fbpx
หมอชาวบ้าน : ปรับเปลี่ยน ปรับตัว ปรับแนวคิดการรักษาด้วยแนวทาง ‘พึ่งตนเอง’

หมอชาวบ้าน : ปรับเปลี่ยน ปรับตัว ปรับแนวคิดการรักษาด้วยแนวทาง ‘พึ่งตนเอง’

เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ เรื่อง

คีรีเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

2,100,287 [1] คือตัวเลขจำนวนคนกดไลก์ของเพจ ‘มูลนิธิหมอชาวบ้าน

ฟังดูเป็นตัวเลขที่ไม่น่าเชื่อสำหรับเพจที่ไม่ได้มีคอนเทนต์เรียกเสียงหัวเราะ คลิปวิดีโอหมาแมวน่ารักๆ หรือเพจข่าวการเมืองที่มียอดเอนเกจเมนต์มาจากการคอมเมนต์ด่ากันอย่างมันส์นิ้วมือ แต่เป็นข้อมูลเรื่องสุขภาพน่ารู้ประกอบรูปภาพที่ไม่ได้ปรุงแต่งให้สวยงามตามเทรนด์มินิมอลลิสม์ ที่มีที่มาจากแพทย์จริงๆ (และไม่ได้จ่ายเงินซื้อยอดไลก์ให้ดูอลังการแต่อย่างใด)

ชื่อของ หมอชาวบ้าน อยู่คู่กับสังคมไทยย่างเข้าขวบปีที่ 38 ถ้าเปรียบเทียบเป็นคนสักคนหนึ่ง เขาหรือเธอก็น่าจะย่างเข้าสู่วัยกลางคนที่ – เราคาดเดาเอาเองว่า – ไม่น่าจะประสีประสากับการเปลี่ยนแปลงของวิธีเปิดรับข้อมูลข่าวสารของผู้คน โดยเฉพาะกับสายตาคับแคบของเราที่มองเห็นชื่อขององค์กรนี้เพียงแค่บนชั้นวางนิตยสาร กองปะปนกับหน้าปกน่าดึงดูดใจของหัวอื่นๆ ที่ค่อยๆ จากไป

แต่กลายเป็นว่าเมื่อเห็นตัวเลขจำนวนไลก์หลักล้าน เว็บไซต์หน้าตาดูดีใช้งานง่าย และแอปพลิเคชัน DoctorMe ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นคู่มือช่วยให้คนทั่วไปได้รู้ว่าอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ต้องรักษาเบื้องต้นอย่างไร ทั้งหมดทำให้เราต้องเปลี่ยนความคิด และเริ่มตั้งคำถาม,

องค์กรเล็กๆ แห่งนี้เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร โดยยังไม่เปลี่ยนแปลง ‘ตัวตน’ ที่ตั้งเอาไว้ว่า เปลี่ยนชาวบ้านให้เป็นหมอ เปลี่ยนหมอให้เป็นชาวบ้าน ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพแบบผิดๆ กระจายเป็นไฟลามทุ่งพอๆ กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ และตัวเลือกความรู้สุขภาพมากมายบนโลกออนไลน์

เพื่อหาคำตอบของคำถามที่ว่า เราพูดคุยกับ ผศเนตรนภา ขุมทอง เลขาธิการมูลนิธิหมอชาวบ้าน ถึงการเปลี่ยนแปลง และเป้าหมายของ หมอชาวบ้าน ที่จะเป็นไปในอนาคตอันใกล้

ในฐานะวัคซีนป้องกันตัวเอง ที่ใครๆ ก็ฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้

 

 

ปรัชญาตั้งต้นของ หมอชาวบ้าน เมื่อ 38 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร

ปรัชญาเริ่มแรกของเราคือต้องการทำให้ชาวบ้านทุกคนเป็นหมอ ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้หมอทุกคนเป็นชาวบ้าน คือหมอต้องพูดภาษาชาวบ้านกับเค้าได้

เราก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ตอนนั้นยังไม่มีโครงการสามสิบบาทหรืออะไรเลย ทีมก่อตั้งคือ .นพ. ประเวศ วะสี, .นพสันต์ หัตถีรัตน์, .นพเสม พริ้งพวงแก้ว และ รศ.นพสุรเกียรติ อาชานานุภาพ มองเห็นกันว่าการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนยังไม่มีจุดเริ่มต้นที่พร้อม หนังสือ สื่อความรู้ที่ใช้สอนเด็กๆ จะบอกว่าเป็นอะไร ป่วยอะไรให้ไปหาหมอ ไม่มีการให้ประชาชนพึ่งตนเอง แต่ตอนนั้นโรงพยาบาลชุมชนก็ยังไม่ได้มี มีแต่สถานีอนามัยที่มีหมอแค่คนเดียว ไม่มีเตียงรับผู้ป่วยด้วย พอมีอะไรทีนึง ประชาชนต่างจังหวัดจะลำบากมาก

แต่จริงๆ แล้ว 80% ของโรคที่เราป่วยกันสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ต้องไปหาหมอ ไปก็เสียเวลาการเดินทาง เจอหมอก็ไม่ถึงสองนาที ช่วงแรกเลยออกมาเป็น นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มแรก ซึ่งเป็นความพยายามให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ในเรื่องสุขภาพ แต่นิตยสารอย่างเดียวคงไม่พอ เราเลยมีการจัดอบรมพระ เพราะพระคือผู้ที่อยู่ในชุมชน เราก็เข้าไปถวายความรู้ว่าเวลาเจ็บป่วยเป็นโรค ปวดหัว ตัวร้อนควรทำอย่างไร มีหนังสือคู่มือสำหรับพกติดตัวไว้ให้พระ ไว้ให้ครูที่อยู่ใกล้ชุมชน ใกล้นักเรียนไว้เผยแพร่ความรู้

 

การดูแลตัวเองในเรื่องสุขภาพสำคัญอย่างไร

ที่จริงแล้วทุกโรคมีพื้นฐานการรักษาของมัน เราสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ ยกเว้นว่าเป็นโรคระดับร้ายแรงแล้ว อย่างที่บอกว่ามีประมาณ 80% ของโรคที่เจ็บป่วยเลยที่เราดูแลตัวเองได้ในขั้นเริ่มแรก และสามารถที่จะป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยด้วย ถ้าเราดูแลสุขภาพได้ดี สร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างที่เรารู้กันว่าในร่างกายเรามีเชื้อโรคอยู่แล้ว เพราะเรารับจากแหล่งต่างๆ อยู่ทุกวัน แต่มันจะเจ็บป่วยขึ้นมาก็เมื่อคราวร่างกายของเราอ่อนแอ ในอากาศมีเชื้อไวรัสเยอะแยะ แต่ทำไมบางคนเป็น แต่บางคนไม่เป็น มันขึ้นอยู่กับว่าคนๆ นั้นดูแลสุขภาพดีมั้ย ถ้าอ่อนแอ นอนดึก โรคก็มาหาแล้ว

โดยธรรมชาติ ร่างกายของเราออกแบบมาดีมากที่จะช่วยเรา จนมันช่วยไม่ไหวถึงจะแสดงอาการออกมา ถ้าเราดูแลสุขภาพ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ แค่นี้ก็ลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคชนิดไม่ติดต่อที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน การดูแลสุขภาพ เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือมะเร็งแล้ว

นี่คือหลักการรวมๆ ของหมอชาวบ้าน คือจะพึ่งตัวเองได้อย่างไรทั้งเมื่อเจ็บป่วยและไม่เจ็บป่วย แต่เราอยากให้เน้นในฝั่งไม่เจ็บป่วยและสร้างเสริมสุขภาพมากกว่า เพราะถ้าทำได้จะได้เป็นการป้องกันไว้ก่อน

 

ปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลที่เห็นกัน เป็นเพราะเราไม่ได้ทำความเข้าใจกับการดูแลตัวเองหรือเปล่า

ใช่ค่ะ ปัจจุบันคนไข้ก็ยังเยอะอยู่มากนะ ถึงจะบอกว่าหมอชาวบ้านตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานทั้งสองทาง คือดูแลเมื่อเจ็บป่วยและสร้างเสริมสุขภาพ แต่ถ้าจะพูดจริงๆ มันก็ยังสู้กระแสของการเจ็บป่วยแล้วไปรักษาไม่ได้ ถึงการรักษาสุขภาพในสมัยก่อนมันยังไม่ได้เป็นกระแสเท่านี้ แต่ถ้าพูดถึงมันก็ยังไม่ได้เปลี่ยนถึงขั้นเห็นภาพว่าคนไปรักษา หาหมอเมื่อป่วยน้อยลงขนาดนั้น

แต่ขณะเดียวกัน ประชาชนก็เริ่มรู้จักดูแลตัวเอง เวลาเจ็บป่วยจะได้ไม่ต้องไปพึ่งการแพทย์อย่างเดียว จากที่เราเก็บข้อมูลคนที่รับสื่อหมอชาวบ้าน เค้าก็ปลูกสมุนไพรเอง เจ็บป่วยอะไรก็ช่วยตัวเอง แต่เอาจริงๆ ก็ยังมีประชาชนตามชนบทที่ก็ยังไปหาหมออยู่บ้างนะคะ

หรือถึงจะรู้จักดูแลตัวเองเมื่อเจ็บป่วยแล้ว แต่ตอนก่อนเจ็บป่วยก็ยังไม่ได้ดูแลขนาดนั้น อาหารอาจจะยังกินไม่ถูกหลัก กินมันหรือเค็ม สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ด้านการปรับพฤติกรรมเลยต้องทำงานหนักมากขึ้น ด้านสร้างเสริมสุขภาพก็ต้องแอคทีฟมากขึ้น เป้าหมายตอนนี้คือเราพยายามให้คนที่ติดตาม หมอชาวบ้าน ที่มีอยู่เยอะมากๆ กลายเป็น health promoter เป็น active citizen คือไม่ได้เป็นแค่ผู้ใช้ แต่สามารถจะแบ่งปันคนอื่นได้ เลยเริ่มเอาคนที่อยู่ในเพจ มาจัดอบรม สร้างให้เค้าเห็นคุณค่า empowered ให้เค้ามากขึ้น

 

หรือเป็นเพราะเรายังคิดว่าไปหาหมอแล้วจะรักษาอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าจะนอนพักรักษาอยู่บ้านที่ใช้เวลานานกว่า

มันเป็นความเชื่อผิดๆ จากยุคก่อนที่สั่งสมมาเยอะมากว่ามีอะไรให้ไปหาหมอ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่โฆษณาเยอะมากในเชิงให้มารักษา ทั้งบิลบอร์ด รายการวิทยุ ทีวี อันนั้นมันก็เป็นทางเลือกของคนรวย คนมีเงิน ก็ไปทางนั้นได้ถ้าต้องการ

แต่เราจะเน้นไปที่คนชั้นล่าง และชั้นกลางที่ไม่ได้มีเงินพอขนาดนั้น ถึงได้มีการจัดกิจกรรมมากมาย เป็นกลไกเล็กๆ ที่เราทำ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเค้าก็เล่นในเชิงนโยบายด้วยแหละนะคะ มีกรมอนามัยที่ทำ แต่กรมการแพทย์ที่ดูแลโรงพยาบาลก็ได้งบสูงสุดอยู่ดี เพราะโรงพยาบาลยังต้องใช้เงินเยอะ

ดังนั้นงบของการสร้างเสริมสุขภาพก็ยังไม่เยอะเท่ากับงบการรักษา ถ้าดูจากงบมันก็เห็นแล้วว่าการรักษายังเป็นเรื่องหลัก การสร้างเสริมก็ยังเป็นเรื่องรองอยู่ดี

 

 

หมอชาวบ้าน เริ่มขยับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสื่อตั้งแต่ตอนไหน

ช่วงปี พ.ศ. 2550 เราเริ่มต้นทำเว็บไซต์ครั้งแรกเลย แต่ช่วงแรกเป็นแค่การสแกนนิตยสารทั้งหมดเกือบสามร้อยฉบับทั้งเล่มลงไป ซึ่งมันก็ยังค้นหายาก สสส. ก็เลยให้ทุนมาพัฒนา ทำงานกับบริษัทไอทีต่างๆ พัฒนาเว็บให้ดีขึ้น ใส่คีย์เวิร์ดให้หาง่ายขึ้น คนก็เข้ามาใช้มากขึ้น เริ่มทำแอปพลิเคชัน DoctorMe ที่มีเรื่องพื้นฐานทั้งนั้นเลย อย่างการทำน้ำเกลือเวลาท้องเสีย ทำได้ที่บ้าน ไม่ต้องซื้อที่ร้านขายยา เพื่อเป็นช่องทางนึงในการพึ่งตัวเองเมื่อไม่สบาย อะไรที่สำคัญในการดูแลตัวเองเราก็จะให้ประชาชนได้เรียนรู้

ตอนแรกเฟซบุ๊กไม่ได้อยู่ในสายตาเลย เพราะตอนนั้นมันยังไม่ได้ดังมาก ช่วงนั้นเพจหมอชาวบ้านมีแค่ประมาณห้าหมื่นไลก์เอง เพราะเราไม่ได้มีเงินจ้างคนมาดูแล โพสต์บ้างไม่โพสต์บ้าง แต่พอได้งบมาเพิ่มก็เลยจ้างแอดมินเต็มเวลา ที่ต้องทำเพื่อสังคม มีใจรัก มีคนมาสมัครเยอะมากเลยนะคะ สุดท้ายก็ได้คนที่เคยทำอยู่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่อยู่ตึกข้างๆ (หัวเราะ) เค้าออกไปทำงานพัฒนาชุมชน พอเข้ามาทำก็โพสต์ให้เราวันนึงหลายครั้งมาก

จากหมื่นก็กลายเป็นแสน ในเวลาเจ็ดเดือนก็ถึงหนึ่งล้าน

เราเลยชวนเค้ามาคุยในนิตยสารว่าทำยังไงถึงได้ทำให้เพจเติบโตเท่านี้ ตามมาด้วยการไปออกรายการโทรทัศน์และวิทยุเรื่อยๆ พอคนเห็นเยอะขึ้นก็กลายเป็นเพจอันดับหนึ่งในไทยด้านสุขภาพ จนเราเป็นโมเดลให้อีกหลายองค์กรที่อยากทำสื่อไปถึงประชาชน

โซเชียลมีเดียมันทำให้ข้อมูลกระจายไปถึงชาวบ้านเป็นล้านๆ ต่อโพสต์ วันนึงเราโพสต์เจ็ดแปดครั้ง เดือนละสามร้อยกว่าเรื่อง พอลงไป คนเอาไปแชร์ต่ออีกเยอะเลย

 

จำนวนที่เพิ่มขึ้นถือว่าเกินคาดไหม

เราไม่อยากจะบอกว่ามันเป็นความสำเร็จหรือไม่สำเร็จนะคะ แต่ในแง่การเข้าถึง มันเกินจากที่ตั้งไว้ไปมาก ในเป้าหมายที่เขียนให้ สสส. ไม่ได้เขียนด้วยซ้ำว่าเฟซบุ๊กจะต้องได้เท่านี้ เพราะช่วงนั้นเราเน้นแค่การพัฒนาเว็บ อัพเดตข้อมูล จัดหมวดบทความเป็น 3อ คือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์

จำได้ว่าเราเชิญนักวิชาการมานั่งอัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันทั้งหมด ไปค้างที่โรงแรม เปิดทีละบทความนั่งเช็คกันเลยนะ อันไหนใช้ไม่ได้แล้วก็เอาออกไป มันเป็นงานหนักมากกับการจัดการความรู้เพื่อเอาเข้าไปบนเว็บไซต์ เพื่อเอาไปใช้บนเฟซบุ๊กต่ออีกที ถ้าไม่อัปเดต ประชาชนก็ไม่ได้ข้อมูลใหม่ เลยต้องทำตรงนี้ก่อน ใช้เวลาหกเดือนก่อนจะเอาไปใช้ต่อในช่องทางอื่นๆ

 

เจออะไรน่าสนใจหลังจากขยับตัวมาทางฝั่งออนไลน์บ้าง

คนที่ติดตามเราในเฟซบุ๊กจะเป็นคนทำงานเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ 25-45 ปี ซึ่งตรงกับกลุ่มที่เราอยากได้นะคะ เพราะเค้าจะเป็นคนดูแลคนถึงสามเจเนอเรชัน คือตัวเค้าเอง ลูกเค้า และพ่อแม่ ทุกอย่างเลยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มนี้

แต่เราก็เข้าไปทำโฟกัสกรุ๊ปกับกลุ่มวัยรุ่นนะคะ เพราะก็อยากรู้ว่าเค้าคิดยังไง พอไปคุย เด็กๆ เค้าก็ตรงไปตรงมามากเลย เค้าบอกว่าชื่อมันเชย (หัวเราะ) ถ้าอยากให้เข้ากับเค้าก็ต้องเปลี่ยนชื่อ ถามว่าตอนนี้เค้าเข้าถึงข้อมูลทางสุขภาพจากที่ไหน คำตอบคือเพจอย่าง หมอแล็บแพนด้า เพราะมันก็ตรงกับจริตเค้า ใช้คำสั้นๆ กับรูปภาพ แต่ของเราเองพอพยายามทำให้สั้นๆ คนที่เป็นผู้ใหญ่หน่อยก็บอกว่ายาวๆ ดีแล้ว เค้าอยากรู้รายละเอียด เหมือนเค้าไม่แคร์ อยากได้เนื้อหาเยอะๆ

แต่วัยรุ่นก็น่ารักนะ เค้าบอกว่าไม่ต้องปรับทั้งหมดหรอก ให้มีอาทิตย์ละครั้งที่ทำให้เข้าถึงวัยรุ่นก็ได้ แต่ต้องให้ไวรัลนะ เป็นคลิปที่ทำให้คนอยากเข้ามาดู พอถามว่าเค้าอยากรู้อะไรบ้าง ปรากฏว่าสิ่งที่เค้าอยากรู้ก็เป็นเรื่องแบบวัยรุ่นๆ อย่างการออกกำลังกายง่ายๆ อาหารอะไรที่กินแล้วไม่อ้วน เป็นทางเลือกให้กับเค้า

มีครั้งนึงที่เราจัดอบรมเรื่องอาการไบโพลาร์ ไม่คิดเลยว่าวัยรุ่นจะเข้ามาเยอะมาก เพราะปกติเวลาจัดอบรมจะมีแต่วัยทำงานกับผู้สูงอายุ ลองนั่งคุยกับเค้าก็ได้รู้ว่าเพราะเน็ตไอดอลที่เค้าตามอยู่เป็นโรคนี้ เลยกังวลว่าตัวเองจะเป็นไหม เราเลยต้องตอบสนองสิ่งที่เค้าอยากจะรู้ อาจจะสร้างสื่อ สร้างทางเลือกให้นอกจากเพจดังๆ ที่เค้าติดตามอยู่ ซึ่งตอนนี้ก็พูดเรื่องสุขภาพได้ดี ตรงเป้าหมาย โจ๋งครึ่มถูกใจเด็กๆ

 

อะไรทำให้ หมอชาวบ้าน ปรับตัวได้เร็วขนาดนี้

ถ้าเราไม่ปรับตัวให้เร็ว เราก็ต้องปิดตัวไป จากนิตยสาร เราก็เปลี่ยนมาเป็นสื่อโซเชียลมีเดีย โจทย์ตอนนี้ของเราคือจะใช้สื่อนี้เข้าถึงคนระดับล่างให้มากขึ้นได้อย่างไร และถ้าไม่ได้จะใช้สื่ออะไรอีก นั่นเป็นการบ้านที่กำลังคิดอยู่ หลังจากที่ไปเก็บข้อมูล เรียนรู้ชีวิตของเค้า พอได้มาก็ต้องสร้างเป็นโมเดล ทำงานร่วมกับทีมไอที ว่าจะทำอย่างไรต่อไปให้เค้าเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ ถ้าเค้าไม่ใช้สมาร์ตโฟน จะทำอย่างไรต่อ มันทำให้เราได้มาทำงานกับคนในอีกฝั่งหนึ่ง อย่างคนจากสายไอที ที่เค้าก็ดีใจที่ได้ทำงานร่วมกัน

จุดมุ่งหมายของหมอชาวบ้าน เราคงยึดคำว่า ชาวบ้าน ตลอดไป

ซึ่งคำๆ นี้หมายถึงคนทุกระดับชั้น ต้องหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึงคนมากขึ้น พัฒนาสื่อของหมอชาวบ้านให้เท่าทันกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับคนทุกกลุ่มที่เราอยากให้เค้าเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะระดับล่างที่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลได้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ

 

คนระดับล่างมีปัญหาการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพแค่ไหน

ยกตัวอย่างง่ายๆ กลุ่มที่ใช้และซื้ออาหารเสริมที่ขายดีมากในยุคนี้คือคนระดับล่างเป็นส่วนใหญ่ เค้าแบ่งเงินส่วนนึงเพื่อซื้ออาหารเสริมเหล่านี้เลย เพราะเค้ามองว่าในชีวิตประจำวันได้รับอาหารไม่เพียงพอ ชาวบ้านก็โดนบริษัทมาขายตรง ลากญาติพี่น้องมาฟัง เดือนนึงใช้เป็นพันเลยนะคะ เพราะเค้าเป็นห่วงร่างกายตัวเองว่าจะได้รับสารอาหารไม่พอในแต่ละวันที่ต้องทำงาน อย่างเช่นแม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์ กินอาหารไม่ตรงเวลา ปวดปัสสาวะก็ต้องอั้นไว้ คนเหล่านี้ก็ได้ความรู้มาจากคนที่ขายตรงเยอะว่าให้กินอาหารเสริมตัวนั้นตัวนี้ สมุนไพร วิตามินที่บอกว่ากินแล้วจะแข็งแรง เค้าก็ซื้อ

เหมือนเค้าเองก็บอกว่า ผมก็รู้ว่ากินอาหารไม่ครบหมู่ ไม่รู้ว่ามีประโยชน์หรือไม่มี รู้แค่ว่าต้องรีบๆ กินให้มันอิ่มไปก่อน พอมีคนเข้ามาขาย เค้าก็จะซื้อ ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้จำเป็นเลย นอกจากเป็นคนที่มีปัญหาสุขภาพจริงๆ เช่นขาดวิตามินตัวนั้นตัวนี้ หมอก็จะแนะนำให้ทานเป็นครั้งคราว แต่พอเป็นอาหารเสริม มันต้องเสียเงิน บางทีเกิดผลเสียระยะยาวด้วย เพราะถ้าไปกินซ้ำๆ มันเกินจากที่ร่างกายต้องการ สิ่งที่ดีที่สุดคืออาหารที่เป็นธรรมชาติ ถ้ากินครบห้าหมู่มันได้ครบอยู่แล้ว ไม่กินมัน ไม่กินหวาน ไม่กินเค็ม แค่นี้เองที่เป็นเบสิคที่ร่างกายต้องการ

ปัญหาคือกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์แบบนี้ คือกลุ่มที่เข้าถึงสื่ออย่างเราไม่ได้เลย เพราะเค้าบอกว่าต้องจ่ายเงินเข้าอินเทอร์เน็ต ก็เอาไว้โทรศัพท์เป็นส่วนใหญ่ ถามว่าเค้าได้ข้อมูลด้านสุขภาพยังไง เค้าก็บอกว่าป่วยทีนึงก็ไปซื้อยา ถามที่ร้านขายยาทีนึง ไม่สบายก็พึ่งยาแบบนี้ รายการทีวีเรื่องสุขภาพก็ไม่ได้ดูเพราะไม่มีเวลา กลับถึงบ้านก็เหนื่อยแล้ว อย่างมากก็ได้ดูละคร

ทุกวันนี้แต่ละเดือนงานอบรมต่างๆ ที่เราจัดจะเป็นคนชนชั้นกลางเข้ามาฟังเป็นส่วนใหญ่ คนระดับล่างจะเข้าไม่ค่อยถึง ช่วงนี้เราเลยลงไปทำงานกับพวกเค้า ไปทำงานกับแม่ค้าขายของริมทาง วินมอเตอร์ไซค์ รปภ. แม่บ้าน และอื่นๆ เพราะเราอยากรู้ว่าวิถีชีวิตเค้าเป็นอย่างไร เค้ามีความรู้เรื่องสุขภาพแค่ไหน รับสารจากช่องทางไหน เราพยายามไป empower ประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่เข้าถึงได้ง่ายอยู่แล้ว ขั้นนี้เลยพุ่งเป้าไปที่คนกลุ่มนี้ จะทำยังไงให้เข้าถึงเค้าได้ ซึ่งเราไม่เคยไปศึกษาวิถีชีวิตเค้าเลย

 

ที่บอกว่าเข้าถึงชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ มันกลับกันกับตอนที่เริ่มก่อตั้งหมอชาวบ้านไหม

ตอนนั้นปรัชญาที่คิดกัน คือต้องทำให้ราคาถูก และเข้าถึงชาวบ้านให้มากที่สุด เพราะชาวบ้านเค้าไม่ได้มีเงินซื้อเยอะ คนที่มาเขียนทั้งหมอและเภสัช นักโภชนาการหรือหมอฟัน เค้าไม่รับค่าจ้างเลยนะคะ ฟรีทั้งหมด ต้นทุนเราไม่มีคนเขียนเลย เราเลยทำให้นิตยสารราคาถูกได้ จะได้กระจายไปถึงคนในระดับชนบทให้มากที่สุด องค์การอนามัยโลกก็เข้ามาช่วยในช่วงแรก ให้เงินมาก้อนนึงแล้วก็ซื้อหนังสือ นิตยสารของเราไปให้ชาวบ้าน

แต่ช่วงหลังๆ คนที่เป็นสมาชิกของเราก็จะเป็นคนชั้นกลาง คนมีเงินพอจะสั่งซื้อ แม่บ้าน ครู ข้าราชการ พอกลับมามองดู ปรัชญาของเราที่อยากให้เข้าถึงชาวบ้านได้ ก็คือวิทยุ อบรมครูและพระให้ไปส่งต่อชาวบ้าน แต่ถ้าจะให้ชาวบ้านซื้อเองก็ยังไม่สามารถทำได้ขนาดนั้น ทำให้เราต้องทำงานกับคนกลุ่มแรกเริ่มของเรามากขึ้นอย่างที่บอก เพราะตอนนี้คนชั้นกลางเค้าช่วยตัวเองได้แล้ว เข้าถึงสื่อ มีเครื่องมือพร้อมแล้ว

 

 

มองเทรนด์การรับข้อมูลสุขภาพของคนในยุคนี้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

เทรนด์เปลี่ยนไปเยอะมากนะคะ ตอนนี้คนเริ่มขวนขวายหาความรู้เยอะขึ้น อย่างเรื่องของสารที่เป็นพิษ อาหารออร์แกนิก อะไรที่เป็นการพึ่งตนเอง ช่วยตนเองด้านสุขภาพ เท่าที่จัดอบรมมาคนจะชอบมาก เพราะในยุคก่อนหน้านี้ที่เราไปจัดอบรมให้พระหรือครู มันเป็นการทำงานแบบ passive เหมือนเป็นการให้มาฟัง แต่ยังไม่ได้คิดว่าจะให้เค้าและคนทั่วไปมามีส่วนร่วมได้ยังไง

แต่ครั้งนี้เราได้เรียนรู้ว่าอะไรก็ตามที่ต้องใช้ทักษะ ออกกำลังกาย อย่างการบริหารสายตาในกรณีที่สายตาสั้นไม่มากเพื่อให้กลับมาเป็นปกติได้ คนจะแน่นห้องประชุม จัดอบรมกันไม่ไหวเลย คนสนใจกันเยอะมาก

มันเลยทำให้เราเห็นว่ากระแสความตื่นตัวด้านสุขภาพตอนนี้สูงขึ้นมาก ยิ่งเป็นแหล่งที่คนเชื่อถือ มองว่าชื่อ หมอชาวบ้าน ที่ติดอยู่มีเครดิต เค้าก็จะเข้ามาหาความรู้ต่างๆ เยอะขึ้น เทรนด์ที่เห็นมันจะเปลี่ยนในเชิงบวก ดูแลตัวเองมากขึ้น หาข้อมูลมากขึ้น อยากฝึกปฏิบัติอะไรที่ดีต่อร่างกายแบบง่ายและเร็ว ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะนี้

 

แล้วปัญหาการส่งต่อข้อมูลสุขภาพแบบผิดๆ ล่ะ

เป็นปัญหาใหญ่เลยค่ะ เราก็ได้คุยกับนักวิชาการและจัดอบรมไปเมื่อหลายเดือนก่อนนะ เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เกี่ยวกับการคิดก่อนแชร์ เชิญหลายฝ่ายมาคุย มาฟังกันว่าทำอย่างไรเราถึงจะเท่าทันสื่อ เพราะมันทำให้คนเข้าใจผิด คนสร้างข้อมูลขึ้นมาแบบผิดๆ เราเป็นห่วงประชาชน เลยต้องมาให้ข้อมูล แล้วก็โพสต์ลงในเพจ เพื่อให้คนที่ตามรู้ว่าถ้ามีการแชร์ข้อมูลกัน มันมาจากแหล่งไหน ตั้งคำถามก่อนว่าเชื่อถือได้หรือเปล่า ต้องถามตัวเองเสมอว่าถ้าไม่แน่ใจก็อย่าเพิ่งแชร์ ตรวจจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ เช่นเห็นเรื่องนี้ เข้าไปดูในเว็บของหมอชาวบ้านก็ได้ หรือสื่ออื่นๆ ของคณะแพทย์ต่างๆ

เราต้องคอยเตือนตัวเองว่าอันนี้มันอาจจะมีข้อเสียก็ได้ถ้าเราไปทำ อย่าทำตามหมดทุกเรื่อง ตอนนี้เราก็พยายามให้ข้อมูลตรงนี้กับประชาชน การอบรมต่างๆ ก็จะคอยเตือนเรื่องนี้ไปด้วย ให้เค้าจำได้

หรือบางครั้งพอมีคนเห็นข้อมูลจากหมอชาวบ้านเยอะขึ้นก็เอาไปใช้ประโยชน์ในแง่การเอาไปเผยแพร่ บางครั้งก็เอาไปบิดข้อมูล เคยมีนิตยสารหัวนึงเอาข้อมูลเราไปลงแล้วบิดคำ แต่เขียนเครดิตว่าจากนิตยสารหมอชาวบ้าน เป็นเรื่องของทุเรียนที่เคยมีข่าวว่ากินแล้วลดน้ำหนักได้จริงไหม เพราะเอาส่วนที่เราเขียนว่าทุเรียนก็มีประโยชน์ แร่ธาตุต่างๆ เยอะ แต่ไปเพิ่มเองว่า ‘ทุเรียนลดน้ำหนักได้’

มีคนโทรมาถามเราเยอะมากว่าจริงหรือเปล่าเรื่องนี้ เราก็สงสัย เพราะไม่เคยลงเรื่องนี้เลย เลยได้รู้ว่ามาจากไหน เลยต้องโทรไปหาทันที ส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามันเสียหาย ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ให้เอาออก แล้วก็ต้องบอกว่าต่อไปถ้าจะเอาข้อมูลเราไปให้เอาไปทั้งหมด อย่าตัดต่อ แล้วให้ลงว่ามาจากฉบับไหน จะได้ตรวจสอบได้

 

 

มองภาพอนาคตการสร้างเสริมสุขภาพของไทยเป็นอย่างไร

พอเราเริ่มเข้าใกล้สังคมผู้สูงอายุ การรักษาก็ยิ่งต้องเพิ่มขึ้น งบการรักษาก็ต้องเยอะขึ้น โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเป็น active citizen ให้เค้าดูแลตัวเองอย่างไรให้ชะลอการเจ็บป่วยออกไป หรือถ้าเป็นแล้ว ก็ให้รู้จักดูแลตัวเองได้ คงต้องมาเช่นข้อมูลทางด้านผู้สูงอายุให้มากขึ้น

ตอนนี้เราเน้นในวัยทำงาน เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าจะเข้าสู่วัยสูงอายุ ถ้าเราไปเน้นตอนที่เค้าเข้าสู่วัยนั้นแล้วคงช้าไป เลยต้องเริ่มให้เร็วขึ้น เราถึงออกหนังสือส่งเสริม 3 ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ คลอดลูก จะทำยังไงให้ได้ครบ เข้าสู่วัยเรียน วัยรุ่น และอื่นๆ รวมถึงกลุ่มคนพิการด้วย ที่เราจะทำเป็นออดิโอบุ๊กส์ เพราะเค้าจะได้ฟังได้

เราเคยลองไปคุยกับกลุ่มคนพิการ เค้าบอกว่ามีปัญหาเรื่องอย่างพอเข้าวัยรุ่น อยากมีเพศสัมพันธ์แล้วจะทำอย่างไร เป็นเบาหวานจะทำอย่างไร คือสื่อเขาไม่มี เราเลยต้องเข้าถึงคนกลุ่มนี้ด้วย ที่ยังเข้าถึงไม่ได้ เราเลยเริ่มทำแล้วแจกจ่ายไปที่สมาคมคนตาบอด เอาขึ้นเว็บไซต์ หรือบางครั้งคนแก่ที่เค้าอ่านไม่ไหวก็จะได้เข้าถึงข้อมูล ต้องหาช่องทางให้เยอะขึ้นในการเข้าถึงคนที่มีโอกาสเข้าถึงน้อย ว่าจะทำให้เค้าเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร

 

ถ้าเปรียบเทียบเป็นคนวัยใกล้สี่สิบ หมอชาวบ้าน อยากให้คนอื่นมองภาพตัวเองแบบไหน

ปรัชญาการทำงานของเรามีอยู่สามสิ่ง หนึ่งคือต้องถูกหลักวิชาการ สองคือต้องง่าย และสามคือต้องปฏิบัติได้จริง สามสิ่งนี้คือหลักการที่ต้องยึดไว้เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของ หมอชาวบ้าน เพราะมันจะทำให้เราเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายขึ้น

ถึงเราจะเข้าใกล้สี่สิบปี แต่ดิฉันคิดว่าสิ่งที่เราทำก็ถือว่าไม่ใช่วัยกลางคนนะคะ แค่ต้องทันกับกระแสให้เข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น เรียกว่าเป็นช่วงแอคทีฟล่ะมั้ง เพราะถ้านับจากช่วงที่เราเข้าสู่ยุคใหม่ ก็เพิ่งจะเริ่มต้น สิบกว่าปีเอง เลยมีโอกาสที่จะทำให้เราเข้าถึงประชาชนมากขึ้นโดยใช้สื่อเหล่านี้

ถ้าถามว่าอยากให้คนมองเราเป็นอย่างไร คงอยากให้เป็นเหมือนเป็นเพื่อนเค้า เวลาที่เจ็บป่วย ก็อยากเข้ามาปรึกษาดูว่าเป็นอะไร รักษายังไงดี หรือถ้าไม่ได้เจ็บป่วยอะไร แต่ดูแลรักษาสุขภาพก็เข้ามาหาได้ มาคุยกันฉันมิตรได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ต้องกลัวที่จะเข้าหา

 

 

เชิงอรรถ

[1] ยอด ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2560

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save