fbpx

ระลึกถึงอาจารย์อารี

ในประดาคนที่รู้จักอาจารย์อารี (ศ.นพ.อารี วัลยะเสวี – ผู้ร่วมก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล, ประธานมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์) ได้พูดคุยกับท่าน ได้ประชุมร่วมกัน ไปพบที่บ้าน ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลแม้ในวันและเดือนที่ท่านไม่รู้สึกตัวแล้ว ผมน่าจะเป็นคนที่มาล่ากว่าเพื่อน อีกทั้งอาจจะเป็นคนที่มีความสำคัญน้อยกว่าเพื่อน

ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนที่ข่าวถึงแก่กรรมของท่านจะมาถึง คุณเจิมขวัญ เพื่อนร่วมงานที่มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ซึ่งเราไม่ได้พบกันหลายปี ส่งแชตทักทายมาว่าอยากพบและนั่งกินกาแฟด้วยกัน ผมมิได้ไปพบเพราะปัญหาสุขภาพแต่ก็ได้ฝากความระลึกถึง

ประมาณ 2-3 วันก่อนที่ข่าวถึงแก่กรรมจะมาถึง คุณกัญญารัตน์ เพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่งที่มูลนิธิกดไลก์โพสต์หนึ่งของผมบนเฟซบุ๊กหลังจากไม่ได้กดไลก์มานาน  เราพบกันครั้งสุดท้ายหลายปีก่อน เธอขับรถมาเชียงรายพร้อมครอบครัวและแวะทักทาย จากนั้นไม่ได้พบกันอีก

หลังจากที่อาจารย์ถึงแก่กรรม คุณสมหญิง เพื่อนร่วมงานที่มูลนิธิอีกคนหนึ่งส่ง sms มาแจ้งกำหนดการงานศพของอาจารย์ ได้ตอบขอบคุณไปและว่ามิได้ไปนะ ผมได้ลาอาจารย์ที่โรงพยาบาลเรียบร้อยแล้วก่อนออกจากงานเลขาธิการที่มูลนิธิ

เล่าเรื่องนี้ให้ฟังสำหรับคนชอบฟัง สามท่านนี้ไม่ได้ติดต่อผมมานานแล้วแต่เหมือนจะมาพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายในสัปดาห์ที่ท่านอาจารย์จากไป มิหนำซ้ำมาด้วยการสื่อสารคนละแบบอีกต่างหาก สามท่านที่เอ่ยนามเป็นกัลยาณมิตรที่ไม่เคยขมวดคิ้วเวลาพบว่าผมมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง

อาจารย์อารีก็ไม่เคย

คุณหมอสมศักดิ์ (ชุณหรัศมิ์) มาเชียงรายเพื่อชวนผมไปทำงานที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติในปีหนึ่ง เวลาผ่านไปจึงได้ทำงานในสถานะเลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ซึ่งท่านอาจารย์อารีเป็นประธาน หนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 ที่อาจารย์ปกป้อง (จันวิทย์) กับคุณวรพจน์ (วงศ์กิจรุ่งเรือง) แปลและพิมพ์ครั้งแรกเกิดจากความร่วมมือกันที่มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์นี้เอง

ปีที่เข้าไปทำงานมูลนิธิ อาจารย์อารีสบายดี ถือไม้เท้าเดินขึ้นมาที่สำนักงานมูลนิธิซึ่งตั้งอยู่ในซอยเล็กๆ ตรงข้ามเซ็นทรัล ลาดพร้าว เป็นพื้นที่สีเขียวเล็กๆ อันเป็นที่ตั้งของ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มาตั้งแต่แรก เป็นจุดนัดพบและประชุมขององค์กรขับเคลื่อนสังคมต่างๆ มากหน้าหลายตา เป็นสถานที่เรื่องราวหลายเรื่องในระบบสุขภาพเริ่มต้นขึ้นและสานต่อจนเป็นรูปร่าง

ตอนที่ก่อตั้งมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ คุณหมอสฤษดิ์วงศ์และคุณหญิงสดศรีตั้งใจที่จะทำงานเรื่องเด็กปัญญาเลิศ แต่ปีที่ผมเริ่มงาน ความตั้งใจเรื่องเด็กปัญญาเลิศมีน้ำหนักเบาลงแล้วในสังคมไทย เรื่องที่เป็นวิกฤตมากกว่าคือการศึกษาที่สร้างความทุกข์มากกว่าสร้างการเรียนรู้ เข็มมุ่งของมูลนิธิจึงเป็นเรื่องปฏิรูปการศึกษา

งานที่ทำมีอุปสรรคมาก ถามว่าสำเร็จหรือไม่ประเมินได้จากการศึกษาวันนี้ คำตอบคือไม่ อุปสรรคที่ขัดขวางงานมีมากมายก่ายกองและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการรอมชอม

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ภาพจากสถาบันพัฒนาการเรียนรู้ทักษะศตวรรษที่21

อาจารย์อารีเรียกผมเข้าไปคุยในห้องส่วนตัวบางครั้ง ส่วนใหญ่เพียงถามสารทุกข์สุขดิบว่าทำงานมีความสุขไหม มีปัญหาอะไรไหม ท่านไม่เคยดูเนื้องานตรงๆ เพียงแค่ถาม ทำความเข้าใจ และให้กำลังใจ วัฒนธรรมการทำงานที่มูลนิธิแห่งนี้ผู้ใหญ่จะไม่ข้ามเส้น ก้าวก่าย หรือล้วงลูก จะให้ความไว้วางใจและโอกาสแก่คนรุ่นใหม่มากกว่าที่อื่น 

ที่ท่านทำอย่างมากที่สุดมีเพียงคอยบอกว่าเข็มมุ่งของเราคืออะไร อย่าเผลอออกนอกเส้นทาง

ส่วนใหญ่ผมจะตอบว่ามีความสุขดี ซึ่งมีความสุขจริงๆ แม้งานจะยากแต่วัฒนธรรมการทำงานที่เปิดกว้าง มีเสรีภาพ พูดได้ทำได้ เป็นปัจจัยสำคัญ สำหรับบุคลากรบางคนอาจจะรู้สึกได้บ้างว่ามี ‘ความเป็นผู้ใหญ่’ ของอาจารย์ผู้ใหญ่บางท่านกดทับอยู่ แต่จะว่าไปก็น้อยกว่าในระบบราชการอยู่มาก ที่ยังมีบ้างน่าจะเป็นส่วนของวัฒนธรรมไทย

แต่ปัญหาว่างานไม่เคลื่อนหรือเคลื่อนยากนี้เป็นเรื่องน่าเสียดาย เหตุเพราะแหล่งทุนกำหนดเงื่อนไขมากมายในการทำงาน  ในขณะที่เราได้เสรีภาพในการคิดและทำจากมูลนิธิแต่เรากลับได้ข้อแม้และข้อห้ามมากมายจากแหล่งทุนไม่ต่างจากราชการ อาจารย์ก็จะปลอบและให้กำลังใจแก่ผมเสมอ เท่านั้นเราซึ่งเป็นหมอบ้านนอกตัวเล็กๆ ก็ดีใจมากมายแล้ว

ผมได้ยินมาว่าตอนที่อาจารย์ยังหนุ่มดุกว่านี้ อันนี้ไม่ทราบเพราะไม่เคยเห็นกับตา กับผมท่านมีเมตตาเสมอมาและเสมอต้นเสมอปลายจนกระทั่งเริ่มป่วย ท่านเริ่มมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ในเวลาต่อมา ผมเดินทางไปพบท่านที่บ้านเป็นบางครั้ง แรกๆ ก็คุยกันได้บ้าง แต่ไม่นานหลังจากนั้นท่านก็ไปอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีและไม่รู้สึกตัวอะไรอีก

คุณเจิมขวัญ คุณกัญญารัตน์ และคุณสมหญิง พวกเราไปเยี่ยมอาจารย์ที่รามาธิบดีเป็นครั้งๆ ท่านไม่รู้สึกตัวแล้วแต่สภาพร่างกายยังดูดีมาก เหมือนคนชราที่นอนหลับอยู่เท่านั้น มีครั้งหนึ่งที่ผมขอให้พนักงานขับรถพาผมไปพบอาจารย์แต่ลำพังคนเดียว คือช่วงหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2557 ไม่นาน เพื่อไปขออภัยที่ทำงานไม่สำเร็จและกราบลา 

เรื่องอาจารย์อารีและคุณหมอสงวน (สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ – ผู้บุกเบิกหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) นอนโรงพยาบาลนี้มีเรื่องน่าเล่าให้ฟัง ครั้งที่คุณหมอสงวนป่วยหนักระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลรามาธิบดีนี้ มีเพื่อนฝูงและอาจารย์ผู้ใหญ่ไปเยี่ยมมากมาย รวมทั้งนักการเมืองอีกหลายคน มีวันหนึ่ง พยาบาลคนหนึ่งซึ่งอายุน้อยมากถามผมว่าคนป่วยเป็นใคร? ทำเอาขำในใจไปหลายนาที

กับอาจารย์อารีก็เช่นกัน หลังจากป่วยอยู่หลายปี คนไปเยี่ยมคงจะค่อยๆ จางหายไปตามธรรมดาโลก ความเป็นใครของท่านก็มิใช่ข้อยกเว้น วันหนึ่งพยาบาลซึ่งอายุไม่มากนักที่ทำงานบนวอร์ดก็ถามผมว่าคนป่วยเป็นใคร?

น่าถามนักศึกษาแพทย์รามาธิบดีวันนี้ดูเหมือนกันนะครับว่าอาจารย์อารีเป็นใคร

ผมจบศิริราช มิได้มีความสัมพันธ์กับรามาธิบดีมากนัก แต่ชื่นชมอยู่ห่างๆ เสมอ ด้วยได้ยินชื่อเสียงด้านความเป็น ‘หัวก้าวหน้า’ ของรามาธิบดีอยู่เนืองๆ ชื่อเสียงด้านนี้ในช่วงหลังเหตุการณ์ตุลาคมมีมากและฝังรากลึกอยู่หลายปี ไม่ทราบว่านักศึกษาแพทย์รามาธิบดีจะรู้ตัวไหม แต่ในฐานะคนนอกที่พร้อมจะหมั่นไส้เป็นทุนเดิมขอยืนยันว่าชื่อเสียงนั้นเป็นจริง ที่น่าประหลาดใจคือส่วนหนึ่งมาจากท่านอาจารย์อารีด้วย

ผมจอดรถข้างทางเพื่อเขียนบทความนี้หลังจากที่ sms ของคุณสมหญิงขึ้นมา ใช้เวลาประมาณยี่สิบนาทีบนไอโฟน เขียนจากใจ มิได้แก้ไขสำนวนอะไร เสร็จแล้วส่งให้เมล์ตัวเองที่บ้านก่อนจะกลับบ้านไปแก้ไขตัวสะกดและคำย่อให้เรียบร้อย ทิ้งไว้ 1 คืนตามกฎส่วนตัวในการเขียนหนังสือแล้วจึงส่งในวันรุ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้ได้ขออาจารย์ปกป้องหยุดพักเขียนงานไปแล้ว ขออนุญาตส่งข้อเขียนชิ้นที่ 61 นี้ส่งท้ายอีกชิ้นหนึ่งนะครับ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save