fbpx

Trolley problem #4: คุณไม่ต้องรับผิดชอบทางศีลธรรม หากเป็นความผิดของฟ้าดิน!

ระเบิดเขื่อนเพื่อช่วยคน

ปี 1927 สายฝนกระหน่ำแรงเดินธรรมชาตินำพาให้อเมริกาเผชิญน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ พื้นที่กว่า 70,000 ตารางเมตร หรือเกือบ 40 เท่าของกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองบาดาล บางพื้นที่จมลึกถึง 9 เมตร

วันหนึ่งระหว่างที่วิกฤตกำลังย่างกราย ชาวเมืองนิวออร์ลีนส์พบว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาติดต่อกันกว่า 18 ชั่วโมงนั้นเกินกำลังระบบระบายน้ำของเมืองไปมาก และอีกไม่ถึงวัน เมืองของพวกเขาคงไม่พ้นชะตากรรมเดียวกับอีกหลายเมืองขณะนั้น

ทางออกเดียวที่ดูเป็นไปได้คืออพยพด่วนผู้คนออกจากเมือง แต่ในขณะที่เมืองกำลังวางแผน เหล่านายแบงค์แห่งนิวออลีนส์แอบจัดประชุมกันเอง ก่อนค้นพบอีกทางเลือกหนึ่ง

ทางเลือกที่ว่าคือการระเบิดเขื่อนในรัฐมิสซิสซิปปี ย่านใกล้เคียง เพื่อเปิดให้น้ำไหลเทไปทางอื่นผ่านรูเขื่อนที่ถูกระเบิดออก

นายแบงค์ใช้เงินส่วนตัว จ้างคนระเบิดเขื่อนทันทีเพื่อให้ทันสถานการณ์ โดยไม่ปรึกษาใคร ประชาชนรอบพื้นที่ใกล้เขื่อนเสียชีวิตจากการเจอมวลน้ำแบบกระทันหันทันที 200 กว่าคน

อ่านแล้วรู้สึกโกรธนายแบงค์พวกนี้ หรืออย่างน้อยคิดว่าพวกเขาทำอะไรบางอย่างผิดไปมั้ยครับ?

รู้สึกเหมือนกันมั้ยครับว่าพวกเขาควรมาช่วยอพยพชาวเมืองมากกว่า ถึงแม้การอพยพขนานใหญ่อาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องความอดอยาก อุบัติเหตุการณ์เสียชีวิต แต่ต่อให้ต้องมีคนตายหลักพัน ทางเลือกนี้ก็ดูชอบธรรมกว่าอยู่ๆ ไปวางระเบิดให้คนไม่เกี่ยวข้องตายแบบไม่มีที่มาที่ไป

ถ้าคุณรู้สึกเช่นนั้น Frances Kamm จะถามคุณต่อสองคำถาม

หนึ่ง หากคุณไม่ต้องการระเบิดเขื่อน นั่นแปลว่าการฆ่าคนจำนวนน้อยเพื่อช่วยคนจำนวนมากไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ใช่หรือไม่?

สอง หากใช่ ทำไมคนส่วนใหญ่ (รวมถึง Kamn เอง) จึงมักชอบเลือกหันรถรางไปชนคนจำนวนน้อยกว่า

หากกรณีดังกล่าวชักจูงเราได้ว่า เราไม่ควรหันรถรางไปชนคนหนึ่งคน นัยยะของมันจะใหญ่มาก เพราะมหากาพย์รถรางจะปิดฉากโดยสมบูรณ์

ทำไม?

ข้อเสนอเรื่องการฆ่าและปล่อยให้ตาย (อีกครั้ง)

จะรู้ว่าทำไมกรณีข้างต้นถึงสำคัญ ต้องย้อนกลับไปเนื้อหาเก่าอีกครั้ง

ผมเคยเล่าก่อนหน้านี้แล้วว่า ในยุคต้นของปัญหารถราง Philippa Foot เคยเสนอวิธีแก้ปัญหารถรางรูปแบบต่างๆ ด้วยการให้เราตีเส้นแบ่งระหว่าง ‘การฆ่า’ กับ ‘การปล่อยให้ตาย’ ก่อนกำหนดหลักว่า การฆ่าผิดมากกว่าการปล่อยให้ตายเสมอ และยิ่งฆ่ามากก็ยิ่งผิดมาก

หลักนี้ให้คำตอบที่ตรงกับสามัญสำนึกว่า ทำไม ‘คนขับ’ ควรหันรถรางเบรกแตกที่กำลังวิ่งไปฆ่าคนห้าคนให้หันไปฆ่าคนหนึ่งคนแทน เพื่อฆ่าคนจำนวนน้อยกว่า แต่ทำไมหมอจึงไม่ควรฆ่าคนเพื่อเอาอวัยวะไปช่วยชีวิตคนห้าคนที่กำลังจะตาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการปล่อยให้ตายผิดน้อยกว่าฆ่า

หากไม่มีอะไรมาแย้ง ข้อถกเถียงเรื่องรถรางก็วิ่งถึงสถานีปลายทางตามฝัน ไม่มีอะไรให้ถกเถียงกันต่อ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของข้อเสนอนี้คือ มันไม่สามารถให้คำตอบตามสามัญสำนึกได้ในกรณีที่ ‘บุคคลที่สาม’ ผ่านมาเห็นเหตุการณ์ แล้วต้องตัดสินใจว่าจะโยกคันโยกให้รถไฟไปชนคนหนึ่งคนแทนคนห้าคนหรือไม่ เฉพาะในกรณีนี้ ข้อเสนอข้างต้นบอกว่าบุคคลที่สาม ‘ควรปล่อยให้คนห้าคนตาย‘ ซึ่งดีกว่าการหันรถรางไป ‘ฆ่าคนหนึ่งคน’ ข้อเสนอนี้ ขัดกับสามัญสำนึกทั่วไปว่าเราจำเป็นต้องช่วยคนห้าคน

แนวทางหลักในการปกป้องข้อเสนอดังกล่าวคือ การตั้งประเด็นข้อถกเถียงหรือกรณีเฉพาะมาชักจูงให้ได้ว่า เหตุใดวิจารณญาณของเราที่ว่าการฆ่าคนหนึ่งคนนั้นเหมาะสมเป็นสิ่งที่ผิด

นักจริยศาสตร์บางท่านเคยพยายามทำอะไรแบบนี้ก่อนหน้านี้ แต่เหตุผลของพวกเขาก็ถูกตีตกไป แต่กรณีเขื่อนในมิสสิซซิปปีข้างบนคืออีกหนึ่งความพยายาม

สรุปอีกที ประเด็นหลักของเรื่องเขื่อนก็คือ ถ้าวิจารณญาณบอกว่าเราไม่ควรระเบิดเขื่อน เราก็อาจจำเป็นต้องปรับข้อสรุปในกรณีรถรางแบบมาตรฐานให้สอดคล้องสม่ำเสมอกับกรณีนี้ว่า เราไม่ควรฆ่าคนจำนวนน้อยเพื่อช่วยคนจำนวนมากด้วย

และหากข้อสรุปเป็นเช่นนี้ เส้นแบ่งระหว่างการฆ่าและการปล่อยให้ตายก็จะให้คำตอบที่ถูกต้องในทุกกรณี แถมยังถูกในกรณีเขื่อน เพราะหลักนี้อธิบายว่าการฆ่าคนรอบเขื่อนแย่กว่าปล่อยให้คนตายจากการอพยพ

ถูกขนาดนี้แล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องถกเถียงอะไรกันต่อ

ปัญหารถรางรูปแบบที่ 6 กับการฟื้นคืนชีพของเส้นแบ่งการฆ่าและการปล่อยให้ตาย?

แต่ทั้งหมดนี้ถูกต้องจริงหรือ?

จะรู้ชัดได้ เราต้องพยายามถอดรูปแบบกรณีศึกษาเป็นรูปแบบรถรางเพื่อเทียบเคียงวิเคราะห์ร่วมกับวิธีอื่นๆ

กรณีเขื่อนมิสซิสซิปปีสะท้อนปัญหารถรางอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่อีกหนึ่งความเป็นไปได้ในการปกป้องข้อเสนอเรื่องการแยกแยะระหว่างการฆ่ากับปล่อยให้ตาย โดยผู้ที่สร้างปัญหารถรางรูปแบบนี้ขึ้นมาก็คือ Frances Kamn

ก่อนเล่าต่อมีเรื่องน่าสนใจที่อยากเล่าคั่นครับ ถ้าจำกันได้ Kamn คนนี้เป็นตัวหลักของผู้ที่ต้องการล้มข้อเสนอเรื่องเส้นแบ่งระหว่างการฆ่ากับการปล่อยให้ตาย แต่ที่เธอออกมาหาข้อสนับสนุนให้ข้อเสนอดังกล่าว ก็เป็นเพราะจารีตทางวิชาการสายเธอที่ฝ่ายปฏิเสธไม่ได้มีหน้าที่เพียงปฏิเสธข้อเสนอฝ่ายตรงข้าม แต่ต้องช่วยคิดด้วยว่ายังมีทางอื่นในการสนับสนุนข้อเสนอฝ่ายตรงข้ามที่ดีกว่านี้หรือไม่ ก่อนจะปฏิเสธข้อเสนอนั้น ซึ่งเป็นจารีตที่น่าชื่นชมอยู่ไม่น้อย

กลับมาที่เรื่องของเรา เคสที่ว่าไปสะท้อนปัญหารถรางรูปแบบที่หกของ Frances Kamn ดังต่อไปนี้

1. รถรางเบรกแตกกำลังจะวิ่งทับคนแปดคน

2. เราเดินผ่านมาเห็นเหตุการณ์ ข้างหน้ามีคันโยก ซึ่งสามารถโยกไปได้สองทางคือ

(a) สับรถรางไปทางซ้าย ชนคนหนึ่งคนตาย

(b) สับรถรางไปทางขวา ไม่ชนใคร แต่เส้นทางนี้ถูกกำหนดไว้สำหรับใช้ลำเลียงผู้บาดเจ็บห้าคนไปรักษา การที่รถรางวิ่งไปทางนี้จะทำให้เราไม่สามารถส่งคนห้าคนไปรักษาได้ และเสียชีวิต

ข้อ 1 เทียบเคียงได้กับคลื่นน้ำที่กำลังจะท่วมชาาวเมืองนิวออลีนส์ หากไม่มีการอพยพ

ข้อ (a) เทียบได้กับการระเบิดเขื่อน ฆ่าคนส่วนน้อยเพื่อช่วยคนหมู่มาก

ส่วน (b) เทียบเคียงได้ กับทางเลือกการอพยพชาวเมืองออกจากเมือง กล่าวคือเราเลือกปล่อยมวลน้ำท่วมเมืองเปล่า ไม่มีคนตาย แต่รู้แน่ว่าการปล่อยให้เมืองจมน้ำเช่นนี้จะนำไปสู้วิกฤตหลายเรื่อง เข่นวิกฤตขาดแคลนอาหาร การรักษาพยาบาล ที่พัก และนั่นจะทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่น้อย น่าจะมากกว่าการระเบิดเขื่อน แต่ยังน้อยกว่ากรณีไม่อพยพ

พอถอดรูปเรียบร้อย Kamn ก็ชี้ว่า หากพิจารณาจากสามัญสำนึกของเธอ และเท่าที่เธอเคยสำรวจมาแล้ว ล้วนไม่เห็นด้วยกับการระเบิดเขื่อน (ถ้าเห็นด้วย อาจหมายความว่าคุณเห็นด้วยกับการให้รถพยาบาลซิ่งรถชนทะลุบ้าน คนตาย จะได้ส่งคนจำนวนมากกว่าถึงโรงพยาบาลทันเวลา ซึ่งยังไงก็ไม่น่าถูกใช่มั้ยครับ?)

ปัญหาสำคัญอยู่ตรงนี้แหล่ะครับ Kamn ถามว่าหรือที่จริงแล้ว เราไม่ควรหันรถไปฆ่าคนหนึ่งคน แต่ควรปล่อยให้คนห้าคนตาย เหมือนที่เราไม่ควรฆ่าใครในกรณีเขื่อน แต่ปล่อยให้คนตายจากการอพยพแทน?

และถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ย้อนกลับไปสู่ข้อสรุป ว่า Foot และข้อเสนอของเธอคือผู้ชนะ!

เขื่อนไม่ใช่รถราง และสองอย่างนี้เทียบเคียงกันไม่ได้

กล่าวโดยสรุป สิ่งที่ Kamn ทำคือการยกเคสเทียบเคียงมาชี้ให้เห็นปัญหาความไม่สม่ำเสมอของสามัญสำนึกของเรา แล้วเรียกร้องให้เราปรับแก้สามัญสำนึกเดิม

แล้วหนึ่งกระบวนท่าสำคัญสำหรับการปฏิเสธข้อถกเถียงแบบนี้ได้แก่ การชี้ให้เห็นว่าสองกรณีนี้เทียบเคียงกันไม่ได้อย่างไร และเมื่อเทียบเคียงกันไม่ได้ ก็ไม่แปลกที่เราจะตัดสินสองกรณีไม่เหมือนกัน

Kamn ทำเช่นนั้น เธอถกเถียง (ปฏิเสธข้อถกเถียงที่เธอสร้างขึ้นมาเอง เพื่อปกป้องข้อเสนอที่เธอพยายามจะปฏิเสธ – ฮา) ว่ากรณีรถรางรูปแบบที่หกนั้นเทียบเคียงใดๆ ไม่ได้เลยกับกรณีมาตรฐาน ในแง่มุมดังต่อไปนี้

หนึ่ง ในกรณีรถรางมาตรฐาน ทั้งคนห้าคนและคนหนึ่งคนจะได้รับอันตรายจากภัยเดียวกัน ซึ่งก็คือรถราง แต่ในกรณีรูปแบบที่หก คนหนึ่งคนจะตายจากรถราง (ถ้าเราเลือก) ส่วนห้าคนนั้นได้รับบาดเจ็บจากกรณีอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับเราเลย

สอง ในกรณีหันรถรางไปบล็อกทางช่วยเหลือคนห้าคนทางขวา เรากล่าวได้ว่าความผิดของเรานั้นเบากว่าการ ‘ปล่อยให้ตาย’ เสียอีก โดยนิยามการปล่อยให้ตายเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ให้ความช่วยเหลือที่เราสามารถช่วยได้ ในกรณีรถรางข้างบน เราไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการให้หรือไม่ให้ความช่วยเหลือกับคนห้าคน ถึงที่สุด เราแค่วิ่งไปในทางที่เขาบังเอิญต้องใช้ในอนาคต

ต่อให้ผิด ก็อาจแค่ข้อหาทำลายทรัพย์สินที่จำเป็นต่อชีวิต ซึ่งเบากว่าปล่อยให้ตายเยอะ

สาม คนรอบเขื่อน (หนึ่งคน) ไม่ได้รับภัยใด หากเราไม่เข้าไปตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเขาปลอดภัยและมีข้อร้องเรียนทางศีลธรรมว่าเราทำร้ายเขา ในขณะที่ชาวเมืองนิวส์ออลีนส์นั้น ไม่มีข้อร้องเรียนใดๆ กับใคร หากประสบเหตุตายจากการอพยพ เพราะต้นเหตุเรื่องทั้งหมดคือฝนที่ตกเกินธรรมชาติ

เมื่อเทียบเคียงกันไม่ได้ ก็ไม่แปลกที่เราจะเลือกไม่ระเบิดเขื่อน แม้จะหันรถรางไปฆ่าคนหนึ่งคนตาย และหากคำตอบหลังถูก ข้อเสนอของ Foot ก็ควรตกไป

หลังจากนี้ Kamn ลงรายละเอียด หาเคสมาเทียบเคียงเพิ่มเติมว่าในสามข้อที่กล่าวมา เหตุผลใดกันแน่คือเหตุผลที่ถูกต้องที่ทำให้เราเลือกไม่ระเบิดเขื่อน แต่หันรถรางใส่คนหนึ่งคน

ประเด็นสำคัญก็คือ การถกเถียงเรื่องนี้ทำให้เธอเริ่มตั้งประเด็นว่า กุญแจไขปัญหา Trolley problem อาจไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเป็นคนตัดสินใจหรือมีความรับผิดชอบอะไร เช่น เขาเป็นคนขับ คนเดินผ่าน เพื่อจะได้รู้ว่าทางเลือกของเขาคือการฆ่าหรือปล่อยให้ตาย

แต่อยู่ที่การดูเนื้อหาว่าภัย ทางเลือก และการตัดสินในแต่กรณีเกิดขึ้นกับใคร มีข้อร้องเรียนหรือไม่ อย่างไร ไม่ว่าคนในเรื่องจะเป็นใครก็ตาม

และนี่ก็นำไปสู่ขั้นต่อไปของข้อถกเถียงเรื่องรถรางอันแสนวุ่นวาย และข้อเสนอสนุกสนานจำนวนมาก รวมถึงหลักชื่อดังอย่าง Double doctrine effects, tripple doctrine effects, หรือ Kantian Universal Maxim

ใช่แล้วครับ ผมกำลังจะบอกว่า ปัญหารถรางยังไม่จบง่ายๆ  

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save