แนวคิดอินโด-แปซิฟิกได้รับแรงผลักดันอย่างมากในเชิงยุทธศาสตร์ระดับโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยขยายพื้นที่ครอบคลุมมหาสมุทรอินเดีย ทะเลอาหรับ อ่าวเบงกอล ทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิก ภูมิศาสตร์ภายใต้แนวคิดอินโด-แปซิฟิกจึงเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก มีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพยากรสำคัญมากมาย รวมถึงเส้นทางเดินเรือที่สำคัญอีกด้วย ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจึงกลายเป็นจุดสนใจและกระแสใหม่ในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือมหาอำนาจ ประเทศเหล่านี้ต่างมีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อแข่งขันกันในภูมิภาค สะท้อนถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ของอินโดแปซิฟิก
สำหรับ ‘บังคลาเทศ’ หนึ่งในประเทศสำคัญของเอเชียใต้ที่มีภูมิศาสตร์สำคัญเชื่อมโยงโดยตรงกับอินโด-แปซิฟิกก็ไม่มีข้อยกเว้น หลายปีที่ผ่านมา บังคลาเทศเผชิญแรงกดดันมากมายจากการแข่งขันกันของสหรัฐอเมริกาและจีนภายในภูมิภาค จนส่งผลให้บังคลาเทศต้องปรับท่าทีนโยบายต่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นที่เกียวข้องกับอินโด-แปซิฟิก บังคลาเทศมีความสนใจที่เพิ่มขึ้นในการยกระดับความร่วมมือระดับภูมิภาค ความเชื่อมโยง และการบูรณาการทางเศรษฐกิจ และเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2023 บังคลาเทศได้ประกาศเอกสารสำคัญ Indo-Pacific Outlook (IPO) ซึ่งเป็นเอกสารที่สรุปวิสัยทัศน์ของประเทศเกี่ยวกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อันเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าบังคลาเทศมุ่งมั่นที่จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้
ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก 2023 ของบังคลาเทศกับการสร้างสมดุลทางการต่างประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกำหนดยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของหลายประเทศได้รับอิทธิพลอย่างสำคัญมาจากสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร แม้ว่ากระทรวงต่างประเทศของบังคลาเทศจะปฏิเสธเสียงแข็งว่า ยุทธศาสตร์ล่าสุดที่ออกเผยแพร่เป็นการกำหนดกรอบนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นอิสระของบังคลาเทศ เพื่อต่อกรกับความท้าทายในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์มองว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวคือความพยายามของบังคลาเทศที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามรักษาสมดุลในการต่างประเทศ เนื่องจากก่อนหน้านี้ บังคลาเทศถูกมองว่ามีความใกล้ชิดจีนอย่างมากจากการรับเงินลงทุนจำนวนมากผ่านข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน
เหตุที่นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อเช่นนั้น เพราะเอกสารชุดล่าสุดนี้ถูกเผยแพร่ไม่นานก่อนการเดินทางเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี ชีค ฮาสินา (Sheikh Hasina) ซึ่งมีกำหนดเดินทางเยือนประเทศสำคัญอย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เห็นได้ชัดว่าประเทศเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะความพยายามในการลดทอนอิทธิพลของจีนภายในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจวิเคราะห์ได้ว่าการออกเอกสารด้านอินโด-แปซิฟิกของบังคลาเทศในครั้งนี้คือความพยายามในการเอนเอียงทางการต่างประเทศไปหาสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรมากยิ่งขึ้น เพราะเอาเข้าจริงแล้วบังคลาเทศได้รับการทาบทามหลายให้เข้าร่วม QUAD แต่ก็ยังไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือเอกสาร Indo-Pacific Outlook ชิ้นล่าสุดที่ออกมาจากกระทรวงการต่างประเทศของบังคลาเทศไม่ได้กำหนดท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจีนแม้แต่น้อย ในขณะที่รายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นทั้ง 15 หัวข้อที่ถูกระบุไว้ในเอกสารสามารถสรุปเป็นหลักการสำคัญได้ 4 ประการอันประกอบด้วย 1.ส่งเสริมความเสรี เปิดกว้างและครอบคลุม 2.มุ่งเน้นความสงบ ปลอดภัย และมีเสถียรภาพ 3.มุ่งสู่ความยั่งยืนและยืดหยุ่น และ 4.เสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองและเป็นธรรมร่วมกันภายในภูมิภาค นอกจากนี้ Indo-Pacific Outlook ของบังคลาเทศยังระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับภาคส่วนที่บังคลาเทศมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วม อันประกอบไปด้วยประเด็นการรักษาความปลอดภัยทางทะเล การค้าและการลงทุน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืน และความมั่นคงของมนุษย์
ฉะนั้นเมื่อพิจารณารายละเอียดของเอกสาร Indo-Pacific Outlook จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทิศทางการต่างประเทศของบังคลาเทศนั้นมุ่งเน้นไปที่การสร้างสมดุลในการมีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจบนพื้นฐานของผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้ว บังคลาเทศยังจำเป็นต้องพึ่งพิงการลงทุนจากจีน ในขณะเดียวกันก็ต้องการตลาดการค้าขายในระดับโลกอย่างอินเดีย รวมถึงสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร
อินเดีย-จีน และความพยายามรักษาสมดุลของบังคลาเทศ
อินเดียถือเป็นเพื่อนบ้านที่สำคัญมากของบังคลาเทศ เพราะมีความเชื่อมโยงกันทั้งในทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรม ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม โดยการค้าทวิภาคีมีมูลค่าถึง 9.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 โดยอินเดียถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของบังคลาเทศ นอกจากนี้ อินเดียยังถือเป็นเพื่อนบ้านสำคัญที่ให้ความช่วยเหลือบังคลาเทศนับตั้งแต่ได้รับเอกราช ฉะนั้นสำหรับบังคลาเทศแล้วอินเดียยังคงเป็นพันธมิตรหลักที่สำคัญของตนเองในภูมิภาค
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลชีค ฮาสินา (เคยลี้ภัยไปอินเดียในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองในบังคลาเทศ) อินเดียและบังคลาเทศได้ขยายความร่วมมือทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจร่วมกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการเปิดเส้นทางเชื่อมโยงทางด้านการขนส่งทางรางระหว่างเมืองกัลกัตตากับเมืองอุตสาหกรรมในบังคลาเทศ หรือการร่วมมือกับอินเดียในการขยายโครงการริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลเพื่อความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจหลายภาคส่วน (BIMSTEC) นอกจากนี้ ในปี 2015 อินเดียและบังกลาเทศได้ลงนามในข้อตกลงเขตแดนทางบกครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งแก้ไขข้อพิพาทด้านพรมแดนที่มีมาอย่างยาวนาน และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเขตแดนมากกว่า 160 เขต
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไม่ได้ราบรื่นตลอดเวลา โดยเฉพะประเด็นปัญหาการการแบ่งปันน้ำจากแม่น้ำคงคา ซึ่งมีต้นกำเนิดในอินเดีย แต่เป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญสำหรับบังคลาเทศ หรือในประเด็นผู้อพยพ ชาวบังคลาเทศในพื้นที่ภาคอีสานของอินเดียที่นำไปสู่การประท้วงหลายครั้งของบังคลาเทศ ความตึงเครียดในบางครั้งนี้ส่งผลให้บังคลาเทศหันหน้าเข้าหาจีน ซึ่งส่งผลให้จีนขยายอิทธิพลของตนเองเข้ามาในภูมิภาคนี้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่บังคลาเทศกลายเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ที่เข้าร่วมข้อริเริ่มแถบและเส้นทางของจีน ซึ่งอินเดียปฏิเสธยุทธศาสตร์ดังกล่าวของจีนอย่างแข็งขัน
ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้การแข่งขันในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่กำลังเข้มข้น โดยเฉพาะความพยายามขจัดอิทธิพลด้านความมั่นคงของจีนในมหาสมุทรอินเดียจากทั้งสหรัฐอเมริกาและอินเดีย บังคลาเทศกลับมีความสัมพันธ์ทางการทหารที่ใกล้ชิดกับจีนที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยจีนกลายเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านอาวุธกับบังคลาเทศ โดยปัจจุบันบังคลาเทศจัดซื้ออาวุธจำนวนมากจากจีน อาทิ เครื่องบินรบ เรือดำน้ำ รถถัง และขีปนาวุธ เป็นต้น นอกจากนี้ จีนยังได้จัดหายุทโธปกรณ์ทางทหารให้แก่บังกลาเทศ เช่น ระบบเรดาร์ อุปกรณ์สื่อสาร และโดรนอีกด้วย แต่ที่ท้าทายอินเดีย รวมถึงสหรัฐอเมริกามากที่สุดคงหนีไม่พ้นการที่ทั้งสองประเทศได้ทำการซ้อมรบร่วมทางเรือในอ่าวเบงกอลเมื่อปี 2019
ฉะนั้น สำหรับบังคลาเทศที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของมหาอำนาจและมีอินเดียเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ความพยายามรักษาสมดุลภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ไม่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับใครอย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความร่วมมือและเปิดรับความช่วยเหลือจากทุกฝ่ายเพื่อเอาตัวรอดในภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของโลก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นราคาที่บังคลาเทศต้องจ่ายเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนเอาไว้
โอกาสและความท้าทายที่บังคลาเทศต้องเผชิญในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
ดังนั้น ท่ามกลางความโกลาหลของระเบียบโลกที่มีตัวแสดงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่มหาอำนาจเริ่มแข่งขันกันดุเดือดมากยิ่งขึ้น แม้หลายประเทศ รวมถึงบังคลาเทศจำต้องพยายามอย่างมากที่จะรักษาความสมดุลทางด้านความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เอาไว้ให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ความท้าทายจำนวนมากยังคงมีอยู่ และโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาอย่างบังคลาเทศที่พึ่งก่อร่างสร้างตัวได้ไม่ได้นานด้วยแล้ว การห่ำหั่นกันของมหาอำนาจและความพยายามผลักให้ประเทศขนาดเลือกขั้วและข้างย่อมส่งผลเสียอย่างมากต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
แม้ว่าในช่วงหลายปีมานี้ บังคลาเทศจะเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากจนส่งผลให้สัดส่วนคนจนในประเทศลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองและสงครามกลางเมืองในอดีตยังคงหลงเหลืออยู่ในประเทศ ที่สำคัญไปกว่านั้น โครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากของประเทศยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและปรับปรุง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยเงินลงทุนและเทคโนโลยีที่ทันสมัย แน่นอนว่าประเทศพันธมิตรของบังคลาเทศ ทั้งอินเดียและจีนต่างมีบทบาทในการลงทุนดังกล่าว ฉะนั้น ความไม่ลงรอยกัน รวมถึงการตึงเครียดในภูมิภาคย่อมท้าทายการพัฒนาของบังคลาเทศอย่างไม่ต้องสงสัย
แน่นอนว่าเหรียญย่อมมีสองด้าน ภายใต้ความท้าทายที่เกิดขึ้นจากความตึงเครียดภายในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่อาจเกิดขึ้นกับบังคลาเทศ ด้านหนึ่งนี่ก็อาจกลายเป็นโอกาสได้เช่นเดียวกัน เพราะการแข่งขันอาจไม่ได้นำมาสู่ผลลบเสมอไป แต่อาจหมายถึงการแข่งขันกันเพื่อเสนอความช่วยเหลือและการลงทุนที่เป็นประโยชน์กับบังคลาเทศได้ด้วยเช่นกัน กล่าวคือประเทศเล็กๆ อย่างบังคลาเทศจะมีแต้มต่อมากยิ่งขึ้นในการเจรจาเพื่อขอรับความช่วย เพราะประเทศมหาอำนาจต่างต้องการพันธมิตร รวมไปถึงการขยายฐานอิทธิพลของตัวเอง นั่นส่งผลให้หลายปีที่ผ่านมา ประเทศขนาดเล็กจำนวนมากมีการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยเฉพาะบังคลาเทศที่มีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมโยงเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยแล้ว นี่ถือเป็นโอกาสอย่างยิ่งในการดึงดูดการลงทุน และเพิ่มโอกาสของตัวเองในการขยายการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนผ่านยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่ออกมาล่าสุด