fbpx

“แล้วกลับมากินข้าวด้วยกันนะ” : มื้ออาหารในความทรงจำของผู้สูญหาย และความแตกสลายของคนที่ยังรอ

มีคนบอกว่าการที่คนคนหนึ่งหายไปจากครอบครัวโดยไม่รู้ชะตากรรม ความรู้สึกเหมือนทุกอย่างแตกสลายหายไปตรงหน้า และเมื่อแตกสลายแล้ว ต่อให้จะพยายามเยียวยาตัวเองและตามหาความยุติธรรมถึงเพียงใด แต่ในความเป็นจริง เราจะสามารถทำให้ทุกอย่างกลับสู่สภาพเดิมได้แน่หรือ? 

หากนึกย้อนกลับไปในวันที่ครอบครัวอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตาอย่างปกติสุข “แล้วกลับมากินข้าวด้วยกันนะ” คงเป็นประโยคอันคุ้นหูที่คนในครอบครัวบอกกล่าวกันอยู่เสมอ ด้วยความหมายอันเป็นสัญญาใจว่า ไม่ว่าเราจะออกจากบ้านไปพบเจอเรื่องราวอันโหดร้ายเพียงใด แต่ถึงอย่างไรเราจะกลับมากินข้าวร่วมโต๊ะกันเสมอ

บนโต๊ะอาหารของทุกบ้าน หลายคนคงมีเมนูโปรดในดวงใจ และแน่นอน สำหรับคนที่ถูกบังคับสูญหายก็มีอาหารจานโปรดที่พวกเขาชื่นชอบเหมือนกัน แต่อาหารจานโปรดเหล่านั้นที่เคยเป็นห้วงเวลาทำให้ชีวิตมีความสุขและรอยยิ้ม ต้องกลับกลายเป็นเมนูแห่งความทรงจำที่ทำได้เพียงหวนรำลึกนึกถึง ครั้งเมื่อเกิดการบังคับให้สูญหาย พวกเขาก็ไม่เคยได้กลับมากินอาหารกับครอบครัวอีกเลย

มีครอบครัวที่มีผู้ถูกบังคับให้สูญหายอีกมากรอคอยการชดเชยเยียวยาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา และจนถึงวันนี้ หลายครอบครัวยังเฝ้ารอผู้สูญหายด้วยความหวัง แม้จะริบหรี่ แต่ก็ยังนับวันรอให้พวกเขากลับคืนสู่สภาพเดิม… มากินด้วยด้วยกันเหมือนอย่างเคย

หมายเหตุ เรียบเรียงเนื้อหาจากงานเสวนา ‘เมื่อแตกสลาย จะกลับสู่สภาพเดิมได้หรือ’ จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลKinjai Contemporary เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566

ถึง สมชาย นีละไพจิตร

“เกือบ 20 ปีแล้วที่ไม่ได้กินข้าวด้วยกัน”

สมชาย นีละไพจิตร หรือทนายสมชาย สามีของอังคณา นีละไพจิตร และพ่อของบุตรอีก 5 คน ประกอบอาชีพทนายความมาตลอด อีกทั้งเป็นอดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน โดยทนายสมชายมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ประชาชนที่โดนดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมได้หลุดพ้นจากข้อกล่าวหา

หลังวันที่ 12 มีนาคม 2547 เวลา 20.30 น. ครอบครัวและเพื่อนไม่สามารถติดต่อทนายสมชายได้อีกเลย หลังจากที่ทนายสมชายกำลังเดินทางไปพบเพื่อนที่โรงแรมแห่งหนึ่งในถนนรามคำแหง เขาถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ 5-6 คน ขับรถสะกดรอยตามและจงใจขับรถชน เพื่อให้เขาลงมาดูเหตุการณ์ก่อนเข้าทำร้ายและลักพาตัวไป จนถึงวันนี้ผ่านมาเกือบ 20 ปี ครอบครัวก็ยังไม่รับทราบชะตากรรมของทนายสมชาย

“ผ่านมาแล้วกว่าเกือบ 20 ปีที่ทนายสมชายหายตัวไป คนที่นั่งฟังกันในที่นี้ถ้าตอนนี้อายุ 20 กว่าๆ ตอนนั้นที่ทนายสมชายหายตัวไปก็น่าจะยังเป็นเด็กตัวเล็กตัวน้อยกันอยู่เลย” คือประโยคสั้นๆ ที่ อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย ตัวแทนกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย กล่าวขึ้นเมื่อต้องนึกย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่สามีของเธอหายตัวไป

สมชาย นีละไพจิตร

อังคณาเล่าย้อนกลับไปถึงที่มาของการรวมกลุ่มของญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทยว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากความรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อตอนที่ทนายสมชายสูญหาย ณ เวลานั้น ญาติพี่น้อง รวมถึงเพื่อนทนายของสมชายรู้สึกหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่มีใครกล้าออกมาเรียกร้องถามหาความยุติธรรมจากรัฐ ทั้งยังไม่มีกรณีตัวอย่างให้ศึกษาว่าหากเกิดเหตุโดนอุ้มหายแล้วจะต้องทำอย่างไร หรือต้องไปเรียกร้องกับใครต่อไป จึงกลายเป็นว่าในช่วงแรกของการตามหาทนายสมชาย อังคณาแทบจะต้องต่อสู้อยู่เพียงลำพัง

เมื่อต่อมามีคนโดนอุ้มหายในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ อังคณาจึงตัดสินใจเป็นตัวแทนให้กับกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายไปต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม เพราะหากพูดถึงเหยื่อที่ถูกบังคับสูญหาย แน่นอนว่า ‘เหยื่อ’ ในที่นี้หมายรวมถึงญาติของผู้สูญหายที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานอย่างยาวนานด้วยเช่นกัน และสำหรับอังคณาแล้ว แม้จะยังไม่รู้ชะตากรรมว่าสามีของเธออยู่แห่งหนไหนในตอนนี้ แต่อย่างน้อยที่สุด การได้ช่วยให้คนอื่นส่งเสียงเรียกร้องออกมา ถือเป็นสิ่งที่มีค่ามากต่อชีวิต พร้อมๆ กับเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจตัวเองไปด้วย

“เวลาที่มีการอุ้มหายใครสักคน คนทั้งชุมชนในละแวกนั้น โดยเฉพาะญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงจะหวาดกลัวไปหมดเลย กลัวว่าจะมีการปิดปากเหยื่อ พ่อแม่หลายคนตายไปกับความโกรธและไม่เคยได้รับรู้ความจริง เราไม่อยากให้มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก” 

“เราผ่านอะไรมาเยอะมาก ถูกคุกคามมาแทบทุกรูปแบบ ครอบครัวเราถูกเรียกว่า ‘ครอบครัวทนายโจร’ การที่ต้องใช้ชีวิต 20 กว่าปีกับการถูกคุกคาม บอกตามตรงว่าทรมานมาก เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็เพิ่งโดนคนเอากรรไกรปาเข้ามาในบ้าน จนถึงทุกวันนี้เราไม่เคยรู้สึกว่าชีวิตปลอดภัยเลย แต่เราก็ยังอยากออกมาพูดเรื่องนี้ และอยากพูดแทนคนอื่นที่เขาไม่สามารถออกมาพูดเองได้” 

“คนที่ไม่เคยเจอกับความกลัวจะไม่มีทางรู้ว่าเป็นความรู้สึกอย่างไร ญาติบางคนบอกเราว่า เราเสียคนในครอบครัวของเราไปแล้วคนหนึ่ง อย่าให้เราต้องเสียคนในครอบครัวเราไปอีก เพราะอย่างน้อยสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ การพูดความจริงนั้นไม่ได้หมายความว่าคุณจะปลอดภัย” อังคณากล่าว

อังคณาอ้างอิงข้อมูลว่า จากสถานการณ์ทั่วโลกที่มีการอุ้มหายจำนวนมาก ทำให้มีการจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ซึ่งที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รวบรวมกรณีการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายจากการทรมาน อันเป็นการกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างถูกควบคุมตัวในระหว่างปี 2557-2558 ทั้งหมดกว่า 74 กรณี อีกทั้งคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติระบุในรายงานตั้งแต่ปี 2523-2562 ว่ามีผู้ถูกบังคับสูญหายอย่างน้อย 92 ราย และยังคงค้างอยู่ 76 รายแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์อุ้มหายและบังคับสูญหายอยู่มาอย่างยาวนานและยังไม่มีแนวโน้มที่จะการคลี่คลายลง

วนย้อนกลับมาที่สถานการณ์ในประเทศไทย อังคณาระบุว่า ตอนที่ทนายสมชายถูกอุ้มหายนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่มีนโยบายการปราบปรามยาเสพติดและการก่อการร้ายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นช่วงเวลาที่มีคนอุ้มหายจำนวนมาก ในบางกรณีที่คลี่คลายได้นั้น มีการสืบหาจนพอทราบชะตากรรมหรือที่อยู่ บางกรณีพบว่าผู้สูญหายยังมีชีวิตรอดอยู่แต่ถูกนำไปทรมานและขังไว้ในคุกลับ ในขณะที่บางคนภาครัฐให้ข้อมูลว่าเสียชีวิตแล้ว

ความน่าเจ็บปวดใจที่สุดคือความจริงที่ว่า หลายสิบปีที่ผ่านพ้น เจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องกับการอุ้มหายไม่เคยได้รับการลงโทษ ทั้งยังไม่เคยถูกนำตัวมาสืบสวนแม้สักครั้ง อังคณายังเล่าว่า เจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ถึงขั้นเปลี่ยนชื่อนามสกุลหนีความผิด ในขณะที่ครอบครัวผู้สูญหายต้องใช้ชีวิตกับความหวาดกลัวและเจ็บปวดมาโดยตลอด 

“คนที่ทำร้ายครอบครัวเรามีชีวิตที่ดีและเจริญเติบโตในหน้าที่การงานกันหมดเลย แน่นอนว่ามันทำให้เราเจ็บปวดใจ ความรู้สึกเหมือนเราถูกเยาะเย้ยและถูกทำให้อับอาย ชีวิตของพวกเขาปกติสุขดีราวกับว่าชีวิตคนคนหนึ่งที่หายไปไม่มีความหมายอะไรเลย และในความเป็นจริงต่อให้คนหนึ่งจะทำผิดจริงหรือไม่ เขาควรจะต้องมีสิทธิเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ถูกทำให้หายไปเฉยๆ เช่นนี้”

นอกจากนี้ อังคณาเสริมว่า สำหรับสมาชิกครอบครัวผู้สูญเสียที่ยังเหลืออยู่ การช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินมีความสำคัญอย่างมาก ยิ่งคนที่สูญหายไปเป็นหัวหน้าหรือเสาหลักของครอบครัว คนที่ยังอยู่จึงต้องแบกรับภาระมหาศาล ในเบื้องต้นภาครัฐจึงควรให้การช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินเป็นสำคัญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความสำคัญต่อการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อในขณะเดียวกัน

แม้กระทั่งจนถึงตอนนี้อังคณาและครอบครัวจะยังไม่รู้ว่าทนายสมชายอยู่ที่ไหน แต่เพราะคนหายทุกคนมีตัวตนอยู่จริง นี่คือความจริงที่รัฐและเจ้าหน้าที่ไม่มีวันลบให้สลายหายไปได้ และในความเป็นจริง การช่วยเหลือไม่ว่าจะด้านใดล้วนเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่รัฐบาลจะต้องตามหาพลเมืองที่สูญหายไป ด้วยการสืบสวนจนถึงที่สุดจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมและรู้ตัวผู้กระทำผิด ไม่ใช่ว่าผู้เสียหายจะต้องขอร้องอ้อนวอนให้รัฐยื่นมือมาช่วยเหมือนที่ผ่านมา

“สิ่งที่ครอบครัวและญาติผู้สูญหายต้องเผชิญเหมือนกัน คือเวลาที่คนคนหนึ่งหายไป ความสูญเสียนี้มาพร้อมกับภาระความรับผิดชอบมหาศาล ขนาดเราเป็นภรรยาที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เราต้องการจะขายที่ดินเล็กๆ สักแปลงหนึ่งเพื่อจะนำเงินมาเลี้ยงดูลูกยังทำไม่ได้เลย เพราะตามกฎหมายคือต้องให้สามีมาเซ็นอนุญาตเสียก่อน ความทุกข์ทรมานจากการไม่รู้ชะตากรรมมันทรมานยิ่งกว่าการสูญเสียแบบอื่น เราตอบลูกๆ ไม่ได้ด้วยซ้ำว่าพ่อเขาไปไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว ชีวิตในทุกๆ วันเป็นเหมือนบาดแผลที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

แน่นอนว่าการต้องออกมาพูดถึงเรื่องราวการสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่ายิ่งเป็นเหมือนการตอกย้ำความเจ็บปวดอย่างไม่มีวันรู้จบ และหากเลือกได้ อังคณาและญาติผู้สูญหายคนอื่นๆ ก็คงไม่ต้องการจะแบกรับความทุกข์ระทมอย่างยาวนานถึงเพียงนี้ ยิ่งการออกมาพูดแต่ละครั้งนั้นเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยและทรมานใจ ทว่าเพื่อให้สังคมไม่ลืมคนที่สูญหายไป เพื่อให้เรื่องราวของพวกเขาได้รับการจดจำอยู่เสมอ และเพื่อกระตุ้นเตือนสังคมว่าพวกเขาไม่เคยหายไปอย่างไร้ความหมาย เราจึงยังคงจำเป็นต้องเล่าเรื่องนี้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งต่อไป จนถึงวันที่พวกเขาทุกคนจะได้ความยุติธรรมกลับคืนมา

“ทุกวันนี้เวลาเราเจอคนรู้จักที่นานๆ เจอกันทีเราก็จะเจอคำถามว่าตกลงหาตัวเขาเจอหรือยัง และทุกครั้งที่เล่าก็เหมือนตอกย้ำตัวเองซ้ำๆ แผลที่เหมือนจะแห้งไปบ้างก็ถูกสะกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก พูดตามตรงเราไม่ใช่คนเข้มแข็งอะไรมากมาย เราก็คนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง เราไม่มีทางก้าวผ่านเรื่องนี้ไปได้จนกว่าวันที่เราจะได้รับความยุติธรรม”

“บางคนอาจมองว่าคดีของเราได้รับความสนใจจากสังคม เราน่าจะทำอะไรได้มากกว่าคนอื่น แต่ความจริงไม่ใช่เลย เราก็แตกสลายไม่ต่างจากคนอื่น หลายครั้งเราเองก็อ่อนล้ามากเหมือนกัน และถ้าถามว่าเมื่อแตกสลายขนาดนั้น เราผ่านมันมาได้อย่างไร สิ่งเดียวที่เราทำได้คือการทำเพื่อคนอื่นมากขึ้น ก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ อย่างน้อยการได้ทำเพื่อคนอื่น พูดเพื่อคนอื่นก็ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าและภาคภูมิใจ” อังคณากล่าวพร้อมรอยยิ้มเบาบางปรากฏบนใบหน้า

คนที่ทำร้ายครอบครัวเรามีชีวิตที่ดีและเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน แน่นอนว่ามันทำให้เราเจ็บปวดใจ … ชีวิตของพวกเขาปกติสุขดีราวกับว่าชีวิตคนคนหนึ่งที่หายไปไม่มีความหมายอะไรเลย

ถึง… จะฟะ จะแฮ

“ถ้าเป็นไปได้ ถ้ากลับมาได้ ก็อยากให้กลับมากินข้าวด้วยกัน”

ด.ช.จะฟะ จะแฮ ในขณะนั้นที่ถูกบังคับให้สูญหายมีอายุเพียง 14 ปี และเดินทางแยกทางเพื่อนอีกสองคน คือ ด.ช.มนตรี จะแกะ และ ด.ช.จะติโป่ ลุงทา ซึ่งหายตัวไปบนถนนที่ตัดผ่านเขื่อนห้วยบอน ต.เวียง อ.ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2546 ในเช้าวันดังกล่าว พยานระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าพนักงานของรัฐได้ดักรอเพื่อสังหารพ่อค้ายาเสพติดที่บริเวณเขื่อนห้วยบอน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กลุ่มเด็กผู้ชายคนดังกล่าวเดินทางผ่านมาพอดี พยานระบุว่ามีผู้เสียชีวิตในป่าริมถนน เชื่อกันว่าเด็กทั้งสามคนอาจถูกฆ่าตายหรือลักพาตัวไป เพราะไปพบเห็นเหตุการณ์สังหารพ่อค้ายา ทั้งสองครอบครัวเข้ามาในพื้นที่วันเดียวกัน แต่ตามหาตัวเด็กไม่เจอ 

ครอบครัวของเด็กชายจะฟะ ได้ขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชนละหู่ ส่วนพี่สาวของมนตรีไปที่ สภ.ฝาง และ สภ.แม่อาย แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเด็กไม่ได้อยู่ที่นั่น ถึงแม้ว่าในภายหลังจะมีการรายงานว่า เจอรองเท้าคู่หนึ่งซึ่งถูกระบุว่าเป็นรองเท้าของจะฟะ แต่จนถึงวันนี้ ชะตากรรมของจะฟะยังคงไม่ได้รับการสืบสวนสอบสวน และเปิดเผยต่อครอบครัวของเขาที่ยังคงเฝ้ารอให้กลับบ้าน

ท่ามกลางสถานการณ์อุ้มหายในประเทศไทย น้อยคนนักที่จะรับรู้ถึงประวัติศาสตร์บาดแผลของพี่น้องชาวละหู่ สีละ จะแฮ ตัวแทนจากญาติผู้สูญหายจากชาวละหู่ ผู้ไม่ได้พบหน้าจะฟะ จะแฮ หลานชายมากว่า 20 ปี เล่าให้ฟังว่าในปี 2546 ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตรที่มีการดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด ณ ตอนนั้นพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ละหู่มักถูกมองและตีตราว่าเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ายาเสพติด นับเป็นอคติที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นอย่างมาก ความไม่เป็นธรรมจากนโยบายนี้จึงทำให้พี่น้องชาวละหู่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด

มากไปกว่านั้น ในค่ายทหารในจังหวัดทางภาคเหนือยังเกิดเหตุการณ์ควบคุมตัวโดยพลการและทรมานต่อบุคคลอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกระทำต่อชาวบ้านในชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองละหู่ ส่งผลให้เกิดการสังหารนอกกระบวนการทางกฎหมายและบังคับให้สูญหาย ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและทหารพรานที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ณ ช่วงเวลาดังกล่าว เพราะเชื่อกันว่าในช่วงเวลานั้นมีการขนส่งยาเสพติดข้ามพรมแดนไทย-พม่า

สีละยืนยันว่า ไม่ใช่ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามยาเสพติด เพียงแต่เขาและพี่น้องชาวละหู่ต้องการความเป็นธรรมจากรัฐบาล ไม่ใช่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเพียงเพราะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ โดยในเวลานั้นรัฐบาลประกาศกฎอัยการศึก และเลือกใช้ปฏิบัติการจู่โจม มีการจับคนชาติพันธุ์ไปทำร้ายตามอำเภอใจ ทำให้เจ้าหน้าที่จับคนในหมู่บ้านหลายสิบคนไปโดยฝ่าฝืนกฎหมายไปต่อหน้าต่อตาสมาชิกในครอบครัว เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น คือมีคนถูกจับไปขังในหลุมดินและทรมานด้วยความรุนแรงเกินจะจินตนาการได้

ที่น่าเศร้ายิ่งกว่า คือเมื่อคนในชุมชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับตัวไป ชาวบ้านส่วนมากที่ไม่รู้กฎหมายก็ไม่รู้ว่าเมื่อเจอการกระทำแบบนี้ต้องไปแจ้งความหรือเรียกร้องอย่างไร การกดทับและละเมิดสิทธิยิ่งทับซ้อนเข้าไปอีกเมื่อหลายคนไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไปเปิดบัญชีธนาคารไม่ได้ เงินที่ได้จากการทำปศุสัตว์จึงต้องเก็บไว้ที่บ้าน ทว่าพอเจ้าหน้าที่เข้ามาค้นเจอที่ที่พักอาศัยก็มักกล่าวหาว่าเป็นเงินที่ได้จากการค้ายา และอ้างอำนาจในการยึดไปจนหมด 

“เจ้าหน้าที่กระทำกับเราเหมือนไม่ใช่มนุษย์ เวลาจะเอาคนไปสอบสวน เขาใช้วิธีการช็อตไฟฟ้า หรือถ้าจับคนที่ต้องการไม่ได้ก็ไปจับพ่อแม่เขามาดำเนินคดีเพื่อที่จะปิดคดีให้ได้ ในชนบทโดนแบบนี้กันเยอะมาก บางทีตำรวจออกหมายเรียกแต่พี่น้องเราไม่ได้ไป เพราะบ้านเขาไกลมาก เดินทางลำบาก และบางคนไม่รู้หนังสือเลยไม่ได้ไป บางคนจึงถูกฆ่าตัดตอน บางคนถูกวิสามัญฆาตกรรม ถูกจับไปต่อหน้าต่อตาชาวบ้าน ทุกวันนี้ก็ยังตามหาไม่เจอ ครอบครัวไม่เคยได้ข่าวอะไรเลย”

“บางคนที่ไม่ยอมรับสารภาพเพราะเขาไม่ได้ทำอะไรผิด จากนั้นก็หายตัวไปไม่ได้กลับมา และไม่ใช่ว่าพ่อแม่หรือญาติพี่น้องไม่อยากติดตามคนที่สูญหายไปหรือหาข้อเท็จจริง แต่เขาไม่กล้าเรียกร้องก็เพราะกลัวผู้มีอำนาจข่มขู่คุกคาม ทุกวันนี้เราก็ใช้ชีวิตยากลำบากกันมากพอแล้ว อย่ากลั่นแกล้งหรือทำร้ายกันไปมากกว่านี้เลย”

สีละเล่าต่อว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาลงพื้นที่เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จากนั้นจึงมีหนังสือถึงรัฐสภาและกองทัพบก เพื่อเรียกร้องให้ชดเชยเยียวยาดูแลครอบครัวผู้สูญหาย แต่จนถึงทุกวันนี้ครอบครัวเหยื่อไม่เคยได้รับการช่วยเหลือเยียวยาถึงแม้แต่ครัวเรือนเดียว

“จนทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงปิดบังซ่อนเร้นความจริง พี่ผมออกมาต่อสู้ทุกวันนี้ก็เพื่อส่งเสียงแทนพี่น้องชาวละหู่ที่ไม่สามารถเรียกร้องด้วยตัวเองได้ เพื่อความจริงเป็นที่ประจักษ์​ให้ญาติและครอบครัวผู้สูญหายรู้สึกได้รับความเป็นธรรม”

“นายทหารผู้กระทำผิด ผ่านมาเกือบ 20 ปี ไม่รู้ว่าจะยศใหญ่โตขึ้นแค่ไหน แต่พวกเขาไม่เคยถูกดำเนินคดีเลย ถ้าใครรู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน ฝากบอกให้พวกเขามาหาผมที ถ้ามีโอกาสผมอยากจะคุยเรื่องที่เกิดขึ้นกับพวกเขาสักครั้งหนึ่ง” สีละกล่าวด้วยเสียงอันหนักแน่นพร้อมความเจ็บปวดอันสะท้อนผ่านจากแววตา

ไม่ใช่ว่าพ่อแม่หรือญาติพี่น้องไม่อยากติดตามคนที่สูญหายไป แต่เขาไม่กล้าเรียกร้องก็เพราะกลัวผู้มีอำนาจข่มขู่คุกคาม

ถึง… สยาม ธีรวุฒิ

“ถ้าลูกยังอยู่ กลับมากินข้าวฝีมือแม่นะ”

“แม่กัญญานะคะ เป็นแม่ผู้สูญเสียลูกชายไปแล้ว 9 ปีค่ะ” กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ธีรวุฒิ กล่าวขึ้นมาสั้นๆ ในช่วงการแนะนำตัว ทว่านี่กลับเป็นประโยคที่ทำให้เราเจ็บปวดจนถึงที่สุด

สยาม ธีรวุฒิ หรือ ไอซ์ เริ่มต้นการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี 2552 จากการวนเวียนตามงานเสวนาทางการเมือง ก่อนที่จะถูกชักชวนให้เข้าร่วมกับกลุ่มประกายไฟ สยามเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มประกายไฟในประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงาน เพื่อรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจเรื่องสิทธิและสามารถต่อรองกับทางนายจ้าง รวมไปถึงเรื่องการผลักดันระบบรัฐสวัสดิการ

ชีวิตของสยามถึงจุดพลิกผันครั้งใหญ่เมื่อคราวที่เขาได้ร่วมเล่นละครเวทีเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อปี 2556 ผลจากกิจกรรมในครั้งนั้น ทำให้เพื่อนของสยามสองคนที่ร่วมเล่นละครด้วยกันถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ และถูกจำคุกเป็นเวลากว่า 2 ปี ในขณะที่สยามเองต้องหลบหนีออกจากประเทศไทย เพราะถูกรัฐออกหมายจับในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือ ม.112 หลังการรัฐประหาร ปี 2557 ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ได้แก่ สยาม ธีรวุฒิ, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และกฤษณะ ทัพไทย ถูกจับกุมตัวที่เวียดนามและถูกส่งตัวกลับไทยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครรู้ว่าสยามและพวกเขาอยู่ที่ใด

กัญญา ธีรวุฒิ และ สยาม ธีรวุฒิ

เมื่อให้แม่กัญญาเล่าให้เราฟังถึงตัวตนและอุปนิสัยของสยาม แม่กัญญาเล่าพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ ว่าสยามเป็นเด็กดี เป็นคนน่ารัก พูดจาเรียบร้อย ไม่เคยทำร้ายเบียดเบียนใคร เรื่องการกินการอยู่ สยามเป็นคนง่ายๆ บางวันเขาจะเดินมาบอกแม่กัญญาว่า “แม่ วันนี้ผัดพริกถั่วอีกไหมเนี่ย” เพราะ ‘ผัดพริกถั่ว’ คือเมนูโปรดเสมอมาและตลอดไปของสยาม ธีรวุฒิ

“โอ้ย เมื่อวานก็กินไปแล้วนะลูก ไม่เบื่อบ้างหรือ” แม่กัญญามักจะตอบกลับสยามเช่นนี้

และสยามก็จะตอบแม่กัญญากลับมาเสมอว่า “ไม่เบื่อหรอกแม่ ผมชอบผัดพริกถั่วใส่หมู กินได้ทุกวันแหละครับแม่”

นี่คือบทสนทนาในความทรงจำที่ฝังลึกลงในจิตใจของแม่สยามตลอดมา และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ต่อให้สยามจะไม่ได้กลับบ้านมายาวนานแค่ไหน เรื่องราวนี้จะยังคงฉายซ้ำเป็นดั่งม้วนฟิล์มใบเดิมในใจแม่กัญญาเสมอ

“คิดถึงเขามาก ลูกใครใครก็รัก การต้องมาจากกันด้วยวิธีการแบบนี้มันโหดร้ายเกินไป ไม่เข้าใจว่าคนทำคิดอะไรอยู่ ทำไมถึงต้องคอยไล่ฆ่าไล่จับคนเห็นต่างกับตัวเอง” ประโยคอันแสนเจ็บปวดใจจากก้นบึ้งแห่งความรู้สึกของแม่กัญญา

แม่กัญญาบอกว่า ตั้งแต่สยามหายไป ครอบครัวธีรวุฒิลำบากมาก ต้องกู้หนี้ยืมสินมากมาย เพราะสยามเป็นเหมือนเป็นหัวหน้าและเสาหลักของครอบครัว สยามเรียนจบคณะรัฐศาสตร์ ใกล้จะเริ่มต้นงานแรกในชีวิต ทว่าวันหนึ่งสยามเดินมามาบอกพ่อของเขาว่า “พ่อ ผมอยู่ไม่ได้แล้วนะ โดนหมายจับคดี 112” และหายตัวไปอย่างไร้ข่าวคราวเมื่อปลายปี 2557 

แค่เพียงลูกชายผู้เป็นแก้วตาดวงใจหายตัวไปก็เจ็บปวดมาเพียงพอแล้ว ทว่าราวกับโชคชะตาปรารถนาจะเล่นตลกกับครอบครัวธีรวุฒิให้ชอกช้ำเข้าไปอีก แม่กัญญาเล่าว่าช่วงที่สยามหายไป แม่พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมทุกช่องทาง ทว่าแม้แต่ตำรวจกลับไม่ยอมรับแจ้งความ โดยอ้างว่ากรณีการหายตัวไปของสยามไม่เข้าข่ายในข้อกฎหมายที่จะแจ้งความเป็นบุคคลสูญหายได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าสยามหายตัวไปจริง และเมื่อแจ้งความตามกระบวนการไม่ได้ มูลนิธิหรือหน่วยงานต่างๆ ก็เข้ามาช่วยเหลือไม่ได้ตามไปด้วย แค่เพียงเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐยังไร้ซึ่งหนทาง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการขอเยียวยาที่แม่กัญญาไม่เคยได้รับจนถึงวันนี้

“ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่มาคอยมาสอดส่องและคุกคามแม่ตลอด บางทีก็มีเจ้าหน้าที่มาถามถึงบ้านว่า ‘สยามอยู่บ้านไหม’ สิ่งนี้ทำเราเจ็บปวดมากนะ คุณทำเหมือนว่าลูกแม่ไม่ได้หายไปจริง คุณทำเหมือนความเจ็บปวดของเราเป็นเรื่องล้อเล่น”

“เราก็ไม่คิดว่าเขาจะไปจากเรา ที่ผ่านมาเศรษฐกิจก็รัดตัวเสียจนเราทำอะไรไม่ถูกไปหมด พูดเรื่องนี้ทีไรก็ทรมาน เสียใจมาก เรื่องแบบนี้ไม่เจอกับครอบครัวใครก็ไม่รู้สึกหรอกค่ะ แม่อยากตะโกนให้ดังๆ เลยว่าคุณไม่มีลูกกันหรือไง คุณไม่รักลูกคุณเลยเหรอ เพราะเราคิดถึงลูกเรามาก แต่แม่ก็จะเข้มแข็งที่สุดเพื่อลูกแม่”

จนถึงวันนี้ 9 ปีมาแล้วที่สยามไม่ได้กลับมากินผัดพริกถั่วฝีมือแม่กัญญา แต่กลับไม่เคยมีความเคลื่อนไหวในการช่วยค้นหาและเยียวยาจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเลยแม้แต่ครั้งเดียว แม่กัญญาจึงเน้นย้ำข้อความถึงรัฐบาลชุดใหม่ถึงความสำคัญของการดูแลเยียวยาครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย และใส่ใจตามหาผู้สูญหาย เพื่อครอบครัวเขาจะได้ไม่โดนความทุกข์เบียดเบียนเสียจนใช้ชีวิตต่อไปไม่ได้แบบที่เกิดขึ้นตลอดมาในยุคของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ถ้าเป็นไปได้ แม่ก็อยากให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิม อยากให้สยามกลับมากินผัดพริกถั่วของแม่ แต่แม่ก็รู้ดีว่าคงเป็นได้แค่ความฝันของแม่ ความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้แล้ว” คำพูดที่เพียงฟังก็เจ็บปวดจนเกินบรรยาย ยิ่งสำหรับหัวอกของแม่ผู้สูญเสียลูกชายไป ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพูดประโยคนี้ออกมา

“ถ้าใครหาสยามเจอ แม่กราบขอร้องเถอะค่ะ พาลูกมาคืนแม่ที” นี่คือคำขอสุดท้ายจากแม่กัญญา ธีรวุฒิ

บางทีก็มีเจ้าหน้าที่มาถามถึงบ้านว่า ‘สยามอยู่บ้านไหม’ สิ่งนี้ทำเราเจ็บปวดมากนะ คุณทำเหมือนว่าลูกแม่ไม่ได้หายไปจริง คุณทำเหมือนความเจ็บปวดของเราเป็นเรื่องล้อเล่น

ถึง… ชัชชาญ บุปผาวัลย์

“And while you’re sleeping, I’ll try to make you proud” – Monsters by James Blunt

ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือเป็นที่รู้จักในนาม ‘สหายภูชนะ’ เขาเป็นนักเคลื่อนไหวการเมือง ผู้ลี้ภัย ดีเจวิทยุใต้ดิน และกลายเป็นศพที่ถูกทิ้งลงในแม่น้ำโขง ชัชชาญเคยทำอาชีพด้านช่างรับเหมา และรับติดตั้งจานดาวเทียมให้กับช่องเสื้อแดง นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในช่วง 2551 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของขบวนการเสื้อแดง ชัชชาญเคยลงเป็นผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น และช่วยรณรงค์หาเสียงให้กับ ส.ส. ในพื้นที่ภาคอีสานหลายครั้ง หลังรัฐประหาร ชัชชาญมีชื่อถูกเรียกตัวเข้าพบ คสช. ชัชชาญตัดสินใจลี้ภัยในประเทศเพื่อบ้าน

12 ธันวาคม 2561 ชัชชาญได้ทิ้งข้อความสุดท้ายไว้ให้ลูกชายว่า “พ่อหายไปสัก 3 วันนะ” หลังจากนั้นก็ไม่มีใครติดต่อชัชชาญได้อีกเลย จนกระทั่งปลายเดือนธันวาคม 2561 พบร่างผู้เสียชีวิตสองศพลอยอยู่ที่แม่น้ำโขง บริเวณจังหวัดนครพนม หลังจากนั้นพิสูจน์ได้ว่าคือชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) และไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง)

ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ)

เมื่อต้องนึกย้อนกลับไปถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน ชาลิสา สุขประเสริฐภักดี อดีตภรรยาของชัชชาญ บุปผาวัลย์ พูดถึงเหตุการณ์เมื่อปลายปี 2561 หากยังพอจำกันได้ มีข่าวออกแทบทุกช่องว่า พบศพคนลอยแม่น้ำโขงมา ชาลิสาบอกว่าช่วงที่ชัชชาญลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าตัวเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม แต่ชัชชาญจะสัญญากับลูกชายและครอบครัวว่า ถึงอย่างไรวันที่ 23 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของเขา เขาจะโทรมาพูดคุยหรือส่งข้อความมาหาอย่างแน่นอน

“วันที่ 23 ธันวาคม เราก็รอว่าทำไมถึงยังไม่ไลน์มา จนเราไปเจอข่าวที่มีศพลอยแม่น้ำโขงมา ลูกเราเห็นว่าพ่อหายไปจึงตัดสินใจร้องเรียนไปตามกระบวนการว่าศพนั้นอาจเป็นพ่อของเขาและปรากฏว่าหลังจากพิสูจน์ศพแล้วก็ยืนยันชัดเจนว่าเป็นคุณชัชชาญจริงๆ” ชาลิสาเล่าย้อนกลับไป 

“แม้แต่ตอนที่เราได้รับศพกลับมา ครอบครัวเราก็นำศพไปเผาตามพิธีกรรมที่วัดแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังมีทหารไปข่มขู่ถึงเจ้าอาวาสวัด”

จะบอกว่าเป็นเรื่องดีย่อมไม่ใช่ แต่ชาลิสากล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดกรณีของชัชชาญ ครอบครัวก็ไม่ต้องออกตามหาหรือพยายามค้นหาตัวอีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นที่ยืนยันชัดเจนว่าเขาเสียชีวิตแล้ว แต่เธอกลับยิ่งรู้สึกเจ็บปวดเมื่อเห็นว่ากรณีของครอบครัวอื่นยังคงต้องรอคอยด้วยความสิ้นหวังต่อไปอย่างไม่มีจุดสิ้นสุดเสียที เพราะสำหรับเธอ การยังคงไม่รู้ชะตากรรมของผู้สูญหายเป็นความทรมานมากกว่าเป็นไหนๆ 

“คงไม่มีหนทางไหนนอกจากต้องสู้เพื่อค้นหาความจริงและคนผิดต่อไป แม้ไม่รู้จะต้องสู้จนถึงวันไหน เป็นการต่อสู้ที่มองไม่เห็นจุดหมาย และเป็นความหวังที่เราไม่กล้าคาดหวัง แต่เราก็ยืนยันจะสู้ต่อไป”

วันที่ 23 ธันวาคม เราก็รอว่าทำไมถึงยังไม่ไลน์มา จนเราไปเจอข่าวที่มีศพลอยแม่น้ำโขงมา … และปรากฏว่าหลังจากพิสูจน์ศพแล้วก็ยืนยันชัดเจนว่าเป็นคุณชัชชาญจริงๆ

ถึง… สุรชัย แซ่ด่าน

“สิ่งที่อยากให้ย้อนกลับมา คือคนที่นั่งร่วมกินอาหารบนโต๊ะเดียวกัน”

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่เมื่อปี 2516 เรียกร้องประชาธิปไตยจากจอมพลถนอม กิตติขจร ถึงแม้ว่าเขาจะเคยถูกจับกุมและถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 16 ปี หลังจากออกจากเรือนจำ เขายังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ โดยจัดตั้งกลุ่ม ‘แดงสยาม’ 

22 กุมภาพันธ์ 2554 สุรชัยถูกตัดสินจำคุก 12 ปี 6 เดือนในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และได้รับพระราชทานอภัยโทษออกจากเรือนจำในวันที่ 4 ตุลาคม 2556 ทั้งนี้ หลังจากรัฐประหารโดย คสช. ในปี 2557 เขาต้องลี้ภัยในอยู่ประเทศลาว แต่ด้วยความแน่วแน่ เขาจัดรายการ ‘ปฏิวัติประเทศไทย’ ทางยูทูป โดยเป็นรายการวิเคราะห์สถานการณ์ข่าวทางการเมืองรายวันโดยมีผู้ชมถึงหลักแสน

วันที่ 12 ธันวาคม 2561 ก่อนหน้าการเยือนลาวของรัฐบาล คสช. เพียงหนึ่งวัน มีรายงานว่าสุรชัย แซ่ด่าน, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) และไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) หายตัวไป ต่อมาช่วงวันที่ 27-29 ธันวาคม มีการพบศพนิรนามลอยมาตามแม่น้ำโขง ที่จังหวัดนครพนม แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นนายสุรชัยหรือไม่ จนถึงปัจจุบัน ญาติและครอบครัวก็ยังไม่พบว่าสุรชัย แซ่ด่านอยู่ที่ใด 

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน)

จากความทรงจำทั้งชีวิตที่ ป้าน้อย ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ มีต่อสุรชัย แซ่ด่าน ผู้เป็นสามี ป้าน้อยบอกกับเราว่า จริงๆ แล้วสุรชัยเป็นคนประนีประนอมและรักสงบ ไม่ได้เป็นคนหัวก้าวร้าวหรือหัวรุนแรงแบบภาพจำที่รัฐตีตราให้เป็นสิบๆ ปี 

“เขาเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร เวลาวิพากษ์วิจารณ์จะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ต่อต้านรัฐบาล เป็นพวกหัวรุนแรง แต่จริงๆ แล้วสุรชัยเป็นคนที่คอยประสานระหว่างประชาชนผู้ได้รับผลกระทบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมกับฝ่ายรัฐบาล คอยชี้แจงเหตุผลว่าทำไมชาวบ้านถึงมาร้องทุกข์กับผู้มีอำนาจในท้องถิ่น เขาเป็นคนชอบช่วยเหลือสังคมส่วนรวมมาตั้งแต่หนุ่มๆ”

ยิ่งด้วยคดี 112 เป็นคดีที่ส่วนใหญ่ศาลจะไม่ให้ประกันตัว เพราะเป็นคดีที่มีโทษร้ายแรง เมื่อเกิดการรัฐประหาร สุรชัยจึงตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศ เพราะคิดว่าคงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีหากอยู่ภายใต้รัฐบาลชุดดังกล่าว ป้าน้อยเสริมอีกว่า สุรชัยมีโรคประจำตัวตามอายุที่มากขึ้น จึงเป็นกังวลว่าตนเองอาจประสบชะตากรรมเหตุการณ์ ‘อากง’ พร้อมระบุถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนอันย่ำแย่ในระบบราชทัณฑ์ เมื่อการรักษาโรคในคุกยากนั้นแสนลำบาก แค่เพียงผู้ต้องขังอยากได้ยาพาราฯ สักเม็ดกว่าจะได้กินต้องรอเป็นวันๆ และกินได้ครั้งละไม่เกินหนึ่งเม็ด เมื่อมีอาหารป่วยในเรือนจำจึงไม่ใช่จะได้รับการรักษาได้โดยง่าย 

ป้าน้อยกล่าวว่า หากวันนี้สุรชัยยังมีชีวิตอยู่ก็จะมีอายุ 81 ปีแล้ว ทว่ากระทั่งตอนที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงวันที่เขาจากไป สุรชัยไม่เคยได้รับความยุติธรรมจากรัฐบาลเลยสักครั้ง ป้าน้อยยืนยันว่าในช่วงแรกของการติดตาม แม้แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ออกมาปฏิเสธว่าศพที่ลอยมาตามแม่น้ำโขงไม่ใช่ศพของสุรชัย แซ่ด่าน 

เพราะการถูกอุ้มหายและบังคับสูญหาย ความอยุติธรรมนั้นไม่ได้เกิดกับผู้สูญหายเท่านั้น แต่เกิดกับญาติที่ยังต่อสู้อยู่ด้วย เรื่องหนึ่งที่ทำเราเจ็บปวดที่สุดเมื่อได้รับรู้คือ เดือนธันวาคมที่จะถึงนี้จะครบ 5 ปีแล้วที่สุรชัยหายไป ทว่าป้าน้อยกลับยังต้องจ่ายค่าปรับที่สุรชัยหายไปไม่มาขึ้นศาลตามนัดหมาย โดยเหตุผลที่ต้องจ่ายเนื่องจากทางครอบครัวไม่มีหลักฐานมายืนยันว่าสุรชัยสูญหายไปจริง ซ้ำร้ายรัฐยังไม่ยอมรับว่าหนึ่งในสามศพที่ลอยมาตามแม่น้ำโขงนั้นคือร่างของสุรชัย ไม่มีแม้แต่การยอมรับว่าเขาหายไป ทำให้ป้าน้อยต้องจ่ายค่าปรับศาลต่อไป เนื่องจากสุรชัยไม่อาจมารายงานตัวกับศาลได้ตามกำหนดอีกต่อไปแล้ว

“เขาบอกว่าถ้าจะไม่ให้ปรับต้องนำตัวนายสุรชัยมาศาล หรือถ้าเสียชีวิตก็ต้องหาหลักฐานมาว่าเขาเสียชีวิต แต่เราจะไปหาหลักฐานจากไหน จะติดต่อเขายังทำไม่ได้เลย” ป้าน้อยกล่าว

“เราไปร้องเรียนทุกที่แล้ว เรื่องก็ยังเงียบหาย ก็หวังว่าจะมีการรื้อฟื้นคดีและให้ความยุติธรรมกับเรา รวมถึงกรณีอื่นๆ ที่ไม่เคยได้รับการเยียวยาเลย”

“มีทางเดียวที่จะยุติการจ่ายค่าปรับได้ คือต้องไปร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวให้นายสุรชัยเป็นบุคคลสาบสูญ จนถึงตอนนี้ป้าน้อยจ่ายค่าปรับไปแล้วทั้งหมด 66 เดือน เดือนละสามพันบาท ถึงสิ้นปีก็จ่ายไปแล้วกว่าสองแสนบาท เราก็ลำบาก ทุกวันนี้ป้าต้องขายหนังสือ หมวกและเสื้อที่เกี่ยวกับคุณสุรชัยเก็บเป็นค่าเดินทางและค่าปรับ”

หากพูดถึงตัวตนของสุรชัยในฐานะสามี มิใช่ในฐานะนักต่อสู้ทางการเมืองและผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ป้าน้อยเล่าอย่างเรียบง่าย ทว่าเต็มไปด้วยความทรงจำอันมีความสุข ว่าสุรชัยเป็นคนนครศรีธรรมราช ชอบทานอาหารใต้มาก โดยเฉพาะพวกแกงส้ม แกงเลียง น้ำพริกแมงดา แกงไตปลา เพราะเมื่อปราศจากอคติและภาพจำเชิงลบที่รัฐยัดเยียดให้ สุรชัยก็เป็นเพียงคนธรรมดาที่ฝันใฝ่ในความยุติธรรมและเท่าเทียมในสังคมคนหนึ่งเท่านั้น

“เวลาเห็นกับข้าวที่แกชอบ เราก็สะท้อนใจ นึกถึงแกแล้วก็รู้สึกหดหู่ทุกครั้ง การเมืองและเศรษฐกิจก็ซ้ำเติมชีวิต หนี้สินล้นพ้น แค่นี้เราก็มีความลำบากในการดำรงชีวิตมากอยู่แล้ว แล้วจะหาหลักฐานเพื่อขอรับการเยียวยาจากไหน ติดต่อเขายังไม่ได้เลย อยากให้มีการแก้กฎหมายให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และอยากให้มีการเยียวยาเบื้องต้น” ป้าน้อยกล่าว

เขาบอกว่าถ้าจะไม่ให้ปรับต้องนำตัวนายสุรชัยมาศาล หรือถ้าเสียชีวิตก็ต้องหาหลักฐานมาว่าเขาเสียชีวิต แต่เราจะไปหาหลักฐานจากไหน จะติดต่อเขายังทำไม่ได้เลย

ถึง… ผู้ถูกบังคับสูญหายและทุกคนที่ยังคงรอคอย

“แล้วกลับมากินข้าวด้วยกันนะ”

ประเทศที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองหรือมีแรงปะทะเรื่องขั้วอำนาจ เห็นได้ชัดจากสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่มีการบังคับสูญหายจำนวนมาก ซึ่งส่วนมากเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ออกมาต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทั้งถูกทรมาน ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างไร้มนุษยธรรม และหลายคนถูกอุ้มหายไปโดยไม่ทราบชะตากรรม 

สำหรับครอบครัวผู้สูญหายและเสียชีวิตที่แบกรับความแตกสลายมาอย่างยาวนานหลายปี สิ่งหนึ่งที่ยังฝังลึกในจิตใจระหว่างการใช้ชีวิตในแต่ละวันของพวกเขา คือความเจ็บช้ำจากการกระทำอันไร้ความเป็นมนุษย์ของเจ้าหน้าที่รัฐ แม้คืนวันผ่านพ้น แต่ความทุกข์ระทมไม่เคยจางหาย จนถึงวันนี้ หลายครอบครัวไม่เคยได้รับการเยียวยา และยังคงตั้งตารอคอยความเป็นธรรมและความจริงให้เป็นที่ประจักษ์

สำหรับหัวอกของคนที่ยังรอให้คนที่รักกลับมาร่วมโต๊ะอาหารด้วยเหมือนเคย หากจะถามว่า เมื่อแตกสลายไปแล้ว จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้หรือ? คำตอบนั้นแสนเรียบง่าย คือ “ไม่มีทาง”

“ภาวะที่จะอยู่ก็ไม่อยู่ จะตายก็ไม่ตาย เหมือนชีวิตเวียนวนอยู่กับความกำกวม และความกำกวมนี่แหละที่คอยตามหลอกหลอนให้เราทุกข์ทรมานใจ” คือความรู้สึกของอังคณา นีละไพจิตร กับความทุกข์ระทมที่คอยตามหลอกหลอนเธอมาตลอดหลายสิบปี

ในวันที่ไม่มีแม้โอกาสได้ยินเสียง ไม่ได้เห็นหน้า ไม่อาจทราบชะตากรรมของคนที่หายไป แค่เพียงรูปถ่าย เสื้อผ้า จดหมายน้อย ข้าวของเครื่องใช้ กระทั่งเมนูอาหารที่พวกเขาชื่นชอบ สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ที่หลงเหลืออยู่ล้วนเป็นสมบัติอันล้ำค่าสุดจะประเมินค่าได้ และแม้จะแสนทุกข์ทรมาน กระทั่งบางคราความเจ็บปวดบาดลึกลงจนสิ้นยินดีกับการมีชีวิต แต่เพราะรู้ลึกในจิตใจว่าเรื่องราวและใบหน้าของผู้สูญหายจะยิ่งจางหายหากไม่ได้รับการพูดถึง เมื่อเป็นเช่นนั้น ต่อให้ทรมานถึงเพียงใด คนที่ยังรอคอยก็ยินยอมออกมาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยความยินดี เพื่อให้เรื่องราวเหล่านี้ไม่เงียบหายไป และเพื่อเติมแสงสว่างแห่งความหวังให้อีกหลายครอบครัวที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม 

ท้ายที่สุด สิ่งสุดท้ายที่อังคณา สีละ กัญญา ชาลิสา ปราณี รวมถึงครอบครัวของผู้สูญหายทุกคนอยากฝากไว้ คือข้อความถึงรัฐบาลชุดใหม่ต่อการให้ช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย และให้ความสำคัญกับการป้องกันการอุ้มหายมากขึ้น ไปจนถึงความคาดหวังว่าการบริหารงานของรัฐบาลไม่ว่าจะในด้านใด จะคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้ง บังคับใช้กฎหมายอย่างเคารพความเป็นมนุษย์ ไปจนถึงการสร้างความตระหนักรู้เรื่องนี้ต่อเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไป เพื่อไม่ให้มีการซ้อมทรมาน อุ้มหาย หรือบังคับสูญหายอันเป็นอาชญากรรมโดยรัฐและเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวของใครอีก 

เพราะประโยค “แล้วกลับมากินข้าวด้วยกันนะ” ไม่ควรมีใครต้องรอคอยด้วยความทุกข์ทรมานเช่นนี้อีกต่อไป

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save