fbpx

14 ตุลา ถึง 6 ตุลา กับการต่อสู้ของผู้หญิงที่ไม่เคยได้รับการจารึกในหน้าประวัติศาสตร์

ผู้หญิงเดือนตุลา

“ถอดเสื้อออกเดี๋ยวนี้”

ทำไมต้องถอด ฉันเป็นผู้หญิงนะ

“จะถอดหรือไม่ถอด ถ้าคุณไม่ถอด เดี๋ยวผมจะไปถอดให้เอง”

แสนจะเจ็บปวดและทุกข์ทรมานใจ เมื่อต้องรับรู้ว่าบทสนทนาอันน่าขื่นขมนี้มิใช่เรื่องแต่ง ทว่าเป็นเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

เสียงลั่นไกปืนเกิดขึ้นช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 6 กระทั่งควันปืน ณ สนามหญ้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สงบลงไป และรอยคราบเลือดถูกชำระล้างไปแล้วกว่า 47 ปี ทว่ารอยแผลเป็นและฝันร้ายอันฝังลึกกลับยังคงอยู่จนถึงวันนี้

“ประโยคนี้ทำให้เราสะเทือนใจอยู่เสมอ เพราะมันกำลังบอกว่าการที่เราเป็นผู้หญิง เราไม่ได้กำลังต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองและประชาธิปไตยอย่างเดียว แต่เรายังต้องต่อสู้เพื่อสิทธิในชีวิตและเนื้อตัวของเราด้วย” คือคำพูดของ เนตรนภา ขุมทอง เจ้าของเรื่องราวอันยากจะลืมเลือนนี้ เธอคือหน่วยอาสาพยาบาลในการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ และได้กลายเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ถูกล้อมจับกุมในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

นอกเหนือจากความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มฝ่ายขวากระทำต่อนักศึกษาราวกับไม่ใช่มนุษย์ อีกหนึ่งความเลวร้ายที่เกิดขึ้น คือการด้อยค่าความเป็นหญิงของนักเรียนนักศึกษาหลายต่อหลายคนในเหตุการณ์

แม้จะเคยมีคำพูดหรือแม้แต่ความคิดที่ว่า “ผู้หญิงไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” ที่คอยกีดกันผู้หญิงให้อยู่นอกเหนือวงโคจรของประเด็นทางสังคมการเมืองอยู่เสมอ ทว่าเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 บทบาททางการเมืองของสตรีกลับเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสายตา ทั้งในเบื้องหน้าและเบื้องหลัง กระทั่งการกระทำละเมิดและถ้อยคำหยามเกียรติที่พวกเธอต้องเจอจากเหตุการณ์เหล่านี้ ยิ่งเป็นสิ่งย้ำชัดว่า การลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงนั้นยังมีหนทางอีกยาวไกล ทว่าล้วนเป็นการต่อสู้ที่สลักสำคัญ เพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมอันเปี่ยมด้วยประชาธิปไตยและมากล้นด้วยความเท่าเทียมต่อทุกเพศ

เพราะการออกมางัดข้อต่อกรของ ‘ผู้หญิงเดือนตุลา’ ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยค่านิยมอันกีดกันบทบาทของผู้หญิง มิใช่เสี่ยงอันตรายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิของสตรีเท่านั้น แต่พวกเธอกำลังต่อสู้เพื่อทุกคนในสังคมต่างหาก

หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจากงานเสวนา ‘บทบาทสตรีในเดือนตุลา 2516-2519’ จัดโดย ฝ่ายส่งเสริมมนุษยธรรมสากล องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566

วรรณี นิยมไทย, เนตรนภา ขุมทอง และ สุนี ไชยรส

พวกเราคือ ‘ผู้หญิง’ เดือนตุลาฯ

ผศ.เนตรนภา ขุมทอง เลขาธิการมูลนิธิหมอชาวบ้าน อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นอดีตหน่วยพยาบาลเพื่อมวลชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เริ่มต้นเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่ครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยในขณะนั้นเนตรนภาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่หนึ่ง เนตรนภาระบุว่า เมื่อมีการชุมนุมประท้วงทางการเมือง นักศึกษาจากมหิดลจะเป็นผู้รับผิดชอบหน้าที่ปฐมพยาบาลให้ผู้ชุมนุม พร้อมเล่าว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอตื่นตัวทางการเมืองและร่วมเข้าไปเป็นอาสาพยาบาลในการชุมนุมประท้วง คือการรับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เคยคิดมาก่อน

“ตอน 14 ตุลาฯ เราไปเข้าร่วมด้วยเพราะมีรุ่นพี่มาบอกว่านักศึกษา 13 คนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยจับเข้าคุก เราจึงสงสัยว่าทำไมนักศึกษาต้องโดนจับแค่เพราะออกไปเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ถึงได้รู้ว่าสถานการณ์ตอนนั้นเราไม่มีสิทธิมีเสียงเลย แค่ชุมนุมเกิน 5 คนก็โดนจับหมด นักศึกษา 13 คนนั้นจึงไปเรียกร้องรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้ง พอรู้แบบนั้นถึงตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมด้วย เพราะมองเห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น”

เนตรนภาเสริมว่า ณ เวลานั้นนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยในไทยตื่นตัวทางการเมืองกันมาก ในการชุมนุมจะมีนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศมาร่วมด้วยเสมอ และจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ทำให้เนตรนภาค่อยๆ เข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องสิทธิสิตรีและการต่อสู้ของผู้หญิง โดยการชุมนุมประท้วงที่เนตรนภาให้ความสำคัญอย่างมาก คือการประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมของกรรมกรหญิง จากกรณีที่เป็นที่รู้จักคือ การต่อสู้ของกรรมกรหญิงที่ถูกเอาเปรียบด้วยการกดค่าแรงและไม่มีสวัสดิการจากโรงงานกางเกงยีนส์ฮาร่าและโรงงานสแตนดาร์ดการ์เม้นท์

เนื่องจากการชุมนุมของกรรมกรมักโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง เนตรนภาถึงอาสาเข้าไปร่วมในฐานะหน่วยปฐมพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ และนอกเหนือจากการเป็นหน่วยสนับสนุนในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของแรงงาน สิ่งที่เนตรนภาต่อสู้เสมอมาคือสิทธิสตรี จนในที่สุดเธอก็ได้เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้มีการจัดตั้ง ‘กลุ่มผู้หญิงมหิดล’ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มย่อยของ ‘กลุ่มผู้หญิง 10 สถาบัน’ ที่มีบทบาทอย่างมากในการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ และหลังจากนั้นกลุ่มผู้หญิงก็เริ่มก่อตัวเป็นขบวนการเพื่อสิทธิสตรีขึ้นมา ทำให้มีการจัดนิทรรศการ พิมพ์หนังสือ หรือจัดงานเสวนาเผยแพร่ความคิดต่างๆ เพื่อแสดงออกความคิดความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิงในสังคมไทยมากขึ้น

กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้มักจะเข้าไปทำงานเกี่ยวโยงกับกรรมกร เพราะตอนนั้นภาคโรงงานมีแรงงานผู้หญิงเยอะมาก และที่สำคัญคือมีปัญหาเรื่องค่าแรงผู้หญิงได้น้อยกว่าแรงงานชาย หรือโดนบังคับออกเมื่อตั้งครรภ์ ความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นกับกรรมกรหญิงในโรงงานจึงเป็นอีกจุดที่ทำให้ผู้หญิงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม

“เราทำกิจกรรมในฐานะผู้หญิงที่สู้เพื่อผู้หญิง ยิ่งถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ ผู้หญิงไทยต่อสู้มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว อย่างช่วงรัชกาลที่ 4 ที่อำแดงเหมือนออกมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เพราะสมัยก่อนพ่อแม่มีสิทธิขายลูกสาวไปเป็นทาสให้คนอื่น ผู้หญิงไม่มีสิทธิในชีวิตของตัวเองเลย อำแดงเหมือนจึงลุกขึ้นมาต่อสู้จนมีการออกกฎหมายห้ามไม่ให้พ่อแม่ขายลูกสาวและห้ามบังคับลูกสาวแต่งงานโดยไม่ยินยอม”

และจากการชุมนุม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เนตรนภาในฐานะนักศึกษาจากมหิดลมีหน้าที่รับผิดชอบเป็นหน่วยปฐมพยาบาล โดยหน่วยพยาบาลเพื่อมวลชนจะปักหลังอยู่ที่ตึกบัญชีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นตึกที่เต็มไปด้วยกระจก ในวินาทีที่เจ้าหน้าที่เริ่มใช้กำลังสลายการชุมนุม แม้แต่หน่วยปฐมพยาบาลที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงก็ไม่พ้นถูกโจมตีด้วยกระสุนปืนจากภายนอก และถูกลดทอนศักดิ์ศรีด้วยการบังคับขู่เข็ญจากเจ้าหน้าที่รัฐ

“เราถูกกวาดล้างขณะที่กำลังช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอยู่ด้วยซ้ำ กำลังถือสายน้ำเกลืออยู่ก็มีเจ้าหน้าที่ก็ยิงเข้ามา พวกเราต้องรีบพากันนอนราบหลบกระสุนที่สาดเข้ามา จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ไล่เราออกมาจากห้อง ตอนนั้นเองที่เจ้าหน้าที่บังคับให้พวกเราถอดเสื้อ โดยอ้างว่าเราอาจแอบซ่อนอาวุธไว้ในชุดชั้นใน” 

“ตอนนั้นกลัวมาก แต่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นผู้หญิง เราจึงไม่ยอมถอด เราบอกไปว่าพวกเรามีแต่สองมือเปล่า และแค่มาเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น ทำไมคุณทำกับเราอย่างกับในสงคราม แต่พอเจ้าหน้าที่พูดประโยคนั้นมาเราจึงต้องยอมถอด พอถอดเสื้อออก เขาก็บังคับให้เราชูมือขึ้นเหนือหัวเดินและตามเจ้าหน้าที่ไปที่สนามหญ้า ตอนนั้นเหมือนกับว่าเราต้องโชว์หน้าอก พอต้องนอนฟุบลงไปที่สนาม จังหวะนั้นเราร้องไห้ออกมาเลย มันทั้งเจ็บปวดและโกรธแค้นที่เราโดนกระทำแบบนี้”

ความเจ็บปวดจนถึงที่สุดของผู้หญิงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านั้น หลังจากเนตรนภาและผู้หญิงคนอื่นๆ ในการชุมนุม ณ ธรรมศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่ถูกจับไปคุมตัวที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน เนตรนภากล่าวว่า สภาพของห้องขังสำหรับผู้หญิงมีขนาดเล็กมาก แต่ต้องอัดคนเข้าไปมากกว่า 500-600 คนต่อหนึ่งห้อง เนตรนภาบรรยายว่าห้องขังนั้นคับแคบและเบียดเสียดถึงขนาดที่ผู้หญิงทุกคนในห้องไม่สามารถนั่งพักพร้อมกันทั้งหมดได้ ต้องผลัดกันยืนบ้างนั่งบ้างเพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับทุกคน และเลวร้ายที่สุดคือผู้หญิงที่ถูกจับกุมบางคนมีประจำเดือน ทว่าแม้แต่กระดาษชำระในห้องน้ำแค่เพียงใช้สำหรับปัสสาวะยังไม่เพียงพอ จึงไม่ต้องพูดถึงการนำมาใช้ซับเลือดประจำเดือน นี่คือความทรงจำที่เลวร้ายและเจ็บปวดจนถึงที่สุดเท่าที่เนตรนภาต้องพบเจอในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง

“เรื่องที่เราไม่มีวันลืมคือ เพื่อนสนิทเราคนหนึ่งประจำเดือนมาเยอะมาก ชั่วโมงที่พวกเราถูกเรียกตัวไปสอบสวนทีละคน มีเพื่อนนักศึกษาผู้ชายที่โดนจับเดินผ่านมาทางนั้นพอดี เขาถามไถ่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เราก็เล่าไปว่า สงสารเพื่อนมาก เพื่อนเป็นประจำเดือนแต่ไม่มีผ้าอนามัยให้เปลี่ยน สิ่งที่เพื่อนนักศึกษาผู้ชายคนนั้นทำคือ เขาฉีกเสื้อตัวเองแล้วพับมาให้ใช้แทนผ้าอนามัยไปก่อน”

“วันรุ่งขึ้น ศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัลยะเสวี คณบดีคนแรกและผู้ร่วมก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาเยี่ยม พออาจารย์รู้ว่าลูกศิษย์มหิดลถูกจับเยอะมากก็เอาน้ำ อาหาร และผ้าอนามัยจำนวนมากมาให้ที่เรือนจำ ตอนนั้นทั้งดีใจและซาบซึ้งใจมาก และสะท้อนว่าสิ่งที่ผู้หญิงต้องเจอนั้นลำบากมากในแง่ของความไม่คล่องตัว แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะมาจำกัดไม่ให้ผู้หญิงเราออกมาต่อสู้เช่นกัน”

เมื่อกล่าวถึงชีวิตในป่าของนักศึกษาหลังความรุนแรงเมื่อครั้ง 6 ตุลาฯ แม้เนตรานภาจะไม่ได้ตัดสินใจเข้าป่าด้วยในตอนนั้น เนื่องจากครอบครัวของเธอเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยจึงส่งตัวไปเรียนที่สิงคโปร์ แต่เนื่องด้วยมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์จำนวนมากของเธอเลือกเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และตัวเนตรนภาก็ยังติดต่อกับเพื่อนที่ไทย จึงได้ทราบข่าวอยู่เสมอว่ามีเพื่อนในป่าติดต่อมาขอความช่วยเหลือ เช่น มีเพื่อนผู้หญิงต้องการให้ช่วยส่งชุดชั้นใน ผ้าอนามัย หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ไปให้ เรื่องราวนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า แม้การรวมตัวของนักศึกษาจะสลายไปด้วยควันปืนในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แต่มิตรภาพและอุดมการณ์นั้นไม่เคยจางหายไปไหน 

สุดท้าย เนตรนภาบอกว่า หนึ่งในสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมให้เธอเป็นผู้หญิงที่กล้าออกจากขนบของสังคม และกล้าออกไปต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ทั้งตัวเอง เพื่อนผู้หญิง แรงงานกรรมกร หรือแม้แต่ทุกคนในสังคม คือวรรณกรรมสะท้อนสังคมจากนักเขียนหัวก้าวหน้าอย่าง เสนีย์ เสาวพงศ์ ทั้งเรื่อง ปีศาจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรักของวัลยา นวนิยายสะท้อนอุดมการณ์ของหญิงสาวชาวไทยที่ถืออุดมการณ์ทางสังคมไว้เหนือความรัก

เนตรนภาเน้นย้ำว่า ตัวละครหญิงนามว่า ‘วัลยา’ นับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เธอกล้าโต้แย้งเพื่อสู้กับคนที่กดขี่เธอ และไม่ยอมก้มหัวให้ระบบที่กดทับผู้หญิง และในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้ร่วมฟังงานเสวนานี้ ทั้งได้เห็นแววตามุ่งมั่น พร้อมด้วยน้ำเสียงหนักแน่นของเนตรนภา เราเชื่อมั่นอย่างเต็มหัวใจว่า ในวันนี้ผู้หญิงที่นั่งอยู่ตรงหน้าเรานั้นแข็งแกร่งและกล้าหาญ ไม่ต่างไปจากผู้หญิงที่ชื่อวัลยาในวรรณกรรมของเสนีย์ เสาวพงศ์ เลยแม้แต่น้อย

“เราอยากเป็นผู้หญิงแบบวัลยา การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เรามุ่งมั่นอยากกล้าหาญแบบวัลยา และทำให้เรารู้สึกว่า ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง เราก็สามารถมีบทบาทที่จะให้สังคมเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน” เนตรนภากล่าวด้วยรอยยิ้ม

ผู้หญิงทุกคนล้วนมีสิทธิเลือกชีวิตของตัวเอง

อีกหนึ่งผู้หญิงเดือนตุลาที่เริ่มตื่นตัวทางการเมืองมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนคือ วรรณี นิยมไทย อดีตหน่วยสวัสดิการหลังตึกวารสารฯ วรรณีเริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนอยู่ชั้น ม.ศ.3 ในปี 2515 โดยจุดสำคัญที่กระตุ้นให้เธอตื่นตัวทางการเมืองคือ ‘งานสังคมนิทรรศน์’ ที่มีนักเรียนจากหลากหลายโรงเรียนเข้าร่วม เป็นนิทรรศการว่าด้วยสังคมศาสตร์หลายแขนง ทั้งภูมิศาสตร์ ศาสนา ไปจนถึงการเมือง โดยมีการจัดบอร์ดนิทรรศการและมีกิจกรรมไฮด์ปาร์กเป็นหลัก งานสังคมนิทรรศน์จึงกลายเป็นพื้นที่ให้เยาวชนจากต่างที่ต่างถิ่นได้แลกเปลี่ยนความสนใจด้านประเด็นทางสังคมที่ครอบคลุมเรื่องการศึกษาไปจนถึงการเมืองภาพใหญ่

และต่อมา งานสังคมนิทรรศน์นี้จึงได้ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่ม ‘ยุวชนสยาม’ กลุ่มบุกเบิกการรวมตัวกันของของกลุ่มนักเรียนเพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นการศึกษา การเมือง และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม เมื่อมีการรวมกลุ่มกันอย่างจริงจังในเวลาต่อมา ยุวชนสยามก็ได้จัด ‘ค่ายฝึกกำลังคน’ เพื่อเน้นพัฒนาสมาชิกในกลุ่มด้านการคิดวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์สังคม โดยในค่ายจะมีการเชิญอาจารย์จากมหาวิยาลัยต่างๆ ที่มีความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นกับเยาวชนในค่าย

งานสังคมนิทรรศน์สำคัญกับเรามาก เพราะเป็นงานที่ทำให้เด็กนักเรียนและเยาวชนได้จัดระบบการทำงาน ได้ฝึกถกถามเรื่องสังคมการเมืองต่างๆ และได้มาเปิดหูเปิดตากับโลกใบนี้ และทำให้เราได้รู้จักกับรุ่นพี่ที่อยู่กลุ่มยุวชนสยามที่ต่อมาจะทำงานเชื่อมโยงกับกลุ่มนิสิตนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ มากมาย

เรายังได้ไปเข้าค่ายฝึกกำลังคนยุวชนสยามด้วย ซึ่งเป็นค่ายที่เน้นฝึกการพูดคุยถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันทั้งเรื่องสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์จะพัฒนาได้ก็ต่อเมื่อมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ด้วยความรุนแรง ยิ่งพอเชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยมา เยาวชนในค่ายจึงมีความเชื่อมโยงกับอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้นำทางความคิดในเวลานั้นไปโดยปริยาย

และหลังจากกลับจากค่ายนั้น เราก็ได้มาร่วมเป็นผู้จัดงานสังคมนิทรรศน์ในหัวข้อสิทธิสตรี ตอนนั้นกระแสการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีเริ่มก่อตัวขึ้นบ้างแล้ว อย่างเมื่อปี 2515 มีการประท้วงประกวดนางงาม เพราะประเด็นคือตอนนั้นเป็นยุคของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เราจึงรู้สึกว่าผู้หญิงถูกทำให้กลายเป็นวัตถุทางเพศ นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่เราเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง และเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี” วรรณีกล่าว

มาจนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ วรรณีที่ในขณะนั้นยังเป็นนักเรียนได้ร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยแจกน้ำและยาดมให้ผู้ชุมนุมแถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วรรณีระบุว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นวันที่เธอรู้สึกว่าผู้หญิงมีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญทางการเมืองอย่างมาก เห็นได้ชัดเจนจากการเดินขบวนที่ผู้นำการชุมนุมมักขออาสาสมัครจากผู้หญิงมาช่วยเป็นแนวหน้าในการเดินขบวน เพื่อเป็นการแสดงถึงความอ่อนโยนของขบวนการและความหลากหลายของผู้ชุมนุม ด้วยแนวความคิดที่ว่า หากให้ผู้หญิงเดินอยู่แนวหน้า เมื่อเจ้าหน้าที่มาพบจะไม่กล้าใช้ความรุนแรงในการปราบปราม

ภาพการเดินขบวนประท้วงจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

“ตอนนั้นนักเรียนที่อยากมาร่วมชุมนุมต้องปีนรั้วออกมาบ้าง หรือต้องฝ่าด่านโรงเรียนที่ไม่ยอมให้นักเรียนมาร่วมกิจกรรมทางการเมือง จำได้ว่ามีอาจารย์มาเตือนเราว่า ถ้าเราไปขัดแย้งกับคนที่มีอำนาจเหนือกว่ามาก เขาอาจจะไม่มาปะทะทางความคิดกับเรา แต่เขาอาจฆ่าเราได้เลย หรือเขาอาจใช้อำนาจกับเราในทางไหนก็ได้ และคำพูดนี้ก็สะท้อนมาถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อย่างชัดเจน เพราะอีกฝั่งหนึ่งมองเราเป็นตัวร้ายที่จะต้องกำจัดออกไป

นอกจากนี้ วรรณีเสริมว่าในขบวนการนักศึกษายังมีการต่อสู้เรื่องรักเสรีอีกด้วย อย่างสมัยนี้ที่ ‘การอยู่ก่อนแต่ง’ เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป แต่ในสมัยก่อนถือเป็นเรื่องร้ายแรงคอขาดบาดตายอย่างมาก ไปจนถึงการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงที่มักจะถูกจำกัดกรอบการใช้ชีวิตไว้อย่างคับแคบบนพื้นฐานของการเป็น ‘แม่ศรีเรือน’ ที่ต้องรักนวลสงวนตัว ประเด็นน่าสนใจอย่างหนึ่งที่วรรณีชี้ให้เห็นคือ ตามค่านิยมและบรรทัดฐานของในสังคมสมัยก่อน แม้แต่การสารภาพรักกับคนที่ตนเองชอบพอยังเป็นหน้าที่ของผู้ชายเท่านั้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายเผยความรู้สึกก่อนจะถูกมองว่าเป็น ‘ผู้หญิงแรง’ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนค่านิยมที่กดทับชีวิตและความรู้สึกของผู้หญิงในสังคมไทยมาเนิ่นนาน

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องของการเมืองการปกครองที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น ในขณะที่ผู้หญิงถูกสอนให้มีหน้าที่เพียงรอปรนนิบัติรับใช้สามีอยู่ที่บ้าน กระทั่งมีการปะทุขึ้นของแนวคิดความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิสตรี มาจนถึงการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษาหญิงจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในที่สุด บทบาทของผู้หญิงก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม และเป็นการพิสูจน์ทุกข้อครหาที่กีดกันว่าการเมืองมิใช่เรื่องของผู้หญิง

การสอนเด็กผู้หญิงในโรงเรียนเหมือนเตรียมสอนให้ไปเป็นภรรยาที่มารยาทงามเพียบพร้อม คุณต้องเป็นกุลสตรีที่มีความรู้ความสามารถและทำอาหารเก่ง แต่พอเราตื่นตัวแล้ว เราจะมีความรู้สึกว่าทุกคนเหมือนกันหมด ถ้าผู้ชายทำอะไรได้ ผู้หญิงก็ต้องทำได้ เช่น ถ้าผู้หญิงเราชอบใคร รักใคร เราก็มีสิทธิจะบอกรักเขาได้ ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ชายมาเป็นฝ่ายบอกรักเราก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติของยุคสมัยนั้น” 

ที่ผ่านมาผู้หญิงถูกปฏิบัติแบบนี้เสมอ พอเราไม่เป็นไปตามขนบที่สังคมวางไว้ก็จะถูกมองว่าเป็นขบถ หรือถูกมองว่าเรากำลังถูกคนอื่นหลอกใช้ เพราะสังคมไทยไม่เคยเชื่อว่าผู้หญิงสามารถคิดเรื่องการเมืองและประเด็นสังคมได้ด้วยตัวเอง แต่ถึงที่สุดเราก็ตาสว่าง และมองเห็นว่าผู้หญิงก็มีหน้าที่ออกไปเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมนี้ให้ดีขึ้นได้เหมือนกัน” วรรณีกล่าว

ผู้หญิงไม่ได้ต่อสู้แค่เพื่อสิทธิสตรี แต่กำลังสู้เพื่อสิทธิของเราทุกคน

สุนี ไชยรส อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ในช่วงเวลาเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เธอยังเป็นเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สี่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุนีกล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้เธอตื่นตัวทางการเมืองก็คือสภาพสังคมที่เธอต้องเจอมาตั้งแต่จำความได้ เมื่อตอนที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ด้วยตอนนั้นประเทศไทยมีการเข้ามาปักหลักของฐานทัพอเมริกัน ทำให้เธอจดจำสภาพแวดล้อมที่สงครามกำลังคุกกรุ่น เห็นกระทั่งภาพที่ผู้หญิงไทยที่ต้องเป็นเมียเช่าของทหารอเมริกัน นั่นคือจุดที่ทำให้เธอรู้สึกว่าบ้านเมืองอยู่ในสภาวะไม่ปกติ และเริ่มสนใจเรื่องของสังคมการเมืองมากขึ้น

“เราตื่นตัวมาจากสถานการณ์ที่เจอในชีวิตจริง และเจอปัญหาสิทธิสตรีมาตั้งแต่เรื่องส่วนตัวในครอบครัว ไปจนถึงปัญหาเมียเช่า ทำให้เริ่มสนใจอ่านหนังสือการเมืองมากขึ้น เช่น นิตยสารชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษา-ประชาชน และได้ตัดสินใจเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะตอนนั้นปักใจว่าอยากเป็นนักเศรษฐศาสตร์ จะได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ชาวบ้าน ประกอบกับมองว่าธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างมีเสรีภาพ

เมื่อเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุนีเริ่มต้นการเคลื่อนไหวด้วยการร่วมกับกลุ่มอิสระของนักศึกษา ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ขึ้นในปี 2514 เธอจึงเข้าร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสิทธิสตรีเรื่อยมา จนกระทั่งมีการก่อตั้งกลุ่มผู้หญิง 10 สถาบันที่เริ่มมาเคลื่อนไหวด้วยกัน ทั้งนี้ สุนีเน้นย้ำว่า การทำงานของทั้งกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์และกลุ่มผู้หญิง 10 สถาบัน ล้วนอยู่บนพื้นฐานของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของทุกเพศ มิใช่เป็นเพียงการรวมกลุ่มของผู้หญิงเพื่อผู้หญิงเพียงเท่านั้น แต่คือการต่อสู้เพื่อระบบที่กดทับทุกคนในสังคม เพราะจุดประสงค์สำคัญของกลุ่มผู้หญิงไม่ว่าจะในสถาบันใด คือการได้สำรวจและวิจารณ์ตัวเอง ในขณะเดียวกันพวกเธอก็เรียกร้องให้ผู้ชายสำรวจและวิจารณ์ตัวเองไปพร้อมๆ กัน

ในกลุ่มนักศึกษาจะมีสองแนวคิดหลักในการเคลื่อนไหว ว่าเราต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและต่อสู้เพื่อกรรมกรชาวนา แต่ขณะเดียวกันพอมีการก่อตั้งกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ก็มีคนตั้งคำถามว่า ผู้หญิงจะไม่สู้เพื่ออย่างอื่นเลยหรือ ผู้หญิงจะสู้แต่เรื่องสิทธิสตรีหรือ” 

แต่จริงๆ แล้ว เรามองว่าทั้งสองเรื่องนี้ต้องไปด้วยกัน เพราะผู้หญิงก็ถูกกดขี่ในระบบที่ครอบงำด้วยแนวความคิดและค่านิยมชายเป็นใหญ่ แม้แต่ผู้ชายที่หัวก้าวหน้าก็อาจมีทัศนคติบางอย่างที่กดผู้หญิง ดังนั้น กลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์จึงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเพื่อกรรมกรชาวนาด้วย แต่การรวมตัวของผู้หญิงก็ต้องมีการศึกษาสถานการณ์ความเป็นอยู่ของผู้หญิงในสังคมเช่นกัน” 

ยิ่งไปกว่านั้น สุนีเล่าย้อนกลับไปว่าในอดีต การที่ผู้หญิงลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อจะออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแม้แต่น้อย พวกเธอต้องพบกับอุปสรรคหลายปัจจัย เช่น บางคนครอบครัวไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้ต้องอาศัยเพื่อนผู้หญิงในกลุ่มช่วยเกลี่ยกล่อมครอบครัว หรือช่วยกันหาทางให้เพื่อนออกจากบ้านมาทำกิจกรรมด้วยกันได้

กระทั่งเมื่อมีการก่อตั้งสภานักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงเวลานั้น ซึ่งสุนีได้เข้าไปมีบทบาทในสภานักศึกษาด้วย และเนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าช่วงเวลานั้นนักศึกษาธรรมศาสตร์มักจะทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่เสมอ แต่เธอพบปัญหาว่านักศึกษาผู้หญิงต้องใส่กระโปรงตามข้อบังคับเรื่องชุดนักศึกษาหญิง ส่งผลให้การทำงานลำบากและไม่คล่องตัว ประเด็นนี้เองที่ทำให้สุนีและเพื่อนนักศึกษาตัดสินใจยื่นญัตติเข้าสภานักศึกษา ขอให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ถูกบังคับแต่งชุดนักศึกษา และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการที่นักศึกษาธรรมศาสตร์สามารถใส่ชุดไปรเวทไปเรียนได้จนถึงทุกวันนี้

“ตอนนั้นเวลาผู้หญิงจะออกไปทำกิจกรรมต้องใส่ชุดไปเวทที่คล่องตัว แล้วถ้าวันไหนมีเรียนก็ต้องหอบชุดนักศึกษาไปเปลี่ยนก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งลำบากมาก พอเรายื่นญัตติเรื่องนี้นักศึกษาในสภาลงมติเห็นด้วยกันอย่างเป็นเอกฉันท์ และทางมหาวิทยาลัยก็รับเรื่องจนมีผลบังคับใช้ว่านักศึกษาไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบมาเรียน ยกเว้นเฉพาะเวลาเข้าสอบ”

นอกจากนี้ หากจะกล่าวถึงบทบาททางการเมืองอย่างเด่นชัดของผู้หญิง สุนีเล่าว่าสำหรับเธอ การต่อสู้ที่เข้มข้นที่สุดคือการต่อสู้หลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ โดยในปี 2517 มีการประท้วงของกรรมกรหญิงอย่างเข้มข้นและกระจายตัวอย่างกว้างขวางหลายพื้นที่ และบางแห่งมีกรรมกรหญิงรวมตัวกันเป็นหมื่นคน เป็นปรากฏการณ์ที่มีแรงงานตัวเล็กตัวน้อยลุกขึ้นสู้มาจำนวนมาก โดยมีนักศึกษาธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน จนสามารถเรียกร้องให้ค่าแรงของกรรมกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและอยู่ในโรงงานที่มีสภาพลำบากยากแค้นอย่างหนัก จากวันละ 10 บาทต่อการทำงานวันละประมาณ 12 ชั่วโมง ขึ้นมาเป็น 20 บาทได้สำเร็จ

“ตอนที่มีการประท้วงของกรรมกรหญิง เราลงทุนปลอมตัวเข้าไปทำงานในโรงงานเลย เพราะอยากรู้ว่าสภาพความเป็นอยู่ของกรรมกรหญิงเป็นอย่างไร ซึ่งเราได้เห็นภาพชัดมากว่าสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานเลวร้ายขนาดไหน แต่อยู่ได้แค่สามเดือนก็โดนจับได้ว่าเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ แต่เราก็ออกมาต่อสู้ต่อในฐานะนักศึกษาอยู่ดี”  

“เหตุการณ์นี้สะท้อนชัดเจนว่าการที่ผู้หญิงลุกขึ้นสู้ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิงล้วนๆ การต่อสู้ของกรรมกรเป็นเรื่องของทุกคน เพราะเมื่อค่าแรงขึ้น มันไม่ได้ขึ้นแค่ของแรงงานผู้หญิง แต่เป็นค่าแรงของกรรมกรทุกคนในประเทศ” 

“และเวลาถูกปราบปราม สิ่งที่สังคมสอนผู้หญิงมาทั้งชีวิตคือเราต้องอ่อนหวานและอ่อนโยน แต่เวลาเจ้าหน้าที่ปราบรามเรา เขาก็ใช้ความรุนแรงอย่างหนัก บางคนถึงขั้นเสียชีวิต ยิ่งชัดเจนว่าเวลามีเรื่องความขัดแย้งหรือผลประโยชน์เข้ามา เขาพร้อมจะทำร้ายโดยไม่สนว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายอยู่แล้ว” สุนีกล่าว

มากไปกว่านั้น ด้วยสภาพการเมืองไทยที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการต่อเนื่องมากว่าสิบกว่าปี สุนีระบุว่า ในขณะนั้นมีคำสั่งคณะปฏิวัติห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน รวมถึงข้อหาการกระทำเป็นกบฏภายในราชอาณาจักร ไปจนถึงมีการใช้กฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์หรือยุทธการขวาพิฆาตซ้าย โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ที่ต้องสงสัยว่าอาจเข้าข่ายเป็นคอมมิวนิสต์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายจับใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งยังห้ามประกันตัวและต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งสุนีเป็นหนึ่งในคนที่ถูกจับกุมและถูกทำร้ายร่างกายในคุกหญิงจากการทำกิจกรรมและชุมนุมทางการเมือง

“ตอนเข้าไปในคุกลาดยาวหญิง ผู้คุมสั่งให้เรานั่งลงไปกับพื้น แต่เราไม่นั่ง เราตอกกลับเขาไปว่าถ้าจะให้นั่งก็ต้องเอาเก้าอี้มา ยิ่งเหมือนเป็นการท้าทายอำนาจของผู้คุม เราเลยโดนซ้อมอยู่ในนั้น เจ้าหน้าที่สิบกว่าคนตั้งเตะทั้งต่อย แต่เราสู้กลับ ไม่ยอม และขอพบทนาย สุดท้ายเขายอมให้ประกันตัวด้วยค่าประกันสองแสนบาท ในสมัยที่ค่าแรงขั้นต่ำแค่ 20 บาท แต่ก็โชคดีที่มีคนมาประกันตัวให้”

จากการทำงานในกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ สภานักศึกษา 14 ตุลาฯ มาจนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่สุนีมีหน้าที่จัดทำหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย อันเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ความคิดและอุดมการณ์ของนักศึกษา แม้สุนีจะโชคดีที่ไม่ต้องประสบกับความรุนแรงและโหดเหี้ยมที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อผู้ชุมนุมในเช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ถึงกระนั้น หลังจากเสียงปืนนัดสุดท้ายสงบลง สุนีเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ตัดสินใจเข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยเธออาศัยอยู่ในป่านานถึงเจ็ดปี ด้วยอุดมการณ์และความรู้สึกที่กู่ร้องออกมาว่าถึงอย่างไรก็ ‘ต้องสู้’ และไม่สามารถยอมจำนนแต่โดยดีได้

“ตอน 6 ตุลาฯ เราเป็นคนช่วยทำผู้หนังสือพิมพ์อธิปัตย์ เป็นหนังสือพิมพ์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปกติหลังทำหนังสือพิมพ์เสร็จเราจะไปร่วมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ต่อ แต่วันที่ 6 ตุลาฯ เราไม่ได้เข้าไป เพราะมีรุ่นน้องมาเตือนก่อนว่าห้ามเข้าไป ตอนนี้เจ้าหน้าที่ล้อมธรรมศาสตร์ไว้หมดแล้ว”

“ตอนนั้นเป็นเวลาตีห้า เราเพิ่งทำหนังสือพิมพ์เสร็จ พอรู้ข่าวว่าธรรมศาสตร์ถูกล้อม ถึงแม้เราจะยิงปืนไม่เป็น และในกลุ่มมีผู้หญิงอีกหลายคนมาก เราตัดสินใจหยิบปืนที่อยู่ในห้องนั้นมากระบอกหนึ่ง และบอกเพื่อนๆ ในกลุ่มว่า ถ้าตำรวจมาที่นี่ เราจะยอมให้จับกุมแต่โดยดี แต่ถ้ามีกลุ่มกระทิงแดงบุกมา เราจะสู้ตายเท่านั้น สถานการณ์ตึงเครียดถึงขนาดนั้นในวันที่ 6 ตุลาฯ” สุนีกล่าว

ด้วยความเป็นผู้หญิงที่ถูกปลูกฝังและหล่อหลอมมาจากสังคมและระบบการศึกษาว่าต้องรักนวลสงวนตัว ต้องอ่อนหวานและสุภาพเรียบร้อย ต้องเป็นภรรยาที่เพียบพร้อมและเคารพสามี เหล่านี้คือคุณสมบัติตามอุดมคติของหญิงไทยในทุกยุคทุกสมัย แต่ท้ายที่สุด ทั้งเนตรนภา วรรณี สุนี และผู้หญิงเดือนตุลาทุกคนต่างพิสูจน์ให้เห็นอย่างประจักษ์ชัดแล้วว่า ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเดินตามค่านิยมเหล่านี้ พวกเธอทุกคนต่างมีสิทธิเลือกได้ว่าต้องการมีชีวิตเช่นไร และเหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน การเมืองจะเป็นเรื่องของผู้หญิงอยู่เสมอ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้

และไม่ว่าบทบาทของผู้หญิงใน 6 ตุลาฯ จะได้รับจดจำหรือจารึกเช่นใด สิ่งหนึ่งที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไป คือความจริงที่ว่าผู้หญิงคือฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนหน้าประวัติศาสตร์ และการต่อสู้ของพวกเธอนั้นจะทรงคุณค่า น่าเคารพยกย่อง และเป็นที่จดจำในฐานะผู้เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นเพื่อคนรุ่นหลังต่อไป

“ในสายธารการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตั้งแต่อดีต 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ หรือไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ของกรรมกรและชาวนา มีผู้หญิงเสียชีวิตระหว่างเส้นทางการต่อสู้และต้องติดคุกไม่น้อย และถึงแม้พวกเธอจะไม่ได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ แต่เราต้องไม่ลืมความสูญเสียเหล่านี้เช่นกัน”

ไม่ว่าอย่างไร ผู้หญิงไม่อาจต่อสู้เฉพาะเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น และผู้ชายก็ไม่อาจต่อสู้แค่เรื่องประชาธิปไตยแล้วมากดขี่ทางเพศผู้หญิงได้เช่นกัน เพราะประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดนี้ต้องไปด้วยกัน จึงจะกลายเป็นความงดงามของการต่อสู้” สุนีทิ้งท้าย

ผู้หญิงเดือนตุลา

ผู้หญิงเดือนตุลา

ผู้หญิงเดือนตุลา

ผู้หญิงเดือนตุลา

ผู้หญิงเดือนตุลา

ผู้หญิงเดือนตุลา

ผู้หญิงเดือนตุลา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save