fbpx

ข้อคิดจากสมเด็จฯ : 90 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ในโอกาสมหามงคลที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระชนมายุครบ 9 ทศวรรษ ในวันที่ 12 สิงหาคม ศกนี้ จึงขอร้อยเรียงตัวอักษรเป็นบทความเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระองค์นั้น ผ่านเรื่องราวขณะทรงพระเยาว์ พระจริยวัตรอันงดงาม และข้อคิดที่น่าสนใจ ซึ่งทรงอบรมพระราชโอรสพระราชธิดาของพระองค์ท่าน


ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร


ศรีแห่งกิติยากร


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม 2475 ณ บ้าน[1] ของเจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็น ‘เจ้าคุณตา’  เพียงเดือนเศษภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยาม จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย

ครั้งนั้น สมเด็จฯ ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร โดยเป็นธิดาของ ม.จ.นักขัตรมงคล (ที่สุดเป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับ ม.ล.บัว (สกุลเดิม สนิทวงศ์) สำหรับชื่อ ‘สิริกิติ์’ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน มีความหมายว่า ‘ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร’

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ม.จ.นักขัตรมงคล ย้ายไปรับราชการเป็นเลขานุการเอกประจำสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ ม.ร.ว.สิริกิติ์ อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาวงศาฯ กับหม่อมบาง (สกุลเดิม บุญธร ที่สุดเป็นท้าววนิดาพิจาริณี)  ตราบจน พ.ศ. 2477 ท่านนักขัตรฯ กลับมาประทับ ณ วังเทเวศร์ ตำหนักริมแม่น้ำเจ้าพระยาปากคลองผดุงกรุงเกษม พร้อม ม.ล.บัว ครอบครัวจึงได้พร้อมหน้าอีกครั้ง


ตำหนักของ ม.จ.นักขัตรมงคล ที่ปากคลองผดุงกรุงเกษม


การศึกษา


ม.ร.ว.สิริกิติ์ เข้าเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ครั้นถึงปี พ.ศ. 2482 จึงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ถนนสามเสน เพราะเดินทางสะดวก ห่างจากวังเทเวศร์ที่พำนักเพียงสองกิโลเมตร และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ม.ล.บัว มารดา เห็นว่าที่นี่มีครูสอนเปียโน ซึ่งสามารถยึดเอาเป็นอาชีพได้ ดังที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชนิพนธ์ไว้ว่า

สมเด็จแม่ทรงเล่าว่า ฐานะไม่ค่อยดีนัก เพราะเด็จตาก็มิได้ทรงมีรายได้มาก คุณยายจึงวางแผนการชีวิตไว้ว่า ลูกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกผู้หญิง จะต้องมีงานอาชีพที่เลี้ยงตัวได้ อาชีพที่คุณยายเห็นว่าดี คือ การเป็นครูสอนเปียโน นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่สมเด็จแม่ทรงย้ายจากโรงเรียนราชินีไปอยู่โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ซึ่งมีครูสอนเปียโน

สำหรับการเดินทางไปโรงเรียนนั้น บางครั้งนั่งรถรางชั้นสอง ถ้าแน่นค่อยไปขึ้นชั้นหนึ่งซึ่งมีเบาะ บางครั้งก็เดินไปโรงเรียน โดยมีนายเฮง มหาดเล็ก ช่วยถือกระเป๋า แม้ที่วังจะมีรถยนต์ แต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง น้ำมันแพง จะใช้รถยนต์เดินทางตราบเมื่อถึงวันหยุดพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว สอดคล้องกับเรื่องเล่าที่ว่า เช้าวันหนึ่ง ม.ร.ว.สิริกิติ์ เดินไปโรงเรียน เผอิญลูกสาวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนหนึ่งซึ่งเรียนโรงเรียนเดียวกันนั่งรถยนต์ผ่าน จึงได้เรียกขึ้นรถไปด้วยกัน เพราะทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกันในโรงเรียนแห่งนี้



การหารายได้ของเจ้านาย


สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่งว่า “ตอนสงครามนี้ สมเด็จแม่เล่าว่า มีรายได้จากค่าเช่าห้องแถว พอคิดจะขึ้นค่าเช่าบ้าง เพราะครอบครัวก็มีรายจ่ายมาก เด็จตาก็ต้องเปลี่ยนพระทัย เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทุกคนลำบาก ‘เราต้องกิน เขาก็ต้องกิน’ แบ่งๆ กันดีกว่า

พระจริยวัตรอันงดงามของกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถนี้สืบต่อมายังสมเด็จฯ อย่างไม่ขาดสาย ตัวอย่างเช่น เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าพระองค์นั้นยังทรงพระเยาว์ ทรงหารายได้ระหว่างปิดภาคเรียนด้วยการกวนทอฟฟี่ขาย โดยมีคุณจันทิมา พึ่งบารมี เป็นวิทยากร ทำเสร็จแล้วก็เอาไปขายนางสนองพระโอษฐ์ นางพระกำนัลของสมเด็จฯ 

ครั้นท่านผู้หญิงฉัตรแก้ว นันทาภิวัฒน์ รับประทานแล้วอร่อย จึงถวายให้สมเด็จฯ เสวย พระองค์จึงทรงไต่สวนถึงที่มา เมื่อทราบว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอของพระองค์เป็นเจ้าของกิจการ ก็ทรงห้าม เพราะการลงทุนแบบนี้ไม่ใช่การลงทุนที่ถูกต้อง ใช้ของหลวงมาทำโดยไม่ได้หักต้นทุน ทั้งน้ำตาล นม ถ่าน ฯลฯ ล้วนเบิกมาจากห้องเครื่องทั้งนั้น ข้อสำคัญคือ ทรงตักเตือนว่า จะค้าขายอะไรก็ต้องระวัง การเอาความเป็นเจ้าฟ้าไปเที่ยวบังคับใครๆ ให้ซื้อของของตัว แล้วเอาเงินเข้ากระเป๋า (ไม่ใช่เป็นการกุศล) นั้น เป็นสิ่งห้ามขาด


โปรดการเป็นครู


สมเด็จฯ โปรดการเป็นครูมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยเล่นเป็นครูกับนักเรียน เรียกเด็กๆ ในบ้านมาสอนหนังสือ ดังที่ท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงษ์ ผู้เป็นน้องสาว เล่าว่า “โปรดเป็นครูด้วย…ทรงสอนเก่งและสนุกมาก…จำไม่ได้ว่าสอนวิชาอะไร รู้สึกว่าจะเล่าเป็นนิทานมากกว่า

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าว่า “ตั้งแต่ข้าพเจ้าเล็กๆ ก็ได้เป็นนักเรียนของท่านเหมือนกัน (คราวนี้เป็นนักเรียนจริงๆ ไม่ใช่เล่นๆ อีกต่อไปแล้ว)” โดยสมเด็จฯ ทรงสอนหลายวิชา เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย พุทธศาสนา และเปียโน เป็นต้น



มีหน้าที่ทำเพื่อประชาชน


นอกจากการสอนวิชาความรู้ต่างๆ แล้ว สมเด็จฯ ยังอบรมพระราชธิดาอย่างจับใจ ดังความตอนหนึ่งว่า “การรับผิดชอบตนเอง และความรับผิดชอบในหน้าที่เป็นเรื่องที่ทรงเน้นมาก เมื่อมีหน้าที่อะไรก็ต้องทำอย่างเต็มใจ เช่น เมื่อตอนเด็กๆ ก็โปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จงานบางงาน เมื่อโตขึ้นก็มีมากขึ้นตามลำดับ ทรงสอนให้รู้จักอดทน และภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติที่ด้อยโอกาส และมีความละอายใจถ้าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าพระองค์นั้นเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาแล้ว สมเด็จฯ ก็ “ทรงคอยเตือนไม่ให้เพลิดเพลินไปกับชีวิตแปลกใหม่ในมหาวิทยาลัย สมควรจะสละเวลาไปช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติที่ยังมีความทุกข์ยากอยู่เป็นส่วนมาก

สมดังพระราชดำรสของสมเด็จฯ ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2535 ความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าตระหนักดีว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยดำรงอยู่ได้โดยตลอดมาก็ด้วยความรักของประชาชน ด้วยความพร้อมใจกันปกป้องรักษาของประชาชน  ข้าพเจ้าได้สั่งสอนลูกๆ เสมอว่า ถ้าไม่ใช่เพราะคนไทยผูกใจมั่นอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว สถาบันนี้ก็คงจะดำรงอยู่มาจนทุกวันนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น พวกเราทุกคนจึงมีหน้าที่ทำเพื่อประชาชนเสมอ



ต้องเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของราษฎร


สมเด็จฯ เสกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ขณะพระชนมายุเพียง 17 พรรษา และนับว่าพระราชสวามีเป็นครูของพระองค์ท่าน ดังพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2534 ว่า

ตอนอายุสิบเจ็ดที่ได้มาเป็นพระราชินี ยังไม่มีความรู้อะไรเลย ก็ได้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดูแลสั่งสอนมาตลอดว่า สิ่งใดควรทำไม่ควรทำบ้าง ทรงสอนให้ข้าพเจ้ารู้จักว่า การที่จะเป็นพระราชินีของไทยจะต้องวางตนอย่างไรบ้าง และมีหน้าที่อย่างไรบ้าง ข้อสำคัญรับสั่งว่า ต้องเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของราษฎร ให้เขามีความสนิทสนมพอที่ราษฎรจะออกปากเล่าความทุกข์ของเขาให้ฟังได้ และพระองค์ท่านก็ได้ปฏิบัติพระองค์เป็นตัวอย่าง ทำให้ข้าพเจ้ารู้จักการทำตนใกล้ชิดกับราษฎร เช่น เวลามีพระราชปฏิสันถารกับราษฎร ซึ่งเป็นชั่วโมงๆ ทีเดียว ทรงคุยกับราษฎรนี่ก็ทรงไม่โปรดยืน ทรงถือขนบธรรมเนียมไทยที่จะไม่ยืนค้ำผู้เฒ่าผู้แก่ จะประทับรับสั่งกับราษฎรเสมอ แม้จะเป็นตอนเที่ยงแดดร้อนเปรี้ยงก็ตาม


สถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน


จากพระราชดำรัสในวาระต่างๆ ของสมเด็จฯ นี้ สอดคล้องกับพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชอย่างชัดเจน ดังที่พระพุทธเจ้าหลวงเคยพระราชทานสัมภาษณ์นักข่าวชาวฟิลิปปินส์ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ความตอนหนึ่งว่า

ข้าพเจ้าบอกกับลูก ๆ ของข้าพเจ้าเสมอว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าฟ้าชายและเจ้าฟ้าหญิง พวกเขาจึงไม่เหมือนกับใครๆ เพราะเขามีหน้าที่ต่อประชาชน ไม่ใช่สิทธิ แต่หน้าที่  เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงต้องพยายามทำตัวของเขาให้ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะสามารถทำได้ ให้มีคุณค่าสมกับศักดิ์เจ้าฟ้าเสมอ”  

และพระองค์ทรงยืนยันว่า “ข้าพเจ้าบอกพวกเขาว่า พวกเขาจะไม่ได้อยู่ที่นี่ ข้าพเจ้าจะไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าปราศจากประชาชนชาวไทย เราจึงเป็นหนี้ทุกสิ่งทุกอย่างต่อประชาชน  เพราะว่าเราไม่เหมือนกับกษัตริย์อื่น ๆ ที่ครองราชสมบัติด้วยการอ้างว่าเป็นวงศ์วารของพระผู้เป็นเจ้า หรืออ้างเทวสิทธิ์”


บรรณานุกรม

  • พระราโชวาท และพระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2554.
  • สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2537.
  • นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา และคณะ. ด้วยพลังแห่งรัก. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547, 2548.
  • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. สมเด็จแม่กับการศึกษา. กรุงเทพฯ : โรงเรียนจิตรลดา, 2535.
  • สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ. รัตนราชินีศรีประเทศ. กรุงเทพฯ : สำนักงานฯ, 2549.
  • บทสัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช จาก Nimia P. Arroyo, “The King and I, 1963” The Manila Times (Oct 10, 1963) ฉบับแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “การเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท” โดย ศรีสุข บุญยัง และพรพรรณ วัชราภัย ซึ่งตรวจแก้โดย อดุล วิเชียรเจริญ [จากเอกสารจดหมายเหตุส่วนบุคคล ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ, หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์] (https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:180259)

[1] ส่วนมากระบุว่า บ้านเลขที่ 1808 ถนนพระรามที่ 6 ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร แต่ในหนังสือ ด้วยพลังแห่งรัก ซึ่งจัดทำโดยนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จฯ เอง กลับระบุว่า ‘ถนนบรรทัดทอง’.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save