fbpx

Trolley problem #7: นัดชิงฟุตบอลโลก-Jurgen Klopp กับข้อสรุปสงครามสามัญสำนึกเรื่องจำนวน

คนดูฟุตบอล 1,500 ล้านคน VS คนที่กำลังจะขาขาด 1 คน

สมมติวันนี้มีนัดชิงฟุตบอลโลกระหว่างโปรตุเกสและอาร์เจนตินา เป็นการปะทะกันระหว่างสองสุดยอดนักเตะแห่งศตวรรษอย่างคริสเตียโน โรนัลโด กับลิโอเนล เมสซี โดยปกตินัดชิงฟุตบอลโลกมีผู้ชมประมาณ 1,500 ล้านคนทั่วโลก แต่เชื่อได้เลยว่าจำนวนคนดู ความมัน และความสุขของแฟนบอลจะเพิ่มขึ้นมหาศาล

ทว่า ทันทีที่กรรมการเป่านกหวีดเริ่มการแข่ง เสาสัญญาณถ่ายทอดสดในสนามร่วงมาทับเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ถ้าไม่ช่วยเขาจะเสียขาสองข้าง แต่ถ้าช่วย คุณต้องตัดไฟเสาสัญญาณ ยุติการถ่ายทอดสด ดับฝันแฟนบอลทั่วโลก คุณจะช่วยเจ้าหน้าที่หรือไม่?

ต่อให้คุณคลั่งบอลเหมือนผม คุณก็คงยังเห็นตามที่ Jurgen Klopp กล่าวไว้ช่วงโควิดว่าฟุตบอลคือ ‘สำคัญที่สุด’ ในบรรดา ‘เรื่องไม่สำคัญ’ ดังนั้นถ้าการทำลายความสุขจากเกมสามารถช่วยใครสักคนได้ ‘เราไม่ลังเลเลยที่จะทำมัน’

เห็นด้วยไหมครับ?

ลุง John Taurek บอกว่าถ้าคุณสามัญสำนึกตรงกับเขาในเรื่องนี้ คุณจะต้องยอมรับว่า ‘จำนวน’ ไม่ควรมีผลต่อการตัดสินใจสับราง ในกรณีรถรางแบบมาตรฐาน

ภาคต่อของสงครามสามัญสำนึกเรื่องจำนวน

ตอนก่อนผมเล่าไปว่าฝ่ายที่เชื่อว่าจำนวนมีผล ย้อนศรลุง Taurek ด้วยการใช้สามัญสำนึกของลุง คว่ำข้อเสนอลุงเอง ที่ว่า ‘จำนวน’ คนมากคนน้อยไม่ควรมีผลต่อการตัดสินใจในปัญหารถราง อย่างไรก็ตาม ลุงไม่ยอมแพ้ และใช้ยุทธศาสตร์เดียวกันตีกลับฝ่ายตรงข้าม โดยใช้กรณีที่เพิ่งเล่าไปมาย้อนศรครั้งสุดท้าย โดยบอกว่าถ้าคุณเห็นเรื่องนี้ตรงกัน คุณต้องไม่นับจำนวน

ลุงแกจะเถียงแบบนี้ครับว่า

ถ้า ‘จำนวน’ สำคัญจริง (matter) คุณจะไม่ช่วยคนกำลังจะเสียขา เพราะ

ในกรณีอย่างการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เรารู้แน่นอน คือแชร์สามัญสำนึกร่วมว่า

P1: เสียขาแย่กว่าอดดูบอล

แต่เราก็รู้ว่า

P2: การที่คนจำนวนมาก ณ จุดหนึ่ง ถ้ามากพอ เช่น ล้านล้านล้านคน ‘มีน้ำหนัก’ มากกว่าการที่คนหนึ่งคนเสียขา

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มีสามัญสำนึกตรงกับที่ Jurgen Klopp บอกไว้ คือ

P3: คำตอบที่ถูกต้องคือเราต้องช่วยคนที่กำลังจะเสียขา

ถึงจุดนี้ ลุงชี้ว่า P2 ดูขัดกับ P3 เพราะถ้าดูภาพรวม เอาจำนวนเข้ามาคิดแล้ว เราไม่ควรตัดสัญญาณถ่ายทอดสด เพราะทางเลือกนี้ ‘แย่กว่า’ การที่คนหนึ่งคนเสียขา

แต่ทำไมเราจึงยังคงยึดมั่นในทั้ง P1, P2, และ P3? ทั้งที่ P3 กับ P2 ดูจะขัดกัน

ลุงว่าทางเดียวที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้คือการบอกว่า P2 ถูก ถ้าดูในภาพรวม แต่ (เน้น) ในการตัดสินใจเชิงศีลธรรม เราจะไม่นับจำนวนแบบนั้น

พูดง่ายๆ คือ ‘จำนวน’ มีอยู่จริง สามารถนับรวมได้จริง (แบบที่ Derek Parfit บอกในตอนที่แล้ว) แต่ไม่สำคัญ!

บางคนอาจบอกว่าเราเอาสองเรื่องนี้เทียบกันไม่ได้ เพราะการเสียขากับการอดดูฟุตบอลเป็นคนละเรื่องกัน เรื่องแรกเป็นเรื่องของ ‘การสูญเสีย’ ที่กระทบต่อสุขภาพ เรื่องหลังเป็นเรื่องของ ‘ไม่ได้ผลประโยชน์’ ซึ่งฟังดูสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ผมยังคิดไม่เคลียร์และไม่แน่ใจว่าควรมองเรื่องนี้อย่างไรดี ประเด็นก็คือผมดัดแปลงตัวอย่างนี้มาเพื่อให้น่าสนใจและร่วมสมัยขึ้น ถ้าผู้อ่านไม่ซื้อ ลองเปลี่ยนตัวอย่างไปใช้แบบในงานวิชาการที่ลุงเขียนเลยก็ได้ คือเปลี่ยนความเสียหายของฝ่ายจำนวนมากจากการอดดูฟุตบอลเป็น ‘ปวดหัวเบาๆ’ หรือ ‘โดนยุงกัด’ ซึ่งเป็นเรื่องสุขภาพเหมือนกัน

(นั่นคืองานวิชาการของลุงตั้งคำถามว่า เราจะเลือกอะไรระหว่างยอมให้ ‘คนหลายล้านคนโดนยุงกัด’ กับ ‘คนหนึ่งคนเสียขาสองข้าง’)

ต่อให้เปลี่ยนกรณีแล้ว ข้อสรุปลุงก็เหมือนเดิม กล่าวคือหากเราพิจารณาจำนวนความเสียหายรวมกันของคนจำนวนมาก ณ จุดหนึ่ง ความเสียหายนี้ยิ่งใหญ่กว่าการเสียขาสองข้างของคนหนึ่งคนมหาศาล แต่สุดท้ายเราก็ยังต้องช่วยคนหนึ่งคนอยู่ดี และคำอธิบายเดียวที่มีคือจำนวนไม่สำคัญ!

ถ้าไม่เชื่อตามนี้ลุงจะถามว่า ลองหาคำอธิบายอื่นมาสิ มีสักคำอธิบายไหมว่าทำไมคุณถึงอยากช่วยคนเสียขา?

จำนวนสำคัญสิ แค่เราอาจไม่รู้ตัว?

เอาเข้าจริงคนที่นำเสนอกรณีข้างต้นไม่ใช่ลุง Taurek เอง แต่เป็น Parfit ที่ต้องการล้มข้อเสนอของลุง ดังที่เคยเล่าไปว่าในแวดวงวิชาจริยศาสตร์ มีธรรมเนียมว่าเมื่อจะปฏิเสธข้อเสนอของใคร เราต้องช่วยเขาคิดด้วยว่าฝั่งนั้นเขามีวิธีปกป้องข้อเสนอนั้นแบบอื่นที่ดีกว่าที่เขาเสนอหรือไม่ ถ้ามี เราต้องช่วยขุดมันออกมาแล้วพยายามปฏิเสธข้อเสนอนั้นด้วย พูดอีกแบบคือ เราต้องสู้กับเวอร์ชันที่ดีที่สุดของคู่ถกเถียง โดยที่เวอร์ชันที่ดีที่สุดอาจเป็นตัวเราเองนี้แหละที่คิดได้ Parfit ทำเช่นนั้น และเสนอวิธีเถียงแบบที่เพิ่งเล่าไป ซึ่งลุง Taurek อ่านแล้วพยักหน้าชอบใจ ก็เอาใช้เป็นปราการปกป้องข้อเสนอตัวเองที่ว่าจำนวนไม่สำคัญ

เมื่อช่วยลุง Taurek แล้ว Parfit ยอมรับว่าเขาไม่มีวิธี ‘น็อก’ สามัญสำนึกของลุงที่ว่าจำนวนไม่สำคัญแบบให้ตายคาที่ เพราะเราไม่มีคำอธิบายที่อธิบายได้อย่างหมดจดว่า เหตุใดเราจึงช่วยคนขาขาดหนึ่งคน ก่อนคนล้านล้านคนอดดูบอลโลก หรือปวดหัวคนละห้าวินาที หากเรายังเชื่อว่าจำนวนสำคัญ

อย่างไรก็ตาม Parfit ยังพอมีไอเดียคำอธิบายอยู่สองสามแบบ ซึ่งถ้าพัฒนาต่อยอดอาจล้มลุงได้

หนึ่ง เราอธิบายว่าความเสียหายบางระดับ ถ้าเบาบางมาก ต้องถือว่าไม่มีนัยสำคัญทางจริยศาสตร์ ตัวอย่างเช่นการอดดูบอลโดนยุงกัด ปวดหัวเบาๆ ห้าวินาที ไม่มีนัยสำคัญในชีวิตขนาดให้ต้องคิดอะไร

พูดง่ายๆ คือความเสียหายเหล่านี้มีค่าเป็น ‘0’ เอากี่ศูนย์มารวมกันล้านล้านครั้งก็เป็น ‘0’ ยังไงก็ไม่มีน้ำหนักเท่าคนหนึ่งคนเสียขาสองข้าง

เราจะนับชั่งน้ำหนักก็ต่อเมื่อความเสียหายเริ่มรุนแรง เช่น เทียบคนหนึ่งคนเสียขากับคนห้าสิบคนเสียนิ้ว อะไรทำนองนี้  ถ้าคิดแบบนี้ก็อธิบายได้ว่าเหตุใดจำนวนจึงมีความหมายและต้องเอามาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ แต่ปัญหาของวิธีคิดนี้คือ ต่อให้คิดแบบนี้ เราก็ยังมีแนวโน้มที่จะช่วยคนกำลังจะเสียขาอยู่ดี

สอง เราอธิบายว่าความเสียหายทั้งสองแบบเป็นเรื่องคนละระดับ เอามาเทียบกันไม่ได้ เหมือนที่ Klopp แบ่งเรื่องในโลกเป็นเรื่องสำคัญกับไม่สำคัญ เรื่องที่สำคัญที่สุดในเรื่องไม่สำคัญ ยังไงก็เอาไปเทียบกับเรื่องสำคัญไม่ได้ ต่อให้เรื่องสำคัญนั้นเล็กที่สุดในบรรดาเรื่องสำคัญ หากคิดเช่นนี้ ก็จะคล้ายข้อก่อน คือความเสียหายเบาๆ จำนวนมากแค่ไหน ต่อให้มูลค่าความเสียหายไม่ใช่ 0 ก็เอามาชั่งสเกลเดียวกับคนเสียขาไม่ได้

สาม เราอธิบายว่าที่จริงแล้ว เวลาเราตัดสินใจจะช่วยใคร ไม่ใช่ว่าเราไม่นับเลข เรานับเลขคำนวณเสมอ แต่ในระหว่างการคำนวณ มันมีอีกปัจจัยที่เราเอาเข้ามาคำนวณปนด้วย คือดูว่าเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ใครจะตกไปอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด และเราจะช่วยคนนั้น (สามัญสำนึกแบบ ‘maximin’) โหมดคิดนี้จะเข้ามาก่อนเราเริ่มนับเลข

สำหรับ Parfit การที่เราช่วยคนเสียขาก่อนคนล้านคนปวดหัว จริงๆ แล้ว ‘อาจ’ เป็นเพราะเรารู้ว่าการสูญเสียขาของคนหนึ่งคนจะนำเขาไปสู่ชีวิตที่แย่กว่าการที่คนล้านคนอดดูบอลมหาศาล วิธีคิดแบบ ‘maximin’ ในจิตใต้สำนึกเราเลยเข้ามาปนในการคำนวณด้วย ก่อนห้ามไม่ให้เราช่วยคนจำนวนมากกว่า 

คำอธิบายแบบนี้ยังคงยืนยันว่า จำนวนและการคำนวณตัวเลขมีความสำคัญ แต่เมื่อคำนวณแล้ว เราก็ยังช่วยคนจะเสียขา

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า Parfit ไม่แน่ใจในคำอธิบายนี้ เพียงแต่บอกว่า สามัญสำนึกของมนุษย์อาจเป็นเช่นนั้นก็ได้ เพราะสมมติว่าคุณมีเวลาและทรัพยากรให้เลือกช่วย ระหว่าง

1. ช่วยคนปวดข้อถาวรจากอาการ ‘ตาบอด’

2. ช่วยคนตาบอดล้านคนจากอาการ ‘ปวดข้อถาวร’

ถ้าคิดตาม Taurek ว่าจำนวนไม่มีความหมาย และระดับความเสียหายเท่านั้นที่สำคัญ ข้อสรุปคือเราต้องเลือก 1. เพราะความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นหนักกว่า

แต่คนส่วนใหญ่จะตอบว่าช่วย 2. ดีกว่า หรืออย่างน้อยก็คือสองทางเลือกเท่ากัน ดังนั้นข้อเสนอของลุง Taurek ที่ว่าจำนวนไม่มีความหมายเลยจึงไม่น่าถูก

Parfit สรุปว่าหากคุณคิดเช่นนี้หมายความว่าคุณกำลังคำนวณ คุณนับเลข ดูภาพรวม เพียงแต่การคำนวณของคุณเริ่มจากคำนวณตามหลัก maximin ก่อน เมื่อเห็นว่าผลลัพธ์สุดท้ายของทั้งสองทางเลือกแย่เท่ากัน สามัญสำนึกคุณเลยขยับสู่ขั้นต่อไปว่าให้เลือกช่วยคนจำนวนมาก ซึ่งนั่นแปลว่าคุณคำนวณและจำนวนมีผล

หากจิตใต้สำนึกเราคำนวณและพิจารณาจำนวนแบบนี้จริง เราก็สามารถอธิบายได้ว่าทำไมเราจึงต้องช่วยเจ้าหน้าที่เสียขา โดยไม่ต้องอ้างอิงไปที่ข้อสรุปของ Taurek ที่ว่า ‘จำนวนไม่มีความหมาย’

อย่างไรก็ตาม Parfit สำรวจคำอธิบายเหล่านี้อย่างจริงจัง ก่อนสรุปว่าทุกคำอธิบายยังไม่สมบูรณ์ เพราะไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึกอื่นๆ ซึ่งผมไม่มีพื้นที่พอจะชวนท่านผู้อ่านดำลึกไปมากกว่านี้ แต่เอาเป็นว่า เรื่องจากเรายังไม่มีข้อโต้แย้งที่น็อกลุง Taurek ได้ ลุงจึงกอดข้อเสนอเรื่องทอยเหรียญจวบจนวันตาย (ปี 2003)

ทางสายกลาง?: จำนวนไม่ได้สำคัญร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็สำคัญมาก

ผมเริ่มเหนื่อยกับการอ่านข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัจจัยเรื่อง ‘จำนวน’ ในปัญหารถรางและไม่มีเวลา (รวมถึงปัญญา) จะลงลึกไปมากกว่านี้ คิดแล้วก็ท้อ จนกระทั่งมีโอกาสนั่งฟังข้อเสนอของนักศึกษาปริญญาเอกท่านหนึ่งที่พยายามหาทางประนีประนอมในสงครามสามัญสำนึกเรื่องจำนวน ซึ่งผมชอบและเห็นว่าอาจช่วยเป็นทางออกเบื้องต้นให้กับสงครามนี้ได้

เขาบอกว่าทางออกอาจอยู่ที่ทางสายกลาง กล่าวคือลุง Taurek ถูกต้องที่บอกว่าเราเอา ‘จำนวน’ มาบวก หรือคำนวณดูภาพรวมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน ทุกคนจึงควรมีโอกาสรอดเท่ากัน และต่อให้จำนวนมากกว่า ทางออกให้ทอยเหรียญก็ยังมีน้ำหนักทางศีลธรรมอยู่

ถ้าไม่เชื่อ เขาบอกว่าลองสมมติว่าคุณต้องเลือกระหว่าง

1. ช่วยคน 1,000,000 คน

2. ช่วยคน 1,000,001 คน

ในกรณีนี้ หากคุณตัดสินใจด้วยการทอยเหรียญ คงไม่มีใครด่าคุณมาก นั่นแปลว่าข้อเสนอของลุงต่อให้ไม่ถูก ก็ไม่ผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าตัวเลขจำนวนสำคัญร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนคงรู้สึกตรงกัน สามัญสำนึกจะต้องรุนแรงว่า 2. คือทางออกเดียวที่ถูก และหากใครสักคนตัดสินใจเลือกทอยเหรียญเพื่อตัดสินใจในกรณีนี้ก็จะต้องถูกประณามอย่างหนัก แต่เอาเข้าจริง ความรู้สึกที่ว่าก็ไม่ได้รุนแรง

ทางออกหนึ่งของปัญหา จึงได้แก่การสรุปว่าแนวคิดการทอยเหรียญมีน้ำหนัก หากจำนวนต่างกันไม่มาก แต่หากเป็นกรณี 1 ต่อ 1,000,000 หรือ 1 ต่อ 20 แบบนี้ น้ำหนักเรื่อง ‘จำนวน’ จะชนะแนวคิดการทอยเหรียญ

โจทย์ของนักจริยศาสตร์จึงควรเปลี่ยนมาเป็นการค้นหาให้เจอว่า เงื่อนไขที่ชัดเจนในการตัดสินใจควรเป็นอย่างไร ตัวเลขต่างกันเท่าไหร่ กี่เท่า ในกรณีไหน เราถึงควรเริ่มนับจำนวน และเลิกทอยเหรียญ เป็นต้น

อีกทางหนึ่งคือยอมรับสามัญสำนึกของลุง Taurek ว่าต้องให้ทุกคนมีโอกาสรอดเท่ากัน แต่แทนที่จะทอยเหรียญ เราใช้ระบบลอตเตอรี จับถูกชื่อใครก็ให้ช่วยคนนั้น ในปัญหารถราง สมมติคนหนึ่งคนอยู่รางซ้าย ห้าคนอยู่รางขวา เราจับสลากชื่อหกคนนี้ แต่ละคนมีโอกาสได้รับเลือก 16.67 เปอร์เซ็นต์ จับได้ใคร เราไปช่วยคนนั้น ถ้าบังเอิญฝั่งที่ไปเป็นฝั่งห้าคน เราก็ช่วยอีกสี่คนมาเป็นผลพลอยได้

แนวทางนี้ยืนยันสามัญสำนึกของลุง ที่ต้องการให้ทุกคนมีโอกาสรอดเท่ากัน แต่ก็สอดรับกับสามัญสำนึกของอีกฝ่ายที่ว่า ‘จำนวน’ มีความหมาย โดยจำนวนจะเข้ามามีบทบาทตรงที่ถ้าคุณอยู่ฝั่งคนจำนวนมาก ก็มีโอกาสที่ชื่อใครสักคนในฝั่งคุณจะถูกจับขึ้นมา แล้วคุณมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือไปด้วย ซึ่งในกรณีรถรางมาตรฐาน ถ้าคุณอยู่ฝั่งห้าคน คุณจะมีโอกาสรอดในทางปฏิบัติ 83.33 เปอร์เซ็นต์ ข้อเสนอสุดท้ายนี้ผมก็ชอบ มีนัยในเชิงนโยบายที่น่าสนใจ และผมพยายามคิดกับมันมาพักใหญ่ แต่ก็ติดปัญหาใหญ่จำนวนหนึ่ง ซึ่งผมจะย้อนกลับมาเล่าขยายแนวคิดตัวเองและปัญหาที่เจอในตอนหลังๆ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักของข้อเสนอเหล่านี้คือเราอาจสามารถประนีประนอมร้อยรัดทั้งสามัญสำนึกที่ว่าทุกชีวิตควรมีโอกาสรอดและจำนวนสำคัญไปพร้อมกัน  

หากยอมรับตามนี้ เราก็อาจสรุปได้ว่าจำนวนสำคัญ ไม่เต็มร้อย แต่ก็สำคัญมาก และในกรณีรถรางแบบ 1 ต่อ 5 ความต่างของจำนวนถือว่าสูง (ห้าเท่า) พอให้เราช่วยคนห้าคน

หากยอมรับเช่นนี้ เราก็สามารถปิดจบข้อถกเถียงเรื่องจำนวน พร้อมกับข้อสรุปที่ว่า ‘เราต้องเลือกช่วยคน 5 คนและยอมเสียสละ 1 คนในปัญหารถรางมาตรฐาน’ จากนั้นค่อยไปหาหลักการที่จะให้คำตอบที่ถูกต้องในกรณีดังกล่าวและกรณีรถรางอื่นๆ อีกต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save