fbpx

‘เมื่อโลกปรับ นิติศาสตร์ไทยจึงต้องเปลี่ยน’ มองหนทางปฏิรูประบบยุติธรรมไทย กับ สุรพล นิติไกรพจน์

แต่ไหนแต่ไรมา เราเติบโตขึ้นในสังคมที่เชื่อว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือรักษาและอำนวยไว้ให้เกิดความยุติธรรม ดังคำกล่าวที่ว่าทุกคนล้วนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ควบคู่ไปกับการที่นักกฎหมายหรือนักนิติศาสตร์ก็ถูกคาดหวังให้ใช้กฎหมายอย่างเป็นกลางและเป็นธรรมเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในช่วงทศวรรษหลังมานี้ ชุดความคิดดังกล่าวเริ่มถูกสั่นคลอนมากขึ้นเรื่อยๆ สังคมไทยเริ่มตั้งคำถามกับการบังคับใช้กฎหมายที่คล้ายจะไม่ใช่เครื่องมือประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรม หากกลับกลายเป็นโซ่ตรวนผูกมัดสิทธิเสรีภาพ และกลายเป็นดาบของผู้ถืออำนาจที่คล้ายจะใช้กฎหมายเพื่อสนองความต้องการของตนเอง

ทั้งหมดนี้ทำให้กระแสเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเริ่มก่อตัวขึ้นในสังคม พร้อมๆ กับการตั้งคำถามกลับไปยัง ‘คณะนิติศาสตร์’ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตนักกฎหมายหรือนักนิติศาสตร์ – ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้เป็นผลมาจากการเรียนการสอนนิติศาสตร์หรือไม่ และเราต้องทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาดังกล่าว พร้อมกับผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถตอบรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

หนึ่งในความพยายามเพื่อตอบคำถามดังกล่าวคือ การตั้ง ‘คณะอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติ’ ขึ้น เพื่อยกเครื่องการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในไทย รวมถึงการพัฒนาความรู้และทักษะของผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ประเด็นน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า อะไรคือข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในไทย และข้อเสนอเหล่านี้จะสอดรับและช่วยแก้ปัญหาในปัจจุบันได้อย่างไร

101 สนทนากับ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ว่าที่นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติ มาแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องข้อเสนอปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์ไทย และแนวทางการสร้างนักกฎหมายพันธุ์ใหม่เพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากรายการ 101 One-On-One EP.254 : เปลี่ยนนิติศาสตร์ เปลี่ยนระบบยุติธรรมไทย กับ สุรพล นิติไกรพจน์ ออกอากาศในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565

การเรียนการสอนนิติศาสตร์ในปัจจุบันต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง และคณะอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติมีความเกี่ยวข้องและจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร

ผมขอตั้งต้นที่ตรงนี้ก่อนว่า เราเริ่มมีการเรียนการสอนกฎหมายนับมาจนถึงวันนี้ก็น่าจะ 126 ปีพอดี คือเริ่มมีโรงเรียนสอนกฎหมายครั้งแรกในปี 2440 สมัยรัชกาลที่ 5 และมีการจัดการเรียนการสอนต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เพราะบ้านเมืองต้องการคนรู้หลักเกณฑ์ กติกา หรือตัดสินชี้ขาดได้

แต่สิ่งที่แปลกคือเราจัดการเรียนการสอนแบบนี้มาร้อยกว่าปี แต่กลับไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าที่เราเรียนหรือสอนกันมานั้นเป็นอย่างไร ก็ปล่อยผ่านไปเรื่อยๆ คือจริงๆ หลักสูตรก็คงมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง มีการพูดถึงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือคริปโตเคอร์เรนซี แต่ถามว่ากรอบใหญ่ของการเรียนกฎหมายในไทยเคยเปลี่ยนไหม เท่าที่ผมทราบ เราไม่เคยทบทวนกันมาก่อนเลยจนกระทั่งมีคณะอนุกรรมการสภานิติศึกษานี้เกิดขึ้น เพราะคนเรียนคนสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยเห็นปัญหาและเสนอเรื่องไปที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา จนกลายมาเป็นคณะอนุกรรมการที่ประกอบด้วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ 12 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะทำร่างข้อเสนอในการปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์เบื้องต้น และจะนำร่างฯ นี้ไปรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ถ้าถามต่อว่าทำไมต้องปฏิรูป ประเด็นแรกคือ สังคมมองว่ากฎหมายเป็นเหมือนกติกาดูแลความขัดแย้งในสังคม แต่กฎหมายก็ไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย และยังมีปัญหาภายในของระบบนิติศาสตร์เอง และประเด็นที่สอง ผมคิดว่าขนาดของปัญหามันใหญ่มาก เรามีคณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศเกือบร้อยแห่ง แต่ละแห่งก็มีคนเรียนเยอะมาก แต่ละปีเรามีบัณฑิตนิติศาสตร์จบใหม่เฉลี่ยประมาณเกือบหมื่นคนทุกปี และคนรุ่นก่อนๆ ก็ยังอยู่ด้วย คนเลยตั้งคำถามว่า ที่เกิดปัญหาขึ้นเพราะเราผลิตคนออกมาไม่ดี ไม่ถูกต้องหรือเปล่า จึงกลายเป็นโจทย์ที่นำมาสู่ข้อเสนอและเป็นจุดเริ่มต้นของเราในครั้งนี้

เท่าที่ทราบคือคณะอนุกรรมการฯ มีการประชุมกันมาก่อนหน้าประมาณ 10 เดือนแล้วเพื่อจัดทำร่างข้อเสนอการปฏิรูปการเรียนการสอนกฎหมาย คุณพอสรุปให้ฟังได้ไหมว่าปัญหาในระบบการเรียนการสอนมีอะไรบ้าง

ผมคิดว่ามีอยู่สัก 3-4 ประเด็นที่เป็นเรื่องใหญ่ โดย เรื่องแรก และเป็นเรื่องที่ผมพูดไปบ้างแล้วคือการเรียนสอนนิติศาสตร์ในไทย ต้องเท้าความก่อนว่าหลังจากเริ่มตั้งโรงเรียนกฎหมายมาได้ 17-18 ปี ก็มีการตั้งเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพแห่งแรกของไทยขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 6 หลังจากนั้น ในช่วงหลังปี 2500 เป็นต้นมา เรามีคณะนิติศาสตร์เกิดขึ้นเยอะมาก คนก็อยากเรียนเยอะด้วย ตอนนี้เองที่เนติบัณฑิตยสภาซึ่งต้องรับบัณฑิตนิติศาสตร์มาอบรมต่อก็เริ่มเข้ามากำหนด วางกฎเกณฑ์ ว่าถ้าอยากเปิดคณะนิติศาสตร์ใหม่ๆ ต้องมีหลักสูตรแบบใดจึงจะได้มาตรฐาน

การทำแบบนี้ แรกๆ ก็พอไปได้อยู่ แต่พอเราเริ่มมีคณะนิติศาสตร์เยอะขึ้น ประกอบกับสังคมที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งปี 2540 ที่เราเริ่มแยกระบบกฎหมายมหาชนออกมา มีการตั้งศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรทางกฎหมายที่ใช้กฎหมายมหาชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญ เมื่อแยกออกมาเช่นนี้ก็จะเกิดปัญหาบางอย่าง กล่าวคือตัวเนติบัณฑิตยสภาก็จะดูแลกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งหรือทางอาญาเป็นหลัก ส่วนฝั่งทางปกครอง ศาลปกครองก็เริ่มวางกติกาว่าผู้ที่อยากจะเป็นตุลาการศาลปกครองต้องเรียนรู้อะไรบ้าง และยังมีการตั้งสภาทนายความที่มีอำนาจออกใบอนุญาตเอง มีการฝึกอบรมแยกจากศาลและอัยการ ก็มีการอบรมและสอบคนของตัวเอง

จะเห็นว่าองค์กรวิชาชีพเกิดขึ้นเยอะตามการเปลี่ยนแปลงของโลก และแม้องค์กรวิชาชีพจะไม่ได้เข้ามากำหนดโดยตรงว่ามหาวิทยาลัยต้องสอนอะไร แต่เขาสามารถกำหนดได้ว่า คนจะเป็นผู้พิพากษาเป็นอัยการ ถ้าไม่เรียนวิชาเหล่านี้ถือว่าเรียนไม่ครบ ถามว่าถ้าผมเป็นคณบดี เมื่อรู้แล้วว่ามีกติกาแบบนี้แล้วผมจะสอนอะไรลูกศิษย์ล่ะ ผมก็ต้องนำกติกาเหล่านั้นมากำหนดและบังคับว่าต้องเรียนตัวนั้นตัวนี้ ทำให้หลักสูตรการเรียนการสอนนิติศาสตร์ถูกกำหนดโดยองค์กรวิชาชีพไปโดยปริยาย

เรื่องที่สอง คือ เมื่อโลกเปลี่ยน สาขาใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นเยอะมาก ทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ สิ่งแวดล้อม หรือเทคโนโลยี แต่ทั้งหมดนี้อาจไม่ได้เอื้อให้สอบผู้พิพากษาหรืออัยการได้ ยังไม่นับว่ากฎหรือกติกากลางของระบบอุดมศึกษาก็มีส่วน คือที่กำหนดว่าเข้ามหาวิทยาลัยแล้วต้องเรียนวิชาพื้นฐานก่อนให้รู้จักชีวิตและสังคม กำหนดแบบนี้เหมือนกันหมด ทำให้ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย ทั้งที่หลายวิชาชีพต้องการความแตกต่าง

และ เรื่องสุดท้าย การที่กฎหมายเป็นวิชาชีพที่ให้ค่าตอบแทนสูงมากสำหรับคนที่ก้าวไปสู่วิชาชีพขั้นสูง ก็เป็นแรงจูงใจทำให้คนจำนวนมากอยากก้าวไปสู่ตรงนั้น การแข่งขันก็สูงตามเพราะปีๆ หนึ่งมีคนจบนิติศาสตร์เยอะ ทำให้คนที่อยากจะประสบความสำเร็จในทางวิชาชีพต้องไปลงวิชาที่จะเอื้อให้เขาสอบเนฯ สอบผู้พิพากษา หรือสอบอัยการได้ สุดท้ายเราเลยผลิตนักศึกษาที่เข้าใจและนำกฎหมายไปประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์โดยอาจไม่ได้สนใจความเปลี่ยนแปลงของโลกมากนัก นี่ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่นักกฎหมายเอาแต่ดูถ้อยคำทางกฎหมายและนำมาเถียงกัน แทนที่จะสนใจว่าเรื่องนี้สอดคล้องกับสังคมไหม ควรคิดยังไง การตัดสินนี้ยุติธรรมไหม

เพราะฉะนั้น เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลายปีที่ผ่านมา เราผลิตนักกฎหมายแบบนี้เพราะมีสภาพปัญหาทางกฎหมายที่กล่าวไปแล้ว ยิ่งเมื่อองค์กรวิชาชีพมาวางกติกาบางอย่างก็จะหล่อหลอมให้มีนักกฎหมายแบบเดียวกันเกิดขึ้นในสังคม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่ดีนะครับ แต่เราก็ต้องการคนที่คิด เข้าใจ และเห็นอะไรกว้างๆ สามารถร่างกฎหมายเพื่อเป็นปากเป็นเสียงแทนคนที่เดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ หรือคนที่เสียเปรียบในสังคม ถ้าพูดให้ถึงที่สุด เรายังต้องการนักนิติศาสตร์ แต่เป็นนักนิติศาสตร์ที่ผ่านการหล่อหลอมมาในระบบที่เปิดให้มีทางเลือกได้ ไม่ใช่ระบบที่บังคับให้ทุกคนต้องเรียนเหมือนกันหมด เป็นนักนิติศาสตร์ที่คำนึงถึงเรื่องความยุติธรรม รู้เรื่องนิติปรัชญา หรือระบบบริหารจัดการความยุติธรรมด้วย

คุณพอฉายภาพได้ไหมว่าระบบการเรียนการสอนต้องเป็นแบบไหนจึงจะหล่อหลอมนักกฎหมายแบบนั้นออกมาได้

ข้อเสนอเบื้องต้นของเราคือ นักศึกษาไม่ควรเรียนกฎหมายเยอะเกินไป ถ้าไปดูหลักสูตรจะเห็นว่าทุกวันนี้เราเรียนกฎหมายเยอะ แต่เรียนในลักษณะที่ตอบโจทย์การเป็นผู้พิพากษา อัยการ หรือทนาย ถ้าพูดให้ชัดขึ้นคือประมาณ 80% เป็นเรื่องกฎหมายแพ่งหรืออาญา มีกฎหมายมหาชนอยู่ 3-4 วิชา และแทบไม่มีเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติเป็นวิชาบังคับเลย เมื่อประกอบกับเงื่อนไขค่าตอบแทน แล้วใครจะเรียนวิชาเลือกอื่นๆ ถ้าไม่โดนบังคับ เราจึงเสนอให้เรียนเฉพาะกฎหมายที่จำเป็นจริงๆ และส่วนที่เหลือให้เด็กไปเลือกได้ว่าอยากเรียนกฎหมายอะไร นอกจากนี้ ยังจะมีวิชาความรู้ประเภทประวัติศาสตร์ จริยธรรม ปรัชญา ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์รวมอยู่ด้วย

อีกข้อเสนอหนึ่งคือ เราจะเห็นว่าเวลาเรียนกฎหมายวิชาไหนก็จะสอบแต่วิชานั้น สอบเป็นเรื่องแล้วจบไป แต่ในชีวิตจริง เราไม่ได้ใช้กฎหมายทีละวิชาแบบนั้น เพราะเรื่องๆ หนึ่งมีกฎหมายเกือบทุกเรื่องปนอยู่ เราเลยเสนอว่า เป็นไปได้ไหมที่การเรียนการสอนจะไม่ได้เป็นแบบรายวิชา แต่เป็นแบบครอบคลุม (comprehensive) อาจจะสอบเป็นกลุ่มวิชา ครบหนึ่งปีก็มาสอบแบบข้อสอบเนฯ ตั้งเป็นตุ๊กตาแล้วให้เอาทุกวิชามาตอบ ผมคิดว่านี่อาจจะทำให้นักกฎหมายคิดอะไรในวงกว้างและมองภาพรวมมากขึ้น แทนที่จะบอกแต่ว่าตัวบทเขียนแบบนี้ อยู่ในวิชานี้ จึงต้องเป็นแบบนี้ แต่ต้องมองอะไรให้ไปสู่ชีวิตจริงมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เราได้นักกฎหมายพันธุ์ใหม่ที่จะช่วยให้สถานการณ์การใช้กฎหมายในประเทศดีขึ้นได้ในอนาคต

ในสหรัฐฯ ใช้ระบบการเรียนแบบ Juris Doctor คือต้องเรียนปริญญาตรีสาขาอื่นมาก่อนแล้วจึงสมัครเรียนกฎหมายได้ คุณคิดว่าระบบเช่นนี้เหมาะสมกับการปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในไทยไหม หรือจะตอบโจทย์ปัญหาของเราได้หรือเปล่า

เราเคยคิดกันว่าการเรียนแบบนี้น่าจะดี ซึ่งในไทยก็มีการทดลองระบบแบบนี้อยู่บ้างแล้ว เช่น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเปิดหลักสูตรภาคบัณฑิตซึ่งนำคนจบปริญญาตรีมาเรียนกฎหมาย ซึ่งก็ได้ผลดี ได้คนที่มีวุฒิภาวะ (maturity) มาก มีเหตุผลตอบคำตอบทางกฎหมายได้ดีและประสบความสำเร็จ

แต่ถ้าต้องเลือกระหว่างระบบ Juris Doctor กับการเรียนแบบปัจจุบันของเรา ผมว่ามันขึ้นกับโครงสร้างหลักสูตรด้วย ซึ่งก็กลับไปสู่เรื่องหลักสูตรที่เราคุยกัน ทั้งการจัดการเรียนการสอน การฝึกอบรม ก็น่าจะทำให้การแก้ปัญหาชัดเจนมากขึ้น

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในสาขานิติศาสตร์ องค์กรวิชาชีพเข้ามามีบทบาทมากกับบัณฑิตนิติศาสตร์หลังเรียนจบ ถ้าเราปฏิรูปการเรียนการสอนแล้ว เราจะปฏิรูปองค์กรวิชาชีพควบคู่ไปด้วยได้อย่างไรเพื่อให้สอดรับกับระบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป

ในแง่ของการเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ เมื่อจบปริญญาตรีก็อาจจะมีหลักสูตรฝึกอบรม 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่งเพื่อต่อยอดไปสู่ตรงนั้น เพราะจริงๆ ทุกวันนี้ต้องบอกว่าการเรียนเนฯ ไม่ได้เป็นการฝึกภาคปฏิบัติสักเท่าไหร่ แต่เหมือนเป็นการเรียนปริญญาตรีอีกรอบที่ต้องตอบคำถามให้ได้มากกว่า เราเลยอยากเสนอว่า เป็นการฝึกวิชาชีพเลยได้ไหม คือให้ลองเป็นทนายในสำนักงานหรือไปช่วยทำงานที่สำนักงานอัยการ ในศาล หรือแม้แต่หมุนเวียนไปอยู่ law firm เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกและได้เลือกว่าจะทำอะไร

อย่างไรก็ดี เราอาจจะต้องคิดไปถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอบเนฯ หรือสอบทนายด้วย เพราะแต่ก่อนใครอยากเรียนเนฯ ก็ได้ แต่ถ้าเปลี่ยนระบบเป็นการฝึกภาคปฏิบัติเช่นนี้ เราอาจจะต้องจำกัดจำนวนคน ให้สอบเข้าและรับตามจำนวนที่คิดว่าจะรับได้แทน จากนั้นก็นำคนที่สอบได้มาเรียนทฤษฎีและส่งไปฝึกงาน เรียนและฝึกให้เข้มข้นในทางวิชาชีพไปเลย แต่นี่ก็ต้องมานั่งคุยกันด้วย เพราะมันจะกระทบกับอำนาจขององค์กรวิชาชีพแต่ละแห่ง

ฟังดูแล้วเหมือนการที่องค์กรวิชาชีพต้องเปลี่ยนแปลงตนเองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการปฏิรูปการเรียนการสอน แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกหลายคนที่คลางแคลงใจในองค์กรวิชาชีพเหล่านี้ อาทิ เรื่องมาตรฐานการตรวจข้อสอบ คุณมองเรื่องนี้ยังไง

เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็มีข่าวลือต่างๆ นานาเกิดขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นการสอบเนฯ หรือสอบทนายความก็มีคนสมัครสอบเยอะทำให้เกิดคำถามเยอะตามไปด้วย แต่จะเห็นว่าช่วง 10 ปีหลังมานี้ มหาวิทยาลัยหลักๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอบเสร็จแล้วจะมีการประกาศเลยว่าแนวคำตอบคืออะไร นักศึกษาอ่านแล้วก็รู้เลยว่าตัวเองต้องเตรียมอ่านหนังสือใหม่ไหม หรือถ้าเขาเห็นว่าตัวเองตอบถูกตามแนวคำตอบและไม่ได้คะแนนก็มีสิทธิขอดูข้อสอบได้ นี่ก็เป็นการควบคุมอย่างหนึ่งของวิชาชีพ แต่ประเด็นสำคัญคือเราได้พยายามปรับเปลี่ยนหรือทำให้ทุกอย่างโปร่งใสแล้วหรือยัง พยายามทำให้ทุกอย่างอธิบายได้มากขึ้นหรือไม่ เพราะทุกองค์กรคงต้องเปลี่ยนและปรับตัว

ที่ว่ามาทั้งหมดคือเรื่องของการปรับองค์กรหรือกระบวนการ แต่อย่างที่ผมบอกไปแล้วตอนต้น สิ่งที่พวกเราพยายามทำคือการสร้างคนที่ต่างออกไปจากเดิม อาจต่างไม่มากเพราะนักกฎหมายก็ยังเป็นนักกฎหมายหัวสี่เหลี่ยม แต่เราอาจจะสร้างคนที่หัวมนขึ้นนิดหนึ่ง และถ้าความพยายามตรงนี้สามารถแก้ปัญหาหลายๆ อย่างในสังคมไทยได้ก็จะเป็นคุณูปการกับประเทศมาก แต่เรื่องนี้ก็ต้องใช้เวลา กว่าคนจะเรียนจบ จะบ่มเพาะตัวเองไปทำงานระยะยาวได้ คงไม่ใช่ใน 3 ปีหรือ 5 ปีนี้ แต่เรากำลังทำเพื่อสังคมไทยยุคสมัยข้างหน้า เพราะนี่เป็นเรื่องยากและต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ต้องแก้กฎหมายหลายฉบับ ต้องให้หน่วยงานเห็นด้วย ซึ่งเราก็อยากจะทำข้อเสนอของเราให้ชัดเจนหลังรับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่จะทำได้ไหมก็เป็นขั้นตอนการผลักดัน ต้องมีเจตนารมณ์และการตัดสินใจทางการเมืองเล็กๆ ได้รับความเห็นชอบจากสภาหรือรัฐมนตรี และต้องให้องค์กรวิชาชีพอิสระเห็นพ้องต้องกันด้วย

หนึ่งในปรากฏการณ์เกี่ยวกับการใช้กฎหมายคือสิ่งที่อาจารย์ปิยบุตร (แสงกนกกุล) เรียกว่า ‘นิติสงคราม’ (lawfare) คือกฎหมายผูกพันกับผู้มีอำนาจที่เมื่อเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ออกประกาศคำสั่งผ่านกฎหมาย ผ่านสภาด้วยตนเอง มีกฎหมายในมือและเอากฎหมายมาใช้แบบนิติศาสตร์ล้นเกิน หรืออาจกล่าวได้ว่ากฎหมายกลายเป็นเครื่องมือรักษาอำนาจในทางการเมืองมากกว่าเครื่องมือหาทางออกจากความขัดแย้งหรือสร้างความยุติธรรมในสังคม คุณมองว่าสถานการณ์เช่นนี้เป็นผลมาจากการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในช่วงหลายสิบปีมานี้ไหม

ผมคิดว่าที่พูดมามีความเป็นจริงอยู่มากทีเดียวในช่วง 6-7 ปีหลังมานี้ โดยกฎหมายเหล่านี้มักจะมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษา status quo (สถานภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) อีกทั้งยังมีการตีความกฎหมายในลักษณะเข่นนั้นเยอะทีเดียว เช่น การที่อาจารย์วรเจตน์ (ภาคีรัตน์) ถูกกล่าวหาและขึ้นศาลในคดีอาญาเพราะไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคณะปฏิวัติ ซึ่งคำพิพากษาของศาลก็ยืนยันแล้วว่าอาจารย์วรเจตน์ไม่ผิด แม้จะถูกจับกุมดำเนินคดี นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง

ทว่าปรากฏการณ์ที่ว่ามาก็ไม่ได้เพิ่งเป็นจริงในช่วง 6-7 ปีมานี้ ก่อนหน้านี้ที่มีการรัฐประหารหลายยุคหลายสมัยก็มีเรื่องทำนองนี้ เพียงแต่การดำเนินคดี การสู้คดี หรือการใช้อำนาจตามคำสั่งคณะปฏิวัติไม่ได้ปรากฏต่อสังคมมากขนาดนั้น แต่นี่คือปรากฏการณ์ปกติของคนที่มีอำนาจมากและไม่มีระบบการตรวจสอบ และไม่ได้เป็นเฉพาะในไทยด้วย แต่เป็นทุกที่ในสังคม

เราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้างไหม หรือการเรียนการสอนแบบใหม่และนักกฎหมายพันธุ์ใหม่ที่คุณพูดถึงจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้อย่างไร

ผมไม่ได้คิดว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นภายใน 1-2 ปีข้างหน้า แต่เชื่อว่านักกฎหมายรุ่นใหม่ที่มีความคิดเปิดกว้างมากกว่าเดิม ได้รู้ได้เห็นอะไรมากขึ้น จะเห็นมุมมองต่อการดำเนินการในลักษณะนี้แบบเปิดกว้างมากกว่าเดิม แต่เราก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า นักกฎหมายเป็นงานที่ถูกผูกไว้กับบทบัญญัติของกฎหมาย ระบบการปกครอง ลำดับชั้นการบังคับบัญชา ไม่ว่าจะในสายงานราชการหรือสายอาชีพอื่นๆ เพราะฉะนั้น วิชาชีพกฎหมายน่าจะเป็นวิชาชีพที่เปลี่ยนแปลงช้าที่สุดเมื่อเทียบกับวิชาขีพอื่นๆ ด้วยธรรมชาติของตัวเอง แต่ผมยังเชื่อว่าถ้าเราทำเรื่องนี้สำเร็จได้ ก็น่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปได้บ้าง

แนวคิดหนึ่งที่มักได้ยินบ่อยๆ คือกฎหมายเป็นคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะมาจากคณะรัฐประหารหรือมาจากกระบวนการที่ไม่ชอบก็ต้องบังคับใช้ไปตามนั้น จริงๆ แล้วแนวคิดนี้เป็นอย่างไรกันแน่ เป็นไปได้หรือไม่ที่การปฏิรูปการเรียนการสอนจะช่วยผ่อนคลายแนวคิดเช่นนี้ได้

แนวคิดที่ว่ามาจากทฤษฎีกฎหมายของสำนักปฏิฐานนิยม (positivism) ซึ่งสอนกันในหลายที่ แต่ต้องเข้าใจว่านี่เป็นแนวคิดของสำนักหนึ่งเท่านั้น ถ้าเราไม่ได้ลงเรียนนิติปรัชญาลึกซึ้งก็จะฝังหัวว่ากฎหมายเป็นคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ใครไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนต้องถูกลงโทษ แต่ก็มีความคิดของสำนักอื่นๆ ที่บอกด้วยว่า ต่อให้จะเป็นคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ แต่ถ้าไม่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติหรือไปกำหนดอะไรที่ผิดปกติก็ไม่ควรเป็นกฎหมายและไม่ควรถูกใช้บังคับ

แต่ในความเป็นจริง แน่นอนว่านักกฎหมายคงบอกไม่ได้ว่า กฎหมายนี้ขัดต่อหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติจึงสั่งฟ้องไม่ได้ ดังนั้นหลักการดังกล่าวจะเหมาะกับฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่า คือถ้าเห็นว่าหลักกฎหมายขัดกับความยุติธรรมจริงๆ ก็ทำการแก้ไขเสีย หรือต่อให้เป็นนักกฎหมายที่ต้องใช้กฎหมาย ถ้าเจอกรณีแบบนี้ก็อาจใช้ดุลยพินิจ คิดถึงความยุติธรรมตามธรรมชาติ และคิดว่าคดีเช่นนี้จะไม่จำคุกนะ แต่จะให้ปรับหรือรอลงอาญาแทนก็ว่าไป

มีคนเสนอความคิดเห็นว่า การศึกษาวิชานิติศาสตร์ประสบความสำเร็จในการสร้างนักกฎหมายที่รับใช้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม และนิ่งเฉยกับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับเพื่อนมนุษย์ ทว่าก็ยังมีนักกฎหมายหรือนักนิติศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่ยังรักความยุติธรรม หวังจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และใฝ่ฝันจะเห็นโลกที่ดีขึ้น อาจารย์คิดว่าการปฏิรูปการเรียนการสอนครั้งนี้จะมีผลอย่างไรกับการสร้างนักกฎหมายหรือนักนิติศาสตร์แบบที่ว่ามานี้

ผมเชื่อว่าความคิดและข้อเสนอของเราจะทำให้มีนักกฎหมายที่เรียนรู้และเข้าใจเรื่องอะไรต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากการเรียนรู้และความเก่งในเรื่องกฎหมาย คือเป็นคนที่คำนึงถึงความยุติธรรม นิติปรัชญา กฎหมาย รอบรู้ในศาสตร์อื่นๆ และมีวิธีคิดที่กว้างขวางกว่าเดิม

ผมไม่รู้ว่าอีกหลายปีข้างหน้าจะมีทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกกี่คน อาจจะแย่ลงก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราแน่ใจคือในอีกหลายปีต่อไป เราจะมีนักกฎหมายที่ ‘รู้ร้อนรู้หนาว’ กับเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญของสังคม เข้าใจเรื่องสิทธิ ความยุติธรรม และเรื่องการจัดสรรทรัพยากรมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราเชื่อแบบนั้น แต่นี่ต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์กันต่อไป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save