fbpx

“ผมเป็นปีศาจที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา” เมื่อสาย สีมา มีอันต้องไปปราบคอมมิวนิสต์

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 สำแดงออกมาว่าพรรคก้าวไกลซึ่งนำโดย ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ได้รับคะแนนท่วมท้นมาเป็นอันดับหนึ่ง เกินกว่าที่ใครๆ หลายคนคาดคะเนไว้ แต่ก็ถือว่าเบ่งบานความปีติยินดีให้กับประชาชนจำนวนมากโขผู้เลื่อมใสศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย หลังต้องจำทนอยู่ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ยาวนานเกือบ 9 ปีเต็ม

ช่วงสองสามวันถัดจากวันเข้าคูหากาบัตรหย่อนหีบ นับเป็นห้วงเวลาที่เราสดับเสียงระเบ็งเซ็งแซ่ทำนอง “หอมกลิ่นความเจริญ” ขณะเดียวกันแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเยี่ยง ทิม พิธา ก็ยิ่งทบทวีความยอดนิยมจนกลายเป็นขวัญใจทั้งในหมู่ ‘ด้อมส้ม’ และคนทั่วไปประหนึ่งซุปเปอร์สตาร์ทางการเมือง ผมเองเฝ้ามองปรากฏการณ์นี้ไปพร้อมๆ กับเงี่ยหูฟัง ‘ทางสายใหม่’ ผ่านลูกคอของทิม สอนนา หรือที่แฟนๆ เพลงลูกทุ่งเคลือบริมฝีปากด้วยชื่อ สุนารี ราชสีมา เพราะดูเหมือนอารมณ์คนไทยกำลังออกอรรถรสแบบเนื้อเพลงท่อนเปิดที่ว่า “ก้าวไป สู่โลกกว้าง แม้จะไม่รู้ทาง เราก็จะก้าวไป…”

ชัยชนะของพรรคก้าวไกลยังกระตุกต่อมความรู้สึกของกลุ่มคนจำนวนหนึ่งให้พลันระลึกถึงผลงานนวนิยายเรื่อง ปีศาจ ของ ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ (นามจริงคือ ศักดิชัย บำรุงพงศ์) ขึ้นมาอีกครั้ง ลองสังเกตจากภูมิทัศน์แห่งโลกออนไลน์จะพบเห็นการแชร์ถ้อยความและภาพปกหนังสือเล่มนี้กันอย่างคึกคัก

มิอาจปฏิเสธว่าตลอดหลายปีล่วงผ่านมา พรรคก้าวไกลแสดงออกถึงความยึดโยงแน่นแฟ้นระหว่างพวกตนกับนวนิยายเรื่อง ปีศาจ และนามของตัวละครเอกคือ ‘สาย สีมา’ ลักษณะเช่นนี้สะท้อนเด่นชัดนับแต่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 และดูเหมือนราวกับเป็นความจงใจที่จะนำเสนอความเกี่ยวพันเลยทีเดียว จนแทบอนุมานได้ว่านี่คือผลงานวรรณกรรมอันอยู่ในความชอบอ่านและคลั่งไคล้ของคณะกรรมการบริหารพรรค กระทั่งยึดถือมาสร้างภาพลักษณ์ทางการเมือง

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ย่อมมิแคล้วบุคคลหนึ่งที่มักจะหยิบยกถ้อยความจากนวนิยายเรื่อง ปีศาจ มาประกอบการแถลงของตนเนืองๆ เฉกเช่นคราวศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2563 และส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค ทั้ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค, พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค และคนอื่นๆ อีกสิบกว่ารายรวมถึงปิยบุตรด้วย ต้องถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี  วันเดียวกันนั้น ปิยบุตรแถลงภายหลังรับทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยยกเอาเนื้อความบางส่วนจากถ้อยคำคมคายของตัวละคร สาย สีมา ในท้องเรื่องมาประกอบ

“นี่ไม่ใช่จุดจบ แต่นี่คือจุดเริ่มต้น เพราะพวกเราเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมา เพื่อ หลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดละเมอ หวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็น เครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจ เหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที”

นั่นคือน้ำเสียงของเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

ครั้นสมาชิกเดิมของพรรคอนาคตใหม่ย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกลซึ่งก็เป็นพรรคใหม่ที่สืบทอดเจตนารมณ์ต่อมา โดยมี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน กลิ่นอายของนวนิยายเรื่อง ปีศาจ ยังมิวายอบอวลกรุ่นๆ ในพรรคนี้ น้ำคำแบบ สาย สีมา ที่เคยพรั่งพรูจากริมฝีปากของปิยบุตร ก็มาโลดแล่นจำนรรจาจากริมฝีปากของพิธา ดังคราวการเปิดอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน 2564 เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี หรือ ‘ปิดสวิตช์ ส.ว.’ แน่นอนว่าผลการลงมติในรัฐสภาก็คือร่างข้างต้นถูกปัดตก ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธาจึงกล่าวตอนหนึ่งว่า

“ผมขออวยพรผ่านไปยังผู้มีอำนาจทุกท่าน ที่คิดว่าจะสามารถเหนี่ยวรั้งเข็มนาฬิกาเอาไว้ได้ ผมขออวยพรให้ท่านมีอายุยืนเพียงพอ ที่จะเห็นความพยายามของท่านล่มสลายไม่มีชิ้นดี เห็นความ ต้องการของท่านถูกบดขยี้ด้วยกงล้อของเวลา ที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และได้มีโอกาสรับรู้กับตา และหูของท่านเอง ว่าผู้คนและยุคสมัยจะตราหน้าท่านว่าอย่างไรในประวัติศาสตร์ของชาติเรา”

ก็ในเมื่อโวหารของทั้งปิยบุตรและพิธา ล้วนรับอิทธิพลมาจากสาย สีมา คุณผู้อ่านคงน่าจะอยากทราบแล้วกระมังครับ ว่าสิ่งที่ตัวละครนี้กล่าวไว้ในนวนิยายมีเนื้อความอย่างไร เอาละ ผมขอเชิญให้ทัศนา

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไร หยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่สร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที

ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนนี้วันนี้ ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิส หรือซิกฟริด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา

ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก…โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน”

มูลเหตุที่สาย สีมา ทนายความหนุ่มเอื้อนเอ่ยออกมาเป็นถ้อยความข้างต้น ก็เพราะท่านเจ้าคุณผู้เป็นบิดาของ ‘รัชนี’ หญิงสาวคนรักผู้สูงศักดิ์เหยียดหยามหมิ่นแคลนด้วยจงใจจะให้ลูกชาวนาเยี่ยงเขารู้สึกอับอาย เสียหน้า ท่ามกลางแขกเหรื่อประจำโต๊ะอาหารแห่งงานเลี้ยงรื่นเริง ในสายตาท่านเจ้าคุณยังมองเห็นสายเป็นสามัญชนชั้นล่างของสังคม ถึงแม้เขาจะยกระดับฐานะขึ้นมาด้วยการศึกษาและการทำงาน แต่ก็ถือเป็นพวกไพร่ไร้ชาติตระกูล ไม่รู้จักเจียมกะลาหัว ไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ หากสาย สีมายึดอุดมการณ์แม่นมั่นว่าคนเราทุกคนเท่าเทียมกัน สิ่งที่ท่านเจ้าคุณถ่ายทอดผ่านกิริยาวาจาเช่นนั้นมิแคล้วแนวคิดและพฤติการณ์ของคนรุ่นเก่าล้าหลังที่ยึดติดกับชนชั้นฐานันดร

ชายหนุ่มจึงมิอาจทนนิ่งเฉย เขาลุกขึ้นยืนผงาดโต้ตอบและยืนยันหนักแน่นว่าโลกของคนรุ่นเก่าตกสมัยแบบพวกพ้องของท่านเจ้าคุณมีแต่จะพังทลายลงตามกาลเวลาอันแปรเปลี่ยนไป ไม่มีใครสามารถจะฉุดรั้งไม่ให้ความคิดก้าวหน้าเดินทางมาถึงได้ โลกย่อมเป็นของคนรุ่นใหม่ สาย สีมาจึงเป็นปีศาจที่หลอกหลอนคนรุ่นเก่า มิหนำซ้ำ ยังทำให้ท่านเจ้าคุณรู้สึกว่า “ไอ้ปีศาจตัวนี้มันทำให้ฉันนอนไม่หลับ ฉันไม่อยากเห็นหน้ามันเลยแม้แต่นิดเดียว”

แท้จริง บทบาทของพวกศักดินาเก่าเยี่ยงท่านเจ้าคุณควรจะถดถอยไปแล้วนับตั้งแต่ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทว่าจุดเปลี่ยนคือหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2490 ฝ่ายศักดินาพลันได้รับการรื้อฟื้นและกลับมาครองอำนาจอีกหน

ก่อนหน้าที่เสนีย์ เสาวพงศ์ จะนำเสนอนวนิยายเรื่อง ปีศาจ สู่สายตาผู้อ่านเมื่อปี 2496 ในแวดวงบรรณพิภพเคยปรากฏงานเขียนที่ให้ชื่อเรื่องนี้จำนวนมากมาย การใช้คำว่า ‘ปีศาจ’ ดูเหมือนเป็นบริบทของยุคทศวรรษ 2480 และทศวรรษ 2490 งานเขียนชื่อเรื่องนี้หาได้จำกัดแต่เพียงเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภูติผีวิญญาณเท่านั้น แต่เริ่มมีการเชื่อมโยงเข้ากับเนื้อหาทางการเมืองอยู่ไม่น้อย นั่นเพราะอิทธิพลของความรับรู้ว่าด้วยเรื่องราวของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) ที่ทยอยแพร่ลามเข้ามาในสังคมไทย

กระนั้น ความน่าสนใจของ ปีศาจ โดยเสนีย์ เสาวพงศ์คือการนิยามปีศาจในความหมายเดียวกันกับ ‘spectre’ ให้มาโลดแล่นในพื้นที่งานวรรณกรรม ซึ่งปีศาจเช่นนี้ ไม่ใช่ผีที่คอยมาหลอกหลอนคนอื่น แต่เป็นปีศาจที่เกิดขึ้นจากความหวาดกลัวภายในจิตใจของผู้ถูกหลอนเอง

ความคิดที่จะเขียน ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์น่าจะสั่งสมมานานพอดู ก่อนจะลงมือเขียนและส่งไปลงตีพิมพ์เผยแพร่เป็นตอนๆ ในนิตยสาร สยามสมัยรายสัปดาห์์ โดยเริ่มต้นเนื้อหาตอนแรกสุดในเล่มปีที่ 7 ฉบับที่ 334 ประจำวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2496 นวนิยายเรื่องนี้มีกระแสตอบรับจากผู้อ่านไม่ค่อยมากเท่าใดนัก อาจมีเพียงจดหมาย 2-3 ฉบับร่อนส่งมายังกองบรรณาธิการเพื่อแสดงความเห็นเล็กน้อย ฉะนั้น เมื่อทยอยลงทุกตอนจนจบบริบูรณ์ ก็ไม่ได้มีสำนักพิมพ์ไหนสนใจติดต่อขอไปจัดพิมพ์เป็นเล่ม อีกทั้งผู้ประพันธ์ก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องส่งไปให้สำนักพิมพ์ใดพิจารณา

สยามสมัยรายสัปดาห์ ฉบับประจำวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2496

ตราบจนช่วงปี 2500 คนหนุ่มนาม ‘คำสิงห์ ศรีนอก’ ซึ่งต่อมากลายเป็นนักเขียนเลื่องลือเจ้าของนามปากกา ‘ลาว คำหอม’ ได้นำเรื่อง ปีศาจ มาจัดพิมพ์เป็นเล่มโดยสำนักพิมพ์เกวียนทอง ศักดิชัย บำรุงพงศ์ หรือ เสนีย์ เสาวพงศ์ เคยบอกเล่าไว้ถึงตอนที่ ปีศาจ จัดพิมพ์ออกมาหมาดใหม่ว่า “ลงเป็นตอนจบไปแล้วเงียบไป ผมไม่ได้แสวงหาใครมาเอาไปพิมพ์ ก็ไม่มีใครมาติดต่อจัดพิมพ์รวมเล่ม จะเรียกว่าไม่มีใครพิมพ์ก็ได้นะ ที่เป็นการริเริ่มของผู้จัดพิมพ์เอง จนกระทั่งคุณคำสิงห์ (ศรีนอก) สำนักพิมพ์เกวียนทองมาเอาไป แต่คุณคำสิงห์ก็บอกว่าพิมพ์ครั้งนั้นขายดีเหมือนกัน สมัยนั้นขายได้พันเล่มก็ถือว่าขายดีมากแล้ว”

ภายหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเมื่อวันจันทร์ที่ 16 กันยายน ปี 2500 ได้มีการกวาดล้างหนังสือแนวก้าวหน้าทั้งหลาย นวนิยายเรื่อง ปีศาจ หมิ่นเหม่จะเข้าข่ายเช่นกัน ผู้จัดพิมพ์จึงต้องพยายามเก็บหนังสือออกจากตลาด แต่ก็ยังพอจะขายได้บ้างประปรายเนื่องจากคนเข้าใจว่าเป็นนวนิยายนำเสนอเรื่องภูติผี ขณะเดียวกันชื่อเสียงเรียงนามของเสนีย์ เสาวพงศ์ก็กลายเป็นความลึกลับแปลกหน้าสำหรับนักอ่าน ตัวนักประพันธ์เองก็รับราชการเป็นนักการทูตอยู่ในต่างประเทศ

ปีศาจ กลับมาเป็นที่สนอกสนใจของนักอ่านอีกหนช่วงต้นทศวรรษ 2510 กล่าวคือเดือนตุลาคม 2513 ได้ปรากฏข้อเขียน ‘ไม่มีข่าวจากเสนีย์ เสาวพงศ์’ โดย ‘วิทยากร เชียงกูล’ ลงตีพิมพ์ในนิตยสารจตุรัส  มีเนื้อความตอนหนึ่งที่วิทยากรเรียกร้องโหยหาบุคคลอย่างตัวละครสาย สีมา

“เราซึ่งเป็นคนรุ่นหลังเอง ก็กำลังรอกาลเวลาเหมือนกับที่เสนีย์รออยู่ เราไม่เพียงฝันที่จะเห็นสาย สีมา หรือคนแบบเดียวกับเขาเพียงไม่กี่คน ผุดลุกขึ้นมาเพื่อที่จะถูกกระแทกให้ล้มคว่ำลงและถูกลืมเลือนไป แต่เราฝันที่จะเห็นสาย สีมา เป็นพันเป็นหมื่นคน ซึ่งจะลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งที่เขาเห็นว่าไม่ยุติธรรมด้วยความมั่นใจ”

วิทยากรน่าจะได้ทำความรู้จักเรื่อง ปีศาจ จากการคลุกคลีใกล้ชิดกับคำสิงห์ ศรีนอก และคงได้อ่านนวนิยายเล่มที่พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์เกวียนทองจึงนำมาเขียนถึง นั่นเป็นจุดสำคัญที่ทำให้นักอ่านคนหนุ่มสาวทบทวีความปรารถนาใคร่สัมผัสกับตัวละครสาย สีมา ฉะนั้น ในปี 2514 สำนักพิมพ์มิตรนราซึ่งเจ้าของเป็นเพื่อนกับเสนีย์ เสาวพงศ์ตัดสินใจนำ ปีศาจ มาจัดพิมพ์อีกหน คราวนี้กระแสตอบรับจากผู้อ่านดียิ่ง จนเป็นที่กล่าวขวัญ และมีผู้หยิบยกไปเขียนวิจารณ์ตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ครั้นเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยบรรยากาศความตื่นตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย นวนิยายเรื่อง ปีศาจ ก็ยิ่งได้รับความนิยมและได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษากลุ่มก้อนต่างๆ ที่นำไปจัดพิมพ์ ดัง เสนีย์ เสาวพงศ์ เคยเล่าว่า “ตอนนั้นผมอยู่อังกฤษ ก็ได้ข่าวบ้างเหมือนกัน บางแห่งเขาขอไป อย่างจุฬาฯ บางแห่งก็ไม่ได้ขอ ขอไปผมก็ให้นะ แต่ว่าขอให้ส่งหนังสือมาให้ดูด้วย เงียบ ไม่มีใครส่ง พิมพ์ขายแล้วแล้วกัน เขาก็ว่าหนังสือของอาจารย์ช่วยมากนะ ช่วยให้นักศึกษามีสตังค์ไปดำเนินกิจกรรม”

นับแต่นั้น ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์มิวายได้รับการเอ่ยอ้างเสมอๆ ตราบจนทศวรรษ 2560 โดยเฉพาะฉากตอนที่สาย สีมาปะทะคารมกับท่านเจ้าคุณในงานเลี้ยงรื่นเริง ซึ่งเป็นที่เลืองลือในหมู่นักอ่านและมักจะถูกหยิบยกมาพาดพิงแบบวนไปวนมาอยู่เพียงฉากเดียว ราวกับสาย สีมาในความทรงจำของคนรุ่นหลังไม่เคยหนีพ้นออกไปได้จากโต๊ะอาหารของท่านเจ้าคุณ และราวกับทั้งชีวิตของผู้ประพันธ์ได้ฝากผลงานวรรณกรรมเล่มนี้ไว้เพียงแค่เล่มเดียวเท่านั้น

ความที่ตัวละครสาย สีมา ถูกเอ่ยขานถึงซ้ำบ่อยมาตลอดหลายปี จึงสะกิดใจให้ผมหวนนึกถึงข้อมูลอันคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยอ่านเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรีช่วงต้นทศวรรษ 2550 เกี่ยวกับบุคคลผู้เป็นต้นแบบของตัวละครดังกล่าวนี้ แต่พยายามครุ่นนึกอย่างไรก็ไม่มีโอกาสตะโกนลั่น “ยูเรก้า” แบบอาร์คิมิดีสสักที กระทั่งปลายเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ถ้าจะพูดด้วยลูกคอขับร้องบทเพลงของสันติ ดวงสว่างก็จะได้ว่า “นี่คงเป็นเพราะโชคชะตา…” เพราะอยู่ดีๆผมก็มีอันต้องค้นคว้าเรื่องราวของจิตร ภูมิศักดิ์ และเผอิญพบเข้ากับสิ่งที่เพื่อนรักของจิตรคือ ‘ประวุฒิ ศรีมันตะ’ เคยบันทึกไว้ผ่านนามแฝง ‘มิตร ร่วมรบ’ ในวาระครบรอบสิบปีมรณกรรมของจิตรเมื่อเดือนพฤษภาคม 2519 (จิตรเสียชีวิต 5 พฤษภาคม 2509)  

ประวุฒิ เล่าถึงช่วงระยะที่จิตรก่อเกิดแนวความคิดก้าวหน้าสืบเนื่องจากการชอบอ่านนิตยสาร อักษรสาส์น ที่สุภา ศิริมานนท์จัดทำ โดยเฉพาะงานเขียนของ ‘สมัคร บุราวาศ’ ว่าด้วยเรื่องปรัชญา การเมือง และพุทธศาสนาอันลงตีพิมพ์เนืองๆ บทความชิ้นสำคัญของสมัครที่ส่งทอดอิทธิพลก็เช่น ‘เมื่อพุทธศาสนาเผชิญกับมาร์กซิสม์’ ซึ่งเป็นแรงดาลใจให้จิตรเขียนบทความเกี่ยวกับพุทธปรัชญา จนบางชิ้นที่ลงพิมพ์ใน มหาวิทยาลัย 23 ตุลาคม 2496  กลายเป็นชนวนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งที่จบลงด้วยการที่จิตรถูกโยนบก อีกทั้งตอนผลงานหนังสือ แคปิตะลิสม์ ของสุภา ศิริมานนท์ตีพิมพ์เผยแพร่ จิตรก็แวะไปเยี่ยมเยียนสุภาถึงสองหน ครั้งแรกไปกับเพื่อน ครั้งที่สองไปคนเดียว 

ในบันทึกของประวุฒิยังเปิดเผยนามของบุคคลผู้เป็นต้นแบบของตัวละครสาย สีมา โดยระบุว่าช่วงประมาณกลางทศวรรษ 2490 จิตรได้คลุกคลีกับกลุ่มเพื่อนนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหัวก้าวหน้า พวกเขายังเคยพากันไปพบปะสนทนากับศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ ซึ่งขณะนั้นเป็นนักเขียนหนุ่มที่คนรู้จักพอสมควร ดังเสียงเล่าของประวุฒิ

“ในระยะทำหนังสือ ‘๒๓ ตุลา’ เขามีเพื่อนทางการเมืองที่ก้าวหน้าอยู่บ้างสองสามคนเป็นนิสิตในคณะรัฐศาสตร์ บุคคลเหล่านี้มีส่วนหนุนช่วยให้จิตร ภูมิศักดิ์ ได้รับเลือกเป็นสาราณียกรของสโมสรนิสิตจุฬาฯ และสนับสนุนให้จิตรออกหนังสือมาในทางที่ก้าวหน้าด้วย ข้าพเจ้าเคยไปเยี่ยมบ้านพักของบุคคลเหล่านี้บางคน ปรากฏว่าได้พบหนังสือก้าวหน้าจำนวนมาก เช่น หนังสือพิมพ์สัจธรรม, ชีวทัศน์, วิวัฒนาการสังคม โดย เดชา รัตตโยธิน และนิยายต่างๆ ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เช่น สงครามชีวิต, จนกว่าเราจะพบกันอีก เป็นต้น บุคคลเหล่านี้มีความรอบรู้ในหนังสือต่างๆ ดังกล่าวเป็นอย่างดี และพวกเขากำลังติดตามผลงานของเสนีย์ เสาวพงศ์ อย่างใกล้ชิด บางคนในกลุ่มเคยไปเยี่ยมและรู้จักมักคุ้นกับเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นการส่วนตัว กล่าวกันว่า ตัวละครชื่อ ‘สาย สีมา’ ใน ‘ปีศาจ’ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ได้จินตนาการมาจาก ‘สายสิทธิ พรแก้ว’ อันเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งในกลุ่มนี้ แต่เป็นที่น่าเสียใจที่บุคคลผู้นี้ในปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนไปเป็นพวกปฏิกิริยาปราบปรามประชาชนอย่างร้ายกาจไปแล้ว”

ผมเคยผ่านตาข้อมูลที่ว่าเสนีย์ เสาวพงศ์ สร้างตัวละครเอกเยี่ยงสาย สีมาให้เป็นตัวแทนของสามัญชน ซึ่งได้บรรยายลักษณะของทนายความหนุ่มผู้นี้ในนวนิยายว่า

“….เป็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง รูปร่างของเขาไม่มีลักษณะอะไรดีเด่นเป็นพิเศษที่อาจจะมองเห็นได้ทันทีจากกลุ่มคนธรรมดาสามัญทั้งหลาย และก็ไม่มีอะไรวิปริตผิดปกติที่จะสังเกตได้ง่าย ส่วนสูงต่ำก็อยู่ในขนาดผู้ชายไทยสันทัดธรรมดาทั่วไป พื้นเพทางวงศ์วานว่านเครือก็มาจากครอบครัวของคนสามัญที่ถ้าจะพูดตามอย่างที่ครอบครัวของหล่อนเรียก ก็จัดอยู่ในจำพวกคน ‘ไม่มีสกุลรุนชาติ’…”

ส่วนเหตุที่ตัวละครชื่อ ‘สาย’ ก็เพราะเขามีบิดาชื่อเที่ยง และพี่น้องร่วมบิดาก็มีชื่อว่าเช้า, บ่าย, เย็น และคืน นี่อาจสะท้อนอารมณ์ขันของผู้ประพันธ์ แต่เจตนาแท้จริงของการตั้งชื่อ ‘สาย สีมา’ นั้น เสนีย์เคยแจงว่า เป็นเพราะอยากให้นายสายคนนี้เป็นตัวแทนลูกหลานของชาวบ้านที่มักจะมีชื่อทำนองตาสี ตาสา ยายมา ยายมี

หากข้อมูลของประวุฒิ ศรีมันตะ ที่ระบุว่าตัวละครสาย สีมามีต้นเค้ามาจากตัวตนของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนาม ‘สายสิทธิ พรแก้ว’ ย่อมปลุกเร้าให้ผมใคร่ทำความรู้จักบุคคลผู้นี้ครามครัน

สาย สีมา นอกหนังสือหรือ ‘สายสิทธิ’ เป็นคนพื้นเพแถบบ้านเอก ห่างจากตัวเมืองศรีสะเกษราว 5 กิโลเมตร เขาลืมตาดูโลกหนแรกสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 2475 บุตรชายคนเดียวของสิบตำรวจโทมุย และนางหวานผู้ประกอบอาชีพทำนา อายุได้เพียง 3 เดือน บิดามารดาตัดสินใจแยกทางกัน เด็กชายตกอยู่ในอ้อมกอดของปู่และย่า ชีวิตวัยเยาว์เผชิญความทุกข์ยากลำบากเข็ญ ช่วงปี 2481-2484 สายสิทธิเริ่มเรียนหนังสือ โดยเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 ในโรงเรียนประชาบาลประจำตําบลน้ำคํา ต่อมาจึงเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนประจําจังหวัดศรีสะเกษระหว่างปี 2485-2490 เขาต้องต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคอย่างไม่ย่อท้อ เดินเท้าไปโรงเรียน บางครั้งบางคราต้องอาศัยที่นอนในวัดและกินข้าวก้นบาตร อดทนจนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงบ่ายหน้าสู่กรุงเทพมหานคร เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ช่วงปี 2491-2492 และสามารถสอบเข้าศึกษาได้ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ห้วงเวลาที่พำนักในกรุงเทพฯ สายสิทธิฝากตัวขออาศัยอยู่ร่วมกับนายประดิษฐ์และนางรัญจวน วัฒนยั่งยืน ผู้เปี่ยมเมตตา เขาช่วยแบ่งเบาภาระงานสารพัด ทั้งยังช่วยดูแลเด็กๆ ที่เป็นบุตรของสองสามีภรรยา จนที่สุดเขากลายเป็นบุตรบุญธรรม

สายสิทธิ พรแก้ว เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สายสิทธิคงไม่แตกต่างจากผองเพื่อนหัวก้าวหน้าที่คลุกคลีกันดังประวุฒิให้รายละเอียดไว้ ทุกคนล้วนสนใจใฝ่เรียนรู้ รักความเป็นธรรม และเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคม ยิ่งเขาเป็นสามัญชนคนต่างจังหวัดผู้ต้องต่อสู้ชีวิตและมุ่งมั่นจะยกระดับฐานะของตนด้วยการศึกษา ก็ยิ่งน่าจะมีอุดมการณ์เข้มข้น ครั้นสายสิทธิได้พบเจอกับศักดิชัย บำรุงพงษ์ และได้พูดคุยกัน ก็เป็นไปได้ที่เสนีย์ เสาวพงษ์จะประทับใจเรื่องราวและท่วงทีของ ‘สาย ศรีสะเกษ’ ผู้นี้จนนำไปจินตนาการเป็นตัวละครสาย สีมา

สายสิทธิเองดูจะเป็นคนชอบการเขียนหนังสืออยู่ด้วยไม่น้อย เขาเคยฝากผลงานไว้จำนวนหลายชิ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นข้อเขียนบทความ มิใช่งานวรรณกรรม เฉกเช่น ในปี 2497 หลังสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตรัฐศาสตรหมาดใหม่ เขาเขียนเรื่อง ‘สองนักการทูต’ ลงพิมพ์ร่วมกับเพื่อนพ้องในหนังสือ รัฐศาสตร์ 2479

สายสิทธิเริ่มรับราชการเป็นปลัดอำเภอตรีประจำอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี จากนั้นได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุนาน 1 พรรษา ก่อนจะไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาตรีด้านสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2499 และศึกษาต่อปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์จนสำเร็จเป็นมหาบัณฑิต เมื่อปี 2502 ในปีนี้เอง เขาได้เข้าพิธีมงคลสมรสกับนางสาววาสนา ทองรับแก้ว พอปีถัดมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดอำเภอโทประจำอำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ

ช่วงปี 2504-2505 สายสิทธิเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านศึกษาศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เรียนจบกลับมาก็สอบเป็นข้าราชการชั้นเอกได้ในปี 2507 อีกทั้งมีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่ University of Connecticut และ Michigan State University

สายสิทธิ พรแก้ว เมื่อแรกเริ่มรับราชการ
สายสิทธิ พรแก้ว เมื่อคราวสำเร็จปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในปี 2509 สายสิทธิได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอเมืองพิจิตร แต่เนื่องจากขณะนั้น เกิดเหตุการณ์ต่อสู้ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์รุนแรงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเลิงนกทา ขณะนั้นยังขึ้นอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานี ทางกรมปกครองจึงขอร้องให้สายสิทธิไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอเลิงนกทาแทน ที่นั่น สายสิทธิร่วมกับข้าราชการและชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มมวลชนต่างๆ มิเว้นกระทั่งกลุ่มเยาวชนและกลุ่มสตรี เพื่อต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ถือเป็นแบบอย่างในการต่อสู้แห่งแรกของประเทศไทย โดยจัดตั้งหน่วยล่าสังหาร O1O (โอวันโอ) ที่อำเภอเลิงนกทา และหน่วย O2O (โอทูโอ) ที่อำเภออำนาจเจริญ ซึ่งขณะนั้นยังขึ้นอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานีเช่นกัน ทั้งสองหน่วยนี้ทำหน้าที่เป็นชุดคุ้มครองพัฒนาหมู่บ้าน การปฏิบัติงานครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้ามอบตัวถึง 93 คน เป็นผู้ที่เคยเข้ารับอบรมจากฮานอยและรัสเซียอยู่หลายคน ล่วงมาปี 2510 สายสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อปฏิบัติงานขยายผลในการต่อสู้และเอาชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ให้ได้อย่างราบคาบ

ต้นทศวรรษ 2510 สายสิทธิย้ายไปเป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนนายอำเภอ สังกัดกระทรวงมหาดไทย เขาเขียนหนังสือเล่มสำคัญคือ พิชิตสงครามหมู่บ้านและผู้ก่อการร้าย ถือว่าเป็นหนังสือคู่มือปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เล่มแรกของประเทศไทย เจตนารมณ์ของสายสิทธิสะท้อนผ่าน ‘คำนำ’  ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2512 มีเนื้อความว่า

“เสียงปืนดังขึ้นในท้องที่หลายแห่ง หลายอําเภอ ตลอดทุกภาคของประเทศไทย เริ่มต้นแต่ปี 2508 เป็นต้นมา เพียง 3 ปีแรกมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามและราษฎรที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 300 กว่าคน ข้าพเจ้าไม่ขอกล่าวว่าเป็นความผิดของใครที่ก่อนหน้านั้นไม่มีการเตรียมรับเหตุการณ์ที่พร้อมสรรพ เพิ่งมายอมรับรู้เอาเมื่อเสียงปืนในหมู่บ้านดังขึ้น กองโจรติดอาวุธในป่าเพ่นพ่าน ดักซุ่มยิงและทําลายล้างชีวิตเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ทหาร ตํารวจ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรชาวบ้านผู้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้แจ้งเหตุให้แก่ผู้มีหน้าที่ทางส่วนกลางได้ทราบทุกระยะ พวกผู้ก่อการร้ายได้รับความร่วมมือจากนอกประเทศทั้งอาวุธ การฝึกอบรม ทั้งการเงินและกําลังสนับสนุน

เพื่อเสริมสร้างให้เจ้าหน้าที่ของรัฐประจําท้องที่และตํารวจทหารที่เข้าไปปราบปรามยึดหมู่บ้านและเขตอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ก่อการร้ายคืนมา มีความเข้าใจวัตถุประสงค์วิธีการสู้รบและยุทธวิธีในการครองใจชาวบ้าน การที่คอมมิวนิสต์เอาชาวบ้านมารบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐให้กว้างขวาง สมบูรณ์แจ่มชัดยิ่งขึ้น และโดยที่ 3 ปีล่วงแล้วจนบัดนี้ก็ยังปรากฏว่ามีผู้รู้เรื่องของศัตรูน้อยคนมาก แต่ศัตรูเตรียมรบและรู้เรื่องของฝ่ายเรามามากกว่า 10 ปีแล้ว ความเสียเปรียบในด้านนี้มีมากและจําเป็นต้องแก้ไขโดยรีบด่วน และเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนจะต้องช่วยกัน

สงครามที่เกิดขึ้นย่อยๆ เพื่อยึดอํานาจรัฐ ในที่สุดนี้ข้าพเจ้าขอเรียกว่า ‘สงครามหมู่บ้าน’ เพราะหมู่บ้านเป็นจุดที่ข้าศึกมุ่งยึดและแผ่อิทธิพลเอาชาวบ้านไปไว้เป็นพวก ซึ่งตรงกับความหมายของสงครามกองโจร สงครามยืดเยื้อ สงครามปลดแอก สงครามประชาชน แล้วแต่ว่าฝ่ายใดจะเรียกเพื่อประโยชน์ของฝ่ายนั้น หมู่บ้านทั้ง 45,000 กว่าแห่งในประเทศไทยเป็นรากฐานสําคัญแห่งความมั่นคงของประเทศ ข้าพเจ้าเชื่ออย่างมั่นใจว่า สงครามหมู่บ้านนี้ผู้ที่จะพิชิตได้ต้องเป็นชาวบ้านเอง ส่วนทหาร ตํารวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและพัฒนาการอื่นๆ เป็นเพียงผู้ช่วยเหลือเท่านั้น

ประสพการณ์ในการทํางานทําลายล้างกองกําลังติดอาวุธหน่วยแรกและเขตซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่า ‘เขตปลดปล่อย’ ของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ก็ว่าได้ ที่จังหวัดอุบลราชธานี และจากการทํางานร่วมกับ พ.ต.ท.1 และกองทัพภาคที่ 2 ตลอดจน พ.ต.ท.จังหวัดอุบลราชธานี และด้วยความมองการไกลและการนําของ บก.ปค. ทําให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้หลักการและวิธีการต่างๆ ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ก่อการร้ายได้สะดวกกว้างขวางยิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้นความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติงานและจากศัตรู ตลอดจนผู้ซึ่งเคยปฏิบัติงานกับขบวนการคอมมิวนิสต์มาแล้วเป็นเวลานานก็เป็นสิ่งเสริมสร้าง เพิ่มพูนความรู้ให้แก่ข้าพเจ้าในเรื่องการป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้ายในพื้นที่เป็นอย่างมาก

จากการอภิปรายและคําถามของราษฎรชาวบ้านต่างๆ ที่ได้ซักถามในการประชุมอบรม จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในห้องเรียนที่ข้าพเจ้าเคยไปบรรยายหลักสูตรต่อต้านการก่อการร้ายของกรมตํารวจที่นครราชสีมาหลายครั้ง และการอบรมหัวหน้าส่วนราชการประจําอําเภอต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้าพเจ้าได้รับความรู้และแง่คิดในด้านที่ควรปฏิบัติที่ข้าราชการ ส่วนมากยังไม่ทราบลู่ทางอยู่เป็นอันมาก และข้าพเจ้าเป็นหนี้บุญคุณบรรดานักศึกษาผู้เข้าอบรมและชาวบ้านที่ร่วมในการซักถามและตอบปัญหาเหล่านั้นเป็นอย่างมาก ประกอบด้วยแรงกระตุ้นจากผู้บังคับบัญชา ข้าราชการทหารและพลเรือนหลายท่าน ให้ข้าพเจ้าได้รวบรวมประสพการณ์จากการต่อต้านการแทรกซึมบ่อนทําลายของคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการต่อสู้กับสงคราม ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่ายๆ ตราบที่คอมมิวนิสต์ไม่ยอมเลิกล้มเจตน์จํานงและนโยบายที่จะครองประเทศและครองโลก เราก็จําเป็นต้องต่อสู้เพื่อความคงรอดของสิทธิเสรีภาพอยู่ตลอดไป จนกว่าจะมีหนทางอื่นที่ดีกว่าที่จะทําความเข้าใจกัน เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติในโลกต่อไปได้

แนวความคิดและรายละเอียดต่างๆ ในหนังสือนี้เขียนขึ้นจากประสพการณ์จึงมิได้มีการอ้างอิง และความคิดเห็นในหนังสือนี้ไม่จําเป็นต้องพ้องหรือเหมือนกับของทางราชการที่ถือเป็นระเบียบปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ปัญหาและหลักการที่หยิบยกขึ้นมาอาจมีแง่ที่จะโต้เถียงกันได้หลายประเด็นและกว้างขวาง ซึ่งเป็นความประสงค์ของข้าพเจ้าอย่างยิ่งที่จะให้เป็นเช่นนั้น เพื่อจะได้มีการมองปัญหาให้แตกฉานหลายแง่หลายมุม อันจะเป็นทางนําไปสู่ความสําเร็จในการดําเนินสงครามนอกแบบเพื่อต่อสู้กับศัตรู ที่จะต้องพลิกแพลง ริเริ่มในรูปแบบต่างๆ ต่อไป ตามสภาพที่เป็นจริง

อนึ่ง ข้อความและรายละเอียดบางตอนบางบทมีกล่าวซ้ำๆ กันอยู่หลายแห่ง ข้าพเจ้ามิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขเพราะประสงค์จะเน้นและย้ำความสําคัญในเรื่องนั้นๆ

ที่สําคัญที่สุดในการเอาชนะสงครามหมู่บ้านและต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศไทยนั้น ก็คือศึกษาจากศัตรูและรู้ศัตรูทั้งยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ใช้แรงเหวี่ยงของศัตรูและวิธีการของศัตรูให้ไปทําลายศัตรูเอง และขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเราทั้งในด้านการรบ ขวัญของชาวบ้าน และกองกําลังส่วนกลาง ทําอย่างศัตรูทํา แต่ดีกว่า เป็นธรรมกว่า ถูกใจชาวบ้านกว่า ปฏิบัติการต่อเนื่องในเชิงรุกและแก้ปัญหาเชิงรุกอย่างเชี่ยวชาญ ทุ่มพลังแรงงานของประชาชาติลงไปอย่างถูกจังหวะ มั่นคงตามแผน ชัยชนะก็จะเป็นของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือที่รักสิทธิเสรีภาพทั้งมวล อย่างชัดแจ้งและเร็ววัน”

พิชิตสงครามหมู่บ้านและผู้ก่อการร้าย ผลงานโดย สายสิทธิ พรแก้ว
สายสิทธิ พรแก้ว ขณะรับราชการประจำโรงเรียนนายอำเภอ

ปี 2513 สายสิทธิลาไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านบริหารรัฐกิจที่ University of Southern California ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนนายอำเภอ พอปีถัดมาย้ายไปเป็นปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมๆ กับเป็นผู้อำนวยการฝึกชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านภาคอีสานเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้าย อีกเกือบสองปีก็ย้ายมาเป็นปลัดที่จังหวัดขอนแก่น

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยจนนำไปสู่ความสูญเสีย เลือดเนื้อหลั่งนอง สายสิทธิได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติเพื่อร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือเรียกกันว่า ‘สภาสนามม้า’ เพราะกำหนดให้มาประชุมกัน ณ ราชตฤณมัยสมาคม หรือสนามม้านางเลิ้ง โดยดำรงตำแหน่งอยู่ประมาณ 1 ปี

สายสิทธิได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดจังหวัดอุดรธานีในปี 2518 ก่อนที่ช่วงปี 2519-2520 จะย้ายไปดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เขามีส่วนร่วมในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ต่อมาสายสิทธิได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการครั้งแรกที่จังหวัดน่าน เขาแสดงบทบาทการวางแผนต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จนประสบผลสำเร็จ พอปี 2521 ก็ต้องย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่นั้น

สายสิทธิยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการในอีกหลายจังหวัด กล่าวคือ ปี 2523 ย้ายไปประจำจังหวัดสมุทรปราการ ปี 2527 ย้ายไปจังหวัดอุดรธานี ปี 2530 ย้ายไปจังหวัดชัยนาท จวบจนช่วงปี 2532-2535 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนจะเกษียณอายุราชการ

สายสิทธิ พรแก้ว กับแผนงานแก้ปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

ออกจะน่าสนใจอยู่ว่าชีวิตรับราชการส่วนใหญ่ของสายสิทธิดูจะวุ่นวายอยู่แต่กับการปราบปรามคอมมิวนิสต์เป็นภารกิจหลัก โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2510 ที่ปีศาจแห่งกาลเวลาเยี่ยงตัวละครสาย สีมาในนวนิยายเรื่อง ปีศาจ ได้ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพมาเป็นนักต่อสู้เพื่อปลดแอกประชาชนจากอำนาจรัฐกดขี่ข่มเหงประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม หาก ‘สาย ศรีสะเกษ’ ผู้เป็นต้นเค้าของตัวละครนี้ในทศวรรษ 2490 กลับคล้อยเคลื่อนไปสวมบทบาทนักต่อสู้ปราบปรามกองกำลังของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านอำนาจรัฐจนเกิดภาวะระส่ำระสาย จนประวุฒิ ศรีมันตะถึงกับออกปากว่า “แต่เป็นที่น่าเสียใจที่บุคคลผู้นี้ในปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนไปเป็นพวกปฏิกิริยาปราบปรามประชาชนในร่างกายไปแล้ว”

โอ้เอ๋ย ชะตามนุษย์ช่างแกว่งไกวตามสายเปลกาลเวลาเกินกว่าคาดเดา

คงอย่างที่สาย สีมากล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ความคิดผิดแผกแตกต่างกันในสมัยและเวลาทำให้คนเรามีความคิดผิดแผกแตกต่างกันด้วย”

คนหนุ่มผู้เคยมั่นคงในอุดมการณ์ เคยเป็นพวกหัวก้าวหน้า ครั้นเมื่อบริบททางสังคมและการเมืองพลันเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการได้สวมหัวโขนให้ปฏิบัติหน้าที่ในอีกแนวทางหนึ่ง นั่นอาจเป็นเหตุให้คนเราตัดสินใจลุกออกมาจากจิตวิญญาณเดิมและห่างเหินจากอุดมคติของวันวาน พอมองย้อนในหน้าประวัติศาสตร์ จึงสามารถแลเห็นบุคคลไม่น้อยรายที่เคยสมาทานแนวความคิดแบบลัทธิคอมมิวนิสต์ มีอันต้องไปเป็นผู้ปราบปรามคอมมิวนิสต์เสียเองในเวลาต่อมา แต่ถึงกระนั้น เรามิอาจพิพากษาบุคคลเหล่านี้ว่าทำถูกหรือทำผิดหรอกนะ

ดังกรณีของสายสิทธิ หรือสาย ศรีสะเกษ แม้พฤติการณ์ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ของเขาขณะรับราชการฝ่ายปกครองจะถูกมองจากเพื่อนพ้องหัวก้าวหน้าที่เคยคลุกคลีกันสมัยหนุ่มๆ ช่วงทศวรรษ 2490 ว่าเป็นเรื่องน่าเสียใจ หาก สายสิทธิ ก็ได้รับความชื่นชมยกย่องจากคนไทยจำนวนมากโขเหมือนกันที่มองเห็นลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยอันตรายและก่อผลกระทบต่อสวัสดิภาพในชีวิต ประกอบกับช่วงเวลานั้น บริบททางสังคมได้กล่อมเกลาให้ลัทธิคอมมิวนิสต์กลายเป็น ‘ผู้ร้าย’ เสียแล้ว การปราบปรามผู้ร้ายเลยเป็นสิ่งที่เหมาะสม แน่นอนว่าในสายตาของมวลชนกลุ่มหลัง สายสิทธิย่อมเป็นผู้ทำคุณประโยชน์เพื่อประเทศชาติและประชาชน และบางที ‘สาย ศรีสะเกษ’ ก็อาจรู้สึกภูมิใจว่าเขากระทำตามหน้าที่ในการรักษาความสงบสุขให้กับบ้านเมือง

น่าเชื่อว่าตลอดทศวรรษ 2560 ทั้งนวนิยายเรื่อง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงษ์และตัวละครสาย สีมา นอกจากจะมิเคยหล่นหายไปจากกิ่งก้านความทรงจำของนักอ่านรุ่นก่อนๆ แล้ว คงมิแคล้วไปจากการมีนักอ่านรุ่นหลังๆ เหลียวมาจดจ่อความสนใจมากขึ้น บางที กระแสตอบรับของประชาชนต่อพรรคก้าวไกลอาจเป็นอิทธิพลทางความคิดส่วนสำคัญ แต่ต้องเฝ้าจับตามองต่อไปอยู่ดีว่าบรรดาปีศาจที่ปรากฏโฉมขึ้นแล้วนั้นจะแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาอันล่วงผ่านหรือไม่อย่างไรกัน

เอกสารอ้างอิง

ถนนหนังสือ. ปีที่ 2 ฉบับที่ 8. (กุมภาพันธ์ 2528)

ประวุฒิ ศรีมันตะ. คู่มือปฏิวัติและมรดกทางวัฒนธรรมของจิตร ภูมิศักดิ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2545

มิตร ร่วมรบ. “ชีวประวัติบางตอนของจิตร ภูมิศักดิ์.” อักษรศาสตรพิจารณ์. ปีที่ 3 ฉบับที่ 11-12 (เมษายน-พฤษภาคม 2519). หน้า 23-44

รัฐศาสตร์ 2479. พระนคร: โรงพิมพ์กิตติกุล, 2497

วิทยากร เชียงกูล. “ไม่มีข่าวจากเสนีย์ เสาวพงศ์.” จัตุรัส. (ตุลาคม 2513)

สยามสมัยรายสัปดาห์. ปีที่ 7 ฉบับที่ 334. (5 ตุลาคม 2496)

สายสิทธิ พรแก้ว. พิชิตสงครามหมู่บ้านและผู้ก่อการร้าย. พระนคร: โรงพิมพ์บริษัท ส.พยุงพงศ์ จำกัด, 2512

สายสิทธิ พรแก้ว. พิชิตสงครามหมู่บ้านและผู้ก่อการร้าย.พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสายสิทธิ พรแก้ว  อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร,อุบลราชธานี ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2549. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2549

เสนีย์ เสาวพงศ์. ปีศาจ. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ: มติชน, 2564

72 ปี ศักดิชัย บำรุงพงศ์ นักเขียนสามัญชน. เสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2533

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save