fbpx

ฉายานี้ท่านได้แต่ใดมา? ทีมชาติคอสตาริกา เจ้าของฉายากล้วยหอม!

ฉายาทีมชาติ

หงส์แดง! ปีศาจแดง! สิงโตน้ำเงินคราม! ปืนใหญ่! และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนแต่เป็นฉายาสุดเท่ของทีมฟุตบอลที่คนไทยต่างจดจำได้อย่างดี หรือแม้แต่ทีมชาติต่างๆ ก็มีฉายาของตัวเองอย่าง สิงโตคำราม, อินทรีเหล็ก, กระทิงดุ หรือ ฟ้าขาว

แต่เป็นที่รู้กันดีว่าฉายาเหล่านี้เกินครึ่งเป็นฉายาที่รู้กันเฉพาะในหมู่คนไทย เนื่องจากฉายาจริงๆ ของพวกเขาไม่ได้ถูกเรียกด้วยความหมายเดียวกัน

ยกตัวอย่างในโลโก้ของทีมลิเวอร์พูล นกตัวนั้นในโลโก้ ไม่ใช่หงส์ หากแต่คือนกลิเวอร์เบิร์ด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองลิเวอร์พูล หรือ ทีมชาติอังกฤษที่มีฉายาว่า ทรีไลออนส์ (Three Lions) หรือสิงโตสามตัว ไม่ใช่ ไลออน รอร์อิง (Lion Roaring) แต่อย่างใด

ทั้งนี้ต้องยกความดีความชอบให้สื่อมวลชนสายกีฬารุ่นเก๋าๆ หลายๆ ท่าน ที่สามารถคิดฉายาออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม แม้จะไม่ตรงกับฉายาจริงๆ ของพวกเขา แต่ก็สื่อความหมายออกมาได้น่าเกรงขาม และดูมีมนต์ขลังอย่างมาก อย่างไรก็ตามในบรรดาฉายาภาษาไทยของทีมฟุตบอลต่างๆ มันจะมีบางฉายาหากคิดตามก็อดจะรู้สึก ‘อิหยังวะ’ ไม่ได้เช่นกัน

หากคิดไวๆ ให้นึกถึงฉายา ‘จังโก’ ของทีมชาติเม็กซิโก ที่ไม่ได้เกี่ยวกับฉายาจริงๆ ของพวกเขาเลย หากแต่มาจากภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า ‘A man called Django’ (1966)  ซึ่งเป็นหนังดังในสมัยนั้น หรือฉายา ‘ฝอยทอง’ ของทีมชาติโปรตุเกส ที่ดูกำปั้นทุบดินอยู่ไม่น้อย และอาจดูไม่มีความน่าเกรงขามใดๆ เลย

หนึ่งในฉายาที่ อิหยังวะ คือ ฉายาทีมชาติคอสตาริกาที่มีฉายาเป็น กล้วยหอม ที่นอกจากจะไม่เกี่ยวกับฉายาจริงๆ ของพวกเขาแล้ว แถมยังไม่น่าเกรงขามอีกด้วย

ฉายานี้มันได้มาอย่างไร แล้วทำไมต้องเป็นกล้วยหอม?

คอสตาริกา ประเทศเล็กๆ ที่มีป่าไม้สมบูรณ์ที่สุดในโลก

คอสตาริกา เป็นประเทศเล็กๆ ที่ติดกับ ประเทศนิการากัว และ ประเทศปานามา ซึ่งมีพื้นที่เพียง 51,110 ตารางกิโลเมตร หากนำพื้นที่ประเทศคอสตาริกามาเทียบกับไทยที่มีพื้นที่ราว 513,000 ตารางกิโลเมตร เรียกได้ว่าเล็กกว่าเกือบ 10 เท่า ขณะที่ประชากรทั้งประเทศ ก็มีราว 5 ล้านคน หรือน้อยกว่าประเทศไทยกว่า 10 เท่าตัว

แต่สิ่งที่แลกกับการมีประชากรไม่มากของประเทศแห่งนี้ คือ การมีป่าไม้และพืชพันธุ์ที่อุดมสมบูรณ์อย่างมากโดยคอสตาริกา มีพื้นที่ป่าสงวนมากถึง 25% ของประเทศ

นอกจากนี้ คอสตาริกา ยังเป็นประเทศแรกในทวีปอเมริกาที่ออกกฎหมายห้ามล่าสัตว์ทุกชนิด และมูลนิธินิวอีโคโนมิค (NEF) ได้ประกาศให้เป็นประเทศที่มีความเขียวชอุ่ม หรือมีป่าไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดในโลกอีกด้วย

สิ่งที่น่าจะทำให้คนไทยรู้จักกับประเทศคอสตาริกามากที่สุด คือ ธงชาติที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย หากเพียงแต่สลับสีกับธงไตรรงค์เท่านั้น โดยธงชาติไทย จะเป็น แดง-ขาว-น้ำเงิน-ขาว-แดง ส่วนคอสตาริกา เป็น น้ำเงิน-ขาว-แดง-ขาว-น้ำเงิน

ความสับสนจากธงชาตินี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่หลายๆ ครั้งเราได้เห็นในโซเชียล หรือ แม้แต่สื่อต่างๆ ใช้ธงชาติสลับกับธงชาติไทย โดยล่าสุดก็เพิ่งเกิดขึ้นในฟุตบอลโลก 2022 ในการรายงานผลแมตช์ระหว่าง ญี่ปุ่น กับ คอสตาริกา ที่มีการใช้ธงผิดไปใช้ธงชาติไทยแทน

พื้นที่ของคอสตาริกา ถูกค้นพบโดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในปี 1502 ตามปกติแล้วพื้นที่นี้ จะเป็นพื้นที่ชายฝั่งที่มีเทือกเขาสูงอยู่ในประเทศ ทำให้ฝนตกชุกนับว่าเป็นผลดีต่อการเพาะปลูกและการทำการเกษตร

นั่นเองที่ทำให้ประเทศแห่งนี้ ขึ้นชื่อเรื่องการส่งออกผลผลิตทางการเกษตร ทั้ง กาแฟ, โกโก้, ใบยาสูบ และที่ขาดไม่ได้เลยคือ กล้วยหอม ซึ่งเป็นพืชพระเอกของบทความตอนนี้

‘กล้วยหอม’ ของดีคอสตาริกา

แม้จะเป็นชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องกล้วยหอม แต่คอสตาริกาไม่ใช่ชาติที่ส่งออกกล้วยหอมมากที่สุดในโลก เพราะจากสถิติการส่งออกเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา พวกเขายังส่งออกกล้วยหอมเป็นรองทั้ง เอกวาร์ดอร์ และ ฟิลิปปินส์

ที่เป็นเช่นนั้นอาจอธิบายได้ในเชิงภูมิศาสตร์ เนื่องจากพื้นที่ของ คอสตาริกา มีน้อยมากเพียง 51,100 ตารางกิโลเมตร และ 25% เป็นป่าสงวน ทำให้พื้นที่เพาะปลูกเหลือไม่มาก ยิ่งเมื่อเทียบกับเอกวาร์ดอร์ ที่มีพื้นที่ประเทศกว่า 283,000 ตารางกิโลเมตร หรือ ฟิลิปปินส์ ที่มีพื้นที่กว่า 343,000 ตารางกิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม การที่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่าประเทศที่กล่าวมาหลายเท่าตัว แต่ประเทศคอสตาริกายังมีอัตราการส่งออกที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และทำรายได้มากกว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี หมายความว่า อัตราการปลูกกล้วยหอมของคอสตาริกาต่อพื้นที่นั้นมากมายเสียเหลือเกิน

คอสตาริกา ส่งออกกล้วยราวๆ 2 เมตริกตัน หรือราว ๆ 2,000 ตัน ในแต่ละปี โดยปลายทางมีทั้งสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และ เอเชีย

ว่ากันว่ากล้วยหอมจากคอสตาริกา มีคุณสมบัติพิเศษหลายประการที่ไม่เหมือนกล้วยจากพื้นที่อื่นๆ ของโลก รวมถึงรสชาติดี ลูกใหญ่ หวาน และ อร่อย โดยปัจจัยที่ส่งเสริมให้กล้วยหอมคอสตาริกาพิเศษกว่าที่อื่นๆ ก็มีหลายอย่างทั้ง สภาพการเจริญเติบโตสภาพภูมิอากาศแบบเขตร้อน ดินที่อุดมสมบูรณ์ และปริมาณน้ำฝนที่อุดมสมบูรณ์ทำให้คอสตาริกาเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการปลูกกล้วย อีกทั้งสวนกล้วยส่วนใหญ่ยังอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลที่ราบต่ำซึ่งได้รับการปกป้องจากลมและพายุที่รุนแรง

นอกจากนี้ ทางการคอสตาริกายังส่งเสริมการปลูกกล้วยแบบจริงจังโดยใช้วิธีการแบบยั่งยืน ทำให้ผู้ปลูกกล้วยจำนวนมากใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และใช้วิธีการควบคุมศัตรูพืชรบกวนตามธรรมชาติ

ชาวไร่กล้วยปฏิบัติตามมาตรฐานคุณภาพทั้งหมดอย่างเข้มงวด เนื่องจากพวกเขารู้ดีว่า กล้วยที่คุณภาพดีจะนำมาสู่รายได้ที่มากขึ้น ทำให้กล้วยจากคอสตาริกามีคุณภาพสูงสุด แถมมาตรฐานเหล่านี้ครอบคลุมถึง การเก็บเกี่ยว การบรรจุ และการขนส่งกล้วยด้วย

เนื่องจากขึ้นชื่อเรื่องกล้วยหอมอย่างมาก ทำให้คอสตาริกายังมีการประยุกต์ทำอาหารจานกล้วยในหลายรูปแบบ อาทิ Patacones (กล้วยเขียวที่ยังไม่สุกหั่นเป็นชิ้นหนาบดให้เป็นเนื้อและทอด), Maduros (กล้วยหวานสุกแล้วทอดคาราเมล), Guineos en gloria (ของหวานจานกล้วย ทำจากกล้วยสุก หั่นเป็นชิ้นแล้วต้มกับน้ำตาลและอบเชย)

ทั้งหมดที่ว่ามาทำให้ ‘กล้วยหอม’ กลายเป็นของดี คอสตาริกา อย่างแท้จริง

‘ติกอส’ ฉายาที่แท้จริง

แม้คนไทยจะเรียกทีมชาติของประเทศคอสตาริกาด้วยฉายาอย่าง ‘กล้วยหอม’ แต่ในความจริงแล้วพวกเขามีฉายาที่แท้จริงอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ‘ลา เซเล่’ (ผู้ถูกเลือก), ‘ลา ตริโตลอร์’ (ชาติสามสี) แต่ฉายาที่เป็นที่รู้จักของพวกเขามากที่สุดคือ ‘ลอส ติกอส’ หรือ ‘ติโก’ ซึ่งเป็นฉายาที่ยากจะอธิบายความหมาย

‘ติกอส’ (ticos) หรือเป็นคำที่ชาวคอสตาริกาใช้เรียกตัวเอง ซึ่งไม่มีการแปลศัพท์คำนี้ออกมาอย่างเป็นทางการ หากแต่เป็นที่รู้กันว่าถ้าเป็นผู้ชายที่เกิดและเติบโตที่นี่จะถูกเรียกว่า ติกอส แต่เมื่อเป็นผู้หญิงจะถูกเรียกว่า ติกาส (ticas)

คำนี้ไม่ต่างจากที่คนอังกฤษเรียกตัวเองว่า ‘บริติช’ หรือ ‘บริตัน’ และคนตุรกี เรียกตัวเองว่า ‘ชาวเติร์ก’

นอกจากนี้ คำว่า ‘ติโก’ (tico) ซึ่งเป็นรากศัพท์ของ ติกอส (ticos) กับ ติกา (tica) ซึ่งเป็นรากศัพท์ของคำว่า ติกาส ยังถูกใช้เป็นคำลงท้ายศัพท์บางคำในประเทศคอสตาริกาด้วย อาทิ คำว่าแมวในภาษาสเปน คือคำว่า ‘gato’ แต่เมื่อเป็น ‘gatico’ จะแปลว่าแมวตัวเล็ก หรือ แมวน่ารัก ทั้งนี้เมื่อคำว่า ‘tico’ มาต่อท้ายคำไหน จะไม่ได้มีคำแปลตายตัว อย่างการที่ ‘tico’ มาต่อคำว่า azul ที่แปลว่าสีฟ้า ก็แปลว่า สีฟ้าจัดๆ ไม่ได้แปลว่าสีฟ้าน้อยๆ หรือ สีฟ้าน่ารักๆ แต่อย่างใด

คนคอสตาริกา ยังนิยมต่อท้ายคำศัพท์ต่างๆ ด้วยคำว่า ติโก หรือ ติกา ซึ่งทำให้วิธีการพูดของพวกเขาอาจจะแปลกๆ อยู่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับการพูดทั่วไป หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คงคล้ายๆ การที่คนสิงคโปร์ ต่อท้ายประโยคด้วยคำว่า ลา (Lah) นั่นเอง

กล้วยหอม จอมพลิกล็อค!

เมื่อ ‘กล้วยหอม’ กลายเป็นภาพจำของคอสตาริกา จึงไม่แปลกที่คำว่ากล้วยหอมถูกนำมาตั้งเป็นฉายาของทีมฟุตบอลทีมชาติคอสตาริกา ในเมื่อหากใช้คำทับศัพท์อย่าง ‘ติกอส’ อาจจะไม่ได้สื่อความหมายสำหรับแฟนๆ ชาวไทยมากขนาดนั้น แถมยังยากต่อการอธิบายด้วย

ฉายากล้วยหอมคอสตาริกา น่าจะเป็นที่รู้จักของใครหลายๆ คนในฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล เมื่อพวกเขาต้องอยู่ร่วมในกรุ๊ป ออฟ เดธ (group of death) กับมหาอำนาจลูกหนังอีก 3 ชาติทั้ง อังกฤษ, อิตาลี และ อุรุกวัย ในรอบแรกกลุ่ม D

ในตอนแรก ใครๆ ก็คิดว่า คอสตาริกาเป็นเพียงทีมไม้ประดับที่พร้อมจะแจกแต้มกับทุกชาติที่พวกเขาลงเล่นด้วย และจะเป็น อิตาลี, อังกฤษ กับ อุรุกวัย ที่ต้องแย่งกันเข้ารอบในท้ายที่สุด

แต่ในปีนั้นคอสตาริกาที่สร้างเซอร์ไพร์ส ไม่แพ้ใครตลอดรอบแบ่งกลุ่มโดยเอาชนะทั้ง อุรุกวัย, อิตาลี ก่อนมาเสมออังกฤษ คว้าแชมป์กลุ่ม D ไปครองหลังเก็บได้ถึง 7 คะแนน พร้อมส่งอดีตแชมป์โลกทั้ง อังกฤษและอิตาลี ตกรอบแบ่งกลุ่มอย่างเหนือความคาดหมาย

เท่านั้นยังไม่พอ คอสตาริกา ยังไปน็อคกรีซ ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายในการดวลจุดโทษ หลังเสมอกัน 1-1 ก่อนไปจบเส้นทางในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ด้วยการดวลจุดโทษแพ้ เนเธอร์แลนด์ 3-4 หลังเสมอกันในเวลา 0-0

แต่เท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่พวกเขาจะได้รับการขนานนามใหม่จากสื่อไทย ด้วยการอวยยศเพิ่มให้จากเดิมคือ กล้วยหอม (เฉยๆ) กลายมาเป็น กล้วยหอมจอมพลิกล็อค!

โดยหลังจากนั้น ชาติที่มีพื้นที่เพียง 1 ใน 10 ของไทยและมีประชากรเพียง 5 ล้านคน ยังเป็นขาประจำของฟุตบอลโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งในปี 2018 และ 2022 และพวกเขาก็ตั้งเป้าที่จะเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก 2026 ที่สหรัฐอเมริกา จับมือกับ เม็กซิโกและแคนาดา เป็นเจ้าภาพด้วย

ถึงตอนนั้นเราอาจจะได้เห็น กล้วยหอมจอมพลิกล็อค แผลงฤทธิ์อีกทีก็ได้


อ้างอิง

WHY COSTA RICAN ARE CALLED TICOS AND TICAS

Discovering the World of Banana Plantations in Costa Rica

Bananas in Costa Rica

The Banano de Costa Rica Geographical Indication: Supporting Environmental Sustainability

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save