fbpx

9 เรื่อง 9 ทศวรรษ สุดา พนมยงค์ : ชีวิตระหว่างบรรทัดของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ถ้าเราคิดจะทำในสิ่งที่ดีแล้ว จะต้องมุ่งมั่นพยายามทำให้ได้ แม้จะมีอุปสรรคมากมายก็ตาม และอยากชวนให้ศึกษาประวัติศาสตร์ กับความเสียสละของคณะราษฎรที่กระทำการไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

นี่คือข้อคิดจากสุดา พนมยงค์ ลูกสาวของปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ผู้เป็นมันสมองของคณะราษฎร

ด้วยเหตุที่เติบโตมาในครอบครัวของ ‘ผู้อภิวัฒน์’ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตของสุดานั้นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ขณะเดียวกัน ตัวเธอเองได้สร้างผลงานเอาไว้ไม่น้อย จนได้รับการยกย่องว่าเป็นครูสอนเปียโนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในประเทศไทย


สุดา พนมยงค์
ภาพจาก Jamorn Supapol


1. กำเนิด


สุดาเป็นลูกคนที่ 3 ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับนางประดิษฐ์มนูธรรม เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2476 (ปฏิทินเก่า) ซึ่งตรงกับ ค.ศ.1934 เวลานั้น บิดาของเธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลังเพิ่งพ้นมลทินมัวหมองจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนต้องออกไป ‘ดูงาน’ พร้อมกับมารดาของเธอ ที่ประเทศฝรั่งเศสอยู่ระยะหนึ่ง

สุดามีชีวิตวัยเยาว์ในบ้านพูนศุข บริเวณป้อมเพชร์นิคม ถนนสีลม ซึ่งมีคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลาน ภาพจำที่ยังชัดเจน คือหลังจากตั้งวงกินก๋วยเตี๋ยวเจ้าประจำที่หาบเข้ามาขายในบ้านแล้ว เธอจะได้ฟังผู้ใหญ่ในบ้าน ทั้งคุณป้าคุณน้าคุยกันเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะประวัติบุคคล ซึ่งเป็นเกร็ดความรู้ที่ยากจะหาจากตำราใด

นอกจากนี้ ในวัยเด็ก สุดามีโอกาสเฝ้าเจ้านายบางพระองค์ เนื่องจากคุณยาย (คุณหญิงเพ็ง) เคยพาไปเฝ้ากรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ที่วังสะพานขาว และได้วิ่งเล่นกับพระโอรสและธิดารุ่นเล็กของพระองค์ท่าน ผู้เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง


พระยาชัยวิชิตฯ กับคุณหญิงเพ็ง และลูกหลาน
(สุดานั่งแถวหน้าสุด ที่ 4 จากซ้าย)
ภาพจาก ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย (2567)


2. การศึกษายามเยาว์


สุดาเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านและเป็นโรงเรียนเก่าของมารดา นอกจากนี้ยังเริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่เด็ก เพราะมารดาของเธอเล่นเปียโนเพลงคลาสสิกได้ จึงให้เรียนกับคุณครู Marie-Louis Lamache เพื่อนสนิทของท่าน และ Sister Renée แม่ชีที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ

เมื่อ พ.ศ.2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นในประเทศไทย หลังจากที่บิดาของสุดาลาออกจากบรรดาศักดิ์เป็นนายปรีดี พนมยงค์ แล้วดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ครอบครัว ‘ปรีดี-พูนศุข’ ย้ายมาพำนักที่ทำเนียบท่าช้าง ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สุดาจึงย้ายมาเรียนที่เซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ ที่อยู่ไม่ไกลจากที่นั่นแทน


จากซ้าย) ลลิตา พนมยงค์, ม.ร.ว.วิวรรณ วรวรรณ, สุดา พนมยงค์, ดุษฎี พนมยงค์
ภาพจาก ดุษฎี พนมยงค์


3. เพื่อนที่รัก


การย้ายโรงเรียนในชั้น ป.4 ทำให้เด็กใหม่ต้องปรับตัวกับโรงเรียนใหม่เป็นธรรมดา โชคดีที่สุดาได้หม่อมราชวงศ์หญิงคนหนึ่งคอยช่วยเหลือดูแลต่างๆ ในฐานะที่เป็นนักเรียนที่เซนต์ฟรังอยู่ก่อนแล้ว

การเดินทางไปโรงเรียนของลูกสาวผู้สำเร็จฯ ค่อนข้างสะดวกสบาย มีคนขับรถยนต์จากทำเนียบท่าช้างไปส่งที่โรงเรียนอยู่เสมอ นี่นับว่าผิดกับครอบครัวของเจ้านายบางองค์ในยุคนั้น เช่น ครอบครัวของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ที่ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ในวัยเยาว์เดินทางไปโรงเรียนด้วยรถรางบ้าง เดินไปโดยมีมหาดเล็กช่วยถือกระเป๋าบ้าง เพราะถึงแม้ว่าที่วังจะมีรถยนต์ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นน้ำมันแพง จึงมักใช้รถยนต์ในวันหยุดที่เดินทางพร้อมกันทั้งครอบครัวมากกว่า

เคยมีคนมาเล่า (ซึ่งสุดาลืมเรื่องนี้ไปแล้ว) ว่าคราวหนึ่งเมื่อสุดานั่งรถยนต์ไปโรงเรียน แล้วเจอหม่อมราชวงศ์หญิงที่เป็นเพื่อนรัก ยังได้ชวนเพื่อนคนนั้นขึ้นรถไปโรงเรียนด้วยกัน

หม่อมราชวงศ์หญิงที่เป็นเพื่อนรักผู้นี้เคยมอบรูปที่ถ่ายคู่กับน้องสาวให้สุดาในระหว่างสงคราม แล้วเขียนด้านหลังว่า “ไห้ สุดา เพื่อนที่รักมากกว่าเพื่อนอื่นๆ เมื่อหยู่ไกลกัน หย่าทิ้งเลย ขอไห้ดูและมาหาฉันบ้าง” (สะกดตามอักขระสมัยนั้น) พร้อมทั้งจดที่อยู่ไว้ให้

นอกจากนี้ หม่อมราชวงศ์ผู้นี้ยังเคยเรียนเปียโน โดยใช้หนังสือโน้ตเพลงต่อจากสุดาอีกด้วย           


4. ชีวิตยามสงคราม


เมื่อสุดาอายุ 8 ขวบ ก็เผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 “ได้เห็นทหารญี่ปุ่นในเครื่องแบบเดินไปเดินมาตามถนนในกรุงเทพฯ ไม่เข้าใจสถานการณ์ แต่จำได้ว่ารู้สึกไม่พอใจเลย กลัวทหารเหล่านั้นด้วย และยังกลัวการทิ้งระเบิดจากกองทัพสัมพันธมิตร” ในบางคืนที่มีเสียง ‘หวอ’ ก็ต้องรีบเข้า ‘หลุมหลบภัย’

ครั้นสถานการณ์รุนแรงขึ้น ครอบครัวของเธอย้ายไปพำนักที่คุ้มขุนแผน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่บิดาของเธอก็ยังเอาใจใส่การศึกษา จัดให้มีการเรียนการสอนบางวิชาที่ศาลาริมน้ำ หลังจากนั้น เมื่อย้ายไปบริเวณพระราชวังบางปะอินแล้ว บิดาของเธอก็สร้าง ‘โรงจาก’ เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กๆ ที่ตามครอบครัวอพยพไปที่นั่น

แต่เรื่องขบวนการเสรีไทยที่บิดาของเธอเป็นหัวหน้า สุดามาทราบเอาเมื่อเมื่อเลิกสงครามแล้ว “พี่ปาลมาถามว่า รู้ไหมว่าใครเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยที่ช่วยให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ดิฉันตอบว่าไม่ทราบ พี่ปาลจึงเฉลยว่า คุณพ่อของเรานั่นไง!”


(จากซ้าย) สุดา พนมยงค์, ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย, สุทิน ลุลิตานนท์
ภาพจาก ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย (2567)


5. ชีวิตที่ผันผวน


หลังสงคราม สุดากลับไปเรียนที่เซนต์โยเซฟคอนเวนต์อีกครั้ง และแล้วก็เกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ปรีดี พนมยงค์ กลายเป็นบุคคลที่เมืองไทยไม่ต้องการ และผลกระทบทางการเมืองก็มาถึงครอบครัวของเธอ ดังนั้น เมื่อสุดาเรียนจบมัธยมปลายแล้ว จึงเดินทางไปเรียนเปียโนต่อที่สถาบันดนตรี ประเทศฝรั่งเศส จนได้ประกาศนียบัตรมาเป็นเครื่องประกันความสามารถ และยังไปสอบได้ใบประกาศนียบัตรจากประเทศอังกฤษมาด้วย


เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส
สนามบินดอนเมือง เดือนกันยายน 2494
(จากซ้าย) ศิริวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา, วาณี พนมยงค์, ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย, สุดา พนมยงค์, ท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล
ภาพจาก ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย (2567)


6. ถูกออกหมายจับ


ครั้นถึงปี 2501 เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สุดาตั้งใจจะกลับประเทศไทย โดยแวะไปเยี่ยมบิดา ซึ่งพำนักอยู่ในประเทศจีนก่อน ปรากฏว่า เมื่อเกิดการรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการออกหมายจับคนไทยที่ไปเมืองจีน โดยในรายชื่อผู้ถูกออกหมายจับมีชื่อ ‘นางสาวสุดา พนมยงค์’ เป็นคนหนึ่งในนั้น ซึ่งเธอเห็นว่า “เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เพราะการที่ลูกสาวไปเยี่ยมพ่อที่อยู่ในประเทศจีน ถือว่าเป็นอาชญากรรม” สุดาจึงต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีนถึง 9 ปี


7. ชีวิตในต่างแดน


บิดาของเธอไม่อยากให้เวลาสูญเปล่าไป จึงพาสุดาไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ให้รู้จักอารยธรรมจีน และติดต่อให้เข้าเรียนดนตรีที่สถาบันดนตรีกลาง กรุงปักกิ่ง เวลานั้นเธอไม่รู้ภาษาจีน จึงจัดให้ดุษฎี น้องสาวซึ่งคล่องภาษาจีนแล้ว เป็นล่ามให้สุดาในการเรียน

เมื่อปรีดีพำนักในประเทศจีนได้สองทศวรรษ จึงย้ายไปพำนักที่ฝรั่งเศส จากความเอื้อเฟื้อของเจ้าหน้าที่จีนและฝรั่งเศส  ก่อนที่ปรีดีจะย้ายไปนั้น ได้ส่งพูนศุขและสุดาไปก่อน คราวนี้สุดาได้เรียนด้านครุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโททางอักษรศาสตร์

ด้านหน้าที่การงาน สุดาเป็นครูสอนภาษาไทยในสถาบันภาษาตะวันออก เพราะมีใจรักด้านการสอน อาจเป็นอิทธิพลจากผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งชอบสอนคนรอบตัวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องรากศัพท์ และการใช้ศัพท์บัญญัติ  นอกจากนี้สุดายังสอนเปียโนตามบ้านของลูกศิษย์ควบคู่กันไปด้วย

แม้จะไม่ถึงกับแต่งตำราไว้ แต่สุดาก็มีเอกสารประกอบการสอนภาษาไทยอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมา เมื่อมีการเรียนการสอนที่ปารีส ครูบางคนได้อ้างอิงตำราสอนของสุดา  เธอเล่าด้วยว่า “การที่ได้เรียนดนตรีมาก่อนช่วยให้การสอนภาษา โดยเฉพาะการออกเสียงวรรณยุกต์ง่ายขึ้น เพราะสามารถใช้วิธีการออกเสียงมาช่วยได้

สุดาสอนหนังสืออยู่ที่ปารีสเป็นเวลา 17 ปี มีลูกศิษย์จำนวนไม่น้อย บ้างเป็นนักการทูตก็มี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยคนหนึ่งบอกว่าไม่ได้รู้จักเธอในฐานะครูสอนเปียโน แต่รู้จักในฐานะครูสอนภาษาไทย


เล่นเปียโนในงานฉลองศตวรรษชาตกาล นายจำกัด พลางกูร ณ ทำเนียบท่าช้าง พ.ศ. 2557
ภาพจาก สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์


8. ครูเปียโน


เมื่อย้ายกลับมาพำนักในประเทศไทย หลังการถึงแก่อสัญกรรมของรัฐบุรุษอาวุโสผู้เป็นบิดาแล้ว สุดาสอนเปียโนเป็นหลัก ทั้งในฐานะอาจารย์พิเศษของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ฯลฯ  จนปัจจุบันนี้ เธอก็ยังสอนเปียโนที่สตูดิโอส่วนตัว มีลูกศิษย์ทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ รวมถึงเป็นกรรมการตัดสินการสอบ กรรมการตัดสินการแข่งขัน ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งเป็นวิทยากรในมหาวิทยาลัยและการประชุมเชิงปฏิบัติการต่างๆ

ดังที่ศาสตราจารย์ ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ เขียนถึงสุดาในหนังสือ ‘ดนตรีคลาสสิก: บุคคลสำคัญและผลงาน’ ว่า 

สุดา พนมยงค์ (1934-) นักเปียโนและครูเปียโน จบการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส เป็นอาจารย์พิเศษของสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง มีผลงานแสดงเปียโนอย่างสม่ำเสมอ เชี่ยวชาญการสอนด้านความเป็นดนตรี รวมถึงโสตทักษะ”

ทั้งนี้ ในปี 2562 มีบทความวิชาการของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิอร เตรัตนชัย ศึกษาเรื่อง ‘การศึกษาการสอนโสตทักษะตามแนวสุดา พนมยงค์’ ซึ่งเสนอว่า “จุดเด่นของวิชาโสตทักษะตามแนวทางของสุดา พนมยงค์ ที่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คือ ‘การเชื่อมโยงความรู้สึกไปสู่ความคิดที่เป็นทฤษฎี’ …ลักษณะเด่นอีกประการ คือ ‘สอนเรื่องที่ง่ายไปสู่เรื่องที่ยาก จากน้อยไปสู่มาก จากธรรมชาติไปสู่ความเป็นวิชาการ และความเป็นศิลป์สู่ความเป็นศาสตร์’


รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ฝรั่งเศส
ภาพจาก https://twitter.com/G_Garachon/status/984405269684695040


โดยในปี 2561 สุดาได้รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ฝรั่งเศส ตระกูล Palmes Academiques (ด้านการศึกษา) ชั้น 2 (Offcier) ณ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ซึ่ง Gilles Garachon เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยกล่าวว่า “เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์ให้แก่คุณสุดา พนมยงค์ คุณดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุลและ คุณทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ในฐานะผู้เผยแพร่ความรู้ ศิลปะ และวรรณคดี เราซาบซึ้งในบทบาทที่ทั้ง 3 ท่านมีในการส่งเสริมความรู้ ประชาคมโลกฝรั่งเศส และศิลปะ ทั้งในไทยและในระดับนานาชาติ


เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ “ความงาม : Aestheticism” ของเพ็ญสิน นีลวัฒนานนท์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567
ภาพจาก กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร


9. ผู้ใหญ่ที่น่ารัก


สุดาเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารัก หัวเราะให้กับตัวเองได้ในความไม่สันทัดบางอย่าง เป็นต้นว่าในช่วงที่จำต้องมารับตำแหน่งประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ อยู่ระยะหนึ่ง หรือแม้กระทั่งในด้านดนตรี ในการฝึกซ้อมการแสดงกับนักไวโอลิน ซึ่งมีอายุอ่อนกว่าเธอเกือบ 70 ปี เธอก็ยิ้มได้อย่างชื่นบานเมื่อบอกกับคนนอกวงการดนตรีที่มาฟังการซ้อมว่า เด็กหนุ่มคนนั้นต้องคอยแนะนำเธอเรื่องจังหวะเพลง

ในวัย 90 ปี สุดายังมีสุขภาพแข็งแรง ติดตามข่าวสารบ้านเมือง อ่านหนังสือ ไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ของสถาบันปรีดี พนมยงค์ และไปชมการแสดงดนตรีอย่างสม่ำเสมอ


วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2549 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ท่านผู้หญิงพูนศุขไปร่วมงาน
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ภาพจาก ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย (2567)


บรรณานุกรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save