fbpx

ความอับจนในระบบความรู้ของนิติศาสตร์ไทย

ความผันผวนทางการเมืองในสังคมไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากส่งผลกระทบต่อระบอบการเมืองอันทำให้เกิดข้อถกเถียงถึงรูปแบบของระบอบการเมืองในห้วงเวลาปัจจุบัน ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลต่อความเข้าใจในระบบความรู้ทางด้านนิติศาสตร์ของไทยเช่นเดียวกัน

โดยทั่วไป ในระบบความรู้ทางด้านนิติศาสตร์จะเป็นการศึกษาถึงกฎเกณฑ์ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคลหรือบุคคลกับรัฐ และกระบวนการทางกฎหมายในกรณีที่ต้องการให้มีการปกป้องสิทธิตามที่ได้รับการรับรองไว้ตามกฎหมาย บุคคลที่เป็นนักเรียนทางด้านกฎหมายจะต้องทำความเข้าใจต่อกฎเกณฑ์ที่เป็นข้อกำหนดและบรรทัดฐานของกฎเกณฑ์เหล่านี้ว่ามีความหมายในลักษณะเช่นไร เมื่อต้องนำเอากฎเกณฑ์ดังกล่าวไปบังคับใช้ก็จะสามารถปรับใช้ได้อย่างถูกต้องตามหลักเหตุผลและหลักวิชา

ระบบความรู้ทางด้านนิติศาสตร์จึงเน้นย้ำให้นักเรียนกฎหมายเข้าใจว่ามีหลักการที่ถูกต้องดำรงอยู่ (dogma) ในการทดสอบความรู้ของนักเรียนกฎหมาย ไม่ว่าเพื่อคุณวุฒิการศึกษา การสอบคัดเลือกทางด้านวิชาชีพ นักเรียนกฎหมายก็ต้องชี้ให้เห็นว่ามีหลักการในแต่ละกรณีอยู่อย่างไร และจะสามารถนำมาปรับใช้กับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

นักเรียนกฎหมายจึงต้องเรียนรู้หลักการและบทบัญญัติจำนวนมาก เช่น หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง, รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติของกฎหมายใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมิได้, แนวคิดปล่อยอาชญากรสิบคนดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว, หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำตัดสินว่ากระทำความผิด, ศาลคือองค์กรที่ทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาทต่างๆ ด้วยกฎหมาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางด้านนิติศาสตร์อันเป็นผลสืบเนื่องจากความผันผวนทางการเมืองในสังคมไทย ก็คือการทำงานของกระบวนการยุติธรรมและคำตัดสินในข้อพิพาททางการเมืองจำนวนมากได้ทำให้เกิดระยะห่างระหว่างระบบความรู้และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างมาก

หากกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้นก็คือ คำอธิบายตามระบบความรู้ด้านนิติศาสตร์ที่พร่ำสอนกันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงแต่อย่างใด

มีตัวอย่างที่สามารถสาธยายให้เห็นได้เป็นจำนวนมาก ข้อกล่าวหาต่อการกระทำความผิดกฎหมายอาญาของผู้คนในหลายคดีไม่ได้ถูกตีความให้สอดคล้องกับการบังคับใช้กฎหมายอาญา หลักการเบื้องต้นของการปรับใช้กฎหมายอาญาก็คือต้องเป็นการใช้อย่างเคร่งครัด ไม่อนุญาตให้มีการขยายความออกไปเกินกว่าบทบัญญัติ ปรมาจารย์ด้านกฎหมายอาญาจำนวนมากต่างก็เน้นย้ำว่าการบังคับใช้กฎหมายอาญาเช่นนี้เป็นคุณลักษณะสำคัญของระบบกฎหมายสมัยใหม่ที่วางอยู่บนพื้นฐานว่าบุคคลจะถือว่ากระทำความผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายอย่างชัดเจน หากกรณีใดที่มีความคลุมเครือก็ต้องประโยชน์ให้กับผู้ถูกกล่าวหา

แต่ก็เห็นได้ว่าความข้อนี้ไม่สู้จะเป็นจริงเท่าใด การตัดสินลงโทษการกระทำความผิดให้หลายมาตราของประมวลกฎหมายอาญา โดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับความมั่นคงของรัฐ สถาบันกษัตริย์ ได้ถูกขยายความออกไปจนกลายเป็นข้อสงสัยได้ว่าเป็นการตีความที่ขัดต่อหลักการของกฎหมายอาญาหรือไม่    

ในกรณีของสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลย อันเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การควบคุมตัวบุคคลใดไว้นั้นจะกระทำได้ก็ในกรณีที่เชื่อได้ว่าจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานหรือจำเลยอาจหลบหนีจากกระบวนการพิจารณาคดี กล่าวโดยสรุปก็คือ การปล่อยตัวจำเลยเป็นบทหลัก การควบคุมตัวเป็นข้อยกเว้น

แต่เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ได้เห็นในความเป็นจริง ปรากฏการณ์ที่กระจ่างอยู่เต็มตาก็คือ มีจำเลยจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามมาตรา 112 ล้วนถูกบังคับใช้ด้วยข้อยกเว้น แม้ว่าจะไม่มีเหตุให้สามารถนำข้อยกเว้นมาปรับใช้กับเหตุการณ์ได้

ยังมีเหตุการณ์อีกเป็นจำนวนมากที่สะท้อนให้เห็นความแตกต่างของระบบความรู้และสิ่งที่ปรากฏขึ้นจริง กรณีนักโทษบนชั้น 14, การตีความว่าการปฏิรูปคือการล้มล้าง, การเสนอแก้ไขของพรรคการเมืองกลายเป็นความผิดฐานล้มล้าง เป็นต้น ทั้งหมดนี้แทบไม่อาจสามารถที่จะอธิบายได้ด้วยระบบความรู้ทางด้านนิติศาสตร์แบบมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำว่าความอับจนของระบบความรู้ทางด้านนิติศาสตร์ไทยนั้นปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในกฎหมายด้านที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ ซึ่งมักเกิดขึ้นในขอบเขตทางรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ถ้าหากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง เช่น ข้อพิพาทเรื่องหนี้ การทำร้ายร่างกาย การฉ้อโกง เป็นต้น ระบบความรู้ทางด้านนิติศาสตร์ก็ดูราวกับจะสามารถบังเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงได้ไม่น้อย หลักวิชาต่าง ๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดและอบรมมาก็ยังสามารถถูกปรับใช้ได้อย่างตรงไปตรงมา    

ปรากฏการณ์เช่นนี้นำมาซึ่งคำถามสำคัญข้อหนึ่ง (ในท่ามกลางคำถามอีกเป็นจำนวนมาก) กล่าวคือ บรรดาสถาบันการศึกษาที่ถ่ายทอดระบบความรู้ด้านนิติศาสตร์ของไทยมีท่าทีหรือรู้สึกรู้สากับระบบความรู้ที่ตนเองได้พร่ำสอนมากน้อยเพียงใด

คำถามนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในทรรศนะของผู้เขียน เพราะหากบรรดาหลักวิชาทางนิติศาสตร์ที่ได้ถูกถ่ายทอดมาแต่ไม่ได้เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง ก็ย่อมหมายความว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ กำลังสอนในสิ่งที่มิใช่ความจริงต่อนักเรียนกฎหมาย หลักวิชาต่างๆ ล้วนแต่มีไว้เพียงเพื่อสำหรับการสอบให้ผ่านในการทำข้อสอบเท่านั้น แต่เมื่อเกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงแล้วก็ไม่อาจใช้บังคับได้

สถาบันการศึกษารวมถึงผู้สอนกฎหมายทั้งหลายยังพึงพอใจกับปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้หรือ

สังคมไทยไม่ใช่เพียงสังคมแห่งเดียวที่ต้องเผชิญกับปัญหาในลักษณะเช่นนี้ ในหลายสังคม เมื่อต้องเผชิญกับสภาพที่กฎหมายที่เป็นหลักวิชากับสิ่งที่ปรากฏขึ้นจริงมิใช่เรื่องที่สอดคล้องกัน ก็ได้ส่งผลให้เกิดความพยายามในการทำความเข้าใจกฎหมายในแนวทางที่แตกต่างไปจากเดิมซึ่งเคยหมกมุ่นอยู่กับบทบัญญัติและการตีความกฎหมายในเชิงหลักการ

ในบางแห่งได้มีความพยายามขยับการศึกษาจากกฎหมายที่เป็นตัวบท (law in book) ไปสู่กฎหมายที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง (law in action) อันเป็นแนวทางที่ให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นทางการ, กฎเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติกันในชีวิตประจำวัน, ศึกษาถึงท่าทีหรือนิติสำนึกของสามัญชนที่เกี่ยวกับกฎหมาย

หรือในบางส่วนก็ได้มีความพยายามนำเอาแนวคิดทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์มาเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจกับกฎหมายมากขึ้น บนพื้นฐานความเชื่อว่ากฎหมายก็เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมประเภทหนึ่ง กฎหมายจึงสามารถเป็นวัตถุแห่งการศึกษาที่ทำให้สามารถมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน สถาบัน รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน มีแนวคิดจำนวนไม่น้อยที่เชื่อมโยงความรู้ระหว่างกฎหมายกับแนวคิดด้านอื่นๆ เช่น นิติเศรษฐศาสตร์ (law and economics), มานุษยวิทยากฎหมาย (anthropology of law), นิติศาสตร์แนวสตรีนิยม (feminist legal theory), สังคมวิทยากฎหมาย (socio-legal studies) เป็นต้น

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าในท่ามกลางความอ่อนแรงของระบบความรู้นิติศาสตร์ในสังคมไทย ได้มีความพยายามขยับขยายมุมมองการศึกษากฎหมายให้สามารถตอบคำถามต่อความจริงที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด หรือสถาบันการศึกษาและผู้สอนกฎหมายก็ยังคงพึงพอใจอยู่กับการพร่ำบ่นหลักวิชาและคำอธิบายที่ห่างไกลกับโลกแห่งความเป็นจริงต่อไปอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวแม้แต่น้อย

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save