fbpx

เบื้องหลังการดับไฟป่าและสิ่งที่ภาครัฐควรคำนึง กับ สมบัติ บุญงามอนงค์

‘ฝุ่นควันในภาคเหนือ’ กลายเป็นเรื่องปกติที่ไม่ควรปกติไปเสียแล้ว เมื่อประชาชนต้องสูดดมฝุ่นควันอยู่ทุกวัน และยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจาก ‘ไฟป่า’ ที่ยังคงเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง

ทั้งที่ฝุ่นควันและไฟป่าไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นสิ่งที่ยังคงอยู่คู่ภาคเหนือมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว เช่นเดียวกันกับมูลนิธิกระจกเงาที่นำทีมอาสาดับไฟป่าไปปฏิบัติภารกิจในภาคเหนือมาแล้วกว่าห้าปี แต่ปัญหานี้ก็ยังต้องเผชิญอุปสรรคจากการจัดสรรงบประมาณ และการจัดการของภาครัฐที่ยังไม่ตรงจุด และปัญหาก็ยังคงดำเนินต่อไป

101 ชวน สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา เล่าถึงกลยุทธ์การดับไฟป่า สาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามผ่านปัญหาได้ บทบาทที่ภาครัฐควรเสริม และทางออกเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดอย่างการดับไฟป่าที่ยั่งยืน

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-one Ep.322 ‘ดับไฟป่า ฝ่าวิกฤตฝุ่นควัน’ กับ สมบัติ บุญงามอนงค์ ออกอากาศวันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

YouTube video

สถานการณ์ไฟป่าของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

จวบจนมาถึงเดือนมีนาคมนับได้ว่าเราผ่านครึ่งเทอมของฤดูไฟป่าแล้ว เนื่องจากปกติไฟป่าจะยุติลงช่วยปลายเมษายนหรือต้นพฤษภาคม เพราะเป็นช่วงฤดูฝน เนื่องจากฝนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยจบฤดูไฟป่าได้ทุกครั้ง เราไม่เคยปิดเกมได้โดยตัวเราเองเลย

ภาพรวมสถานการณ์ไฟป่าในปีนี้เป็นเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา คือไฟค่อยๆ ถูกจุดขึ้นมาด้วยหลายสาเหตุ จนเมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนที่อากาศร้อนอย่างเดือนมีนาคมและเมษายน ทำให้เชื้อเพลิง เช่น ใบไม้ ต้นไม้แห้งลง ส่งผลให้ยิ่งดึงดูดให้คนอยากจุดในช่วงเวลานี้ เพราะจุดแล้วไฟลามและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงท้ายของฤดูไฟป่า ไฟก็ยิ่งลามมาก ประกอบกับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าก็ล้าจากการทำงานมาเป็นเวลานาน ทำให้ความสามารถในการดับไฟป่ามีน้อยกว่าจำนวนไฟที่ลุกโชนขึ้น


สาเหตุของไฟป่า คืออะไร

สมัยก่อนเราอาจจะเคยเรียนว่าไฟป่าเกิดจากใบไม้เสียดสีกัน ส่งผลให้เกิดประกายไฟจนกลายเป็นไฟป่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราเชื่อว่าไฟป่าทั้งหมดเกิดจากฝีมือมนุษย์ ด้วยเหตุผลดังนี้

1. เผาเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเกษตร : ส่วนหนึ่งคือใช้ปลูกพืชไร่ พืชล้มลุก เช่น ปลูกข้าวโพด ปลูกข้าว ในพื้นที่ป่าหรือติดกับป่า จึงต้องเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการปลูก

2. เผาเพื่อหาของป่า : ของป่าที่ผู้คนเก็บ เช่น เก็บเห็ด เก็บผักหวาน เนื่องจากเมื่อเผาป่าแล้วใบไม้จะหายไปจนทำให้มองเห็นพืชที่จะเก็บได้ง่าย

3. เผาเพื่อล่าสัตว์ : เมื่อจุดไฟสัตว์จะวิ่งเข้าแนววางกับดักที่วางไว้ หรืออาจทำเพื่อเก็บน้ำผึ้ง โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีน้ำผึ้งเดือนห้า มนุษย์จึงมักใช้ไฟตีรังผึ้งและเมื่อสะเก็ดไฟตกลงมาบนพื้นป่า ไฟก็จะลามกลายเป็นไฟป่า

4. เผาเพื่อป้องกันไฟ : คนที่มีสวน มีไร่ กลัวว่าเมื่อถึงฤดูไฟแล้วไฟจะเข้ามา จึงเผาทำแนวก่อนเพื่อไม่ให้ไฟไหม้เข้ามาถึงในสวนของตัวเอง

นอกจากนี้ประเทศไทยยังริเริ่มนโยบาย ‘การบริหารจัดการเชื้อเพลิง’ หรือการชิงเผาก่อน เพื่อให้เวลาเกิดไฟป่าแล้วจะไม่ลามเข้ามาในพื้นที่ เพราะมองว่าไฟป่าเกิดขึ้นแล้วจะยับยั้งไม่ได้ แนวคิดของนโยบายนี้จึงต้องการลดทอนพลังของมันซึ่งในต่างประเทศก็มีการทำวิธีแบบนี้ แต่ชนิดต้นไม้ในต่างประเทศนั้นจะทำให้เกิด ‘ไฟเรือนยอด’ (หมายถึง ไฟที่ไหม้ลุกลามจากยอดของต้นไม้หนึ่ง ไปยังยอดต้นไม้อีกต้นหนึ่ง) เช่น ต้นสนในแคลิฟอร์เนีย หรือยูคาลิปตัสในออสเตรเลีย ซึ่งไฟเรือนยอดแบบนี้ เมื่อติดไฟจะดับไฟได้ยากมาก จึงต้องใช้วิธีชิงเผาก่อนเพื่อดัก

แนวคิดการบริหารจัดการเชื้อเพลิง หรือการชิงเผาก่อนนับเป็นวิธีที่ทั้งภาครัฐและชาวบ้านใช้กันมาอย่างนานจนกลายเป็นวัฒนธรรมแล้ว แต่ในปัจจุบันเรามีวิธีการและเครื่องมือควบคุมไฟที่เพียงพอแล้ว รวมถึงชนิดของไฟที่พบในไทยยังไม่เหมือนต่างประเทศ โดยเป็นไฟผิวดิน (หมายถึง ไฟที่ลุกลามไปตามผิวดิน เผาไหม้ด้วยเชื้อเพลิงบนพื้นป่า เช่น ใบไม้) ซึ่งค่อยๆ ลุกลามมาช้าๆ จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องชิงเผาก่อนเหมือนในต่างประเทศ วิธีการดับไฟป่าของไทยเพียงใช้แค่เครื่องเป่านำไปเป่าใบไม้ที่เสียดสีกันอยู่ให้ออกจากกัน ไฟก็ดับแล้ว

สมบัติ บุญงามอนงค์


งบประมาณสำหรับการแก้ไขไฟป่าเพียงพอหรือไม่ และการทำงานที่ต้องร่วมมือกันระหว่างหลายองค์กรนั้น พบปัญหาหรือความขัดแย้งในการทำงานบ้างไหม

ความแตกต่างของการทำงานระหว่างมูลนิธิกระจกเงากับภาครัฐ คือ ภาครัฐมักใช้วิธีจุดไฟชน เพราะประหยัดเวลาได้มากกว่า แต่มูลนิธิกระจกเงาไม่ใช้วิธีจุดไฟชนในทุกกรณี แต่เจ้าหน้าที่ทำแนวรอไว้ให้ไฟลงมาจนไฟลงมาชนแนว เจ้าหน้าที่ก็จะใช้โดรนดับไฟป่ามาช่วยดับ ซึ่งเราก็มีโดรนใช้ตลอดเวลา ให้เป็นเหมือนดวงตาอีกดวง เพื่อให้ทีมดับไฟป่าทำงานได้อย่างปลอดภัย

ไม่ใช่ว่าภาครัฐไม่มีโดรน แต่โดรนของภาครัฐมีสภาพเก่า และหลายครั้งก็ไม่สามารถชาร์จได้ เนื่องจากการชาร์จต้องต่อกับเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้ากับรถและต้องสตาร์ทรถไว้ตลอด ซึ่งภาครัฐจึงไม่ทำเช่นนั้นเพราะอาจทำให้งบค่าน้ำมันรถเกินที่กำหนดไว้ อีกทั้งภาครัฐยังมีข้อจำกัดอื่นๆ เช่น เครื่องมือที่ขาดแคลน และเจ้าหน้าที่ได้รับเงินเดือนเพียงประมาณ 9,000 บาท

สำหรับมูลนิธิกระจกเงาได้นำเงินมาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ จนตอนนี้คิดว่ามีหลายอย่างที่ก้าวหน้ากว่าภาครัฐ เช่น GPS Tracking ทีมงานดับไฟด้วยน้ำ ในขณะที่ทีมของภาครัฐไม่มีการใช้น้ำเพราะจำนวนเจ้าหน้าที่แต่ละทีมมีจำกัดจึงไม่สามารถแบกน้ำไปดับไฟได้เพียงพอ แต่ทีมของมูลนิธิกระจกเงามีกว่า 50 คน โดยมี 20-30 คนเป็นทีมน้ำโดยเฉพาะ ถ้าน้ำหมดก็มีการขับรถมอเตอร์ไซค์เข้าป่าไปส่งน้ำไปเติมตลอด การใช้น้ำดับไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ เป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพในการดับไฟป่า

แม้ว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรรมาจะมีเพียงพอแต่งบประมาณดังกล่าวกลับไม่ถูกใช้เพื่อสนับสนุนคนทำงานส่วนหน้า จนอาจกล่าวได้ว่าภาครัฐมีข้อจำกัดทางงบประมาณและทรัพยากร เช่น งบประมาณกลางที่อนุมัติสำหรับการดับไฟป่ากว่า 270 ล้านบาท ก็ถูกนำมาใช้ไม่ถูกจุด ส่วนหนึ่งนำไปจ้างชาวบ้านให้สังเกตไฟ ซึ่งในมุมมองของเราเห็นว่าไม่มีประโยชน์ เพราะถึงชาวบ้านจะเห็นว่ามีไฟแต่พวกเขาก็ดับไฟหรือบอกพิกัดไม่ได้ ภาครัฐควรนำงบประมาณส่วนนี้ไปซื้อโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ (UAV) มาลาดตระเวนดู เพราะหากตรวจเจอไฟจะสามารถบอกพิกัดให้ทีมงานได้ทันที หรืออาจใช้วิธีฝึกความรู้วิธีดับไฟป่าให้ชาวบ้านเหมือนที่มูลนิธิกระจกเงาก็รวมตัวคนหนุ่มสาวมาร่วมทีม ฝึกสอนวิธีดับไฟป่า สามารถสั่งการกันได้ ซึ่งจะทำให้ทีมมีประสิทธิภาพ และคนทำงานก็จะมีจำนวนมากขึ้นส่งผลให้การดับไฟก็จะดีขึ้นเช่นกัน

สมบัติ บุญงามอนงค์


หากภาครัฐประกาศให้พื้นที่ไฟป่าเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และนำงบภัยพิบัติมาใช้ คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ แต่การใช้งบประมาณก็ยังมีกรอบของกาารใช้งบประมาณภัยพิบัติอยู่ สำหรับเราในฐานะภาคเอกชนก็ไม่ทราบข้อจำกัดเหล่านั้น แต่เข้าใจเพียงว่าหากกฎหมายบัญญัติแล้ว ถ้าเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ไหนก็สามารถนำงบก้อนนี้ไปใช้แก้ปัญหาได้ แต่ถึงเวลาแล้วกลับใช้จริงไม่ได้ นับเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างมาก

หลายครั้งจึงแก้ปัญหาการใช้งบประมาณผ่านการใช้งบกลางซึ่งจัดสรรให้เพียงกรมป่าไม้กับกรมอุทยานเท่านั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีหน้าที่เหมือนเป็นแม่ทัพสำหรับการแก้ไขปัญหา แต่ไม่ได้รับงบประมาณจึงไม่สามารถสั่งการได้ เห็นได้จากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่ต้องขออนุมัติงบกลางด้วยตนเองแต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติอยู่ดี เราทำได้เพียงแต่ตบไหล่ให้กำลังใจ

อย่างไรก็ดี การคอร์รัปชันงบภัยพิบัติมีจำนวนมาก เราจึงมีข้อสังเกตว่าเวลาเกิดภัยพิบัติจริงๆ จึงไม่สามารถนำงบภัยพิบัติออกมาใช้ได้ ไม่เพียงเฉพาะเรื่องไฟป่าเท่านั้น แต่กับภัยพิบัติอื่นๆ ด้วย เนื่องจากงบประมาณเหล่านั้นถูกจองหมดแล้ว ซึ่งสำนักงบประมาณควรกลับไปค้นหาว่างบภัยพิบัติถูกนำไปใช้อะไรบ้าง


ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงปัญหาอะไรในโครงสร้างภาครัฐ

ปัญหาใหญ่คือ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไม่เข้าใจความขาดแคลนด้านทรัพยากรและวิธีการดับไฟที่เผชิญอยู่ จึงนำงบประมาณไปทุ่มผิดจุด เช่น ซื้อเฮลิคอปเตอร์ แต่หากเป็นผมตัดสินใจคงนำงบประมาณเหล่านั้นมาใช้เพื่อบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ดับไฟ เพราะถ้ามีน้ำก็ชนะไฟได้ง่าย

สมบัติ บุญงามอนงค์


นอกจากไฟป่าที่ประเทศไทย ยังมีไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้าน จนเกิดเป็นปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ แสดงว่าการจัดการปัญหาต้องประสานกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยหรือไม่

ประเทศเพื่อนบ้านประสานเข้ามาหาเราตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว เช่น ประเทศลาวเองก็ได้รับผลกระทบจากไฟป่าในพื้นที่ท่องเที่ยว  จนส่งผลให้นักท่องเที่ยวยกเลิกเพราะไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ จึงเชิญเราในฐานะองค์กรที่ยืดหยุ่นกว่าภาครัฐไปถ่ายทอดถึงวิธีการดับไฟป่า เราก็ไปเล่าถึงพฤติกรรมของไฟป่าและวิธีการจัดการ เมื่ออบรมเสร็จแล้ว ทีมงานของเขาก็มาไทยเพื่อซื้ออุปกรณ์ตั้งต้น นับเป็นเรื่องที่น่าจับตาว่าหลังพ้นฤดูไฟป่าเขาสามารถคุมไฟได้ดีแค่ไหน

ปัญหาไฟป่าที่ประเทศลาวกำลังเผชิญคล้ายกับประเทศไทย แต่อาจมีบางพื้นที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เช่น มีลูกระเบิดทำให้บางพื้นที่เข้าไปไม่ได้ จากประสบการณ์ที่เราดับไฟป่ามานาน ทำให้พบว่ามีหลายพื้นที่ป่าสงวนที่ตำรวจและทหารมาขอใช้งานเพื่อทดสอบการยิงจรวด ปืนครก แต่ยิงแล้วระเบิดบางลูกไม่แตก ส่งผลให้พวกเขาไม่กล้าเข้าไปดับไฟด้วยตนเอง เพราะกลัวจะเหยียบลูกระเบิด ทีมงานของเราเองถ้ารู้ว่ามีพื้นที่แบบนั้นก็จะไม่เข้าไป แต่นายอำเภอจะประสานงานให้ใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าไปดับไฟแทน

นอกจากนั้น อุปสรรคอีกอย่างของเราคือ ‘ช้าง’ โดยเฉพาะพื้นที่ปางช้างในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ แม้จะเจอไฟแต่เมื่อมีช้างอยู่ด้วยแล้วเราไม่รู้จักและไม่เข้าใจธรรมชาติของเขาจึงไม่กล้าเข้าไป หลายครั้งเราจึงใช้วิธีประสานงานไปยังปางช้าง เมื่อเขาอธิบายแล้วว่าทั้งหมดเป็นช้างบ้าน จนเรามั่นใจแบบนี้แล้วก็จะเข้าไปดับไฟได้


อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดเดียวที่ไม่มีไฟป่า และภาครัฐสามารถถอดบทเรียนได้อย่างไรบ้าง

เหตุผลประการแรก คือ เชียงรายมีพัฒนาการสำหรับการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประกาศวันปลอดการเผาซึ่งได้รับความร่วมมือดีมากขึ้นเรื่อยๆ และอีกประการสำคัญ คือ ผู้ว่าเชียงรายคนปัจจุบันเป็นอดีตผู้ว่าเชียงใหม่ซึ่งเคยแก้ไขปัญหาเรื่องไฟป่ามาก่อนและผ่านการสังเคราะห์วิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีมาแล้ว

จังหวัดเชียงราย นับเป็นจังหวัดเดียวของพื้นที่ภาคเหนือที่ไม่ใช้วิธีการบริหารจัดการเชื้อเพลิง และมีการบริหารจัดการทีมดับไฟป่าที่ดี เช่น ถ้าเจ้าหน้าที่มี 20 ทีม ก็จะพยายามควบคุมไม่ให้ไฟป่าเกิน 20 จุด เนื่องจากหากจุดที่เกิดไฟป่าเกินจากจำนวนทีมที่มี ส่งผลให้ดับไฟทั้งหมดไม่ได้และค่อยดับไฟในวันรุ่งขึ้นก็ไม่ทันแล้ว เพราะไฟจะลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้

แม้ว่าจังหวัดเชียงรรายจะไม่มีไฟป่า แต่ก็ยังพบว่ามีค่าฝุ่นที่สูงอยู่ เป็นผลมาจากไฟป่าจากจังหวัดรอบข้างและประเทศใกล้เคียง โจทย์สำคัญต่อไปของจังหวัดเชียงรายจึงไม่ใช่การดับไฟป่า แต่ต้องออกแบบนโยบายเพื่อควบคุมไฟจากประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ด้วย

ดังนั้น ภาพสะท้อนว่าเราสามารถจัดการไฟป่าได้ดีหรือไม่ คือ การเปรียบเทียบระหว่างจำนวนจุดเกิดของไฟป่า กับ จำนวนทีมงานสำหรับการดับไฟ ไม่เช่นนั้นการแก้ไขปัญหาก็จะเหลือทางเดียว คือต้องรอฝนมาเพื่อให้ไฟป่าหายไปเอง

สุดท้ายนี้ วิธีการแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างยั่งยืนคืออะไร

ภาครัฐต้องเข้าใจวิธีการจัดการปัญหาไฟป่าอย่างแท้จริง แม้งบประมาณสำหรับการแก้ไขปัญหาไฟป่าอาจจะไม่มากขึ้น แต่หากฝ่ายนโยบายเข้าใจปัญหาและบริหารงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ ก็ทำให้วิธีการควบคุมไฟป่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องเข้าใจสาเหตุของการจุดไฟ ซึ่งเรามองว่าเป็นประเด็นเรื่องเศรษฐกิจที่ผู้คนจำเป็นต้องจุดไฟเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเอง ถ้าภาครัฐสามารถออกแบบวิธีการเพื่อให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่มีรายได้ทดแทน ก็อาจลดการจุดไฟได้ เช่น ที่เชียงรายมีไผ่ตายขุย (หมายถึง ดอกไผ่ที่ทำให้ไผ่ตายหมดทั้งกอ) ทำให้ป่าไผ่ทั้งป่าตายมหาศาล ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ไฟป่ายิ่งรุงแรง แต่ถ้าหากมีนโยบายสำหรับการอนุญาตให้ชาวบ้านเอาไผ่เหล่านี้ไปทำถ่านหรือใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ ก็จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของไฟป่าด้วย และยังสามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้อีกด้วย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save