fbpx

เปิดดัชนี WJP Index 2023 ไทยอยู่ตรงไหนในโลกที่หลักนิติธรรมถดถอย

โรคระบาด สงคราม และภัยคุกคามจากเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและกลายเป็นกระแสความเสี่ยงใหม่ของโลก บ่อนทำลายรากฐานพหุภาคีนิยมและความเชื่อหลายอย่างที่ประชาคมโลกเคยยึดถือ และเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อรากฐานของโลกไปอีกพักใหญ่

ไม่ใช่แค่ความร่วมมือระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ในภาคความยุติธรรมก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เป็นเหมือนอีกหนึ่งรากฐานในโลกยุคใหม่ซึ่งมีแนวโน้มถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง

แม้จะชื่อว่า ‘หลักนิติธรรม’ แต่กระแสดังกล่าวไม่ใช่แค่เรื่องของคนในกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม เพราะหลักนิติธรรมคือการรับประกันถึงความเป็นธรรมในสังคม การเข้าถึงโอกาสและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การที่หลักนิติธรรมโลกถดถอยจึงหมายถึงโอกาสที่ถูกลิดรอน สิทธิขั้นพื้นฐานที่หดหาย และการที่กระบวนการยุติธรรมเพิกเฉยต่อเสียงเรียกของผู้ร้องขอ

101 ชวนสำรวจเทรนด์ดัชนีหลักนิติธรรมของปี 2023 ผ่าน World Justice Project: Rule of Law Index 2023 – หลักนิติธรรมของโลกเป็นอย่างไร และเราอยู่ตรงไหนในเรื่องนี้

-1-
ดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) คืออะไร

The World Justice Project (WJP) Rule of Law Index 2023 เป็นชุดรายงานประจำปีที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อวัดหลักนิติธรรมในแต่ละประเทศ โดยวัดทั้งตามภูมิภาคและรายได้ ผ่านการสำรวจครัวเรือนมากกว่า 149,000 ครัวเรือน และนักกฎหมายหรือผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย 3,400 คน โดยในปี 2023 มีประเทศที่ถูกจัดลำดับ 142 ประเทศ ซึ่งมีคูเวตและมอนเตเนโกรเป็น 2 ประเทศที่ถูกเพิ่มมาจากปีก่อนหน้า

ค่าดัชนีดังกล่าวแสดงให้เห็นภาพของหลักนิติธรรมใน 142 ประเทศผ่านการให้คะแนนและจัดลำดับ โดยเกณฑ์การให้คะแนนดังกล่าวแบ่งออกเป็น 8 ปัจจัย (factor) 44 ปัจจัยย่อย (sub-factor) ดังนี้

1. การจำกัดอำนาจของรัฐบาล (Constraints on Government Powers)

  • อำนาจของรัฐถูกจำกัดโดยฝ่ายนิติบัญญัติ
  • อำนาจของรัฐถูกจำกัดโดยฝ่ายตุลาการ
  • อำนาจของรัฐถูกจำกัดโดยฝ่ายองค์กรตรวจสอบอิสระ
  • เจ้าหน้าที่รัฐถูกลงโทษ (sanction) จากการประพฤติมิชอบ (misconduct)
  • อำนาจของรัฐอยู่ภายใต้การตรวจสอบจากฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐ
  • การเปลี่ยนผ่านทางอำนาจที่อยู่ภายใต้กฎหมาย

2. การปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption)

  • เจ้าหน้าที่รัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช้สาธารณสมบัติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
  • เจ้าหน้าที่รัฐในฝ่ายบริหาร ไม่ใช้สาธารณสมบัติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
  • เจ้าหน้าที่รัฐในฝ่ายตุลาการ ไม่ใช้สาธารณสมบัติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
  • เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ไม่ใช้สาธารณสมบัติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

3. รัฐบาลที่โปร่งใส (Open Government)

  • เผยแพร่กฎหมายและข้อมูลของรัฐ
  • ให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล
  • ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม
  • มีกลไกการรับข้อร้องเรียน

4. สิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights)

  • มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และไม่มีการเลือกปฏิบัติ
  • มีการรับประกันสิทธิในชีวิตและความมั่นคงปลอดภัยของบุคคล
  • มีกระบวนการออกกฎหมายที่เป็นธรรม
  • มีการรับประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก
  • มีการรับประกันเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาและความเชื่อ
  • มีการรับประกันเสรีภาพในการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล
  • มีการรับประกันเสรีภาพในการรวมตัวเป็นหมู่คณะหรือสมาคม
  • มีการรับประกันเสรีภาพในสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน

5. ระเบียบและความมั่นคง (Order and Security)

  • มีการควบคุมอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ
  • มีการจำกัดความขัดแย้งทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ
  • ประชาชนไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ (ศาลเตี้ย) เพื่อการแก้แค้นส่วนบุคคล

6. การบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Enforcement)

  • มีการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างมีประสิทธิภาพ
  • กฎระเบียบถูกประยุกต์ใช้และบังคับใช้โดยปราศจากอิทธิพลใดๆ ครอบงำ
  • การบริหารงานเป็นไปด้วยความไม่ล่าช้า
  • ขั้นตอนการทำงานเป็นไปตามกฎเกณฑ์อย่างตรงไปตรงมา
  • รัฐบาลไม่เวนคืนทรัพย์สินโดยปราศจากกระบวนการทางกฎหมายและการชดเชยที่เพียงพอ

7. กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (Civil Justice)

  • ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการทางแพ่งได้
  • กระบวนการทางแพ่งปราศจากการแบ่งแยก
  • กระบวนการทางแพ่งปราศจากการคอร์รัปชัน
  • กระบวนการทางแพ่งปราศจากอิทธิพลครอบงำจากรัฐบาล
  • กระบวนการทางแพ่งไม่เป็นไปด้วยความล่าช้าที่เกิดจากเหตุผลอันไม่สมควร
  • กระบวนการทางแพ่งถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • มีกระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาทแบบทางเลือกที่สามารถเข้าถึงได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นกลาง

8. กระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice)

  • ระบบการสืบสวนสอบสวนทางอาญามีประสิทธิภาพ
  • ระบบการพิพากษาคดีอาชญากรรมมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับเวลา
  • ระบบราชทัณฑ์มีประสิทธิภาพในการลดการกระทำที่เป็นอาชญากรรม
  • ระบบยุติธรรมทางอาญาปราศจากการแบ่งแยก
  • ระบบยุติธรรมทางอาญาปราศจากการคอร์รัปชัน
  • ระบบยุติธรรมทางอาญาปราศจากอิทธิพลครอบงำของรัฐบาล
  • มีกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายและประกันสิทธิของผู้ต้องหา

-2-
หลักนิติธรรมโลกเป็นอย่างไรในปี 2023

หากพูดแบบรวบรัด หลักนิติธรรมในหลายประเทศทั่วโลกถดถอยลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น WJP ชี้ว่า ในปีที่ผ่านมา ประชากรโลกมากกว่า 6 พันล้านคนต้องอยู่ในประเทศที่มีหลักนิติธรรมอ่อนแอ หรือคิดเป็นถึง 76% ของประชากรโลกทั้งหมด

หากมองในภาพรวม ตั้งแต่ปี 2016-2023 หลักนิติธรรมถดถอยลงถึง 78% โดยปัจจัยที่มีความถดถอยมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ สิทธิขั้นพื้นฐาน การจำกัดอำนาจของรัฐบาล และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ขณะที่ในช่วงปี 2022 ส่งต่อมายังปี 2023 ประเทศส่วนใหญ่มีหลักนิติธรรมที่ถดถอยลง โดยมี 82 ประเทศที่หลักนิติธรรมถดถอย และ 58 ประเทศที่ปรับตัวในทางที่ดีขึ้น

หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้หลักนิติธรรมถดถอยมาจากกระแสอำนาจนิยม (authoritarian) ซึ่งยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผนวกกับการที่ระบบยุติธรรมไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนได้ กล่าวคือเราเห็นการปฏิเสธการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง

อย่างไรก็ดี ยังมีบางประเทศที่สามารถเอาชนะเทรนด์ทางลบนี้ได้ โดยจาก 142 ประเทศ ประเทศที่มีคะแนนดีที่สุด 3 ลำดับแรกล้วนเป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย (เดนมาร์ก นอร์เวย์ และฟินแลนด์) ในขณะที่ 3 ลำดับสุดท้ายคืออัฟกานิสถาน กัมพูชา และเวเนซุเอลาตามลำดับ

เมื่อมองในแง่แนวโน้มหรือเทรนด์ WJP ฉายภาพว่า 3 ประเทศแรกที่มีแนวโน้มปฏิเสธหลักนิติธรรมมากที่สุดคือบังกลาเทศ (-1.5%) เซอร์เบีย (1.6%) และเบลารุส (-1.9%) ส่วนประเทศที่หลักนิติธรรมพัฒนาขึ้นคือบัลแกเรีย (1.7%) ฮอนดูรัส เคนยา และสโลวีเนีย (1.6%) และจอร์แดนและกรีเนดา (1.4%)

-3-
จากโลกสู่ไทย เราอยู่ตรงไหนในกระบวนการยุติธรรมของโลก

ในระดับโลก ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 82 และลำดับที่ 10 (จาก 15) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific) ได้คะแนนรวม 0.49

ขณะที่ประเทศที่ได้คะแนนเป็นลำดับ 1 ในภูมิภาคนี้คือนิวซีแลนด์ (0.83) ตามมาด้วยออสเตรเลีย (0.80) และญี่ปุ่น (0.79) และหากเปรียบเทียบลำดับของไทยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน 8 ประเทศ[1] ไทยอยู่ลำดับที่ 4 เป็นรองสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

สำหรับแนวโน้มในภาพรวม คะแนนของประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ผันผวนมากนัก โดยคะแนนมากที่สุดในปี 2015 ที่ได้ 0.52 คะแนน และได้คะแนนน้อยที่สุดในปีนี้ (2023)

เมื่อขยับลงมาดูที่แต่ละปัจจัย WJP ประเมินว่า ปัจจัยที่ได้คะแนนน้อยที่สุดของไทยคือกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (0.41) ซึ่งถือว่าถดถอยลงจากปีที่แล้ว และเมื่อดูลึกลงไปอีกพบว่า ปัจจัยย่อยที่ทำให้ไทยได้คะแนนส่วนนี้น้อยที่สุดคือ ระบบราชทัณฑ์ (correctional system) ของไทยที่ไม่สามารถลดการกระทำที่เป็นอาชญากรรมได้ โดยปัจจัยนี้จะวัดสถาบันราชทัณฑ์ว่ามีความมั่นคง เคารพสิทธิของผู้ต้องขัง และมีประสิทธิภาพในการลดการกระทำผิดซ้ำหรือไม่

ส่วนปัจจัยที่ไทยได้คะแนนดีที่สุดคือด้านระเบียบและความมั่นคง (0.74) และปัจจัยย่อยที่ดีที่สุดคือ ไทยมีการจำกัดความขัดแย้งทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพที่ได้คะแนนสูงถึง 0.94 (เกินคะแนนเฉลี่ยของโลกที่ 0.92) โดยวัดจากการที่ประชาชนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความขัดแย้งที่ใช้อาวุธและการก่อการร้ายอย่างมีประสิทธิภาพ

-4-
จากดัชนีหลักนิติธรรมไทย สู่ภาพสะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย

หากมองข้อมูลดัชนีหลักนิติธรรมไทยย้อนหลังไปถึงปี 2016 พบว่า ลำดับของไทยในระดับโลกปรับตัวลดลงเรื่อยๆ โดยไทยได้ลำดับที่ดีที่สุดในปี 2016 (ลำดับที่ 64) ก่อนจะปรับลดลงมาอยู่ลำดับที่ 71 (ปี 2017-2018) ลำดับที่ 76 (ปี 2019) และลำดับที่ 71 (ปี 2020) ตามลำดับ และในช่วง 3 ปีหลังมานี้เองที่ลำดับของไทยตกลงมายังลำดับที่ 80-82 ขณะที่ลำดับในภูมิภาค ไทยอยู่ลำดับที่ 10 คงที่มาโดยตลอด (ตั้งแต่ปี 2016)

เมื่อขยับมาดูปัจจัยของไทย พบว่า ปัจจัยที่เป็นด้านบวกของไทยมาโดยตลอดคือด้านระเบียบและความมั่นคง (ยกเว้นปี 2016 ที่เป็นด้านกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง) ส่วนด้านที่เป็นความท้าทายเสมอมาคือด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

และแม้ WJP Index จะคิดคำนวณจากปัจจัยที่หลากหลาย แต่การที่ปัจจัยด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยเป็นปัจจัยท้าทายมาตลอดเช่นนี้ย่อมไม่อาจมองข้ามได้เช่นกัน ความน่าสนใจคือข้อมูลชุดนี้บอกอะไรกับเราบ้าง

ข้อมูลจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประเด็นปัญหาเรื้อรังในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยเสมอมา คือปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก โดยเมื่อเทียบตามสัดส่วนจำนวนประชากร ไทยมีสัดส่วนผู้ต้องขังคิดเป็น 449 คนต่อประชากร 1 แสนคน (อันดับ 6 ของโลก) และ 81.66% หรือ 217,966 คน จากผู้ต้องขังทั้งหมด 266,589 คนทั่วประเทศ เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด

แม้อาจฟังดูเป็นเหมือนคดีธรรมดา แต่คำว่ายาเสพติดมีนัยที่ซ่อนอยู่มากกว่านั้น กล่าวคือแม้จะมีการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด แต่ปัญหาดังกล่าวกลับทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ต้องหาคดียาเสพติดกว่า 80% เป็นผู้หญิง ทั้งที่หลายกรณีเป็นการครอบครองเพื่อเสพเท่านั้น ทว่ากฎหมายไทยกำหนดลักษณะโทรตามจำนวนการครอบครอง และการที่ผู้หญิงจำนวนมากต้องเข้าเรือนจำจะส่งผลกระทบทวีคูณยิ่งขึ้นในกรณีที่ผู้หญิงคนนั้น ‘เป็นแม่’

เมื่อเจาะไปที่ปัจจัยเรื่องการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องลดการกระทำที่เป็นอาชญากรรมของระบบราชทัณฑ์ไทย จากสถิติของกรมราชทัณฑ์พบว่า ในปี 2563 จากผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว 156,774 คน มีผู้กลับมากระทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี 18,949 คน และภายใน 2 ปี 33,676 คน ตามลำดับ ขณะที่ในปี 2564 มีผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวในจำนวนใกล้เคียงกันคือ 195,925 คน และมีผู้กลับมากระทำผิดซ้ำใน 1 ปี จำนวน 22,090 คน

จำนวนดังกล่าวอาจดูไม่เยอะนัก แต่เมื่อย้อนหลังไปที่ปี 2562 พบว่า ในระยะเวลา 3 ปี มีผู้กระทำผิดซ้ำมากถึง 31% จากผู้พ้นโทษทั้งหมด 160,497 คน โดยประเภทคดีที่มีอัตราการกระผิดซ้ำมากที่สุดคือ คดียาเสพติด (66%)

แน่นอน นี่เป็นปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมไทยและเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ได้ คือเมื่อผู้ต้องขังจำนวนมากเกินไปเข้าสู่ระบบยุติธรรมจนเกิดขีดจำกัด ระบบจึงไม่สามารถทำการแก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ต้องขังได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับสังคมส่วนหนึ่งยังไม่ให้โอกาสที่สองแก่คนที่เคยกระทำความผิดจนต้องเข้าสู่เรือนจำมาก่อน ทำให้หลายคนเลือกที่จะกระทำผิดซ้ำจนต้องกลับเข้าสู่เรือนจำ

ภาพดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ระบบยุติธรรมฉายให้เราเห็น เพราะแน่นอนว่า การจะปรับปรุงดัชนีหลักนิติธรรมของไทย โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ยังต้องอาศัยอีกหลายปัจจัยเพื่อมาเกื้อหนุนส่งเสริมกัน แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไม่สามารถแก้ปัญหาที่สะสมเรื้อรัง และยิ่งมีแววจะถูกทบทวีคูณยิ่งขึ้นอีก

นี่จึงถึงเวลาที่แล้วที่ผู้เกี่ยวข้องอาจจะต้องมานั่งทบทวนอย่างจริงจัง สะสางรากของปัญหาและแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย ไม่ใช่แค่เพื่อให้ดัชนีหลักนิติธรรมของไทยปรับตัวดีขึ้น แต่เป็นไปเพื่อการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มอบความ ‘ยุติธรรม’ อย่างแท้จริงให้กับผู้ที่ร้องขอ


ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม WJP Rule of Law Index 2023 ได้ที่: https://worldjusticeproject.org/


[1] ไม่มีข้อมูลของประเทศลาวและบรูไน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save