fbpx

รื้อการเรียนการสอนนิติศาสตร์ไทย เปลี่ยน ‘นักกฎหมายใบ้’ ให้เป็น ‘ผู้พิทักษ์สิทธิประชาชน’

หลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 สังคมไทยคงจะตระหนักอย่างชัดแจ้งแล้วว่าการเข้าสู่อำนาจและการสืบทอดอำนาจอย่างเป็นระบบของเผด็จการอำนาจนิยมและจารีตนิยม ที่มุ่งปิดกั้นเจตจำนงของประชาชน กดทับสิทธิเสรีภาพ และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย คงจะไม่มีทางเกิดขึ้น หากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากกลุ่มนักกฎหมายที่พร้อมรับใช้ให้บริการแก่เผด็จการ

การรับใช้และสนับสนุนระบอบเผด็จการโดยนักกฎหมายมักจะเกิดขึ้นใน 5 รูปแบบ รูปแบบแรก คือการสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจรัฐผ่านคำพิพากษาและคำอธิบายในทางวิชาการ รูปแบบที่สอง คือการสร้างกลไกทางกฎหมายที่ซับซ้อนและแยบคายเพื่อช่วยให้เผด็จการสืบทอดอำนาจและดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างกลมกลืนและชอบธรรมทั้งแบบเปิดเผยและซ่อนรูป รูปแบบที่สาม คือการสร้างระบบและกลไกทางกฎหมายในการกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชน รูปแบบที่สี่ คือการให้ความร่วมมือกับเผด็จการและการใช้ดุลยพินิจของตนเองอย่างอคติในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และรูปแบบที่ห้า คือการนิ่งเฉยปล่อยให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกละเมิดอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว

คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดระบบการศึกษากฎหมายของไทยซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2440 จึงไม่สามารถผลิตนักกฎหมายที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยและก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับกลายเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการสร้างความชอบธรรมและขับเคลื่อนระบอบเผด็จการอำนาจนิยมและจารีตนิยม

คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าต้นเหตุสำคัญของปัญหาคือ การที่กลุ่มนักกฎหมายที่ทำหน้าที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะผู้พิพากษาและอัยการ ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน จึงเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้พิพากษาและอัยการโดยประชาชนหรือการรับรองการแต่งตั้งผู้พิพากษาและอัยการโดยผู้แทนประชาชน แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่าปัญหา ‘ความไม่ยึดโยงกับประชาชน’ ของนักกฎหมายไทย ไม่ได้เกิดจากความไม่ยึดโยงในเชิงรูปแบบ อย่างการเลือกตั้งโดยประชาชนหรือการรับรองโดยผู้แทนประชาชน แต่เกิดจากความพิกลพิการของ ‘ระบบการศึกษากฎหมาย’ ทั้งในทางวิชาการและการอบรมในทางวิชาชีพ ไม่ได้ทำให้นักกฎหมายรู้สึกว่าตนมีภารกิจต่อประชาชนในฐานะ ‘ผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’

ระบบการศึกษาแบบแยกส่วน

การศึกษากฎหมายของไทยในระบบอุดมศึกษาและในทางวิชาชีพเดินตามแบบตะวันตกตั้งแต่เมื่อ 125 ปีที่แล้ว โดยมีความเก่าแก่เป็นรองเพียงแค่วิชาชีพแพทย์ กระบวนการผลิตนักกฎหมายของไทยเริ่มต้นด้วยระบบรวมศูนย์ที่เป็นเอกภาพ กล่าวคือ การศึกษาขั้นพื้นฐานในทางทฤษฎี การอบรมในทางวิชาชีพ การทดสอบความรู้ทั้งในชั้นทฤษฎีและปฏิบัติ เกิดขึ้นที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมทั้งหมด ผู้ที่สอบผ่านการศึกษาอบรมจากโรงเรียนกฎหมายจะได้รับสถานะเนติบัณฑิต และไม่นานหลังจากนั้นก็จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษา อัยการ หรือตำแหน่งราชการอื่นๆ การศึกษาทางทฤษฎีและการอบรมทางปฏิบัติที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรเดียวทำให้การบริหารจัดการกระบวนการผลิตนักกฎหมายทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมีความสอดคล้องต้องกันอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับแนวทางการจัดการศึกษากฎหมายในประเทศต้นแบบทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นคอมมอนลอว์อังกฤษ หรือซีวิลลอว์ฝรั่งเศสและเยอรมัน

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของการจัดระบบการศึกษากฎหมายไม่ได้อยู่ที่การมีเพียงองค์กรเดียวทำหน้าที่กำกับดูแลกระบวนการผลิตนักกฎหมาย แต่อยู่ที่ ‘ความเป็นเอกภาพของกระบวนการผลิตนักกฎหมาย’ ซึ่งจะต้องทำให้การจัดการศึกษาทางทฤษฎีและการฝึกอบรมในทางปฏิบัติทำงานสอดคล้องต้องกันอย่างเป็นระบบ เพราะฉะนั้นระบบการศึกษากฎหมายอาจจะถูกขับเคลื่อนโดยหลากหลายองค์กรก็ได้ แต่องค์กรเหล่านั้นต้องทำงานสอดประสานกันอย่างใกล้ชิดและเป็นระบบ ที่สำคัญจะต้องมีเวทีให้องค์กรต่างๆ ได้ปรึกษาหารือและตัดสินใจร่วมกันในการแก้ปัญหา ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตนักกฎหมาย

การจัดการศึกษาและอบรมในทางวิชาชีพอย่างเป็นเอกภาพเป็นรูปแบบมาตรฐานที่ใช้กันโดยทั่วไปในวิชาชีพต่างๆ ทั่วโลก แม้แต่วิชาชีพแพทย์ วิชาชีพวิศวกร และวิชาชีพบัญชีในประเทศไทยก็มีโครงสร้างในการจัดการศึกษาและอบรมในทางวิชาชีพที่เป็นเอกภาพ มีการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างฝ่ายวิชาการและฝ่ายวิชาชีพในการกำหนดนโยบายและควบคุมกระบวนการผลิตผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายของตน มีเพียงวิชาชีพกฎหมายของไทยที่มีการจัดการศึกษาและอบรมในทางวิชาชีพแบบแยกส่วนและไม่เป็นเอกภาพ แตกต่างจากวิชาชีพกฎหมายในประเทศอื่นๆ และแตกต่างจากวิชาชีพอื่นในประเทศไทย

การศึกษาอบรมกฎหมายในระดับเนติบัณฑิต: รากเหง้าของปัญหานิติศาสตร์แยกส่วน

ภายหลังการโอนโรงเรียนกฎหมายไปอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2476 และต่อมามีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ พ.ศ. 2477 การศึกษาและอบรมในทางวิชาชีพกฎหมายยังคงมีความเป็นเอกภาพ จนกระทั่งมีการจัดตั้งสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (‘สำนักอบรมเนติ’) ขึ้นเมื่อ พ.ศ.​ 2491

เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานของนานาประเทศ การเกิดขึ้นของสำนักอบรมเนติเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ และ ‘ถูกต้อง’ แต่สิ่งที่ ‘ผิดปกติ’ และ ‘ไม่ถูกต้อง’ คือ ‘รูปแบบและวิธีการของการศึกษาอบรม’

ความผิดปกติและไม่ถูกต้องนี้เกิดจากการที่รัฐไม่ได้จัดวางบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยและสำนักอบรมเนติในกระบวนการผลิตนักกฎหมายไว้อย่างชัดเจนและเป็นระบบตั้งแต่แรก สำนักอบรมเนติที่ควรมีภารกิจในการทำหน้าที่อบรมความรู้และทักษะในทางปฏิบัติ และทดสอบความรู้ผู้เข้าอบรมทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ กลับกลายเป็นเพียงโรงเรียนสอนหลักทฤษฎีกฎหมายผ่านตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ทั้งๆ ที่การสอนหลักทฤษฎีกฎหมายผ่านตัวอย่างที่หลากหลายรวมทั้งคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหน้าที่หลักและทำกันอยู่แล้วเป็นปกติในมหาวิทยาลัยต่างๆ

ในความเข้าใจของชาวโลก เมื่อกล่าวถึง ‘เนติบัณฑิต’ พวกเขาก็จะเข้าใจตรงกันว่า หมายถึงนักกฎหมายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งในทางทฤษฎีกฎหมายและประสบการณ์ในทางปฏิบัติที่เพียงพอสามารถปฏิบัติงานกฎหมาย การที่สำนักอบรมเนติไม่สามารถฝึกปฏิบัตินักกฎหมายให้เป็นเนติบัณฑิตได้อย่างแท้จริง คงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สภาทนายความต้องจัดหลักสูตรอบรมการว่าความสำหรับผู้ที่จะขอใบอนุญาตว่าความแยกต่างหาก ทำให้การมีคุณวุฒิเนติบัณฑิตไทยอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะเป็น ‘ทนายว่าความ’ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาดในสายตาชาวโลก

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยที่ควรทำให้หน้าที่เตรียมนักกฎหมายให้มีความรู้พื้นฐานในทางทฤษฎี มีความสามารถโต้แย้งในทางปรัชญากฎหมาย และมีทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้และการปรับตัวในการใช้ชีวิตและการทำงาน กลับถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ที่ควรเป็นภารกิจหลักของสำนักอบรมเนติ คือการฝึกอบรมทางปฏิบัติให้กับนักศึกษากฎหมาย

การไม่มีกลไกในการปรึกษาหารือและกำหนดนโยบายในการผลิตนักกฎหมายอย่างเป็นเอกภาพ ทำให้การศึกษากฎหมายและการอบรมในทางวิชาชีพถูกแยกส่วนออกจากกัน ขึ้นอยู่กับองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ที่ได้รับตามกฎหมาย แต่ละองค์กรต่างมีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาอบรมทางกฎหมายภายใต้กฎหมายเฉพาะของตน องค์กรเหล่านี้จะไม่ก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของกันและกัน และไม่มีเวทีในการปรึกษาหารือเพื่อกำหนดนโยบาย พัฒนา ควบคุมและกำกับการจัดการเรียนการสอนและการจัดอบรมในทางนิติศาสตร์ร่วมกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

มหาวิทยาลัยไม่เพียงต้องคอยปรับตัวตามสำนักอบรมเนติ แต่ต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงในทางนโยบายของคณะกรรมการตุลาการและคณะกรรมการอัยการ ซึ่งมีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติทางการศึกษาของผู้ที่จะสมัครสอบเป็นผู้พิพากษาและอัยการ การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยยังอยู่ภายใต้กำกับหรืออิทธิพลของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหลักสูตรของกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่มีลักษณะเคร่งครัด เหมาเข่ง และไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของวิชานิติศาสตร์

ผลิตนักกฎหมายให้เป็น ‘ตู้ฎีกาเคลื่อนที่’

ผลกระทบสำคัญที่สุดของรูปแบบและวิธีการศึกษาอบรมกฎหมายที่ ‘ไม่ปกติ’ ของสำนักอบรมเนติที่มีต่อระบบกฎหมายไทยและสังคมไทยในภาพรวม ไม่ใช่ปัญหาการผลักภาระการฝึกปฏิบัติในทางวิชาชีพให้มหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยินดีที่จะช่วยให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะทุกด้านที่จำเป็นในการทำงานตั้งแต่ระดับชั้นมหาวิทยาลัย แต่เป็นปัญหาของการมุ่งเน้นหล่อหลอมนักหมายให้เป็น ‘ตู้ฎีกาเคลื่อนที่’

จริงอยู่ที่เนติบัณฑิตยสภาไม่ได้บังคับให้มหาวิทยาลัยต้องจัดหลักสูตรโดยเปิดสอนวิชาเหมือนกับวิชาที่จัดสอบที่สำนักอบรมเนติ แต่เมื่อการทดสอบเป็นเนติบัณฑิต มุ่งเน้นทดสอบความรู้ในทางทฤษฎีและความสามารถในการจดจำคำพิพากษาศาลฎีกา มหาวิทยาลัยจำนวนมากจึงจำเป็นต้องปรับหลักสูตรของตนให้สอดคล้องกับรูปแบบการทดสอบเป็นเนติบัณฑิต ในขณะที่นักศึกษากฎหมายจำนวนมากก็มุ่งเน้นการเตรียมตัวสอบเป็นเนติบัณฑิตโดยการ ‘ติว’ และ ‘เก็งฎีกา’ เพื่อให้สอบผ่าน

การศึกษาอบรมเพื่อให้นักกฎหมายเป็น ‘มนุษย์’ เป็น ‘บัณฑิต’ ที่มี ‘จิตวิญญาณของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย’ จึงถูกละเลยไปอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจโดยมหาวิทยาลัยและตัวนักศึกษากฎหมายเอง

ปัญหาการมุ่งเน้นการผลิตตู้ฎีกาเคลื่อนที่ยังถูกตอกย้ำซ้ำเติมโดยรูปแบบการคัดเลือกและระบบความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของ ‘ผู้พิพากษา’ และ ‘อัยการ’ อีกด้วย

ในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยเส้นสายและการอุปถัมภ์ ระบบคัดเลือกผู้พิพากษาและอัยการที่มุ่งเน้นการทดสอบความรู้ในทางทฤษฎีในทำนองเดียวกับการทดสอบเป็นเนติบัณฑิต และการใช้อันดับของการสอบคัดเลือกกำหนดความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ตลอดชีวิตราชการ ดูเหมือนจะเป็นระบบที่โปร่งใสและเป็นธรรมที่สุด ความหวังที่จะได้ทนายความหรือผู้ที่ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่มีประสบการณ์และเป็นที่ยอมรับมาเป็นผู้พิพากษาและอัยการเช่นในระบบการคัดเลือกผู้พิพากษาและอัยการของต่างประเทศจึงยังคงเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ สำหรับสังคมไทย

การมุ่งเน้นทดสอบความรู้ทางทฤษฎีเพื่อคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาและอัยการตามแนวทางที่สอดรับกับรูปแบบการเรียนการสอนและการสอบในชั้นเนติบัณฑิต คือการมุ่งเน้นที่จะคัดเลือก ‘ตู้ฎีกาเคลื่อนที่’

ความสำเร็จของนักกฎหมายไทย: อายุน้อยที่สุด อันดับดีที่สุด

เมื่อปัจจัยความสำเร็จของวิชาชีพกฎหมายโดยเฉพาะสายผู้พิพากษาและอัยการขึ้นอยู่กับอายุในเวลาที่สอบได้และอันดับของการสอบ เป้าหมายของนักศึกษากฎหมายจำนวนมากและแนวทางในการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยหลายแห่งจึงมุ่งเน้นไปที่การสอบเป็นเนติบัณฑิต เป็นผู้พิพากษาและอัยการ ให้ได้เร็วที่สุดและให้ได้อันดับการสอบดีที่สุด

ในด้านหนึ่งก็ดูจะเป็นระบบการคัดเลือกที่เสมอภาคและเป็นธรรมที่สุดในสังคมไทย แต่ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไปและของนักกฎหมายในระบบกฎหมายอื่นๆ คงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจและน่ากังวลใจในเวลาเดียวกันที่กระบวนการสร้างนักกฎหมายและการวัดความสำเร็จของนักกฎหมายไทยอยู่ที่การมุ่งเน้นอ่านหลักทฤษฎี ท่องจำคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อสอบให้เป็นเนติบัณฑิต เป็นผู้พิพากษาหรืออัยการให้ได้เร็วที่สุดและได้อันดับดีที่สุด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเริ่มขยับตัวเปิดหลักสูตร pre-degree เพื่อให้นักเรียนมัธยมศึกษาสามารถลงเรียนวิชากฎหมายของหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตเพื่อสะสมหน่วยกิตไว้ล่วงหน้าก่อนเข้าเรียนนิติศาสตรบัณฑิตในมหาวิทยาลัย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดจากให้คุณค่ากับการเป็นนักกฎหมายที่อายุน้อยที่สุดและสอบอันดับดีที่สุดในสังคมไทย

ทิศทางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสวนทางกับเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนคุณสมบัติของผู้เข้าเรียนปริญญาตรีกฎหมายจากการมีวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นวุฒิปริญญาตรีสาขาอื่นได้ ในทำนองเดียวกับหลักสูตร Juris Doctor (JD) ของสหรัฐอเมริกาและหลักสูตรนิติศาสตร์ภาคบัณฑิตที่เปิดสอนกันอยู่แล้วในหลายมหาวิทยาลัยของไทย เหตุผลสำคัญคือต้องการให้ผู้ศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยมีวุฒิภาวะและประสบการณ์ชีวิตพอสมควร สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษากฎหมายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย การศึกษาอบรมเพื่อให้นักกฎหมายเป็น ‘มนุษย์’ เป็น ‘บัณฑิต’ ที่มี ‘จิตวิญญาณของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย’ อาจเป็นเพียงแค่เป้าหมายในกระดาษเพื่อให้ดูโก้หรูสำหรับการโฆษณาเท่านั้น

จากนักศึกษาหัวก้าวหน้าสู่ ‘นักกฎหมายใบ้

ต้องขอบคุณความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ความฝันที่สังคมไทยอยากเห็นมาหลายทศวรรษเกิดขึ้นได้จริง นั่นคือการที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ของไทยมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และทัศนคติในเชิงวิพากษ์ ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย (ประถมและมัธยมศึกษา) อาจจะพัฒนาก้าวหน้าขึ้นบ้าง แต่น่าสงสัยว่าดีขึ้นจริงหรือไม่ เหตุใดกระทรวงอุดมศึกษาฯ ยังคงกำหนดให้มหาวิทยาลัยบังคับให้นักศึกษาทุกคนต้องเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปถึง 30 หน่วยกิต ทั้งที่นักศึกษาต้องผ่านวิชาพื้นฐานทั่วไปมาแล้วในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาจารย์สอนกฎหมายคงสังเกตเห็นคล้ายๆ กันว่า นักศึกษากฎหมายมีความรอบรู้ มีความสามารถในการวิพากษ์ และมีความตื่นตัวกับปัญหาของบ้านเมืองเป็นอย่างมาก มากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน คุณสมบัติของนักศึกษากฎหมายที่ใฝ่ฝันกันมาตลอดสร้างความตื่นเต้นว่าสังคมไทยกำลังได้นักกฎหมายพันธุ์ใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตย ช่วยกันปฏิวัติระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อสร้างและค้ำจุนนิติรัฐในสังคมไทย

แต่ปัญหาคือ เราจะสร้างนักกฎหมายพันธุ์ใหม่นี้อย่างไร เมื่อเป้าหมายหลักของกระบวนการผลิตนักกฎหมายยังคงเป็นการสร้างตู้ฎีกาเคลื่อนที่ และความสำเร็จของนักกฎหมายคือการเป็นนักกฎหมายที่อายุน้อยที่สุดและสอบได้อันดับดีที่สุด

เราได้นักศึกษากฎหมายหัวก้าวหน้ากล้าโต้แย้งโต้เถียงเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย แต่กลับค่อยๆ เงียบเสียงลงเมื่อกลายเป็นบัณฑิตเดินออกไปจากรั้วมหาวิทยาลัย ระบบการศึกษาอบรมหลังจากนั้นไม่ได้มุ่งเน้นสร้าง ‘นักกฎหมายหัวก้าวหน้า’ แต่เป็น ‘นักกฎหมายหัวสี่เหลี่ยมที่อยู่ในกรอบ’ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจาก ‘นักศึกษากฎหมายหัวก้าวหน้า’ กลายเป็น ‘นักกฎหมายใบ้’ ในท้ายที่สุด

จะปฏิรูปการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ต้องปฏิรูปกระบวนการผลิตนักกฎหมาย

การปฏิรูปการเมืองและกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับสังคมไทย ประสบการณ์ของคนไทยตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนส่วนใหญ่คงได้ข้อสรุปตรงกันว่า การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ระบบการเมือง และกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดเพื่อให้สังคมไทยหลุดพ้นจากวัฏจักรของเผด็จการอำนาจนิยมและจารีตนิยมอย่างเด็ดขาด แต่หากการปฏิรูปการเมืองและกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รวมการปฏิรูปกระบวนการผลิตนักกฎหมายอยู่ด้วย ไม่ว่าสังคมไทยจะปฏิรูปการเมืองและกฎหมายอีกสักครั้ง เราก็จะมีนักกฎหมายพันธุ์เดิมอีกหลายคนที่พร้อมจะเป็น ‘เนติบริกร’ หรือพร้อมที่จะนิ่งเฉยเพื่อให้เผด็จการฟื้นคืนชีพและสืบทอดอำนาจอย่างไม่มีวันจบสิ้น

การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า จะต้องมีวาระการปฏิรูปกระบวนการผลิตนักกฎหมายอยู่ด้วย

ถ้าเราสามารถจัดระบบการเรียนการสอนในทางทฤษฎีและฝึกอบรมในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นระบบ เป็นเนื้อเดียวกัน เปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตนักกฎหมายที่เน้นเพียงแค่การสร้างตู้ฎีกาเคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลงค่านิยมความสำเร็จของนักกฎหมายที่ต้องเป็นนักกฎหมายที่อายุน้อยที่สุด แล้วพยายามปลูกฝังตั้งแต่วันแรกของการเป็นนักศึกษากฎหมายจนถึงวันสุดท้ายที่เป็นเนติบัณฑิต ว่าการเดินเข้าสู่วิชาชีพกฎหมายคือการปวารณาตนรับใช้สังคม การเป็นนักกฎหมายคือการเป็น ‘ผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ ให้กับคนในสังคม เนติบัณฑิตจะต้องเป็นผู้ที่รอบรู้กฎหมายทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติและเป็นผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน

ถ้าระบบกฎหมายไทยไม่สามารถสร้างเนติบัณฑิตที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ได้ เจตจำนงและสิทธิเสรีภาพของคนไทยก็จะถูกกดทับด้วยอำนาจเผด็จการอยู่เรื่อยไปไม่มีวันจบสิ้น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save