fbpx
เมื่ออาคารยุคใหม่ไม่ ‘ปรับอากาศ’ เอง : ทำอย่างไรให้เกิด ‘สภาวะน่าสบาย’ โดยไม่เปิดแอร์

เมื่ออาคารยุคใหม่ไม่ ‘ปรับอากาศ’ เอง : ทำอย่างไรให้เกิด ‘สภาวะน่าสบาย’ โดยไม่เปิดแอร์

รชพร ชูช่วย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

บอยเป็นคนเหนือ มาอยู่กรุงเทพฯ เพราะสอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศได้ พ่อแม่ซื้อคอนโดฯ ชานเมืองที่ไม่แพงนักให้อยู่กับพี่ชาย คอนโดฯ อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าชานเมือง ระยะเดินประมาณ 10 นาที แต่ด้วยอากาศร้อนของกรุงเทพฯ และทางเดินที่ไม่มีร่มเงา ก็พอทำให้เหงื่อตกได้ไม่น้อย เมื่อจะขึ้นรถไฟฟ้าบางทีบอยต้องยืนรอบนชานชาลาให้เหงื่อแห้งก่อน เพราะแอร์ในรถไฟฟ้าเย็นมาก เข้าไปโดยที่เหงื่อท่วมตัวบางครั้งทำเอาไข้ขึ้นได้เหมือนกัน

คอนโดฯ ของบอยเป็นห้องเล็กๆ บนชั้นสี่ มีหน้าต่างกระจกใหญ่ แต่เปิดได้แค่เพียงบางส่วนเล็กๆ มองเห็นผนังทึบของตึกข้างๆ ไม่ได้มีวิวสวยอะไร บอยแทบไม่เคยเปิดหน้าต่าง เพราะเปิดไปลมก็ไม่เข้า แถมฝุ่นก็เยอะ เวลาอยู่ที่ห้องจึงต้องเปิดแอร์ตลอดเวลา หน้าต่างใหญ่นี้พอโดนแดดมากๆ เข้าตอนบ่าย ก็ร้อนมาก เลยต้องปิดม่านเพื่อกันแดด ไม่อย่างนั้นแอร์ที่เปิดไว้ก็เอาไม่อยู่ แต่พออยู่ไปนานๆ ก็ขี้เกียจเปิดม่าน ห้องเลยมืดตลอดเวลา เข้าห้องมาก็เลยไม่เคยรู้ว่าเช้าสายบ่ายเย็นแล้ว ต้องดูนาฬิกาเอา ส่วนห้องน้ำที่อยู่ในห้องนอนก็อยู่ด้านในไม่มีหน้าต่าง และไม่ติดผนังภายนอก ต้องใช้พัดลมดูดอากาศเหมือนโรงแรม แต่ก็ไม่ค่อยได้ผล ห้องน้ำไม่เคยแห้ง ชื้นตลอดเวลา บางทีก็ขึ้นรา บางทีอากาศในห้องก็หนักๆ หน่วงๆ น่าจะเป็นเพราะความชื้นที่มาจากห้องน้ำ

ในห้องมีเคาน์เตอร์ครัวเล็กๆ พร้อมเครื่องดูดควันและเตาไฟฟ้าสองหัวที่แถมมากับห้อง แต่พอลองทอดไข่เจียว ก็แทบจะนอนไม่ได้เพราะห้องเหม็นไปหมด ไม่แน่ใจว่าเครื่องดูดควันนี้ดูดควันไปไว้ไหน กลิ่นควันไม่หายไปเป็นเดือนๆ บอยและพี่ชายเลยใช้วิธีกินข้าวมาจากข้างนอกเลย แถวๆ คอนโดฯ มีร้านตามสั่งอยู่ไม่น้อย หรือไม่ก็ซื้ออาหารกล่องที่กลิ่นไม่แรงมากมาอุ่นด้วยไมโครเวฟเอา

มาอยู่กรุงเทพฯ ได้สักปีกว่าๆ บอยก็เริ่มเป็นโรคภูมิแพ้ วันดีคืนดีก็มีน้ำมูกไหลตอนตื่นนอนตอนเช้า บางทีนอนเยอะเท่าไหร่ก็ยังรู้สึกว่าไม่เต็มอิ่ม เพลียๆ เป็นหวัดบ่อยขึ้น อาการแบบนี้ไม่ค่อยเป็นเวลากลับบ้านที่ต่างจังหวัดตอนปิดเทอม บ้านที่พ่อแม่อยู่เป็นบ้านพักข้าราชการเก่าๆ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ห้องนอนที่บ้านติดมุ้งลวดและเปิดพัดลมเวลานอนแต่ก็เย็นสบายดี น่าจะเป็นเพราะต้นไม้รอบๆ หนาแน่น

หลังจากเรียนจบ บอยเข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่น แต่ยังอยู่คอนโดฯ เดิมกับพี่ชาย เวลาไปประชุมข้างนอกกับเจ้านาย บอยต้องใส่สูทผูกเนคไทแต่งตัวเรียบร้อยเต็มยศ แต่ก็ไม่สามารถแต่งตัวแบบนั้นมาจากบ้านได้ เพราะต้องเดินตากแดดมาขึ้นรถไฟฟ้า (ปกติใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวตัวเดียวยังเหงื่อตก)​ ต้องเอาเนคไทกับเสื้อสูทใส่ถุงมาทำงาน พอมาถึงออฟฟิสค่อยแต่งตัวอีกที ในออฟฟิศก็ไม่มีปัญหาอะไรเพราะเป็นอาคารสำนักงานตึกสูงที่มีระบบปรับอากาศเป็นระบบใหญ่ โดยปกติแล้วตอนนั่งทำงานอยู่นั้นหนาวมาก ถ้าไม่มีเนคไทหรือเสื้อสูทอาจจะไม่ไหวเหมือนกัน บอยยังคิดอยู่ว่า ถ้าไม่ต้องเดินจากคอนโดฯ มาขึ้นรถไฟฟ้า ก็คงแต่งตัวผูกเนคไทใส่เสื้อสูทมาทำงานได้เลย เพราะอยู่ในอุณหภูมิประมาณ 20 องศาเซลเซียสนิดๆ อยู่เกือบตลอดเวลาตั้งแต่ในห้องคอนโดฯ รถไฟฟ้า จนมาถึงที่ออฟฟิศ ไม่ต้องเข้าๆ ออกๆ พื้นที่ที่ร้อนๆ หนาวๆ สลับกันไป ยังไม่แน่ใจว่าควรจะหาคอนโดฯ ใหม่ที่ไม่ต้องเดินไกลจากสถานี หรือเปลี่ยนเป็นขับรถไปทำงานแทนดี

นอกจากระบบปรับอากาศ (air conditioning system) ในอาคารจะทำให้คนในเขตร้อนชื้นอย่างบอยและหลายๆ คนสามารถแต่งตัวได้หลายๆ ชั้น ดูสุภาพเป็นสากลเหมือนกันกับคนที่อยู่ในพื้นที่ที่หนาวเย็นกว่าได้อย่างสบายๆ แล้ว ระบบเครื่องปรับอากาศยังเป็นเทคโนโลยีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรมในโลกนี้แบบที่ไม่เคยมีเทคโนโลยีใดทำได้มาก่อน จนสถาปัตยกรรมที่ไหนๆ ก็มีหน้าตาเหมือนกันได้ ดูเป็นสากลเช่นกัน

ในทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ‘สภาวะน่าสบาย’ หรือ comfort zone เป็นสภาวะที่อากาศมีอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 50% อันเป็นมาตรฐานเบื้องต้น (ทั้งสองปัจจัยนี้อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของพื้นที่หนึ่งๆ และอาจจะมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยเช่นความเร็วของกระแสลมที่พัดผ่านผิวกาย)​

ในพื้นที่เขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทยนั้น สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมีแนวทางสำหรับการสร้างสภาวะน่าสบายโดยไม่ใช้เครื่องปรับอากาศเป็นพื้นฐาน เช่น การวางให้อาคารไม่โดนแดดในทิศตะวันออก-ตะวันตกมากไป อาคารไม่ใกล้กันจนบังลมกันและกัน การสร้างพื้นที่ร่มกันแดดร้อน เช่นพื้นที่ใต้ถุน พื้นที่ชานที่มีหลังคาคลุม ศาลาต่างๆ  การสร้างหลังคายื่นยาวเพื่อกันแดดร้อนและฝนไม่ให้มาโดนผนังอาคาร หรือเข้ามาในอาคาร การมีช่องระบายอากาศในแทบจะทุกที่เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศในห้อง พัดเอาความร้อนและความชื้น (ที่สร้างสภาวะที่เหมาะสมกับเชื้อโรค) ออกไป ช่องระบายอากาศเหล่านี้อาจจะเป็นประตูหน้าต่าง ผนังที่มีรูพรุน ช่องลมบริเวณผนังที่ติดกับหลังคาซึ่งมักจะทำเป็นลวดลายสวยงาม การยกพื้นอาคารสูงเพื่อหนีความชื้นที่มาจากดิน และอาจจะเว้นเป็นช่องให้อากาศไหลเวียนได้อย่างช่องแมวลอดในบ้านไทย รวมไปถึงการใช้วัสดุที่มีการถ่ายเทความร้อนและความชื้นได้ดี รูปร่างหน้าตาของอาคารส่วนใหญ่จึงเป็นผลจากการต้องสร้างพื้นที่เพื่อให้ผู้คนอยู่อาศัยได้อย่างสบาย

แต่เมื่อเราปรับให้อุณหภูมิภายในอาคารอยู่ในสภาวะน่าสบาย เป็นไปตามอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่ต้องการได้โดยการติดเครื่องปรับอากาศเข้าไปในอาคาร สภาพภูมิอากาศในแต่ละถิ่นที่ที่เคยเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่สุดในการออกแบบสถาปัตยกรรมจึงกลายเป็นเรื่องที่เอาชนะกันได้อย่างไม่ยากนัก การใช้องค์ประกอบหลักเพื่อสร้างสภาวะน่าสบายในสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมก็มีความจำเป็นน้อยลงไป สถาปนิกไปมุ่งเน้นประเด็นการออกแบบอื่นๆ มากกว่าการจัดการกับสภาพภูมิอากาศ เมื่อเครื่องปรับอากาศมีราคาถูกลงเรื่อยๆ สถาปัตยกรรมที่ใดๆ ก็มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปัจจุบัน สถาปัตยกรรมร่วมสมัยในเมืองใหญ่ทุกที่ในโลกมีหน้าตาคล้ายกันเข้าไปทุกทีจนแยกไม่ออกว่าอยู่ที่ไหนกันแน่ เช่นเดียวกับคนในเมืองใหญ่ที่อยู่ในอาคารเหล่านี้ ที่แต่งตัวเหมือนๆ กัน แยกกันไม่ออกว่าอยู่ในพื้นที่ใดของโลก ไม่ว่าจะเป็นออสโลหรือมุมไบ

แต่สภาวะน่าสบายที่เกิดจากเครื่องปรับอากาศ ก็อาจจะไม่ได้หมายถึงสุขภาวะของอากาศที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยเสมอไป แม้ว่าเครื่องปรับอากาศจะมีระบบการหมุนเวียนระหว่างอากาศภายในกับภายนอก โดยมีอากาศบริสุทธิ์ภายนอกมาผสมประมาณ 10-15% ของลมที่หมุนเวียน แต่โดยรวมก็ยังมีสภาพเป็นระบบปิด อากาศเดิมๆ ในห้องที่เป็นอากาศเสียที่เกิดจากการหายใจ จะถูกระบายออกจากพื้นที่ช้ากว่าห้องที่เปิดโล่งมีการระบายอากาศแบบธรรมชาติที่ถูกต้อง (ยกเว้นห้องที่มีการปรับอากาศด้วยระบบปรับอากาศพิเศษ อย่างห้องผ่าตัด หรือเครื่องบิน) การที่อยู่ในห้องที่มีระบบปรับอากาศนานๆ แล้วเกิดอาการเพลีย ไม่สบายตัว อาจจะเกิดจากการที่ระดับออกซิเจนในห้องน้อยเกินไป คาร์บอนไดออกไซด์สูงเกินไป ซึ่งสิ่งที่อาจจะตามมาคือสภาวะเลือดมีความเป็นกรดสูงขึ้น[1]

สถาปัตยกรรมในเมืองที่มีความหนาแน่นสูง มีการแข่งขันทางด้านการตลาดด้วยรูปร่างหน้าตาอาคารที่ทันสมัยเหมือนกันกับประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นจุดขาย (แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับภูมิอากาศร้อนชื้นนัก) ในขณะเดียวกันก็ลดราคาค่าก่อสร้าง จนลดองค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้มนุษย์อยู่อาศัยได้อย่างมีสุขภาวะที่ดีให้น้อยลงไปทุกที ใช้วิธีคิดง่ายๆ ว่าติดเครื่องปรับอากาศแล้วพื้นที่ใดๆ ก็น่าจะอยู่ได้ อาคารที่อยู่อาศัยจำนวนมากในปัจจุบันจึงมีสภาพไม่ต่างจากตู้เย็นที่ไว้ใส่ของเพื่อยืดอายุการเน่าเสีย เพราะเปิดหน้าต่างไม่ได้ และต้องเปิดเครื่องปรับอากาศอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการระบายอากาศแบบที่มีทางลมเข้าออกที่สมควร เราอาจจะลืมกันไปว่า แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป แต่ร่างกายมนุษย์ยังต้องการเงื่อนไขการอยู่อาศัยทางสุขภาวะที่ไม่แตกต่างจากเดิมเท่าไหร่นัก

การใช้ชีวิตในพื้นที่ปรับอากาศเป็นเวลานานๆ ในแต่ละวัน ทำให้ร่างกายมีความสามารถในการอยู่ในอากาศธรรมชาติที่ร้อนกว่าได้น้อยลง รู้สึกไม่สบายตัวตลอดเวลาเมื่อไม่ได้อยู่ในห้องปรับอากาศ ด้วยความเคยชินกับพื้นที่ที่สบายกว่า การเปลี่ยนจากพื้นที่ภายในไปสู่ภายนอกที่มีอุณหภูมิต่างกันมากๆ ก็ทำให้ร้อนๆ หนาวๆ และอาจทำให้ถึงขั้นป่วยได้  (เช่นเดียวกันกับช่วงเวลาบอยขึ้นรถไฟฟ้า) ด้วยราคาเครื่องปรับอากาศลดลงทุกที จึงเกิดการขยายพื้นที่ที่ติดเครื่องปรับอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ จากแค่ห้องนอนลามไปถึงห้องนั่งเล่น และบางครั้งไปถึงห้องน้ำ บางคนถึงกับเลือกที่จะไปในสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศเท่านั้น ในพื้นที่สาธารณะเองก็มีการขยายตัวของพื้นที่ที่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันอาคารที่สร้างใหม่ในเขตเมืองเกือบทั้งหมดมีการใช้เครื่องปรับอากาศ แม้กระทั่งอาคารที่สร้างในบริบทธรรมชาติที่มีอากาศดีกว่าในเมือง อย่างโรงแรมรีสอร์ต เพื่อรองรับชาวเมืองก็ยังใช้เครื่องปรับอากาศกันอยู่ทั่วไป

ในขณะที่เรากำลังนับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากการกระทำต่างๆ เช่น การเดินทางด้วยเครื่องบิน กิจกรรมการใช้อาคารในโลกปัจจุบันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon emission) ประมาณ 28% ของปริมาณการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดของโลก[2] ซึ่งมากกว่าการเดินทางขนส่งด้วยยานพาหนะเสียด้วยซ้ำ และการใช้พลังงานในอาคารแต่ละวันนี้มีเครื่องปรับอากาศเป็นตัวละครสำคัญในการผลิตคาร์บอนไดออกไชด์

ที่จริงแล้วเครื่องปรับอากาศไม่ได้เป็นผู้ร้าย เช่นเดียวกันกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้น การใช้เครื่องปรับอากาศอย่างไม่ลืมหูลืมตาแต่ลืมไปว่าทุกอย่างมีข้อจำกัดต่างหากที่ก่อให้เกิดผลทางลบกับผู้ใช้งานรวมไปถึงสิ่งแวดล้อม เครื่องปรับอากาศช่วยให้เราอยู่ในพื้นที่ที่ต้องปิดมิดชิด เมื่ออากาศร้อนหรือหนาวมากหรือมีมลภาวะสูง หรือในบริบทเฉพาะอย่างเครื่องบิน ห้องผ่าตัด ได้อย่างสะดวกสบายปลอดภัย

ณ วันที่เราเผชิญกับวิกฤตการระบาดของไวรัส พื้นที่ที่ใช้เครื่องปรับอากาศโดยเฉพาะที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงในการแพร่ระบาดมากกว่ากว่าพื้นที่ภายนอกอาคารที่โล่งลมพัด อาคารจำนวนมากที่ออกแบบการใช้งานโดยต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศเท่านั้นก็ตกที่นั่งลำบาก ต้องมีการจัดการฆ่าเชื้อโรคแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การพ่นแอลกอฮอล์ในพื้นที่ทุกๆ 4 นาที (ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าช่วยป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน ดูเหมือนจะทำให้อุ่นใจเสียมากกว่า) และอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบปรับอากาศทั้งระบบให้มีการฆ่าเชื้อโรคได้ มิฉะนั้นการใช้อาคารปิดเหล่านี้ก็จะกลายเป็นสถานที่ที่กระจายโรคติดต่อร้ายแรงในที่สุด

 

 

การออกแบบอาคารจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล กลับไปสู่วันที่สถาปนิกต้องใช้ฝีมือในการออกแบบเพื่อจัดการกับสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าจะมีการใช้เครื่องปรับอากาศ พื้นที่ภายในต้องทำให้เกิดทางเลือกด้วยการระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติได้ เปิดแอร์ก็ได้ ไม่เปิดแอร์ก็ดี มีพัดลมช่วยหมุนเวียนอากาศ ต้องมีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ช่วยลดความร้อนเข้ามาในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นฉนวนที่หลังคา การสร้างร่มเงาใม่ให้โดนผนังตรงๆ และอื่นๆ เพื่อว่าหากอยากเปิดพื้นที่ระบายอากาศเดิมออกไปต้องทำได้ง่ายและรวดเร็ว

รอยต่อระหว่างอาคาร ในพื้นที่ภายนอกที่โดยมากเป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองนั้น ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีร่มเงา เพื่อให้อุณหภูมิที่พื้นผิวต่างๆ ภายนอกอาคารลดลง ลดความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิระหว่างภายนอกและภายในอาคาร ในอดีตมีการสร้างพื้นที่ในเมืองในรูปแบบนี้มาก่อน โดยมีการใช้กฎหมายบังคับให้อาคารริมถนนสร้างร่มเงาให้ทางเดิน เช่น รูปแบบของตึกแถวในสิงคโปร์ มาเลเซีย และบางส่วนในภาคใต้ของประเทศไทยที่มีทางเดินสาธารณะหน้าอาคาร เรียกว่าทางเดิน 5 ฟุต (five-foot way) ในประเทศไทยเองเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว กฎหมายก็บังคับให้ตึกแถวต้องมีกันสาดยื่นออกมาที่ทางเท้าสาธารณะเพื่อกันแดดกันฝนให้ผู้เดินเท้า ในปัจจุบันการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างร่มเงาให้พื้นที่ถนนทางเท้า น่าจะเป็นวิธีที่เร็วและง่ายที่สุด นอกจากจะลดอุณหภูมิแล้ว ยังเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้บรรยากาศด้วย

การมาถึงของโรคระบาดทำให้เราต้องปรับกระบวนท่าในการใช้ชีวิตกันใหม่หลายๆ ด้าน แต่หากลองพิจารณาถึงประเด็นต่างๆ ที่เราบัญญัติกันว่าเป็น ‘ความปกติใหม่’ ( the new normal) นั้น จริงๆ แล้ว ไม่ได้ต่างไปจากพื้นฐานการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังแบบปกติที่เคยใช้มาก่อนหน้าที่เราจะปัดภาระในเรื่องการใช้ชีวิตต่างๆ ไปให้เทคโนโลยีเกือบทั้งหมด

ณ วันนี้บอยเลิกใส่สูทผูกเนคไท แต่เปลี่ยนมาใส่กางเกงเลและเสื้อยืดหลวมๆ เพราะทำงานที่คอนโดฯ (บางทีก็ไม่ใส่เสื้อเสียด้วยซ้ำ) เวลาประชุมออนไลน์ก็เปลี่ยนเป็นเสื้อเชิ้ต บอยไปซื้อพัดลมเครื่องใหญ่มาเปิด พร้อมๆ กับเปิดหน้าต่าง เปิดประตูระเบียง และแง้มประตูหน้าห้องไว้เวลาที่ไม่เปิดแอร์ พอให้อากาศไหลเวียนได้ (โชคดีที่ช่วงนี้มลพิษในอากาศไม่ค่อยมี) พี่ชายสั่งต้นไม้พุ่มมาตั้งที่ระเบียงเล็กๆ บังแดดให้หน้าต่าง วันแรกๆ ก็ร้อนแทบจะทนไม่ได้ ต้องมีผ้าขนหนูซับเหงื่อตลอดเวลา แต่พอผ่านไปสักสองสามวันก็ชินเหมือนกลับไปในหน้าร้อนตอนเด็กๆ ตอนอยู่ต่างจังหวัด นี่กำลังคิดว่าจะไปขอนิติฯ ของคอนโดฯ เปลี่ยนประตูหน้าเป็นประตูบานเกล็ด จะได้ไม่ต้องแง้มประตูทิ้งไว้ให้คนอื่นรำคาญใจ

 

เชิงอรรถ

[1] ศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนยีอาคาร

[2] ที่มา https://www.worldgbc.org/news-media/WorldGBC-embodied-carbon-report-published#_ftn1

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save