fbpx

‘การศึกษาเพื่อทุกคน’ ว่าที่รัฐบาลใหม่ตีโจทย์อย่างไร?

ผลการเลือกตั้งสะท้อนถึงความต้องการที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมไทยของประชาชน ด้วยผลคะแนนของพรรคการเมืองรุ่นเล็กที่เฉือนพรรคการเมืองเก่าไปได้หลายล้านเสียงอย่างคาดไม่ถึง หลากหลายนโยบายที่ถูกมองว่าเป็นไปได้ยากกำลังจะถูกนำเข้าสู่รัฐสภาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าในฐานะรัฐบาลใหม่

ท่ามกลางกระแสความยินดีและความตึงเครียดของการจัดตั้งรัฐบาล ปัญหาคั่งค้างที่อยู่ในโครงสร้างยังคงไม่ถูกแก้ไขมีมากมายสารพัด หนึ่งในปัญหาที่คั่งค้างคือ ‘การศึกษา’ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเกี่ยวพันกับปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ อีกมากมาย

101 ชวน พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ไกรยส ภัทราวาส ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมแลกเปลี่ยนกันถึงปัญหาในวงการการศึกษา ไล่เรียงตั้งแต่การศึกษาไร้รอยต่อ การเพิ่มทางเลือกและยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไปจนถึงภาพอนาคตทางการศึกษาไทยที่ทั้งสองอยากจะเห็นภายใต้การนำของรัฐบาลก้าวไกล

YouTube video

นโยบายการศึกษาใน 100 วันแรกของรัฐบาลน้องใหม่

นโยบายด้านการศึกษาที่จะได้เห็นจากว่าที่รัฐบาลใหม่ในเร็วๆ นี้มีเรื่องอะไรบ้าง

พริษฐ์: ในภาพรวม หลักๆ นโยบายการศึกษาของพรรคก้าวไกลออกบนฐานจากการที่ว่า การแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาที่ผ่านมาไม่สำเร็จเพราะขาด 2E

E ที่หนึ่งคือ Efficiency หรือประสิทธิภาพ ระบบการศึกษายังขาดประสิทธิภาพหลายอย่างในการแปรสิ่งที่เอาเข้าไปให้ออกมาเป็นผลสัมฤทธิ์อย่างที่ต้องการ เช่น จำนวนชั่วโมงเรียนที่เยอะเกินไป คือประเทศไทยกำหนดให้เด็กนักเรียนมีจำนวนชั่วโมงเรียนเยอะ แต่ไม่สามารถแปรจำนวนชั่วโมงเรียน ความขยันของนักเรียนเหล่านั้นออกมาเป็นทักษะที่แข่งกับนานาชาติได้ เราเห็นว่ากระทรวงศึกษาได้รับงบประมาณเป็นอันดับต้นๆ ทุกปี แต่ระบบงบประมาณไม่สามารถแปรเม็ดเงินออกเป็นการรับประกันสิทธิเรียนฟรีให้แก่นักเรียนทุกคนได้จริงๆ

E ที่สองคือ Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจ หลายคนยังมองว่าการศึกษาที่ดีคือการศึกษาที่ใช้ระบบอำนาจนิยม บอกเด็กว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แล้วเอาไม้บรรทัดแบบเดียวไปวัดกับทุกคน ทั้งที่เด็กแต่ละคนมีความต้องการ ความถนัด และความชื่นชอบที่แตกต่างกัน เราจึงอยากเห็นการศึกษาที่มีความเห็นอกเห็นใจ เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายของเด็กแต่ละคน รวมถึงกระจายอำนาจทางการศึกษาให้การตัดสินใจไม่กระจุกอยู่ที่ส่วนกลางด้วย

เพราะฉะนั้น นโยบายด้านการศึกษาของก้าวไกลจึงจะแบ่งออกเป็น 6 เป้าหมายเบื้องต้น

เป้าหมายที่หนึ่งคือ รับประกันสิทธิทุกคนในการเรียนฟรีจริง ถึงแม้ประเทศเราจะมีนโยบายเรียนฟรีมาสักพัก แต่มันมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงที่ทำให้ยังเรียนฟรีไม่จริง ตกอยู่ที่ประมาณ 2,000-6,000 บาทต่อคนต่อปี

เป้าหมายที่สอง เราต้องการให้ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่ปลอดภัยไร้อำนาจนิยม ทั้งทางร่างกาย ไร้อุบัติเหตุ มีอาหารการกินที่ถูกสุขอนามัย ปลอดภัยในเชิงของสภาพจิตใจ และปลอดภัยจากการถูกละเมิดสิทธิ

เป้าหมายที่สามคือ ยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยการออกแบบหลักสูตรใหม่ หากเราเป็นรัฐบาล เราจะออกแบบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ เน้นทักษะและสมรรถนะที่เท่าทันโลก

เป้าหมายที่สี่คือ การคืนครูให้ห้องเรียน เพราะถึงแม้จะมีหลักสูตรที่ดี แต่ถ้าครูไม่มีเวลาให้สำหรับนักเรียน ก็อาจจะไม่สามารถยกระดับทักษะของนักเรียนให้ดีได้เท่าที่ควรจะเป็น เราจะลดเวลาที่ครูเสียไปกับกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนเพื่อเป็นการคืนเวลาให้กับครู คืนครูให้กับห้องเรียน

เป้าหมายที่ห้าคือ การส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นนอกห้องเรียนในช่วงสมัยเรียน หรือว่านอกห้องเรียนในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตกับคนหลังวัยเรียน เป็นต้น

เป้าหมายที่หกคือ ครูสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบการศึกษาหรือตัดสินใจมากขึ้น

หกเป้าหมายที่ผมพูดมาต้องทำตั้งแต่วันแรก เรายืนยันว่าเรามีความพร้อม เพราะว่าอะไรก็ตามที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เราเตรียมไว้แล้ว 45 ฉบับ พร้อมยื่นตั้งแต่วันแรกที่สภาเปิด หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ฉบับก้าวไกลด้วย แต่ที่เป็นประเด็นสำคัญคือ อะไรจะเห็นผลภายใน 100 วัน อะไรจะเห็นผลภายใน 1 ปี หรืออะไรจะต้องใช้เวลา 4 ปีเต็มมากกว่า

สิ่งที่ผมคิดว่าเราจะเห็นภายใน 100 วันแรก อย่างที่หนึ่งคือการแก้ไขปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียนเพื่อทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยออกข้อกำหนดเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการว่า ทุกโรงเรียนจะต้องไม่ออกกฎระเบียบที่ขัดต่อหลักสิทธินักเรียน หรือสิทธิมนุษยชน การกระจายอำนาจการตัดสินใจต้องไม่อยู่บนฐานของการไปเปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธินักเรียนในกรณีที่เป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันสิทธินักเรียน ถ้ามีการค้นพบว่าบุคลากรทางศึกษาไปละเมิดสิทธินักเรียนจริง ต้องมีการพักใบประกอบวิชาชีพ เป็นการปิดช่องให้ไม่มีการลงโทษนักเรียนเกินขอบเขต ทั้งทางร่างกายหรือทางวาจา เป็นต้น

อย่างที่สองที่คิดว่าจะเห็นผลภายใน 100 วันคือ การคืนเวลาให้กับครูและคืนครูให้กับห้องเรียน เช่น แก้ระเบียบและใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรียกเลิกภาระหน้าที่การเข้าเวรของครู แล้วหาวิธีอื่นในการรักษาความปลอดภัยให้กับโรงเรียน อีกเรื่องคือเรื่องของการลดงานธุรการ งานเอกสาร ตัดอะไรที่ไม่จำเป็นออก หรือสมมติว่ามีการตรวจราชการเข้ามาแล้วครูต้องเสียเวลาไปพบปะกับหน่วยงานราชการที่เข้ามาตรวจสอบก็ต้องตัดออกเช่นกัน ภารกิจของก้าวไกลคือ การยกเลิกกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนออกให้หมด จากข้อมูลในปัจจุบัน 42% ของเวลาครูถูกใช้ไปกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน ภายใน 100 วันแรกเราอาจจะตัดออกไม่ครบทั้ง 42% แต่บางเรื่อสามารถทำได้ทันที

อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องทำภายใน 100 วันแรกคือ การออกแบบหลักสูตรการศึกษาใหม่ เพราะสิ่งนี้เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ มีหลักสูตรทางสมรรถนะที่ผู้เชี่ยวชาญและหลายภาคส่วนด้านการศึกษาทำมาเป็นสารตั้งต้นอยู่ เพียงแต่ถูกชะลอไป เราคิดว่าจะเอาสารตั้งต้นตรงนั้นหยิบกลับขึ้นมา มีกระบวนการรับฟังความเห็น ร่วมกันออร่วมกันอีกสักรอบหนึ่ง เพื่อให้หลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่เสร็จภายในหนึ่งปี

ประสิทธิภาพ-เสมอภาค-คุณภาพ

สามสิ่งที่ต้องมีในระบบการศึกษา

แม้จะมีนโยบายการเรียนฟรี มีเงินสนับสนุนด้านการศึกษามาหลายรัฐบาล แต่ท้ายสุดก็ยังคงไม่พอ กลายเป็นปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะเหตุใดประเด็นดังกล่าวจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนในมุมมองของกสศ.

ไกรยส: อยากจะชวนมองภาพเชิงระบบของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก่อนว่า จะต้องมีการสังคายนาระบบข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชากรไทยหรือคนที่มีสิทธิอยู่อาศัยในประเทศแต่ยังอยู่นอกระบบการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งมีหลายลักษณะ เช่น เด็กเข้าเรียนช้า ย้ายตามพ่อแม่ กว่าจะเอาลูกไปลงหลักปักฐานแล้วได้เข้าเรียน การเข้าเรียนช้าจะกระทบกับพัฒนาการของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกล้ามเนื้อ ร่างกาย และการเรียนรู้หลายๆ อย่าง ถ้าให้เปรียบเทียบคือหน้าต่างหลายๆ บานมันปิดแล้วมันเปิดอีกไม่ได้

ถ้าเราให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนราษฎร์ ทะเบียนนักเรียนได้มีโอกาสเข้ามาเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน แล้วกระจายออกไปยังกลไกพื้นที่ ตามตัวนักเรียนที่หลุดออกจากระบบให้เขามีโอกาสได้กลับมาเรียนหนังสือ แล้วถ้าใครตกหล่นตรงไหน ก็จะมีตัวเลขเป็น KPI ให้ตรวจสอบได้ ถ้าเราสามารถเริ่มต้นตรงนี้ได้เป็นจุดตั้งต้น สิ่งที่จะตามมาคือโจทย์ในการทำงานต่อว่า โรงเรียนจะต้องปรับตัวอย่างไร ที่ไม่ให้ปรับตัวเฉพาะกับเด็กทั่วไป แต่สำหรับเด็กที่มีความต้องการเป็นพิเศษเหล่านี้ด้วย แต่ถ้าจะทำเช่นนั้นได้ คำถามคือจะทำอย่างไรให้โรงเรียนได้รับการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรของตนเองได้

ก็จะมาถึงเรื่องของสูตรจัดสรรงบประมาณการศึกษา เราไปผูกทุกอย่างที่ฝั่งขวาของสมการคือจำนวนหัวของผู้เรียน กล่าวคือ เราใช้จำนวนหัวผู้เรียนในการจัดสรรงบประมาณ ซึ่จะส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งๆ ที่ข้อมูลหลายๆ อย่างก้าวหน้าขึ้นเยอะ เราสามารถใช้ระยะทาง ใช้ตำแหน่งที่ตั้งของโรงเรียน ใช้สัดส่วนของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ เรามีอะไรหลายอย่างที่จะนำไปใส่ในสูตรจัดสรรเพื่อความเสมอภาคมากขึ้นได้

ถ้าเกิดเรามีการปรับระเบียบ ปรับกติกาต่างๆ โดยคำนึงถึงความเสมอภาคในสูตรการจัดสรรงบประมาณ ผลที่ตามมาจะยั่งยืน ไม่ใช่แต่เฉพาะรัฐบาลนี้ แต่รัฐบาลต่อๆ ไปด้วย การจัดสรรงบประมาณจึงเป็นประเด็นที่จะกระทบทั้งประสิทธิภาพ (Efficiency) ความเสมอภาค (Equity) และ คุณภาพ (Quality)

ในส่วนของความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) หลายๆ อย่างคนอาจจะมองว่าการลดความเหลื่อมล้ำคือการทำให้คนได้เท่ากัน แต่สิ่งที่กสศ. พยายามจะนำเสนอคือ ถ้าทุกคนเคยเห็นภาพที่สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เด็กสามคนพยายามจะชะเง้อดูกีฬา แต่มีกำแพงขวางอยู่ จริงๆ ถ้าเอากำแพงนี้ออกไปให้ระบบการศึกษาปรับตัว ปรับให้เป็นระบบการศึกษาที่มีทางเลือกสำหรับทุกคน ทำให้เด็กที่มีความสามารถที่จะนำความก้าวหน้ามาสู่ประเทศได้ เราก็ไม่ควรจะให้ระบบประเมินผลทำเด็กรู้สึกท้อ ทำให้รู้สึกต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า มาถูกทางหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ระบบการศึกษาจะต้องปรับตัวเข้าหาผู้เรียน ไม่ใช่ให้ผู้เรียนต้องปรับตัวเข้ากับระบบ เพราะบางคนที่ปรับตัวไม่ได้จะถูกบีบให้หลุดออกนอกระบบไป

การจัดสรรงบประมาณอย่างมีคุณภาพสำคัญต่อการสร้างระบบการศึกษาที่ดีให้แก่ประเทศไทย

กสศ. มองเป้าหมายหกข้อว่าด้วยการศึกษาของพรรคก้าวไกลอย่างไร

ไกรยส: สิ่งที่คุณพริษฐ์พูดถือเป็นประเด็นสำคัญทั้งหมด เรื่องการกระจายอำนาจเป็นประเด็นที่ต้องลงไปดูในแต่ละพื้นที่ว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรเอาเด็กเป็นตัวตั้ง กศส. ทำงานหลายประเด็น พอประชุมร่วมกันแล้วมันไปต่อไม่ได้ เพราะหลายๆ อย่างเพราะว่าติดที่องค์กรในระบบการศึกษาหรือกติกามันล็อก ถ้าเราสามารถเอาระเบียบเหล่านี้มาสังคายนาแล้วให้เด็กคือจุดตั้งต้น และครูต้องทำงานเพื่อเด็กให้ได้ความรู้อย่างเต็มที่ที่สุด ผมเชื่อว่าคำตอบหลายๆ คนในพื้นที่รู้มานานแล้ว พยายามผลักดันอยู่ แต่เขาอาจจะไม่มีกำลังเพียงพอที่จะทำได้ ถ้า 100 วันแรกเราสามารถเริ่มกระจายอำนาจได้ การแก้ไขประเด็นอื่นๆ ก็จะตามมา

พริษฐ์: อาจจะต้องแยกก่อนว่าอะไรที่ ‘จะทำ’ ใน 100 วันแรก และอะไรที่จะ ‘เห็นผล’ ใน 100 วันแรก เรื่องอำนาจนิยม คืนครูให้ห้องเรียน ผมว่าเป็นสิ่งที่จะเห็นผลภายใน 100 วันแรก แต่จะมีสิ่งอื่นๆ ที่ถึงแม้จะไม่เห็นผลใน 100 วันแรก แต่ก็ต้องทำภายใน 100 วันแรกเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องงบประมาณ ผมเห็นด้วยกับคุณไกรยสในส่วนของการจัดสรรงบประมาณที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับนักเรียนทุกคน

หลักคิดของก้าวไกลเกี่ยวกับงบประมาณด้านการศึกษาจะแบ่งออกเป็นสามอย่างหลักๆ อย่างที่หนึ่งคือ ต้องมีการเพิ่มงบประมาณในการรับประกันสิทธิเรียนฟรีของนักเรียนทุกคน เราตั้งเป้าว่าต้องเพิ่มงบประมาณ 33,000 ล้านบาทต่อปี ในนั้น 4,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่ต้องใช้ในการจำกัดค่าใช้จ่ายแอบแฝงทางการศึกษาของเด็กที่ถูกนิยามว่า มาจากครอบครัวยากจนหรือยากจนพิเศษ อีก 29,000 ล้านบาท เป็นการเพิ่มงบรายหัวของค่าอาหารและค่าเดินทาง เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับประกันสิทธิเรียนฟรี อาหารฟรีและมีรถรับส่ง

นอกจากการเพิ่มขนาดของเค้ก เราต้องการจัดงบประมาณให้มีความเป็นธรรมในโรงเรียนแต่ละแห่งเหมือนที่คุณไกรยสพูดว่า ที่ผ่านมา การจัดสรรงบประมาณใช้หลักจัดสรรแบบรายหัวในการคำนวณว่าแต่ละโรงเรียนจะได้รับงบประมาณเท่าไร ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีความเสียเปรียบพอสมควร พรรคก้าวไกลจะคำนึงถึงหลายปัจจัยมากกว่าแค่การจัดสรรรายหัว ส่วนงบก้อนที่เหลือจากการจัดสรรที่เป็นธรรมแล้ว จะเป็นงบก้อนที่ทำให้โรงเรียนมีอำนาจในการตัดสินใจใช้ทรัพยากรมากขึ้น นอกจากนี้ โรงเรียนแต่ละแห่งควรมีตัวแทนของครูที่มาจากการเลือกตั้งของครูด้วยกันเอง ตัวแทนของนักเรียนที่มาจากการเลือกตั้งของนักเรียนด้วยกันเอง เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อให้มีอำนาจในการดูแลออกความเห็น

ปีแรกที่รัฐบาลเริ่มงานเป็นช่วงการจัดทำงบประมาณปี 2567 งบประมาณส่วนการศึกษาจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ 4,000 ล้านบาทที่ตั้งใจจะจัดสรรให้ กสศ.ใช้แก้ไขปัญหาเด็กหลุดจากระบบ อีก 11,000 ล้านบาท คือโครงการคูปองเปิดโลก เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน นักเรียนระดับประถมจะได้ 1,000 บาทต่อปี ระดับมัธยมจะได้ 1,500 บาทต่อปี ส่วนอุดมศึกษาจะได้รับเงิน 2,000 บาทต่อปีให้นำไปใช้ในการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้

ไกรยส: ภาพรวมของประเทศไทยคือ ในเมื่อเด็กเกิดน้อยลงเรื่อยๆ งบประมาณส่วนของกระทรวงศึกษาจะค่อยๆ ลดลง เพียงแต่ว่างบประมาณที่แม้จะลดลงไปนั้นต้องถูกนำไปใช้ในจุดที่ควรจะใช้มานานแล้ว เช่น การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทาง กสศ.มีแผนที่ที่ระบุได้เลยว่ามีประมาณ 1,500 กว่าโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลหรือทุรกันดาร ซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายให้คนจะมีการศึกษาได้ในพื้นที่เหล่านั้น เพราะฉะนั้น ต้องมีการใส่ทรัพยากรเข้าไปเพิ่มเติมให้สามารถจัดการศึกษาอย่างเสมอภาคได้

ส่วนเรื่องคูปองเปิดโลก ผมว่าน่าจะเป็นนโยบายที่เจาะไปที่กลุ่ม NEET (Not in Education, Employment, and Training) ซึ่งประเทศไทยมีประชากรกลุ่มนี้ในช่วงอายุ 15-24 ปี ประมาณ 15% ซึ่งจริงๆ มีศักยภาพที่จะขยับไปเป็นแรงงานฝีมือ (skilled labor) หรือสูงไปกว่านั้นได้ คูปองดังกล่าวจะช่วยพัฒนาทักษะที่เราเชื่อว่าตลาดแรงงานต้องการ 

กสศ.อยากเห็นวงจรชีวิตของคนๆ หนึ่งว่า ตั้งแต่ช่วงปฐมวัยยาวไปจนถึงวัยแรงงานช่วงต้นจะมีความสามารถแข่งขันทัดเทียมในระดับโลกได้ คำถามคือเราจะสามารถพัฒนาคนให้ตอบโจทย์ได้ไหม เพราะถ้าประเทศอื่นทำได้แล้วเรายังล่าช้า นั่นหมายความว่าอนาคตของประเทศไทยในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ประชากรจะยังคง ‘แก่ก่อนรวย’ อยู่

การลงงบประมาณอย่างที่คุณพริษฐ์อธิบายจะส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาสูงมาก ผมไม่อยากให้มองว่าการให้งบทางการศึกษาเป็นการสงเคราะห์หรือเป็นอะไรที่สิ้นเปลือง แต่ให้มองว่าเป็นการลงทุน ถ้าการศึกษามีความเสมอภาคมากขึ้น ก็จะกลายเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะพาคนไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางหรือกับดักของความยากจนได้เร็วขึ้น

การศึกษาไทยในระยะยาวผ่านสายตาของผู้กำหนดนโยบายและผู้ผลักดันการแก้ไขปัญหา

พริษฐ์: มองภาพไปข้างหน้า 4 ปีเราต้องการลดความเหลื่อมล้ำและทำให้การศึกษามีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้การศึกษาเป็นพื้นที่ที่เด็กได้พัฒนาศักยภาพของตนเองตามความถนัดหรือความชอบที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะเป็นการศึกษาที่มีความหลากหลายในหลายมิติ ได้แก่

มิติที่หนึ่งคือ ความหลากหลายของการศึกษา ความชอบ ความถนัดของเด็กแต่ละคนมากขึ้น อย่างการออกแบบหลักสูตรการศึกษาใหม่ โดยพรรคมองไปถึงเป้าหมายของการพัฒนาสมรรถนะที่เท่าทันโลกอนาคต ลดวิชาบังคับและเพิ่มวิชาเลือก ทำให้เด็กแต่ละคนมีศักยภาพในการเรียนรู้มากขึ้น

อย่างที่สองคือ ความหลากหลายในแต่ละโรงเรียน นอกจากอำนาจในการตัดสินใจทางการเงินแล้ว เราอยากกระจายอำนาจการศึกษาให้โรงเรียนมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกบุคลากรหรือการออกแบบหลักสูตร อาจต้องวางมีแกนกลางบางอย่างกำหนดเป้าหมายภาพรวมว่าหลักสูตรมุ่งสู่เป้าหมายอะไร แต่ท้ายสุด เราอยากให้โรงเรียนมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทของนักเรียนในโรงเรียน

อย่างที่สาม ความหลากหลายของรูปแบบการเรียนการสอน เพราะการศึกษาไม่ใช่แค่ชั่วโมงเรียนหรือระบบโรงเรียนเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอเป็นนโยบายคือ การตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกของการศึกษาทางเลือกที่ไม่ใช่ระบบโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น Home School ศูนย์การเรียน การศึกษานอกระบบ (กศน.) เพื่อให้เป็นที่อำนวยความสะดวกแก่การศึกษาในรูปแบบเหล่านี้ ไม่ว่าจะลงทะเบียน ประเมิน รับประกันการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของนักเรียนในระบบเหล่านี้ การเชื่อมโยงกับอุดมศึกษา ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มความหลากหลายได้เช่นกัน

อย่างสุดท้ายคือ ความหลากหลายของวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ท้ายสุดแล้วการศึกษาหรือการเรียนรู้ไม่ควรจำกัดอยู่แค่การศึกษาเพื่อวุฒิการศึกษาอย่างเดียว แต่ต้องส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย ถึงแม้บุคลากรรุ่นใหม่จะผ่านระบบการศึกษาที่ดีที่สุด แต่ความรู้ที่เราได้รับจากระบบในวัยเรียน อีก 5 ปี 10 ปีอาจจะตกยุคตกสมัยไปแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นต้องมีการพัฒนาทักษะใหม่ๆ อยู่ตลอด พรรคก้าวไกลจึงให้การส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยเช่นกัน เรามีนโยบายในการสร้างแพลตฟอร์ม 3 in 1 สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตคล้าย Netflix, Linkedin และ JobsDB ในแพลตฟอร์มเดียว ส่วน Netflix เป็นการรวบรวมเนื้อหาการเรียนการสอน คอร์สทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ แบบฝึกหัดให้กับผู้ใช้งาน ส่วน Linkedin เป็นระบบที่บันทึกว่าเรียนอะไรมาบ้างแล้ว ผ่านแบบฝึกหัดอะไรมา ได้คะแนนเท่าไร ส่วน JobsDB จะช่วยในการจับคู่กับผู้ประกอบการที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะเหล่านั้น

ท้ายที่สุด ระบบการศึกษาต้องเป็นการศึกษาที่เติมไฟในการเรียนรู้ แต่ในปัจจุบันเรายังอยู่ในระบบการศึกษาที่ดับไฟแห่งการเรียนรู้ เพราะการศึกษายังกำหนดชั่วโมงเรียนภาคบังคับเยอะ ภาระเยอะ การบ้านก็เยอะ สิทธิในการเลือกเรียนวิชาที่ต้องการก็ไม่ได้มีอิสระมากนัก ทำให้ผู้ที่ผ่านระบบการศึกษามารู้สึกว่า พอแล้วกับการศึกษา พอแล้วกับการเรียนรู้ สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขเพื่อเติมไฟให้คนยังมีความต้องการการเรียนรู้อยู่

ไกรยส: ตอนนี้ทุกประเทศทั่วโลกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งถูกทำให้เสียระบบ (Disrupt) ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ขณะที่งานด้านการศึกษาเป็นงานที่ต้องอาศัยการมองและการคาดการณ์ไปในอนาคตสองสามขั้นข้างหน้า หากเราตั้งเป้าจะพัฒนาให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีความสามารถด้านการแข่งขัน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และจะให้คนไทยจะเป็นหัวใจสำคัญในการพาประเทศออกจากกับดักความยากจนและกับดักรายได้ปานกลาง เราต้องมองว่ามีทักษะอะไรบ้างที่เราต้องการ ซึ่งทุกวันนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ Hard Skills เท่านั้น แต่ยังมีทักษะอื่นๆ ที่ทวีความสำคัญขึ้น เช่น ทักษะทางอารมณ์และสังคม (Socio-Emotional Skill), ทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ (Foundational Skill), ทักษะทางดิจิทัล (Digital Skill) ทั้งหลาย คำถามคือ สิ่งเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในหลักสูตรอย่างไร

ระบบการศึกษาเป็นระบบที่มีขนาดใหญ่ โจทย์คือเราจะบริหารการเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ได้รับความร่วมมือและแนวร่วม ส่วนตัวผมมองว่าอยู่ที่คน คือจะทำอย่างไรให้คนในกระทรวงต่างๆ เข้าใจทิศทางดังกล่าว เพราะหลายอย่างต้องมีการ Reskill หรือ Upskill ในหน่วยงานด้วยเพื่อที่จะมาสานต่อนโยบายที่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการมากกว่า 4 ปีหรือ 8 ปีด้วยซ้ำไป นี่เป็นเกมระยะยาวที่ผู้ที่อยู่ในคณะกรรมการบริหารต้องคิดตั้งแต่ต้นว่า เราจะบริหารในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างไร การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนจะทำให้เราไปสู่ความสำเร็จ และถ้าเรามีหลักคิดร่วมกันก็จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้

ปัญหาเก่าและโจทย์ใหม่ ความท้าทายที่รัฐบาลก้าวไกลพร้อมรับมือ

รัฐบาลควรจะมีวิธีการทำงานอย่างไรที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเก่าและรับมือกับโจทย์ใหม่ที่กำลังจะเข้ามา

พริษฐ์: ประเด็นที่หนึ่ง อนาคตของการศึกษาอยู่บนพื้นฐานการศึกษาอนาคต การศึกษาจะเป็นไปในทิศทางใดนั้นขึ้นอยู่กับเราศึกษาว่าแนวโน้มของโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร และขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการให้บุคลากรในประเทศเรามีทักษะอะไรที่จะสามารถปรับตัวสู่โลกอนาคตได้ พอเราแปรส่วนนั้นมากำหนดเป็นรูปแบบของการทำงาน สิ่งที่ก้าวไกลพยายามจะทำจึงไม่ใช่แค่ออกแบบใหม่แล้วจบเลย แต่ต้องคำนึงให้ระบบมีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย สมมติว่าผ่านไปอีก 4 ปีข้างหน้า ถ้าก้าวไกลไม่ใช่รัฐบาลแล้ว เราต้องทำให้ระบบสามารถรับรู้ถึงสัญญาณการปลี่ยนแปลงต่างๆ และปรับรูปแบบให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้

ประเด็นที่สอง เราเข้าใจดีว่าหากจะขับเคลื่อนให้สำเร็จ การทำงานร่วมกับระบบราชการเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งนี้จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ก้าวไกลประกาศนโยบาย 300 ข้อในการหาเสียง แทนที่จะเลือกเฉพาะข้อสำคัญ เรามองว่าการสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่แรกเป็นการสื่อสารกับระบบราชการด้วย ประชาชนที่เลือกก้าวไกลมาอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับทั้ง 300 นโยบาย แต่ท้ายสุดแล้ว คะแนนเสียงที่ได้มาเป็นสิ่งที่บอกว่านี่คือภาพอนาคตที่ประชาชนอยากเห็น และเราสามารถเริ่มได้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปทำงาน เราชัดเจนกับระบบราชการว่าต้องการจะเข้าไปขับเคลื่อนอะไร

ไกรยส: ผมอยากสนับสนุนแนวคิดวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล การใช้ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ในการออกแบบนโยบายและมีการประเมินผลต่อเนื่อง เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของ กสศ. ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิจัยเรื่องในโรงเรียน ในชั้นเรียน เราให้นักวิจัยหลายคนเข้ามาทำงานวิจัยเชิงระบบ ในอนาคตถ้าอยากให้ระบบการศึกษามีความยืดหยุ่น เราต้องมีกลไกพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง และกลไกบริหารจัดการข้อมูลที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายเห็นแดชบอร์ด (Dashboard) ทำให้เห็นว่าทรัพยากรที่ใส่ไปในแต่ละปีการศึกษามีอะไร พอนำข้อมูลมาคุยกัน ก็สามารถจะดึงเอาข้อเท็จจริงมาสู่การกำหนดหรือการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ และนำสิ่งนี้ลงมาสู่พื้นที่ เพื่อพัฒนาให้คนที่อยู่ในระบบการศึกษามีทักษะที่หลากหลายและนำไปสู่ความยั่งยืน

การทำให้การปฏิรูปในระบบการศึกษายั่งยืนได้นั้นอยู่ที่คน และการรักษาให้คนเหล่านี้อยู่ในระบบการศึกษาได้คือกลไกของข้อมูล หลายครั้งต่างคนต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ถ้าความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้นสามารถมาอยู่ในจุดที่ลงตัวกันได้ด้วยข้อมูลที่ทุกคนเชื่อมั่นว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้อง ข้อขัดแย้งก็อาจจะคลี่คลายไปสู่ทิศทางที่ดีได้

สร้างระบบ All for Education เพื่อนำไปสู่ Education for All

มีความคาดหวังอย่างไรกับผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในฐานะหน่วยงานที่ต้องร่วมงานด้วยและในฐานะผู้กำหนดนโยบาย และอยากฝากอะไรถึงรัฐบาลใหม่เพื่อให้การศึกษาเป็นการศึกษาเพื่อทุกคน

ไกรยส: สิ่งแรกที่ผมอยากเห็นคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอยู่นานเกิน 10 เดือน รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการถูกเปลี่ยนบ่อยมาก เป็นหนึ่งในกระทรวงที่เปลี่ยนบ่อยที่สุด ในขณะที่ความเสถียรภาพของนโยบายด้านการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ดำรงตำแหน่งได้เกิน 10 เดือน

อีกเรื่องคือคาดหวังว่าผู้ที่อยู่ในระบบราชการจะมีความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจ ลำดับความสำคัญไปที่ตัวนักเรียน ตัวครู เป็นจุดตั้งต้น แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในระบบการบริหารงานราชการ ถ้าตอบโจทย์เด็ก ครู โรงเรียน ครอบครัวได้ ประเทศก็จะปฏิรูปการศึกษาอย่างก้าวหน้าได้

พริษฐ์: ภาพรวมของสิ่งที่รัฐบาลก้าวไกลพยายามทำคือ การเอาวาระเป็นตัวตั้ง ที่ผ่านมามีการพยายามที่จะร่าง Memorandum Of Understanding (MOU) ขึ้นมา เพื่อที่อย่างน้อยจะมีวาระขั้นพื้นฐานที่พรรคร่วมรัฐบาลเห็นเป็นพื้นฐานร่วมกัน เอาวาระเป็นตัวตั้งและชี้วัดความสำเร็จของรัฐบาลชุดใหม่ หากใช้วาระเป็นตัวตั้ง สิ่งนี้จะไปทลายกำแพง 2 อย่างคือ หนึ่ง วาระจะไปทลายกำแพงระหว่างกระทรวง เช่น เรารู้ว่าวาระการศึกษาไม่ได้ถูกขับเคลื่อนแค่กระทรวงศึกษาอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงหลายกระทรวง การทำงานต้องไม่เป็นไปในลักษณะของกระทรวงใคร กระทรวงมัน ต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานมากขึ้น

อย่างที่สองคือ ทลายตำแหน่ง ผมไม่สามารถยืนยันได้ว่ารัฐมนตรีจะเข้ามาดำรงตำแหน่งได้นานเท่าไร แต่เมื่อเราเอาวาระเป็นตัวตั้ง หากมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีก็จะถูกกำหนดไว้ด้วยวาระ

ไกรยส: ถ้า กสศ.ได้รับการสนับสนุนตามพันธกิจที่ถูกตั้งขึ้นมาว่า เป็นหน่วยงานอิสระที่สามารถให้คำแนะนำรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เรามีข้อเสนอต่อรัฐบาลว่าจะต้องมีการลงทรัพยากรเท่าไหร่ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้จบ มีผลต่อคนกี่คน กลุ่มเป้าหมายไหน ด้วยวิธีอย่างไร โดยที่งบประมาณไม่จำเป็นต้องมาที่ กสศ. โดยตรง เราแค่ชี้เป้าและให้วิธีการ นี่น่าจะเป็นการสนับสนุนสำคัญที่ทำให้เราสามารถทำหน้าที่ในฐานะตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบ รวมถึงช่วยสนับสนุนการทำงานอย่างอิสระ รายงานกับนายกรัฐมนตรีที่สามารถทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานได้

การศึกษาสำหรับคนทุกคนคืออนาคตของประเทศไทย เรามียังมีโอกาสก่อนที่เราจะมีคนเกิดน้อยกว่าคนที่ต้องดูแล เด็กคนหนึ่งมีศักยภาพแตกต่างหลากหลายและไปได้สุดทาง นั่นคือความเสมอภาคที่ผลลัพธ์ ถ้าเรารู้ได้ว่าผลที่หลากหลายเหล่านั้นจะทำให้เสมอภาคได้อย่างไร แล้วมาจัดสรรเรื่องระบบงบประมาณ นโยบายต่างๆ การทำงานที่ทุกภาคส่วนสามารถทำงานร่วมกัน นั่นจะเป็นหัวใจของการบริหารความยั่งยืนจากการเปลี่ยนแปลงนี้

พริษฐ์: การยกระดับการศึกษาเพื่อทุกคนเป็นวาระสำคัญ หลายปัญหาในประเทศนี้จะแก้ไขไม่ได้หากเราไม่แก้ไขปัญหาด้านการศึกษา ถ้าเราอยากยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เราก็ต้องทำให้บุคลากรของประเทศเรามีศักยภาพที่ตอบโจทย์อนาคต ถ้าเราอยากจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างสังคมที่เป็นธรรม เราไม่สามารถมีสังคมที่เป็นธรรมได้ ถ้าเด็กสองคนเกิดที่ในประเทศนี้เข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพแตกต่างกัน ถ้าเราอยากมีประชาธิปไตยที่มั่นคง ไม่ใช่แค่ในเชิงระบบ แต่ในเชิงค่านิยม เราก็ต้องส่งเสริมค่านิยมเหล่านั้นในทุกห้องเรียน ทุกโรงเรียนของประเทศนี้ 

พรรคก้าวไกลไม่เพียงแต่จะยกระดับการศึกษาเพื่อทุกคนอย่างเดียว แต่เราต้องการจะเป็นรัฐบาลของคนทุกคน เพื่อคนทุกช่วงวัย ทุกภูมิภาค ทุกอาชีพ และเป็นรัฐบาลให้กับทั้งคนที่เห็นด้วยและเห็นต่างกับเรา


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save