fbpx

รัฐบาลใหม่ต้องคิดใหญ่ ยกเครื่องประเทศไทยด้วยการลงทุนสีเขียว

ความรุนแรงของวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ ‘โลกรวน’ นับวันจะยิ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตของผู้คน ผู้นำรัฐบาลทั่วโลกถูกคาดหวังให้ดำเนินนโยบายสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม มากกว่าเพียงรณรงค์ให้ประชาชนร่วมมือคนละเล็กคนละน้อย แต่ต้องมีนโยบายที่สอดรับกับความรุนแรงของปัญหาและเร่งลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะจากวิกฤตนี้

แนวนโยบายหนึ่งที่หลายประเทศขานรับคือ การมองปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยดำเนินนโยบายรับมือโลกรวนไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบสาหัสจากวิกฤตโรคระบาดในช่วงสามปีที่ผ่านมา

เราเห็นนโยบาย ‘กรีนดีล’ ปรากฏขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น European Green Deal และ Fit for 55 Package ของสหภาพยุโรปที่มีมาตรการสำคัญคือ จัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าบางประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism)[1] ด้านสหรัฐอเมริกาก็ผ่านกฎหมาย Inflation Reduction Act ที่เป็นการผสานนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมให้เป็นเนื้อเดียวกัน ผ่านการลงทุนในพลังงานสะอาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ พร้อมกับเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงานอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับ นโยบาย Green New Deal ของเกาหลีใต้ ซึ่งประกาศทุ่มงบประมาณกว่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐาน ฟื้นฟูระบบนิเวศ และเน้นลงทุนในอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและรับมือกับวิกฤตโลกรวน ต้องอาศัยการลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่โดยภาครัฐ โดยเฉพาะในประเทศที่โครงสร้างหลายส่วนยังไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างประเทศไทย

101 Public Policy Think Tank (101 PUB) ชวนผู้อ่านสำรวจแนวทางนโยบายการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดหน้าต่างโลกดูกรณีศึกษาจากต่างประเทศที่ลงมือแก้ปัญหาโลกรวนนำหน้าไทยไปหลายก้าว

งบลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมไทย 9 หมื่นล้านบาท
86% ทุ่มให้การบริหารจัดการน้ำ

งานศึกษาโดย Swiss Re Insititute ประเมินความสูญเสียต่อ GDP ในกรณีที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นในระดับต่างๆ พบว่า ยิ่งโลกร้อนขึ้นเท่าไร เศรษฐกิจไทยยิ่งเสียหายหนักขึ้น ในกรณีดีที่สุดคืออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส GDP ของไทยมีแนวโน้มลดลง 4.9% ขณะที่ในกรณีเลวร้ายที่สุด คืออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 3.2 องศาเซลเซียส GDP ไทยอาจลดลงมากถึง 43.6% ซึ่งถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก กลุ่มประเทศ OECD และอาเซียน ไทยยังเป็นประเทศอันดับ 5 ของโลกที่เสี่ยงสูญเสีย GDP มากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สวนทางกับความเร่งด่วนของปัญหาโลกรวนที่ไทยเผชิญ แผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลไทยในขณะนี้ยังถือว่า ‘ไม่ชัดเจน ไม่ทันการ และไม่เห็นหัวประชาชน’ มากพอ

กล่าวคือ ไทยยังไม่มีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม กฎหมายและนโยบายจำนวนไม่น้อยยังมุ่งอำนวยความสะดวกกลุ่มทุนใหญ่ มากกว่าจะเอาจริงเอาจังกับการควบคุมการปล่อยคาร์บอนโดยผู้ผลิตที่ก่อมลพิษเกินกำหนด ที่สำคัญคือการไม่มีประชาชนในสมการการคิดและร่วมตัดสินใจในนโยบายสิ่งแวดล้อมมากพอ และบ่อยครั้งก็เป็นรัฐบาลไทยเองที่ละเมิดสิทธิในทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประชาชนไปเสียเอง[2]

หากพิจารณางบลงทุนของภาครัฐไทยในหมวด ‘ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ พบว่า ในปีงบประมาณ 2566 มีการจัดสรรงบลงทุนในหมวดนี้ไว้ทั้งสิ้น 94,108 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อย แต่ปัญหาคือการตีความเป้าหมายยุทธศาสตร์อย่างคับแคบ เห็นได้จาก 86% ของงบลงทุนก้อนนี้ถูกทุ่มให้กับการบริหารจัดการน้ำ เช่น การก่อสร้างหรือปรับปรุงแหล่งน้ำพร้อมอาคาร การขุดลอก สร้างประตูและอุโมงค์ระบายน้ำ ในขณะที่ลงทุนกับเครื่องตรวจวัดสภาพอากาศ คุณภาพอากาศ และมลพิษเพียง 1,854 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2% ของงบลงทุนในยุทธศาสตร์นี้เท่านั้น[3]

การจัดสรรงบลงทุนในยุทธศาสตร์ดังกล่าวทำให้เราเห็นวิธีการจัดลำดับความสำคัญของนโยบาย ตลอดจนมุมมองของภาครัฐต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กล่าวได้ว่ายังค่อนข้างเชื่องช้า ไม่จัดการกับต้นตอของปัญหาอย่างตรงไปตรงมา และไม่เชื่อมโยงกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมสำคัญๆ ที่ประกาศไว้บนเวทีโลกแต่อย่างใด

การปรับนโยบายลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมหรือเน้น ‘ลงทุนสีเขียว’ ให้มากขึ้นนั้นไม่ใช่เพียงการดึงดูดธุรกิจสีเขียวมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยเท่านั้น แต่ต้องจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม ครอบคลุม และสอดคล้องกับปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อย่างการผลิตไฟฟ้า ขนส่งสาธารณะ และการก่อสร้างและใช้งานอาคารให้ปล่อยคาร์บอนน้อยลงและประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการจัดการกับภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนมากที่สุดของประเทศแล้ว ยังสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตคน และกระตุ้นเศรษฐกิจไปในเวลาเดียวกัน

เลิกใช้ฟอสซิล เร่งลงทุนพลังงานหมุนเวียน

ภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดทั้งในระดับโลกและไทย ด้วยสัดส่วนการปล่อย 32.8% ของปริมาณคาร์บอนทั่วโลก[4] และ 37.2% ของปริมาณคาร์บอนในประเทศไทยในปี 2021 [5]

ตัวการสำคัญคือการเผาไหม้ของเชื้อเพลงฟอสซิลในโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (thermal generation) เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และเครื่องปั่นไฟดีเซล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าหลักที่ทั่วโลกใช้ กระบวนการเหล่านี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คงค้างในชั้นบรรยากาศได้เป็นเวลานาน ส่งผลให้อุณหภูมิโลกขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง

โจทย์ของภาคการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกในความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ ทำอย่างไรจึงจะยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ซึ่งต้องหันมาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าถึง 10-20 เท่าให้มากขึ้น โดยยังคงรักษาเสถียรภาพ ความคุ้มค่า และความเข้าถึงได้เอาไว้ ซึ่งช่วงเวลานี้อาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการขยายการลงทุนพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากต้นทุนการติดตั้งและการผลิตกำลังไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ถูกลงอย่างมากและมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เช่น ต้นทุนการติดตั้งโซลาร์ PV ที่ปัจจุบันปรับตัวลดลงจากที่ในปี 2010 เคยสูงถึง 0.44 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลวัตต์ จนเหลือเพียง 0.06 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลวัตต์ ในปี 2021 ถูกกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว

หนึ่งในประเทศที่พยายามลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนมาอย่างยาวนาน คือ เยอรมนี แม้ปัจจุบันเยอรมนีจะกำลังเผชิญกับวิกฤตความมั่นคงทางพลังงานครั้งใหม่ อันเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนตัดสินใจกลับมาเปิดใช้โรงงานไฟฟ้าถ่านหินอีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานเฉพาะหน้า แต่เส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 46% ในปัจจุบันยังคงเป็นกรณีศึกษาที่ไทยสามารถเรียนรู้ได้

เยอรมนีถือเป็นประเทศผู้บุกเบิกการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน ด้วยการผ่านกฎหมาย Energiewende (เอเนอกีเวนเดอ) ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 นโยบายสำคัญคือริเริ่มระบบรับซื้อไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการผลิตพลังงานโดยรายย่อยและกระจายศูนย์มากขึ้น โดยประกันราคาและเปิดช่องให้ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนสามารถเข้าถึงเครือข่ายและโครงข่ายการจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้อย่างเป็นธรรม นับเป็นการทลายระบบผูกขาดในภาคการผลิตไฟฟ้าและเปิดเสรีตลาดพลังงานในเยอรมนีอย่างเป็นทางการ[6]

ในปี 2000 เยอรมนีเดินนำอีกก้าวหนึ่งด้วยการผ่านกฎหมายพลังงานฉบับใหม่คือ Renewable Energy Sources Act (EEG) ซึ่งตั้งเป้าว่า ภายในปี 2010 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในประเทศจะต้องมาจากพลังงานหมุนเวียน 5-10% พร้อมกับดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิต โดยรับประกันผลตอบแทนที่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะได้รับจากผู้ประกอบการระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Feed-in Tariff) ในระดับที่สูงกว่าราคาซื้อขายในตลาดพลังงาน รวมถึงเป็นอัตราค่าตอบแทนคงที่ ไม่ผกผันตามสภาวะตลาด โดยการันตีค่าตอบแทนในอัตรานี้เป็นระยะเวลา 20 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงให้กับภาคเอกชนที่สนใจลงทุนในพลังงานหมุนเวียน

ต่อมาในปี 2010 ที่โลกเริ่มตื่นตัวในกระแสการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น เยอรมนีเริ่มใช้ยุทธศาสตร์พลังงานของชาติระยะยาว (Energy Concept) โดยทุ่มงบประมาณกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้เป็นพลังงานหลัก แทนที่พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานนิวเคลียร์อย่างช้าๆ ล่าสุด รัฐบาลยังตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและทะเยอทะยานมากขึ้น ทั้งมุ่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 80% ยุติการใช้พลังงานถ่านหินและลดการปล่อยคาร์บอนลง 65% ภายในปี 2030 พร้อมทั้งลงทุนเพิ่มอีก 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023-2027 เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย[7]

ผลลัพธ์จากนโยบายเหล่านี้คือ สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในเยอรมนีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จากเดิมในปี 2000 ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 6.4% ภายในเวลา 10 ปีสัดส่วนดังกล่าวสูงขึ้นเป็น 16.8% และเพิ่มเป็น 46% ในปี 2022  พลังงานหมุนเวียนกลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเยอรมนี สร้างรายได้ต่อปีมากกว่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งจากการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศและการส่งออกเทคโนโลยี[8] มีการจ้างงานในภาคพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 338,600 ตำแหน่งในปี 2012 จากเดิมอยู่ที่ 160,500 ในปี 2000 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว[9] นอกจากนี้ การผลักดันให้ใช้ระบบประมูลใบอนุญาตก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในช่วงปี 2014-2016 ยังมีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนให้ต่ำลงกระทั่งปัจจุบัน

การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดนั้น ต้องเกิดขึ้นควบคู่กับการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนนโยบายระยะยาวและมีมาตรการระหว่างทางที่ชัดเจน โจทย์สำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงคือ ทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมและนับรวมทุกคนในสังคมอย่างแท้จริง ทั้งการหลีกเลี่ยงการผูกขาดของพลังงานหมุนเวียนโดยกลุ่มทุนพลังงานในประเทศไทย การแบ่งภาระต้นทุนระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานอย่างเป็นธรรม[10] ตลอดจนการปรับโครงสร้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่อาจต้องตกงานเมื่อมีการดำเนินนโยบายเลิกใช้ฟอสซิล

สร้างขนส่งสาธารณะคาร์บอนต่ำ

อีกภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานฟอสซิลและปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับสอง รองจากภาคการผลิตไฟฟ้าก็คือ ‘ภาคขนส่ง’ ในระดับโลกสัดส่วนก๊าซเรือนกระจกที่มาจากภาคขนส่งอยู่ที่ 16.2%[11] ในขณะที่สัดส่วนการปล่อยในไทยอยู่ที่ 28.4% ในปี 2021 [12]

หากเทียบปริมาณการปล่อยคาร์บอนของขนส่งประเภทต่างๆ ต่อการเดินทางของผู้โดยสาร 1 คน พบว่า การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวขนาดกลางที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซลปล่อยคาร์บอนมากที่สุดคือ 192 และ 171 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์/ผู้โดยสารต่อกิโลเมตร (gCO2/p-km) ตามลำดับ การเดินทางด้วยรถเมล์สาธารณะปล่อยคาร์บอนในปริมาณ 105 gCO2/p-km และหากเป็นรถเมล์ไฟฟ้า ปริมาณคาร์บอนจะลดลงถึง 50% อยู่ที่ 52 gCO2/p-km ส่วนขนส่งระบบรางอย่างรถไฟ ปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุดคือ 41 gCO2/p-km[13]

จะเห็นว่าการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่าและมีตัวหารปริมาณคาร์บอนมากกว่าน่าจะเป็นทางเลือกที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ดีที่สุด ยังไม่รวมถึงมลพิษทางอากาศและฝุ่นควันที่จะลดลงไปด้วย แต่การรณรงค์ให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดโครงข่ายขนส่งมวลชนที่ทั่วถึง คุณภาพบริการต่ำ หรือคิดค่าโดยสารสูงกว่าที่ควรจะเป็น ข้อจำกัดเหล่านี้ยิ่งบีบให้คนจำนวนมากตัดสินใจใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อซื้อเวลาและความสะดวกสบาย

ในกรณีของประเทศไทย หากจะลดการปล่อยคาร์บอนในภาคขนส่งให้ได้จริง แทนที่จะส่งเสริมการใช้รถยนต์ส่วนตัวไฟฟ้าหรือรถ EV เพียงอย่างเดียว รัฐควรให้ความสำคัญกับนโยบายการลงทุนสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่ยังไม่มีระบบขนส่งสาธารณะภายในตัวเมืองและจังหวัดที่มีคุณภาพ และหากจะให้ดีก็ควรใช้โอกาสนี้สร้างระบบขนส่งสาธารณะให้เป็นระบบไฟฟ้าในทุกพื้นที่ในทีเดียว

ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลดคาร์บอนจากภาคขนส่งจากการเปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้าในขนส่งสาธารณะ (electrification) แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลคือ ประเทศจีน ซึ่งดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนและผลิตรถยนต์ EV มาตั้งแต่ปี 2009 ก่อนจะเริ่มโครงการปฏิรูประบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ 10 เมืองให้เป็นระบบไฟฟ้า โดยเซินเจิ้นเป็นเมืองแรกที่สามารถเปลี่ยนมาใช้รถเมล์ไฟฟ้าได้ 100% (จำนวนรถเมล์ 16,359 คัน) ภายในปี 2017

รายงานศึกษาโดย World Bank ศึกษากรณีการเปลี่ยนมาใช้รถเมล์ไฟฟ้าของบริษัท Shenzhen Bus Group (SZBG) 1 ใน 3 ผู้ประกอบการรถโดยสารหลักของเมืองเซินเจิ้น ระบุว่า การเปลี่ยนรถเมล์ทั้งหมดของบริษัท SZBG จำนวน 6,053 คัน ให้เป็นระบบไฟฟ้า ใช้งบประมาณราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 9 ปี โดยงบก้อนใหญ่ที่สุดสองก้อนคือ ค่าจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสถานีชาร์จ ซึ่งรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่นของจีนมีส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายอุดหนุนเพื่อลดต้นทุนการเปลี่ยนผ่านในระยะแรก

สำหรับค่าจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้า ครอบคลุมถึงค่าภาษีและค่าธรรมเนียม ค่าพลังงาน และค่าบำรุงรักษาตลอดอายุการเดินรถ 8 ปี[14] เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 312,016 ดอลลาร์สหรัฐ/คัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงกว่าการจัดซื้อรถเมล์ดีเซล 21% ณ เวลานั้น แต่ในกรณีของเซินเจิ้น ด้วยเงินอุดหนุนราว 150,000 ดอลลาร์สหรัฐจากรัฐบาลและท้องถิ่น ทำให้งบประมาณส่วนนี้ลดลงเหลือ 167,637 ดอลลาร์สหรัฐ หรือถูกกว่าต้นทุนรถเมล์ดีเซล 35% ดังแสดงในภาพ[15]

ที่มา: World Bank (2021)

ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสถานีชาร์จซึ่งมีทั้งที่ลงทุนโดยผู้ประกอบการเดินรถอย่าง SZBG และบริษัทที่ทำสถานีชาร์จโดยเฉพาะ รวมงบประมาณก่อสร้าง บำรุงรักษา ค่าตอบแทนแรงงานในสถานี และค่าไฟฟ้าคิดเป็น 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 สถานี ซึ่งได้ดำเนินการสร้างไปแล้ว 104 สถานี

กล่าวได้ว่า กุญแจความสำเร็จของนโยบายเปลี่ยนผ่านสู่รถเมล์ไฟฟ้าของเซินเจิ้นคือ เงินสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่นที่ให้ในจำนวนมากและต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนในการเปลี่ยนเป็นรถเมล์ไฟฟ้าคุ้มค่ากว่าการใช้รถเมล์ดีเซล และยังเป็นวิธีการกระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิตให้เกิดการแข่งขันจนราคาลดลง จนจีนสามารถตั้งเป้าลดเงินอุดหนุนในระยะยาวได้

นอกจากนี้ การเปลี่ยนมาใช้รถเมล์ไฟฟ้าของเซินเจิ้นยังเกิดขึ้นจากการวางแผนอย่างเป็นระบบและมีลำดับขั้นตอนชัดเจน โดยใช้เวลา 2-3 ปีแรกไปกับการวิจัยและทดลองเพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการขยายจำนวนรถเมล์ไฟฟ้า ทั้งแบตเตอรี่และส่วนประกอบที่เกี่ยวกับการชาร์จไฟ ในระยะที่สองคือการทำโครงการนำร่องขนาดเล็กด้วยรถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 545 คัน และช่วง 2 ปีสุดท้ายคือการเปลี่ยนผ่านสู่รถเมล์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ (large electrification)

การมีนโยบายที่ชัดเจน พร้อมกับลงมือทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอด 9 ปี เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปรถเมล์ของเซินเจิ้นเกิดผลลัพธ์รูปธรรม สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 72.9% เมื่อเทียบกับการใช้รถเมล์ดีเซล ปล่อยคาร์บอนลดลง 48% หรือ 1.353 ล้านตันต่อปี ตลอดจนลดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ได้

อย่างไรก็ดี ประเด็นหนึ่งที่ต้องหมายเหตุไว้คือ เมืองเซินเจิ้นเป็นกรณีศึกษาของเมืองใหญ่ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง มีโครงสร้างพื้นฐานหลายส่วนที่พร้อมกับการเปลี่ยนรถเมล์ดีเซลให้เป็นรถเมล์ไฟฟ้า โดยไม่ต้องรื้อใหญ่หรือสร้างใหม่ทั้งหมด ทั้งถนนหนทางที่มีคุณภาพ ระบบโครงข่ายไฟฟ้า ตลอดจนศักยภาพในการผลิตแบตเตอรี่ ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และรีไซเคิลแบตเตอรี่ได้อย่างครบวงจร ซึ่งในกรณีประเทศไทยอาจต้องวางแผนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเดินรถเมล์ไฟฟ้าที่ละเอียดมากขึ้น

ปรับอาคารให้ประหยัดพลังงาน เริ่มที่อาคารภาครัฐ

อีกภาคส่วนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมากคือ ‘อาคาร’ ในปี 2022 ปริมาณคาร์บอนที่มาจากการใช้งานอาคารคิดเป็น 40% ของปริมาณคาร์บอนทั่วโลก ในสัดส่วนนี้รวมทั้งการใช้พลังงานในอาคาร เช่น น้ำ ไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ คิดเป็น 27% มาจากกระบวนการผลิตวัสดุผลิตภัณฑ์การก่อสร้างและกระบวนการก่อสร้างอาคารอีก 13%[16]

ส่วนสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนจากอาคารในประเทศไทยไม่ได้มีการระบุข้อมูลของภาคส่วนนี้โดยเฉพาะ แต่จะปะปนอยู่ในสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนจากภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรมอย่างอุตสาหกรรมเหล็กและปูนซีเมนต์ ซึ่งปล่อยคาร์บอนออกมาค่อนข้างมากในกระบวนการผลิต (การผลิตปูนซีเมนต์สร้างคาร์บอนประมาณ 8,000 gCO2 ต่อตันปูนเม็ด)

ในระดับโลก เทรนด์การก่อสร้างแบบรักษ์โลกหรือการทำอาคารสีเขียว (green building) เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างแพร่หลายและได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วนในสังคม มีการพัฒนามาตรฐานเพื่อประเมิน ‘ความเขียว’ ของอาคาร เช่น มาตรฐานแบบประเมินอาคาร LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ที่พัฒนาโดยสภาอาคารเขียวของสหรัฐอเมริกา (US Green Building Council) ซึ่งพิจารณาการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การเลือกสถานที่ตั้งอาคาร การใช้น้ำ พลังงาน การเลือกวัสดุ นวัตกรรมการออกแบบ จนถึงสภาพแวดล้อมในอาคาร

Zero Energy Building (ZEB) ในประเทศสิงคโปร์ ออกแบบให้กรอบอาคารสามารถป้องกันความร้อนจากภายนอก และสร้างระบบการใช้พลังงานทดแทนภายในอาคารด้วยตัวเอง (ที่มาภาพ: Zao Bao)

สำหรับประเทศไทย เราเห็นความตื่นตัวของภาคธุรกิจที่เข้ามาจับกระแสอาคารสีเขียว มีหลายองค์กรที่ลงทุนสร้างหรือปรับอาคารขององค์กรให้เข้าคุณสมบัติอาคารสีเขียวตามมาตรฐาน LEED เช่น อาคารสำนักงานของบริษัท SCG และอาคาร Park Venture ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED เป็นที่เรียบร้อย

อาคาร SCG 100 ปี ใช้วัสดุการก่อสร้างที่ลดการปล่อยคาร์บอน และมีการออกแบบระบบการใช้น้ำ โดยนำน้ำฝนและน้ำเสียมาบำบัดใช้ชำระล้างสุขภัณฑ์และรดน้ำต้นไม้ (ที่มาภาพ: Green Network Thailand)

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่เคยมีนโยบายอาคารสีเขียวอย่างจริงจัง เรามักเห็นภาครัฐพูดถึงคำใหญ่ๆ อย่างเมืองอัจฉริยะ (smart city) เมืองสีเขียว หรือเมืองแห่งความยั่งยืน แต่ยังไม่ค่อยปรากฏแนวทางที่เป็นรูปธรรมมากนัก ส่วนการลงทุนในอาคารสีเขียวกลับมีภาคเอกชนเป็นตัวนำ ซึ่งก็ทำให้อาคารสีเขียวในประเทศไทยมีอยู่อย่างจำกัด

ในหลายประเทศ การลงทุนสร้างอาคารสีเขียวมาจากการผลักดันของรัฐบาล ในฐานะส่วนหนึ่งของนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรับมือกับวิกฤตโลกรวน โดยเริ่มลงทุนรื้อ-ปรับ-สร้างอาคารของภาครัฐให้เป็นอาคารสีเขียวก่อน เพื่อสร้างมาตรฐานและจูงใจให้ภาคเอกชนและภาคครัวเรือนเห็นความสำคัญของการปรับปรุงอาคารให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างหนึ่งคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทุ่มเงินลงทุนจำนวนมหาศาลกับการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่การขึ้นมาของประธานาธิบดีไบเดน โดยเน้นสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และรับมือโลกรวน นโยบายหนึ่งที่เป็นหมุดหมายสำคัญใน Infrastructure Investment and Jobs Act คือ การลงทุนสร้างและปรับปรุงอาคารให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 213 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมทั้งงบปรับปรุงอาคารของภาครัฐ เอกชน และครัวเรือนไว้ด้วย

สหรัฐอเมริกามุ่งเป้านโยบายอาคารสีเขียวไปที่หน่วยงานราชการเป็นอันดับแรก ส่วนหนึ่งเพราะอาคารของภาครัฐจำนวนกว่า 3 แสนแห่งทั่วประเทศ มีส่วนรับผิดชอบในปริมาณก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างมาก คือปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 25% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่มาจากกิจกรรมของภาครัฐ[17] ส่วนใหญ่มาจากการใช้พลังงานภายในอาคาร ทั้งการใช้ไฟ น้ำ และเครื่องทำความร้อนต่างๆ อีกส่วนหนึ่งคือเป็นการสร้างตัวอย่างที่ดีในการลดการใช้พลังงานในอาคารต่างๆ โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาคารลง 50% ภายในปี 2032 และบรรลุเป้า net zero ภายในปี 2045

มาตรการสำคัญในนโยบายนี้คือ การจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อปรับปรุงอาคารสำนักงานให้ประหยัดพลังงานขึ้น โดยเน้นที่การเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ในอาคารให้เป็นระบบไฟฟ้า เพื่อลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้มากที่สุด นอกจากงบสนับสนุนโดยตรงยังมีการจัดตั้งโครงการ Climate Smart Buildings Initiative เป็นกองทุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดสรรงบปรับปรุงอาคารเพิ่มเติมให้กับหน่วยงานที่ลดการใช้พลังงานได้ตามมาตรฐาน

สำหรับหน่วยงานที่ปรับปรุงอาคารใหม่แล้ว รัฐบาลยังวางแผนที่จะบังคับใช้ Federal Building Performance Standard เป็นมาตรฐานในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลงานของหน่วยงานราชการทุกหน่วยว่าสามารถลดการใช้พลังงานได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ในเบื้องต้นมีการประเมินผลลัพธ์จากโครงการนำร่องของสำนักบริหารงานบริการทั่วไป (GSA) ที่เริ่มต้นในปี 2022 ใช้งบประมาณปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารไป 117 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุม 12 อาคารสำนักงานในรัฐจอร์เจีย คาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ลดการปล่อยคาร์บอน 18,600 ตันต่อปี และสามารถสร้างงานในพื้นที่ได้ 500 ตำแหน่ง[18]

รัฐบาลใหม่ต้องรื้อเรื่องใหญ่ กล้าลงทุนกับเรื่องสิ่งแวดล้อม

โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลสมัยหน้าคือ จะทำอย่างไรให้นโยบายรับมือโลกรวนของไทยมีความชัดเจนและพุ่งเป้าไปที่ต้นตอปัญหา มากกว่าเพียงตั้งเป้าหมายอย่างเลื่อนลอยโดยไม่มีแผนงานเป็นรูปธรรมและขาดการรับฟังจากประชาชนอย่างที่เป็นในทุกวันนี้

ที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้การแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมส่งผลลัพธ์เชิงบวกต่อการพัฒนาประเทศในมิติอื่นๆ ไปด้วย เป็นนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ผสานการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสการสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ ส่งเสริมการจ้างงานในอุตสาหกรรมสีเขียว และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ในขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยการความเป็นธรรมทางสังคม โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลกรวน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย เปราะบาง และมีอำนาจต่อรองในสังคมน้อยกว่า

คำตอบเบื้องต้นของโจทย์นี้ อาจเป็นการเริ่มรื้อ-เลิกทำนโยบายบางอย่างที่ไม่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม กล้าลงทุนเพิ่มและวางแผนระยะยาวในเรื่องใหญ่ๆ อย่างน้อย 3 เรื่องข้างต้นคือ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน การสร้างขนส่งสาธารณะคาร์บอนต่ำ และการปรับอาคารให้ประหยัดพลังงาน เพื่อส่งสัญญาณว่าประเทศไทยจะลงมือแก้ปัญหาโลกรวนอย่างจริงจัง

References
1 CBAM เป็นการเก็บภาษีนำเข้า เพื่อให้สินค้าที่ผลิตในสหภาพยุโรปไม่เสียเปรียบเรื่องการปรับตัว
2 ดูเพิ่ม เจณิตตา จันทวงษา, “ไทยต้องสูญเสียอะไรบ้าง หากการแก้ปัญหาโลกรวนยังไม่ถึงไหน?.”
3 ดูเพิ่ม กษิดิ์เดช คำพุช, “ส่องงบลงทุน 434,400 ล้านบาท ปี 2566: ลงทุนอะไรบ้าง? ตอบโจทย์ความท้าทายของไทยหรือไม่?.”
4 Climate Watch, the World Resources Institute, 2020
5 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน, การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แยกรายชนิดเชื้อเพลิงและรายสาขาเศรษฐกิจ, 2021
6 J. Hassler, “Germany’s Energy Transition: A Lesson Learned for Just Energy Transition,” Friedrich Ebert Stiftung Thailand
7 Josefine Fokuhl, “Germany Approves $180 Billion Funding to Accelerate Energy Shift,” Bloomberg, 27 July 2022.
8 Center for Public Impact, “Renewable energy in Germany: Energiewende,” 1 April 2016.
9 “Germany’s energy transition at a crossroads,” McKinsey & Company, 21 November 2019.
10 ดูเพิ่ม ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา, “ค่าไฟแพง: ความไม่เป็นธรรม และปัญหาพลังงานที่ผู้บริโภคไทยต้องแบกรับ.”
11 European Investment Bank, 2020
12 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน, การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แยกรายชนิดเชื้อเพลิงและรายสาขาเศรษฐกิจ, 2021
13 UK Department for Business, Energy & Industrial Strategy, 2021
14 เป็นอายุการใช้งานของรถโดยสารขนาดใหญ่ที่จีนกำหนด ส่วนใหญ่ประเทศอื่นจะกำหนดอายุไว้ที่ 10-15 ปี
15 อีกปัจจัยหนึ่งคือ การที่บริษัท SZBG จัดซื้อรถเมล์โดยเลือกใช้วิธีเช่าแบบลีซซิ่ง (financial lease) ทำให้ลดความเสี่ยงทางการเงินไปได้พอสมควร
16 IEA, 2022
17 The White House, FACT SHEET: Biden-⁠Harris Administration Announces First-Ever Federal Building Performance Standard, Catalyzes American Innovation to Lower Energy Costs, Save Taxpayer Dollars, and Cut Emissions, 7 December 2022.
18 The White House, FACT SHEET: White House Takes Action on Climate by Accelerating Energy Efficiency Projects Across Federal Government, 3 August 2022.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save