fbpx

“ค.ควาย อดอยาก – ฅ.ฅน อดตาย” การพังทลาย (อีกครั้ง) ของ ‘เวียงหนองหล่ม’ ด้วยกรงเล็บเมกะโปรเจกต์รัฐไทย

“ครอบครัวผมอยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ตายกันไปหลายรุ่นแล้ว ถ้านับก็คงเกือบ 200 ปี เมื่อก่อนช่วงฤดูฝน เสร็จจากฤดูทำนา ชาวบ้านก็มาเฮฮาหาปูปลากัน เอาไปขายได้วันละ 500-1,000 บาท ก็อยู่กันได้ ตอนไหนเราไม่มีกับข้าว เราไปหาเอาข้างหน้าก็ได้กิน”

เรื่องเล่าของสายฝน ชุ่มมงคล เกษตรกรวัย 58 ปี สะท้อนภาพวิถีชีวิตในพื้นที่รอบ ‘เวียงหนองหล่ม’ ที่สายฝนใช้ชีวิตมาแต่เกิด

เวียงหนองหล่มคือแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดกว้างใหญ่ มีพื้นที่ปัจจุบันเกือบ 15,000 ไร่ ครอบคลุมถึงสี่ตำบลในสองอำเภอของเชียงราย คือตำบลจันจว้า ตำบลท่าข้าวเปลือก และตำบลจอมสวรรค์ ของอำเภอแม่จัน รวมทั้งตำบลโยนก ในอำเภอเชียงแสน

พื้นที่แห่งนี้มีตำนานเล่าขานว่าคือที่ตั้งของเมืองโยนกนาคพันธุ์ตั้งแต่ราว 1,500 ปีก่อน กระทั่งเมืองแห่งนี้ได้ถูกพญานาคถล่มจนทรุดตัวจมลงไปในหนองน้ำ เพราะพิโรธที่ชาวบ้านจับปลาไหลเผือกยักษ์ที่เป็นลูกชายของตนมาแบ่งกันกิน ขณะที่ทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่านั่นอาจเป็นเหตุแผ่นดินไหวใหญ่จากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่จันที่พาดผ่านเวียงหนองหล่ม

ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ มหาพิบัติภัยในครั้งนั้นได้ก่อกำเนิดพื้นที่ชุ่มน้ำอันกว้างใหญ่ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติให้ทั้งคนและสัตว์แบ่งปันกันหากิน เป็นเช่นนี้สืบเนื่องมานานหลายร้อยปี ความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพนี้ยังทำให้เวียงหนองหล่มได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ หรือแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site)  

“ยิ่งหน้าฝนมา แถวนี้เราหาปลากินได้หมด ชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ก็พากันถือตุ่มถือไซมาหากินกันหมด” ป้าตอม เกษตรกรวัย 65 ปี เป็นอีกคนที่ยืนยันสภาพความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ที่ป้าตอมเองก็อยู่มาตั้งแต่เกิด

ฉากภาพแบบนี้คือคำอธิบายของสำนวนที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” อันอาจเป็นวิถีชีวิตในอุดมคติของใครหลายคนที่โหยหาชีวิตเรียบง่าย พึ่งพาตัวเองได้เช่นนี้

หากแต่ภาพอันสวยหรูจากคำบอกเล่าของชาวบ้านทั้งสองกลับเป็นเพียง ‘อดีต’ ของเวียงหนองหล่ม ที่ไม่อาจหวนกลับไปได้

“เดี๋ยวนี้สภาพนี้ไม่มีอีกแล้ว” สายฝนรำพัน

คนอดตาย ควายอดอยาก

“เดี๋ยวนี้เราต้องซื้อกับข้าวในหมู่บ้านมา ใช้จ่ายเยอะ ปีหนึ่งตกไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท” สายฝนเล่าถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตปัจจุบัน

“เดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรเลย ไม่มีที่หากินเลย ปลาก็ไม่มีกิน เราต้องไปซื้อกินหมด” ป้าตอมเป็นอีกคนที่บ่นให้เราฟัง

การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของพื้นที่รอบเวียงหนองหล่มพลิกวิถีชีวิตของชาวบ้านไปอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างน้อยที่สุด ในฐานะมนุษย์ ชาวบ้านยังพอหาทางประทังชีวิตรอดด้วยตัวเองได้ แม้จะเป็นไปอย่างลำบากยากเข็ญ… ที่น่าเห็นใจยิ่งกว่าคือสรรพสัตว์ในพื้นที่ที่ไม่อาจใช้เงินไปหาซื้ออาหารด้วยตัวเองได้ โดยเฉพาะเหล่าฝูง ‘ควาย’ ที่มีรวมกันในปัจจุบันมากกว่า 1,000 ตัว

ป้าตอม อินต๊ะ

“บ้านนี้อยู่มาตั้งแต่เกิด ก็เลี้ยงควายกันตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่สืบมา เราก็มารับช่วงเลี้ยงควายต่อได้แล้ว 8 ปี ช่วง 1-3 ปีแรกที่เราเลี้ยง ตอนนั้นควายมีที่หากินอยู่เยอะแยะ เราก็ปล่อยมันออกจากคอกไปหากินเอง ไม่ต้องไปกับมันด้วย มันก็ไม่ได้ไปแย่งกินอะไรของคนอื่น เพราะทั้งหมู่บ้านนี้มีที่กินให้ควายหมด แต่ตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว” ป้าตอม ผู้เลี้ยงควายเป็นอาชีพหลัก เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เหล่าควายต้องประสบพบเจอ

“พอไม่มีหญ้า แม่ควายก็ไม่ได้กินหญ้าดี เลยไม่มีน้ำนม ลูกมันก็จะผอมตาย ที่เห็นนี่ก็เริ่มผอมแล้ว จะทำไงได้ล่ะ ก็หญ้ามันไม่ออก เราก็ต้องทน เราก็สงสารมันเหมือนกัน บางทีมันออกไปแล้วไม่อิ่ม มันก็หากินอยู่นั่น กลางคืนไม่ยอมกลับมาคอก บางทีก็ไปแย่งกินข้าวกินน้ำ ไปลงนาบ้านคนอื่น” ป้าตอมเล่าต่อ

ป้าตอมไม่ใช่คนที่เผชิญสถานการณ์แบบนี้เพียงคนเดียว แต่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในเวียงหนองหล่มกระทบคนเลี้ยงควายในพื้นที่กันอย่างถ้วนหน้า

“แต่ก่อนตรงนี้เป็นพื้นที่ราบชุ่มน้ำ เป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านตำบลจันจว้า และคนเลี้ยงควายประมาณเกือบ 2,000 ครอบครัว เดี๋ยวนี้ผลกระทบเยอะครับ จะหาปูหาปลา หาเงินส่งลูกเรียน ก็ไม่ได้หา” สายฝน ผู้เป็นประธานกลุ่มเลี้ยงควายเวียงหนองหล่ม เล่าภาพรวมให้ฟัง

การเลี้ยงควายถือเป็นอาชีพหลักของชาวเวียงหนองหล่มสืบเนื่องมายาวนาน โดยปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้มีปางควายอยู่สามปางหลัก ได้แก่ บ้านดงต้นยาง บ้านป่าสักหลวง และบ้านห้วยน้ำราก ในตำบลจันจว้า ถือเป็นพื้นที่เลี้ยงควายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทั้งยังถูกยกให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ควาย การเลี้ยงควายที่นี่เป็นการเลี้ยงตามธรรมชาติ โดยแต่ละวัน ชาวบ้านจะเปิดคอกให้ควายพากันเดินออกไปลงหนองน้ำหาหญ้ากินเอง และเดินกลับเข้าคอกเองเมื่อกินอิ่ม

การที่ควายลงกินหญ้าในหนองน้ำยังถือเป็นการช่วยขุดลอกดินของหนองน้ำไปในตัว ขณะที่มูลที่ถ่ายหรือเศษอาหารที่คายออกมานั้นก็กลายเป็นเสมือนปุ๋ยที่รักษาความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่รอบหนองน้ำ จึงกล่าวได้ว่าควายคือผู้ธำรงรักษาระบบนิเวศของหนองน้ำเวียงหนองหล่มอย่างแท้จริง

รายได้หลักของคนเลี้ยงควายที่นี่มาจากการนำขี้ควายไปขายเพื่อทำเป็นปุ๋ยสำหรับการเกษตร รวมถึงการนำควายที่เติบโตสมบูรณ์แล้วไปขายต่อ แต่ในวันนี้ที่แทบไม่มีหญ้าตามธรรมชาติอยู่ในหนองน้ำอีก ควายจึงไม่สามารถอิ่มท้องได้ในแต่ละวัน หลายตัวร่างผอมเห็นกระดูก หลายตัวเป็นโรค บางตัวล้มตาย ควายที่สุขภาพย่ำแย่ลงนี้จึงทำให้ชาวบ้านไม่อาจเก็บเกี่ยวรายได้เหมือนเช่นแต่ก่อน

นอกจากเงินจะไม่เข้าแล้ว ก็ยังมีแต่ไหลออก เพราะแต่ละวัน ชาวบ้านต้องคอยหาซื้ออาหารข้างนอกมาเลี้ยงควายทดแทนหรือเสริมจากอาหารธรรมชาติที่ขาดหาย โดยเฉพาะฟางและข้าวโพดหวาน บางคนบอกว่าเดือนๆ หนึ่งต้องใช้เงินซื้อรวมกันเป็นหลักหมื่น ทำให้ค่าใช้จ่ายที่พอกพูนขึ้นมหาศาล

“สมมติเราต้องไปหาข้าวโพดอะไรมา ก็ตกวันละ 1,000 บาทแล้ว เดือนหนึ่งก็ 30,000 บาท ต้นทุนหนักมาก เราจะเอาที่ไหนมาสู้” สายฝนเล่า

ป้าตอมก็เล่าว่า “เราก็คอยซื้อฟางมาตุนอยู่ ที่ประชุมชุมชนก็บอกว่าคนเลี้ยงควายต้องตุนอาหารไว้ให้ควายบ้าง แล้วเราจะเอาที่ไหนมาซื้อ ควายมันเยอะ วันหนึ่งซื้อมา 10-20 ก้อนไม่พอนะ มันไม่อิ่ม แต่เราก็พยายามเสริมให้มันอยู่ ไม่ใช่ว่าเราไม่เสริม แต่มันไม่พอ ให้มันออกไปกินเอง ก็ไม่มีอะไรกิน ไปก็มีแต่ดิน เดี๋ยวมันก็เดินไปทางนั้นไปทางนี้ เจอหญ้าตรงนั้นนิดหนึ่ง ตรงนี้นิดหนึ่ง มันแห้งไปหมดแล้ว แต่ขนาดมันแห้ง มันก็กินนะ เพราะมันไม่มีอะไรกิน สงสารมันเหมือนกัน แต่ไม่รู้จะทำยังไง ได้แต่หาอาหารมาเสริมให้มัน”

จากเดิมที่ควายเคยเป็นแหล่งเงินแหล่งทองของชาวเวียงหนองหล่ม มาวันนี้กลับกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายมหาศาล ทางหนึ่งที่ชาวบ้านจะปลดแอกจากต้นทุนนี้ได้คือต้องขายควายออกไป ทว่า ราคาควายในช่วงเวลานี้กลับตกลงมาเหลือเพียงตัวละ 10,000 กว่าบาท จากเดิมที่เคยมีราคาที่ตัวละเกินกว่า 20,000-30,000 บาท สาเหตุนั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีควายเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาจนกดราคาควายในประเทศ การขายควายในตอนนี้จึงไม่คุ้มราคา และขณะเดียวกันก็แทบไม่มีคนซื้อ ชาวบ้านจึงไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากต้องคอยประทังชีวิตควายในคอกตัวเองให้อยู่รอดไปได้แต่ละวัน

ปางควายเวียงหนองหล่มที่รุ่งเรืองสืบเนื่องมาหลายชั่วรุ่น มาวันนี้ลมหายใจกำลังค่อยๆ แผ่วลง เพราะความพลิกผันของสภาพแวดล้อม และไม่ใช่แค่ปางควายเท่านั้น แต่นั่นยังอาจนำไปถึงขั้นการพังทลายของชุมชนเวียงหนองหล่มเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ครั้งแรกนั้นล่มสลายไปเพราะพิบัติภัยทางธรรมชาติ หรือหากเชื่อเรื่องราวปรัมปรา ก็บอกได้ว่าเป็นเพราะพญานาค ทว่าหายนะครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้เกิดจากน้ำมือของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘มนุษย์’ ด้วยกันเอง

“คนได้อยู่ ควายได้กิน” คำโฆษณาของอภิมหาโครงการพันล้าน

“ตอนนั้นเขาบอกว่ามีโครงการเข้ามาขุดบ่อ เราก็ถามไปว่าจะขุดลึกไหม เขาก็บอกว่าไม่ลึก เราบอกไปว่าถ้ามาขุดอย่างนี้ ที่กินของควายจะหมดนะ เขาก็ว่าไม่หมด จะอนุรักษ์ควายไว้เหมือนเดิม ที่กินของควายจะมีอยู่ เขาว่าอย่างนี้ แต่ไปมาก็มาขุดตรงหน้านี้เลย 200 ไร่ ป๊าดโท๊ะ! ขุดลึกมาก ตอนหน้าแล้งก่อนหน้ายังบอกว่าจะขุดแค่เมตรครึ่ง ป๊าดโท๊ะ! พอขุดจริง 3-4 เมตร ทีนี้ควายลงไปหากินไม่ได้แล้ว”

คำบอกเล่าจากป้าตอมตอกย้ำว่าเคราะห์กรรมที่กำลังเกิดกับควายและคนเวียงหนองหล่มมีสาเหตุหลักมาจากโครงการขุดบ่อในพื้นที่ที่ไม่เป็นไปตามแบบที่ตกลงกับชาวบ้านไว้แต่แรก

สายฝนเล่าสถานการณ์ให้ฟังว่า “เราอ่านรายละเอียดตอนแรกบอกว่าเขาจะทำโครงการขุดเป็นแอ่งน้ำ ก่อนหน้านี้มีแบบขุดลอกเดิมที่จะขุดกว้างสักประมาณ 100-200 เมตร แต่ทีนี้สถานการณ์พลิก เขาไปออกแบบใหม่โดยชาวบ้านไม่รู้เรื่อง แล้วตอนทำประชาคมส่วนมากก็เป็นคนแก่เข้าร่วม ไปทำประชาคมกันในวัด คนแก่ฟังไม่รู้เรื่อง ก็ไปยกมือให้เขาทำ ในตำบลนี่คือโดนหลอกกันหมด”

“ถ้าทำตามแบบขุดลอกเดิม เราก็อยู่ได้ ควายก็อยู่ได้ คนก็ได้กิน แต่คนเรามันเห็นแก่เงินทอง ไม่คำนึงถึงชีวิตชาวบ้านที่ทำมาหากินกัน” สายฝนเล่าต่อ ก่อนพาเราขับรถไปดูพื้นที่ที่กำลังทำโครงการ

รถพาเรามาหยุดกลางคันดินกว้างใหญ่ ฝั่งซ้ายของคันดินคือแอ่งน้ำที่ว่างเปล่า ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดทั้งพืชและสัตว์ ส่วนฝั่งขวาคือพื้นดินแห้งหรังที่มีหญ้าขึ้นเป็นหย่อมๆ พร้อมกับควายฝูงหนึ่งที่กำลังแทะเล็มหญ้าแห้งๆ

“มีอะไรมันก็ต้องยอมกิน ไม่งั้นมันไม่มีอะไรกิน” สายฝนพรรณนาภาพฝูงควายตรงหน้าให้ฟัง

เมื่อกวาดสายตากว้างไกลขึ้นไปอีก ภาพที่เห็นก็คือรถแบคโฮและรถบรรทุกเรียงรายอยู่นับสิบคัน บ้างจอดนิ่ง บ้างกำลังขุดดิน จำนวนรถแบคโฮมากมายที่เราเห็นตรงนั้นทำให้เรารู้ว่าโครงการนี้ไม่ใช่แค่โครงการขุดแอ่งน้ำเล็กๆ แต่อาจเข้าขั้น ‘เมกะโปรเจกต์’ เลยก็ว่าได้

“ตรงนี้ขุดไปหมดเลย” สายฝนชี้มือชี้ไม้ไปหลายจุด ทั้งตรงพื้นดินที่ฝูงควายกำลังเล็มหญ้า และตรงที่เรากำลังยืนอยู่ เหล่านี้ล้วนเคยเป็นหนองน้ำผืนเดียวกันที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด ทั้งหญ้าน้ำ บัว และโกงกาง รวมถึงสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ แต่ในวันนี้ หลายส่วนของหนองน้ำกว้างใหญ่ตรงนี้ได้ถูกสูบน้ำออก บางส่วนถูกถมคันดินแทนที่ บางส่วนถูกทำเป็นหนองน้ำใหม่ หนองน้ำที่เคยผืนแผ่นเดียวกันในวันนั้น มาวันนี้ได้ถูกหั่นแยกออกด้วยคันกินสูงที่ถูกถมขึ้นมาขวางกั้น กุ้งหอยปูปลาที่เคยเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านไม่อาจไหลตามสายน้ำเข้ามาได้ดังแต่ก่อน ป่าไม้โดยรอบเดิมก็เริ่มทยอยหายไป

สภาพพื้นที่ที่เราเห็นช่างแตกต่างจากภาพความทรงจำในอดีตของสายฝน จนเราแทบจินตนาการความสวยสดงดงามของสภาพแวดล้อมเดิมไม่ออก

อันที่จริง การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เวียงหนองหล่มเริ่มทยอยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2540 ที่แม่น้ำโขงเริ่มผันผวนจากการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าหลายแห่งเหนือล้ำน้ำ จนกระทบความหลากหลายทางชีวภาพในหนองน้ำของเวียงหนองหล่มที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงอยู่ ก่อนที่ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 2550 พื้นที่ก็โดนนายทุนรุกกว้านซื้อที่ดินไปกว่าครึ่ง ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็เริ่มเข้ามาทำโครงการชลประทานต่างๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งในพื้นที่ จนทำให้สภาพพื้นที่เริ่มถูกปรับเปลี่ยนหนักขึ้น ทว่าโครงการเหล่านั้นกลับไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ทั้งยังทำลายระบบนิเวศลงทีละเล็กละน้อย กระทั่งความเสียหายเริ่มชัดขึ้นเมื่อรัฐเริ่มเดินหน้าโครงการขนาดยักษ์ที่เรากำลังเห็นในวันนั้น

ย้อนไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2563 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงพื้นที่ประชุมติดตามการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติเวียงหนองหล่ม ก่อนมีข้อสั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กับจังหวัดเชียงราย พิจารณาตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม ขณะเดียวกันในการประชุมครั้งนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ยังได้เสนอแผนระยะสั้นการพัฒนาเวียงหนองหล่มในกรอบระยะเวลาสี่ปี (2564-2568) ซึ่งประกอบด้วยโครงการแยกย่อยต่างๆ รวมถึงโครงการพัฒนาแก้มลิงเวียงหนองหล่ม

จุดประสงค์ของแผนงานดังกล่าวถูกระบุว่าจะเป็นการช่วยให้เวียงหนองหล่มสามารถกักเก็บน้ำได้เต็มศักยภาพ ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่นเพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ขณะที่เอกสารสรุปมติและข้อสั่งการของประธานในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2563 ก็ระบุข้อมูลว่าแผนงานพัฒนาพื้นที่เวียงหนองหล่มและพื้นที่โดยรอบนี้ ใช้งบประมาณรวมกันทั้งสิ้น 3 พันล้านบาท โดยครอบคลุมงานสี่ด้าน ได้แก่ การขุดลอกตะกอนดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการพัฒนาแหล่งเพาะพันธุ์ปลา

ในเวลาต่อมา ได้เกิดการทำร่างแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย (2566-2570) ขึ้น โดยร่างดังกล่าวได้รับมติเห็นชอบในที่ประชุม กนช. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 แผนดังกล่าวมีใจความสำคัญระบุว่า ประกอบด้วยแผนพัฒนาทั้งหมด 5 ด้าน 65 โครงการ โดย 5 ด้านนั้น ได้แก่ การบริหารจัดการพื้นที่ การบริการจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวและโบราณคดี และการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งหมดนี้ใช้วงเงินรวมกันทั้งสิ้น 3,880.85 ล้านบาท

เอกสารจากการประชุมยังระบุว่าแผนงานดังกล่าวจะทำให้ “ความจุเก็บกักเพิ่มเป็น 24.22 ล้าน ลบ.ม. (เพิ่มขึ้น 17.83 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำที่ผันเข้าพื้นที่ 35.00 ล้าน ลบ.ม./ปี พื้นที่รับประโยชน์ 49,792 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 14,531 ครัวเรือน ลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วม 13,300 ไร่”

แต่แม้ผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในเอกสารจะสวยหรู ชาวบ้านกลับต่างพูดว่ายังไม่เคยได้รับประโยชน์เหล่านั้นจริง และไม่ว่าจะถามใคร พวกเขาก็ไม่อาจตอบได้ว่าจุดหมายปลายทางของโครงการนี้จะมีหน้าตาอย่างไร

โครงการยักษ์ใหญ่นี้ยังคงดำเนินไปต่อเนื่อง ภาพการขุดดินขุดบ่อพัฒนาพื้นที่ที่เราเห็นตรงหน้าตอนนั้นยังเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของเมกะโปรเจกต์ระดับพันล้านนี้เท่านั้น โดยปัจจุบัน พื้นที่ปางควายบ้านดงต้นยาง ซึ่งสายฝนและป้าตอมอาศัยอยู่ เป็นแค่พื้นที่แรกสุดที่ถูกโครงการเข้ามารุกล้ำ ในอนาคตอีกไม่ใกล้ไม่ไกลนัก อภิมหาโปรเจกต์นี้ก็กำลังคืบคลานเข้าไปประชิดอีกสองปางควายใหญ่ที่เหลือ ทั้งปางบ้านป่าสักหลวง และปางบ้านห้วยน้ำราก

ภาพวาดจำลองความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิศาสตร์ในพื้นที่แถบบ้านป่าสักหลวง-บ้านดงต้นยาง ของเวียงหนองหล่ม ระหว่างปี 2515 (ซ้าย) และปี 2566 (ขวา)
ภาพโดย Nopparat Lamun, Chak Kinesee, and Thananuwat Panyawicha
ที่มา: Leo Baldiga, ‘Changes in the Wiang Nong Lom Wetlands’ (16 มกราคม 2567)

ขุดหนองบ้านโน้น สะเทือนถึงบ้านนี้

ในเวลาไม่กี่นาที เรานั่งรถไปถึงบ้านป่าสักหลวง ปางควายใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ไม่ไกลจากบ้านดงต้นยางนัก หนองน้ำตามธรรมชาติเดิมตรงนั้นยังคงอยู่ เพราะโครงการยังไม่ขยับเข้ามาถึง

แต่ระบบนิเวศเวียงหนองหล่มล้วนเป็นผืนแผ่นหนึ่งเดียวกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนฟากหนองน้ำหนึ่งจึงย่อมกระเทือนถึงคนอีกฟากหนึ่งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

“ตั้งแต่ปีที่แล้ว ควายเราไม่ได้กินดี หญ้าก็ไม่ค่อยขึ้น แล้วควายจากบ้านดงต้นยางก็มาแย่งกินหมดเลย ควายบ้านเราก็ต้องเดินออกไปกินไกล ทำให้ควายเรากินหญ้าไม่พอ เป็นปัญหาใหญ่มาก ควายผอมหมดเลย เราจะไปว่าเขา [ชาวบ้านดงต้นยาง] ก็ไม่ได้” ป้าสมศรี ทายะนา คนเลี้ยงควายบ้านป่าสักหลวง วัย 57 ปี เล่าความยากลำบากของตัวเองให้เอง

ไม่ทันสิ้นคำ ลูกควาย 2-3 ตัว ก็เดินออกจากคอกป้าสมศรีผ่านไปด้านข้างเรา ป้าสมศรีชี้ไปที่ควายให้เราหันมองตาม พร้อมรำพึงรำพัน “เนี่ย ลูกควายผอมหมด มันไม่ยอมออกไปหากินเลย เพราะไปลุยน้ำมาไม่เจออะไรกิน ผอมกันหมด ผอมกะด๊องกะแด๊งเลย”

เป็นไปตามที่ป้าตอมกับสายฝนจากบ้านดงต้นยางเล่าก่อนหน้านี้ เมื่อการทำโครงการแถบบ้านดงต้นยางทำให้ควายตรงนั้นขาดแคลนอาหาร พวกมันจึงต้องออกเดินหากินไกลขึ้น เนื่องจากบ้านป่าสักหลวงที่อยู่ใกล้กันยังมีหนองน้ำธรรมชาติอยู่ นั่นจึงเป็นแหล่งหนึ่งที่ฝูงควายพากันมุ่งหน้าไปหาหญ้าน้ำกิน แต่เมื่อควายมาแย่งกันหากินเยอะขึ้น หญ้าในหนองน้ำจึงไม่ได้มีเพียงพอ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมควายเจ้าถิ่นเดิมในบ้านป่าสักหลวงและคนเลี้ยงควายอย่างป้าสมศรีจึงได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งที่โครงการยังเข้ามาไม่ถึง

นอกจากหญ้าจะไม่เพียงพอแล้ว หญ้าทุกวันนี้ยังไม่ค่อยขึ้นดังที่ป้าสมศรีว่าไว้ เพราะโครงการที่ดำเนินการอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลนั้นกำลังรบกวนธรรมชาติของหนองน้ำหน้าบ้านป้าสมศรีด้วย

“ตอนนี้หญ้ากำลังจะสูญหายไป เพราะพอโครงการนี้มาปุ๊บ ก็สูบน้ำจากหนองน้ำหน้าบ้านไปท่วมหนองที่โครงการขุด หญ้าก็เลยไม่เกิด ทำให้ควายไม่มีที่กิน จริงๆ ถ้าไม่โดนสูบน้ำไป หญ้าก็ขึ้นมาได้เรื่อยๆ แล้วควายก็ยังหากินได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว หญ้าตายหมดเลย” ป้าสมศรีเล่า

เมื่ออาหารธรรมชาติขาดหายไป ป้าสมศรีและคนเลี้ยงควายบ้านป่าสักหลวงคนอื่นๆ จึงเผชิญชะตากรรมไม่ต่างกับที่บ้านดงต้นยาง คือต้องเผชิญภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการหาซื้ออาหารมาประทังชีวิตควาย

“เราไปหาต้นข้าวโพดแห้งๆ ฟันมาให้มันกิน มันก็กินกันจนไม่เหลือ เพราะมันไม่มีจะกิน มีอะไรก็ต้องกิน ฟางก็มีอยู่เหมือนกัน ซื้อไว้เต็มเล้า ตอนนี้ลดลงไปเป็นครึ่งแล้ว ทำให้เดี๋ยวนี้จะไม่มีอะไรเลี้ยงควายแล้ว เพราะต้องมีอะไรเลี้ยงมันตลอด” ป้าสมศรีเล่า

แม้โครงการยังไม่ถึงพื้นที่บ้านป่าสักหลวงโดยตรง แต่ผลกระทบได้เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวบ้านและป้าสมศรีไปแล้ว และในอีกไม่ช้าไม่นาน การขุดหนองน้ำที่บ้านป่าสักหลวงก็กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ทำให้ป้าสมศรีไม่อาจจินตนาการออกว่าอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอีกเพียงใด

“ต้นยางโดนไปแล้ว ป่าสักหลวงก็เริ่มแล้ว ปีนี้อัตคัดที่สุดแล้ว ไม่รู้จะทำไง บางคืนก็นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นมาก็คิดว่าวันนี้ควายจะกินอะไร จะเอามันไปหากินทางไหน” ป้าสมศรีรำพัน

“เราก็ได้แต่สงสารควายมัน มันเป็นควาย แต่มันรู้หมด ปีที่เขาเริ่มขุดหลุม มันก็พาลูกไปยืนดู น่าสงสาร” ป้าสมศรีทิ้งท้ายไว้เท่านั้น

ป้าสมศรี ทายะนา

“ถ้าไม่มีใครช่วย เราคงเลี้ยงควายต่อไปไม่ได้”

แม้จะได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐดังกล่าวกันอย่างถ้วนทั่ว แต่ชาวบ้านก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากทางการไม่เพียงพอ

“เราเป็นตัวแทนชาวบ้าน พอเขาประสานมา เราก็ต้องช่วยประสานเข้าไปที่เทศบาล แล้วกว่าจะได้ [ความช่วยเหลือ] แต่ละอย่าง มันช้า ปีที่แล้วก็ได้แค่ฟางกันไม่กี่มัด เอามาไม่เท่าไหร่ก็หมด” สายฝนเล่า

“เราหลังพิงฝาแล้ว อนาคตข้างหน้าถ้าควายเราตาย เขาก็คงช่วยเหลือเราไม่ได้อีก” สายฝนพูดต่อ

ป้าตอมเป็นอีกคนที่เล่าว่า “เราก็แจ้งนั่นแจ้งนี่ไป แต่เราไม่ได้เงินช่วยเหลือสักบาท” เธอคั่นประโยคด้วยเสียงหัวเราะ “ไม่รู้จะทำไง ตอนประชุมเขาก็บอกว่าให้เราส่งเรื่องมานะ เราก็ส่งไปเทศบาล เทศบาลก็ส่งไปปศุสัตว์ ปศุสัตว์ก็ส่งเข้าอำเภอ อำเภอส่งเข้าจังหวัด แต่ก็ยังไม่ได้อะไร แล้วเดี๋ยวประมาณหน้าฝนที่จะถึงนี้ เขาจะเอาเชื้อหญ้ามาให้หว่าน แต่มันโตไม่ทันควายกินหรอก เพราะกว่าจะเอามาหว่านก็กี่เดือนแล้ว กว่ามันจะโตอีก”

ณ ตอนนี้ ชาวบ้านแทบไม่ได้หวังแล้วว่าจะสามารถชนะและทำให้โครงการยุติไปได้ แต่อย่างน้อยที่สุด พวกเขาขอให้ทางการหันมาเหลียวแลความเดือดร้อนของพวกเขามากขึ้น ทั้งยังฝากขอประชาชนทั่วไปที่พอมีแรงกำลังให้เข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะด้วยการบริจาคหญ้าหรือฟางเพื่อเป็นอาหารประทังชีวิตควาย หรือการช่วยจ่ายเงินไถ่ชีวิตควายออกไป

สายฝน ชุ่มมงคล

หากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ ในเร็ววันนี้ ชาวบ้านต่างบอกว่าหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้าจะเป็นฝันร้ายที่พวกเขาไม่อยากให้มาถึง

“เดี๋ยวอีกหน่อยมันก็จะผอมลงอีก ถ้าอีก 2-3 เดือนข้างหน้าไปถึงกลางเมษายนนี้ ยังไม่มีอะไรกิน มันก็จะผอมอีกเยอะ” สายฝนบอก

วันนี้ ทั้งคนและควายในเวียงหนองหล่มจึงไม่อาจมองเห็นแสงสว่างข้างหน้า ได้แต่นับถอยหลังถึงวันที่ปางควายอันเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงหลักของที่นี่ตายจากลงไปต่อหน้าต่อตา

“ถ้าเขามาช่วย เราคงได้เลี้ยงต่อไป แต่ถ้าเขาไม่มาช่วย เราก็ไม่รู้ว่าจะไปเลี้ยงไหน จะมาอนุรักษ์ก็คงเป็นไปไม่ได้แล้ว มันก็จะไม่ได้ทำสืบชั่วลูกชั่วหลาน จริงๆ ลูกหลานเราก็มีอยู่ ถ้ามันสามารถเลี้ยงได้ ลูกหลานเรายังมาสืบต่อจากเราได้ แต่พอเป็นอย่างนี้ เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว แล้วเราก็ไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไร อีกสามปี เราก็อายุ 60 แล้ว ไม่มีแรงไปทำอะไรได้แล้ว จะไปรับจ้างอะไร เขาก็คงไม่จ้าง ก็ไม่รู้จะไปทำอะไรต่อแล้วล่ะ เพราะเราไม่ได้มีความรู้” ป้าสมศรีบอก

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save