Trolley problem #5: ช่วย 5 คน หรือ 1 คน – ง่ายมาก แค่โยนหัวก้อยก็จบ

เราใช้เวลาสามตอนที่ผ่านมาในการพิจารณาข้อเสนอการแก้ปัญหารถราง ด้วยการแบ่งแยกระหว่าง ‘การฆ่า’ กับ ‘การปล่อยให้ตาย’ รวมถึงปัญหาใหญ่ของข้อเสนอดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะเริ่มพิจารณาข้อเสนอต่อไป ผมอยากชวนเราแวะพักสถานีกลางทางซักครู่

ณ สถานีข้างทางนี้ มีตาลุงคนหนึ่ง ชื่อ John Taurek

เขาจะพยายามชวนเราคุยว่า ข้อเสนอทั้งหมดทั้งปวงที่เราคิดกันมา (และอาจรวมถึงที่กำลังจะกล่าวต่อไป) ถูกสร้างขึ้นจากสามัญสำนึกบางอย่างที่ถ้าเอามาสำรวจคิดจริงจัง อาจพบว่าไร้สาระแบบน่าหัวเราะเยาะ (เดี๋ยวเราจะโดนลุงหัวเราะใส่หน้าหนึ่งครั้งในเร็วนี้)

และถ้าคิดได้เมื่อไหร่ จะเห็นว่าเราอาจแก้ปัญหารถรางได้ง่ายกว่าที่คิด

โยนเหรียญหัว-ก้อยก็พอ

1

ปัญหารถรางมาตรฐานกับสามัญสำนึกในการช่วยคน 5 คน

ลุง Taurek เห็นเรากำลังนั่งถกเถียงปัญหารถรางอย่างเคร่งเครียดเพื่อหาหลักที่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมบางครั้งเราจึงช่วยคนจำนวนมากกว่า แต่บางครั้งไม่ควร ลุงจึงเข้ามาทักทาย ก่อนเปิดประเด็น

ลุง: “สมมติว่าคนหนึ่งคนที่โดนมัดอยู่ที่รางฝั่งซ้ายชื่อคุณ ก. หันไปเห็นรถรางกำลังวิ่งไปทับคน 5 คนฝั่งขวา สวิตช์สับรางอยู่ข้างเขา พวกเราว่าคุณ ก. จะสับรางให้รถมาชนตัวเองแทนมั้ย?”

พวกเราตอบพร้อมกันว่า “ม่าย”

ลุง: “ใช่ เพราะจากมุมของนาย ก. สิ่งที่เขาคำนึงถึงที่สุดคือชีวิตของตัวเอง”

พวกเราขานรับ: “ช่าย”

ลุง: “ต่อให้คุณ ก. จะรู้ว่าหากรถรางวิ่งทับเขา เขาจะเสียแค่ขาสองข้าง แต่ไม่ถึงตาย และอีก 5 คนจะตายก็เถอะ เขาไม่สับสวิตช์หรอก แล้วทางเลือกของเขาก็เข้าใจได้ ไม่มีใครว่าเขาผิดหรอก เป็นลุงหรือพวกคุณก็คงทำแบบนี้ไหม ถ้าเสียแค่เล็บนิ้วก้อยซ้ายแล้วไม่ยอมช่วยชีวิต 5 คนสิ ถึงจะน่าด่า”

พวกเรา: “ก็จริง”

ลุง: “แล้วทีนี้ การตีความหลักการเรื่องความเท่าเทียมที่เป็นคุณค่าพื้นฐานที่ลึกที่สุดของสังคมมีอยู่ทางเดียว คือการตีความว่าเราให้ความสำคัญกับทุกคนเท่ากัน (‘equal concern’) สมมติคุณเป็นบุคคลที่สาม ผ่านมาเห็น (ตบเข้าปัญหารถรางมาตรฐาน รูปแบบที่ 3) ฝั่งหนึ่งมีคุณ ก. ที่ต้องการรักษาชีวิตตัวเอง อีกฝั่งมีคุณ ข, ค, ง, จ ที่ต้องการเหมือนกันเลย

แล้วทีนี้คุณให้ความสำคัญกับทุกคนเท่ากัน ซึ่งแต่ละคนก็ไม่ได้เป็นญาติ เพื่อน หรือมีพันธะใดๆ ต่อกัน ทั้งสองทางเลือกดูยังไงก็เหมือนกัน ถูกไหม แต่ละคนคงมองทางเลือกแล้วเรียกร้องสิ่งเดียวกันเลย คืออย่าเอารถรางมาชนเรานะ”

ลุงพักสูดลมหายใจเข้าครั้งใหญ่ ก่อนโยนข้อสรุปคลาสสิกของลุง

“ถ้ามันเหมือนกันทั้งสองทาง ก็โยนหัวก้อยสิ”

พวกเรา: “เดี๋ยวลุง จะบ้าหรอ สองทางเลือกมันจะเหมือนกันได้ไง อีกฝั่งมันห้าคนนะ!”

2

มึนหัว 5 ครั้ง ไม่ใช่ไมเกรน

ลุงฟังเราแล้วหัวเราะดังลั่น ก่อนบอกว่าพวกนายติดตลกละ

ลุง: “ถ้าคนห้าคนปวดหัวเบาๆ มาหาหมอพร้อมกัน หมอจะเอาความปวดเบาๆ มารวมกัน แล้วสรุปว่าคนไข้ก้อนนี้เป็นไมเกรนไหมนะ?”

พวกเรา: “จะบ้าหรอ”

ลุง: “แล้วเหมือนกันเลย คนห้าคนโดนรถรางชนตาย นี่มีใครซักคนในนั้นหรือเราพูดได้มั้ยว่า มีใครคนหนึ่งซักคนเจ็บเป็น 5 เท่าก่อนตาย หรือตาย 5 ครั้ง?”

พวกเรา: “ก็ไม่ แต่เริ่มรู้ละว่าลุงจะไปทางไหน”

ลุง: “แต่ละคนก็เสียเท่าเดิมถูกป่ะ ไม่มีใครคิดจะเอาความเสียหายมาบวกกันเป็นก้อน ถ้าคิดจากเคสไมเกรน ลุงนึกไม่ออกเลย ว่าเราจะเมกเซนส์ความคิดที่ว่าข้อเรียกร้องของฝั่งคนจำนวนมากกว่ามีน้ำหนักมากกว่าได้ยังไง นึกยังไงก็นึกไม่ออก

ในเมื่อแต่ละคนก็เสียเท่ากัน ถ้าโดนรถรางทับ ก็ตายคนละครั้ง เจ็บเท่ากันหมด ถ้าบวกไม่ได้ สองทางเลือกก็เหมือนกันคือมีปัจเจกกำลังจะเสียชีวิต”

พวกเรา: “แล้วถ้า 50 คนอ่ะ”

ลุงอมยิ้ม ก่อนโยนคำถามกลับ: “แล้วมันต่างกันตรงไหน?”

3

สังคมการเมืองล่มสลายเพราะลุง Taurek? 

พวกเรา: “ลุงๆ ถ้าเอาตามลุงนี่เจ๊งทั้งประเทศเลยนะ ต่อไปรัฐบาลไม่ต้องคำนวณต้นทุน ผลลัพธ์ทางนโยบาย ผลประโยชน์ส่วนรวมอะไรแล้ว มีทางเลือกต้องตัดสินใจทางนโยบายเมื่อไหร่ ก็โยนหัวก้อยอย่างเดียว ไม่ถึงปี เจ๊งทั้งประเทศแน่นอน”

ลุง: “ยังไง?”

พวกเรา: “สมมติพรุ่งนี้มีสึนามิเข้าภูเก็ต แล้วรัฐบาลมีเรืออพยพแค่ลำเดียว คนพันคนไปรวมตัวกันทางเหนือ สิบคนหลุดไปทางใต้ รัฐบาลยังไงก็ต้องส่งเรือไปช่วยทางเหนือที่มีคนมากกว่ามะ ให้ทอยเหรียญนี่ไม่ใช่ละ”

ลุง: “กรณีนี้ไม่เหมือนกัน”

พวกเรา: “ยังไง?”

ลุง: “กลับไปที่ข้อเสนอของลุงก่อน ลุงบอกว่าสองทางเลือกเท่ากันใช่ป่ะ ถ้าสองทางเลือกเท่ากัน แปลว่าถ้ามีปัจจัยอื่นเข้ามาช่วยเลือกทางใดทางหนึ่งแม้แต่นิดเดียว เราก็พร้อมไปทางนั้น เช่น บังเอิญ A หรือ B เป็นเพื่อนหรือเป็นคนที่ลุงชอบ”

พวกเรา: “แล้วไงต่อ?”

ลุง: “ทีนี้ในกรณีเรือของรัฐบาล ลุงยืนยันว่าสองทางเลือกเท่ากัน แต่ดันมีปัจจัยสำคัญนึงแทรกเข้ามาช่วยตัดสินใจ ปัจจัยที่ว่าคือเรือกู้ภัยมันเป็นสมบัติสาธารณะ มาจากภาษีทุกคน ดังนั้นจึงมีกฎเกณฑ์สาธารณะบางอย่างที่วางไว้ล่วงหน้ากำกับการใช้อยู่

กฎที่ว่าก็เป็นได้หลายอย่าง อย่างหนึ่งที่เป็นไปได้คือ ทรัพยากรนี้ต้องถูกใช้ให้คุ้มค่าที่สุด เพราะมาจากภาษีประชาชน กฎนี้บอกให้รัฐบาลคำนวณต้นทุน ดูผลลัพธ์การใช้งาน เพราะฉะนั้นเรือจึงควรวิ่งไปช่วยคนมากกว่า เพราะเป็นการสะท้อนประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร นี่คือตัวอย่างกฎสาธารณะนะ กฎที่ว่าจะเป็นยังไงโดยละเอียดเป็นอีกเรื่อง ลุงยังคิดไม่ออก

แต่ประเด็นคือเราอธิบายเรื่องนี้ได้ แล้วคำอธิบายนี้ก็ไม่ได้ขัดกับสิ่งที่ลุงพูดไปตั้งแต่ต้นนะว่า สองทางเลือกมันเท่ากัน ถ้าไม่มีปัจจัยอื่นมาช่วยเลือก (all else are equal) ก็ให้โยนหัวก้อย แค่บังเอิญที่ว่าเรื่องของสาธารณะมีกฎอื่นมาช่วยตัดสิน”

พวกเรา: “น่าสนใจ แต่ยังไงก็ขัดความรู้สึกว่าจำนวนไม่มีความหมายเลย”

ลุงฟังเราบ่นแล้วเริ่มหงุดหงิด เลยปิดบทสนทนาด้วยคำถามง่ายๆ สุดท้าย เพื่อชักจูงเรา:

“เอางี้ ลองคิดตามนะ พวกคนทางเหนือพันกว่าคนอ่ะ ตอนเขาคิดว่าอยากให้รัฐบาลไปช่วยพวกเขา สิ่งที่เขาคิดในใจคืออะไร? เอาแบบสามัญสำนึกเลยนะ สมมติว่าเป็นพวกคุณเองก็ได้ เหตุผลในใจคือ เพราะมีคนจำนวนมากกว่าป่ะ?”

พวกเรา: “หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ ไม่มีใครมาคิดอะไรแบบนี้หรอก ทุกคนก็แค่คิดว่าตัวเองอยากรอด”

ลุง: “คนที่อยู่ในจำนวนมากกว่า เขายังไม่นับบวกเลขฝั่งตัวเองเลย แล้วคุณไปนับบวกอะไรแทนพวกเขา? ”

4

ว่าด้วยกฎเกณฑ์สาธารณะ

ผมคือคนหนึ่งที่พยายามเข้าใจลุง นั่งคุย (อ่าน) กับแกมาไม่ต่ำกว่า 5 รอบ ยิ่งคุยยิ่งเริ่มคล้อยตามแกเรื่อยๆ ว่า ที่จริงแล้วอาจไม่มีเหตุผลให้เราต้องเลือกเลือกหันรถรางไปชนคน 1 คนแทน 5 คน ถึงแม้ข้อสรุปนี้จะขัดใจ แต่ก็ยังหาเหตุผลปฏิเสธแกแบบเด็ดขาดไม่ได้

จำได้ว่าตอนสอบปริญญาโท ผมต้องเขียนตอบลุงด้วย ตอนนั้นผมเอาตัวรอดมาได้ด้วยการตอบลุงว่า โอเค สมมติว่าผมเชื่อตามลุงสองข้อก็ได้ว่า สองทางเลือกเท่ากัน ดังนั้น

ก. ถ้าไม่ทีปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ให้โยนหัว-ก้อย

ข. ถ้ามีปัจจัยอื่นเข้ามาช่วยเลือก ให้เลือกตามปัจจัยชี้นำนั้น

ทีนี้ สิ่งสำคัญมี่เราต้องคำนึงก็คือ ปัญหารถรางส่วนใหญ่ในโลกเกิดขึ้นกับกรณีการตัดสินใจเรื่องนโยบายสาธารณะ เช่น การกู้ภัยหรือทางเลือกนโยบายสาธารณะ รัฐคือผู้ที่รับผิดชอบเป็นหลักทั้งนั้น ซึ่งลุงพูดเองว่าในเรื่องแบบนี้มันมักจะมีกฎเกณฑ์ที่เราตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าต้องตัดสินใจยังไง

นั่นหมายความว่ากรณีรถรางในโลกส่วนใหญ่เป็นกรณี ข.

เพราะปัจจัยชี้ขาดการตัดสินใจของเรา ได้แก่กฎเกณฑ์สาธารณะที่เราวางกันไว้ล่วงหน้า รถพยาบาลจะวิ่งไปรับใคร ก่อนหลัง กี่คน ก็ขึ้นกับกฎที่วางไว้ล่วงหน้า

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ปัจเจกที่เผชิญปัญหารถรางส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีใครได้ทอยเหรียญหรอก มีแต่ต้องทำตาม protocals หรือกฎหมายที่รัฐเขียนไว้

ปัญหาก็คือ ข้อเสนอของลุงไม่ได้ช่วยตอบเลย ว่ากฎเกณฑ์สาธารณะที่ว่าควรเป็นอย่างไร และนี่คือเหตุผลที่ต่อให้ข้อเสนอลุงถูก ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา และรถรางต้องวิ่งต่อไป

ตอนเขียนตอบ บังเอิญอาจารย์ที่ตรวจข้อสอบก็เป็นอีกหนึ่งคนดังในเรื่องรถราง ตอบข้อสอบคราวนั้นเป็นโอกาสในการเทสต์ว่าคำตอบของผมเวิร์กมั้ย

เสียดาย ตอนนั้นไปเรียนเทอมแรก ภาษายังไม่ดี อาจารย์คอมเม้นต์มาว่าเห็นไอเดียนะ แต่ตามอ่านในรายละเอียดไม่รู้เรื่อง ปรับปรุงภาษาด่วน ก่อนให้คะแนนมา 6 เต็ม 10 สรุปไม่ได้รู้ว่าเวิร์กไม่เวิร์ก เพราะยังไม่ผ่านกำแพงภาษา (ฮา)

แต่คำตอบนี้ก็ไม่เลวนะ ผมว่า เพื่อนๆ ว่าไงครับ? (ฮาเขินๆ อีกรอบ)

ยังไง เดี๋ยวตอนหน้า ขอนั่งพักที่สถานีกับลุงอีกซักตอนนะครับ จะชวนคุยว่าผมเจอลุงอีกคน เป็นลุงระดับตำนาน ที่มาพร้อมกับงานเขียนขึ้นหิ้งที่ใช้ตอบลุง Taurek ว่ากันว่านี่คืออีกหนึ่งงานที่นักเรียนจริยศาสตร์ทุกคนต้องอ่าน เพราะคลาสสิกทั้งในแง่เนื้อหา และวิธีเขียนคลี่ประเด็นข้อเสนอของลุงออกมาให้เห็นความซับซ้อนอย่างน่ามหัศจรรย์ แต่พอคลี่เสร็จแล้วเรียบง่ายสุด

เป็นงานที่ตอนอ่านครั้งแรกคิดในใจว่า ให้เวลาผมอีกร้อยปีก็เขียนแบบนี้ไม่ได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save