fbpx

Trolley problem #1: การเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นเรื่องที่ถูกต้องทางจริยธรรมเสมอไปหรือไม่?

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1945 ในช่วงโค้งสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ประธานาธิบดี เฮนรี เอส ทรูแมน (Harry S. Truman) ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะปิดม่านสงครามดังกล่าวอย่างไร

ที่ปรึกษารายงานว่าทรูแมนมีสองทางเลือก ระหว่าง

A. ดำเนินยุทธการทางการทหาร ยกพลขึ้นบกเข้ายึดเกาะญี่ปุ่น ซึ่งประเมินว่าจะต้องสูญเสียทหารประมาณหนึ่งถึงสองล้านคน

B. ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เพิ่งสร้างสำเร็จใส่บางจังหวัดของญี่ปุ่น (เป้าหมายคือ ฮิโรชิมา ตามด้วยนางาซากิ) เพื่อกดดันให้รัฐบาลทหารญี่ปุ่นยอมจำนน ทางเลือกนี้มั่นใจว่าได้ผล แต่ต้องแลกด้วยชีวิตผู้บริสุทธิ์ รวมถึงเด็กในจังหวัดเป้าหมายหลักแสน

เป็นคุณจะตัดสินใจอย่างไร?

คำถามแบบนี้ไม่ได้มีแค่ในประเด็นการตัดสินใจระดับชาติ แต่วนเวียนอยู่รอบตัวเราเสมอ

งานวิจัยหนึ่งเล่าว่า รัฐบาลมีทางเลือกในการแก้ปัญหาคนโดนรถไฟทับตายเพราะลื่นล้มบนชานชาลาได้ หากผสมทองเข้าไปบนพื้นผิวชานชาลา ทางเลือกดังกล่าวจะช่วยได้หลายสิบชีวิตต่อปี แต่แลกมาด้วยการสูญเสียงบประมาณมหาศาลที่จะนำไปลงทุนในระบบสาธารณสุขและจราจรด้านอื่น ซึ่งจะช่วยชีวิตคนได้หลักหมื่นหลักแสน

หมอในห้องฉุกเฉินต้องคิดคำนวณว่าควรทุ่มทรัพยากรสำคัญเพื่อช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีโอกาสรอดน้อยตอนนี้ หรือเก็บไว้ช่วยผู้ป่วยที่มีจำนวนและโอกาสรอดมากกว่าที่อาจจะเข้ามาทีหลัง

Self-driving car ที่กำลังฮิตตอนนี้ก็เจอคำถาม ว่าในยามคับขัน รถควรหักเลี้ยวหลบคนจำนวนมากกว่าข้างหน้า ไปชนคนจำนวนน้อยกว่าหรือไม่

ปัญหาลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า ‘ปัญหารถราง’ (Trolley problem) ซึ่งเป็นปัญหาที่นักจริยศาสตร์พยายามหาคำตอบมาเนิ่นนานแล้วว่า เราสามารถหาหลักการทั่วไป หรือคำตอบมาตรฐานสำหรับปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่

ปัญหารถราง: รูปแบบและคำตอบมาตรฐาน

หากตัดรายละเอียดที่แตกต่างทิ้งไป ประเด็นรวมศูนย์ของกรณีเหล่านี้อยู่ที่คำถามที่ว่า ในกรณีที่เราต้องเลือกว่า ‘เราควรตัดสินใจเสียสละชีวิตหรือยอมรับความเสียหายจำนวนน้อยกว่า เพื่อช่วยชีวิตหรือประโยชน์ในภาพรวมหรือไม่’

ในวิชาจริยศาสตร์ คำถามดังกล่าวถูกถอดเป็นรูปเป็นคำถามง่ายๆ ที่เรียกว่า Trolley problem หรือปัญหารถราง ซึ่งถูกกล่าวถึงครั้งแรกโดย Philippa Foot เมื่อปี 1967

รูปแบบพื้นฐานของปัญหารถรางเป็นไปตามภาพนี้

Trolley problem (ที่มา We Love Philosophy)

สมมติว่าเราป็นคนขับรถรางที่กำลังวิ่งไปตาม ‘เส้นทางปกติ’ ซึ่งมีคนห้าคนนอนหมดสติขวางอยู่ เรารู้ว่าหากไม่ทำอะไร ทั้งห้าคนนั้นจะต้องตายแน่ๆ แต่ในฐานะคนขับรถราง เราสามารถโยกคันโยกเปลี่ยนทางรถรางให้หักหัวไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็น ‘เส้นทางที่ไม่ปกติ’ แต่ทางดังกล่าวดันมีคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่นอนอยู่หนึ่งคน หากเราตัดสินใจเปลี่ยนใจโยกคันโยก ก็จะสามารถรักษาชีวิตคนทั้งห้าคนบนทางปกติได้ แต่ต้องแลกกับอีกชีวิตของคนหนึ่งคนที่ไม่รู้เรื่อง

คำถามคือ เราควรหันหัวรถรางหรือไม่?

ในกรณีพื้นฐาน สามัญสำนึกของเราส่วนใหญ่คือควรโยกคันเร่งเพื่อช่วยคนจำนวนมากกว่า (หากใครไม่ซื้อคำตอบนี้ ก็ลองชักจูงเขาด้วยการเพิ่มจำนวนคนบนรางปกติจากห้า เป็นสิบ ยี่สิบ สามสิบ ถึงจุดหนึ่งเขาก็คงบอกว่าต้องยอมเสียสละหนึ่งชีวิตเพื่อช่วยคนจำนวนจำนวนมาก)

เมื่อคำตอบชัดเช่นนี้ ทำไมเรายังต้องถกเถียงกันอีก? ที่เราต้องเถียงกัน เป็นเพราะแบบนี้ครับ…

ความล้มเหลวของหลักจริยศาสตร์แบบ Consequentialism  

ในวิชาจริยศาสตร์สมัยใหม่ หลักจริยศาสตร์ที่ใช้อธิบายสามัญสำนึกทางศีลธรรมของมนุษย์ และประยุกต์ใช้ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แบ่งออกได้เป็นสองแบบใหญ่

รูปแบบแรกคือหลักจริยศาสตร์แบบ Consequentialism ที่เห็นว่าการกระทำที่ถูกคือการกระทำที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการกระทำอื่น

แนวคิดที่มีชื่อเสียงที่สุดในร่มหลักจริยศาสตร์แบบนี้คือ วิธีคิดแบบอรรถประโยชน์นิยมที่อธิบายและชี้นำว่าการกระทำที่ดีที่สุดคือการกระทำที่นำประโยชน์เช่นความสุขมาสู่คนจำนวนมากที่สุด

อีกแบบคือ Deontology ที่เห็นว่า เราสามารถนิยามกฎสากลเรื่องความถูกผิดของการกระทำ โดยพิจารณาเนื้อหาหรือเจตนาของการกระทำนั้น ไม่ต้องดูผลลัพธ์ เช่นการฆ่าคนบริสุทธิ์นั้นผิดเสมอ ไม่ว่าการฆ่านี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์ใดก็ตาม

จะเห็นว่าหากยึดถืออย่างเคร่งครัด หลัก Deontology ไม่อนุญาตให้เราหันรถรางไปชนคนบริสุทธิ์หนึ่งคน ซึ่งขัดกับสามัญสำนึกทางศีลธรรมแบบแบบ Consequentialism ที่ว่า เราต้องทำอะไรผิดแน่ๆ หากไม่ยอมหันรถรางช่วยคนจำนวนมากกว่า

หากเราทดสอบปัญหารถรางนี้กับคนทั่วไปจะพบว่า หลักแบบ Consequentialism สามารถอธิบายสนับสนุนสามัญสำนึกที่ว่าได้โดยง่าย ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ‘ผลลัพธ์สุดท้ายดีกว่า’ ซึ่งก็คือการช่วยชีวิตคนจำนวนมากกว่า

และเมื่อหลักนี้สอดคล้องกับสามัญสำนึกพื้นฐานและให้คำตอบที่น่าจะถูก เรื่องก็น่าจะจบ ไม่ควรมีสิ่งที่เรียกว่าปัญหารถรางคงอยู่มาเกือบศตวรรษ

แต่เดี๋ยวก่อน!

ปัญหาคือหลักจริยศาสตร์แบบ Consequentialism นั้นถูกปัดทิ้งได้โดยง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะหลักดังกล่าวล้มเหลวในการอธิบายสามัญสำนึกพื้นฐาน ว่าเหตุใดเราจึงไม่ควรทำอะไรในปัญหารถรางรูปแบบที่สอง

รูปแบบนี้เรียกว่า Fat Man case ตามรูปต่อไปนี้

The fat man (1976) (ที่มา medium.com)

ในรูปดังกล่าว รถรางกำลังจะวิ่งไปชนคนห้าคนเช่นกัน แต่คราวนี้ไม่มีคันโยกเปลี่ยนรางหรืออุปกรณ์อื่นใด ทางเดียวที่จะหยุดรถรางมีเพียงการผลักคนอ้วนที่ยืนอยู่บนสะพาน เพื่อใช้หนักตัวของเขาหยุดรถ แต่แน่นอนว่าคนอ้วนจะตาย

กรณีดังกล่าวคือการ ‘ฆ่าคนหนึ่งคนโดยตรง’ เพื่อช่วยคนจำนวนมากกว่า ในโลกจริง เทียบเคียงได้กับการอนุญาตให้หมอฆ่าคนไข้ในโรงพยาบาลหนึ่งคน เพื่อเอาอวัยวะของเขาไปแจกช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนมากกว่าที่กำลังจะตายหากไม่ได้รับอวัยวะ

ทุกอย่างเริ่มแปลกๆ เมื่อเคสที่สองนี้ถูกหยิบยกขึ้น เพราะคงแทบไม่มีใครเห็นด้วยว่าเราควรทำอะไรทำนองนี้

แต่หลัก Consequentialism เหมือนจะบังคับให้เราทำเช่นนั้น เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า ซึ่งไม่น่าจะยอมรับได้!

บางคนอาจบอกว่าเราสามารถสร้างคำตอบที่ถูกต้อง (ไม่ผลักคนอ้วน) จากหลัก Consequentialism ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าหากว่ามีการอนุญาตให้ ‘ฆ่าคนเพื่อประโยชน์ทางสังคม’ ได้ ผลลัพธ์สุดท้ายคือ ทุกคนจะอยู่ด้วยความหวาดกลัว ซึ่งไม่ใช่ผลลัพธ์ที่พึงปรารถนาเลย

แต่คำอธิบายนี้จะแปลกๆ ทันที ถ้าเอาใช้กับเคสอื่นๆ เช่น สมมติคุณไปโรงพยาบาล แล้วเขาบอกว่าคุณไม่ต้องกลัวหมอฆ่าคุณเพื่อเอาอวัยวะไปแจกคนอื่นหรอกนะ เพราะการทำแบบนี้จะทำให้คนกลัวโรงพยาบาล ทำให้ชื่อเสียงของโรงพยาบาลเสียหาย ถ้าเป็นแบบนี้เราคงแอบเอ๊ะในใจ! เพราะที่การที่เราไม่กลัวว่าหมอจะฆ่าเราก็ควรมาจากการที่หมอรู้ว่าการฆ่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ นั้นเป็นการทำผิด

พูดอีกแบบคือ หลัก Consequentialism ปฏิบัติกับเราคล้ายกับว่า ชีวิตของเราเป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ ในการคิดคำนวณผลประโยชน์ ที่ไม่มีคุณค่าในตัวเอง  

ในทางปรัชญา ปัญหาใหญ่ของคำอธิบายเช่นนี้คือ การสังคมเป็นก้อนเดียวกัน คล้ายว่าแต่ละคนเป็นบางส่วนของอวัยวะในร่างกายที่ประกอบขึ้นมาเป็นอวัยวะหนึ่ง เช่น เป็นนิ้ว ซึ่งประกอบเข้ากันเป็นมือ (คุ้นๆ ไหมครับ) โดยมองไม่เห็นว่า แท้จริงแล้วชีวิตของปัจเจกแต่ละคนนั้น แยกขาดจากกันไม่ได้ดำรงอยู่ในลักษณะเป็นก้อนมวลใหญ่ก้อนเดียว ลองคิดง่ายๆ ว่า หากเรามีต้องเผชิญกับภาวะนิ้วชี้เน่าและกำลังลุกลาม เราคงยินดีสละนิ้วชี้เพื่อให้ร่างกายโดยรวมดำรงอยู่ต่อไปได้หากจำเป็น แต่ประเด็นนี้แหละครับที่เป็นจุดชี้ขาดสำคัญ เพราะการตัดนิ้วเพื่อรักษามือ ประโยชน์ยังตกอยู่กับเจ้าของร่างกายผู้เสียสละเอง

แต่หากมองว่าปัจเจกทุกคนไม่ได้ผูกติดเป็นก้อนเดียว คนที่เสียประโยชน์ไม่ใช่คนเดียวกับที่ได้รับประโยชน์เหมือนในกรณีร่างกาย ในกรณีแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คนหนึ่งๆ จะมองไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมชีวิตของเขาจึงเป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ ของคนอื่น (The principle od Seperation of Persons)

ดังนั้น แม้ Consequentialism จะให้คำตอบที่ถูกในปัญหารถรางแบบแรก แต่ล้มเหลวในการสร้างคำอธิบายที่สมเหตุสมผลในปัญหารถรางรูปแบบที่สองที่เพิ่งว่าไป

เมื่อ Consequentialism ล้มเหลว ดีเบตจึงเกิดขึ้น เพราะเราต้องการคำอธิบายใหม่ว่า ทำไมเราจึงต้องหันหันรถรางเพื่อช่วยเหลือคนจำนวนมากในกรณีแรก ในขณะที่เดียวกันก็ไม่ควรฆ่าคนอ้วนในกรณีที่สอง รวมถึงในกรณีอื่นๆ

หลัก Deontology ที่นับเลขได้

เมื่อ Consequentialism ไม่น่าจะถูก ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่จึงได้แก่หลักแบบ Deontology

แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ ภายใต้หลักดังกล่าว การไม่สนใจผลลัพธ์ของการกระทำเลย ดูเผินๆ ก็เหมือนจะให้คำตอบที่ผิดในอีกแบบหนึ่ง เพราะเราคงไม่รู้จะตัดสินใจในภาวะสงคราม การบริหารจัดการนโยบาย หรือชีวิตประจำวันอย่างไร หากถูกบังคับให้ทำสิ่งต่างๆ โดยไม่คิดคำนวณถึงผลลัพธ์แบบนี้

ดังนั้นในปัจจุบัน นักจริยศาสตร์สมัยใหม่จึงมองปัญหารถรางเป็นเรื่องของการค้นหาหลัก Deontology ที่อนุญาตให้เราช่วยชีวิตหรือคนจำนวนมากกว่าได้ อย่างน้อยก็ในบางเงื่อนไข โดยไม่สูญเสียแก่นสารที่ว่าการกระทำต่างๆ นั้นมีความถูกผิดในตัวเองโดยไม่เกี่ยวโยงกับผลลัพธ์

พูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้หลักดังกล่าวนับเลขได้บ้าง

หลักที่ว่าจะต้องให้คำตอบและคำอธิบายที่สมเหตุสมผลว่า ทำไมเราจึงควรหันรถรางในเคสที่หนึ่ง แต่ไม่ผลักคนอ้วนในเคสที่สอง

พูดให้ถึงที่สุด เกมของการแก้ปัญหารถรางที่ผ่านมาตลอดหนึ่งศตวรรษเป็นเรื่องของการหาหลัก Deontology แบบนี้แหละครับ แต่ความสนุกคือ เมื่อหาหลักการคิดแบบหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาได้ ก็จะมีคนนำเสนอรูปแบบปัญหารถรางใหม่ ที่หลักดังกล่าวไม่สามารถให้คำตอบที่สอดคล้องสมเหตุสมผลได้ และต้องเริ่มกันใหม่เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ

ในปัจจุบัน ปัญหารถรางรูปแบบต่างๆ ซึ่งถอดมาจากกรณีในโลกจริง มีประมาณ 18 รูปแบบใหญ่ และน่าจะมีเพิ่มเรื่อยๆ

ปลายทางในฝันของรางรถไฟเหล่านี้ คือภารกิจอันยิ่งใหญ่ คือการสร้างหลักจริยศาสตร์ (แบบ Deontology) หนึ่งเดียวที่สามารถอธิบายปัญหาเรื่องการช่วย/ไม่ช่วย ฆ่า’ไม่ฆ่า คนจำนวนมากหรือคนจำนวนน้อยได้ในทุกกรณี โดยไม่ขัดกับสามัญสำนึกของมนุษย์ (ในกรณีที่สามัญสำนึกชัดมาก)

คล้ายๆ Theory of Everything ทางฟิสิกส์ที่มุ่งอธิบายโลกกายภาพ หลักในฝันดังกล่าวคือ Unified Principle ทางปทัสสถาน

ผมจะทยอยเล่าปัญหารถรางและหลักการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ในโอกาสต่อไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บทความนี้แค่จะแนะนำว่าเกมนี้สนุกนะครับ ใครสนใจลองเสิร์จหาอ่านตามอินเทอร์เน็ตอ่านดูสนุกๆ ได้ ผมเองได้แต่อ่าน ไม่มีปัญญาอะไรไปถกเถียงกับเขาเพราะไม่ฉลาดพอ ไม่แน่ เพื่อนๆ อ่านแล้วอาจมีคำตอบใหม่ๆ สนุกๆ ที่พาเราไปสู่ปลายทางในฝันที่ว่าได้เสียที

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save