fbpx

“เทอดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 Honoring The Constitution” ปฏิทิน 100 ปีป๋วย พ.ศ. 2566

“ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม จงสถิตประดิษฐานสมรรถภาพอยู่คู่ดินฟ้า พร้อมกับสิ่งศักดิสิทธิทั้งหลาย

ขอให้ผู้ที่เคารพ และ สักการะรัฐธรรมนูญนี้ จงประสพสิริสุขสวัสดิพิพัฒน์ชัยมงคลทุกประการ เทอญ ฯ”

ปฏิทินป๋วย[1] จัดทำขึ้นโดยโครงการอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป[2] มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เพื่อรำลึกถึงท่านและเหตุการณ์สำคัญของสังคมไทย


ภาพปกปฏิทินป๋วย พ.ศ.2566 “เทอดรัฐธรรมนูญ Honoring The Constitution”


สวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2566 ย้อนกลับไปเมื่อ 90 ปีก่อน ประเทศสยามนับวันขึ้นปีใหม่แบบเดิม เดือนมกราคมยังคงเป็นเพียงเดือนที่ 10 กระนั้นก็นับเป็นมงคลกาลเริ่มต้นก้าวแรกของระบอบใหม่ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงหนึ่งปี พ.ศ. 2476 นับเป็นปีแห่งความสุข เศร้า เหงา และ ทุกข์ ต้องเผชิญอุปสรรคนานัปการสำหรับระบอบที่เพิ่งเริ่มตั้งต้น ด้วยความมีสีสันนี้เองจึงเป็นที่มาของการนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 12 เดือนนั้น ผ่านรูปแบบของ ‘สตอรี่บอร์ด’ ดำเนินเรื่องในแนวทางของ ‘การ์ตูน’ พร้อมหัวข้อและคำบรรยายในแต่ละเดือน ดังมีสาระพอสังเขปดังต่อไปนี้


มกราคม – ความหวัง A New Hope

คณะราษฎรสามารถสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้สำเร็จเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ราษฎรเกิดความหวังด้วยประชาธิปไตยที่เฉิดฉายอันดำเนินงานโดยยึดหลัก 6 ประการ และยึดเหนี่ยว 4 สถาบันหลัก คือ รัฐธรรมนูญ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์


ภาพลายเส้นขาวดำก่อนลงสี เดือนมกราคม


กุมภาพันธ์ – คณะการเมือง Political Party

ทิศทางการปกครองโดยรัฐสภาดูมีความหวัง ผู้ก่อการคณะราษฎรก่อตั้ง ‘คณะการเมือง’ เทียบได้กับพรรคการเมืองในสมัยปัจจุบัน ชื่อ ‘สมาคมคณะราษฎร’ จนเป็นเหตุให้ฝั่งอนุรักษนิยมยื่นขอจดทะเบียนคณะการเมืองเช่นเดียวกัน ชื่อ ‘สมาคมคณะชาติ’ ทว่าเมื่อถึงเดือนนี้ เรื่องราวของคณะการเมืองกลับยังไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล ‘สมาคมคณะราษฎร’ จึงต้องเปลี่ยนชื่อเหลือเพียง ‘สโมสรคณะราษฎร’ ในเวลาต่อมา[3]


มีนาคม – สมุดปกเหลือง The Yellow Book

รัฐบาลเสนอ[4]ให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เขียนโครงการเศรษฐกิจ จนนำไปสู่การนำเสนอ ‘สมุดปกเหลือง’ (เค้าโครงการเศรษฐกิจ) เข้าสู่สภาในปลายเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งถือเป็นช่วงสิ้นปีในการนับวันปฏิทินเดิม สมุดปกเหลืองนี้ถูกฝ่ายอนุรักษนิยมต่อต้านอย่างสูง


ภาพปฏิทินเดือนมีนาคม “สมุดปกเหลือง The Yellow Book”


เมษายน – ปิดสภา ปรีดีนิราศ Parliament Shutdown & The Exile

เมื่อย่างเข้าสู่ปีใหม่วันที่ 1 เม.ย. พ.ศ. 2476 รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ชิงออกพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ปิดสภา[5] และออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ตามมาในวันรุ่งขึ้น 2 เมษายน[6] ทั้งต่อมายังปรากฎ ‘สมุดปกขาว’ (พระบรมราชวินิจฉัย) อันล้วนไม่เป็นคุณต่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) มันสมองผู้ก่อการ 2475 และรัฐมนตรีในขณะนั้น จนต้องเดินทางลี้ภัยสู่ประเทศฝรั่งเศสในวันที่ 12 เมษายน

The Exile ท่านนี้รำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “พระยามโนไม่เพียงแต่ปิดสภาเท่านั้น แต่ยังขับข้าพเจ้าออกจากประเทศโดยหาว่าเปนคอมมิวนิสต์”[7] พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) กับ หลวงพิบูลสงคราม (แปล ขีตตะสังคะ) ได้ไปส่ง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ณ ท่าเรือ  บี.ไอ. ช่วงบ่ายวันนั้น[8]


พฤษภาคม – เพื่อนตาย Dear Comrade

สหายรักของปรีดี คือหลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี) ‘ยอดทหารม้าจากโซมูร์’ 1 ใน 7 ผู้ริเริ่มก่อการคณะราษฎรเมื่อครั้งพวกเขายังศึกษา ณ กรุงปารีส ลงเรือไปส่งปรีดีถึงประเทศสิงคโปร์ หลวงทัศนัยฯ ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงกะทันหันเมื่อ 10 พ.ค. หลังกลับจากการเดินทางครั้งนี้ หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าท่านอาจโดนวางยาพิษ[9]


ภาพลายเส้นขาวดำก่อนลงสี เดือนพฤษภาคม


มิถุนายน – ปฏิวัติซ้ำ Revolution Reloaded

สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มล่อแหลมและสุ่มเสี่ยงต่อการกลับไปสู่ระบอบเดิม จนเมื่อไร้ทางออกและเริ่มเห็นเค้าลางเภทภัยที่จะบังเกิดแก่เหล่าผู้ก่อการ 2475 ในที่สุดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์) จึงร่วมมือกับหลวงพิบูลสงคราม (แปลก) และ หลวงศุภชลาศัย (บุง) พร้อมคณะผู้ก่อการบางท่านรัฐประหารซ้ำอีกครั้งเพื่อขับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน) ออกจากตำแหน่ง[10] พร้อมชูหัวหน้าผู้ก่อการคณะราษฎรขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศแทน


ร่างแรกจากต้นฉบับก่อนปรับแปลงลายเส้นเป็นการ์ตูน


กรกฎาคม – รัฐบาลใหม่ The New Regime

ภายหลังพระยาพหลพลหยุหเสนา (พจน์) หัวหน้าผู้ก่อการคณะราษฎร ได้รับตำแหน่งผู้นำประเทศ  ท่านขอลาออกเนื่องจากคิดว่าตนเองไม่เหมาะสม แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทัดทานไว้[11] ต้นเดือนนี้ศาลาเฉลิมกรุงเปิดทำการครั้งแรก 2 กรกฎาคม[12] ส่วนวังปารุสกวันที่ทำการของรัฐบาล สถานการณ์การเมืองทุกอย่างกลับคืนเข้าสู่ระบอบปกติ รัฐบาลเชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี) กลับมาช่วยชาติบ้านเมืองต่อ


สิงหาคม – กฎหมายพิทักษ์รัฐธรรมนูญ Safeguarding the Constitution

รัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์เช่นเดือนเมษายนซ้ำรอยขึ้นอีก[13] กฎหมายฉบับนี้สำเร็จในวันที่ 12 พฤศจิกายน ปีเดียวกันนี้[14]


กันยายน – ปรีดีนิวัต Pridi’s Return

ณ วันที่ 1 กันยายน นั้นเอง ดร.ปรีดี พร้อมภริยาคู่ชีวิตอำลากรุงปารีส โดยสารเรืออาโคนี มารู ออกจากท่าเรือมาเซลย์ กลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี) เดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 กันยายน ศกนั้น “เจ้าคุณพหลฯ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยคำแสดงความในใจที่ปีติต่อการกลับของนักปฏิวัติหนุ่ม และกอดจูบกันด้วยความรักอย่างจริงใจ เช่นเดียวกับเมื่อวันไปส่ง 12 เมษายน พ.ศ.2476”


ตุลาคม – ปราบกบฏ Conquering The Rebellion

การกลับคืนสู่มาตุภูมิของปรีดียิ่งสร้างความแค้นเคืองให้กับเหล่าปฏิปักษ์คณะราษฎร ครั้งถึงวันที่ 11 ตุลาคม กลุ่มก่อการที่เรียกตนเองว่า ‘คณะกู้บ้านกู้เมือง’ ยาตราทัพจากโคราชมุ่งสู่พระนคร จนเกิดการปะทะกันรุนแรงระดับสงครามกลางเมืองย่านดอนเมืองจนถึงบริเวณบางเขน ในท้ายสุดคณะก่อการล้มเหลว ถอยร่นพ่ายแพ้จนถูกขนานนามว่า ‘กบฏบวรเดช’[15] และหัวหน้าต้องขึ้นเครื่องบินหลบหนีลี้ภัยไปยังอินโดจีน

ด้านรัฐบาลต้องสูญเสียวีรบุรุษผู้พลีชีพพิทักษ์รัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 17 คน ร่างของพวกเขาได้รับการฌาปนกิจอย่างสมเกียรติกลางสนามหลวงในเดือนกุมภาพันธ์ปลายปีเดียวกันนั้น และอัฐิทั้งหมดได้รวมกันบรรจุอยู่ในอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรืออีกนามหนึ่งว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ก่อสร้างและทำพิธีเปิดในอีก 3 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2479[16]

รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)และสภาผู้แทนราษฏรยังได้ประชุมเสนอพระราชบัญญัติเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ช่วยเหลือราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนในการปราบกบฏบวรเดช จากนั้นจึงนำขึ้นเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2476[17]

ภาพปฏิทินเดือนตุลาคม  “ปราบกบฏ Conquering The Rebellion”


พฤศจิกายน – เลือกตั้งครั้งแรก Siam 1st Election

เมื่อบ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบสุขอีกครั้ง ปลายเดือนตุลาคมตลอดจนถึงเดือนพฤศจิกายนทั้งประเทศเริ่มเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งครั้งแรกของสยาม หนังสือพิมพ์ทยอยรายงานผลการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทหนึ่งที่ได้รับการเลือกทางอ้อมผ่านผู้แทนตำบลจาก 70 จังหวัดทั่วทั้งประเทศจนได้  ส.ส. ครบถ้วน 78 ท่านเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร


ธันวาคม – เทอดรัฐธรรมนูญ[18] Honoring The Constitution

รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์) อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับจากจังหวัดสงขลาเพื่อทำพิธีเปิดรัฐสภาอีกครั้ง

การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญหลังกบฏบวรเดชได้เริ่มขับเน้นไปที่อุดมการณ์แบบคณะราษฎร[19] งานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476[20] ได้รับการบันทึกเป็นภาพยนตร์เผยแพร่โดย ‘หอภาพยนตร์’ พร้อมคำบรรยายประกอบว่า

“ภาพของประชาชนที่ต่างหลั่งไหลกันมาชมงานขบวนแห่ขององค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2476 เริ่มต้นที่ขบวนทหารม้า ตามมาด้วยรถหุ้มเกราะ รถขนส่งทหาร ขบวนรถม้า รถถังที่ลากรถปืนใหญ่ติดมา ขบวนแห่ซึ่งมีรูปปั้นม้าจำลอง ขบวนแห่ซึ่งมีช้างจำลองบนหลังช้างมีพานรัฐธรรมนูญตั้งอยู่ ขบวนรถตกแต่งที่ด้านข้างจะเขียนว่า “ความปลอดภัยของชาวทะเล” ขบวนแห่ที่ทำเป็นเรือรบ ขบวนแห่ที่จำลองระเบิดตอร์ปิโด พร้อมกับเขียนไว้ด้านข้างว่า “ตอร์ปิโด สมัย 30 ปีเศษ แต่เรายังใช้อยู่” ภาพเครื่องบินรบใบพัดจำลองที่ทำด้วยจักรยาน ขบวนรถถังจำลองลากเครื่องบินรบใบพัด ต่อด้วยขบวนแห่แฟนซีต่าง ๆ ขบวนแห่ของกระทรวงวัง ขบวนแห่ที่จำลองเป็นเรือสำเภาของหอการค้าไทย ขบวนแห่แฟนซีของหน่วยงานอื่น ๆ ตามมาด้วยขบวนแห่ของเนติบัณฑิตยสภาที่แต่งรถเป็นทรงพานรัฐธรรมนูญ ขบวนแห่ของศาลาเฉลิมกรุง ขบวนแห่ที่ทำเป็นรถไฟ ขบวนรถที่ขับพาหญิงไทยห่มสไบนั่งมาที่กระบะหลังรถ ขบวนแห่ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ขบวนแห่ที่เป็นสัตว์ ทั้ง ม้า ช้าง เสือ ขบวนแห่ที่เป็นชาวนา รถสามล้อลากที่มีคำภาษาจีนคันหนึ่ง ส่วนอีกคันเป็นคำว่าโอวัลติน จากนั้นเป็นภาพผู้คนที่อยู่กันขวักไขว่บนท้องถนน และภาพรถยนต์ขณะวิ่งฝ่าน้ำที่ท่วมอยู่บนถนน ณ สถานที่แห่งหนึ่ง และภาพวิถีชีวิตของผู้คนที่ออกมาเดินเที่ยวทำมาหากินกันที่ถนนหน้าพระลาน จากนั้นเป็นภาพผู้คนที่มาเดินเที่ยวกันที่เรือรบไทยขนาดใหญ่ลำหนึ่ง และภาพบรรดาเรือรบที่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกับเครื่องบินทุ่นลอยน้ำ จากนั้นเป็นภาพเครื่องบินบนท้องฟ้า ภาพตัดมาที่เรือเฉลิมฉลองต่าง ๆ ที่ตกแต่งประดับประดาซึ่งลอยลำอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา และภาพตัดมาที่บริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดารามตรงถนนหน้าพระลาน และภาพท้องสนามหลวงที่มีพลับพลาพิธีตั้งอยู่ และจบที่ภาพเรือต่าง ๆ ที่สัญจรไปมาในแม่น้ำเจ้าพระยา”

ตลอดปี พ.ศ. 2476 จึงนับเป็นปีอันเหนื่อยยากสำหรับช่วงตั้งต้นของระบอบใหม่ แต่ก็จบลงด้วยความสงบสันติยังความไพบูลย์ให้แก่ประเทศนับต่อจากนั้นอีกหลายปี


หน้าเครดิตผู้ร่วมงานปฏิทินป๋วย พ.ศ. 2565 วรรณรูปพานรัฐธรรมนูญ “ส.ค.ส. ปีใหม่”


บันทึกบรรณาธิการ


“การที่คณะราษฎรเรียกสมาชิกประเภท ดี 1 ว่า ‘ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง’ หรือโดยย่นย่อว่า ‘ผู้ก่อการ’ นั้น ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่า บุคคลประเภทนี้เป็นเพียง กองหน้า (Vanguard) ของมวลราษฎรที่มีความต้องการเสรีภาพและความเสมอภาคยิ่งกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”[21]

ปรีดี พนมยงค์

สุนทรพจน์ในวาระกึ่งศตวรรษประชาธิปไตยไทยเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2525


ปีก่อนเมื่อครั้งจัดสร้างปฏิทินป๋วย พ.ศ. 2565[22] นับเป็นวาระรำลึก 90 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ 110 ปีของปฏิวัติ ร.ศ. 130 ผู้เขียนได้รับเกียรติเชื้อเชิญให้เข้าร่วมรังสรรค์ปฏิทินในฐานะบรรณาธิการ จึงได้เลือกเฟ้น 12 สมาชิกคณะราษฎรนำเสนอในรูปแบบของ ‘การ์ตูนอเมริกัน’ (American Comic) ผ่านฝีมือของศิลปินนักวาดภาพมือฉมัง เฉลิมพล จั่นระยับ[23] อีกทั้งอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยังให้เกียรติร่วมกับบรรณาธิการบอกเล่าเรื่องราวของบุคคลทั้ง 12 ท่านนี้ ผ่านคลิปใน youtube รวมถึงเข้าร่วมในงานเปิดตัวปฏิทินที่ตั้งชื่อตามคำนิยามภาษาอังกฤษของปรีดี พนมยงค์ ข้างต้นไว้ว่า “The 2475 Vanguard


ปฏิทินป๋วย พ.ศ. 2565 รำลึก 90 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง The 2475 Vanguard


ด้วยเหตุที่ส่วนตัวผู้เขียนหลงใหลในการ์ตูนทุกชนิด[24] โดยเฉพาะของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเริ่มก่อกำเนิดในระยะเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475[25] ต่อเนื่องจนถึงปฏิทินป๋วยปี พ.ศ. 2566 นี้  ผู้เขียนยังคงได้รับเกียรติให้ดำเนินงานในฐานะบรรณาธิการต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ครั้งนี้แนวทางการนำเสนอยังคงเป็นเรื่องราวสืบต่อจากเหตุการณ์เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยยังคงได้รับความอนุเคราะห์จากนักวาดท่านเดิม คุณเฉลิมพล  รายละเอียดของปฏิทินได้บอกเล่าไปแล้วในบทความข้างต้น ยังคงมีหมายเหตุเพียงเล็กน้อยที่บรรณาธิการต้องการเก็บตกจากผลงานชิ้นนี้



1. ภาพปกปฏิทิน คือภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) คนกลาง หัวหน้าผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ ผู้อ่านประกาศคณะราษฎร ขนาบขวา หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) และ ขนาบซ้าย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) สาเหตุที่ใช้เป็นภาพหลักเนื่องด้วยปี พ.ศ. 2476 นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการเริ่มสถาปนาอำนาจทางการเมืองของสมาชิกคณะราษฎรทั้ง 3 ท่านนี้ ส่วนด้านล่างคืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ได้อันตรธานหายไปนับจากวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม สถาปัตยกรรมนี้นับเป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตยชิ้นสำคัญที่ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ก่อนหน้าการก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ณ ถนนราชดำเนิน ถึง 3 ปีเศษ[26]

2. รูปภาพหลักในแต่ละเหตุการณ์คัดเลือกมาจากภาพถ่ายและภาพวาดจากหนังสือจำนวนมาก ต่างบริบทกันไป การนำเสนอสตอรี่บอร์ดครั้งนี้เป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ อีกทั้งหลากหลายเหตุการณ์เป็นเรื่องที่ไม่พบภาพถ่ายจริง เพราะฉะนั้นการจัดสร้างภาพการ์ตูนเหล่านี้ บ้างก็แปลงมาจากเหตุการณ์จริง เช่น ภาพพระราชพิธีขณะลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 บ้างก็ต้องจำลองขึ้นใหม่โดยอิงจากเค้าโครงของภาพถ่ายชั้นหลัง เช่น การอภิปรายในสภา 2 ภาพ หนึ่ง ในเดือนเมษายน นำมาจากการประชุมสภาในหนังสืองานศพของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม เมื่อปี พ.ศ. 2484 หรือ สอง ในเดือนสิงหาคม นำมาจากการแถลงนโยบายในสภาของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2485[27] รวมถึงเดือนกันยายน ภาพของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ก็ได้มาจากเมื่อครั้งท่านเดินทางกลับจากต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2490[28] ทั้งนี้บนภาพปกปฏิทินปีก่อนหน้า พ.ศ. 2565 บรรณาธิการได้สร้างภาพหมู่จินตนาการ 7 ผู้ริเริ่มก่อการ ณ กรุงปารีสจากภาพต้นฉบับที่ผู้เขียนค้นพบและตีพิมพ์บทความเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2563 ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม[29]

3. ภาพปกหนังสือ ‘สมุดปกขาว’ และ ‘สมุดปกเหลือง’ บรรณาธิการเลือกใช้ชุดหนังสือโดยสำนักพิมพ์ ศ.ศิลปานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2490 และ 2491 ตามลำดับ เนื่องด้วยสุนทรียศาสตร์บนปกคู่นี้ดูจะสามารถสื่อสารในภาพของการ์ตูนชุดนี้ได้งดงาม
 

ภาพปกสมุดปกขาว พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2490
ภาพปกสมุดปกเหลือง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2491


4. วรรณรูปพานรัฐธรรมนูญ ‘ส.ค.ส. ปีใหม่’ ในหน้าเครดิตผู้ร่วมจัดสร้างปฏิทินป๋วย พ.ศ. 2566 นี้ ได้รับการอนุเคราะห์จากซองจดหมายเก่าที่หยิบยื่นให้โดย อัครชัย อังศุโภไคย ผ่านคำแนะนำของ กษิดิศ อนันทนาธร[30]



5. เดือนกุมภาพันธ์ ในภาพด้านบนมุมซ้ายปรากฏ ‘โลโก้ทรงหยดน้ำของ สมาคมคณะราษฎร’ หน้าเหรียญปรากฏตราอุณาโลม หมายถึงทหารบก ตราสมอ หมายถึงทหารเรือ ส่วนคันไถ หมายถึงพลเรือน รวงข้าวที่อยู่ขนาบทั้งสองข้างหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ระหว่างช่อรวงข้าวเป็นรูปเล่มหนังสือ อันอาจหมายถึงรัฐธรรมนูญ[31]

6. เดือนพฤศจิกายน ภาพมุมล่างด้านซ้ายคือเข็มกลัดผู้แทนตำบลที่ทำหน้าที่เข้าไปเลือกผู้แทนราษฎร ด้านโปสเตอร์จำลองจากการเลือกตั้งครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2480 ของผู้สมัครจากจังหวัดธนบุรี โดยแทนรูปด้วย ส.ส.ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. จังหวัดธนบุรีคนแรก อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตามสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่[32]

7. เดือนธันวาคม ฉายภาพหน้าหลังเหรียญปราบกบฏ รูปลักษณ์เป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 23 มิลลิเมตร ด้านหน้ามีภาพสมุดรัฐธรรมนูญวางบนพานแว่นฟ้าสองชั้น อยู่ภายในวงพวงมาลัยชัยพฤกษ์ แผ่รัศมีกระจายทั่วมณฑล ด้านหลัง มีรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์ ยืนลอยอยู่เหนือตัวอักษรตามขอบล่างว่า ‘ปราบกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖’ ภายใต้ห่วงอันมีอักษรว่า ‘พิทักษ์รัฐธรรมนูญ’ แพรแถบสีธงไตรรงค์ กว้าง 28 มิลลิเมตร ห้อยบนแพรแถบมีเข็มโลหะทองแดงรมดำ จารึกอักษรว่า ‘สละชีพเพื่อชาติ’ [33]

8. ตารางปฏิทินนอกเหนือจากวันสำคัญต่างๆ วันหยุดราชการ และวันพระแล้ว อัตลักษณ์พิเศษของปฏิทินป๋วยที่ยังคงดำเนินมาทุกปีคือการแสดงภาพรถถังไว้ในวันรัฐประหารครั้งสำคัญที่บังเกิดขึ้นนับจากปี พ.ศ. 2475

สัญลักษณ์รถถังในปฏิทินแสดงถึงวันรัฐประหารในอดีตกาล


สำหรับผู้สนใจปฏิทินป๋วย พ.ศ.2566 / ค.ศ.2023 “เทอดรัฐธรรมนูญ” สามารถอุดหนุนผ่านเฟซบุ๊ค 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อี๊งภากรณ์ ที่นี่



พานแว่นฟ้าเทินรัฐธรรมนูญ พร้อมหลักหกประการ

หนังสือ “เทอดรัฐธรรมนูญ” พิมพ์จำหน่ายในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476




[1]100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์  https://www.facebook.com/Puey100

[2] มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป https://www.snf.or.th/2019/about-snf/

[3] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, “คณะการเมือง” หลังการปฏิวัติสยาม : พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรค, พิมพ์ครั้งแรก 2560, (ธรรมศาสตร์), น.150-155.

[4] กรมโฆษณาการ, คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่องกบฏ, พ.ศ.2482, (พานิชศุภผล), น.18.

[5] พระราชกฤษฎีกา ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และ ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 หน้า 1-4 วันที่ 1 เมษายน 2476.

[6] พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 หน้า 10-12 วันที่ 2 เมษายน 2476.

[7] หนังสือพิมพ์กรุงเทพวารศัพท์ ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2496

[8] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ปรีดีนิราศ ปรีดีนิวัติ พ.ศ.2476 เข้าถึงได้จาก https://pridi.or.th/th/content/2021/04/666

[9] นิร นิรันดร (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร) , ประชาธิปไตยเสทือน, พ.ศ.2492, (การพิมพ์ไชยวัฒน์), น.156.

[10] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517), พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2517, (ช.ชุมนุมช่าง), น.69.

[11] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, อ้างแล้ว, น.80-83.

[12] ครบรอบ 89 ปี โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 เข้าถึงได้จาก https://www.salachalermkrung.com/?c=special&event=139

[13] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, อ้างแล้ว, น.92-93.

[14] พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 พฤศจิกายน 2476 เล่ม 50 หน้า 635-639.

[15] ณัฐพล ใจจริง, กบฏบวรเดช เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2476, พิมพ์ครั้งแรก 2559, (มติชน).

[16] ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ (คณะ) ราษฎร, พ.ศ.2562, (มติชน), น.221-291.

[17] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476 เล่ม 50 หน้า 806-808 วันที่ 9 ธันวาคม 2476

[18] หนังสืองานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2476 จัดพิมพ์โดยมีหลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) หนึ่งในเจ็ดผู้ริเริ่มก่อการ ณ กรุงปารีส พิมพ์หนังสือโดยสะกดว่า “เทอด” ในปฏิทินนี้จึงคงคำสะกดแบบต้นฉบับโบราณกาลนี้ไว้ แทนที่คำว่า “เทิด” ตามแบบราชบัณฑิตยสถานปัจจุบัน

[19] ชาตรี ประกิตนนทการ, ศิลปะ – สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์, พิมพ์ครั้งที่สอง 2563, (มติชน), น.220.

[20] ดูภาพเคลื่อนไหวงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2476 ได้จาก Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์) เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=5WqHOitmNkA

[21] ปรีดี พนมยงค์, คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน

[22] เปิดตัว #ปฏิทินป๋วย2565 เรื่องราวของคณะราษฎรผ่านศิลปะและความทรงจำ เข้าถึงได้จาก https://thestandard.co/puey-ungphakorn-calendar-2022/

[23] ‘คณะราษฎร’ Comic ลายเส้นประชาธิปไตย เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/watch/?v=3095016984078796  และอ่านบทสัมภาษณ์ “ถ้าไม่ได้วาดรูปการเมือง ผมอึดอัดนะ” บิ๊ก เฉลิมพล ศิลปินที่หยิบการเมืองผสมกับคอมิกให้เป็น Amazing Thailand https://adaymagazine.com/the-amazing-thailand/

[24] สำหรับผู้สนใจการ์ตูนไทย ดู ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์, 100 ปี การ์ตูนไทย จากสยามคลาสสิกสู่ไทยโมเดิร์น (การ์ตูนที่รัก ลำดับที่ 10), พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2556, (มติชน). และ นิโคลาส เวร์สแตปเปิน, การ์ตูนไทย ศิลปะและประวัติศาสตร์, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2564, (ริเวอร์บุ๊คส์).

[25] “While the form originated in 1933, American comic books first gained popularity after the 1938 publication of Action Comics, which included the debut of the superhero Superman.” ดู https://en.wikipedia.org/wiki/American_comic_book

[26] ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, ความเป็นประชาธิปไตยในอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กับ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ เข้าถึงได้จาก https://www.the101.world/democracy-monument/

[27] Diamond Jubilee of Thai National Assembly, First Publication 1992, p.74.

[28]วิดีโอคลิป: คณะทูตสันถวไมตรีขณะเดินทางถึง สถานีวิคตอเรีย กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดย British Pathé เข้าถึงได้จาก https://pridi.or.th/th/content/2020/11/483

[29] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ข้างหลังภาพ “คณะราษฎร” ณ กรุงปารีส, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 41 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2563, น.18-26.

[30] อ่านผลงานของ กษิดิศ อนันทนาธร ได้ที่ https://www.the101.world/author/kasidit-ananthanathorn/

[31] ณัฐพล ใจจริง, ความหมายของโลโก้พรรคคณะราษฎร : จากสมาคมนักสู้ สู่สโมสรในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_429059

[32] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, พระบรมราชานุสาวรีย์ “พระเจ้าตาก” ที่วงเวียนใหญ่ 32 ปีที่ “ทองอยู่” ริเริ่ม-ผลักดันจนสำเร็จ เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_20042

[33] เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ https://th.wikipedia.org/wiki/เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save