fbpx

ปากเสียงของแรงงานการศึกษาทั้งฝ่ายซ้ายและขวา: ทวิลักษณ์ของสหภาพแรงงานการศึกษาในเยอรมนี

ครั้งที่แล้วเราได้เห็นถึงสหภาพแรงงานการศึกษาของอังกฤษ ในครั้งนี้จะข้ามช่องแคบเข้ามาสู่ยุโรปภาคพื้นทวีปที่ดินแดนเยอรมนีกัน เมื่อเทียบกับอังกฤษที่เป็นรัฐเดี่ยวแล้ว เยอรมนีถือเป็นรัฐรวมที่มีพื้นฐานการกระจายอำนาจเป็นอย่างสูง ปัจจุบันมี 2 สหภาพแรงงานการศึกษาใหญ่ นั่นคือสหภาพแรงงานการศึกษาและวิทยาศาสตร์ (Gewerkschaft Erziehung und Wissenschaft: GEW) และสมาคมปรัชญาเยอรมัน (Deutscher Philologenverband: DPhV) ซึ่งฝ่ายแรกอาจเรียกได้ว่าเป็นปากเป็นเสียงให้กับแรงงานฝ่ายซ้าย ขณะที่ฝ่ายหลังจัดว่าเป็นฝ่ายขวา การสมาทานอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน ทำให้ทั้งคู่มีวิธีการดำเนินการต่อรองที่แตกต่างกันไปด้วย

หลังจากที่เยอรมนีพยายามรวมชาติมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 จนถึงการสิ้นสุดของสงครามเย็น การเมืองในเยอรมนีได้พลิกผันตีลังกาเป็นรถไฟเหาะ จากอาณาจักรที่มีจักรพรรดิ ไปสู่สาธารณรัฐ แล้วถูกปกครองด้วยเผด็จการมือเปื้อนเลือด เมื่อจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังถูกแบ่งแยกประเทศเป็น 2 ฝั่ง จนกลับมารวมประเทศได้ในที่สุด เมื่อการเมืองคือสนามแห่งการจัดสรรอำนาจ การดำรงอยู่ของสหภาพแรงงานก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในยุคสมัยต่างๆ ไปด้วย

พัฒนาการของแรงงานการศึกษาในเยอรมนี

ในช่วงแรก ครูในเยอรมนีคือข้ารัฐการคล้ายกับของไทย ความเป็นข้ารัฐการลงลึกไปในระดับบุคคลกระทั่งหลังเลิกงานก็ยังต้องทำงานสนับสนุนรัฐ สิทธิ์การนัดหยุดงานหรือรวมตัวกันต่อรองจึงไม่ได้รับอนุญาต ในระบบการศึกษาเยอรมนีหลังจากจบประถมแล้วจะมีการแยกสายไปอีก 3 สาย (ดูท้ายบทความ) ก็จะเป็นกำหนดตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมที่ต่างกันไปอีกชั้น

การแบ่งชั้นเริ่มจากคุณสมบัติครู หากเป็นครูระดับมัธยมจะต้องจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ขณะที่ครูประถมเพียงผ่านการสัมมนาที่จัดโดยรัฐ ครูมัธยมสังกัดรัฐบาลกลาง ส่วนครูประถมสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ในเวลาต่อมาจะมีโรงเรียนมัธยมสังกัดท้องถิ่นตามมา) ความแตกต่างนี้ทำให้กลุ่มแรกได้รับค่าตอบแทนและสถานภาพทางสังคมที่ดีกว่า ครูกลุ่มหลังจึงมีความกดดันมากกว่าและรวมตัวกันเหนียวแน่น ทำให้เกิดองค์กรต่างๆ เช่นสมาคมครูเยอรมันสามัญ (Allgemeiner Deutscher Lehrerverein: ADLV) ที่ส่งต่อมายังสันนิบาตครูเยอรมัน (Deutscher Lehrerverein: DLV) ก่อตั้งเมื่อปี 1871 อันกลายเป็นร่มใหญ่ของครูทุกแคว้นในจักรวรรดิเยอรมนี โดยมีสมาชิกหลักคือครูระดับประถม

ในช่วงแรกสหภาพแรงงานยังไม่ได้รับอนุญาตให้ต่อรองสภาพการจ้างงาน เพราะติดที่ความเป็นข้ารัฐการ แต่ก็มีบทบาทในการวางระบบวิชาชีพและการศึกษาครู กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงจะได้สิทธิ์การรวมตัว แต่ยังไม่ได้สิทธิ์นัดหยุดงาน[1]

ในฟากครูมัธยมเริ่มต้นได้ช้ากว่า เริ่มต้นจากครูมัธยมที่สังกัดท้องถิ่น คือ สหภาพแรงงานแห่งครูสายวิชาการในเยอรมัน (Vereinsband akademisch gebildeter Lehrer Deutschlands) ที่ก่อตั้งในปี 1903 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมปรัชญาเยอรมัน (Deutscher Philologenverband: DPhV) แม้จะมาทีหลังแต่ถือว่าเป็นสหภาพที่ทรงอิทธิพล เพราะครูมัธยมจำนวนมากเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษนิยม ทั้งยังมีตำแหน่งทางการเมือง จึงส่งเสียงได้ดังกว่าสหภาพฯ อีกฟากหนึ่งไปโดยปริยาย แม้จะมีจำนวนที่น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ช่วงนาซีครองเมือง (1933-1945) ทั้งสองสหภาพฯ ถูกยุบ[2]

หลังสงคราม ADLV ฟื้นตัวขึ้นมาภายใต้การยึดครองของอังกฤษในปี 1947 ในนามสหภาพแรงงานสามัญเยอรมันแห่งครูชายและหญิง (Allgemeiner Deutscher Lehrer-und Lehrerinnenverband: ADLLV) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นับรวมผู้หญิงไปด้วย ต่อมาได้รวมกับสหภาพแรงงานแห่งการศึกษาและวิทยาศาสตร์ (Gewerkschaft Erziehung und Wissenschaft: GEW) ได้รวมเอาสมาชิกและผลประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอื่นๆ ไปด้วย นั่นคือ ระดับอุดมศึกษาและระดับก่อนเข้าโรงเรียน ส่วน DPhV ของครูมัธยม ฟื้นตัวในปี 1947 เช่นกัน[3]

หลังสงครามยังมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นใหม่ที่เป็นร่มใหญ่คลุมแรงงานการศึกษา อย่างสมาคมข้ารัฐการเยอรมัน (Deutscher Beamtenbund: DBB) และสมาคมสหภาพแรงงานเยอรมัน (Deutscher Gewerkschaftsbund: DGB) ทั้งคู่มีเป้าหมายหลักที่จะดึงสมาชิกเข้าร่วมเหมือนกันๆ คือ ‘ครู’ สำหรับ DGB จะทำงานร่วมกับชนชั้นแรงงานที่เน้นไปทางสังคมนิยมประชาธิปไตย ขณะที่ DBB อยู่บนภาพตัวแทนของข้ารัฐการที่ขาดอำนาจต่อรองและไม่มีสิทธิ์นัดหยุดงาน และเป็นกลุ่มที่ไม่สบายใจกับ DGB ที่เป็นฝ่ายซ้าย จึงไม่แปลกที่ GEW จะเข้าร่วมกับ DBB[4]

คู่แข่งสองอุดมการณ์ GEW และ DPhV

GEW ได้ประสบความสำเร็จในการขยายกลุ่มไปสู่นักวิจัยและผู้สอนในมหาวิทยาลัย ครูเนอสเซอรี่ และครูจากโรงเรียนแบบผสมที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1960 ทำให้สมาชิกเพิ่มขึ้นมาก GEW กลายเป็นสหภาพแรงงานที่ครอบคลุมทุกด้านด้วยหลากหลายส่วน แต่ GEW ไม่ได้เป็นที่สนใจสำหรับครูมัธยมส่วนใหญ่ เนื่องจากแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยที่เน้นการจ่ายเงินครูอย่างเท่าเทียมและเรียกร้องสิทธิ์ในการนัดหยุดงานสำหรับครูข้ารัฐการ พวกเขายังตั้งคำถามกับจารีตและวัฒนธรรมของข้ารัฐการครูที่ได้รับอภิสิทธิ์และการจ่ายเงินที่ต่างกัน รวมไปถึงการห้ามข้ารัฐการนัดหยุดงาน สำหรับ DBB และ DPhV แล้วนั่นหมายถึงการก้าวไปสู่การเมืองแบบฝ่ายซ้ายอันเป็นรอยแยกสำคัญระหว่างทั้งสอง[5]

การรวมประเทศเยอรมนีในปี 1990 ทำให้สมาชิกจากเยอรมนีตะวันออกเดิมได้เข้าร่วมกับ GEW สมาชิกใหม่นี้ยังมีกลุ่มที่ไม่ใช่ครูด้วย ทำให้สมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 190,000 คน เป็น 360,000 คน GEW ได้ย้ายไปจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในเขตเยอรมนีตะวันออก และทำงานร่วมกับตัวแทนคนสำคัญขององค์กรครูในฝั่งนั้นก่อนจะทำลายกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 เสียอีก คู่ขนานกันไป DPhV ได้พยายามสร้างสมาคมระดับภูมิภาค Länder (มลรัฐ) แต่ก็ไม่สามารถเพิ่มสมาชิกได้มากเท่า GEW เนื่องจาก GEW ดึงดูดมากว่าตรงที่ไม่ได้เป็นองค์กรชนชั้นนำเท่า DPhv นอกจากนั้น GEW ยังเสนอการปฏิบัติการต่อรองร่วม (collective action) กระทั่งการให้ความสำคัญกับสิทธิ์การนัดหยุดงาน[6]

การรวมเยอรมันนำไปสู่การแบ่งการจ้างงานครูใหม่ ครูจากฝั่งตะวันออกได้ถูกย้ายโอนจากข้ารัฐการให้กลายเป็นพนักงานของรัฐที่กินเงินเดือน ทำให้ในเยอรมนีมีทั้งครูที่เป็นข้ารัฐการและพนักงาน ด้วยความที่ครูมัธยมฝั่งตะวันออกส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นข้ารัฐการ พวกเขาจึงไปเป็นสมาชิกของ GEW มากกว่าเมื่อเทียบกับฝั่งตะวันตก ทุกวันนี้ GEW จึงเป็นสหภาพแรงงานการศึกษาที่ใหญ่ที่สุด ในนั้นมีจำนวน 170,000 คนเป็นครู ในปี 2012 จากจำนวนครูทั้งหมด 730,000 คน GEW มีสัดส่วนถึง 23% ของแรงงานครูทั้งประเทศ ส่วน DPhV มีสมาชิกเพียง 90,000 คน ราว 12% ของ DPhV เป็นตัวแทนของพันธมิตรของกระฏุมพีทางผลประโยชน์ด้านนโยบายการศึกษา ขณะที่ GEW ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากต่อการขับเคลื่อนเพราะถูกขวางโดยเหล่าชนชั้นนำทางการศึกษา[7]

สมาชิกของ GEW ในปี 2014 มีราว 27% ที่เป็นข้ารัฐการ เมื่อเทียบกับ DPhV ที่สูงถึง 81% เป้าหมายสำคัญ GEW ก็คือการทำลายสถานภาพที่เป็นข้อเสียเปรียบเชิงโครงสร้าง ไม่เพียงแต่กับนักเรียนแต่รวมถึงเหล่าสมาชิกในประเด็นค่าจ้างและชั่วโมงการทำงาน GEW เสนอแคมเปญ ‘โรงเรียนสำหรับทุกคน’ และต่อสู้เพื่อให้ระบบการศึกษาที่แยกออกเป็น 3 แท่งให้กลายเป็นระบบเดี่ยวเช่นเดียวกับประเทศอื่น พร้อมเสนอระบบการศึกษาสาธารณะที่มีความหลากหลายของโอกาสการเรียนรู้และโอกาสที่เท่าเทียมกันของนักเรียนทั้งหลาย เช่นเดียวกับการขยายการจ้างงานให้มากขึ้น GEW วิพากษ์ว่า การแบ่งแยกโรงเรียน และระบบ 3 ขา ได้สร้างปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน ทางออกของพวกเขาคือ ‘โรงเรียนแบบผสม’ GEW ยังเรียกร้องให้ยุบโรงเรียนพิเศษ (ที่รับคนพิการ) เพื่อไม่เป็นการแบ่งแยกพวกเขาจากสังคมตามข้อตกลงของ UN ว่าด้วยสิทธิของผู้พิการ พวกเขายังเรียกร้องการฝึกหัดครูที่ได้มาตรฐานที่มาพร้อมกับเงินเดือนและสถานภาพที่เท่าเทียมกัน การเป็นข้ารัฐการหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ของ GEW แต่สำหรับครูที่เป็นข้ารัฐการจะต้องได้รับสิทธิ์ในการนัดหยุดงานตามคำประกาศสิทธิมนุษยชนของยุโรป[8]

DPhV ในนามสมาชิกของ DBB ได้รับอภิสิทธิ์ผ่านความเป็นข้ารัฐการ พวกเขาจึงต่อต้านการนัดหยุดงาน และเห็นชอบกับคำตัดสินของศาลปกครองกลาง DPhV มีเป้าหมายที่จะรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกของตน ครูระดับ Gymnasium ได้เข้าถึงงานและสภาพการจ้างที่มีอภิสิทธิ์เหนือเพื่อนร่วมงานในโรงเรียนประเภทอื่น แนวคิดเช่นนี้จึงทำให้ระบบโรงเรียนหลายชั้นธำรงอยู่ DLV ที่เป็นองค์กรร่ม และองค์กรครูอื่น ต่างสนับสนุนความต้องการนี้

DPhV ได้สร้างความชอบธรรมของการรักษาระบบโรงเรียนหลายชั้น ผ่านอุดมการณ์และทฤษฎีที่เชื่อว่าการศึกษาควรอยู่บนฐานความสามารถส่วนบุคคล บนแนวคิดเช่นนี้ทำให้ผลลัพธ์ออกมาดีกว่าในกลุ่มคนที่มีความสามารถใกล้เคียงกันเรียนด้วยกัน มากกว่าการเรียนคละกัน ดังนั้นการต่อต้านโรงเรียนแบบผสมในทศวรรษ 1960 และ 1970 จึงเป็นเรื่องปกติ พวก DPhV ได้ต่อสู้เพื่อรักษาโรงเรียนประเภท Gymanasium ไว้ ส่วน GEW เรียกร้องในทางตรงกันข้ามให้รวมโรงเรียนระหว่างเด็กทั่วไปและเด็กพิการ แต่ในทศวรรษ 2000 DPhV ไม่ได้ต่อต้านความพยายามรวมโรงเรียนและพร้อมจะยอมรับโมเดลการรวมสายอาชีวะเข้าด้วยกันอย่าง Hauptschule และ Realschule แต่การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ตราบเท่าที่ Gymnasium ของพวกเขาไม่ได้รับผลกระทบให้ถูกรวมโรงเรียน ผลประโยชน์ของสมาชิกพวกเขายังไม่ได้อยู่ในความเสี่ยง[9]

DPhV ในนามของสมาคมทางวิชาชีพถือว่ามีอิทธิพลมากกว่า GEW ฝั่งตรงข้าม พวกเขาเน้นการล็อบบี้ มากกว่าการประท้วงบนถนน DPhV ประสบความสำเร็จในการปกป้องผลประโยชน์ให้กับสมาชิก Gymnasium ยังเป็นโรงเรียนที่ทรงเกียรติที่สุดในหมู่โรงเรียนทั้งหลาย นักเรียนที่เข้าเรียนสายนี้ก็มากขึ้น โดยพบว่าในปี 2013 จำนวน 36% ของนักเรียนเกรด 8 ต่างเข้าเรียนที่นี่ ผู้ปกครองเยอรมันชนชั้นกลางและชนชั้นบนมักเลือกที่จะส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนเช่นนี้ และเป็นฝั่งที่ต่อต้านการทำลายระบบโรงเรียน 3 สาขา แม้พรรค SPD จะไม่ใช่พันธมิตรกับพวกเขา แต่ก็เป็นตัวแทนของผู้เรียนที่ประกาศว่าจะสนับสนุน Gymnasium พวก DPhV ประสบความสำเร็จในการระดมการสนับสนุนการแบ่งชั้นของโรงเรียนระหว่างการเลือกตั้งและการลงประชามติ ขณะที่ GEW ไม่สามารถระดมการสนับสนุนเพื่อทำลายระบบที่แบ่งแยกโรงเรียนได้ เมื่อเทียบกันแล้ว GEW ประกอบด้วยกลุ่มย่อยจำนวนมาก นอกจากนั้น ความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับครูกลายเป็นอุปสรรคในการสร้างพันธมิตรในวงกว้าง เนื่องจากในบริบทเยอรมนี ภาพลักษณ์ของครูที่ไม่ได้อยู่ใน Gymnasium มีภาพลักษณ์ที่แย่กว่า นั่นคือ ขี้เกียจ (มีเวลาพักมาก) และไม่มีประวัติการทำงานที่ท้าทาย ทำให้การสนับสนุนทางการเมืองและสาธารณะจึงอ่อนแอ แม้ SPD ก็ยังเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือไม่ได้ในเรื่องนี้[10]

แม้จะมีแนวร่วมทางอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับพรรคการเมืองคนละขั้ว แต่ทั้งคู่พยายามรักษาความอิสระจากพรรคการเมือง แม้ GEW จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคซ้ายกลางอย่าง Social Democratic Party (SPD) และสมาชิกส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิกพรรค SPD ด้วย ในทางตรงกันข้าม DPhV นั้นใกล้ชิดกับพรรคอนุรักษ์นิยมอย่าง Christian Democratic Union (CDU) ตัวอย่างในประเทศอื่นๆ สหภาพแรงงานครูมักจะสัมพันธ์กับพรรคฝ่ายซ้าย แต่ที่เยอรมนีมีการแบ่งกันอย่างชัดเจน

โดยสรุป พรรค SPD ได้โหวตให้กับ ‘ความเท่าเทียมของเงื่อนไข’ (equality of condition) ขณะที่ CDU เน้นไปที่ ‘ความเท่าเทียมแห่งโอกาส’ (equality of opportunity) [11]

อำนาจต่อรองของสหภาพฯ

สหภาพแรงงานครูมีอิทธิพลต่อระบบรัฐการระดับกระทรวงในกระบวนการตัดสินใจ เช่น ระหว่างการเตรียมกฎหมายโรงเรียน และการขอความเห็นจากความเชี่ยวชาญอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ตัวอย่างเช่น Christian Social Union (CSU) ในบาวาเรีย ซึ่งเป็นพรรคน้องสาวของ CDU ที่รับแนวทางการให้เหตุผลมาจาก DPhV ได้รับความสำคัญอย่างมากในสภาระดับ Länder สหภาพแรงงานครูมีอิทธิพลผ่านข้อเสนอของพวกเขา และการให้คำปรึกษาเป็นเรื่องเป็นไปได้ เช่น การฟังเสียงจากสภาผ่านกรรมการโรงเรียนและคณะกรรมการที่ปรึกษา ในนามสภาในระดับโรงเรียน ภูมิภาค และ Länder ที่มีสหภาพแรงงานครูเป็นตัวแทนอยู่ แม้จะไม่มีอำนาจวีโต้ (veto) อยู่ในมือ แต่ประเพณีองค์กรที่เข้มแข็งของสหภาพฯ ในกระบวนการตัดสินใจในเยอรมนียังทรงพลังในภาคสาธารณะ[12]

สหภาพแรงงานครู ถือครองศักยภาพที่จะส่งผลการเลือกตั้งและการลงประชามติด้วยฐานสมาชิกของพวกเขา พวกเขาจึงมีอำนาจต่อนักการเมืองสังกัดกระทรวงเป็นอย่างมาก อำนาจเช่นนี้จึงมีส่วนในกระบวนการตัดสินใจด้านการศึกษา สหภาพฯ ยังมีส่วนขับเคลื่อนครูและผู้ปกครองในการรณรงค์การเลือกตั้ง กรณี DPhV ถือว่า มีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนชนชั้นนำที่มีการศึกษาและกดดันรัฐบาลระดับ Länder กว่าครึ่งศตวรรษ การศึกษาระดับ Gymnasium และ Realschule เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในการกระจายนักเรียนในระบบมัธยมศึกษาของเยอรมนี ทำให้ Gymnasium เปิดรับคนที่มีพื้นเพที่หลากหลายทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น และยังทำให้ช่วงชั้นทางการศึกษาของสังคมเพิ่มขึ้นด้วย จากปี 1970 ถึง 2009 สัดส่วนพ่อแม่ที่จบ Hauptschule ลดลงจาก 83% เหลือ 26% สัดส่วนของพ่อแม่ที่มีคุณสมบัติสอบเข้าระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นจาก 9% เป็น 38% สัดส่วนผู้จบการศึกษาปริญญาตรีเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 24% ลักษณะเช่นนี้ทำให้ผู้ปกครองสนับสนุนระบบโครงโรงเรียนแบบ 3 ขาอย่างกว้างขวาง มากกว่าโรงเรียนแบบผสม[13]

ในระดับโรงเรียน จะมีกลไกที่เรียกว่า ‘สภาพนักงาน’ (มีตัวแทนที่รับการเลือกตั้งจากผู้รับจ้างทั้งหมด) สภาพนักงานมีบทบาทในสิทธิการตัดสินใจร่วม 3 ส่วน ได้แก่ การนัดหมาย การเปลี่ยนเวลาทำงานและตาราง และการสมัครงานแบบพาร์ทไทม์ ในนี้สหภาพแรงงานครูก็มีบทบาทเช่นกัน สภาพนักงานยังมีอำนาจวีโต้เหนือองค์กรในชีวิตประจำวันการทำงาน และมิติทางสังคมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเพิ่มตัวชี้วัดเพื่อเพิ่มผลลัพธ์การปฏิบัติงานโดยผู้บริหารโรงเรียน และการเปลี่ยนแปลงในการจัดการการสอน (เช่น การเปลี่ยนแปลงขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบงานตำแหน่งงาน) ประกันสุขภาพเชิงรุก เช่นเดียวกับแนะนำรูปแบบการควบคุมใหม่ๆ เช่น การเยี่ยมการสอน การทดสอบ ล้วนเป็นประเด็นที่จะต้องมีการตัดสินใจร่วมทั้งสิ้น

การตัดสินใจร่วมหมายถึงการที่จะได้รับการรับรองจากสภาพนักงาน หากสภาฯ ไม่ยินยอมก็จะถูกส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการโรงเรียนให้พิจารณา หากคณะกรรมการปัดตกไป ข้อพิพาทก็จะถูกชี้แจงไปยังกระทรวงศึกษาธิการ โดยอ้างถึงมติของสภาพนักงานอีกที นอกจากนั้น การบริหารจัดการโรงเรียนจะต้องให้ข้อมูลสภาพนักงานในทุกโครงการ เช่น การประเมินนักเรียน สภาฯ ยังมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องข้อมูลข่าวสาร จะเห็นว่าสภาพนักงานมีบทบาทในทุกการตัดสินใจในระดับโรงเรียน สำหรับสหภาพแรงงานครู พวกเขาจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผลประโยชน์ของสมาชิก สหภาพแรงงานให้โครงสร้างคู่กันนี้ขับเคลื่อนผู้ปกครองและครู และได้เสนอโอกาสการฝึกพวกเขาให้เป็นตัวแทนในระดับโรงเรียน[14]

สรุปแล้ว สหภาพแรงงานครูเยอรมันสามารถใช้การวีโต้ในทั้งระดับสภา Länder และระดับรัฐการกระทรวง รวมไปถึงระดับโรงเรียนเพื่อจะคุ้มครองและสนับสนุนผลประโยชน์ของสมาชิก ในสนามต่อรองแห่งเงื่อนไขการจ้างงานและการต่อรองร่วม การปฏิรูปฐานเงินเดือนหรือกฎหมายข้ารัฐการจะถูกถกเถียงกันในสหภาพแรงงานครูเสียก่อน พวกเขายังมีอิทธิพลต่อการต่อต้านการปฏิรูปการจ้างงาน โครงสร้างโรงเรียน และ PISA โดยการถอนการสนับสนุนทางสาธารณะและการโหวตช่วงเลือกตั้งและการลงประชามติ แม้ในเชิงสถาบันแล้วพวกเขาอ่อนแอเมื่อเทียบกับจารีตของสหภาพแรงงานทั่วไปที่ไม่อาจสไตรก์ได้ แต่ก็ถือว่ามีบทบาทที่เข้มแข็งในการกำหนดนโยบายทางการศึกษา[15]

เมื่อเทียบกับใน OECD แล้ว เงินเดือนครูเยอรมนีถือว่าสูงที่สุด เงินเดือนเหล่านี้สะท้อนถึงชั่วโมงสอนด้วย แต่ในทางผกผัน นั่นคือ ครูประถมศึกษาใช้เวลา 804 ชั่วโมงต่อปี ครูระดับมัธยมต้นใช้เวลา 757 ชั่วโมง ครูมัธยมปลายอยู่ที่ 715 ชั่วโมงต่อปี[16]

ครูจะถูกจ้างโดยตรงจาก 16 Länder ตลาดแรงงานครูถือว่าถูกแบ่งแยก และสามารถเรียกได้ว่าเป็นการจ้างงานแบบพหุนิยม (pluralist) แม้ครูส่วนใหญ่จะเป็นข้ารัฐการราว 75%  (ข้อมูลปี 2013) มีความแตกต่างอย่างมากระหว่าง Länder ในด้านสัดส่วนครูที่เป็นข้ารัฐการ ความสำคัญของการจ้างงานที่หลากหลายสำหรับสหภาพแรงงานครูก็คือ ความสามารถที่จะปฏิบัติการต่อรองรวม (ซึ่งรวมถึงการสไตรก์) ที่ต่างกันระหว่าง Länder ที่บางแห่งมีได้ บางแห่งมีไม่ได้ ดังนั้นอิทธิพลของสหภาพแรงงานครูอย่างเป็นทางการจึงไม่ทั่วถึงกันในระดับประเทศ[17]

หลังจากการปฏิรูปของรัฐบาลกลางในปี 2006 และ 2009 มีการจัดวางเขตอำนาจศาลและการเมืองถูกจัดวางใหม่ใน Länder และรัฐบาลกลาง ข้ารัฐการจาก 16 Länder และรัฐบาลกลางเป็นอิสระภายใต้เงื่อนไขบริการสาธารณะซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างการจ่ายเงินเดือนและอาชีพ ในครั้งนี้ การเจรจาต่อรองรวมจะอยู่ในระดับ Länder และสหภาพแรงงานครูจะถูกท้าทายด้วย 2 ระดับ ระดับแรก พวกเขาจำเป็นต้องจัดสรรทรัพยากรเพื่อจะต่อสู้ภายใต้ 17 เวทีการต่อรอง ระดับที่ 2 ความเข้มงวดต่อการขึ้นเงินเดือนกลายเป็นข้อถกเถียงใหม่ จะเห็นว่าการกระจายเช่นนี้ส่งผลต่อกระบวนการการต่อรองที่ทำให้ต้องใช้ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนสมาชิก ยิ่งในกลุ่มข้ารัฐการ การเจรจาต่อรองรวมและการเจรจาในแต่ละวิชาชีพไม่อาจเกิดขึ้นได้[18]

ในทางคู่ขนานกัน ในฐานะผู้ว่าจ้าง รัฐบาลกลางเป็นผู้ตัดสินใจประเด็นระดับเงินเดือนและการควบคุมการทำงานของเหล่าข้ารัฐการทั้งหมด รวมไปถึงครูด้วย ในช่วงกระบวนการจัดทำกฎหมาย สหภาพมีสิทธิ์ที่จะรับฟังและปรึกษาหารือกับตัวแทนรัฐ แต่กระนั้นในระบบ German corporate system สหภาพเป็นตัวแทนในฐานะผู้ล็อบบี้ตัวแทนรัฐอย่างไม่เป็นทางการ ในระดับท้องถิ่นจะเจรจากับระดับ Länder[19]

แต่เมื่อเป็นกลุ่มเฉพาะ พบว่า DPhV สามารถปรับปรุงเงินเดือนสำหรับครู Gymnasium ผ่านการลงรายชื่อเรียกร้อง และการต่อรองกับรัฐมนตีกระทรวงศึกษาธิการ ขณะที่ระบบเงินเดือนเพื่อครูทั้งหมดของ GEW ไม่ประสบความสำเร็จ ในปี 2013 GEW ได้นัดหยุดงานเพื่อสู้กับความแตกต่างของรายได้ของครูอัตราจ้างและครูข้ารัฐการ แต่กลายเป็นว่าได้ทำให้เกิดความไม่พอใจของสมาคมผู้ปกครอง เนื่องจากทำให้คาบสอนลดลงและกังวลว่าเด็กจะกลายเป็นเครื่องมือในการต่อรอง ขณะที่ GEW ไม่สามารถชี้ให้เห็นว่าผลประโยชน์ของตนนั้นจะนำมาซึ่งการศึกษาที่ดี (หรือการศึกษาที่เท่าเทียม) ได้อย่างไร[20]

‘PISA ช็อก’ เมื่อการศึกษาเยอรมนีถูกทำให้ขายหน้า และการปฏิรูป กับ ท่าทีของสหภาพฯ

ระหว่างกลางทศวรรษ 1970-ต้นทศวรรษ 2000 ระบบการศึกษาเยอรมนียังสามารถต่อต้านการปฏิรูปได้ และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงสาระ แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันหลังจากการสอบ PISA ในปี 2001 ที่ผลคะแนนออกมาได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ซึ่งถือว่าได้เน้นความอ่อนแอของระบบการศึกษาเยอรมนีจากมุมมองเชิงเปรียบระหว่างประเทศ กรณีนี้เรียกกันว่า ‘PISA shock’

ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของการศึกษาระดับมัธยมถูกปฏิรูป ผ่านการการปรับปรุงผลการเรียนของเหล่านักเรียนในเยอรมนี การปรับปรุงการประกันคุณภาพ การขยายการให้บริการไปทั้งวัน และการปรับปรุงทักษะ วิธีการสอน และการวินิจฉัยทักษะของครู ไม่เพียงเท่านั้น ยังเน้นไปที่การเฝ้าสังเกตมาตรฐานการศึกษาและนิยมทักษะของนักเรียนในเชิงวิชาการ สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เป็นการปรับกระบวนทัศน์ไปสู่การบริหารการศึกษาที่ยึดเอาผลลัพธ์เป็นหลัก ที่ผ่านมาการบริหารการศึกษายึดเอาหลักการกระจายงบประมาณและแผนโครงสร้างทางการศึกษาที่ถูกจัดสรรจากส่วนกลาง การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ถูกขับดันด้วยที่ปรึกษาผ่านปฏิบัติการการวัดและประเมินผล[21] 

การปฏิรูปยุคหลัง PISA ส่งผลต่อการทำงานของครูทั้งหลาย และได้เปลี่ยนผลประโยชน์ของสหภาพแรงงานครู เห็นได้จากการที่สหภาพฯ ถูกเตือนว่าจะต้องปกป้องลูกค้าพวกเขาจากความเปลี่ยนแปลงที่ไม่น่ายินดีต้อนรับ ในเวลาเดียวกันสหภาพแรงงานทั้ง GEW และ DPhV ได้แสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปนั้นเกินขอบเขตและเป็นความพยายามที่จะฉวยโอกาสโดยเหล่านักปฏิรูป แต่ก็มีบางสิ่งที่ต่างกันไป นั่นคือ GEW ใช้ PISA เพื่อเรียกร้องการจัดตั้งโรงเรียนแบบผสมเพื่อปรับปรุงผลการเรียนสำหรับนักเรียนที่แตกต่างกัน ขณะที่ DPhV ที่พยายามปกป้องระบบ 3 ขา ก็อ้าง PISA โดยถกเถียงว่า โรงเรียนในมลรัฐที่มีโครงสร้าง 3 ขาที่เข้มงวด สามารถทำคะแนน PISA ได้ดีที่สุด  ขณะที่ข้ออ้างของ GEW นั้นเทียบระบบโรงเรียนจากฟินแลนด์ที่ได้คะแนน PISA โดดเด่น[22]

แต่โดยทั่วไปแล้ว สหภาพฯ ไม่ได้ประเมินว่าการปฏิรูปจะเป็นโอกาสที่ดีต่อผลประโยชน์ของพวกเขาหรือการปรับปรุงสภาพการทำงาน เนื่องจากพวกเขารู้ดีว่านั่นคือ ภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของพวกเขา ในทางตรงข้ามกับการปฏิรูปแบบเสรีนิยมใหม่ สหภาพแรงงานครูเยอรมนีสามารถที่จะปิดกั้นการปฏิรูปด้วยการนำเข้าการบริหารจัดการที่ยึดเอาผลลัพธ์เป็นหลัก ระบบการตรวจสอบได้ หรือการแปรรูปเป็นเอกชน[23]

สหภาพแรงงานครูโฟกัสอยู่บนการวิพากษ์ว่าการปฏิรูปนั้นล้ำเส้นและส่งผลเสียต่อการปรับปรุงผลการเรียนของนักเรียนมากกว่า ความขัดแย้งถูกยกระดับจากที่สหภาพฯ ตระหนักถึงการพยายามสร้างการตรวจวัดผ่านการสอบวัดผลเชิงประจักษ์ การเน้นผลสอบเป็นหลักนำไปสู่ผลกระทบ 2 ประการ ประการแรกคือ การนิยามเป้าหมายที่จะบรรลุที่ไม่ได้ควบคุมรายละเอียด ทำให้ครูมีอิสระที่จะประยุกต์กลยุทธ์ที่จะเข้าถึงเป้าหมาย ประการที่สอง ครูเผชิญหน้ากับการประเมินและการสอบที่คล้ายกับ PISA โรงเรียนและเขตโรงเรียนถูกสังเกตผ่านการประเมินระดับชาติและระดับนานาชาติ ขณะที่การประเมินภายในก็ถูกสร้างมาตรฐานขึ้นมาใหม่[24]

GEW อ้างว่าการสานต่อการปฏิรูปเกิดขึ้นอย่างเลวร้าย ซึ่งขาดทรัพยากรมนุษย์และทุนที่จะสร้างประสิทธิภาพในระดับโรงเรียน GEW ถกเถียงถึงการวัดผลที่ให้ความสำคัญมากเกินไป การประเมินอยู่ตลอดเวลานำไปสู่วิธีคิดแบบสอนเพื่อสอบ ทำให้ครูมุ่งมั่นแต่ที่จะพัฒนาคะแนนสอบมากกว่าการให้การศึกษาที่ดี แทนที่จะเน้นการสอบ ครูและโรงเรียนต้องการความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่างหาก

มากกว่านั้น GEW ยังสนับสนุนการประท้วงในปี 2009 ที่นักเรียน ผู้ปกครอง พนักงานมหาวิทยาลัย และครูได้เรียกร้องให้ลดการปฏิรูปการศึกษาที่ส่งผลต่อความขัดแย้ง แต่การประท้วงก็ไม่ได้เป็นการเน้นเฉพาะผลประโยชน์ของครู แต่เป็นการสร้างพันธมิตรอย่างกว้างขวางภายใต้เวลาอันสั้น มากกว่านั้น GEW ยังปฏิเสธความพยายามในอนาคตที่จะทำการศึกษาให้อยู่ในระบบตลาด จุดยืนของ GEW จึงอยู่ร่วมกับ DPhV ผู้เห็นว่าสถานภาพความเป็นข้ารัฐการได้ถูกคุกคามโดยการเพิ่มขึ้นของโรงเรียนที่ถูกแปรรูปให้เป็นเอกชน ในเยอรมนีต่างไปจากที่อื่นตรงที่การปฏิรูปบนฐานระบบตลาดไม่ใช่นโยบายกระแสหลัก แม้สัดส่วนของโรงเรียนเอกชนจะเพิ่มสูงขึ้นในหลายปีหลัง กระนั้นสัดส่วนของโรงเรียนเอกชนในเยอรมนีก็น้อยกว่าโรงเรียนอื่นใน OECD[25]

สำหรับ DPhV ไม่ได้ตั้งคำถามต่อการสอบและการวัดและประเมินผล พวกเขาใช้มันให้เป็นประโยชน์และเน้นว่าการสานต่อการปฏิรูปนั้นอยู่ที่การสนับสนุนการฝึกอบรมครูให้มากขึ้น DPhV ใส่ใจที่สุดคือ การถกเถียงว่าโครงสร้างโรงเรียนจะถูกเปลี่ยนแปลงภายใต้การปฏิรูปของ PISA โดยเฉพาะข้อเสนอในการปรับให้เป็นระบบโรงเรียนผสม หลังจากคะแนน PISA ตกต่ำ สหภาพฯ โดยเฉพาะ DPhV สามารถสร้างพันธมิตรร่วมกับเหล่าผู้ปกครองใน Gymnasium ได้ แต่ในกรณีของ PISA ทำให้พวกเขาต้องแยกทางกัน เนื่องจากผู้ปกครองสนใจที่จะพัฒนาระบบการศึกษามากกว่า แต่ DPhV ก็ยังประสบความสำเร็จในการปกป้องโครงสร้างโรงเรียนโดยใช้ผลการเรียนที่ดีของนักเรียนของพวกเขาได้[26]

จะเห็นว่าทวิลักษณ์ของสหภาพแรงงานการศึกษาในเยอรมนี นำไปสู่การปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มแรงงานที่แตกต่างกันไป กระนั้นความเข้มแข็งของสหภาพฯ ก็มีบทบาทในการกำหนดนโยบายทางการศึกษาได้อย่างน่าสนใจ และสร้างสนามกลางของการต่อรองทั้งในฐานะวิชาชีพ วิชาการและแรงงานประเภทหนึ่งในปริมณฑลแห่งอำนาจเช่นนี้

  • ระบบการศึกษาเยอรมนีมีลักษณะที่แตกต่างจากที่เรารู้จักกัน นั่นคือ การเรียนของเด็กๆ จะเริ่มต้นที่ Grundschule/Primarschule เมื่ออายุ 6-7 ปี แล้วหลังจากนั้นจะมีอยู่ 3 ทางเลือก นั่นคือ Realschule, Hauptschule และ Gymnasium ซึ่งในที่นี้เรียกว่าระบบ 3 สาขา
  • Gymnasium คือ สายวิชาการเพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย (Abitur) อีก 2 ช่องทางเป็นการเตรียมเข้าสู่การฝึกวิชาชีพ Hauptschule เป็นช่องทางที่สั้นที่สุดเพื่อฝึกความเป็นช่างฝีมือ และ Realschule เป็นชั้นเทคนิคและวิชาชีพบริการทั้งหลาย
  • ด้วยความที่เยอรมนีเป็นรัฐรวม  ทำให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นไปสู่ระดับ Länder (มลรัฐ)
  • พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคที่เป็นแนวร่วมกับสหภาพแรงงานครู ก็คือ Social Democratic Party (SPD) กับ GEW และ พรรค Christian Democratic Union (CDU) กับ DPhV
  • ในปี 2011 ครูมัธยมปลายที่สอนมาแล้ว 15 ปี จะมีเงินเดือนสูงกว่าครูประถมถึง 20% สถิติในปี 2013 เงินเดือนระดับประถมอยู่ที่ 59,000 ดอลลาร์ต่อปี ในระดับมัธยมต้นอยู่ที่ 64,000 ดอลลาร์ และมัธยมปลายอยู่ที่ 70,000 ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ 38,000, 40,000 และ 43,000 ดอลลาร์ ตามลำดับ ทั้งที่ค่าเฉลี่ย OECD ครูมัธยมปลายจะมากกว่าเพียง 9% และ 4% ที่มากกว่าครูมัธยมต้นเท่านั้น

[1] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, “Teacher Unionism in Germany : Fragmented Competitiors”, Ibid., p.116-117

[2] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.118

[3] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.118

[4] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.118-119

[5] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.119

[6] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.119-120

[7] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.120

[8] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.121

[9] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.122

[10] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.125-126

[11] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.123

[12] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.123-124

[13] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.124

[14] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.124-125

[15] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.125

[16] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.126-127

[17] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.127

[18] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.127-128

[19] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.128

[20] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.128

[21] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.131-132

[22] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.132-133

[23] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.133

[24] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.133

[25] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., pp.133-134

[26] Rita Nikoli, Kendra Briken and Dennis Niemann, Ibid., p.134

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save