fbpx

กษัตริย์และกงสุล ในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง: การเมืองเรื่องต่างชาติถือครองที่ดิน และมรณกรรมของอาลักษณ์ชาวสยาม

1

ข่าวเรื่องการขายที่ดินสถานทูตอังกฤษย่านเพลินจิตได้รับความสนใจอยู่ช่วงหนึ่งในช่วงต้นปี 2018 เมื่อมีตัวเลขออกมาว่ากลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้าเซ็นทรัลกรุ๊ปและฮ่องกงแลนด์ ซื้อที่ดินสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยไปในราคา 420 ล้านปอนด์ (ราว 1.9 หมื่นล้านบาท) โดยทางอังกฤษชี้แจงว่าจะนำเงินที่ได้ไปใช้ซ่อมแซมอาคารสถานทูตในประเทศอื่นทั่วโลก

ราคาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่สูงเป็นประวัติการณ์นี้ เป็นผลจากการเติบโตของที่ดินย่านเพลินจิต ซึ่งเปลี่ยนจากพื้นที่ห่างไกลพระนครในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

การขายสถานทูตอังกฤษถูกพูดถึงในหลากหลายประเด็น แน่นอนว่ามีคนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย โดยประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาคัดค้านคือเรื่องคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้ ทั้งเป็นสัญลักษณ์ของการทูตไทย-อังกฤษ สถาปัตยกรรมที่มีอายุราวศตวรรษ และยังเป็นที่ตั้งของพระบรมรูปสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ที่สร้างขึ้นโดยการเรี่ยไรเงินของชาวอังกฤษในไทย หลายคนตั้งคำถามว่ามีทางอื่นใดอีกไหมที่สามารถอนุรักษ์สินทรัพย์ทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ได้

นอกจากประเด็นที่กล่าวไปข้างต้น อีกประเด็นที่มีบางเสียงหยิบยกขึ้นมาคือ ผืนดินนี้เป็นที่ดินพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทย ดังนั้นจึงไม่ควรขายเพื่อหารายได้ แต่ข้อโต้แย้งนี้ก็ถูกตีตกไปในเวลารวดเร็ว เมื่อมีเอกสารชี้ชัดว่า อังกฤษซื้อที่ดินผืนนี้มาในช่วงทศวรรษ 1920 จากนักธุรกิจสยามคนหนึ่ง นามว่า นายเลิศ เศรษฐบุตร หรือ พระภักดีนรเศรษฐ

เรื่องราวการซื้อขายที่ดินที่ดูเผินๆ เป็นเรื่องของ ‘มูลค่า’ แต่ลึกลงไปแล้ว ยังมีเรื่องราวในอดีตและ ‘คุณค่า’ ทางประวัติศาสตร์ ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ก้อนอิฐและเปลือกของต้นไม้ใหญ่ เมื่อข้อตกลงและเหตุการณ์ในอดีตส่งผลมาถึงปัจจุบัน ซึ่งล้วนมีผลมาจากความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสยาม-อังกฤษตั้งแต่อดีต และการเมืองในราชสำนักสยามเอง

ต่อประเด็นนี้เองที่ทำให้ไทรมั่น ลัญฉน์ดี (Simon Landy) ที่ปรึกษาการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผู้คลุกคลีในโลกธุรกิจและวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้งมานานกว่า 40 ปี สนใจที่จะศึกษาค้นคว้าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อังกฤษ ผ่านประเด็นอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการถือครองที่ดิน จนออกมาเป็นหนังสือเรื่อง The King and the Consul: A British Tragedy in Old Siam แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ กษัตริย์และกงสุล ในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง โดยสุภัตรา ภูมิประภาส จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์

ไทรมั่นพาเราย้อนไปไกลถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ยุคสมัยแรกที่อังกฤษส่งกงสุลมาประจำที่ประเทศไทย หลังจากอังกฤษกับสยามบรรลุข้อตกลงในสนธิสัญญาเบาว์ริง หนังสือความหนา 200 กว่าหน้านี้ กลั่นกรองเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ออกมาเป็นฉากและบทสนทนาผ่านการค้นคว้าเอกสารจำนวนมาก ซึ่งเอกสารหลายชิ้นเป็นบันทึกจากข้าราชการชาวอังกฤษ นอกจากนี้ บางตัวละครในประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยถูกพูดถึงอย่างละเอียดก็ปรากฏตัวในหนังสือเล่มนี้ด้วย ทั้งขุนนางสยาม พ่อค้าชาวสก็อตแลนด์ ข้าราชการอังกฤษ ภรรยาของกงสุล ไปจนถึงบาทหลวงชาวอเมริกัน – และแน่นอน กงสุลอังกฤษประจำสยามคนแรกนามว่า ‘ชาร์ลส์ บัทเทิน ฮิลเลียร์’ ซึ่งเป็น ‘กงสุล’ ที่อยู่บนปกหนังสือ

บุคคลทั้งหมดที่โลดแล่นในประวัติศาสตร์ล้วนแล้วแต่มีบทบาทต่อปัจจุบันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และต้องเผชิญปัญหาในภาวะสังคมการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในสยามยุคต้นรัตนโกสินทร์

2

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่สยามต้องทัดทานการเข้ามาของการล่าอาณานิคม และต้องเพิ่มศักยภาพทางการค้าเพื่อให้สู้กับอารยะประเทศได้ อังกฤษถือโอกาสนี้ในการเปิดการเจรจาสนธิสัญญาการค้าเสรีระหว่างอังกฤษกับสยาม โดยมีเซอร์ จอห์น เบาว์ริงเป็นผู้นำการเจรจาในฝั่งอังกฤษ ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำสืบเนื่องจากสนธิสัญญาเบอร์นีที่ทำในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะก่อนหน้านี้ พระคลังสินค้ายังมีอิทธิพลในการผูกขาดทางการค้า และมีการมองว่าชาวจีนถือสิทธิพิเศษทางการค้าในสยามมากกว่าชาติอื่นๆ

หนังสือเรื่อง กษัตริย์และกงสุล ในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง ไม่เพียงเล่าเนื้อหาของสนธิสัญญาที่เราเห็นกันบ่อยในหนังสือประวัติศาสตร์ แต่ไทรมั่นพาเราย้อนไปดูความขัดแย้งและลูกล่อลูกชนในการเจรจาระหว่างตัวแทนของราชสำนักสยามและอังกฤษ โดยแสดงผ่านสภาพการเมืองและความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นสูงของสยามเอง ในช่วงก่อนและหลังเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง

การเจรจาเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 เมษายน 1855 กษัตริย์มงกุฎมอบหมายให้มีคณะผู้แทนเจรจารายละเอียดของสนธิสัญญาสี่คน ประกอบด้วย สมเด็จองค์ใหญ่ (ดิศ บุนนาค) สมเด็จองค์น้อย (ทัต บุนนาค) กลาโหม (ช่วง บุนนาค) และพระคลัง (ขำ บุนนาค) ก่อนที่ต่อมาจะมีการเพิ่มกรมหลวงวงษา สมาชิกราชนิกุลคนเดียวเข้ามาในคณะผู้แทนชุดนี้ด้วย ในฐานะญาติวงศ์ที่กษัตริย์ไว้วางพระทัยที่สุดคนหนึ่ง

ณ เวลานั้น ช่วง และ ขำ บุนนาค สองพี่น้องอยู่ในตำแหน่งใหญ่คือกลาโหมและพระคลัง ถูกมองว่าเป็นกลุ่ม ‘หัวก้าวหน้า’ ในหมู่ขุนนาง เมื่อเทียบกับคนรุ่นพ่อและอาอย่างดิศ และ ทัต บุนนาค ที่มีความคิด ‘อนุรักษนิยม’ กว่า นี่เองจึงทำให้เกิดความขัดแย้งของแนวคิดในการกำหนดทิศทางของสยามในการร่างสัญญา ไทรมั่นเขียนไว้ในบทแรกว่า

การเข้าร่วมของกรมหลวงวงษาน่าจะถูกกำหนดมาให้ช่วยแก้ข้อขัดแย้งที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นระหว่างขุนนางอาวุโสกับขุนนางหนุ่ม ซึ่งคาดว่าจะเกิดเพราะคนสองรุ่นอยู่ในขั้วตรงข้ามของข้อถกเถียง พระคลังมีความเชื่อเช่นเดียวกันกับกลาโหมว่าจำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษีและการค้า แม้ว่าเขามีบทบาทในรายละเอียดของการเจรจาน้อยกว่าพี่ชาย แต่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ของเขาต่อระบบการเมืองของสยามนั้นเฉียบคมไม่แพ้กัน เขาพรั่งพรูอารมณ์อย่างเข้มข้นขณะขยายความจุดยืนของเขาแก่อาคันตุกะหนุ่มชาวอังกฤษ 2 คน คือ ชาร์ลส์ เบลล์ (Charles Bell) และ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ คนลูก…’ (หน้า 36)

ขำ บุนนาค หรือ พระคลังในขณะนั้นกล่าวกับสองหนุ่มชาวอังกฤษที่อยู่ในคณะของเบาว์ริงว่า ประเทศนี้จะไม่มีวันบรรลุความยิ่งใหญ่อันใด จนกว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบทั้งปวงของรัฐบาล ที่ผ่านมา พวกเราให้อำนาจทั้งหมดแก่พวกขุนนาง แล้วพวกเราเองเป็นอะไรกันเล่า? เราจงให้ประชาชนเสียบ้าง และลองดูว่าสิ่งต่างๆ จะไม่พัฒนาขึ้นเชียวหรือ จงอย่าให้เสนาบดีแต่งตั้งทั้งหลายดำรงตำแหน่งได้ตลอดชีวิต จงให้พวกเขาได้รับเลือกตั้งเป็นวาระที่มีกำหนดเวลา และขอให้การเลือกตั้งพวกเขาเป็นไปตามเสียงของประชาชน” (หน้า 36)

เนื้อความในเครื่องหมายคำพูดของขำ บุนนาค อ้างอิงจากในรายงานของเบลล์ถึงเบาว์ริงในปี 1855 ซึ่งสะท้อนถึงรอยปริร้าวของแนวคิดทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำสยาม

นอกจากประเด็นที่น่าสนใจเรื่องแนวคิดทางการปกครองแล้วนั้น ไทรมั่นยังพาเราเข้าไปสู่ประเด็นเรื่อง ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ที่ขุนนางสยามแต่ละคนได้ประโยชน์จากระบบการค้าและการจัดเก็บภาษีอากรที่มีมาแต่เดิม เขาอธิบายเรื่องนี้ผ่านข้อมูลการประชุมระหว่างขุนนางสยามกับเบาว์ริงไว้ว่า

…สมเด็จแต่ละองค์ต่างให้เหตุผลว่าสยามเป็นประเทศเล็กที่มีผลผลิตจำกัด สำหรับสมเด็จคนน้อง [ทัต บุนนาค] นัยยะของเขาคือ สนธิสัญญาการค้าฉบับใหม่ไม่มีความจำเป็นและอาจไม่เกิดประโยชน์ สิ่งที่จำเป็นต่อประเทศจริงๆ คือความคุ้มครองจากเล่ห์เพทุบายของบรรดาชาติมหาอำนาจ ข้อโต้แย้งนี้มีส่วนที่เป็นความจริงและยังรู้สึกได้อย่างชัดแจ้ง เป็นไปได้มากว่าสมเด็จทั้งสองต่างก็กังวลกับการล่าอาณานิคมที่มีแนวโน้มสูงเช่นเดียวกับญาติฝ่ายเสรีนิยมของพวกเขา แต่ถึงกระนั้น สถานะที่พวกเขาแสดงออกกลับไม่ได้ตรงไปตรงมา เหตุผลที่จำเพาะเจาะจงกว่าของสมเด็จองค์น้อยในการต่อต้านสนธิสัญญาฉบับใหม่นี้ เบาว์ริงและกลาโหมเข้าใจว่าเป็นเรื่องผลกระโยชน์ส่วนตน เนื่องจากการรื้อระบบเจ้าภาษีนายอากรถือเป็นการทำลายแหล่งความมั่นคงของเขาโดยตรง (หน้า 37-38)

การเจรจาสนธิสัญญาที่มีเบื้องหลังเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้าของขุนนางสยาม มีการต่อรองและประชุมหลายต่อหลายครั้ง จนการเจรจาก้าวหน้าไปสู่ข้อสรุปที่มุ่งสู่หลักการการค้าเสรี โดยหนังสืออธิบายเรื่องการยอมรับข้อตกลงของทัต บุนนาคไว้ว่า ‘สมเด็จคนน้องมองเห็นได้ว่าการดึงดันต่อต้านหลักการค้าเสรีต่อไปย่อมเปล่าประโยชน์ กลยุทธ์ที่ดีที่สุดของเขาคือยอมรับทิศทางโดยรวมที่จะดำเนินการ ขณะเดียวกันก็พยายามจะรักษาอภิสิทธิ์เล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะคงไว้ได้ในรายละเอียดต่างๆ’

เมื่อการเจรจาเสร็จสิ้นในคราวแรก ในหนังสือใช้ข้อมูลจากบันทึกของเบาว์ริงเพื่อแสดงให้เห็นว่า เบาว์ริงพอใจในผลลัพธ์ของการเจรจามาก ถึงขั้นบันทึกพันธกิจนี้ไว้ว่าเป็นความสำเร็จในการปฏิวัติโดยเบ็ดเสร็จในกลไกการคลังของรัฐบาล ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบการจัดเก็บภาษีทั้งหมด รวมทั้งจะถอนรากถอนโคนอภิสิทธิ์และการผูกขาดมากมายในมือของเหล่าขุนนางสยามที่หยั่งรากลึกมานาน แม้จะมีข้อโต้แย้งต่อมาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถึงขั้นที่เบาว์ริงเขียนก็ตาม และเป็นที่แน่ชัดว่าระบบเจ้าภาษีนายอากรไม่ถึงขั้นถูกรื้อ เพราะขุนนางฝ่ายสนับสนุนเบาว์ริงต่างทำกำไรอย่างงามจากการจัดสรรเก็บภาษีต่างๆ ใหม่หลังมีสนธิสัญญาเบาว์ริง

3

จริงอยู่ที่ประเด็นทางการค้าเป็นแกนสำคัญของสนธิสัญญาฉบับนี้ เนื้อหาการเจรจามุ่งเรื่องการได้รับสิทธิอำนวยความสะดวกด้านการค้า ที่อนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษเข้าออกท่าเรือสยามทุกแห่งและตลาดภายในประเทศโดยเสรี และมีหลักประกันว่าเรือสินค้าอังกฤษจะได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ เหมือนที่ชาวสยามและชาวจีนได้รับ ทั้งยังอนุญาตให้กงสุลอังกฤษผู้ประจำการในบางกอกมีอำนาจตัดสินคดีความคนในบังคับอังกฤษที่อยู่ในสยามได้ แต่ในรายละเอียดยังมี ‘เงื่อนไข’ อีกหนึ่งข้อที่จะขยายใหญ่กลายเป็นปัญหาระหว่างอังกฤษและสยามต่อไปในอนาคต นั่นคือสิทธิในการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ ดังตอนหนึ่งในหนังสือที่อธิบายว่า

นอกจากสิทธิต่างๆ ทางการค้าและอำนาจกงสุลที่อังกฤษได้รับจากสนธิสัญญาเบาว์ริง ประเด็นที่สามซึ่งไม่ค่อยได้รับความสนใจเกี่ยวข้องกับสิทธิของชาวต่างชาติในการถือครองที่ดิน ภายใต้สนธิสัญญาเบาว์ริง คนในบังคับอังกฤษที่อยู่ในสยามสามารถซื้อหรือเช่าที่ดินและพำนักในบางกอกภายในพื้นที่ที่ระบุไว้ กลาโหมบอกเบาว์ริงก่อนหน้าการประชุมผู้แทนเจรจาเต็มคณะว่า “เขายินดีให้ความยินยอมกับเงื่อนไขที่เสนอมาเรื่องที่พำนักและสิทธิที่จะซื้อและขาย ตลอดจนตั้งถิ่นฐานภายในระยะเวลาเดินทาง 24 ชั่วโมงจากบางกอก” ตามที่กลาโหมอธิบายต่อคณะผู้แทนเจรจาในการประชุมวันที่ 9 เมษายน ความว่า “พลเมืองในบังคับอังกฤษไม่ได้รับสิทธิอันไม่จำกัดว่าด้วยที่พำนักภายในเขตปกครองสยาม เพราะรัฐบาลสยามจะไม่สามารถคุ้มครองได้ ถ้าพวกเขาเตร็ดเตร่ไปยังสถานที่ห่างไกล” (หน้า 46)

แม้ดูเหมือนจะมีการตกลงไปแล้ว แต่ประเด็นเรื่องสิทธิถือครองที่ดินของต่างชาติกลับมาสร้างปัญหา เมื่อมีการแจ้งพระบรมราชโองการของกษัตริย์ต่อตัวแทนอังกฤษว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะออกประกาศเรื่องการซื้อขายที่ดินจนกว่าทางสยามจะสามารถระบุเขตแดนการซื้อขายได้อย่างแม่นยำตามที่สนธิสัญญาอนุญาต นั่นหมายถึงการหานิยามเรื่องเขตแดนให้แน่ชัดโดยลงไปสำรวจสถานที่จริง

เมื่อเรื่องถึงตรงนี้ ไทรมั่นพาเราย้อนไปไกลกว่านั้นด้วยการชวนทำความเข้าใจวิธีคิดเรื่องที่ดินในสยาม และสิทธิถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริง ที่เคยมีประเด็นตั้งแต่ทูตจากโปรตุเกส คณะมิชชันนารีจากอเมริกา พ่อค้าจากสก็อตแลนด์ ที่เคยมีข้อบาดหมางกับราชสำนักสยาม ซึ่งหลายเรื่องสืบเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลก่อน

การเจรจาเรื่องสิทธิในการถือครองที่ดินของคนอังกฤษ รัฐบาลสยามเสนอทางออกเชิงภูมิศาสตร์ด้วยการกำหนดวงกลมร่วมศูนย์จำนวนสามชั้นล้อมรอบบางกอก ซึ่งในรัศมีของวงกลมแต่ละชั้นจะกำหนดสิทธิต่างกันไป เงื่อนไขข้อที่ 4 ของสนธิสัญญาเบาว์ริงระบุว่า

“คนอยู่ในบังคับอังกฤษ จะมาค้าขายตามหัวเมืองชายทเลซึ่งขึ้นกับกรุงเทพมหานคร ก็ค้าขายได้โดยสดวก แต่จะอาไศรยอยู่ได้ที่เดียวก็แต่ในกรุงเทพมหานคร ตามในจังหวัดซึ่งกำหนดไว้ในหนังสือสัญญา ประการหนึ่ง คนอยู่ในบังคับอังกฤษจะมาเช่าปลูกโรงปลูกเรือนปลูกตึก แลจะซื้อเรือนซื้อโรงซื้อตึก พ้นกำแพงออกไปในกำหนดสองร้อยเส้น (ไม่เกิน 4 ไมล์อังกฤษ) ซื้อได้ แต่จะซื้อที่ซื้อไม่ได้ ถ้าอยู่ถึงสิบปีแล้วจึ่งจะซื้อได้ ถ้าอยู่ยังไม่ถึงสิบปี ท่านเสนาบดีจะโปรดให้ซื้อก็ซื้อได้ แลที่นอกกำหนดสองร้อยเส้นนั้น คนอยู่ในบังคับอังกฤษจะซื้อจะเล่าที่เรือนที่สวนที่ไร่ที่นาตั้งแต่กำแพงเมืองออกไปเดินด้วยกำลังเรือแจวเรือภายทางยี่สิบสี่ชั่วโมง” (หน้า 85)

สุดท้ายมีการรังวัดเสร็จสมบูรณ์ และสรุปข้อตกลงอย่างรวดเร็วระหว่างตัวแทนอังกฤษกับรัฐบาลสยาม และหลังจากนั้นไม่ถึงเดือน ชาร์ลส์ ฮิลเลียร์ ก็เดินทางพร้อมครอบครัวจากสิงคโปร์มาที่บางกอกในปี 1856 เพื่อรับตำแหน่งใหม่เป็นกงสุลอังกฤษคนแรกในสยาม ก่อนจะพบความยากลำบากในการทำงานในสยาม ปัญหาแรกที่เขาเจอคือการจัดหาที่ดินที่เหมาะสมสำหรับสถานกงสุลอังกฤษและดูจะติดขัดปัญหาเรื่องนี้อยู่นาน ทั้งที่งานที่จำเป็นของกงสุลคือการจัดการกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เช่น สิทธิในการตั้งถิ่นฐาน การเดินทางภายในสยาม การเทียบท่าหรือการขนถ่ายสินค้าทางเรือ โรงภาษี และการจัดการท่าเรือ เป็นต้น

ชีวิตที่ประสบปัญหาของชาร์ลส์ ฮิลเลียร์ในบางกอก สะท้อนวิธีปกครองของรัฐบาลสยามในขณะนั้น เขาพบความยากลำบากในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ขุนนางและกษัตริย์ ไปจนถึงการเมืองภายในของกลุ่มขุนนางสยามเองที่พลิกผันไปมา จนยากจะหาคนที่สามารถทำงานกับฮิลเลียร์ได้จริง

ระหว่างช่วงเวลาในบางกอก ฮิลเลียร์ได้พบว่าการปฏิบัติตามข้อแนะนำของเบาว์ริงให้ได้คงเส้นคงวา เป็นเรื่องท้าทายความสามารถมาก งานด้านกงสุลต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องกวนใจไม่ขาดสายที่ทำให้ชีวิตของเขาไม่เคยห่างจากความเครียด… นอกจากที่อยู่อาศัยที่มุ่งหมายไว้อยู่ในสภาพน่าสังเวช ฮิลเลียร์ต้องริเริ่มการปฏิบัติงานต่างๆ ของกงสุลด้วยตัวเองจากทรัพยากรที่มีจำกัดมาก โดยไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางที่แท้จริง และต้องเผชิญการอนุมัติที่ยืดเยื้อ (หน้า 124)

ไทรมั่นยังเขียนถึงความยากลำบากของฮิลเลียร์ ผ่านรายงานของเขาว่า ‘ในรายงานที่ส่งถึงทั้งเบาว์ริงและคลาเรนดอน เขา [ฮิลเลียร์] ชี้ให้เห็นว่าความพยายามทั้งหลายที่จะสานต่อผลประโยชน์ของอังกฤษในสยามให้กว้างขวางขึ้น กลับถูกสถานะต่ำต้อยของตัวเขาในระบบลำดับชั้นชนขวางทางไว้ โดยเฉพาะเมื่อเจรจากับพวกขุนนางระดับอาวุโสและเชื้อพระวงศ์ เขารู้สึกถึงสถานะของตนในการเจรจากับกษัตริย์ได้อย่างเข้มข้น’ (หน้า 125)

ถัดจากนี้หนังสือพาเราเข้าไปในความขัดแย้งระหว่างฮิลเลียร์กับกลุ่มชนชั้นนำสยาม ที่ขยายใหญ่เป็นโศกนาฏกรรม โดยมีสนธิสัญญาเบาว์ริงเป็นแกนของความขัดแย้ง

โศกนาฏกรรมที่ว่าคือการจับกุมนายฟุ้ง หัวหน้าคนงานชาวสยามที่ทำงานกับกัปตันพัดดิคอมบ์ พ่อค้ากะลาสีเรือ นายฟุ้งเป็นตัวแทนในธุรกรรมการซื้อที่ดินโดยพัดดิคอมบ์เป็นผู้ออกเงิน แล้วปล่อยเช่าให้พัดดิคอมบ์เป็นเวลา 99 ปี ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในรัฐบาลสยาม

…กษัตริย์ทรงรับรู้เรื่องธุรกรรมนี้ และ ‘ขุ่นเคืองมาก’ จากเรื่องนี้นำไปสู่การจับกุมและคุมขังไอ้ฟุ้งกับครอบครัวของเขา รัฐบาลสยามพิจารณาว่าการเข้าถือสิทธิครอบครองนี้เป็นการผิดสัญญาข้อ 4 เพราะธุรกรรมดังกล่าวเป็น ‘การซื้อภายใต้พฤติการณ์ของสัญญาเช่า’ และ ‘กระทำโดยปราศจากการรับรู้และยินยอมของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ’ (หน้า 158)

ต่อจากนั้นไม่นานก็มีเรื่องการเสียชีวิตของนายแสง ผู้เป็นอาลักษณ์ชาวสยามที่ทำงานกับกงสุลอังกฤษ ที่ถูกเจ้าพนักงานพิจารณาว่าอาชญากรรมของแสงคือการร่างสัญญาเช่าของพัดดิคอมบ์ และรู้เห็นเป็นพยานที่สถานกงสุล จนถูกราชสำนักสั่งโบยด้วยหวาย 99 ครั้ง และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ทางอังกฤษมองว่าเหตุการณ์นี้เป็น ‘การละเมิดต่อสิทธิตามสนธิสัญญาอย่างซึ่งหน้า’ เรื่องราวที่บานปลายนี้ ส่งผลให้รัชกาลที่ 4 มอบที่ดินริมน้ำเจ้าพระยาผืนงามให้อังกฤษเพื่อสร้างเป็นสถานกงสุล ชดเชยที่ทำผิดสัญญาและสร้างความตื่นตระหนกในหมู่ชาวต่างชาติที่อาศัยในสยาม

เพื่อให้ชุมชนชาวต่างชาติและเหล่าเสนาบดีของพระองค์เองสงบลง กษัตริย์ตัดสินพระทัยว่าต้องแสดงท่าทีที่จะส่งสัญญาณการยอมรับของพระองค์ ว่าการกระทำของพระองค์เป็นการวินิจฉัยผิดพลาด และไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ความเป็นปรปักษ์ต่ออังกฤษ…(หน้า 175)

 

เงื่อนไขข้อ 4 ของสนธิสัญญาเบาว์ริงไม่มีข้อยกเว้นสำหรับการใช้ประโยชน์ทางการทูต ดังนั้น แม้จะไม่เกิดกรณีของนายแสง อังกฤษก็น่าจะต้องการให้กษัตริย์ใช้พระราชอำนาจผ่านดุลยพินิจของพระองค์ในปี 1856 เพื่ออนุญาตให้พวกเขาได้ซื้อที่ดินสำหรับตั้งสถานกงสุล อย่างไรก็ตาม กรณีของแสงไม่เพียงเร่งกระบวนการนี้ แต่ยังนำพาโชคก้อนใหญ่ที่สร้างประโยชน์สืบเนื่องให้รัฐบาลอังกฤษมาจนถึงทุกวันนี้ด้วย (หน้า 205)

ท่ามกลางข้อขัดแย้งตลอดช่วงการทำงานของชาร์ลส์ ฮิลเลียร์ สุดท้ายรัฐบาลอังกฤษได้รับพระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งในเขตบางรัก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจากรัชกาลที่ 4 ในปี 1856 แต่ต่อมากรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนนั้นได้กลับคืนสู่รัฐบาลสยาม และกลายเป็นที่ทำการไปรษณีย์กลาง ปัจจุบันเป็นอาคารสูงใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นอังกฤษซื้อที่ดินตรงเพลินจิตในทศวรรษที่ 1920 เมื่อทำเลนี้ยังเป็นชานเมืองชายขอบรอบนอก ยังไม่ได้เป็นทำเลทองย่านศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ เช่นทุกวันนี้ ก่อนที่ที่ดินริมน้ำในกรุงเทพฯ จะค่อยๆ ลดความสำคัญลง มีการตัดถนน และเมืองขยายจากเขตพระนครมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ที่ซื้อดินรกร้างห่างไกลในยุคก่อนหน้าได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเมือง

ไทรมั่นอธิบายจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการซื้อที่ดินใหม่ในสยามของอังกฤษเอาไว้ว่า

จังหวะเวลาของตลาดที่ดินก็เป็นประเด็นสำคัญ รายงานฉบับหนึ่งของรัฐบาลอังกฤษบันทึกว่าราคาที่ดินในย่านที่พักอาศัยแห่งใหม่นี้พุ่งขึ้นเป็น 4 เท่าระหว่างปี 1907 ถึงปี 1921 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอีก ในทางกลับกัน มูลค่าของทำเลริมน้ำลดฮวบลงจากตารางวาละกว่า 300 บาทมาอยู่ที่ประมาณ 125 บาท สาเหตุหลักๆ ก็คือเพราะถนนตัดใหม่หลายเส้นได้เปิดทำเลใหม่ๆ ในราคาค่ำกว่าตารางวาละ 100 บาท (หน้า 206)

ในช่วงที่อังกฤษกำลังหาทำเลใหม่ในการสร้างสถานทูตนั้น กำลังมีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่อ่อนลงช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จนทำให้พลาดที่ดินในเขตสระปทุม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ในห้วงเวลานั้นอังกฤษสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยที่ดินสถานทูตริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่ในมือ

นักธุรกิจไทยคนหนึ่งเข้ามาช่วยกู้สถานการณ์ไว้ นายเลิศ เศรษฐบุตร หรือ พระภักดีนรเศรษฐ “หนึ่งในชาวสยามผู้กล้าได้กล้าเสียจากไม่กี่คนที่มีอยู่” เสนอทางเลือกที่ถูกกว่าเล็กน้อยในครั้งแรก แต่สุดท้ายก็เสนอทางเลือกใหม่ในราคาที่ถูกกว่าเดิมมาก คือ ตารางวาละ 8 บาท นี่คือราคาที่ดินแปลงที่ถนนเพลินจิตในเขตสระปทุมเช่นเดียวกัน ซึ่งจะกลายเป็นที่ทำการของรัฐบาลอังกฤษนานกว่า 90 ปี และการซื้อขายที่บรรลุผลในท้ายที่สุดก็ยิ่งหอมหวานสำหรับอังกฤษ พระภักดีตกลงจะมอบที่ดินขนาด 11 เอเคอร์ (11,000 ตารางวา) ให้โดยไม่คิดเงิน แลกกับสิทธิในการซื้อที่ดินริมน้ำของสถานทูตภายในระยะเวลา 2 ปีในราคา 1,100,100 บาท (ประมาณ 117,201 ปอนด์ในเวลานั้น) ยกเว้นที่ดิน 250 ตารางวาที่รัฐบาลอังกฤษจะใช้เป็นโรงขนถ่ายสินค้า และยิ่งกว่านั้น พระภักดีตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ของที่เดินเพลินจิตให้รัฐบาลอังกฤษทันที และจะยินยอมให้อังกฤษครอบครองที่ดินบางรักต่อโดยไม่คิดค่าเช่าเป็นเวลา 12 เดือนหลังจากที่เขาซื้อแล้ว (หน้า 207)

สำหรับรัฐบาลอังกฤษ ต้นทุนค่าเสียโอกาสนี้มหาศาลเกินกว่าที่จะมองข้าม ห่วงโซ่ของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เริ่มขึ้นจากการเจรจาของฮิลเลียร์เพื่อซื้อที่ดินแปลงหนึ่งในปี 1856 นำไปสู่การที่รัฐบาลอังกฤษได้รับมอบที่ดินฟรี ซึ่งต่อมาถูกแปลงไปสู่ผืนดินผืนใหญ่ขึ้นโดยไม่มีต้นทุนเพิ่มในทศวรรษ 1920 และสุดท้ายจะทำเงินเป็นมูลค่าราว 475 ล้านปอนด์ใน 2 ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 ข้อแลกเปลี่ยนในศตวรรษที่ 19 คือเพื่อปลดเปลื้องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแลกกับสิทธิถือครองที่ดิน ในยุคร่วมสมัยของการซื้อขาย ข้อแลกเปลี่ยนกลับเป็นการปลดเปลื้องสิทธิถือครองที่ดินให้เป็นเงินสด (หน้า 213)

หนังสือ กษัตริย์และกงสุล ในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง พาเราค่อยๆ ทำความรู้จักกับสนธิสัญญาเบาว์ริง ขยายเงื่อนไขสำคัญเรื่องสิทธิการครอบครองที่ดินของชาวอังกฤษ ไปจนถึงช่วงเวลาอันยากลำบากของกงสุลอังกฤษคนแรก และมรณกรรมสุดสลดของเจ้าหน้าที่ชาวสยามของสถานกงสุลอังกฤษ กลายเป็นชนวนเหตุที่เกือบนำไปสู่การฉีกสัญญาและก่อสงคราม ขณะเดียวกัน ประเด็นความขัดแย้งในอดีตก็นำมาสู่การใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ซื้อมาตั้งแต่ร้อยปีก่อนด้วยข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธ

หนังสือเล่มนี้ถือเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราเข้าใจภาพปัจจุบันได้มากขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมืองในราชสำนักสยาม ฐานคิดเรื่องระบบอุปถัมภ์ เรื่องการถือครองที่ดินของต่างชาติในไทย ไปจนถึงการขยายเมืองจากการตัดถนนซึ่งส่งผลต่อผังเมืองของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

เนื้อหาในบทความนี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของหนังสือเท่านั้น แต่ยังมีรายละเอียดของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อีกมากให้อ่านและร่วมตั้งคำถาม ใน กษัตริย์และกงสุล ในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save