fbpx

เสี้ยวเสียงจากเรือนจำ ถึงสงครามยาเสพติดที่ไม่มีใครชนะ

ยาเสพติด

1.

“217,966

คือจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดตามข้อมูลสถิติของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ซึ่งถ้าเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 266,589 คนทั่วประเทศ ในเรือนจำจะมีผู้ต้องขังคดียาเสพติดมากถึงร้อยละ 81.66 ครอบคลุมคนทุกกลุ่มไม่ว่าชายหรือหญิง วัยรุ่นหรือคนชรา

ตัวเลขมหาศาลนี้ไม่ได้สะท้อนว่าสภาพสังคมไทยเต็มไปด้วยผู้เสพผู้ค้า หรือการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดมีประสิทธิภาพแต่อย่างใด กลับกัน มันเผยให้เห็นจุดอ่อนของประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เคยใช้และมาตรการปราบปรามอย่างรุนแรงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

บรรดาผู้ต้องขังสองแสนกว่าคนในเรือนจำ มีอยู่ไม่น้อยที่ได้รับบทลงโทษหนักข้อเกินกว่าพฤติการณ์ ถูกจับกุมคุมขังโดยไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับผู้ก่อคดี และมีอยู่ไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมอันแออัดเบียดเสียด ยากต่อการใช้ชีวิตที่ดี เพราะนับวันนักโทษยาเสพติดก็ยิ่งล้นทะลักเรือนจำมากขึ้นทุกที ทุกที..

2.

“1 ปี 9 เดือน 8 วัน”

คือจำนวนวันในเรือนจำที่แจงอดีตผู้ต้องขังวัย 38 ปี จำได้ขึ้นใจ “ตอนนั้นศาลชั้นต้นตัดสินให้เราต้องโทษจำคุก 5 ปี แต่เรายื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เขามองว่าเราให้การที่เป็นประโยชน์ต่อคดี เลยลดโทษเหลือ 3 ปี 4 เดือน

“ตัดสินเสร็จเราก็เข้าไปติดคุกเลย แต่ติดจริง 1 ปี 9 เดือน 8 วัน เพราะได้อภัยโทษ 2 ครั้งและพักโทษ เปลี่ยนมาติดกำไลอีเอ็ม (กำไลควบคุมความประพฤติ) ที่ข้อเท้าออกมาใช้ชีวิตนอกเรือนจำตอนเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 พอครบกำหนดพ้นโทษเดือนกรกฎาคมก็ไปถอดออก”

บทสนทนาทั้งหมดเกิดขึ้นผ่านจอคอมพิวเตอร์ ช่วงจังหวะสั้นๆ เราสบตากับเธอ “ขอถามได้ไหมว่าคุณติดด้วยข้อหาอะไร”

“ได้” แจงตอบ “เรื่องมันเป็นอย่างนี้…”

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2553 เวลานั้นแจงยังคงมีประวัติการใช้ยา นับตั้งแต่อายุ 15 เธอก็เริ่มเสพยาบ้าและยาไอซ์ตามกลุ่มเพื่อนมาตลอดสิบกว่าปี จนช่วงหลังดูเหมือนการซื้อเสพทีละนิดจะไม่คุ้มค่าการซื้อมาตุนไว้ ถ้ามีเหลือค่อยแบ่งให้คนอื่น

“พอเราแบ่งให้คนแถวบ้าน คงจะมีใครสักคนโดนจับไป พอตำรวจถามว่าเอามาจากไหน เขาก็ว่ามาจากเรา”

แจงไม่อยู่บ้านในวันที่ตำรวจพาคนเข้าตรวจค้น ยึดยาเสพติดและข้าวของบางส่วนของเธอไป แม้จะไม่ถูกจับ ไม่มีใครตามจับ แต่ราวกับคลื่นใต้น้ำได้เกิดขึ้นแล้ว แจงกลัวว่าสักวันตนอาจจะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เธอก็คลอดลูกคนที่สองออกมา

“เราเลยตัดสินใจว่าจะเลิก” เธอไม่อยากเสี่ยงอีกต่อไป “ตอนที่เลิก เราไม่ได้ไปบำบัดที่ไหน ใช้วิธีหักดิบเองเลย ไม่ยุ่งเกี่ยวอีกเลย ตอนแรกนึกว่าจะยากนะ เพราะเราใช้สารเสพติดมานานพอสมควร ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ แต่มันง่ายกว่าที่คิด อยู่ที่ใจเราล้วนๆ

“ทีนี้ พอตำรวจไม่ได้มาตามหาเรา เราก็อยู่ที่เดิม ใช้ชีวิตปกติไป ไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร เราไปทำใบขับขี่รถสาธารณะ ต้องมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมที่สำนักงานตำรวจ มันก็ไม่ขึ้นประวัติคดี”

ผ่านไปหลายปี ชีวิตของแจงกำลังไปได้สวย เมื่อไม่ยุ่งกับสิ่งเสพติดแล้วคนในครอบครัวต่างมีความสุขดี เธอกับสามีขับรถแท็กซี่ให้ Uber เดือนหนึ่งรายได้เหยียบแสน และตอนที่แจงหลงลืมเรื่องยาเสพติดหมดจากใจ คลื่นใต้น้ำก็เริ่มส่งแรงสั่นสะเทือน

“ปี 2559 อยู่ดีๆ แอป Uber ก็ระงับเรา บอกว่ามีคดี เรางงเลยติดต่อเพื่อนที่รู้จักกับตำรวจให้ช่วยเหลือ ตำรวจบอกว่าเดี๋ยวเซ็นรับรองให้ว่าเราไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ไปหาที่ สน. เขาจะเอาตำแหน่งค้ำประกันให้ แต่พอไปถึง เขาขอบัตรประชาชนแล้วเห็นชื่อเราก็บอกว่าอ้าว ชื่อนี้มีหมายจับนะ

“เราสับสนเรื่องหมายจับมาก เพราะถ้าออกมานานแล้วเราคงใช้ชีวิตปกติไม่ได้ถึงตอนนี้ ซึ่งเอาเข้าจริงหมายจับเพิ่งมาออกปี 59 นี่เอง เหมือนเขาปล่อย ยาที่เจอตอนนั้นไม่ได้เยอะ หาตัวไม่เจอก็เลยปล่อย ทีนี้นึกยังไงไม่รู้ถึงรื้อคดีเก่าขึ้นมา

“วันนั้นหลังจากกลับบ้านมา เริ่มมีคนแปลกหน้ามาถามหาเรา ไปหาที่โรงเรียนลูก ถามคนที่ไปรับลูก น่าจะเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบมาตามจับเรา เราคิดว่าตัวเองไม่พร้อม เลยแยกกับลูกกับสามีไปอยู่กับแม่ที่เมืองทอง สุดท้าย ปี 60 ตอนเรานัดกินข้าวกับเพื่อนแถวลาดพร้าว เขาก็มารวบตัวเราที่ร้านอาหาร

“แต่ก่อนหน้านี้เราเตรียมการกับที่บ้านแล้วว่า ถ้าสมมติเราโดนขึ้นมาจะต้องทำยังไง มีปรึกษาทนายเตรียมไว้ เวลาโดนจับจะได้ตั้งตัวถูก”

สำนวนคดีระบุว่าแจงถูกจับด้วยข้อหาจำหน่ายยาเสพติด จากหลักฐานที่พบยาบ้าจำนวน 40 เม็ดในครอบครองเมื่อปี 2553 — แม้ไม่แน่ชัดว่าแจงเป็นผู้ค้าจริงหรือไม่ ได้รับเงินมากน้อยเท่าไหร่ แต่กฎหมาย ณ ตอนนั้นยึดหลักการเด็ดขาดว่าถ้ามีสิ่งเสพติดในครอบครองเกินจำนวนที่กำหนด ให้ ‘สันนิษฐาน’ ว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย

“เราปรึกษาทนาย” แจงตัดสินใจสู้คดี “ทนายถามว่าวันนั้นเขาเจออะไรบ้าง ในสำนวนมีอะไรบ้าง เราบอกว่ามีรูปถ่ายยาเสพติดกับอุปกรณ์การเสพ แต่วันนั้นบัตรประชาชนเราหายไป ซึ่งตอนเราไปทำบัตรประชาชนใหม่ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ทนายถามว่าสำนวนเขียนถึงรูปถ่ายบัตรไหม เราตอบว่าไม่มี ทนายเลยว่า งั้นมาลองสู้กัน

“ตอนนั้นตำรวจไม่ได้บอกว่าเขามีหลักฐานเป็นรูปถ่ายบัตรประชาชน เขาแค่ติดต่อผ่านทนายมา บอกว่าอยากให้เราไปคุย เรียกเงินมาแสนนึง แต่เราไม่รู้ว่าเขาต้องการเงินไปเพื่ออะไร เลยตัดสินใจว่าไม่เอา ใช้เงินตรงนี้มาเสียค่าทนายดีกว่า

“เราเพิ่งมารู้ทีหลังว่าถ้าเสียใต้โต๊ะแล้วเขาจะไม่ส่งฟ้องหลักฐานมัดตัวเรา ในสำนวนเราจำได้เลยว่าไม่มีเขียนเรื่องรูปถ่ายบัตรประชาชน แต่สุดท้ายเขาเอาหลักฐานนี้ออกมาฟ้องศาล”

สุดท้าย เธอก็แพ้

และเป็นดั่งที่แจงเล่า ศาลชั้นต้นตัดสินโทษจำคุก 5 ปี เธอสู้ต่อ จนศาลอุทธรณ์ลดเหลือ 3 ปี 4 เดือน

“เราอยากให้มันชัดเจนกว่านี้” แจงยอมรับโดยดุษณีว่าเธอทำผิด แต่การถูกปฏิบัติอย่างไม่โปร่งใสก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูก “เรื่องสำนวน การดำเนินการต่างๆ ไม่อยากให้คลุมเครือ เราจะได้รู้ตัวว่าต้องทำยังไง ไม่ใช่กั๊กหลักฐานไว้เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เรื่องหมายจับเองก็เหมือนกัน ทำไมไม่ออกตั้งแต่ตอนนั้น ทำไมทิ้งไว้นานขนาดนี้”

ทำไมจึงกลับมาในวันที่เธอเริ่มต้นชีวิตใหม่ไปแล้ว — แจงพยายามบอกกับเราแบบนั้น

“แล้วชีวิตในเรือนจำของคุณเป็นยังไงบ้าง” เราเดาจากท่าทางและน้ำเสียงว่าเธอไม่อยากจดจำมันเท่าไหร่นัก

“เข้าไปแรกๆ รับไม่ได้เลย” เธอตอบอย่างกระชับ “ข้างในแออัดมากๆ นอนเบียดกัน ต้องนอนคะแคงเท่านั้น พอคนมันเยอะ ก็แย่ไปหมดทุกอย่าง”

ถามต่อไปอีกหน่อย แจงถึงค่อยเล่าเพิ่มว่านอกจากการกรอซ้ำชีวิตประจำวันที่แสนจำเจในคุก ผู้ต้องขังคดีค้ายาเสพติดยังต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตรความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดของราชทัณฑ์ให้ผ่านเกณฑ์ด้วย

“ส่วนใหญ่ก็นั่งฟังวิทยากร ดูวิดีโอที่เขาเปิดให้ดู แต่เอาจริงๆ เราคิดว่าคนไม่ได้สนใจอะไรตรงนี้นักหรอก มันเป็นโปรแกรมบังคับให้เราเข้าร่วม ไม่งั้นเราจะไม่ได้การพิจารณาปล่อยตัวหรือยื่นพักโทษ”

เมื่อผ่านประสบการณ์หลังรั้วเรือนจำมาแล้วหนึ่งครั้ง แจงบอกว่าทุกอย่างเหมือนต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่

“เรายังโชคดีที่มีคนเข้าใจ เจ้านายเก่ายังให้โอกาส ชวนไปทำงาน และตอนนี้เรามีธุรกิจเป็นของตัวเอง”

แต่ไม่ใช่อดีตผู้ต้องขังทุกคนที่ได้รับโอกาสนั้น เราทั้งคู่ล้วนรู้อยู่แก่ใจ

3.
“2 ปี 16 วัน”

อาจจะมีเสียงลมพัดแทรกเข้ามาระหว่างวิดีโอคอลบ้างบางจังหวะ แต่ว่าเราได้ยินจำนวนวันที่เมย์ ต้องโทษคุมขังอย่างแจ่มชัด

“2 ปีมันนานนะ” หญิงวัย 35 ปีพรั่งพรูความรู้สึก เหมือนทุกอย่างเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน และยังตามมาเป็นฝันร้ายที่ลืมไม่ลง “มันอึดอัด ทรมานมาก ตอนเข้าไปแรกๆ ต้องปรับตัวมาก อย่างเรื่องการอาบน้ำ ได้อาบน้ำแค่ 8 ขัน เวลาเขานับใครทำทันก็ทัน ไม่ทันก็ไม่ทัน เราทำไม่ทันเลยต้องอยู่ทั้งตัวลื่นๆ ฟองสบู่แบบนั้น ไม่ไหว เราร้องไห้เลย

“การนอนก็นอนเบียดกันมาก ห้องไหนมีคนเยอะ คนมาใหม่ก็ยิ่งเบียด ถ้าเราเจอเพื่อนดีก็ดีไป แต่ถ้านอนกับคนที่ไม่เอาเราเลยก็แย่ นอนไม่ได้เลย พอคนอยู่กันเยอะๆ ก็ด่ากันหยาบคาย ตีกัน มันเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้

“เรื่องการพูดการคุยก็เหมือนกัน เราคุยกับเจ้าหน้าที่ไม่ได้ มันเหมือนกดให้เรากลัวเขา ตอนอากาศร้อนๆ ถ้าเขาบอกให้เราเงียบ เราก็ต้องเงียบ โดยไม่รู้เหมือนกันว่าเงียบทำไม ถ้าไม่เงียบเขาก็จะปิดพัดลม ปล่อยให้เรานั่งเหงื่อแตก ทรมานมาก

“แล้วคิดดูสิว่ากินข้าวเช้าตอนหกโมง ข้าวเที่ยงตอนสิบเอ็ดโมง บ่ายสองโมงไม่ทันบ่ายสามก็กินข้าวเย็นแล้ว กินเสร็จขึ้นห้องนอน สามทุ่มปิดไฟปิดทีวีนอน ชีวิตวนเวียนอยู่แบบนี้ มันเหมือนเป็นอีกสังคมหนึ่งที่ต้องอดทนอยู่”

หากพูดถึงชีวิตก่อนเข้าเรือนจำ เมย์เคยเป็นพนักงานขายสินค้าในห้าง เป็นภรรยา และแม่ของลูก 3 คน เธอเล่าถึงสามีสั้นๆ ว่า ‘ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่’ แต่ถึงยังไงก็อยู่กินด้วยกันมานานหลายปี ด้วยเหตุนี้เธอจึงยอมให้เขายืมบัญชีธนาคารทำธุรกรรมรับเงินจากการขายยา

“มันเป็นบัญชีที่เราใช้ทำงาน เรารู้ว่าแฟนเราขาย แต่เขาไม่ได้ขายเป็นอาชีพ เขาขายให้เพื่อน นานๆ ทีถึงจะโอนเงินให้กันทีนึง สัก 2,000-3,000 บาท เขาไม่ได้เป็นรายใหญ่ เราเองก็ไม่รู้ว่าการให้ใช้บัญชีจะมีความผิด คนที่โดนจับไปก็หายไปนานถึง 1 ปี กว่าจะมีหมายจับส่งมาถึงเรา

“เขาบอกกับตำรวจว่าซื้อยามาจากเรา โอนเงินให้บัญชีเรา ทั้งๆ ที่เราไม่รู้เรื่อง ไม่เคยยุ่งกับยา พอมีหมายจับมาเราก็ต้องออกจากงาน ตอนแรกคิดจะสู้คดี เพราะคนใช้บัญชีคือแฟน ไม่ใช่เรา แต่ทนายบอกว่าความเป็นไปได้ที่จะชนะมันน้อย คนอื่นๆ ก็ว่านี่เป็นโทษครั้งแรก ต่อให้จำคุกก็ไม่เยอะหรอก สู้ไปถ้าแพ้มันคูณสองนะ สุดท้ายเราเลยตัดสินใจรับสารภาพ ศาลตัดสินออกมาว่าให้จำคุก 3 ปี 6 เดือน ลดจากโทษเต็มๆ 7 ปีกว่า”

แม้ในภายหลังเมย์จะได้รับอภัยโทษและพักโทษสำหรับผู้ต้องขังที่ไม่เคยกระทำผิดจนเหลือเวลาเพียง 2 ปี 16 วัน แต่ ณ ตอนนั้น – ตอนที่รู้ตัวว่าต้องเข้าเรือนจำ เมย์รู้สึกเหมือนโลกถล่มลงมาทั้งใบ

“ตอนถูกจับเราเพิ่งคลอดลูกคนที่สี่ได้แค่เดือนเดียว” เธอเล่า “พอเราถูกจับ ครอบครัวก็มั่วไปหมด แม่เราลำบาก ลูกเราก็ลำบาก มันแย่ไปหมดเลย ตอนอยู่ข้างในเราคิดถึงลูกมากนะ ร้องไห้ทุกวันเพราะความคิดถึง ทรมานเพราะข้างในตัดขาดจากโลกภายนอก เราทำอะไรไม่ได้เลย ติดต่อญาติก็ไม่ได้ โทรก็ไม่ได้ ได้แต่รอว่าเขาจะมาเยี่ยมวันไหน กับรอจดหมายที่เดือนนึงจะมีสักที”

แน่นอนว่าเมย์ไม่ใช่ผู้ต้องขังรายเดียวที่ถูกจับในฐานะเจ้าบัญชี เธอบอกว่ามีคนอีกมากมายในเรือนจำพัวพันกับคดีให้ยืมหรือเปิดบัญชีค้าขายยาเสพติดโดยที่ตนไม่มีส่วนรู้เห็น

“อย่างเราเองยังถือว่าพอรู้เรื่องบ้าง แต่คนที่ไม่รู้เรื่องจริงๆ ก็มี มีคนแก่ๆ เขาเล่าว่าลูกเขยให้ไปเปิดบัญชี เอาไปขายใครไม่รู้ พอคนที่ซื้อขายโดนจับด้วยคดียาเสพติดก็ซักทอดมาว่าโอนให้บัญชีนี้ ตำรวจเห็นว่ามีเงินหมุนเวียนหลายล้านในบัญชี คนโดนจับมียาเยอะ แกเลยโดนโทษจำคุกตลอดชีวิต” เพราะก่อนการประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ความผิดฐานรับจ้างเปิดบัญชีให้ผู้ค้ายาไม่เคยมีบทกำหนดโทษที่ชัดเจน หลายครั้งเจ้าของบัญชีเหล่านี้จึงถูกมองว่าเป็นผู้ค้ายารายใหญ่ไปโดยปริยาย

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว หลายคนอาจเป็นเหยื่อของกลไกทางกฎหมายที่ไม่เคยประนีประนอม

ลมเริ่มพัดแรง เมย์ยังนั่งอยู่นอกบ้านตอนที่คุยกับเรา น่าหวั่นใจว่าอีกไม่นานฝนคงตก 

“แล้วคุณจำได้ไหมว่าระหว่างอยู่ในเรือนจำ เขาให้คุณทำอะไรบ้าง”

เมย์พยักหน้าตอบรับ “พอเข้าไปเขาจะถามว่ามาด้วยคดีอะไร เป็นแบบไหน เคยติดคุกมาแล้วกี่ครั้ง เสพยาไหม ดูดบุหรี่ไหม เขาจะคัดกรองตั้งแต่ตอนเราเข้าไปแรกๆ เราอยู่ในกลุ่มผู้ค้ารายย่อย ซึ่งก็จะมีกิจกรรมให้ทำ”

“กิจกรรมที่ว่าเป็นยังไง”

“ก็พวกกิจกรรมนันทนาการ มีคลิปวิดีโอให้ดู มีวิทยากรเข้ามาเล่านู่นนี่ให้ฟัง มาสอนว่าทำไมคนเราถึงติดยาเสพติด แล้วสอนให้เราปรับพฤติกรรมตัวเอง มีเกมให้เล่น มีของรางวัลนิดหน่อย ก็สนุกดีนะ แต่ถ้าถามว่าเอามาใช้ประโยชน์กับชีวิตข้างนอกได้ไหม..” เธอยิ้มนิด “มันก็อาจจะได้แค่เรียนรู้อยู่ที่ตรงนั้น”

“ไม่มีเรื่องอะไรที่คุณพอจะนำออกมาใช้ได้เลยเหรอ”

“น่าจะเป็นความรู้เรื่องคดี ก่อนติดคุกเราไม่รู้หรอกว่าการทำอะไรบ้างที่อาจจะเป็นความผิดทำให้เราโดนจับ ซึ่งมันมีหลายอย่างที่พลาดนิดเดียวก็โดนจับได้แล้ว ในนั้นเขาจะสอนให้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ไม่ต้องไปยุ่งกับใคร เราต้องดูแลตัวเองให้ดี”

คำถามสุดท้ายก่อนฝนเริ่มทิ้งตัว เราถามเธอว่าหลังออกจากเรือนจำ ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปอย่างไร

เมย์ตอบว่าเธอพยายามจะใช้ชีวิตปกติ แต่พอมีประวัติเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด การตั้งตัวใหม่ก็ยากราวกับเดินเท้าเปล่าบนถนนหินกรวด ลำบากและทุลักทุเล สมัครงานไปหลายต่อหลายที่ก็ไม่มีใครรับ

เช่นเดียวกับชะตากรรมของอดีตผู้ต้องขังคดียาเสพติดอีกหลายต่อหลายคนในสังคมไทย

4.

“49/143”

“ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ มีเรือนจำทั้งหมด 143 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินงานชุมชนบำบัด 121 แห่ง แต่มีแค่ 49 แห่งที่ได้การรับรองมาตรฐานด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังยาเสพติดจากกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม โปรแกรมการบำบัด นักบำบัดที่ผ่านการฝึกอบรมความรู้”

ทัณฑสถานหญิงธนบุรี ที่ ชุติมา ไชยรัตน์ ทำงานในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ คือหนึ่งในเรือนจำไม่กี่แห่งที่ว่านั่น

“เมื่อผู้ใช้ยาเสพติดคนหนึ่งถูกศาลตัดสินเข้ามาจำคุก ถ้าเข้ามาในเรือนจำด้วยสภาพเพิ่งใช้สารเสพติดมา เราจะให้เขาพักฟื้น 3-5 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและปริมาณยาที่ใช้ และในช่วงแรก ผู้ต้องขังทุกคนต้องเข้ารับการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง ซึ่งเครื่องมือสำคัญในการจำแนกผู้ใช้สารเสพติดเป็นแบบคัดกรองของกระทรวงสาธารณสุข ชื่อ ‘แบบคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยที่ใช้ยาเสพติดและสารเสพติดเพื่อการบำบัดรักษา’ เรียกย่อๆ ว่าแบบ V2″

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะใช้แบบคัดกรองดังกล่าวสัมภาษณ์และประเมินสภาพร่างกายผู้ต้องขังคดียาเสพติด ก่อนจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม คือผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ติด ซึ่งแต่ละกลุ่มจะถูกจัดเข้าสู่โปรแกรมการบำบัดฟื้นฟูและฝึกอบรมแตกต่างกัน หลังจากนั้นจึงเข้าสู่หลักสูตรภาคบังคับที่ผู้ต้องขังทุกคนต้องเจอ เช่น การปฐมนิเทศให้เข้าใจกฎระเบียบในเรือนจำ และหลักสูตรบังคับเลือกอย่างการฝึกอาชีพ หรือปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมาย

ชุติมายกตัวอย่างโปรแกรมการบำบัดให้เราฟังว่า “หากเขาเป็นผู้ใช้ยาเสพติด กิจกรรมที่จัดให้คือการส่งเสริมให้ความรู้ด้านสุขภาพ การรณรงค์ป้องกันยาเสพติด การให้คำปรึกษาแบบสั้นๆ รวมแล้วใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นผู้เสพหรือผู้ติด เราจะเพิ่มการฝึกอบรม เป็นโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดที่มุ่งเน้นให้ความรู้เรื่องโรคสมองจากการติดยา การปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรม หรือการเข้าฝึกอบรมในรูปแบบของชุมชนบำบัด

“ชุมชนบำบัดเป็นการจำลองพื้นที่ในเรือนจำให้เป็นชุมชนที่เขาต้องอยู่ร่วมกัน มีกฎกติกาที่ทุกคนต้องปรับตัวเข้าหากัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เราจะเรียกสถานบำบัดนั้นว่าบ้าน” หากสมาชิกของบ้านได้รับการประเมินจากคณะกรรมการที่ดูแลว่ามีทัศนคติเชิงบวกเพิ่มขึ้น สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ ได้ดีหลังผ่านไป 4 เดือน จะถือว่าผ่านโปรแกรมบำบัด และเข้าสู่หลักสูตรภาคบังคับของทางเรือนจำจนจบกระบวนการ

นอกจากนี้ ชุติมาอธิบายเพิ่มเติมว่ายังมีโปรแกรมที่ใช้บำบัดผู้ต้องขังคดียาเสพติดกรณีอื่น เช่น โปรแกรมผู้ค้ารายย่อย โปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังตามลักษณะแห่งคดีและพฤติการณ์การกระทำผิด แต่ถึงที่สุดแล้ว ปลายทางของหลักสูตรต่างๆ ที่เรือนจำจัดให้ ล้วนเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนถึงกำหนดปล่อยตัวทั้งสิ้น

บทสนทนาในห้องสัมภาษณ์ออนไลน์ดำเนินต่อ เราถามชุติมาเกี่ยวกับปัญหาที่น่าหนักใจในระบบบำบัด และคำตอบก็ไม่แปลกไปจากการคาดเดานัก นั่นคือปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ

“ที่ทัณฑสถานหญิงธนบุรี เรามีผู้ต้องขังในความดูแล 700 กว่าคน 500 คนเป็นคดียาเสพติด สถิตินี้เทียบเคียงได้กับสถานการณ์ของกรมราชทัณฑ์ ที่วันนี้มีผู้ต้องขังประมาณ 260,000 คน เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติดไปแล้ว 217,000 คน

“อันที่จริง กรมราชทัณฑ์มีทัณฑสถานที่ใช้ชื่อว่าทัณฑสถานบำบัดพิเศษอยู่ประมาณ 7 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งภารกิจนี้ควรไปอยู่ในทัณฑสถานบำบัดเท่านั้น แต่ลำพังศักยภาพของเรือนจำที่มีแค่ 7 แห่งคงไม่พอดูแลผู้ต้องขังนับแสนคนที่ต้องเข้ารับการบำบัดแก้ไขพฤติกรรม” และอันที่จริง ลำพังเรือนจำที่ผ่านมาตรฐานการบำบัด 49 แห่ง ก็ไม่แน่ว่าจะเพียงพอ

“ด้วยความที่ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ทำให้เรามีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ ไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนได้” ไม่ว่าห้องนอนหรือโรงอาหาร หากมีพื้นที่ว่างจะถูกนำมาใช้รองรับผู้ต้องขังในการฝึกอบรมเป็นประจำ ยิ่งไปกว่านั้น หลายครั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เองก็ต้องสวมหมวก ‘ผู้คุม’ และ ‘นักบำบัด’ ทำงานหลายบทบาทไปพร้อมๆ กัน

“เราก็พยายามปรับเปลี่ยนให้ทำงานต่อไปได้” ชุติมาผู้สวมหมวกสองใบยิ้มอย่างไม่มีทางเลือกมากนัก

“แล้วถ้าเป็นคนที่เคยผ่านการบำบัดนอกเรือนจำมาแล้ว ยังจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดในเรือนจำอยู่ไหม”

ต่อคำถามนี้ ชุติมาตอบว่า ‘ใช่’ เธออธิบายว่าระบบบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในประเทศไทยมีทั้งหมด 3 ระบบ คือ ระบบบำบัดแบบสมัครใจ แบบบังคับบำบัด และการบำบัดแบบต้องโทษ ซึ่งระบบบำบัดของเรือนจำเป็นอย่างหลัง เมื่อผู้เข้ารับการบำบัดผ่านระบบใดระบบหนึ่ง ข้อมูลจะถูกบันทึกใน ‘ระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ’ หรือ บสต. ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรับรู้

แต่การมีประวัติบำบัดไม่ได้หมายความว่าผู้เข้ารับการบำบัดทุกคนจะไม่มีโอกาสกลับไปเสพซ้ำ

“เราพบว่าบางคนผ่านมาแล้วทั้งระบบสมัครใจ ระบบบังคับบำบัด จนมาถึงเราก็มี” ชุติมากล่าว หากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประเมินแล้วว่าผู้ต้องขังควรได้รับการบำบัด แม้มีประวัติใน บสต. ก็จะถูกส่งเข้าโปรแกรมของเรือนจำอยู่ดี

“ความท้าทายที่เกิดขึ้นกับการทำงานบำบัดของเรา ณ วันนี้ คือความคาดหวังจากครอบครัวผู้เข้ารับการบำบัด ความคาดหวังจากชุมชน จากสังคมที่มองว่าถ้าผ่านการบำบัดแล้วก็ควรจะเลิกได้ เขาไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนผ่านมาทั้งสามระบบแล้วยังเลิกยาไม่ได้สักที บางคนบำบัดในระบบสมัครใจ บำบัดฟรีจากภาษีประชาชนด้วยซ้ำ ทำไมไม่หาย

“เราอยากให้ลองมองย้อนไปถึงสาเหตุของการใช้สารเสพติดของแต่ละคนว่าเกิดจากอะไรบ้าง บางคนรักเพื่อน อยากมีกลุ่มมีตัวตน บางคนมีปัญหาครอบครัวที่หาทางออกไม่ได้ คุยกับใครไม่ได้จนมาจบที่ยาเสพติด บางคนใช้ยาเสพติดตั้งแต่อายุยังน้อย 11-12 แล้วก็อยู่ในวังวนนั้นมาตลอด บางคนใช้ในวัยทำงาน เพราะต้องทำงานเป็นกะ ทำงานต่อเนื่อง เช่นงานรักษาความปลอดภัย ดูแลเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม” ชุติมาเล่าว่าผู้ต้องขังบางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ายาเสพติดมีโทษต่อร่างกายอย่างไร เพราะไม่อาจเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่เหมาะสม

งานบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาจึงเปรียบเสมือนงานปลายน้ำ เรือนจำอาจทำให้ผู้ต้องขังห่างจากสารเสพติดได้ในระยะเวลาที่ยังต้องโทษ แต่ถ้าครอบครัว คนใกล้ชิด หรือกระทั่งคนในสังคมไม่เข้าใจถึงเหตุปัจจัยที่ผลักให้ใครคนหนึ่งตัดสินใจใช้สารเสพติดแล้วร่วมกันแก้ไข ต่อให้บำบัดสักกี่ครั้ง โอกาสที่ผู้ต้องขังจะกลับไปเสพหลังออกจากเรือนจำก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม

“การแก้ไขปัญหายาเสพติดไม่สามารถทำได้โดยองค์กรเพียงองค์กรเดียว แต่ต้องใช้หน่วยสังคมที่เล็กที่สุด มีศักยภาพที่สุดอย่างครอบครัวหรือคนใกล้ชิด รวมถึงชุมชน และสังคมแก้ไขไปพร้อมๆ กัน การทำให้ระบบบำบัดฟื้นฟูได้ผลที่ดีขึ้นจึงเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คนใกล้ชิดผู้ติดยาเสพติด ให้เข้าใจผู้ใช้ยามากขึ้น

“ตอนนี้เราขาดรอยต่อระหว่างเรือนจำกับครอบครัว ญาติต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบำบัด รับฟังไปพร้อมๆ กัน ประเมินผู้เข้ารับการบำบัดไปพร้อมๆ กันว่าถ้าเขาใกล้พ้นจากโทษในเรือนจำแล้ว ยังต้องเข้ารับการบำบัดอีกไหม ถ้าไม่บำบัดจะมีงานทำไหม ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยชุมชนและสังคมเข้ามาช่วยด้วย หลายครั้งมีผู้พ้นโทษออกมาแล้วไม่มีงานทำ อย่าลืมว่าถ้าเขาพ้นโทษออกจากเรือนจำแล้ว เขาคือคนในครอบครัวของคุณ คือสมาชิกในชุมชนของคุณ คือคนในสังคมของเราเอง

“สุดท้าย ยาดีที่จะทำให้คนเหล่านี้หายขาด คือการให้โอกาสจากสังคม”

5.

“20 ปี”

หากเริ่มนับการประกาศสงครามยาเสพติดเมื่อปี พ.ศ.2546 จนถึงบัดนี้ก็กินเวลามาเกือบ 20 ปี เป็นเวลานานพอที่จะเห็นว่าผลลัพธ์ของมันเป็นอย่างไร

ตัวเลขสองแสนในคุกอาจฟังดูเป็นเรื่องห่างไกล แต่ถึงที่สุดแล้ว จำนวนทุกจำนวนคือคนหนึ่งคนที่ยังหายใจ และต้องใช้ชีวิต

เราไม่อาจมองปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องความล้มเหลวของปัจเจกหรือเคราะห์กรรมของใครบางคน เพราะแง่หนึ่ง ปัญหาเรื้อรังต่างๆ ในสังคมก็มีส่วนบ่มเพาะจำนวนคดีเหล่านี้ขึ้นมา ไม่ว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การศึกษา หรือแม้กระทั่งช่องโหว่ทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

เพื่อแก้ไขปัญหานักโทษล้นเรือนจำและมอบโอกาสแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแทนการปราบปรามอย่างแข็งกร้าว ประมวลกฎหมายยาเสพติดจึงถูกปรับเปลี่ยนใหม่ โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 พร้อมๆ กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564

การเปลี่ยนแปลงกฎหมายยาเสพติดครั้งนี้ นอกจากเป็นการกำหนดแนวทางการลงโทษผู้กระทำผิดให้สมเหตุสมผลยิ่งขึ้น ยังเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะเปลี่ยนแนวคิด มุมมองต่อผู้เสพ ผู้ต้องขังในสังคมไทยในอนาคต

แม้จริงอยู่ที่ปัญหายาเสพติดยังมีอีกหลายมิติ ไม่ว่าปัญหาของระบบบำบัด การศึกษาหรือมายาคติ ซึ่งไม่อาจแก้ไขให้หมดสิ้นเพียงแค่การปรับปรุงตัวบทกฎหมาย

แต่อย่างน้อย ถ้าเราสามารถหันหัวเรือเริ่มต้นมาถูกทางได้

ปลายทางเราก็มีความหวัง


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

แกะห่อ 'ยาเสพติด' พิษร้าย(?)ของสังคมไทย

18 Mar 2022

พลิกหน้ากฎหมายยาเสพติดใหม่ เปิดมิติใหม่แห่งการแก้ปัญหายาเสพติดไทย

101 ชวนพลิกหน้ากฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ไล่เรียงประเด็นสำคัญ พร้อมวิเคราะห์ประโยชน์ มองความท้าทายข้างหน้าในการนำกฎหมายใหม่ไปปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในมิติใหม่

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

18 Mar 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save