fbpx

Trolley problem #6: ‘สงครามสามัญสำนึก’ – รบอย่างไรกับคนที่เชื่อสุดใจว่า ‘จำนวน’ ไม่สำคัญ

ไม่มีหมอคนไหนเพี้ยนพอจะเอาอาการปวดหัวเบาๆ ของคนห้าคนมาบวกรวมกัน แล้วเขียนสรุปว่าอาการมวลรวมห้องนี้คือไมเกรน หากทำไป ตอนจ่ายยาคนไข้แต่ละคนคงงงตาแตก เพราะไม่รู้จะเอายาไมเกรนไปทำอะไร ฉันใดฉันนั้น รถรางจะทับห้าคนฝั่งซ้าย หรือหนึ่งคนฝั่งขวา ปัญหาก็เหมือนเดิมคือ ‘มีคนตาย’ เราพูดไม่ได้ว่าคำนวณรวมแล้วฝั่งห้าคนเสียหายหรือเจ็บมากกว่าเพราะมีความตาย ‘ห้าครั้ง’ หรือ ‘ห้าเท่า’

นี่คือข้อถกเถียงชื่อดังของลุง John Taurek ที่นักศึกษาจริยศาสตร์ตะวันตกถูกบังคับอ่านแทบทุกคนและผมเล่าให้ฟังในตอนก่อน ซึ่งข้อถกกเถียงนี้ นำเราไปสู่ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหารถรางแบบที่ใครฟังก็ช็อก คือให้โยนเหรียญหัว-ก้อยตัดสินใจเสีย

ตอนแรกผมตั้งใจชวนคุยถึงข้อเสนอลุง Taurek แบบเร็วๆ เพราะคิดว่าคงไม่มีใครสนใจ อ่านแล้วคงคิดว่าบ้าไปแล้ว แต่อ่านไปอ่านมา กลายเป็นว่าผมเริ่มสนุกเสียเอง เพราะเจอว่าข้อถกเถียงเรื่องบทบาทของ ‘จำนวน’ ในปัญหารถรางมีลักษณะที่เรียกได้ว่า ‘สงครามสามัญสำนึก’ (intuition war) ซึ่งทั้งน่าเบื่อ น่ารำคาญใจ และสนุกไปพร้อมกัน เนื่องจากผมยังสนุกอยู่ จึงขอพาท่านผู้อ่านสนุกไปด้วยกันนะครับ

‘สงครามสามัญสำนึก’ กับ ‘จำนวน’

เคยเถียงกับใครถึงจุดที่เรารู้สึกว่าคุยกับต่อไม่ได้ไหมครับ? สาเหตุหนึ่งของจุดจบแบบนี้ เกิดจากการที่เราและคู่สนทนามีสามัญสำนึกพื้นฐานไม่ตรงกัน

จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ ต้องเข้าใจก่อนว่าปกติเวลาเราเถียงกับใครแล้วความเห็นไม่ตรงกัน กระบวนท่าที่เรามักใช้ไม่ว่ารู้ตัวหรือไม่ คือการหาจุดร่วมในเชิงสามัญสำนึกบางอย่าง แล้วใช้ตรงนั้นเป็นจุดตั้งต้นย้อนกลับไปทำลายข้อถกเถียงของคู่สนทนา

สมมตินะครับ ถ้ามีใครมาบอกผมว่ารัฐไม่ควรมีอำนาจเข้าแทรกแซงกิจกรรมของเอกชนที่เกิดขึ้นบนฐานสัญญาที่ทุกฝ่ายยินยอม (consensual contract) ในทุกกรณี ผมคงถามจี้เขาว่าเราเห็นตรงกันในระดับสามัญสำนึกไหมว่าทาสเป็นเรื่องผิด? ถ้าใช่ ผมอาจจะลองบอกว่าถ้าเช่นนั้นคุณคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะเอกชนฝ่ายหนึ่งอาจสมัครใจขายตัวเองเป็นทาสคนอื่น แล้วถ้าข้อเสนอคุณถูก เราก็ห้ามการค้าทาสไม่ได้ ซึ่งขัดสามัญสำนึกของคุณ (และผม) แต่ทีนี้ครับ เรื่องมันจะยากและซับซ้อน จนถึงขั้นคุยต่อไม่ได้ สมมติเราจี้ไปที่สามัญสำนึกบางอย่างที่คิดว่าเราควรจะมีร่วมกัน ทำนองว่า “เห็นมะ ข้อเสนอของคุณนำไปสู่การค้าทาส” แล้วเขาเกิดยักไหล่ว่าแล้วไง ค้าทาสไม่เห็นผิด

ณ จุดนี้ ‘สงครามสามัญสำนึก’ จะเกิดขึ้น พอไม่มีฐานสามัญสำนึกร่วมกัน เราก็ไม่รู้จะชักจูงกันต่อยังไง ถึงจุดนี้เราอาจเลิกคุย บางคนอาจด่ากัน (“คิดแบบนี้ได้ยังไงฟะ”) หรือพยายามหารูป เอาเรื่องราวความเลวร้ายของการค้าทาสมาเล่าให้เขาฟัง 

ข้อถกเถียงว่า ‘จำนวน’ ชีวิตในปัญหารถรางควรมีผลต่อการตัดสินใจสับรางหรือไม่ ถึงที่สุดมีลักษณะเป็นสงครามสามัญสำนึกเช่นนี้ เราเจอคนแบบลุง Taurek ที่บอกว่าไม่นับจำนวน ให้ทอยเหรียญ แล้วเราพยายามชักจูงลุงว่าข้อเสนอนี้ขัดสามัญสำนึก เพราะถ้าทอยมาแล้วได้ผลให้ช่วยคนหนึ่งคนแทนอีกฝั่งที่มีล้านคน แปลว่าเราต้องปล่อยให้คนล้านคนตายนะ แล้วลุงจะยักไหล่ ถามเรากลับว่า “ก็ไม่เป็นปัญหาตรงไหน”

ถึงจุดนี้ คงได้แต่แยกย้าย ผมที่ยังเชื่อว่าจำนวนมีผล ก็เชื่อในระดับสามัญสำนึกต่อไป รู้สึกคุยต่อลำบาก แต่นักจริยศาสตร์จำนวนหนึ่งเขาก็หาวิธีเถียงกับลุง Taurek ต่อได้ครับ

‘รวมกันไม่ได้’ ≠ ‘เปรียบเทียบไม่ได้’

เพื่อเถียงกับลุง Taurek ต่อ สิ่งแรกที่นักปรัชญาที่ว่ากันว่าสำคัญที่สุดของวงการในรอบศตวรรษที่ผ่านมาอย่าง Derek Parfit ทำ คือการเคลียร์ประเด็นก่อนว่าสิ่งที่ Taurek เสนออาจเกิดจากความสับสนบางอย่าง

ประเด็นก็คือตอนที่พูดว่าความเจ็บปวดเอามา ‘นับรวมกันไม่ได้’ ข้อความนี้ขาดความชัดเจน เพราะที่จริงมันมีได้อย่างน้อยสามความหมาย ลุง Taurek คิดไม่เคลียร์เลยสับสน โดนภาษาพาไปสู่ข้อสรุปเสียอย่างนั้น

‘นับรวมไม่ได้’ ในความหมายแรกอาจแปลว่าเราไม่มีทางรับรู้และเปรียบเทียบระดับความเจ็บปวดระหว่างบุคคลได้เลย คือเราไม่มีทางรู้ว่า นาย ก. นาย ข. เจ็บแค่ไหน ใครเจ็บกว่ากัน เลยไม่รู้จะเอามาบวกคำนวณกันยังไง ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่หนึ่งของสำนักอรรถประโยชน์นิยม ที่แวดวงเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันคุ้นในชื่อ ‘interpersonal comparisons’ ซึ่ง Parfit บอกว่าสองลุงไม่ได้หมายความแบบนี้แน่นอน เพราะถ้าเปรียบเทียบไม่ได้เลยเราก็ไม่ต้องคิดเปรียบเทียบการตัดสินใจเชิงสาธารณะอะไรต่อ การที่เขามานั่งคิดนั่งเขียนอะไรแบบนี้ แปลว่าเขาเชื่อว่ามันวัดได้อย่างน้อยก็โดยคร่าว

ความหมายที่สองต่างหาก คือสิ่งที่สองลุงพูดถึง นั่นคือความเสียหายหรือเจ็บปวดนั้น ‘นับรวมไม่ได้’ ในเชิงข้อเท็จจริง (factual claim) อย่างที่ว่าถ้าคนห้าคนปวดหัว เราไม่สามารถเอามารวมกันแล้วบอกว่าในห้องมีสิ่งที่เรียกว่าไมเกรนเกิดขึ้น

Parfit บอกว่าเรื่องนี้จริง แต่ผิดจุด เพราะเวลาคนเสนอว่าตายห้าคนนับรวมแล้วแย่กว่าคนเดียว เขาไม่ได้เอาความเจ็บปวดสูญเสียมาบวกกันในแบบความหมายที่สองนี้ แต่กำลังพูดถึงการ ‘นับรวม’ ในความหมายที่สาม คือการเสนอในแง่ ‘การพิจารณาภาพรวม’ แล้วเรื่องนี้ ‘สำคัญกว่า’ (matters more) 

คล้ายเวลาเราพูดว่าให้ปวดหัวห้าสิบครั้ง ขอเป็นไมเกรนครั้งเดียวเลยดีกว่า การพูดเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่าเราคิดคำนวณเอาอาการปวดหัวห้าสิบครั้งมาบวกรวมกัน แล้วบอกว่าทางเลือกแรกรวมแล้วทำให้เกิดความเจ็บปวดมากกว่าไมเกรน เรารู้ว่ามันคำนวณนับรวมแบบนั้นไม่ได้ แต่แค่ว่าถ้าให้เลือกจากภาพรวมแล้ว ปวดหัวห้าสิบครั้งมัน ‘แย่กว่า’ ดังนั้นจึง ‘สำคัญกว่า’ ที่จะต้องรักษาอาการปวดหัวห้าสิบครั้ง ก่อนไมเกรน 

พูดง่ายๆ คือการนับรวมที่ว่า คือการดูรวมแล้วว่าอันไหนน่าจะสำคัญกว่า (normative evaluation) ไม่ใช่การเอาข้อเท็จจริงมาบวกกัน (factual calculation)

การนับรวมในความหมายนี้ทำได้ และถ้าทำได้ ปัญหาก็จะไม่ใช่ว่าเรานับจำนวนไม่ได้ แต่คือว่าในกรณีรถราง พอนับรวมเสร็จแล้ว ความตายของคนห้าคนเป็น ‘เรื่องใหญ่กว่า’ ตายคนเดียวจริงหรือไม่?

ยุทธศาสตร์สงคราม: เถียงยังไงว่าตายห้าคนเป็นเรื่องใหญ่กว่าตายคนเดียว?

ถึงจุดนี้ ลุง Taurek ก็คงยืนยันเหมือนเดิมว่าต่อให้นับรวมในความหมายแบบที่ Parfit ว่า ความตายของห้าคนก็ไม่ matters more อยู่ดี

ผมเคยนั่งเกาหัวคิดอยู่หลักเดือน (หลักเดือนจริงๆ นะครับ) ว่าถ้าผมเจอคนที่มีสามัญสำนึกแบบนี้ ผมจะชักจูงเขายังไง เพราะแบบนี้มันก้าวเข้าสู่ขอบเขตสงครามสามัญสำนึกแล้ว จนกระทั่งเดือนสองเดือนนี้ ผมกลับมาหาอ่านเรื่องนี้ต่อจึงรู้ว่ามันมีวิธีสู้อยู่ โดยดูจากงานของนักจริยศาสตร์สองคน ทั้งสองคนนี้ใช้ยุทธศาสตร์สงครามเดียวกัน คือในเมื่อสามัญสำนึกเรื่องจำนวนไม่ตรงกันกับลุง Taurek งั้นพวกเขาจะอ้างอิงไปที่สามัญสำนึกอื่นที่เขาแชร์กับลุงแน่ แล้วใช้สามัญสำนึกนั้น ย้อนกลับมางัดสามัญสำนึกของลุงที่ว่าจำนวนไม่สำคัญในการตัดสินใจปัญหารถราง

คนแรกคือ Frances Kamm เขาเสนอให้เราชักจูงคู่สนทนาที่เห็นแบบลุง Taurek ด้วยการทดลองทางสามัญสำนึกง่ายๆ โดยเริ่มถามเขาว่า

“สมมติมีข่าวว่าคุณ ก. ที่ไม่รู้จักกำลังจะตายวันพรุ่งนี้ ด้วยสาเหตุ X คุณว่าดีไหม?” 

ถ้าถามแค่นี้ คู่สนทนาคงแชร์สามัญนึกเดียวกับเรา ตอบกลับว่าถ้าไม่มีข้อมูลอื่น มีคนตายโดยทั่วไปจะดีได้ยังไง ต้อง ‘แย่สิ’ แย่มากแย่น้อยไม่รู้ แต่ถ้าให้เลือก มันแย่กว่าไม่มีใครตายแน่ๆ (ถ้าไม่เห็นตรงกันเรื่องนี้ คงคุยต่อยาก เพราะแปลว่าเราก้าวสู่สงครามสามัญสำนึกเพิ่มอีกสมรภูมิหนึ่งแล้ว)

พอแชร์กันตรงนี้แล้วก็ให้ขยับต่อ ถามเขาว่าแล้วถ้ามีข่าวมาเพิ่มอีกว่าที่จริงแล้วนอกจาก ก. จะตายพรุ่งนี้ คุณ ข., ค., ง., จ. ก็จะตายด้วยสาเหตุ X ด้วย คุณฟังแล้วรู้สึกดีขึ้นบ้างไหม

ถึงตรงนี้ คู่สนทนาเราก็น่าจะแชร์สามัญสำนึกว่า มีตายเพิ่มอีกตั้งหลายคนจะรู้สึกดีขึ้นได้ยังไง ต้อง ‘แย่กว่าเดิม’ สิ

ถึงตรงนี้เราสรุปว่า

เพราะฉะนั้น (a) ก. ข. ค. ง. จ. ตายเพราะ X ‘แย่กว่า’ (b) ก. ตายคนเดียว เพราะ X

ทีนี้ Kamm บอกให้เราชวนเขาขยับอีกนิด บอกว่าในกรณีการตัดสินใจทางศีลธรรม มนุษย์ทุกคนเหมือนและเท่ากันจากมุมมองบุคคลที่สามของเราใช่หรือไม่ 

เขาน่าจะตอบว่าใช่ (ถ้าตอบว่าไม่ ให้ถามทันทีว่าแล้วทอยเหรียญ 50-50 ทำไม ในเมื่อน้ำหนักชีวิตคนไม่เหมือนหรือไม่เท่ากัน)

พอตอบว่าใช่ เราก็ถามต่อว่า นั่นแปลว่าเราสามารถเปลี่ยนนาย ก. ใน (b) เป็น ฉ. ได้ โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและนั่นแปลว่า 

(a) ก. ข. ค. ง. จ. ตายเพราะ X ‘แย่กว่า’ (b) ฉ. ตายคนเดียวตายเพราะ X

และทีนี้คุณก็วาดรูปให้เขาดู เอาทางเลือก (a) ไปใส่รางรถไฟทางซ้าย เอา (b) ใส่ขวา แล้วบอกว่าสาเหตุการตาย X ที่ว่า คือรถรางกำลังวิ่งมาชน

จากทั้งหมดที่ไล่กันมา เราได้ข้อสรุปว่า รถรางวิ่งไปทับคนห้าคนทางซ้าย ‘แย่กว่า’ หรือใช้ภาษาแบบ Parfit ก่อนหน้าก็คือ เป็นเรื่อง ‘ใหญ่กว่า’ ทับคนเดียวทางขวา

ทั้งหมดนี้สรุปว่า จำนวนสำคัญในการตัดสินใจปัญหารถราง ถ้าเขาไม่เห็นด้วยกับข้อสรุป ให้ถามกลับว่าตั้งต้นมีตรงไหนที่คุณไม่เห็นด้วย ข้อสรุปข้างบนนี้ มาจากสามัญสำนึกคุณเองล้วนๆ?

ตอนผมอ่านพบเรื่องนี้ก็นั่งคิดว่าเก่งจัง คิดวิธีมาเถียงแบบนี้ได้ยังไง ทั้งแหลมคมและเรียบง่าย แต่แค่นั้นยังไม่พอ Thomas Scanlon อีกหนึ่งร็อกสตาร์วงการจริยศาสตร์ อ่านงานของ Kamm แล้วเอามาต่อยอด สร้างอีกวิธีเถียงขึ้นมา

เขาบอกว่าถ้าเขาเจอคนคิดแบบ Taurek เขาจะชวนคุยแบบนี้ครับ 

เขาจะบอกว่า “คุณพูดถูกแล้ว” เกี่ยวกับสามัญสำนึกที่ว่า

P1 หลักการตัดสินในทางจริยศาสตร์ที่ถูกต้อง ต้องเริ่มจากการพิจารณาทุกคนเท่ากัน (equal consideration)

เริ่มจากแบบนี้แล้วให้ขยับต่อว่า แล้วเราก็เห็นตรงกันอีกด้วยนะว่า

P2 ถ้า ก. กับ ข. อยู่รางคนละด้าน สองด้านมีคนหนึ่งคน รถรางวิ่งมา ไม่มีข้อมูลอื่นเพิ่มเติม ทางออกคือการทอยเหรียญ

ถึงตรงนี้เราแชร์สามัญสำนึกเดียวกับ Taurek ลุงฟังแล้วจะพยักหน้า

ทีนี้ให้เราถามต่อว่า สมมติว่าเราเพิ่ม ค. เข้าไปในสมการ ให้อยู่รางฝั่งเดียวกับ ข. คุณจะทำยังไง

Taurek จะตอบว่าก็ทอยเหรียญเหมือนเดิม เพราะแต่สุดท้ายแต่ละคนตายหนึ่งครั้งเท่ากัน

Scanlon ตบพวงมาลัยแหกโค้งตรงนี้ เขาสวนลุงทันทีว่าไหนสามัญสำนึกคุณใน P1 บอกว่าให้เราพิจารณาให้น้ำหนักทุกชีวิต แต่การที่คุณให้ทอยเหรียญเหมือนเดิม มันหมายความว่าการมีอยู่ของ ค. ไม่มีความหมายเลย จะอยู่หรือไม่อยู่ทุกอย่างก็เหมือนเดิม

ค. จะถามลุงว่า ชีวิตเขาได้รับการพิจารณาตรงไหนในสมการนี้?

ปัญหานี้บอกเราว่า ต่อให้ไม่รู้ว่าคำตอบที่ถูกคืออะไร แต่อย่างน้อยเราก็รู้ได้แน่ๆ ว่าการทอยเหรียญผิด เพราะไม่สอดคล้องกับแนวคิดสามัญสำนึกตั้งต้นของข้อเสนอใน P1 ถ้าเราตั้งต้นจาก P1 เราต้องให้น้ำหนักทุกชีวิต และการให้น้ำหนักชีวิตก็หมายความว่าการพิจารณาและตัดสินใจจะต้องเปลี่ยน เมื่อมีใครสักชีวิตเพิ่มเข้ามาในโจทย์ปัญหา ไม่ใช่การทอยเหรียญที่ใครจะเข้ามาเพิ่ม ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย

สรุปง่ายๆ ก็คือเรายังไม่รู้ว่าทางแก้ปัญหาคืออะไร แต่เรารู้ว่าในสมการการแก้ปัญหานั้น ‘จำนวน’ ต้องสร้างความแตกต่างในการคิดและการตัดสินใจ

ทั้งหมดนี้คือยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายตรงข้ามลุง Taurek ใช้ต่อสู้กับลุงในสงครามสามัญนึกเรื่องจำนวน พวกเขารบโดยหันไปค้นหาสามัญสำนึกอื่นที่พวกเขาแชร์กับลุง แล้วพลิกสามัญสำนึกนั้นกลับมาค้านงัดข้อเสนอของลุงเอง

ตอนหน้าผมจะมาเล่าว่าลุง Taurek ใช้ยุทธศาสตร์สงครามแบบเดียวกันงัดฝ่ายนี้กลับอย่างไร รวมถึงบทสรุปของสงครามในเรื่องจำนวนชีวิตครับ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save