fbpx
‘อยากเรียน ไม่ได้เรียน’ : เสียงจาก ‘ชุมชนโค้งรถไฟยมราช’ เมื่อเด็กกลางเมืองเข้าไม่ถึงการศึกษา

‘อยากเรียน ไม่ได้เรียน’ : เสียงจาก ‘ชุมชนโค้งรถไฟยมราช’ เมื่อเด็กกลางเมืองเข้าไม่ถึงการศึกษา

เสียงหวูดรถไฟดังขึ้นยาวนาน เป็นสัญญาณว่าเรามาถึงชุมชนโค้งรถไฟยมราช ชุมชนเล็กใจกลางเมืองใหญ่ – กลางเมืองที่เต็มไปด้วยสถาบันกวดวิชาและโรงเรียนอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่เด็กๆ ในชุมชนนี้กลับเข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านั้น

ยามสาย อากาศร้อนระอุ ความร้อนยิ่งทวีคูณเมื่อเราก้าวเดินเข้าไปในชุมชน ระหว่างทางมีบ้านหลังเล็กติดกันทอดยาวขนาบข้างทางรถไฟไปจนสุดถนนอีกฝั่ง บ้านหลายหลังก่อขึ้นด้วยอิฐบล็อกสีเทา มุงหลังคาด้วยสังกะสี มีเส้นลวดขึงไว้สำหรับตากผ้าหน้าบ้าน แค่ให้พออยู่อาศัยได้

แน่นอนว่าเมื่อหน้าบ้านติดกับทางรถไฟเพียงไม่กี่ก้าว จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เราจะได้ยินเสียงแม่เอ็ดลูกวัยกำลังซน ไม่ให้เดินเข้าใกล้รางรถไฟ ผสมไปกับห้ามไม่ให้ตะโกนคำหยาบคายใส่พวกเรา เด็กน้อยคงจำคำผู้ใหญ่มาพูดโดยไม่รู้ความหมาย

ไม่นานนัก เราก็เดินมาถึงศาลาอเนกประสงค์ ที่ป้าอ้อย อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ประจำชุมชนโค้งรถไฟยมราช บอกเราว่าเป็นสถานที่สำหรับทำกิจกรรมเวลาที่มีองค์กรภายนอกเข้ามาทำจิตอาสา สอนหนังสือหรือแจกอุปกรณ์การเรียนให้เด็กๆ

หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องชุมชนโค้งรถไฟยมราชในฐานะพื้นที่ของเด็กขายพวงมาลัย ปัญหาที่หน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงคมนาคมหรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาจัดการอยู่บ่อยครั้งจนปัจจุบันนี้เริ่มลดน้อยลง แต่วันนี้ที่เรามาที่นี่ก็เพราะเรายังคงได้ยินว่าเด็กๆ ในชุมชนนี้ “ไม่ได้ไปโรงเรียน”

“จบปริญญาตรีกันนะคะ เด็กที่นี่” เป็นคำตอบของป้าอ้อย เมื่อเราถามถึงปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ป้าอ้อยอธิบายว่า หากไม่นับเด็กขายพวงมาลัย เคยมีเด็กจากชุมชนนี้ที่สามารถจบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ก็ผ่านมาราวสิบปีแล้ว ปัจจุบันปัญหาเด็กไม่ได้ไปโรงเรียนวนกลับมาอีกครั้ง

ครอบครัวราวสองร้อยหลังคาเรือนในชุมชนแห่งนี้ มีเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงมัธยมศึกษาราวร้อยคน ราวครึ่งหนึ่งในนั้นคือเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียน

‘อยากเรียน ไม่ได้เรียน’ : เสียงจาก ‘ชุมชนโค้งรถไฟยมราช’ เมื่อเด็กกลางเมืองเข้าไม่ถึงการศึกษา

1

“ผมรู้ว่าต้องเสียค่าเทอมเยอะ ก็เลยลาออกมา” คือประโยคที่ ‘ต้า’ (นามสมมติ) เด็กหนุ่มวัย 15 ปีตอบอย่างไม่ลังเลเมื่อเราถามถึงชีวิตการเรียนของเขา

บทสนทนาเกิดขึ้นในบ้านชั้นเดียวหลังเล็กที่อยู่ลึกเข้าไปในซอกซอยแคบๆ ของชุมชนโค้งรถไฟยมราช หลังจากพักจนหายเหนื่อย ต้าผู้สวมใส่ชุดนักฟุตบอลเต็มยศก็เริ่มพูดคุยกับเรา ข้างๆ เขามีอาสาวที่กำลังป้อนนมลูกน้อยและปรามลูกคนโตไม่ให้เล่นซน ขณะเดียวกัน เธอก็คอยช่วยเล่าเสริมเรื่องราวของเด็กหนุ่มอยู่เป็นระยะ แม่ของเขา (ซึ่งที่จริงแล้วเป็นย่า แต่เด็กหนุ่มเรียกว่า ‘แม่’ ด้วยว่าเป็นผู้เลี้ยงดูเขาแทนพ่อแม่แท้ๆ มาตั้งแต่ยังเล็ก) ไม่อยู่บ้าน เพราะต้องไปตรวจโรคประจำตัวที่โรงพยาบาล โดยมีน้องชายของเขาพาไป

ต้าใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟุตบอล แววตาของเขาโชนแสงเมื่อพูดถึงกีฬาที่เขาหลงใหล “ผมชอบฟุตบอลตั้งแต่อนุบาลเลย แต่ก่อนแถว สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) นี่ เวลามีคนมาเตะฟุตบอล ผมก็ไปยืนดู อยากเตะเป็นกับเขาบ้าง”

นับจากวันนั้น ฟุตบอลก็กลายเป็นเพื่อนแท้ของเขา จนกระทั่งเมื่อเขากำลังเรียนชั้น ม.1 ที่โรงเรียนสังกัด กทม. ใกล้บ้าน เขาก็ไม่รอช้าที่จะคว้าโอกาสการเป็นนักฟุตบอลอาชีพด้วยการสอบโควตานักกีฬาของโรงเรียนถึงสามแห่ง และสอบได้ทั้งสามแห่ง เขาเลือกโรงเรียนรัฐขนาดกลางที่เก่าแก่แห่งหนึ่งซึ่งมีทุนการศึกษาให้ อย่างไรก็ตาม ทุนการศึกษาที่เขาคิดว่าจะได้รับกลับไม่ตรงกับสิ่งที่เขาคาดหวัง “ทุนแบบที่หนึ่งจะได้เรียนฟรี ค่าใช้จ่ายทุกอย่างฟรี แต่ผมได้ทุนแบบที่สอง คือให้เข้าไปเรียนก่อนแล้วรอผู้ใหญ่ใจดี เช่น พวกสปอนเซอร์หรือศิษย์เก่ามาให้ทุนครับ” ต้าเล่า

โชคไม่ดีเท่าไรที่ในแต่ละเทอมจะมีนักเรียนเพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่ได้รับทุนแบบที่สอง และต้าไม่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้รับทุน เขาจึงต้องหาค่าใช้จ่ายในการเรียนเอง

เงิน 8,000 บาทคือค่าเทอมที่รวมค่าหอพักนักเรียนราคา 2,500 บาทไปแล้ว สำหรับบางคน ตัวเลขนี้อาจไม่เหลือบ่ากว่าแรงในการจ่าย แต่สำหรับครอบครัวที่ไม่มีใครทำงานประจำย่อมถือเป็นเงินก้อนจำนวนมากเมื่อเทียบกับภาระค่าใช้จ่าย

ในครั้งแรกแม่ของต้ายอมจ่าย โดยไปกู้เงินมาจากคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างแถวชุมชน เพราะลำพังอาชีพค้าขายที่เคยทำก็ทำไม่ไหวแล้วเนื่องจากสุขภาพทรุดโทรม

“ผมเข้าไปแล้วก็ตั้งใจเรียนนะ” ต้าบอกเราว่าเขาชอบวิชาคณิตศาสตร์ “ตอนผมอยู่ ป.6 ที่โรงเรียนแถวบ้าน ครูยังไม่ทันจะบอกโจทย์เสร็จ ผมก็ยกมือตอบแล้วครับ” เขาตอบด้วยน้ำเสียงเรียบๆ และใบหน้าเปื้อนยิ้ม เขาเล่าต่อว่าเมื่อเข้าไปเรียนที่โรงเรียนที่สอบทุนนักกีฬาได้ไม่นาน ก็ได้รับเลือกเป็นกัปตันทีม พิจารณาจากฟอร์มการเล่นฟุตบอลและผลการเรียน “ผมเป็นกัปตัน พาทีมได้แชมป์ สพฐ. ตอนนั้นแข่งกับหลายโรงเรียนเลย” สีหน้าของเขาดูภาคภูมิใจเมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้

แต่สุดท้าย ชีวิตนักกีฬาโรงเรียนที่ดูกำลังก็จะไปได้สวยก็ต้องหยุดชะงัก

“น้องผมต้องใช้เงิน มีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง ค่าเดินทางไปโรงเรียนด้วย พอจะเปิดเทอมสอง ไม่มีค่าเทอมไปจ่าย ผมก็ตัดสินใจออกมา …ออกมาเลย ไม่ได้บอกแม่ พอแม่รู้เขาก็ด่า” แต่ต้าก็ตัดสินใจไปแล้วว่าต้องการเสียสละเพื่อน้อง

หลังจากที่ออกมาจากโรงเรียนมัธยมฯ การศึกษานอกโรงเรียนก็เป็นทางหนึ่งที่เขาเลือก “แต่ตอนนี้ผมไม่ค่อยอยากเรียน กศน. เพราะว่าสมัครผิด เพื่อนผมไปสมัครหลักสูตรของประถมมาให้” จากที่ฟังต้า การเรียน กศน. สำหรับเขาคือการไปทัศนศึกษาและให้การบ้านวิชาต่างๆ มากองใหญ่ ไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของเขาเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม ต้าไม่ได้หยุดเดินตามฝัน เขามองว่าต้องเป็นนักกีฬาโรงเรียนให้ได้ และจากการแข่งขันระดับโรงเรียน ก็อาจมีคนเห็นแววและดึงตัวไปเป็นนักกีฬาทีมชาติ 

“เมื่อ 4-5 เดือนก่อน ผมไปสอบโควตานักกีฬาที่ใหม่ ได้เรียนฟรีด้วย แต่ไม่มีหอ ต้องนั่งรถไปแถวดินแดง ก็วันละราวๆ ร้อยบาท เรียนไม่ถึงสองอาทิตย์ก็ออก มันไกลเกิน”

ทุกวันนี้ต้าพาน้องๆ ในชุมชนไปแข่งฟุตบอลเวลาสนามต่างๆ จัดรายการแข่งขัน โดยมีผู้ใหญ่ที่เรียน กศน. ด้วยกันสนับสนุนค่าเสื้อทีม เมื่อถามเขาว่าตอนนี้อยากทำอะไร เขาตอบทันทีว่า “อยากทํางาน แล้วก็มีรายได้ เพราะว่าตอนนี้ไม่มีใครทํางานได้แล้ว ไม่มีใครเลี้ยงครอบครัว” และเมื่อเราถามต่อไปว่า “แล้วเรื่องความฝันที่อยากจะเป็นนักฟุตบอลล่ะ”

“อยากพี่ แต่ไม่มีเส้นทางไป” คือคำตอบของเขา

‘อยากเรียน ไม่ได้เรียน’ : เสียงจาก ‘ชุมชนโค้งรถไฟยมราช’ เมื่อเด็กกลางเมืองเข้าไม่ถึงการศึกษา

2

ไม่ไกลจากบ้านต้า มีบ้านชั้นเดียวหลังเล็กอีกหลัง บนกำแพงบ้านมีตัวอักษรเขียนด้วยลายมือโย้เย้เป็นชื่อเล่นของคนสองคน เดาได้ไม่ยากว่าเป็นชื่อของผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ เราก้าวเข้าประตูแคบ และพบว่าข้างในนั้นมืดแม้เป็นเวลากลางวัน มีเพียงแสงอาทิตย์จากภายนอกที่ส่องเข้ามาผ่านช่องอิฐสีเทาที่ก่อขึ้นอย่างง่ายๆ เป็นตัวบ้านที่เริ่มเซาะกร่อนไปตามกาลเวลา

บ้านชั้นเดียวหลังนี้ไม่มีการแบ่งห้องเป็นสัดส่วน ถัดจากห้องน้ำเล็กๆ ไปไม่กี่ก้าวก็เป็นเตาแก๊สสำหรับประกอบอาหารวางอยู่บนพื้น ข้างเตาแก๊สมีฟูกบางปูไว้สำหรับเป็นที่นอน พื้นที่เพียงเท่านี้กลับมีคนอยู่อาศัยถึงสี่คน เป็นพ่อแม่วัยกลางคน และเด็กหนุ่มวัยกำลังโตอีกสอง พ่อของพวกเขาทำงานรับจ้างบนรถดูดสิ่งปฏิกูล ส่วนแม่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ พูดได้เพียงเล็กน้อย ขยับร่างกายแทบไม่ได้

“โรงเรียนเหรอฮะ ก็ไปบ้าง ไม่ไปบ้างฮะ” หลังจากนิ่งไปครู่นิ่ง คู่แฝดวัย 15 ปี ก็เอ่ยปากตอบ หลังจากเราชวนคุยเกี่ยวกับการเรียนของพวกเขา พวกเขาเงียบไปครู่หนึ่ง จนยากที่คาดเดาความรู้สึกนึกคิด ก่อนจะตอบเราว่า “บางวันก็ไม่มีตังค์ฮะ” ‘เมฆ’ (นามสมมติ) กับ ‘หมอก’ (นามสมมติ) เล่าว่าพวกเขาเรียนอยู่ชั้น ม.3 ที่โรงเรียนสังกัด กทม. ใกล้บ้าน ที่แม้โรงเรียนจะมีอาหารกลางวันให้ แต่การไปโรงเรียนก็มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางอยู่ดี

เมื่อเราถามถึงวิชาเรียน เมฆเล่าว่าพวกตนเรียนหลายวิชาไม่ได้ดีนัก ติดศูนย์หลายวิชา แต่สำหรับวิชาที่ชอบและทำได้ดี ทั้งสองตอบพร้อมกันอย่างไม่ลังเลว่า “พละ” เมฆกับหมอกมีกิจกรรมที่ทำเป็นประจำคือการเตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ และเพื่อนทุกคนที่พวกเขารู้จักในโรงเรียนก็ชอบเตะฟุตบอล เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ แววตาของทั้งคู่ก็เริ่มเป็นประกาย

“พละนี่ได้เกรดสี่เลยล่ะสิ” เราถาม

“ใช่ฮะ เกรดสี่เลย” เมฆกับหมอกตอบด้วยน้ำเสียงที่สดใสขึ้น

พวกเขาบอกว่าถ้าโรงเรียนสอนฟุตบอลมากขึ้นก็จะอยากไปโรงเรียนมากกว่านี้อีก

‘อยากเรียน ไม่ได้เรียน’ : เสียงจาก ‘ชุมชนโค้งรถไฟยมราช’ เมื่อเด็กกลางเมืองเข้าไม่ถึงการศึกษา

เมฆกับหมอกเล่าว่าตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พวกเขารู้สึกว่าการเรียนของตนเริ่มถดถอยลง ตั้งแต่ต้องเรียนออนไลน์ทางโทรศัพท์และขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อนในชั้นเรียน แม้สถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติมาระยะหนึ่งแล้วก็ตาม

“ตอนเด็กโตขึ้นอยากเป็นอะไร” น่าจะเป็นคำถามที่ได้ทุกคนเคยยินบ่อยครั้ง และก็เป็นคำถามที่เราถามเมฆกับหมอกเหมือนกัน “ตอนเด็กอยากเป็นนักมวย ตอนนี้อยากเป็นนักบอล” เมฆตอบ หมอกพยักหน้าตามแข็งขัน

แต่เมื่อเราถามว่าตอนนี้อยากทำอะไร พวกเขากลับตอบเสียงดังฟังชัดว่า “อยากทำงานฮะ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่างานอะไร เอาแค่งานอะไรก็ได้ที่ได้เงินก็พอ” พวกเขาเล่าว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน เมื่อเรียนจบแล้วก็มักหางานทำทันที อาชีพที่คนดูจะทำกันเยอะ คือการรับจ้างเป็นแรงงานบนรถดูดสิ่งปฏิกูล หรือเป็นพนักงานในร้านสะดวกซื้อ

น่าตั้งคำถามว่าการศึกษามีความหมายอย่างไรสำหรับเมฆกับหมอก แน่นอนว่าเราชวนพวกเขาคิดหาคำตอบว่า “เรียนไปทำไม” เหมือนกัน และหลังจากใช้เวลาคิดอยู่ครู่หนึ่ง เมฆก็ตอบว่า “มันต้องเรียนฮะ เอาวุฒิ”

เราถามต่อไปว่าอยากเรียนถึงชั้นไหน

“ม.3 ก็พอแล้วฮะ” คือคำตอบ

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองต้องแก้ไขผลการเรียนอีกหลายวิชา จึงจะจบชั้น ม.3 อย่างที่ตั้งใจ และหากถามว่าพ่อแม่ของเด็กหนุ่มสองคนนี้ โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว และเป็นผู้หารายได้เพียงคนเดียวคาดหวังอะไรจากพวกเขา ทั้งในแง่การเรียนและอนาคต

“ก็ไม่อะไรฮะ เขาขออย่างเดียวคืออย่าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด”

หลังจากบอกลาเมฆกับหมอก และก้าวเท้าออกมาจากบ้านหลังนั้น เราพยายามครุ่นคิดถึงสิ่งที่เด็กหนุ่มทั้งสองให้คำตอบ เมฆกับหมอกอาจไม่ใช่เด็กที่หลุดจากการศึกษาอย่างสิ้นเชิงเสียทีเดียว แต่เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขาไม่ใช่เด็กที่การศึกษาไทยโอบรับอย่างเต็มที่

‘อยากเรียน ไม่ได้เรียน’ : เสียงจาก ‘ชุมชนโค้งรถไฟยมราช’ เมื่อเด็กกลางเมืองเข้าไม่ถึงการศึกษา

3

แดดช่วงใกล้เที่ยงวันกำลังร้อนระอุ เราเดินต่อไปอีกหน่อยก็ถึงบ้านอิฐเปลือยชั้นเดียวเล็กๆ ที่มีคนอาศัยอยู่อาศัยรวมห้าชีวิต รวมถึงเด็กชายตัวน้อยชั้นประถมศึกษาปีที่สามที่ชื่อ ‘ชารีฟ’ (นามสมมติ)

เราหาที่นั่งคุยกันตรงศาลากิจกรรมกลางชุมชน ศาลาโปร่งโล่งทำให้เราเห็นทางรถไฟได้ถนัดตา น่าสนใจเหมือนกันว่ามุมมองต่อ ‘โรงเรียน’ และ ‘การเรียน’ ของเด็กชั้นประถมต้นที่มีบ้านอยู่ริมทางรถไฟนี้จะเป็นอย่างไร

สถานที่ที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ ชารีฟบอกว่าเป็นที่จัดกิจกรรมเวลามีกลุ่มจิตอาสามาแจกของก็จะมาที่นี่ ‘ครูจิ๋ว’ (ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก) เป็นชื่อหนึ่งที่ชารีฟรู้จักดี เขาบอกว่าอุปกรณ์การเรียนส่วนหนึ่งก็ได้มาจากเวลาที่มีคนเข้ามาแจก แต่ก็ใช่ว่าเขาจะมีอุปกรณ์การเรียนครบทุกอย่าง

เมื่อเราถามถึงการเดินทางไปเรียน ชารีฟบอกเราด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า “ตอนนี้รถเต็มครับ” ฟังแล้วอาจจะไม่เข้าใจในทีแรก เด็กชายจึงอธิบายเพิ่มว่าก่อนหน้านี้เขาอาศัยมอเตอร์ไซค์ของพ่อเพื่อนบ้านไปส่ง แต่พักหลังมานี้ พ่อของเพื่อนบ้านไม่สามารถไปส่งชารีฟได้อีกแล้ว ช่วงหลังมานี้ เขาจึงไม่ค่อยได้ไปโรงเรียน

ระยะทางจากชุมชนโค้งรถไฟไปโรงเรียนของชารีฟ อาจไม่ไกลมากนักในความคิดของพวกเรา แต่การเดินด้วยสองเท้าน้อยๆ ด้วยระยะทางมากกว่ากิโลเมตร คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก และหากเสียค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างเพื่อไปส่งที่โรงเรียนก็ราว 30-40 บาท ไปกลับก็วันละเกือบร้อย เทียบกันแล้วเป็นจำนวนเกือบถึงหนึ่งในสามของค่าแรงขั้นต่ำต่อวันเสียด้วยซ้ำ

พ่อของชารีฟทำงานเป็นแรงงานบนรถดูดสิ่งปฏิกูล ส่วนแม่ทำงานรับจ้างทั่วไป แต่ถามว่าใครเป็นคนที่ดูแลชารีฟในช่วงนี้ ชารีฟบอกว่าคือ ‘ยาย’ หรือ ‘โต๊ะ’ ตามคำเรียกของชาวมุสลิม โต๊ะทำอาชีพค้าขาย ขายอาหารให้คนในชุมชน เลี้ยงชีพวันต่อวัน

‘อยากเรียน ไม่ได้เรียน’ : เสียงจาก ‘ชุมชนโค้งรถไฟยมราช’ เมื่อเด็กกลางเมืองเข้าไม่ถึงการศึกษา

ชารีฟเล่าเรื่องชีวิตในโรงเรียนให้เราฟัง ก็ตามประสาเด็กน้อยทั่วไปที่ชอบเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียน บางทีถูกครูดุ บางทีก็เป็นเด็กดี บางทีก็ดื้อ พอเล่ามาถึงตรงนี้ เด็กชายก็หัวเราะเขินๆ

ท้ายที่สุด เขาก็สรุปให้เราฟังว่า “ชอบไปโรงเรียนนะ โรงเรียนมีเพื่อน” ชารีฟพูดเสียงดังฟังชัด แต่ถึงจะชอบโรงเรียนมากแค่ไหน เขาก็ขาดเรียนบ่อยจนครูบอกผ่านมาทางแม่ให้พักการเรียน ทั้งนี้ จากคำบอกเล่าของเด็กชาย คุณครูยังไม่เคยมาเยี่ยมบ้านของเขาเลย

“ตอนนี้ก็ช่วยโต๊ะขายของไปก่อน รอเปิดเทอมใหม่ถึงจะไปเรียนได้” ชารีฟบอก และเมื่อไม่ได้ไปโรงเรียน ชีวิตในทุกวันนี้ของชารีฟ นอกจากการช่วยผู้เป็นยายหยิบจับงานเล็กๆ น้อยๆ แล้ว เขาก็มักรวมกลุ่มเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ

ชารีฟยังคงรอเวลาเปิดภาคเรียนใหม่ แม้จะยังไม่แน่ใจในโอกาสที่จะกลับไปเรียนอีกครั้ง

“ที่บ้านไม่มีใครสนใจถามเรื่องการเรียนฮะ” เขาบอกเราแบบนี้

และเมื่อเราถามคำถามยอดฮิตว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” เด็กชายก็ตอบเสียงดังฟังชัดว่า “อยากหาเงินมาเลี้ยงดูโต๊ะ ไม่รู้เหมือนกันว่าอยากเป็นอะไร แค่อยากเป็นอะไรก็ได้ที่หาเงินมาเลี้ยงดูโต๊ะได้” ชารีฟทิ้งท้าย

“อย่าไปเหลไหลที่ไหนนะ” คือคำเตือนของโต๊ะที่ชารีฟบอกเราว่าได้ยินเป็นประจำทุกวัน และหลังจบการสนทนา ชารีฟก็ตรงกลับเข้าไปในบ้าน ไม่ไป ‘เหลไหล’ ที่ไหน ตามที่โต๊ะของเด็กชายบอก

4

“ให้หน่วยงานสงเคราะห์มาจับเด็กไม่ไปโรงเรียนได้ไหมล่ะ แม่มันยิ่งต้องโดนจับ โทษฐานไม่ให้ลูกไปโรงเรียน” เสียงนั้นดังมาจากที่ไหนสักแห่งไม่ไกลนัก เรามองหาเจ้าของเสียง ก่อนจะเจอหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งมองเราจากฝั่งตรงข้ามของศาลาประจำชุมชน ข้างๆ เธอมีเด็กสาวอีกคนหนึ่งอยู่ สองคนนั่งข้างกันที่โต๊ะไม้ไผ่เล็กๆ ดูแล้วน่าจะเป็นพื้นที่สำหรับวงคุยสารทุกข์สุกดิบของผู้คนในชุมชน เราเดินไปตรงนั้น และบทสนทนาก็เริ่มต้นขึ้น

‘พี่นิด’ (นามสมมติ) บอกว่าปัญหาเด็กตกหล่นจากการศึกษาในชุมชนนี้เป็นเรื่องที่แก้ได้ยาก และเผยว่าที่จริงแล้วตนเองนั้นมีศักดิ์เป็นป้าของชารีฟ เด็กชายที่เราเพิ่งคุยจบไป “ขนาดลูกน้องสาวแท้ๆ ยังบังคับไม่ได้เลย ทําไมไม่ให้ลูกไปเรียน เราด่าจนเราเหนื่อยแล้ว ก็ไม่รู้จะพูดยังไง” พี่นิดบอกว่าตนดุด่าทั้งเด็กชายและน้องสาว แต่ก็ไม่เป็นผล

อย่างไรก็ตาม เรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงเรียนนั้นเป็นปัญหาจริง และเป็นปัญหาสำหรับหลายครอบครัว ด้วยชีวิตแรงงานรับค่าจ้างขั้นต่ำหรือบางครั้งก็น้อยกว่า จากที่เราคนพูดคุยกับหลายคนในชุมชน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง พนักงานรักษาความปลอดภัยและแม่บ้านดูจะเป็นอาชีพยอดฮิต พอๆ กับค้าขายและแรงงานบนรถดูดสิ่งปฏิกูล หลายบ้านจึงไม่มีรถไปรับไปส่งลูก ครั้นจะยืมรถเพื่อนบ้านบ่อยๆ ก็ไม่ค่อยมีใครอยากให้ยืม บ้านไหนพอมีรายได้มากพอสำหรับรถสาธารณะ ก็พาลูกไปโรงเรียนได้ แต่ใครไม่มีรายได้ก็ปล่อยลูกอยู่บ้านไป เช่นเดียวกับแม่ของชารีฟทำงานรับจ้างทั่วไป รับค่าจ้างขั้นต่ำ และเพิ่งเปลี่ยนงาน

“เด็กที่ยังไปโรงเรียนอยู่บางคนเขาลําบากกว่านี้อีก ไม่มีเงินค่ารถ แต่พ่อแม่เขาก็เดินไปรับไปส่ง หลักๆ เลยก็อยู่ที่พ่อแม่ด้วย กลางคืนพ่อแม่บางคนเขาไม่เอาลูกเข้านอน เช้ามาเขาก็ไม่มีเรี่ยวแรงส่งลูก ตื่นไม่ไหวก็ปล่อยลูกหลับเลยตามเลย กูก็ง่วง ลูกก็ง่วง”

สำหรับปัจจัยอื่นๆ อย่างค่าเล่าเรียนและอุปกรณ์การเรียน พี่นิดบอกว่า “อุปกรณ์การเรียนไม่ขาดเลย มีคนมาแจกหลายๆ โครงการ แต่ที่ขาดคือเงินที่จะไปโรงเรียนนี่แหละ ส่วนชุดนักเรียนจะมาแจกทีหลัง เปิดเทอมไปแล้วสักเดือน เขาถึงจะมาแจก ชุดนักเรียนนี่ เสื้อเกือบ 300 กระโปรง 300 ยังไม่รวมค่าปักอีก รองเท้าอีก 300-400 ไปโรงเรียนก็ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็จะไปโรงเรียนได้เลย ค่าใช้จ่ายก็มีเยอะเหมือนกัน ถึงโรงเรียนจะช่วย แต่ก็ช่วยได้ไม่ทั้งหมด ชุดนักเรียนก็ต้องจ่ายก่อนแล้วเอาใบเสร็จไปเบิก แต่ก็ไม่ได้ค่าชุดมาทั้งหมดนะ เขามีงบประมาณมาจำกัด”

จากที่พี่นิดเล่า เงินราวพันบาทเพื่อชุดนักเรียนก็เป็นภาระที่ทำให้พ่อแม่ต้องคิดหนัก ยิ่งเด็กโตไวและต้องเปลี่ยนขนาดชุดนักเรียนและรองเท้าอยู่บ่อยๆ สำหรับพี่นิดที่พอมีรายได้จากการขายของออนไลน์ก็ถือว่าค่าใช้จ่ายพวกนี้ยังมากโข

“คนที่นี่ทำงานประจำก็มี แต่กว่าจะถึงเงินเดือนออก ค่าใช้จ่ายก็มีทุกวัน เรื่องนอกระบบตอนนี้ก็ยังมี ยิ่งเดี๋ยวนี้มีกู้ออนไลน์ ในโซเชียลฯ เงินไม่พอใช้นี่เป็นปัญหาหลักเลย แย่มาตั้งแต่โควิด มีแต่แย่ลงๆ ไม่มีใครฟื้น พวกดิจิทัลวอลเล็ตก็ยังไม่เห็นได้ เงื่อนไขก็เยอะ”

‘อยากเรียน ไม่ได้เรียน’ : เสียงจาก ‘ชุมชนโค้งรถไฟยมราช’ เมื่อเด็กกลางเมืองเข้าไม่ถึงการศึกษา

อย่างไรก็ตาม สำหรับพี่นิดแล้ว การศึกษาของลูกสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ลูกสาวของพี่นิดกำลังจะขึ้นชั้น ม.1 ส่วนคนโตเรียนอยู่ ม.5 โรงเรียนเดียวกัน “เด็กๆ ที่บ้านไม่ไปโรงเรียนไม่ได้ จะขยัน จะเรียนเก่งไหมไม่รู้ แต่ต้องไปโรงเรียน ลูกพี่ก็ไม่อยากไปโรงเรียน แต่พี่บังคับ ขนาดอ้างปวดหัวตัวร้อนไม่สบาย ขอไม่ไปโรงเรียน พี่ก็บอกว่าไม่ได้ มึงไปโรงเรียนเลย ถ้าครูลงมติว่ามึงป่วยจริง ต้องกลับบ้าน เดี๋ยวแม่จะไปรับ แต่พอมันถึงโรงเรียนแล้วทีไร ก็หายเป็นปลิดทิ้งทุกที ไม่เคยต้องไปรับเลย” เมื่อพี่นิดผู้เป็นแม่พูดจบ เด็กสาวที่นั่งอยู่ตรงหน้าเราก็ยิ้มขำ

ชุมชนโค้งรถไฟยมราชเป็นชุมชนขนาดไม่ใหญ่ คนในชุมชนล้วนเคยเห็นหน้าค่าตา บ้านเรียงรายหลายหลังติดกัน ไม่มีรั้วกั้นกีดขวางให้เด็กๆ ได้พบปะเพื่อนบ้านรุ่นราวคราวเดียว “ถ้าเป็นหมู่บ้านจัดสรร เขาก็ต่างคนต่างอยู่ ถ้าไปโรงเรียนถึงจะมีเพื่อนเล่น แต่ที่นี่ ถ้าไม่ไปเรียนก็อยู่เล่นด้วยกันทั้งกลุ่ม ก็กลายเป็นความเคยชิน”

“เรารู้ว่าสภาพแวดล้อมเรามันไม่ดี เราก็เลยพยายามให้เขาอยู่ในกรอบให้ได้ พี่คิดว่าอยู่ที่เราด้วย ว่าเราอยากให้ลูกมีอนาคตหรือไม่อยากให้มี”

คำพูดของพี่นิดทำให้เราขบคิดว่าจะทำอย่างไรเด็กได้ไปโรงเรียนกันทุกคน เท่าที่ฟังจากเด็กๆ และพี่นิดแล้ว สภาพความเป็นอยู่และรายได้ของพ่อแม่เป็นปัจจัยสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ ทีเดียว ครอบครัวของพี่นิดอาจประสบความสำเร็จในการประคับประคองให้ลูกยังคงอยู่ในระบบการศึกษา แต่ก็น่าเสียดายที่อีกหลายครอบครัวไม่เป็นเช่นนั้น

‘อยากเรียน ไม่ได้เรียน’ : เสียงจาก ‘ชุมชนโค้งรถไฟยมราช’ เมื่อเด็กกลางเมืองเข้าไม่ถึงการศึกษา

5

ณ ศาลาประจำชุมชน เราคุยกับป้าอ้อยอีกครั้ง บทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ทำให้ป้าอ้อยคลุกคลีกับความช่วยเหลือจากภายนอกที่เข้ามาในชุมชน ป้าอ้อยเริ่มต้นด้วยการเล่าว่า ศาลาที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ เมื่อหลายปีก่อน หากมีการจัดกิจกรรมที่นี่ คนเข้าร่วมจะเยอะกว่านี้มาก ยิ่งกิจกรรมวันเด็ก ยิ่งมีผู้ใหญ่ใจดีทําอาหารมาเลี้ยง นอกจากนั้น แต่ละปีการศึกษาก็จะมีกลุ่มจิตอาสาหรือมูลนิธิต่างๆ มาชวนเด็กๆ ทำกิจกรรม แต่ท่ามกลางความช่วยเหลือเหล่านี้ กิจกรรมมักจัดเป็นครั้งไปๆ ในแต่ละภาคการศึกษา แม้จะมีหน่วยงานมาบ่อย แต่ไม่ค่อยมีหน่วยงานไหนมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำเท่าไรนัก

สำหรับทุนการศึกษาของเด็กๆ นั้น ป้าอ้อยยกตัวอย่างว่า “เคยมีทุนการศึกษาของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จะช่วยเรื่องค่าเทอมและค่าอุปกรณ์การเรียนของเด็กต่อเนื่องเป็นเวลาสามปี จากนั้นจึงไปให้ความช่วยเหลือเด็กในชุมชนอื่น ซึ่งถ้ายังมีเด็กๆ ในชุมชนโค้งรถไฟยังต้องเรียนต่อ ทางมูลนิธิก็จะส่งมอบให้ผู้อุปถัมภ์ส่งเงินมาช่วยเหลือ และนอกจากมูลนิธิแล้ว หน่วยงานราชการอย่าง พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ก็มาช่วยเหลือบ้าง อย่างครอบครัวที่เดือดร้อนจริงๆ ลูกหลานไม่มีเงินไปโรงเรียน ก็จะมาเรียกร้องที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคมชุนชนโค้งรถไฟยมราช และประธานศูนย์ก็จะลงมาสํารวจบ้านและเด็ก หลังจากนั้นก็จะให้ความช่วยเหลือ แต่แบบนี้ก็มีไม่บ่อยนะ แบบที่ชาวบ้านร้องเรียนไปน่ะ”

หากจะย้อนไปเรื่องการเรียนของเด็ก ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะละเลยถึงการถามเรื่องความช่วยเหลือทางการเงินที่เข้ามาสำหรับผู้คนในชุมชนในภาพรวม ซึ่งก็หมายรวมถึงพ่อแม่ของเด็กๆ เหล่านี้

“มีงบประมาณจากการไฟฟ้า ปีละเจ็ดล้าน แต่สำหรับทุกชุมชนรวมทั้งแขวงทุ่งพญาไทนะ” ป้าอ้อยพูดถึงภาพรวมของงบประมาณอุดหนุนที่จะจัดสรรให้ชุมชนคนจนเมือง ซึ่งก็รวมถึงทุนการศึกษา ซึ่งจะมีการส่งรายชื่อของเด็กที่ต้องการรับทุนเข้าไปพิจารณา

“นอกจากนั้นแล้ว สำนักงานเขตจะเข้ามาตรวจสอบ หลายครอบครัวก็ได้ทุนประกอบอาชีพนะ แต่ถามว่าความช่วยเหลือพอไหม ถ้าจะเป็นใจป้า คิดว่าไม่พอหรอกสําหรับคนยุคนี้” ป้าอ้อยบอกเรา แต่สุดท้ายแล้วป้าอ้อยก็แย้งในอีกแง่มุมหนึ่งว่า

“แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าถ้าคุณได้มาแล้วคุณเอาไปทําให้เกิดประโยชน์ไหม คุณต่อยอดไหม ไม่ใช่ว่าพอคุณเอามา คุณก็ต่อยอดแค่วันนึง แล้วคุณก็หายไป”

ป้าอ้อยกำลังพูดถึงพ่อแม่ของเด็กๆ ที่ทำอาชีพค้าขายและได้เงินสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ แต่ต่อให้ได้เงินสนับสนุนมาแล้ว ส่วนใหญ่รายจ่ายมักจะมากกว่ารายรับอยู่ดี เงินที่ได้มาก็ไม่ได้นำไปใช้ต่อยอด แต่กลับต้องนำไปโปะหนี้หรือค่าใช้จ่ายที่มีอยู่เดิม และแน่นอนว่าในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะค้าขาย ปัจจุบันนี้มีคู่แข่งมากมาย จึงหารายได้ลำบากมากขึ้น

อีกปัญหาหนึ่งที่ป้าอ้อยบอกเรา ซึ่งดูจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ชุมชนโค้งรถไฟต้องเผชิญมาโดยตลอด คือเรื่องที่อยู่อาศัย บ้านของเด็กๆ ที่เราไปคุยด้วย บ้างเช่าที่การรถไฟโดยตรง บ้างก็เช่าต่อจากเพื่อนบ้านอีกทอดหนึ่ง ปัญหาใหญ่คือการไม่รู้อนาคตว่าการรถไฟจะเข้ามาจัดการพื้นที่เมื่อไร จากประสบการณ์ในอดีตที่เจ้าหน้าที่การรถไฟเข้ามา บางครั้งก็นำหมายบังคับคดีมาติดไว้ที่ชุมชน สะท้อนให้เราเห็นว่าขนาดที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัยสี่ของคนเรา ก็ยังดูไม่มีความแน่นอนใดๆ สำหรับชุมชนนี้

อย่างไรก็ตาม มีความพยายามที่จะสร้างความมั่นคงให้กับการอยู่อาศัยที่นี่ ป้าอ้อยอธิบายว่ากำลังจะมีโครงการร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ ให้คนในชุมชนฝากเงินเดือนละครั้ง เดือนละ 500 บาท เพื่อที่จะให้ชุมชนมีเงินเก็บไว้เป็นข้อต่อรอง หากการรถไฟจะเข้ามาขอคืนพื้นที่ โดยอาจขอแลกเปลี่ยนให้เป็นการใช้เงินฝากส่วนนี้ปรับปรุงพื้นที่และให้ชาวบ้านได้อยู่ที่นี่ต่อไป อย่างไรก็ตาม หลายครอบครัวก็ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะฝากในโครงการออมทรัพย์นี้เป็นประจำทุกเดือน อย่างครอบครัวของต้าที่เราไปคุยมา ก็ไม่ได้มีเงินเก็บมากพอที่จะฝากกับโครงการนี้ และโครงการนี้ก็เพิ่งเริ่มต้นเป็นครั้งแรก ยังไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร

“แต่ป้าเชื่อนะ ว่ามันจะมั่นคง” ป้าอ้อยกล่าวด้วยความหวัง

ท้ายที่สุดแล้ว ป้าอ้อยวาดฝันว่า “ก็อยากให้เด็กได้มีความรู้เพื่ออนาคตของเขาค่ะ ต่อไปข้างหน้าจะได้หากินสะดวกสบาย ทำงานไม่ต้องลำบากเหนื่อยเหมือนผู้ปกครองเขา แล้วโรงเรียนก็ต้องมีแรงจูงใจด้วย ให้เด็กอยากไปโรงเรียน”  

‘อยากเรียน ไม่ได้เรียน’ : เสียงจาก ‘ชุมชนโค้งรถไฟยมราช’ เมื่อเด็กกลางเมืองเข้าไม่ถึงการศึกษา

ป้าอ้อย อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ประจำชุมชนโค้งรถไฟยมราช

เมื่อปี 2566 ทั้งประเทศไทย มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษราว 1.8 ล้านคน ในจำนวนนี้มีนักเรียนยากจนพิเศษ หรือยากจนระดับรุนแรง ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนเสมอภาคจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จำนวน 1,248,861 คน เพิ่มหลักแสนจากปี 2563 ซึ่งมีจำนวน 994,428 คน และจากข้อมูลของสภาพัฒน์ ในปี 2566 ไตรมาสสอง หนี้สินครัวเรือนรวมทั้งประเทศมีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2565

ปัญหานี้ยิ่งหนักขึ้นเมื่อเกิดขึ้นในชุมชนเมืองซึ่งความเหลื่อมล้ำสูง ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค เคยกล่าวไว้ว่า จากข้อมูลของสภาพัฒน์ในเรื่องรายได้ของครอบครัวของเด็กยากจน เฉลี่ยแล้วทั้งประเทศมีรายได้ต่ำกว่า 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน แต่หากเจาะจงเฉพาะครอบครัวเด็กยากจนในกรุงเทพฯ จะพบว่ามีรายได้เพียง 1,964 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้นและยังลดลงไปอีกหลังช่วงโควิด-19

นอกจากปัญหาเรื่องรายได้และหนี้สินแล้ว คนจนเมืองยังประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย อย่างชุมชนโค้งรถไฟยมราช ความเป็นเมืองทำให้ที่ดินในเมืองราคาแพง และเป็นที่ต้องการ ทำให้คนจนเมืองถูกเบียดขับไปจากพื้นที่ได้ง่ายดาย กรณีชุมชนโค้งรถไฟยมราชเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามกฎหมายแล้ว ผู้มีสิทธิกำหนดชะตากรรมคือการรถไฟแห่งประเทศไทย

ทั้งหมดนี้อาจมองได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เด็กยากชนในชุมชนเมืองหลุดจากการศึกษา อย่างไรก็ตาม สำหรับชุมชนโค้งรถไฟยมราชแล้ว ทั้งหมดนี้ การให้ความช่วยเหลือมีเข้ามาเป็นระยะ จากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม

การช่วยเหลือที่เรามักได้ยินเด็กๆ และผู้ใหญ่ในชุมชนกล่าวถึงบ่อยครั้ง คือการช่วยเหลือจากโครงการครูข้างถนน โดย ‘ครูจิ๋ว’ เป็นการช่วยเหลือเพื่อให้เด็กยังอยู่ในการศึกษา เช่น การมอบอุปกรณ์การเรียน เครื่องอุปโภคบริโภค เพราะแม้โรงเรียนในสังกัด กทม. จะมีสวัสดิการอย่างอาหารเช้าและอาหารกลางวันให้ แต่ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นก็ยังมากอยู่ดีเมื่อเทียบกับรายได้ของครอบครัว

เพื่อจะแก้ปัญหาเหล่านี้ หน่วยงานด้านการศึกษาอย่าง กสศ. โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ เสนอทางออก เช่น การเรียนฟรีค่าใช้จ่ายเป็นศูนย์ ซึ่งรวมถึงค่าเดินทางไปโรงเรียน ค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน การที่รัฐเข้ามาดูแลเรื่องการศึกษาของเด็กตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงเรียนจบ หรือกระทั่งการที่กรุงเทพมหานครจะจัดระบบการศึกษาของตนเองในฐานะที่เป็นเขตปกครองพิเศษโดยไม่อิงกับกระทรวงศึกษาธิการ

‘อยากเรียน ไม่ได้เรียน’ : เสียงจาก ‘ชุมชนโค้งรถไฟยมราช’ เมื่อเด็กกลางเมืองเข้าไม่ถึงการศึกษา

ดวงตะวันเริ่มคล้อยต่ำแล้ว ถึงเวลาต้องบอกลาทุกคนที่นี่ จากศาลาอเนกประสงค์ เราเดินทีละก้าว ทีละก้าว ตามแนวรถไฟที่ทอดยาวเพื่อจะไปถึงปากทางข้างหน้า การเดินออกไปจากชุมชนโค้งรถไฟยมราชนั้นไม่ยากและใช้เวลาเพียงไม่นานก็ถึงปลายทาง แต่ระหว่างทางนั้น ไม่มีสักวินาทีที่เราหยุดคิดว่า จะต้องทำอย่างไรเพื่อหา ‘ทางออก’ จากปัญหาที่เด็กๆ ในชุมชนนี้ต้องเผชิญ

ทุนการศึกษาและอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็ก ทุนประกอบอาชีพสำหรับผู้ปกครอง และเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับทุกคนในชุมชน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราได้ยินหลายครั้ง เมื่อเรากล่าวถึงคำว่าความช่วยเหลือสำหรับผู้คนในชุมชนนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้คุยกับหลายคนในชุมชน เราก็อดนึกไม่ได้ว่าที่จริงแล้วควรจะมีอะไรนอกเหนือไปมากกว่าสิ่งเหล่านี้หรือไม่

“ปัญหาคือเรื่องหนี้ เรื่องเงินไม่พอใช้” ชวนให้ตั้งคำถามต่อไปอีกว่า หากผู้ปกครองเหล่านี้มีหลักประกันรายได้ที่มั่นคง ปัญหาเรื่องเด็กหล่นหายจากการศึกษาจะได้รับการแก้ไขหรือไม่

“อยากเป็นนักฟุตบอล” และ “อยากทำงานอะไรก็ที่ได้เงินเลย” เป็นคำตอบที่มาจากเด็กคนเดียวกันอย่างน่าสะท้อนใจ แท้จริงแล้วระบบการศึกษาที่มีอยู่ปัจจุบันตอบโจทย์อะไรสำหรับเด็กๆ เหล่านี้ และจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการศึกษาที่เด็กทุกคนถูกนับรวม การศึกษาที่เขาจะได้ใช้มันในชีวิตจริง ไม่ว่าเขาจะอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร และอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน

หรืออันที่จริงแล้ว ‘เด็กหล่นหายจากการศึกษา’ อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น

‘อยากเรียน ไม่ได้เรียน’ : เสียงจาก ‘ชุมชนโค้งรถไฟยมราช’ เมื่อเด็กกลางเมืองเข้าไม่ถึงการศึกษา



ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save