fbpx

Trolley problem #2: ‘ฆ่า’ กับ ‘ปล่อยให้ตาย’ – ทางเลือกที่ดูเหมือนจะมีคำตอบทางจริยศาสตร์

ตอนที่แล้วผมชวนทุกท่านสำรวจที่มาที่ไป ดีเบต และเป้าหมายของสิ่งที่เรียกว่าปัญหารถราง

สรุปโดยสั้นอีกครั้งคือ นักจริยศาสตร์ที่ศึกษาปัญหาดังกล่าวมุ่งค้นหาหลักจริยศาสตร์แบบ ‘deontology’ (การกระทำมีผิดถูกในตัวเองโดยไม่เกี่ยวกับผลลัพธ์ เช่น ฆ่าผู้บริสุทธิ์โดยไม่มีเหตุผลผิดเสมอ) เพียงหนึ่งเดียว ที่สามารถชี้ทางให้เราได้ว่า เราสามารถฆ่า-ไม่ฆ่า ช่วย-ไม่ช่วย คนจำนวนน้อยเพื่อจำนวนมาก ได้ในสถานการณ์แบบไหน ในเงื่อนไขใดบ้าง

โจทย์ใหญ่ของผู้ศึกษาปัญหารถรางอยู่ที่การวางหลักที่สามารถให้คำตอบที่สอดคล้องกับคำตอบตามตามสามัญสำนึกได้ กรณีทั้งสองคือ

1. กรณีรถรางมาตรฐาน: รถรางกำลังจะวิ่งทับคนห้าคน แต่คนขับสามารถสับรางเพื่อเปลี่ยนไปอีกเส้นทาง แต่จะทับคนหนึ่งคนแทน (คำตอบที่ถูกต้องคือควรสับราง)

Trolley problem (ที่มา We Love Philosophy)

2. กรณีรถรางกับคนอ้วน: รถรางกำลังจะวิ่งทับคนห้าคน ทางเดียวที่จะหยุดรถรางได้คือเราผลักคนอ้วนข้างบนลงราง เพื่อใช้น้ำหนักตัวเขาหยุดรถ แต่คนอ้วนต้องตาย (สมมติฐานคำตอบที่ถูกต้องคือห้ามผลัก)

The fat man (1976)

อ่านแล้วพอคิดออกไหมครับ ว่าเหตุผลหรือหลักจริยศาสตร์แบบไหนกันที่จะให้คำอธิบายได้อย่างสอดคล้องว่า ทำไมเราควรเลือกสับรางในกรณีแรก แต่ไม่ผลักคนอ้วนในกรณีที่สอง?

ในงานตีพิมพ์เกี่ยวกับปัญหารถรางชิ้นแรก เมื่อปี 1978 Philippa Foot ได้เสนอหลัก deontology ที่สามารถให้คำตอบที่ถูกในทั้งสองกรณี และดูเหมือนจะแก้ปัญหาข้างต้นที่ว่าได้  

วิธีแก้ปัญหารถรางของ Philippa Foot

กล่าวโดยสรุป Philippa Foot เสนอว่าหลักที่ให้คำตอบนี้คือ ‘การทำร้าย’ ใครสักคนนั้นผิดเสมอ ในขณะที่ ‘การปล่อยภัยร้ายให้ดำเนินไป’ โดยไม่เข้าไปช่วยเหลือนั้นไม่ผิดหรือ ผิดน้อยกว่า

จะเข้าใจหลักที่ว่าได้ ต้องเริ่มจากการเข้าใจว่าทั้งสองอย่างข้างบนไม่เหมือนกันอย่างไร

1. ความแตกต่างระหว่าง ‘การทำร้าย’ กับ ‘การปล่อยให้ภัยร้ายดำเนินไป’

สมมติว่า ตำรวจมาเจอว่า B จมน้ำตาย โดยมี A ที่ว่ายน้ำแข็งและรู้วิธีช่วยเหลือคนตกน้ำอยู่ในที่เกิดเหตุ ตำรวจจึงตั้งสมมติฐานความเป็นไปได้ไว้สองกรณี

หนึ่ง B ตกน้ำตายเพราะ A ผลักและกด B ไว้ในน้ำ (A ‘ทำร้าย’ B)

สอง B ตกลงไปเอง แต่ A ไม่ยอมกระโดดลงไปช่วยทั้งที่ช่วยได้ (A ‘ปล่อยภัยร้ายให้ดำเนินไป’)

กรณีแรก A ฆ่า B ส่วนในกรณีที่สองนั้น A ปล่อยให้ภัยร้ายเกิดขึ้นโดยไม่ช่วยเหลือทั้งที่ช่วยได้

แม้ทั้งสองกรณีจะจบลงที่ความตายของ B เหมือนกัน แต่โดยสามัญสำนึก กรณีแรกผิดกว่ากรณีที่สองเยอะ ทุกวันนี้ศาลก็ใช้เส้นแบ่งทำนองนี้ในการตัดสินคดีความ แม้ในบางประเทศ ศาลจะชี้ว่า A ผิดในทั้งสองกรณี แต่บทลงโทษในกรณีที่สองจะเบากว่ากรณีแรกอยู่มาก

มีคนเถียงด้วยเหมือนกันว่า ‘การฆ่า’ และ ‘การปล่อยให้ตาย’ นั้นควรจะผิดเท่ากัน เพราะเป็นการเลือกให้อีกฝ่ายตายเหมือนกัน แต่ตัวอย่างที่นักจริยศาสตร์ยกขึ้นมาเพื่อทำให้ข้อถกเถียงนี้ยุติคือ

หนึ่ง A เห็น B ตกน้ำ แต่ไม่ช่วย แล้ว B ตาย

สอง A เห็น B ตกน้ำ แต่ไม่ช่วย และยังรีบหยิบปืนมายิง B แล้ว B ตาย  

ในทั้งสองกรณี ภัยร้ายล้วนเกิดขึ้นกับ B และผลลัพธ์สุดท้ายคือ B ตาย แต่คำอธิบายเดียวที่อธิบายสามัญสำนึกของเราได้ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ‘การฆ่า’ สร้างความแตกต่างในทางศีลธรรมอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นเลวร้ายและยอมรับไม่ได้มากขึ้น (นักจริยศาสตร์เขาเถียงกันอะไรอย่างนี้แหละครับ)

เมื่อสร้างเส้นแบ่งแล้ว Foot จึงสร้างหลักที่สามารถแก้ปัญหารถรางได้ หลักที่ว่าคือ ‘การทำร้าย’ ผิดกว่า ‘การปล่อยให้ภัยร้ายดำเนินไป’ ดังนั้น ในกรณีที่เราต้องเลือกระหว่างสองทางนี้ ให้เลือกทางหลังก่อน

หากต้องเลือกระหว่างสิ่งที่เหมือน (เช่น ทำร้าย vs ทำร้าย หรือ ปล่อยให้ภัยร้ายดำเนินไป vs ปล่อยให้ภัยร้ายดำเนินไป) ให้เลือกทางเลือกที่สร้างความเสียหายน้อยกว่า

เมื่อได้หลักเช่นนี้แล้ว การแก้ปัญหารถรางก็ดูจะไม่ใช่เรื่องยาก ในกรณีรถรางแบบดั้งเดิม คนขับต้องเลือกระหว่างการ ‘ฆ่าคน 1 คน’ กับ ‘ปล่อยให้ภัยร้ายเกิดกับคน 5 คน’ การเลือกทางหลังจึงสอดคล้องกับสามัญสำนึกตามสมมติฐาน

ในกรณีคนอ้วนบนสะพาน (หรือหมอมีทางเลือกฆ่าคนไข้เพื่อเอาอวัยวะไปแจก) การผลัก (ฆ่า) คนอ้วน 1 คนย่อมผิดมากว่าการ ‘ปล่อย’ ให้รถรางวิ่งต่อไปทับคน 5 คน ดังนั้น

การเลือกไม่ผลักคนอ้วนจึงสอดคล้องกับสามัญสำนึกตามสมมติฐานมากกว่า

และ Foot ก็ปิดฉากปัญหารถรางด้วยหลักนี้ 

ปัญหาเส้นแบ่งที่พร่าเลือน

อันที่จริง นักจริยศาสตร์ในปัจจุบันเห็นว่าข้อเสนอแก้ปัญหาดังกล่าวในงานตีพิมพ์ของ Foot นั้นมีปัญหาอยู่หลายประการ

หนึ่งในปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือ เส้นแบ่งระหว่าง ‘การฆ่า’ กับ ‘การปล่อยให้ภัยร้ายดำเนินไป’ นั้นไม่สามารถนิยามได้อย่างเด็ดขาดชัดเจน (indeterminate)

เช่น สมมติแม่ลูกอ่อนคนนึง ไม่ป้อนข้าวลูกทารกตัวเองจนเด็กตาย แบบนี้ถือเป็นการฆ่าหรือปล่อยให้ตายเท่านั้น?

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะนิยามที่เด็ดขาดชัดเจนถือเป็นเงื่อนไขชี้เป็นชี้ตายที่นักจริยศาสตร์ใช้ตัดสินว่าข้อเสนอแก้ปัญหาใดๆ ประสบผลสำเร็จหรือไม่

นอกจากนี้ กรณีการบริหารจัดการนโยบายและการตัดสินใจในโลกจริงจำนวนมากเป็นกรณีสีเทาทำนองนี้

เช่น รัฐบาลต้องตัดสินใจระหว่าง (A) ตัดงบช่วยเหลืออุทกภัยตามธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ปีหน้ามีคนตาย 1,000 คน เพื่อ (B) เอาเงินไปลงทุนในโรงพยาบาลใหม่ที่จะช่วยชีวิตคนได้ 10,000 คน คำถามคือการทำ A ของรัฐบาลถือเป็นการฆ่า หรือการปล่อยให้คน 10,000 คนตาย?

หากคำตอบเป็นแบบหลัง รัฐบาลก็สามารถทำตามนโยบายนี้ได้ แต่หากเป็นการฆ่าก็จะเท่ากับรัฐบาลทำผิด เพราะเป็นการทำร้ายคนแม้จะสูญเสียจำนวนน้อยกว่าก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อขีดเส้นชัดไม่ได้ ก็ตอบเรื่องนี้ไม่ได้

เรื่องนี้นำไปสู่ดีเบตใหญ่อีกเรื่องว่า เราจะนิยามความแตกต่างระหว่างการทำร้ายกับการปล่อยให้ภัยร้ายดำเนินไปอย่างไร

ข้อสรุปที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน นิยาม ‘การทำร้าย’ ว่าหมายถึงการละเมิดสิทธิเชิงลบ (one intruding into the entitled, proper sphere of another) และนิยาม ‘การปล่อยภัยร้ายให้ดำเนินไป’ ว่าเป็นการปฏิเสธสิทธิเชิงบวก (one failling to employ a mean under one’s entitled, proper sphere to aid another)

เรื่องนี้ต้องอธิบายกันอีกยาว แต่เอาเป็นว่าแม้นิยามนี้แก้ปัญหาไปได้มาก แต่ก็ไม่หมดจดอยู่ดี

การตัดสินใจในฐานะบุคคลที่สาม: ปัญหาที่หลักการของ Foot ไม่อาจแก้ได้

สำหรับ Foot ปัญหาเส้นแบ่งที่พร่าเลือนอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่เพราะเขาอาจบอกได้ว่า หลักของเขาแก้ปัญหารถรางได้แล้ว เพียงแต่เรายังไม่สามารถนิยามตีเส้นแบ่งข้างต้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันและเป็นอีกดีเบตหนึ่งที่ต้องแยกต่างหาก

แต่ต่อให้ตอบแบบนี้ ข้อเสนอของ Foot ก็ต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่อีกเรื่อง นั่นคือกรณีรถรางรูปแบบที่สาม

Judith Thomson อีกหนึ่งนักปรัชญาที่ถือเป็นหัวหอกในเรื่องปัญหารถรางเสนอ รูปแบบรถรางแบบที่สามนี้ (ซึ่งต่อมากลายเป็นรูปแบบที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันในปัจจุบัน) เมื่อปี 1985 (Killing, Letting Die, and the Trolley Problem)

กรณีรถรางมาตรฐานที่เราไม่ใช่คนขับ (Bystander’s two options case): รายละเอียดเหมือนปัญหารถรางรูปแบบที่ 1. แต่เปลี่ยนเราในฐานะผู้ตัดสินใจ ให้เป็นคนที่เดินมาเห็นเหตุการณ์และยืนอยู่หน้าคันโยกสับราง แทนที่จะเป็นคนขับเช่นเดิม

รูปแบบนี้ถูกนำเสนอเพื่อล้มข้อเสนอของ Foot โดยตรง

Thomson ชี้ว่า หากเราเปลี่ยนตัวละครที่โยกคันเร่งจาก ‘คนขับ’ เป็น ‘คนภายนอก’ (bystander) ข้อเสนอของ Foot จะไม่สามารถรองรับอธิบายสามัญสำนึกของเราได้ต่อไป เพราะหากมองจากหลักที่ว่า เราในฐานะบุคคลภายนอกมีสองทางเลือก ระหว่าง

หนึ่ง ‘ปล่อย’ ให้รถรางวิ่งไปทับคน 5 คน กับ

สอง สับราง ‘ฆ่า’ คน 1 คน

หลักของ Foot ไม่ให้เราเลือกทางหลัง เพราะการฆ่าผิดกว่าการปล่อยให้ตาย ซึ่งสวนทางสมมติฐานคำตอบที่ถูกต้องตามสามัญสำนึก

การตัดสินใจในฐานะบุคคลที่สามเช่นนี้แหละ (เช่นการตัดสินใจโดยรัฐบาล) ที่เกิดขึ้นในโลกจริงมากกว่ากรณีดั้งเดิม ดังนั้น

จึงสรุปได้ว่าหลักของ Foot อนุญาต ‘น้อยไป’ ในหลายกรณี

เมื่อหลักของ Foot แก้ปัญหาไม่ได้ ปัญหารถรางก็เลยยังต้องวิ่งต่อไป

ก่อนจะไปสู่ข้อเสนอถัดไป คราวหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังถึงความพยายามใหญ่ของ Foot ในการปกป้องข้อเสนอของตน ซึ่งเคยนำไปสู่ข้อถกเถียงใหญ่อีกข้อ (แต่ได้ข้อสรุปแล้วว่าล้มเหลว) ครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save