fbpx
แมนฯ ยูไนเต็ด vs ลิเวอร์พูล : คู่แข่งทางเศรษฐกิจที่กลายมาเป็นคู่ปรับตลอดกาล

แมนฯ ยูไนเต็ด vs ลิเวอร์พูล : คู่แข่งทางเศรษฐกิจที่กลายมาเป็นคู่ปรับตลอดกาล

คอลัมน์ The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

 

 

สมศักดิ์ จันทวิชชประภา เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

เมื่อคืนที่ผ่านมา ผลการแข่งขันในเกม ‘แดงเดือด’ จบลงด้วยสกอร์ 0-0 และดูเหมือนบทสรุปศึกพรีเมียร์ลีกน่าจะยังไม่จบลงง่ายๆ แต่ที่แน่ๆ คือเรื่องราวของความเป็น ‘คู่แข่ง’ และ ‘ศัตรู’ ของทั้งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล ยังดำเนินต่อไป จากจุดนี้เองที่เราน่าจะย้อนไปดู ‘จุดเริ่มต้น’ ของเรื่องราวการเผชิญหน้ากันของทั้งคู่ กับประวัติศาสตร์ที่ต้องย้อนอดีตไปหลายร้อยปี

ระยะทางราว 56 กิโลเมตร บนถนนสาย M62 เชื่อมเมืองชื่อดังสองแห่งในตอนเหนือของประเทศอังกฤษอย่างลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ เข้าไว้ด้วยกัน แต่ระยะทางแค่นั้นไม่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ให้เมืองทั้งสองสนิทชิดเชื้อและแนบแน่นได้ดังเส้นทางที่ใกล้กันผ่านถนนสายดังกล่าว

ไม่มีใครทราบระยะเวลาแน่นอนที่ทั้งสองเมืองตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กัน แต่จากข้อมูลที่พอจะหาและอ้างอิงได้ เชื่อว่าความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เลยทีเดียว และนับจากนั้นเป็นต้นมา ก็ทำให้ชาวสเกาเซอร์ และ แมนคูเนียน มีมุมมองต่อกันฉันท์คู่แข่ง มากกว่ามิตรสหาย

จุดเริ่มต้นดังกล่าววิวัฒนาการมาสู่การแข่งขันในยุคปัจจุบัน แม้การแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นนั้นได้เบาบางและสร่างซาไปตามกาลเวลา แต่การแข่งขันในยุคสมัยใหม่ก็ยังทำให้ชาวเมืองลิเวอร์พูลและชาวเมืองแมนเชสเตอร์ ยังคงตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเรื่อยมา และดูเหมือนว่า การเผชิญหน้ากันของทั้งสองเมืองจะเป็นเรื่องราวที่โด่งดังกว่าจุดเริ่มต้นของพวกเขาเสียอีกนั่นคือ ‘Red War’

คำว่า ‘ศึกวันแดงเดือด’ เป็นคำที่ กิตติกร อุดมผล ใช้ในปี 1996 เพื่ออธิบายถึงการเจอกันของสองทีมที่โด่งดังที่สุดในเวทีพรีเมียร์ลีกและต่างใช้ชุดสีแดงทั้ง ‘ลิเวอร์พูล’ และ ‘แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ กับจุดเริ่มต้นความเป็นมาเป็นไปจนกลายเป็นการเผชิญหน้าในสงครามตัวแทนของแต่ละสโมสรในปัจจุบัน

 

จุดเริ่มต้นคือพึ่งพา สู่ปัญหา ค่าธรรมเนียม

 

ย้อนเวลาจากการเผชิญหน้ากันของ เจอร์เกน คล็อปป์ และ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ครั้งล่าสุดไปราว 300 ปี ในกลางศตวรรษที่ 18 เมืองลิเวอร์พูลและเมืองแมนเชสเตอร์ เป็นเมืองพันธมิตรที่ดีต่อกัน และไม่มีแนวโน้มว่าทั้งสองจะมีปัญหาใดๆ กันเลย เพราะทั้งสองเมืองนั้นต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างมาก

ลิเวอร์พูลมีอาณาเขตติดทะเลไอริช (Irish Sea) ทำให้เมืองแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นเมืองท่าสำคัญในการค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้า โดยเฉพาะกับไอร์แลนด์ เนื่องจากนี่เป็นท่าเรือที่ใกล้กับท่าเรือของกรุงดับลินมากที่สุด ทำให้เมืองแห่งนี้มีฐานะที่ค่อนข้างมั่งคั่งจากการค้าขาย และสินค้าสำคัญที่ทำเงินอย่างมากให้เมืองแห่งนี้คือผ้าฝ้าย ซึ่งฐานการผลิตสำคัญที่สุดของสินค้าชนิดนี้ก็อยู่ห่างออกไปไม่ถึง 60 กิโลเมตร นั่นคือเมืองแมนเชสเตอร์นั่นเอง

ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ ก่อกำเนิดเครื่องจักรไอน้ำขึ้นมา หนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดคือกลุ่มของการผลิตสิ่งทอ ก่อนการพัฒนาระบบ ‘โรตารี (Rotary)’ ที่ทำให้การทำงานของเครื่องจักรไอน้ำไม่ต้องตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำอีกต่อไป โรงงานอุตสาหกรรมยังต้องตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเพื่อให้สามารถใช้งานเครื่องจักรได้ นั่นเป็นโชคดีของเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ ที่มีแม่น้ำเออร์เวลล์ไหลผ่านมาจากทางตอนเหนือ

การปฏิวัติอุตสาหกรรมประกอบกับความพร้อมและได้เปรียบของพื้นที่ในเมืองแมนเชสเตอร์ ทำให้กิจการสิ่งทอของพวกเขารุดหน้าอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นการตั้งอยู่ใกล้กับเมืองท่าอย่างลิเวอร์พูล ทำให้พวกเขาสามารถส่งสินค้าไปขายได้ไม่ยาก ซึ่งการเกื้อกูลกันของทั้งสองเมืองนี้เป็นไปด้วยดีเรื่อยมา

จุดเปลี่ยนที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของรอยร้าวระหว่างทั้งสองเมืองก็หนีไม่พ้นปัญหา ‘เงินๆ ทองๆ’ อย่างการเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อและขายสินค้าจากเจ้าของพื้นที่อย่างชาวสเกาเซอร์ ยิ่งการผลิตทำได้ดีเพียงไร จำนวนสินค้าที่ถูกส่งออกมาขายก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น นั่นยิ่งทำให้ค่าธรรมเนียมที่ชาวแมนคูเนียนต้องจ่ายเพื่อปล่อยสินค้าของตัวเองออกไป และซื้อวัตถุดิบเข้ามาทำการผลิตยิ่งมากตามไปด้วย

ในฝั่งเจ้าของพื้นที่และพ่อค้าคนกลาง ก็มองว่าค่าธรรมเนียมนี้เป็นสิ่งที่พวกเขาสมควรจะได้รับ แต่สำหรับผู้ผลิตและเจ้าของกิจการอย่างชาวเมืองแมนเชสเตอร์ กลับมองว่ามันคือการเอาเปรียบและหากำไรอย่างไม่ต้องออกแรง ทำให้จากจุดนั้น ความไม่พอใจระหว่างกันเริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว

 

จุดแตกหักจาก คลองเดินเรือแมนเชสเตอร์

 

สถานการณ์ของทั้งสองเมืองก็ยังคงดำเนินไปในรูปแบบพึ่งพากันนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 มาสู่ต้นศตวรรษที่ 19 ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความพยายามที่จะลดระยะเวลาเดินทางระหว่างลิเวอร์พูลกับแมนเชสเตอร์ เพื่อขนส่งสินค้า ทำให้เกิดทางรถไฟสายลิเวอร์พูล-แมนเชสเตอร์ ระยะทาง 50 กิโลเมตรขึ้นมาทดแทนการขนส่งทางน้ำที่ใช้ระยะเวลามากกว่าผ่านเส้นทางน้ำ

อย่างไรก็ตามหลังจากที่เปิดใช้งานเส้นทางสายนี้แล้ว แม้ระยะเวลาการเดินทางขนส่งจะลดลงตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ฝั่งชาวแมนคูเนียนกลับได้รับผลกระทบยิ่งกว่าเดิมจากต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกัน ค่าธรรมเนียมการซื้อขายสินค้าที่อัลเบิร์ตด็อก อาคารท่าเรือแห่งแรกของอังกฤษที่มีโครงสร้างจากเหล็กและอิฐที่เพิ่งเปิดใช้งานไม่นานก็มีแต่จะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ที่จริงแล้วมีความพยายามในการเสนอแนวคิดไปยังผู้ที่มาติดต่อซื้อขายสิ่งทอจากเมืองแมนเชสเตอร์อยู่เนืองๆ ว่าคงจะเป็นการดีกว่า ถ้าพวกเขาสามารถเดินทางรับสินค้าจากเจ้าของกิจการในเมืองแมนเชสเตอร์ เพราะจะทำให้สินค้าถูกลงอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องจ่ายทั้งค่าขนส่งและค่าธรรมเนียมเพื่อนำสินค้าไปส่งยังลิเวอร์พูล แต่แนวคิดนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะในตอนนั้นคลองที่รองรับการเดินเรือขนาดใหญ่จากทะเลไอริชมายังเมืองแมนเชสเตอร์ยังไม่เกิดขึ้น

เวลาล่วงเลยมาถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อเส้นทางเดินเรือเดิมระหว่างทั้งสองเมืองอย่างคลองบริดจ์วอเทอร์ กับ เส้นทางเชื่อมแม่น้ำเมอร์ซีย์-เออร์เวลล์ ทรุดโทรมอย่างหนัก รวมไปถึงเศรษฐกิจของเมืองแมนเชสเตอร์ที่กำลังย่ำแย่ เนื่องจากช่วงมรสุมยาวนานที่แถบทะเลไอริชทำให้การค้าหลักถูกย้ายไปที่ฮัลล์ ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกแทนที่จะเป็นลิเวอร์พูล

ปัญหาที่ว่ามาทำให้ชาวแมนคูเนียนหาทางลดต้นทุนด้วยการลดค่าขนส่ง และหลีกเลี่ยงการจ่ายอื่นๆ อย่างค่าธรรมเนียมการวางสินค้าที่พวกเขาต้องจ่ายให้เมืองลิเวอร์พูล จนแนวคิดในการขุดคลองน้ำลึกเพื่อรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่จากทะเลไอริชเกิดขึ้น และถูกผลักดันให้เข้าสู่สภาอย่างเป็นรูปธรรม

แนวคิดนี้ได้รับการผลักดันจากแดเนียล อดัมสัน วิศวกรเจ้าของโรงงานแห่งสำคัญในเมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งเขารับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการเชิญคนสำคัญหลายฝ่ายในแลงคาเชียร์ทั้งนักธุรกิจและนักการเมือง มาประชุมกันที่บ้านของเขา รวมไปถึงสองวิศวกรที่ช่วยกันออกแบบคลองที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแฮมิลตัน ฟูลตัน และ เอ็ดเวิร์ด ลีดเดอร์ วิลเลียมส์ ด้วย

โครงการขุดคลองเดินเรือแมนเชสเตอร์คืบหน้าไปด้วยดีก่อนที่จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 1893 และเปิดใช้งานครั้งแรกในวันปีใหม่ปี 1894 คลองแห่งนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่ชาวสเกาเซอร์ไม่สามารถให้อภัยสิ่งที่ชาวแมนคูเนียนทำลงไปได้อีกเลย เนื่องจากมันทำให้เมืองแมนเชสเตอร์กลายเป็นทั้งศูนย์กลางการผลิตและการค้าในเวลาต่อมา

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากคลองเดินเรือสมุทรที่มีระยะทาง 64 กิโลเมตรส่งผลในทางตรงกันข้ามต่อเมืองลิเวอร์พูล เพราะที่นั่นมีสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างรวดเร็วหลังจากเสียสถานะเมืองท่าไป ชาวเมืองจำนวนไม่น้อยตกงาน และความเกลียดชังต่อเมืองแมนเชสเตอร์ก็เกิดขึ้นตามมา ทำให้ความเกลียดชังที่ทั้งสองเมืองมีต่อกันเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ หลังจากที่ชาวเมืองแมนเชสเตอร์ รู้สึกเกลียดที่พวกเขาถูกชาวสเกาเซอร์เอารัดเอาเปรียบมาก่อนหน้านั้นหลายทศวรรษแล้ว

 

จุดเปลี่ยนจาก สนามการค้า สู่สนามฟุตบอล

 

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการสร้างคลองเดินเรือแมนเชสเตอร์ วัฒนธรรมฟุตบอลก็เกิดขึ้นเช่นกัน นิวตัน ฮีธ ซึ่งคือร่างแรกของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เกิดขึ้นก่อนที่ลิเวอร์พูลจะแยกตัวจากทีมเอฟเวอร์ตันเล็กน้อย แต่ทั้งคู่ก็ยังไม่ได้เจอกันจนกระทั่งแมตช์แห่งโชคชะตามาถึง ซึ่งสถานการณ์ที่ทั้งคู่เจอกันในคำรบแรกนั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ทั้งสองทีมเกลียดกันไปตลอดกาล

การเจอกันครั้งแรกของทั้งคู่ ถูกเรียกว่า ‘เทสต์แมตช์’ แต่อันที่จริงแล้ว มันคือการเล่นเพลย์ออฟเพื่อขึ้นชั้น-ตกชั้นตามบริบทในปัจจุบัน โดยนิวตัน ฮีธเป็นทีมอันดับบ๊วยของดิวิชัน 1 ต้องมาเจอกับทีมอันดับ 1 ของดิวิชัน 2 อย่างลิเวอร์พูล ที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกเป็นปีแรกและจบฤดูกาลด้วยผลงาน ‘ไร้พ่าย’ ชนะ 22 จาก 28 นัด การแข่งขันในนัดนั้นคือการชี้ชะตาว่าใครจะได้เล่นในดิวิชัน 1 และใครจะต้องตกชั้นไปในดิวิชัน 2

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของเกมใน ‘แดงเดือด’ นัดแรกเมื่อวันที่ 28 เมษายน 1894 (แม้ตอนนั้นจะนิวติน ฮีธ ยังไม่ได้เป็นแมนฯ ยูไนเต็ด และไม่ได้ใช้สีแดงก็ตาม) คือชัยชนะของทีมลิเวอร์พูลเหนือนิวตัน ฮีธ 2-0 พร้อมถีบทีมจากเมืองแมนเชสเตอร์ ลงไปเล่นในดิวิชัน 2 ได้สำเร็จ และเหนือกว่าผลการแข่งขัน คือความสะใจของแฟนๆ จากเมืองลิเวอร์พูล ที่รู้สึกว่าพวกเขาเหมือนจะได้เอาคืนพวกแมนเชสเตอร์ แม้จะเป็นเพียงการแข่งขันกีฬาก็ตาม

การเจอกันในสนามหญ้าของสองทีมจากทั้งสองเมืองที่กลายมาเป็นเมืองที่เกลียดขี้หน้ากันอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่มีทางจบลงเพียงแค่เกมเดียว เพราะเหมือนกับสิ่งอื่นๆ ในโลก เมื่อเริ่มนับหนึ่งแล้ว ตัวเลขต่อๆ ไปก็ตามมา และไม่รู้ว่าจะไปจบลงตรงไหนเช่นกัน

ทั้งสองทีมต่างผ่านช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่และช่วงเวลาที่ตกต่ำ แน่นอนว่านั่นส่งผลกับแฟนบอลไปด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่ลิเวอร์พูลทำผลงานได้เหนือกว่า เหล่าสเกาเซอร์ก็พร้อมจะชูคอและเยาะเย้ยถากถางชาวแมนคูเนียนอย่างไม่ไว้หน้า และในทางกลับกัน เมื่อวันเวลาของ ‘เรด อาร์มี่’ มาถึง เหล่า ‘เดอะ ค็อป’ ก็ทำได้แค่ก้มหน้ายอมรับชะตากรรมเช่นกัน นั่นเองที่ทำให้การเจอกันของทั้งสองสโมสรในสนามเป็นสิ่งที่พิเศษเสมอมา

จวบจนปัจจุบัน (มกราคม 2021) ทั้งสงครามสีแดงในสนามหญ้าดำเนินมาแล้วกว่า 200 นัด และพล็อตก็เหมือนการเอาประวัติศาสตร์ของทั้งสองเมืองมาเขียนใหม่ในสนามฟุตบอล เพราะในช่วงแรก เป็นทีม ‘หงส์แดง’ ที่ครองความยิ่งใหญ่ได้เหนือกว่า แต่ในช่วงเวลาต่อมาเป็นยุคสมัยของ ‘ปีศาจแดง’ โดยสถิติเมื่อผ่านมาแล้ว 205 นัดในทุกรายการ ยูไนเต็ด ชนะ 80 นัด ลิเวอร์พูลชนะ 67 นัด และเสมอกัน 58

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือทั้งสองสโมสรต่างเป็นทีมฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง ต่างมีความสำเร็จและความรุ่งโรจน์มากมาย และเราไม่มีทางรู้ปลายทางของสงคราม ‘แดงเดือด’ เลยว่าหลังจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบไหนอีก

 

จุดที่ซับซ้อนที่สุดของความเกลียดชังคือการ ขาดกันไม่ได้

 

ตลอดบทความข้างบนนั้น อาจจะมีเรื่องราวการแข่งขัน แก่งแย่ง และชิงดีชิงเด่นของลิเวอร์พูลกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในนามตัวแทนของเมืองมาตลอดก็จริง แต่สิ่งที่น่าสนใจและมองข้ามไปไม่ได้ คือการมีตัวตนอยู่ของอีกฝ่ายต่างเป็นแรงผลักดันและส่งเสริมกันเองทั้งที่ทั้งคู่เกลียดชังกัน ซึ่งฟังดูแล้วเป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างซับซ้อนทีเดียว

ในเวทีกีฬาต่างต้องการ ‘คู่แข่งที่คู่ควร’ เฉกเช่น ‘อาลี-เฟรเซียร์’ ‘บาร์เซโลนา-เรอัล มาดริด’ หรือ ‘แซมพราส-อากาสซี’ บรรดาคู่ปรับที่เหมาะสมจะยิ่งสร้างเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ให้กันและกัน ซึ่งหากปราศจากสิ่งนี้แล้ว ความเป็นคู่ปรับที่สร้างมาคงสร่างซาและจืดชืด นั่นเองที่ทำให้แมนฯ ยูไนเต็ดและลิเวอร์พูล แม้จะเผชิญหน้ากันแต่ก็ ‘ขาดกันไม่ได้’

เหตุการณ์สำคัญที่ยืนยันความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้มีให้เห็นมากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ครั้งที่สำคัญที่สุดและแสดงให้เห็นว่าทั้งสองทีมแม้จะดูเกลียดชังกัน แต่ก็ต่างเป็นมิตรในยามยากที่ดีต่อกัน คือเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่มิวนิกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 1958 เครื่องบินที่ทีมแมนฯ ยูไนเต็ด โดยสารมาพุ่งชนรันเวย์สนามบินมิวนิก-รีม ส่งผลให้ผู้เล่นของทีมเสียชีวิตถึง 8 คน ซึ่งหลังจากนั้นลิเวอร์พูลเป็นหนึ่งในสโมสรที่ยื่นข้อเสนอให้คู่ปรับตลอดกาลยืมนักเตะชุดใหญ่ไปใช้งานถึง 5 คน พร้อมจ่ายค่าเหนื่อยให้ เพื่อหวังให้ ‘ปีศาจแดง’ ฟื้นตัวกลับมาเป็น ‘คู่แข่งที่คู่ควร’ อีกครั้ง

มาถึงตรงนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของชาวเมืองทั้งสอง ก่อนวิวัฒนาการมาเป็นสงครามตัวแทนผ่านสโมสรลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คงรู้สึกว่า เรื่องราวความขัดแย้งกันของชาวสเกาเซอร์และแมนคูเนียน เดินทางมาไกลมากเลยทีเดียว และบางความสัมพันธ์บางทีก็ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่เกินกว่าจะเข้าใจได้

แน่นอนว่า ลึกๆ แล้วชาวเมืองลิเวอร์พูลและชาวเมืองแมนเชสเตอร์ อาจจะยังชิงชังกันผ่านสายใยที่ถูกถ่ายทอดมารุ่นสู่รุ่นตลอดหลายร้อยปี และทุกครั้งที่ทั้งสองทีมเผชิญหน้ากันในสนามฟุตบอลก็อาจเป็นสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าไม่มีทางยอมให้อีกฝ่ายได้อย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาอาจจะรู้สึกดีกว่าก็ได้ที่มีรูปแบบการแข่งขันแบบนี้

แม้ชัยชนะจะทำให้เมืองหนึ่งเมืองใดมีความสุข หรือความพ่ายแพ้จะทำให้อีกเมืองทุกข์หรือเจ็บปวด แต่อย่างน้อยมันก็ไม่ได้ทำให้อดตาย หรือชีวิตพังทลายเหมือนเมื่อราว 2 ศตวรรษที่ผ่านมาอีกต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save