fbpx

ภาพอนาคตทางยุทธศาสตร์การเจรจาความตกลงการค้าเสรี ประเทศไทย พ.ศ. 2573

‘Thailand FTA Strategic Future Foresight 2030’ หรือ ‘ภาพอนาคตทางยุทธศาสตร์การเจรจาความตกลงการค้าเสรี ประเทศไทย พุทธศักราช 2573’ เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตร ‘การค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้บริหารยุคใหม่’ (New International Commerce Course for Executive – NIC²E (ไนซ์)) ซึ่งจัดขึ้นตลอดระยะเวลา 4 เดือนตั้งแต่กุมภาพันธ์–พฤษภาคม 2565 จากความริเริ่มของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้เขียนเองมีโอกาสเข้าร่วมเป็นผู้จัด วิทยากร และทำงานร่วมกับผู้เข้าร่วมอบรมที่ผ่านหลักสูตรทั้ง 43 ท่าน ซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งข้าราชการระดับสูง ผู้บริหารภาคเอกชน ตัวแทนจากภาคการเมือง-ความมั่นคง นักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม และสื่อสารมวลชน

ทุกสัปดาห์ตลอดระยะเวลาของการฝึกอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับทราบองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการบริหารการค้าระหว่างประเทศ อันเป็นองค์ความรู้ที่ทันสมัยที่สุดจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชา โดยองค์ความรู้ในงานและการถกแถลงต่างๆ ของผู้ร่วมอบรม ได้ถูกบูรณาการเข้าด้วยกันเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการกวาดสัญญาณทางยุทธศาสตร์ (Strategic Intelligence Scanning) ซึ่งเป็นเสมือนวัตถุดิบตั้งต้นร่วมกับประสบการณ์อันหลากหลายของผู้เข้าร่วมอบรมเพื่อนำไปสู่กระบวนการจัดทำภาพอนาคตทางยุทธศาสตร์การเจรจาความตกลงการค้าเสรีของประเทศไทยใน พ.ศ. 2573 ในการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หรือกิจกรรม Bootcamp ณ โรงแรมเอเชียพัทยา จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2565

ผู้เข้าร่วมอบรมทั้ง 4 กลุ่ม อันได้แก่ เปี่ยมสุข, ปลุกเกษม, เอิบเปรม และเอมปรีดิ์ ได้ร่วมกันถกแถลง ระดมสมอง ค้นคว้าหาข้อมูล ตลอดกระบวนการทั้ง 8 องค์ของการจัดทำภาพอนาคตทางยุทธศาสตร์ ตั้งแต่การตั้งคำถาม focal question, การกวาดสัญญาณทางยุทธศาสตร์ เพื่อหาเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญ (good events) ก่อนที่จะจำแนกเหตุการณ์เหล่านี้ตามกรอบพลังอำนาจของชาติ 6 มิติ อันได้แก่ มิติสังคม มิติเทคโนโลยี มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อมและพลังงาน มิติการเมือง และมิติการทหารและความมั่นคง

จากนั้นผู้เข้าร่วมอบรมจึงร่วมกันวิเคราะห์หา ‘แนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต’ (trends) และ ‘พลังขับเคลื่อน’ (driving forces) อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยผู้เข้าร่วมอบรมมีฉันทมติร่วมกันว่า พลังขับเคลื่อนหลักที่ถือได้ว่ามีผลกระทบอย่างรุนแรง (high impact) และมีความไม่แน่นอนสูง (high uncertainty) ได้แก่ ‘การเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ (emerging disease) และ ‘การกระชากเปลี่ยนทางเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน’ (disruptive technology) ทั้งสองปัจจัยนี้จึงถือเป็นแกนกลางในการสร้างฉากทัศน์ (scenario matrix) สำหรับการวางยุทธศาสตร์การเจรจาความตกลงการค้าเสรีของประเทศไทยในอนาคต

ผู้อบรมได้สร้างฉากทัศน์ขึ้นมา 4 ฉากทัศน์ โดยมีการกำหนดชื่อแต่ละฉากทัศน์เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ดังนี้

ฉากทัศน์ที่ 1 ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่พึงประสงค์มากที่สุด (best case scenario) ที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขจนสามารถตั้งรับและปฏิบัติการเชิงรุกหากเกิดการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในระดับโลก และขณะเดียวกันก็เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (technology advantages) ฉากทัศน์นี้ถูกกำหนดชื่อว่า ‘หมอแปลกบนจักรวาล MARVEL’

ฉากทัศน์ที่ 2 ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด (worst case scenario) ถูกกำหนดชื่อว่า ‘แมงมุมในหลุมดำ’ (Tarantulas in the Blackhole) โดยเป็นฉากทัศน์ที่ประเทศไทยล้าหลัง ไม่เท่าทันเทคโนโลยี ทั้งในด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และที่สำคัญที่สุดคือพีเพิลแวร์ (peopleware) คือคนไทยไม่มีความรู้เท่าทันในเทคโนโลยี ขณะที่ระบบสาธารณสุขและการแพทย์ก็ล้มเหลวจนไม่สามารถรับมือกับการเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่

ฉากทัศน์ที่ 3 เป็นฉากทัศน์ที่ประเทศไทยอาจจะมีความเป็นเลิศในบางมิติ และถดถอยในบางมิติ มีชื่อเรียกว่า ‘อวตารป่วย’ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประเทศไทยเป็นผู้นำการค้าการลงทุนในมิติเทคโนโลยี แต่ล้มเหลวในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่

ฉากทัศน์สุดท้ายคือ ‘พระบิดาแห่ง MU MED TECH’ ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่ประเทศไทยสามารถรับมือกับโลกอุบัติใหม่ได้อย่างเข้มแข็ง หากแต่เกิดความงมงายอ่อนด้อยอย่างยิ่งในมิติวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

เห็นได้ว่าการระดมสมองของผู้เข้าร่วมอบรมสะท้อนภาพอนาคตที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยที่ว่า ในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีในอนาคตของประเทศไทยนั้น จะไม่ใช่เพียงแค่การเปิดตลาด สร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านการเจรจาเพื่อลด ละ เลิก ภาษีและมาตรการทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษีเท่านั้น หากแต่ผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่านต้องการเห็นประเทศไทยที่เท่าทันการเจรจาการค้าที่มีความครอบคลุม (comprehensive) และมีมาตรฐานสูง (high standard) ซึ่งต้องการให้เกิดดุลยภาพทั้งการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อห่วงกังวลในมิติสังคมโดยเฉพาะมิติสาธารณสุข สุขภาพ การแพทย์ และการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

จากฉากทัศน์ทั้ง 4 นำไปสู่การวิเคราะห์เพื่อหาทางเลือกทางยุทธศาสตร์ (strategic option) ด้วยกระบวนการวิเคราะห์จากปัจจัยภายนอกย้อนกลับสู่สถานะของประเทศไทย ณ ปัจจุบันหรือการวิเคราะห์แบบ Outside–In ซึ่งทำให้สามารถสรุปข้อเสนอแนะเพื่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศสำหรับประเทศไทยในอนาคตได้ดังนี้

1. การเร่งปรับตัวให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความพร้อมและเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบภายในประเทศ ด้วยกระบวนการ regulatory guillotine และการสร้างกลไกรับมือกับผลกระทบจากการเจรจาการค้าในกรอบต่างๆ โดยการเสริมสร้างศักยภาพ (capability) และเยียวยาผลกระทบทางลบ ในรูปแบบของกองทุน FTA

2. ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยาในทุกมิติต้องไม่ผูกพันเกินกว่าที่ประเทศไทยได้ตกลงไว้กับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) ความตกลงความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreements on Trade – Related Aspects of Intellectual Property Rights – TRIPS)

3. ในการเจรจาการค้าประเทศไทยต้องมีมาตรการอย่างจริงจังในการส่งเสริมให้นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยกำหนดเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ได้การเปิดเสรีการลงทุน การส่งเสริม การสนับสนุน และการคุ้มครองการลงทุน โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีควอนตัม เทคโนโลยีโลกเสมือน เมทาเวิร์ส และเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech)

4. ประเทศเป้าหมายที่ไทยควรเร่งเปิดเวทีการเจรจาความตกลงการค้าเสรี จำแนกเป็น 3 ประเภท

4.1 ประเทศและกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูง เพื่อแสวงหาการเปิดตลาด ได้แก่

4.1.1 CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ประกอบด้วย ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม)

4.1.2 USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) ประกอบด้วย สหรัฐฯ, เม็กซิโก และแคนาดา

4.1.3 EFTA (European Free Trade Association) ประกอบด้วย ไอซ์แลนด์, ลิกเตนสไตน์, นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์

4.1.4 EaEU (Eurasian Economic Union) ประกอบด้วย อาร์เมเนีย, เบลารุส, คาซักสถาน, คีร์กิซสถาน และรัสเซีย

4.1.5 GCC (Cooperation Council for the Arab States of the Gulf หรือ Gulf Cooperation Council) ประกอบด้วย บาห์เรน, คูเวต, โอมาน, กาตาร์, ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

4.1.6 FTAAP (Free Trade Agreement of the Asia-Pacific)

4.2 ประเทศและกลุ่มประเทศที่เป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ เพื่อเข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ (โดยเฉพาะพลังงาน และสินแร่แร่ธาตุ) และทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

4.3 วางแผนทบทวนเพื่อยกระดับความร่วมมือในความตกลงการค้าเสรีฉบับเดิมที่มีอยู่แล้วอย่างมียุทธศาสตร์ (strategic upgrade)

5. การเปิดเสรีภาคบริการในรูปแบบที่ 4 – การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา (Mode 4 – Movement of Natural Person) ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในระดับแรงงานฝีมือ และแรงงานไร้ฝีมือ เนื่องจากโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มขั้น (aged society) ไปแล้ว ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน เชื่อได้ว่าการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างรอบคอบรัดกุมจะทำให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดแรงงานฝีมือที่มีทักษะสูงให้เข้ามาทำงานและมีถิ่นพำนักในประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้น และจะเป็นการผลักดันทางอ้อมให้คนไทยต้องเร่งพัฒนาทักษะ ฝีมือ และองค์ความรู้ของตนเอง ทั้งนี้ประเทศไทยเองก็ต้องเตรียมความพร้อมในการยกระดับมาตรฐานแรงงานและการคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานตามกรอบอนุสัญญาขององค์การแรงงานสากลด้วย

6. ความร่วมมือในมิติอื่นๆ ที่มีความสำคัญ และจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรีในกรอบต่างๆ รวมทั้งต้องส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือ ได้แก่ ความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) ความฉลาดรู้ทางดิจิทัล (digital literacy) และความฉลาดรู้ทางการเงิน (financial literacy)

7. การกำหนดกรอบการเจรจาการค้าและกลยุทธ์การเจรจาการค้าให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDG2030) ขององค์การสหประชาชาติ, แนวคิดสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance – ESG), โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Economy + Circular Economy + Green Economy) และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) ถือเป็นแกนกลางสำคัญที่สุดของการเจรจาการค้า

8. วางยุทธศาสตร์การสร้างอำนาจอ่อน (soft power) ให้กับประเทศในระยะยาว โดยใช้สังคม วัฒนธรรม มิติจิตวิญญาณ อาหาร การเกษตร และความเป็นไทยที่มีจิตใจรักการบริการ ให้กลายเป็นพลังอำนาจของชาติ รวมทั้งใช้ความตกลงการค้าเสรีเป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินยุทธศาสตร์ (strategic means) เพื่อสร้าง soft power ของไทย

9. ตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดของภาคการผลิตของไทย อาทิ ภาคการเกษตรที่ปัจจุบันอาจจะมีผลผลิตปริมาณมาก แต่ประสิทธิภาพในการผลิตต่ำ และไม่ยั่งยืนเนื่องจากใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง, ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโรคอุบัติใหม่ และที่ผ่านมาการท่องเที่ยวยังเป็นภาคบริการที่ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ทั้งยังไร้ประสิทธิภาพในหลายๆ ครั้ง ฯลฯ นอกจากนี้การเปิดเสรีการค้าโดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ ก็จะสร้างผลเสียในระยะยาว โดยประเทศไทยต้องการการปฏิรูปในประเด็นจุดอ่อนเหล่านี้

10. สร้างเครื่องมืออย่างเป็นรูปธรรมเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ (mindset) ให้ประชาชนมองเห็นโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ผ่านการใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าที่ครอบคลุมและมีมาตรฐานสูง ทัศนคติมองให้เห็นเป็นโอกาส และพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อไขว่คว้าโอกาสจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

ทั้งหมดนี้คือบทสรุปข้อเสนอแนะทางยุทธศาสตร์สำหรับประเทศไทยในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในอนาคต จากผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้บริหารยุคใหม่ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save