ท่ามกลางความตื่นตัวทางการเมืองในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ปรากฏภาพนักเรียนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับเหล่านิสิตนักศึกษา เรียกได้ว่าเป็น ‘เยาวรุ่น’ ในทศวรรษ 2510 น่าสนใจว่านักเรียนที่เข้าร่วมเดินขบวนบนถนนราชดำเนินนั้น พวกเขาคือใครและมีความคิดทางสังคมการเมืองอย่างไรจึงก้าวเท้าย่ำไปบนถนนประชาธิปไตยในวันนั้น
ที่ผ่านมามีบันทึกความทรงจำที่เล่าถึงการเคลื่อนไหวของนักเรียนมัธยมในยุค 14 ตุลา คือกลุ่มยุวชนสยามและศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทยว่า พวกเขาและพวกเธอเป็นนักเรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายที่มีความคิดเห็นทางสังคมการเมือง สนใจปัญหาเรื่องการศึกษา และมองเห็นปัญหาทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจาก 14 ถึง 6 ตุลา[1] และยังมีงานศึกษาเรื่องนักเรียนระดับมัธยมของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่มีแนวคิดหัวก้าวหน้าจำนวน 24 คน โดยสัมภาษณ์ในกรอบวิเคราะห์ทางจิตวิทยาบุคลิกภาพเพื่อศึกษาว่าความเป็นนักเรียนฝ่ายซ้ายมีจุดเริ่มต้นอย่างไรและดำรงความเป็นฝ่ายซ้ายในเวลาต่อมาเพราะเหตุใด ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกอดีตนักเรียนมัธยม โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยจำนวน 9 คน ที่เข้าสู่การเคลื่อนไหวช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และได้ข้อสรุปว่าชีวิตในวัยเยาว์ การกดทับจากครอบครัวและสังคมส่งผลต่อบุคลิกภาพที่แรดิคัลหรือมีแนวคิดซ้ายของพวกเขา[2]
สิ่งที่น่าแปลกใจคือมีการอ่านความคิดของนักเรียนมัธยมในหนังสือสมานมิตร หนังสือประจำปีของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยเฉพาะฉบับศึกที่ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2517 น้อยเต็มที ทั้งที่มีการกล่าวอ้างถึงกันมากว่าเป็นหนังสือนักศึกษาฉบับสำคัญหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เมื่ออ่านอย่างละเอียดพบว่าได้สะท้อนความคิด ความหวัง และความฝันของนักเรียนมัธยมศึกษา ณ ห้วงเวลานั้น มากไปกว่าที่มีการรับรู้ภาพรวมว่านักเรียนเหล่านี้มีแนวคิดหัวรุนแรงในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา
จากข้อเท็จจริงในหนังสือสมานมิตร ฉบับศึก พบว่านักเรียนมัธยมมีทัศนคติต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองหลากหลาย ซ้ำยังมีการปะทะกันระหว่างนักเรียนกลุ่มที่เชื่อในแนวทางประชาธิปไตยและแนวทางเชิงอนุรักษนิยมโดยมีการเผาหนังสือหนังสือสมานมิตร ฉบับศึกภายหลังจากที่ตีพิมพ์จนเป็นข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ[3]
ความคิดของนักเรียนมัธยมที่ปรากฏในหนังสือสมานมิตร ฉบับศึก แม้เป็นเพียงกลุ่มเยาวชนจากโรงเรียนหนึ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองนั้น แต่น่าสนใจว่าเยาวชนกลุ่มนี้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมจาก 14 ถึง 6 ตุลา ซึ่งถือเป็นต้นธารความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ของแนวคิดประชาธิปไตยแบบก้าวหน้า และยังเป็นช่วงเวลาที่หนังสือนักเรียนนักศึกษาเฟื่องฟูและมีเนื้อหาแหลมคมที่สุดยุคหนึ่ง


‘สมานมิตร’ หนังสือแห่งสวนกุหลาบวิทยาลัย
หนังสือสมานมิตร คือหนังสืออนุสรณ์ประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่นักเรียนแต่ละรุ่นจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อสะท้อนความรัก ความผูกพัน และยังประกอบด้วยสาระความรู้ทางการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองแก่นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ก่อนจะมาเป็นหนังสือสมานมิตร ทางโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมีหนังสืออนุสรณ์เล่มแรกที่ชื่อว่าหนังสือ ‘สวนกุหลาบ’ ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2455 เป็นรายปักษ์ ต่อมาได้จัดพิมพ์ ‘หนังสือพิมพ์สวนกุหลาบวิทยา’ ขึ้นเป็นหนังสือรายเดือนโดยจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2465 ในหนังสือพิมพ์สวนกุหลาบวิทยาเริ่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับโรงเรียน เรื่องการเรียนภาษาอังกฤษ เรื่องน่ารู้ทั่วไปในช่วงนั้น และทุกฉบับจะพิมพ์เตือนเรื่องกำหนดเวลาชำระเงินค่าเล่าเรียน การคัดชื่อออก และการลาออกของนักเรียน โดยฉบับที่ 12 ประจำเดือนมีนาคมของทุกปีจะเป็นฉบับอนุสรณ์ของนักเรียนชั้นมัธยมบริบูรณ์ โดยจัดทำเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นฉบับแรกที่ให้มีรูปหมู่ของนักเรียนแต่ละห้องสลับไปกับบทความจนกลายเป็นต้นแบบของฉบับอนุสรณ์ที่จัดพิมพ์พิเศษเป็นประเพณีสืบต่อมา กระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2481 ได้มีการปรับปรุงหนังสือให้มีมาตรฐานดีขึ้นแล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า ‘อนุสรณ์สวนกุหลาบ’ ที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดทำเพื่อเป็นหนังสืออนุสรณ์ของนักเรียนในแต่ละรุ่น ถือเป็นต้นแบบของหนังสือสมานมิตรในเวลาต่อมา[4]
เมื่อมองหนังสืออนุสรณ์ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยตั้งแต่ พ.ศ. 2481-2516 จะพบว่าหนังสือสมานมิตร ฉบับศึก ที่จัดพิมพ์ใน พ.ศ. 2517 นั้นมีเนื้อหาแตกต่างจากหนังสืออนุสรณ์ฯ ก่อนหน้านี้อย่างมาก[5] อาจจะด้วยเหตุผลหลักที่ตีพิมพ์ในบริบทการเมืองภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516[6] ส่วนในบริบททางสังคมของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยขณะนั้นมีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นประธานนักเรียน[7]


หนังสืออนุสรณ์ประจำปี 2517 ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยแบ่งออกเป็น 2 เล่ม เช่นเดียวกับฉบับ พ.ศ. 2516 โดยเล่มแรกเป็นภาพของคณาจารย์และนักเรียนระดับชั้นต่างๆ มีบทความและบทกลอนสั้นๆ สอดแทรก ส่วนเล่มที่สอง หรือเรียกว่า ฉบับศึก มีบทความเกี่ยวกับการศึกษาโดยมีสารณียกรคือ ประชา สุวีรานนท์ ซึ่งหนังสือทั้งสองเล่มมีรูปแบบและเนื้อหาที่แตกต่างจากหนังสือสมานมิตรในปีก่อนค่อนข้างมาก ในด้านรูปแบบทั้งสองเล่มมีขนาดเล็กลงเป็น 16 หน้ายก เท่ากับขนาดของพ็อกเกตบุ๊ก ในเล่มแรกมีการถ่ายภาพนักเรียนระดับชั้น ม.1-4 ที่เปลี่ยนไปโดยให้นักเรียนยืนหรือนั่งคละกันอย่างไม่เป็นระเบียบเช่นรูปแบบเดิม และเล่มที่สองคือในฉบับศึกนี้จะมีหน้าปกเป็นรูปกำปั้นมีโซ่ผูกและด้านหลังปกมีบทกลอน ภายในเล่มประกอบด้วยภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนและการเมือง ส่วนเนื้อหาสำคัญคือ มีโครงการสำรวจทัศนคตินักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พ.ศ. 2517 จำนวน 3,000 คน
โครงการสำรวจทัศนคตินักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พ.ศ. 2517 ในหนังสือสมานมิตร ฉบับศึก

โครงการสำรวจทัศนคตินักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พ.ศ. 2517 ในหนังสือสมานมิตร ฉบับศึก ได้สำรวจทัศนคติทางสังคมการเมืองของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จำนวน 3,000 คน โดยได้รับคำตอบกลับจำนวน 2,000 ชุด ซึ่งในแบบสอบถามทัศนคติได้ถามเกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองประชาธิปไตยและเผด็จการ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา รวมทั้งทัศนคติต่อกรรมกร และชาวนา

ผลของการสำรวจทัศนคติเรื่องการศึกษาไทย ปัญหาในสังคมไทย และแนวคิดทางการเมืองของนักเรียน สรุปได้ดังนี้
1. เรื่องการศึกษา นักเรียนให้ความสำคัญต่อครูโดยระบุว่ามีอิทธิพลทางความคิดค่อนข้างสูง โดยตอบคำถามว่า ครูเป็นบุคคลที่ให้ความรู้และทัศนคติต่อนักเรียน คิดเป็นร้อยละ 54 ของนักเรียนที่แบบสอบถาม และมองการสอนของครูในเชิงบวก ร้อยละ 39 และระบุว่าสิ่งที่ครูสอนสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ หากมีข้อสังเกตในแง่ของคุณภาพหลักสูตรการศึกษากล่าวคือ มีนักเรียนร้อยละ 30 ชี้ว่าหลักสูตรการศึกษาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
2. เรื่องปัญหาสังคมที่เน้นเรื่องปัญหาชาวนาและกรรมกรนั้น ปรากฏทัศนคติของนักเรียนว่า ชาวนาเป็นคนสำคัญของชาติร้อยละ 44 และเห็นด้วยกับการเรียกร้องการขึ้นค่าแรงของกรรมกรร้อยละ 48 นอกจากนี้ในแง่ของสื่อมวลชนในบริบทของรัฐบาลหลัง 14 ตุลา นักเรียนระบุว่ายังมีข้อบกพร่องในการนำเสนอข้อเท็จจริงควรปรับปรุงร้อยละ 44 ทั้งนี้ นักเรียนกลับให้ความสนใจการเมืองมากกว่าปัญหาความยากจน เช่น แสดงทัศนคติเรื่องปัญหาของสลัมว่าเป็นเรื่องธรรมดาถึงร้อยละ 47
3. เรื่องความคิดทางการเมือง นักเรียนเกือบครึ่งระบุว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ ไม่เหมาะสมกับการปกครองในไทย คือร้อยละ 45 โดยมีความสนใจประชาธิปไตยร้อยละ 39 และปรากฏตัวเลขที่ค่อนข้างสูงในคำตอบว่านักเรียนควรสนใจการเมืองถึงร้อยละ 63 ขณะที่มองว่านักศึกษาควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ร้อยละ 35 และไม่เห็นด้วยการกับเคลื่อนไหวทางการเมืองร้อยละ 37
เมื่ออ่านผลสำรวจทัศนคติของนักเรียนของแบบสอบถามชุดนี้จะพบว่า ทัศนคติของนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พ.ศ. 2517 จำนวน 2,000 คน มีข้อค้นพบที่แตกต่างจากงานศึกษาของวสันต์ ลิมป์เฉลิม[8] ซึ่งเสนอไว้ว่านักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมีลักษณะความคิดเป็นฝ่ายซ้ายสูง หากในผลสำรวจทางทัศนคติฯ และกรณีการเผาหนังสือสมานมิตร ฉบับศึก จะเห็นได้ว่านักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มีความหลากหลายทางความคิดหากพัฒนาการทางความคิดฝ่ายซ้ายของนักเรียนบางคนได้ต่อยอดและเข้มข้นขึ้นภายหลังจากการได้เข้ามาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้น่าสนใจว่ายังมีงานศึกษาของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐที่ได้นำเสนอผ่านงานวิจัยและรายงานการสดับตรับฟังว่า นักเรียน นักศึกษาในช่วงเวลา พ.ศ. 2516-2518 อยากเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งผลการสำรวจทัศนคติฯ นี้เป็นข้อมูลสำคัญชิ้นหนึ่งที่โต้แย้งผลการศึกษาของรัฐเพราะแสดงให้เห็นว่านักเรียนเกือบครึ่งหนึ่งของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2517 ระบุว่าการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย
คุณค่าของหนังสือสมานมิตร ’17 ฉบับศึก

ภายหลังการตีพิมพ์หนังสือสมานมิตร ’17 ฉบับศึก ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่าง 15-27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 เมื่อคณะกรรมการนักเรียนแจกจ่ายหนังสือสมานมิตรและมีนักเรียนบางกลุ่มมองว่าเนื้อหาของหนังสือสมานมิตรทั้งสองเล่มกล่าวโจมตีระบบการศึกษาในเวลานั้นค่อนข้างรุนแรงโดยเฉพาะในฉบับศึก นอกจากจะมีบทความต่างๆ ที่กล่าวถึงระบบการศึกษาแล้วยังมีบทกลอนบางบทกล่าวโจมตีการเรียนการสอนในโรงเรียน ประกอบกับรูปแบบหนังสือสมานมิตรมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือจึงทำให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นในหมู่นักเรียนบางกลุ่มขึ้น


เหตุการณ์ความขัดแย้งได้เริ่มต้นในช่วงบ่ายของวันที่แจกหนังสือนั่นเอง โดยมีกลุ่มนักเรียนกลุ่มหนึ่งนำหนังสือสมานมิตรฉบับศึกมาเผาไฟกลางสนามทำให้เกิดความตึงเครียด กระทั่งต่อมาเกิดมีการชกต่อยขึ้น รวมถึงล้อมและตะโกนขู่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ประธานนักเรียน จนนำไปสู่การประชุมสภานักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเรื่องหนังสือสมานมิตร ฉบับศึก แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติเป็นที่น่าพึงพอใจ ท้ายที่สุดในที่ประชุมของสภานักเรียน คณะผู้จัดทำและคณาจารย์ก็ไม่ได้มีมาตรการจัดการกับหนังสือสมานมิตร ฉบับศึก แต่อย่างใด
ในเวลาต่อมา สถานะของหนังสือสมานมิตร ฉบับศึกหวนกลับมามีคุณค่าทางการศึกษาด้านวิชาการ เช่น ใช้ในการศึกษาความคิดทางการเมืองหรือทัศนคติทางการเมืองของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในทศวรรษ 2510 ซึ่งถือว่าเป็นนักเรียนหัวก้าวหน้าเพราะมีนักเรียนของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยหลายคนกลายเป็นแกนนำของขบวนการนักศึกษาภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง การเรียกร้องความเสมอภาค และความชอบธรรมให้แก่คนจน กรรมกร และชาวนา รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
ท้ายที่สุดเมื่ออ่านหนังสือสมานมิตร ฉบับศึกเล่มนี้ยังทำให้มองเห็นความคิดและความหวังของนักเรียนมัธยมต่อสังคมการเมืองไทยหรือเยาวรุ่นใน พ.ศ. 2517 ว่าต่างมีความหวัง ความคิด และความฝันต่อสังคมที่ดีงาม ก้าวหน้า และระบบการศึกษาที่ดีขึ้นจนนำไปสู่ความฝันเดือนตุลา พ.ศ. 2519
↑1 | โปรดดูเพิ่มเติม บันทึกความทรงจำเรื่องของการก่อตั้งศูนย์นักเรียนแห่งประเทศไทยและการจัดทำหนังสือของนักเรียนในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ได้ที่ ฤดี เริงชัย. (2519). หยดหนึ่งในกระแสธาร. กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร. และธงชัย วินิจจะกูล. (2517). บทสัมภาษณ์ธงชัย วินิจจะกูล เลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย. ใน สัมภาษณ์. กรุงเทพฯ: ประชาชาติ, หน้า 157-187. |
---|---|
↑2 | วสันต์ ลิมป์เฉลิม. (2533). ประวัติชีวิตและจังหวะเวลาทางประวัติศาสตร์ : พัฒนาการสู่ความเป็นนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายของนักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่งในบริบทการเมืองไทย ระหว่างปี 2516-2519. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะรัฐศาสตร์. |
↑3 | ข่าวความขัดแย้งเรื่องหนังสือสมานมิตรปรากฏในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ประชาธิปไตย มหาชน ประชาชาติรายสัปดาห์ เดลินิวส์ และเดลิไทม์ ในระหว่างวันที่ 15-27 พฤศจิกายน 2517 |
↑4 | ประวัติหนังสือสมานมิตรจากเว็บไซต์ห้องสมุดโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย. |
↑5 | ความสำคัญของหนังสือสมานมิตร ฉบับศึก ได้ส่งทอดจากทศวรรษ 2510 มาสู่ทศวรรษ 2540 โดยปรากฏขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2545 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักเรียนโดยชุมนุมสวนรักสวน โดยนิทรรศการตั้งคำถามถึงหนังสือสมานมิตร ฉบับศึก ภายใต้แนวความคิดที่จะเสนอเรื่องราวให้สมาชิกส่วนอื่นๆ ของสวนกุหลาบฯ ได้ร่วมกันรับรู้ถึงการมีอยู่ของหนังสือเล่มนี้ด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนและร่วมกันประเมินความก้าวหน้าของแนวความคิดเกี่ยวกับการศึกษาที่มีอยู่ในหนังสือเล่มดังกล่าว ภายใต้สถานการณ์การปฏิรูปการศึกษาที่เป็นอยู่ในปี 2545 โดยแกนนำของชุมนุมสวนรักสวน ณ ขณะนั้น ชี้ว่า “การหยิบยกเรื่อง ‘ศึก…’ ขึ้นมา เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของโจทย์ปัญหาเกี่ยวกับฐานะทางประวัติศาสตร์ของโรงเรียนเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนปัจจุบันตระหนักถึงการพัฒนาโรงเรียนในระยะยาวมากกว่า” |
↑6 | โปรดดูเพิ่มเติม เรื่องของการจัดนิทรรศการสังคมนิทรรศน์ของนักเรียนมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานคร รวมถึงนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ. 2516-2517 ได้ที่ ธงชัย วินิจจะกูล. (2517). บทสัมภาษณ์ธงชัย วินิจจะกูล เลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย. ใน สัมภาษณ์. กรุงเทพฯ: ประชาชาติ, หน้า 157-187. |
↑7 | ต่อมาสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นหนึ่งในแกนนำของนักศึกษาที่เคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ร่วมกับสุธรรม แสงประทุม ธงชัย วินิจจะกูล และเกษียร เตชะพีระ ฯลฯ โปรดดูเพิ่มเติม เกษียร เตชะพีระ. (2526). บันทึกความรู้สึกแห่งยุคสมัย. ใน รู้สึกแห่งยุคสมัย. กรุงเทพฯ: องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 49-58. |
↑8 | วสันต์ ลิมป์เฉลิม. (2533). ประวัติชีวิตและจังหวะเวลาทางประวัติศาสตร์ : พัฒนาการสู่ความเป็นนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายของนักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่งในบริบทการเมืองไทย ระหว่างปี 2516-2519. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะรัฐศาสตร์. |