fbpx

ลิเวอร์พูล-เอฟเวอร์ตัน: คู่แข่งและคู่แค้นที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความเห็นต่าง

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา: วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

‘เมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี’ เป็นชื่อที่แฟนฟุตบอลชาวไทยล้วนต้องเคยได้ยินมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะมันเป็นเกมการเจอกันระหว่างทีม ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล กับ ‘ท็อฟฟีสีน้ำเงิน’ เอฟเวอร์ตัน สองยอดทีมจากศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษ และนั่นเองที่ทำให้เรื่องนี้น่าจะเป็นหนึ่งในเรื่องยากที่สุดที่ The Rivalry จะเล่าถึง เพราะเป็นหนึ่งในเรื่องราวคลาสสิกที่น่าจะมีแฟนบอลรู้จักกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งด้วย

แน่นอนว่าชื่อ ‘เมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี’ ย่อมเป็นที่คุ้นหูและเป็นที่เข้าใจกันดีในบรรดาแฟนบอล แต่อีกชื่อเรียกที่เป็นการเจอกันของทั้งสองสโมสรแห่งเมืองลิเวอร์พูลซึ่งอาจจะไม่คุ้นหูเท่าไหร่ นั่นคือชื่อว่า ‘เฟรนด์ลีย์ ดาร์บี’ หรือ เกมดาร์บีแห่งมิตรภาพ เพราะสโมสรทั้งสองแห่งมีความสัมพันธ์ค่อนข้างพิเศษต่างจากสโมสรอื่นๆ โดยเฉพาะการที่แฟนบอลบางกลุ่มเป็นเพื่อนที่เติบโตร่วมกันมาแต่ดันบังเอิญเชียร์บอลคนละทีม หรือที่แนบแน่นกว่านั้นคือมีหลายครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นแฟนบอลของทั้งสองทีมแต่อยู่ร่วมกันได้

เมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บีจึงมีความเป็นทั้งคู่แข่ง คู่ปรับ และมีมิตรภาพแนบแน่น ชนิดที่แฟนบอลกอดคอกันเดินกลับบ้านได้หลังเกมจบ ซึ่งต่างจากคู่ปรับที่เราเล่ามาใน The Rivalry เรื่องอื่นๆ อย่างชัดเจน การเจอกันของเอฟเวอร์ตันกับลิเวอร์พูลสะท้อนภาพที่น่ารักออกมาในหลายๆ ครั้ง ซึ่งเป็นภาพอย่างที่กีฬาควรจะเป็นในมุมมองสากล

อย่างไรก็ตามถึงจะบอกว่าเป็นเฟรนด์ลีย์ ดาร์บี แต่ก็ใช่ว่าการเจอกันของสองทีมนี้จะไม่ดุเดือดและปราศจากการกระทบกระทั่งกันอย่างสิ้นเชิง แม้แฟนบอลจะเป็นมิตรกันในระดับหนึ่งแต่พวกเขาก็ใช่ว่าจะรักกันขนาดนั้น ความหมั่นไส้ที่แฟนบอลคู่อริควรจะมีก็ยังคงอยู่ และความปรารถนาที่จะไม่เห็นอีกฝ่ายได้ดิบได้ดีก็ยังคงเต็มเปี่ยม

หากจะยกตัวอย่างไวๆ และเป็นตัวอย่างที่ใครหลายคนน่าจะจดจำได้ดีและไม่ต้องย้อนไปไกลมาก คือเมื่อฤดูกาล 2018-2019 ที่ลิเวอร์พูลนำแมนฯ ซิตีในช่วงสิ้นปี 2018 อยู่ 7 คะแนน ก่อนที่ในช่วงท้ายฤดูกาลทีม ‘เรือใบสีฟ้า’ จะโชว์ฟอร์มเทพ เก็บชัย 14 นัดติด แซงคว้าแชมป์ไปในบั้นปลาย

ในฤดูกาลนั้นเกมสุดท้ายที่ทีม ‘หงส์แดง’ สะดุดจนส่งผลให้แมนฯ ซิตีแซงขึ้นไปนำจ่าฝูงก่อนจะคว้าแชมป์ในบั้นปลายคือเกมที่ลิเวอร์พูลไปเสมอที่กูดิสัน ปาร์ก สนามเหย้าของเอฟเวอร์ตันมา 0-0 ซึ่งแฟนๆ ท็อฟฟีสีน้ำเงินยังคงภาคภูมิใจมาจนถึงทุกวันนี้ที่มีส่วนทำให้คู่ปรับของพวกเขาพลาดแชมป์พรีเมียร์ลีก (แม้สุดท้ายหงส์แดงจะมาสิ้นสุดการรอคอยแชมป์ลีกยาวนาน 30 ปีในฤดูกาลถัดมาก็ตาม)

จากที่เกริ่นมาทั้งหมดอาจทำให้พอเห็นภาพคร่าวๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างเอฟเวอร์ตันกับลิเวอร์พูลกันบ้างแล้ว และหลังจากนี้คือเรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งสองสโมสรที่พยายามย่อให้กระชับที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

จาก ‘เซนต์โดมิงโก เอฟซี’ สู่สโมสร ‘เอฟเวอร์ตัน’

ณ หัวมุมของถนนเบร็กฟิลด์เหนือ ในเขตเอฟเวอร์ตัน เมืองลิเวอร์พูล มีโบสถ์เซนต์โดมิงโกเมโธดิสต์เปิดขึ้นในปี 1871 บนอาคารเก่าแก่ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี 1758

ต่อมาเมื่อเบน สวิฟต์ แชมเบอร์ส ได้รับตำแหน่งศาสนาจารย์หรือบาทหลวงในโบสถ์แห่งนี้เมื่อปี 1877 เขาสร้างทีมคริกเก็ตสำหรับเยาวชนในพื้นที่ แต่เนื่องจากคริกเก็ตเล่นเฉพาะในฤดูร้อน จึงมีที่ว่างสำหรับกีฬาอื่นในช่วงฤดูหนาว ดังนั้นสโมสรฟุตบอลที่มีชื่อว่าเซนต์โดมิงโก เอฟซี จึงถูกก่อตั้งขึ้นในปีถัดมา

หลังจากเกมนัดแรกของสโมสรเซนต์ โดมิงโก เอฟซี จบลงด้วยชัยชนะเหนือสโมสรโบสถ์เอฟเวอร์ตัน (Everton Church Club) หลายคนที่ไม่ได้เข้าร่วมโบสถ์สนใจจะเข้าร่วมสโมสรฟุตบอลของโบสถ์ ทำให้เริ่มมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนชื่อสโมสรประจำโบสถ์แห่งนี้ให้เป็นทางการขึ้น

ความคิดในการเปลี่ยนแปลงชื่อดังกล่าวถูกทำจนสำเร็จในปี 1879 หลังการประชุมที่โรงแรมควีนส์เฮด สโมสรมีมติเปลี่ยนชื่อจากเซนต์โดมิงโก เอฟซี เป็นเอฟเวอร์ตัน เอฟซี ตามชื่อบริเวณโดยรอบ การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากชาวเมืองอย่างมาก โดยทางบาร์เกอร์ แอนด์ ด็อบสัน ผู้ผลิตขนมหวานในท้องถิ่น เปิดตัวลูกอม ‘เอฟเวอร์ตัน มินต์’ เพื่อเป็นเกียรติแก่สโมสร และนั่นเองที่ทำให้ฉายาของสโมสรแห่งนี้คือ ‘ท็อฟฟี่’ มาจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่โลโกของสโมสรเอฟเวอร์ตันที่เราคุ้นหูคุ้นตากันว่าเป็นรูปหอคอยทรงกระบอกแล้วมีหลังคารูปสามเหลี่ยมนั้น มาจากย่านเอฟเวอร์ตัน ล็อกอัป หรือที่ชาวบ้านในท้องที่เรียกว่าพรินซ์ รูเพิร์ตส์ ทาวเวอร์นั่นเอง

แรกเริ่มเดิมทีเอฟเวอร์ตันลงเล่นในสวนสาธารณะสแตนลีย์ปาร์ก จนกระทั่งในปี 1882 มีคำพิพากษาบังคับให้เอฟเวอร์ตัน ต้องลงเล่นเกมของพวกเขาในพื้นที่ปิด ในช่วงนั้นทีม ‘ท็อฟฟี่’ แก้ปัญหาด้วยการเช่าสนามนอกถนนไพรเออรีเป็นรังเหย้า ก่อนจะถูกขอให้ย้ายออกไป ทำให้จอห์น ฮูลดิงตัดสินใจซื้อสนามแอนฟิลด์เป็นสิทธิ์ของเขาแบบ 100% และให้ทีมเอฟเวอร์ตันเช่าใช้งานเป็นสนามเหย้า โดยเกมแรกที่ทีมลงเล่น ก็สามารถเอาชนะเอิร์ลส์ทาวน์ไปได้ 5-0 ในวันที่ 28 กันยายน 1884

แต่เพียงไม่ถึง 7 ปีหลังจากนั้น ความสัมพันธ์ของฮูลดินกับเอฟเวอร์ตันก็มีอันต้องสิ้นสุดลง และในขณะเดียวกันสโมสรแห่งใหม่ที่จะมาแย่งสปอร์ตไลท์ของทีม ‘ท็อฟฟี่’ ในเมืองนี้อย่างลิเวอร์พูลก็ปรากฏตัวขึ้น

จากการมาของ ‘จอห์น ฮูลดิง’ สู่การก่อตั้ง ‘ลิเวอร์พูล’

มีเรื่องเล่าหลายทางเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจอห์น ฮูลดิงกับสโมสรเอฟเวอร์ตัน โดยทางหนึ่งเล่าไปถึงความขัดแย้งกันเกี่ยวกับมุมมองทางการเมือง และอีกเรื่องคือความขัดแย้งกันในแง่ของผลประโยชน์ ไม่มีใครรู้ว่าความขัดแย้งอันเป็นจุดเริ่มต้นของลิเวอร์พูล คู่ปรับตลอดกาลของเอฟเวอร์ตันคือเรื่องอะไรกันแน่ และไม่แน่ว่าอาจจะเป็นไปเพราะเหตุผลทั้งสองอย่างประกอบกันเลยก็ได้

ในทางแรกเล่าเรื่องปัญหาทางการเมือง โดยบอกว่าบอร์ดบริหารของเอฟเวอร์ตันในช่วงเวลานั้น ส่วนมากเป็นสมาชิกของพรรคเสรีนิยม (Liberal Party) ซึ่งกำลังดำเนินนโยบายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับกลุ่ม NTF หรือ National Temperance Federation ขณะที่จอห์น ฮูลดิงนั้นยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามอย่างชัดเจน

นอกจากฮูลดิงจะเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) แล้ว เขายังมีธุรกิจในแง่กิจการโรงเบียร์และผู้ผลิตเบียร์ด้วย ดังนั้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มบอร์ดสโมสรเอฟเวอร์ตัน นอกจากขัดต่ออุดมการณ์ของเขาแล้ว ยังขัดต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจด้วย ทำให้เขาไม่พอใจและขอให้สโมสรย้ายออกไปจากสนามของเขา

ขณะที่เรื่องราวในอีกแง่มุมหนึ่งบอกเล่าเรื่องราวต่างออกไป โดยเล่าว่าฮูลดิงพยายามเก็งกำไรที่ดินจากสโมสรเอฟเวอร์ตัน หลังจากที่เขาให้เช่าสนามแอนฟิลด์ ซึ่งเขาซื้อมาเป็นสิทธิ์ขาดของเขาแบบ 100% ในช่วงเวลาราว 1 ปี หลังจากที่สโมสรย้ายเข้าไปใช้งาน

ฮูลดิงซื้อที่ดินที่ถนนแอนฟิลด์จากจอห์น ออร์เรลล์ เพื่อนผู้ผลิตเบียร์ของเขา ฮูลดิงต้องการให้สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันซื้อที่ดินของเขา หากข้อเสนอของเขาได้รับการยอมรับ ฮูลดิงคงสามารถทำเงินได้มากมายจากการขายที่ดิน แต่บอร์ดบริหารสโมสรหลายคนไม่เห็นด้วย จนนำมาสู่การประชุมกันของสมาชิก 279 คนของสโมสรในเดือนมกราคม 1892

ไม่ว่าเหตุผลข้อไหนจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ผลที่เกิดขึ้นมานั้นตรงกันคือสโมสรเอฟเวอร์ตันย้ายออกจากสนามแอนฟิลด์ในเดือนมีนาคมปี 1892 โดยเป้าหมายของพวกเขาคือสนามกูดิสัน ปาร์ก ที่อยู่ทางตอนเหนือของสวนสาธารณะสแตนลีย์ปาร์ก ซึ่งสนามแห่งนี้ก็กลายเป็นรั้งเหย้าของทีม ‘ท็อฟฟี่สีน้ำเงิน’ มาจวบจนปัจจุบัน

ขณะที่ฮูลดิงที่ถูกทิ้งให้อยู่กับสนามฟุตบอลอันว่างเปล่าของเขา ก็คิดว่าทางเดียวที่เหมาะสมที่ควรจะทำคือตั้งสโมสรฟุตบอลขึ้นมาใหม่ ในตอนแรกสโมสรแห่งนี้เกือบได้ชื่อว่าเอฟเวอร์ตัน แอธเลติก แต่สมาคมฟุตบอลของอังกฤษหรือเอฟเอไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อนี้เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับสโมสรเดิมมากเกินไป และชื่อใหม่ที่ถูกใช้จนกลายเป็นชื่อที่อมตะในปัจจุบันคือ ‘ลิเวอร์พูล เอฟซี’ และลงเล่นเกมแรกในนามสโมสรด้วยการกระชับมิตรกับร็อตเธอร์แฮม ทาวน์ ในวันที่ 1 กันยายน 1892

ด้วยเหตุนี้จอห์น ฮูลดิงจึงกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งสโมสรลิเวอร์พูล และสโมสร ‘หงส์แดง’ ก็ตั้งรูปปั้นทองแดงครึ่งตัวของเขาไว้ที่หน้าสนามแอนฟิลด์เมื่อเดือนพฤจิกายน 2018 ในวาระครบรอบ 125 ปีของสโมสรด้วย

จาก ‘เมอร์ซีไซด์ ดาร์บี’ สู่การเรียกขานในนาม ‘เฟรนด์ลีย์ ดาร์บี’

เมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บีต่างจากดาร์บีแมตช์อื่นๆ ในแต่ละท้องถิ่นที่เวลาทั้งสองทีมที่เป็นคู่ปรับร่วมเมืองเจอกันจะมีการปะทะกันของแฟนบอลให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง บ้างก็กลายเป็นจลาจลขนาดย่อม ซึ่งหากได้ติดตาม The Rivalry ในหลายตอนที่ผ่านมาก็จะรู้ว่านั่นแทบจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาของเกมที่มีสองสโมสรหรือสองทีมที่เป็นคู่ปรับกันมาเจอกัน

แต่เมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บีถูกเรียกขานในอีกชื่อหนึ่งว่าเฟรนด์ลีย์ ดาร์บีด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ โดยประการแรกที่เด่นชัด คือการที่สโมสรทั้งลิเวอร์พูลและเอฟเวอร์ตันไม่มีเส้นแบ่งความแตกแยกที่ชัดเจนใดๆ ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ การเมือง สังคม หรือแม้กระทั่งศาสนา นอกจากนี้งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่ในปี 2013 ยังเปิดเผยว่าแฟนบอลของทั้งสองสโมสรมีท่าที่ทางการเมืองคล้ายคลึงกันอย่างมากด้วย

นอกจากนี้ทั้งเอฟเวอร์ตันและลิเวอร์พูลยังมีที่ตั้งใกล้กันมากเกินไป โดยหากนับระยะทางที่สั้นที่สุดที่เดินตัดสวนสาธารณะสแตนลีย์ปาร์กที่คั่นสนามทั้งสองแห่งไว้ ระยะทางเดินเท้าระหว่างสนามทั้งสองแห่งห่างกันเพียงแค่ 1 กิโลเมตร หรือราว 10-15 นาที ในการเดินเท่านั้น

นั่นหมายความว่าหากทั้งลิเวอร์พูลและเอฟเวอร์ตันลงเล่นในบ้านวันเดียวกันแต่คนละเวลา ยกตัวอย่างลิเวอร์พูลเตะบ่าย 3 เวลาท้องถิ่น ขณะที่เอฟเวอร์ตันเตะ 5 โมงครึ่ง แฟนบอลคนหนึ่งที่อยากดูเกมทั้งสองนัดก็จะสามารถเดินจากแอนฟิลด์หลังเกมของลิเวอร์พูลจบลงเพื่อไปยังสนามกูดิสันปาร์กได้ทันเวลาก่อนเริ่มเกมของ ‘ท็อฟฟี่สีน้ำเงิน’ แบบไม่ต้องรีบเลยด้วยซ้ำ!

ขณะเดียวกันทั้งสองสโมสรยังมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างดี โดยเฉพาะเวลาที่อีกสโมสรต้องประสบพบเจอกับความยากลำบาก อาทิ ในช่วงหลังโศกนาฏกรรมที่ฮิลล์โบโร แฟนบอลเอฟเวอร์ตันก็มีส่วนร่วมในการบอยคอตต์หนังสือพิมพ์เดอะซันที่ตีข่าวภายใต้พาดหัวว่า ‘ความจริง (The Truth)’ โดยกล่าวหาว่าแฟนบอลลิเวอร์พูลเป็นสาเหตุที่ทำให้แฟนบอลเสียชีวิตถึง 96 รายเนื่องจากการกระทำของพวกเขาเอง

ขณะที่ในเหตุการณ์การฆาตกรรมรีส โจนส์วัย 11 ขวบ ในปี 2007 ซึ่งเด็กน้อยคนนี้เป็นเอฟเวอร์โตเนียนพันธุ์แท้ ข้อพิสูจน์คือการที่เขาถือตั๋วปีของทีม ‘ท็อฟฟี่’ โดยหลังเกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้น สโมสรลิเวอร์พูลจัดการเชิญพ่อแม่และพี่ชายของเจ้าหนูรีสมาที่แอนฟิลด์เพื่อชมการแข่งขันในเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก พร้อมกันนั้นก็เปิดเพลง Z-Cars เพลงธีมที่แฟนๆ เอฟเวอร์ตันคุ้นเคย พร้อมกันนั้นแฟนบอล ‘หงส์แดง’ ยังมีการยืนปรบมือพร้อมกับร้องเพลง You’ll Never Walk Alone ให้ด้วย

จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองสโมสร แม้จะเป็นคู่แข่งขันกันในสนาม แต่หลังเกมจบลง ความสัมพันธ์ของพวกเขาก็ค่อนข้างแน่นแฟ้น ต่างจากอริคู่อื่นๆ ที่เคยเล่ามาเกือบทั้งหมด

จาก ‘ใต้เงาท็อฟฟี’ สู่ ‘ใต้ปีกหงส์แดง’

แม้จะขึ้นชื่อว่า ‘เฟรนด์ลีย์ ดาร์บี’ ที่แฟนบอลมีความเป็นมิตร และบางครั้งก็เป็นครอบครัวเดียวกันด้วย แต่สิ่งที่คู่ปรับร่วมเมืองคู่นี้ยังมีเหมือนกับคู่ปรับคู่อื่นๆ คือความไม่ยอมกัน เกมในสนามที่ค่อนข้างดุเดือดเป็นเกมที่มีอะไรมากกว่าการแข่งขันฟุตบอลอย่างเดียวเสมอ

ลิเวอร์พูลพบกับเอฟเวอร์ตันในสนามครั้งแรกเมื่อ 13 ตุลาคม 1894 นับแต่นั้นมาทั้งสองทีมก็เจอกันอีกกว่า 200 นัดไปแล้ว

โดยในช่วงแรกของการเจอกันไปจนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นฝั่งเอฟเวอร์ตันที่ทำได้ดีกว่าด้วยการครองสถิติเป็นผู้ที่เก็บชัยชนะได้มากกว่าในการเจอกัน แต่สถิตินั้นก็โดนบีบเข้ามาในยุคทศวรรษที่ 60 ก่อนที่ลิเวอร์พูลจะแซงหน้าไปได้ในช่วงทศวรรษที่ 80 ที่ ‘หงส์แดง’ ได้ยอดโค้ชอย่างบิลล์ แชงก์ลีย์และบ็อบ เพรสลีย์มาคุมทีม ซึ่งในขณะนั้นทางเอฟเวอร์ตันก็มีทางฮาเวิร์ด เคนดัลคุมทีม ซึ่งเขานี่เองที่เป็นผู้จัดการทีมคนสุดท้ายของ ‘ท็อฟฟี่สีน้ำเงิน’ ที่มีโอกาสพาทีมชูถ้วยแชมป์ลีกสูงสุด

หลังจากหมดยุค 80s เอฟเวอร์ตันที่เคยถือสถิติเหนือกว่าลิเวอร์พูลในเกมเมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี ก็ต้องกลายมาเป็นเบี้ยล่าง และคอยไล่ตามหลังคู่ปรับร่วมเมืองทีมนี้อยู่บ่อยครั้งไป แต่บทบาทที่สำคัญของพวกเขาก็ยังมีหน้าที่ค่อยขัดแข้งขัดขาและทำให้ทีม ‘หงส์แดง’ ต้องเจอกับความยากลำบากอยู่เสมอในทุกเกมที่พวกเขาเจอกัน

จากอดีตกว่าร้อยปีสู่ปัจจุบันของความขัดแย้ง

ถึงตรงนี้ความสัมพันธ์ระหว่างเอฟเวอร์ตันกับลิเวอร์พูลอาจจะเรียกว่าความขัดแย้งไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะหากคิดภาพตามว่า หากคนในครอบครัวเดียวกันเชียร์ฟุตบอลกันคนละทีม ภาพที่ออกมาจะเป็นอย่างไร? คำตอบที่ได้คงหนีไม่พ้นภาพน่ารักๆ อย่างการแซวกัน บลัฟกัน แต่คงไม่ใช่การทะเลาะกันแบบเอาเป็นเอาตาย

นี่คือภาพของเมอร์ซีไซด์ ดาร์บีที่เป็นมาตลอดนับแต่อดีต และน่าจะเป็นต่อไปในอนาคตสำหรับแฟนบอลของทั้งสองทีม ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่เกมการเจอกันของทั้งคู่จะถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘เฟรนด์ลีย์ ดาร์บี’

แน่นอนว่าสำหรับนักเตะ อย่างไรเกมดาร์บีก็ยังเป็นดาร์บีวันยันค่ำ เพราะนับตั้งแต่มีการก่อตั้งพรีเมียร์ลีกในปี 1992 เกมระหว่างเอฟเวอร์ตันกับลิเวอร์พูลมีการลงสนามเล่นกันไปทั้งหมด 62 เกม มีประตูรวมกัน 140 ประตู และที่สำคัญคือมีใบแดงไปถึง 22 ใบ!!

นั่นหมายความว่าทุกๆ 1 ใน 3 เกมที่พวกเขาลงสนามต้องมีใบแดงอย่างน้อย 1 ใบ ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เยอะมากจนได้ขึ้นชื่อว่าเมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี เป็นเกมดาร์บีแมตช์ที่สกปรกที่สุดเกมหนึ่งในวงการฟุตบอลอังกฤษ และใบแดงที่เกิดขึ้นบางส่วนในเกมนี้ก็มาจากการเล่นนอกเกมแบบน่าเกลียดอย่างการชกต่อย เตะ หรือเหยียบใส่กันด้วย

แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี คือไม่แน่ว่าเราจะได้เห็นเกมนี้เล่นกันอีกนานแค่ไหน?

เพราะในปัจจุบันสถานการณ์ของเอฟเวอร์ตันถือว่าน่าเป็นห่วง หลังต้องลุ้นหนีตกชั้นในศึกพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ และหากพวกเขาตกชั้นในบั้นปลายจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าต้องรออีกถึงเมื่อไหร่กว่าจะได้เห็นเกม ‘เมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี’ อีกครั้ง…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save