพ่อ เราเหมือนลูกชายคนโตสองคน

“ผมถามแค่ว่า “พ่อคิดดีแล้วใช่ไหม ไม่เสียใจทีหลังนะ” “คิดแล้วก็ทำเลย ไม่ต้องเป็นห่วง น้องกับแม่ผมดูแลได้” มันเป็นเรื่องของพ่อกับแม่ ถ้าอยู่กันไม่ได้และลูกดูแลตัวเองได้แล้วพ่อก็ไปเถอะ เราโตมาโดยเห็นพ่อกับแม่ทะเลาะกัน จึงคิดว่านี่น่าจะเป็นทางออกที่ดี แม่คงเสียใจ แต่เดี๋ยวคงดีขึ้น แต่เราไม่ได้คิดว่าจะเลยเถิดไปขนาดนี้”

กึกก้องย้อนความทรงจำและยอมรับว่า “เรื่องนี้เหมือนเป็นตราบาปของผม” หมายถึงเหตุการณ์วันนั้นที่เขาไม่พยายามยื้อให้พ่อกลับบ้าน 

ไม่มีใครรู้ว่าหลังจากวันนั้น พ่อของเขาก็ไม่ได้กลับบ้านอีกเลย

พ่อเล่าให้ฟังว่าเขาทำใจไม่ได้ วันที่สลายการชุมนุม (ปี 2553) เขาเห็นเพื่อนโดนยิง เพราะเขาขายดาวเทียมอยู่รอบนอกที่ชุมนุม เอารถเป็นที่กำบังตอนโดนสลายการชุมนุม เขาไม่ทันตั้งตัวว่ามีการใช้กระสุนจริง ยิงกันจริงๆ ใจเขาแป้ว ไม่คิดว่าจะเอากันถึงตาย มีช่วงหนึ่งเขาไปเฝ้าบ่อที่จันทบุรี เพราะได้ยินข่าวว่ามีการเอาศพจากการสลายชุมนุมไปฝัง เหมือนเขาใจเสียลงไปเรื่อยๆ

“แม่เคยคุยกับพ่อว่าเขาคิดอะไรตอนออกจากบ้าน พ่อบอกว่าเขาเครียด เขารับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาเหมือนทหารที่กลับมาจากสงครามแล้วต้องการการบำบัด แต่พ่อไม่ได้บำบัด ใครชวนไปทำอะไรเขาก็ไป”

ชื่อของชัชชาญเข้าไปเกี่ยวพันกับคดีความรุนแรง แต่กึกก้องยืนยันว่าพ่อของเขาไม่ได้มีแนวคิดเรื่องความรุนแรง “เมื่อก่อนที่บ้านเลี้ยงไก่ พ่อก็ไม่กล้าฆ่าไก่ จะกินไก่ก็ต้องให้เพื่อนมาฆ่าแล้วกินด้วยกัน พ่อเคยทำเล้าหมูป่า เวลาขายให้คนมาจับเอาหมูไปฆ่า เขาร้องไห้ เสียใจ เลี้ยงแค่ได้คอกเดียวก็เลิกเลย เขาก็ขำอายตัวเอง เขาไม่ได้นิยมความรุนแรง”

ชัชชาญหายไปจากบ้านราวสองปีโดยที่ครอบครัวติดต่อไม่ได้ มีคนรู้จักส่งข่าวมาบ้างว่าเขาอยู่ที่ไหน กึกก้องเล่าว่าเขาได้กลับมาคุยกับพ่อหลังการรัฐประหารปี 2557 เมื่อพ่อข้ามไปประเทศลาวแล้ว

ก้อง บุปผาวัลย์ ลูกชายของ 'สหายภูชนะ'

เมื่อพ่อไม่อยู่บ้าน

ชื่อของชัชชาญปรากฏในประกาศเรียกให้ไปรายงานตัวต่อ คสช. ทางโทรทัศน์ เขานั่งเรือข้ามแม่น้ำโขง เพื่อให้ตำรวจลาวจับฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะคิดว่าในสถานการณ์นั้น “อยู่ในคุกน่าจะปลอดภัยกว่า”

ชัชชาญติดต่อมาที่คนรู้จักเพื่อส่งข่าวถึงครอบครัวว่าเขาอยู่ในคุกที่ลาว เมื่อภรรยารู้ข่าวก็ร้อนใจรีบไปหา แต่กว่าจะประกันตัวออกมาได้ก็ใช้เวลาอยู่เกือบครึ่งปี เขาออกมาอยู่เงียบๆ โดยมีภรรยาไปหาเป็นครั้งคราวพร้อมอาหารแห้งหรือยาที่จำเป็น

กึกก้องยอมรับว่าเขาเคยรู้สึกโกรธพ่อช่วงที่ทะเลาะกับแม่จนออกไปจากบ้าน แม้เขาจะเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับคนสองคนที่อยู่กันมา 20 ปี จนความอดทนถึงที่สิ้นสุดและไม่มีใครอยากกลับมาสังคายนาความสัมพันธ์นี้ แต่เขาไม่คิดว่านั่นจะเป็นจุดแตกหักจนพ่อออกจากบ้านแล้วเรื่องเลยเถิดไปขนาดนั้น

“ทุกวันนี้แม่ก็ยังรู้สึกผิดเรื่องพ่อตาย เพราะพ่อหายไปจากบ้าน 2 ปี ถึงเริ่มติดต่อได้ ตอนนั้นผมโกรธพ่อ พ่อชอบสอนเรื่องความละอายต่อบาป แต่พ่อกลับทำเอง ผมโกรธแต่ไม่ถึงกับไม่ให้อภัย ครั้งแรกที่เจอพ่อหลังออกจากคุกลาว ผมก็น้ำตาไหล เพราะไม่ได้เจอ ไม่ได้คุยกับเขามานาน”

กึกก้องเคยพยายามทำเรื่องขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยให้พ่อ แต่เรื่องยังไม่คืบหน้า และตัวชัชชาญเองก็ไม่อยากลี้ภัยไปประเทศที่สาม เพราะกลัวปรับตัวลำบาก

“ผมกับพ่อไม่ได้โทรคุยกันบ่อย แต่พอผมทำโรงเรียนกวดวิชา เขาก็ชอบวิดีโอคอลมาให้พาเดินดูตรงนั้นตรงนี้ พ่อเคยอยากทำโรงเรียน เหมือนผมได้เติมเต็มความฝันเขา เวลาเห็นข่าวอะไรรุนแรงขึ้นมา ผมเป็นห่วงก็จะบอกให้เขาระวังตัว”

กึกก้องมองว่าแม่ของเขาเป็นผู้หญิงแกร่ง มีความเป็นผู้นำสูง ตัดสินใจเร็ว และดูแลลูกเองมาตลอด แต่เมื่อพ่อไม่อยู่บ้าน ทำให้ไม่มีคนทัดทานและคอยพูดคุยปรึกษา เช่นที่พ่อจะคอยรับฟังเขาเสมอ 

“ตอนอยู่โน่นพ่อบ่นคิดถึงหลาน อยากเจอหลาน เพราะตั้งแต่ลูกผมเกิด พ่อก็ไม่ได้เจอหน้าเลย เคยแต่วิดีโอคอลคุยกัน จนปี 2561 ช่วงสงกรานต์ เราไปหาพ่อกัน เขาจึงได้เจอหน้าหลานเป็นครั้งแรก หลานนอนกับเขาทั้งคืนทั้งที่ไม่เคยพบกันมาก่อน พ่อเคยพูดว่าเขาคิดว่าน่าจะมีโอกาสได้กลับมาไทย เขาอยากกลับมาช่วยทำโรงเรียนกวดวิชา”

นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ครอบครัวได้เจอชัชชาญ

“สงกรานต์ปีที่เขาตาย ผมไปเจอเขา ก่อนกลับน้องชายก็เข้าไปกอด แล้วเรียกให้ผมไปกอดพ่อ พ่อก็บอกว่า “ไม่ต้องกอดๆ” เหมือนแค่มองตาเราก็เข้าใจกันแล้วไม่ต้องแสดงออก” กึกก้องเล่าด้วยรอยยิ้ม

ก้อง บุปผาวัลย์ ลูกชายของ 'สหายภูชนะ'

ก้อง บุปผาวัลย์ ลูกชายของ 'สหายภูชนะ'
กล้องถ่ายภาพของชัชชาญ หนึ่งในสมบัติไม่กี่ชิ้นที่ครอบครัวนำกลับมาจากลาว

ความทรงจำสุดท้าย

“ก่อนหน้านี้พ่ออยู่ที่ไซยะบุรี ตอนเขาย้ายมาอยู่กับ อ.สุรชัย ที่เวียงจันทน์ แม่ก็สนับสนุน เพราะพ่อเคารพเขามาก พ่อมาปรึกษา แม่ก็บอกว่าให้มาอยู่เวียงจันทน์ อย่าไปอยู่ที่ลับตาคน พอย้ายมาพ่อก็เริ่มไปจัดรายการทางยูทูบ แม่เลยเสียใจว่าถ้าพ่อยังอยู่ที่โน่นอาจจะไม่ตาย เวลานั่งคุยกัน แม่ก็จะระบายเรื่องนี้ออกมา เขาโทษตัวเอง มันเป็นเรื่องที่ติดอยู่ในใจ”

ช่วงที่ อิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ ผู้ลี้ภัยในเวียงจันทน์หายตัวไปเมื่อปี 2559 ชัชชาญก็ยังคิดว่าไม่น่าจะมีใครข้ามมาอุ้มผู้ลี้ภัยถึงลาว แต่เขาก็พยายามเตรียมทางหนีทีไล่ไว้เผื่อภัยถึงตัว แม้สุดท้ายไม่อาจต้านทานได้

ข้อความสุดท้ายที่ชัชชาญทิ้งไว้ให้ลูกชายคือ “พ่อหายไปสัก 3 วันนะ” พร้อมกำชับถึงแม่ของกึกก้องที่กำลังเดินทางไปหาว่า หากมาถึงแล้วติดต่อไม่ได้ก็ให้รอในเวียงจันทน์ก่อน แต่เมื่อไปรอหลายวันแล้วไม่เจอ แม่ของกึกก้องจึงข้ามกลับมา

ช่วงนั้นผู้ลี้ภัยในลาวตื่นตัวว่าอาจมีการไล่ล่าเกิดขึ้น หลายคนที่อยู่ในเวียงจันทน์จึงออกจากที่พักไปหลบภัย แต่ชัชชาญที่อยู่กับสุรชัยและกาสะลองยังไม่ทันออกจากบ้านก็เกิดเรื่องขึ้นเสียก่อน

“ประมาณวันที่ 20 ธ.ค. (2561) ลูกสาวผมบอกว่า ฝันเห็น ‘ป๋าโต้ง’ กับเพื่อนยืนอยู่ริมน้ำใต้สะพานใหญ่ แล้วเขาเรียกไปกอด ผมได้ยินแล้วรู้สึกไม่ดี 23 ธ.ค. วันเกิดพ่อ ผมโทรไปก็ติดต่อไม่ได้ จึงพยายามหาเฟซบุ๊กผู้ลี้ภัยคนอื่นจนพบว่า อ.สุรชัย หายตัวไป ใจลึกๆ ผมยังคิดว่าเขาหนีกันไปกบดาน เพราะพ่อเคยเล่าให้ฟังว่าเขาต้องมีกระเป๋าฉุกเฉินไว้หนีเข้าป่าพร้อมมีดไว้ถางทาง

“วันที่ 28 ธ.ค. ผมฝันว่าอยู่ที่นครพนม ตรงถนนหน้าพระธาตุพนม ผมรู้จักแถวนั้นอยู่แล้ว ในฝันผมดึงเชือกจากในน้ำ ที่ปลายเชือกเป็นผ้าห่อ ตอนนั้นพ่อหายตัวไปสักพักหนึ่งแล้ว ผมกลัวว่าดึงมาแล้วจะเป็นพ่อก็สะดุ้งตื่น เที่ยงคืนวันนั้นก็เห็นข่าวจากกู้ภัยว่าพบศพที่นครพนม

“ผมปะติดปะต่อเรื่องราว แล้วติดต่อผู้ลี้ภัยคนอื่น หารูปพ่อที่ถ่ายไว้ในวันสุดท้ายก่อนหายตัวไป พอเอาไปเทียบกับรูปศพที่เจอก็ตั้งสติไม่อยู่ ช็อก ร้องไห้ แม่กับน้องนั่งอยู่ด้วยกันยังปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ได้ แต่ผมติดตามเรื่องนี้มาหลายวันแล้ว พอเห็นรูปศพก็รู้ว่านี่พ่อแน่ๆ”

กึกก้องพบว่าผู้เสียชีวิตมีสองคน จึงติดต่อญาติของไกรเดชที่หายตัวไปพร้อมกับพ่อของเขา เพื่อไปตรวจดีเอ็นเอและผลออกมาว่าทั้งสองศพนั้นคือ ชัชชาญและไกรเดชที่หายตัวไป

ปัจจุบันผ่านมาราวหนึ่งปีครึ่ง ตำรวจได้สรุปสำนวนคดีส่งให้อัยการแล้ว ครอบครัวของชัชชาญได้รับเงินเยียวยาเหยื่ออาชญากรรม กึกก้องยอมรับว่าอาจไม่สามารถหวังถึงความคืบหน้าของคดีได้ โดยเฉพาะหากคาดว่าเหตุเกิดที่ฝั่งลาว ก็ต้องทำเรื่องส่งไปให้ทางการลาวช่วยติดตามคดี

“ยิ่งเรารู้ว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นหลายเคสแล้ว ก็ไม่เห็นมีเคสไหนที่มีบทสรุปว่าใครทำหรือมันเกิดจากใคร”

กึกก้องยอมรับว่าจากสภาพที่เป็นอยู่เขาไม่ตั้งความหวังว่าคดีจะได้รับการคลี่คลาย และน่าจะไม่ต่างกับญาติของสุรชัยและไกรเดชที่มองไม่เห็นความหวังเช่นกัน

“ผมหวังว่าพอการเมืองโล่งกว่านี้ จะมีกระบวนการที่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ ตอนนี้มันเลือนราง ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นในคืนนั้น รอยล้อรถก็หายไปตามกาลเวลา ไม่มีใครไปถ่ายรูปไว้ ต้องมีการวัดทิศทางแม่น้ำที่ถูกต้อง แล้วเสาที่ยัดท้องเป็นเสาของที่ไหน เราตามหาจากอะไรพวกนี้ไม่ได้แล้ว ยกเว้นจะมีคนมาสารภาพว่าเป็นคนทำ” 

ชายหนุ่มพูดอย่างรวดเร็ว คล้ายคำถามเหล่านี้วนเวียนอยู่ในความคิดเขามาตลอด

รอยสักบนแขนกึกก้อง ถอดแบบมาจากภาพถ่ายครอบครัวครั้งสุดท้ายที่พวกเขาไปเยี่ยมพ่อช่วงสงกรานต์ปี 2561
รอยสักบนแขนกึกก้อง ถอดแบบมาจากภาพถ่ายครอบครัวครั้งสุดท้ายที่พวกเขาไปเยี่ยมพ่อช่วงสงกรานต์ปี 2561

กึกก้อง บุปผาวัลย์ ลูกชายของ 'สหายภูชนะ'

ถ้วยชามในลังเก่า

กึกก้องยอมรับว่าเขามีความกลัวจากเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะไม่รู้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเข้าไปเกี่ยวพันกับอะไรบ้าง ยิ่งเกิดการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งตอกย้ำความกลัวของเขา คล้ายทุกอย่างเกิดในความมืดโดยไม่เห็นตัวคนทำ

ในฐานะลูกชาย เขาเรียนรู้หลายเรื่องราวจากพ่อ พ่อสอนเขาให้รู้จักชื่อของพืชผักต่างๆ ตอนย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด พ่อสอนให้เอาตัวรอดเมื่อต้องอยู่คนเดียว พ่อสอนให้เขาพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่ได้เชื่อตามพ่อทั้งหมดคือเรื่องการเมือง

“ผมชอบเถียงว่าพ่อต้องลองคิดอีกมุมหนึ่งด้วย สุดท้ายเราไม่ใช่ผู้เล่น เราเป็นแค่หมากที่เขาจะเสียเมื่อไหร่ก็ได้ พ่อต้องคิดว่าเสี่ยงแล้วคุ้มไหม แต่พ่อจะคิดว่าอุดมการณ์สำคัญที่สุด…พอพ่อตายก็ได้อีกแนวคิดหนึ่ง คนที่ตายเพื่ออุดมการณ์มันก็เท่” กึกก้องหัวเราะเบาๆ ก่อนขยายความ “เท่แบบที่คนอื่นเขายกย่อง แต่ขมขื่นสำหรับครอบครัว”

ข่าวการตายของพ่อทำให้เขาเผชิญความเห็นอันหลากหลายจากสังคม โดยเฉพาะคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดีย 

“ถ้าเราเก็บมาคิดเยอะ มันจะทำร้ายเราได้ ทั้งคำพูดที่ดีและคำพูดที่ไม่ดี ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับครอบครัวเรา มันแลกด้วยอะไรก็ไม่ได้ ทุกวันนี้เวลาผมนั่งรถผ่านร้านขายกางเกงร้านหนึ่งแถวบ้าน ก็มักจะคิดว่าเดี๋ยวซื้อส่งไปให้พ่อดีกว่า เห็นร้านขายมีดเดินป่าก็คิดว่าจะซื้อไปให้พ่อ แฟนต้องคอยเตือนว่าพ่อตายแล้วนะ รู้สึกเหมือนมีรูในอก มันโหวงๆ เรานึกย้อนไปแล้วเสียดายวันที่น้องบอกว่า “กอดพ่อสิ ไม่รู้จะได้มาหาอีกเมื่อไหร่” แล้วเราไม่ได้กอด เขาไปโดยไม่ได้พูดคุย เจออีกทีก็เป็นศพเลย”

แม้ว่าพ่อจะไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันของกึกก้องและครอบครัวมาหลายปีแล้ว แต่การ ‘ไม่มี’ พ่ออยู่ส่งผลสะเทือนทั้งต่อความรู้สึกและความทรงจำของครอบครัว

“บ้านที่มุกดาหารจะมีลังใส่ถ้วยชามไว้ ทุกครั้งที่ไปผมจะถามว่านี่คือลังอะไร ทำไมไม่เอาไปทิ้งสักที แม่ก็เงียบแล้วถอนหายใจ จนวันหนึ่งแม่เปิดให้ดูว่าเป็นถ้วยชามเซรามิกสวยๆ ที่แม่เก็บไว้ตั้งแต่ตอนแต่งงานกับพ่อแล้วไม่เคยได้ใช้เลย แม่ตั้งใจจะเก็บไว้ใช้เวลามีงาน แต่พอมีงานจริงๆ ก็ไม่เคยเอามาใช้อยู่ดี แม่กับพ่อคุยกันว่าวันไหนที่พ่อกลับมา เราจะทำบุญขึ้นบ้านใหม่แล้วเอาถ้วยชามนี้มาใช้ ทุกวันนี้มันก็ยังตั้งอยู่อย่างนั้น เป็นเสี้ยวความทรงจำที่เราจะเก็บได้”

เมื่อถามว่าเขาจัดวางที่ทางของความสูญเสียนี้อย่างไรในชีวิตตัวเอง เขาปฏิเสธว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อให้รับมือ

“เป็นธรรมดาที่เราต้องสูญเสีย แต่เราเสียดายที่ช่วยเขาไม่ได้ ไม่สามารถเตือนเขาได้ เราไม่ได้เลือกหนทางที่จะทำให้มีทางออกที่ดีขึ้น ตอนนี้ผมก็ยังรับมือไม่ได้กับความสูญเสีย แม่หรือน้องก็ด้วย เรามีความเป๋คนละแบบ ไม่สามารถรับมือได้ ถ้าพ่อแก่ตายแล้วเราไปนั่งดูใจว่าพ่อไปสบายแล้ว จะไม่มีความรู้สึกแบบนี้ ผมคิดว่าเวลาผ่านไปแล้วจะดีขึ้น แต่มันไม่ดีขึ้นเลย ผมฟังเพลงที่พูดถึงเรื่องของพ่อกับลูกไม่ได้เลย ร้องไห้เหมือนคนบ้า แม่เองก็เหมือนขาดที่พึ่ง”

ถึงที่สุด เขายอมรับ “ไม่รู้จะรับมือยังไง” สิ่งที่ชายหนุ่มรู้สึกไม่ใช่ความแค้น เขามีแต่ความสงสัยว่าทำไมจึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น

“เวลาคนเถียงกันเรื่องผู้ลี้ภัยถูกอุ้ม แล้วมีคนบอกว่าเขาไม่เลือกข้าง เขาไม่ได้เป็นเสื้อแดง ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเสื้อแดงหรือสลิ่ม แต่มันคือความเป็นมนุษย์ คนเราไม่ควรถูกอุ้มฆ่าเพราะเขาพูดอะไรสักอย่าง ไม่ใช่เสื้อแดงหรือสลิ่ม แต่เขาเป็นมนุษย์ นี่ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องความเป็นมนุษย์ คนเรามีอำนาจแล้วจะฆ่าใครก็ได้เหรอ 

“เราทำได้แค่ไม่คิดถึงมัน แต่มันจัดการไม่ได้หรอก มีอะไรติดค้างเต็มไปหมด ‘เวลา’ จะทำให้เราไม่คิดเรื่องนั้นเฉยๆ แต่มันไม่ทำให้เราดีขึ้น ถ้ากลับไปคิดถึงก็จะมีคำถามตามมามากมาย”

แม้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ดูหนักหนาเกินกว่าที่ใครควรจะเผชิญ แต่ท่ามกลางความคลุมเครืออันน่าเศร้าสลด กึกก้องก็ยังไม่ทิ้งความหวังว่าสักวันหนึ่งบ้านเมืองจะดีขึ้นได้ และเมื่อวันนั้นมาถึง เรื่องที่เกิดกับพ่อของเขาอาจถูกหยิบมาทำให้เกิดความจริงได้

“ผมเชื่อว่าวันหนึ่งฟันเฟืองในระบบเก่าจะหมดอายุ แล้วฟันเฟืองของระบบใหม่จะเข้ามาแทน”

กึกก้อง บุปผาวัลย์ ลูกชายของ 'สหายภูชนะ'

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save