fbpx

ไทยต้องสูญเสียอะไรบ้าง หากการแก้ปัญหาโลกรวนยังไปไม่ถึงไหน?

ในหลายประเทศ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมหรือนโยบายรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้นทุกที และเปิดประเด็นให้พรรคการเมืองต่างๆ นำเสนอนโยบายและถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในหลายสนามเลือกตั้ง

ล่าสุดการผ่านกฎหมาย Inflation Reduction Act ของสหรัฐอเมริกาเพื่อลงทุนกับพลังงานสะอาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็นับเป็นการส่งสัญญาณว่า นโยบายสิ่งแวดล้อมและการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ คือวาระเร่งด่วนของโลกอย่างแท้จริง

เมื่อกลับมามองที่ประเทศไทย ประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังถือว่าค่อนข้างจืดจางและไม่ถูกชูให้เป็นนโยบายหลักในการหาเสียงของพรรคการเมืองเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประเทศนี้ยังมีปัญหาพื้นฐานมากมายที่ยังไม่ถูกแก้ไข เรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งถูกมองว่าเป็นประเด็นไกลตัว จึงถูกจัดวางความสำคัญไว้หลังการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ ‘ภาวะโลกรวน’ ส่งผลกระทบชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย อากาศที่ร้อนระอุขึ้นทุกปี ภาวะน้ำท่วมน้ำแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำซากดูจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และสภาพอากาศที่แปรปรวนผิดฤดู ทั้งหมดส่งผลเป็นห่วงโซ่ต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตของผู้คน

แท้จริงแล้ว ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังกระทบกับปากท้องและความมั่นคงในชีวิตของเราโดยตรง

ในบทความนี้ 101 PUB ชวนผู้อ่านสำรวจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ความสูญเสียจากผลกระทบเหล่านั้นต่อเศรษฐกิจและสังคม และประเมินแผนและนโยบายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยในปัจจุบัน โดยเราเห็นว่านโยบายที่มียังขาดแนวทางรูปธรรมที่ชัดเจน ไม่เพียงพอต่อความเร่งด่วนของปัญหา และที่สำคัญคือละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชน

ร้อนยาว หนาวสั้น ฝนหนัก: แนวโน้มสภาพอากาศของไทยในสภาวะโลกรวน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เกิดจากการที่ก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมากเกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติจะดูดซับได้ทั้งหมด หมุดหมายสำคัญคือยุคอุตสาหกรรม ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ก๊าซเรือนกระจกสำคัญๆ ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก๊าซเหล่านี้ดูดซับและสะท้อนความร้อนสู่พื้นผิวโลก ทำให้อุณหภูมิร้อนกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า ‘ปรากฏการณ์เรือนกระจก’

กิจกรรมของมนุษย์ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว จากเคยคงระดับที่ 280 ppm (parts per million) เป็นเวลายาวนานหลายล้านปี ก็ทะลุเป็นระดับ 410 ppm ในปี 2019 ก่อนจะทุบสถิติใหม่ของมนุษยชาติในปี 2022 ด้วยระดับความเข้มข้นที่ 421 ppm หรือสูงกว่าระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 50%[1] ส่งผลให้ปรากฏการณ์เรือนกระจกทวีความรุนแรง โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนเกิดภาวะโลกร้อนและกระตุ้นให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนจากเดิม ไม่เพียงแค่อากาศร้อนผิดปกติ แต่ยังเกิดปรากฏการณ์และภัยพิบัติต่างๆ ในหลายพื้นที่บนโลกที่ทั้งผันผวน รุนแรง และคาดเดาได้ยาก

ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา
(ที่มา: NOAA)

แน่นอนว่าประเทศไทยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยร้อนขึ้นอย่างชัดเจน โดยอุณหภูมิสูงสุด อุณหภูมิเฉลี่ย และอุณหภูมิต่ำสุดรายปีของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 0.96 0.92 และ 1.04 ตามลำดับ[2] และอุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกราว 2 องศาในปี 2050 หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยยังมีปริมาณมากเท่าในปัจจุบันและไม่มีนโยบายรับมือที่ดีพอ[3]

นอกจากนี้ ปริมาณฝนของประเทศไทยก็มีความแปรปรวนมากขึ้นทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา โดยปริมาณฝนสะสมรายปีเพิ่มขึ้นในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย แต่ลดลงในภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งอันดามัน หากพิจารณาช่วงเวลาที่ฝนตกพบว่า ปริมาณฝนสะสมรายเดือนช่วงพฤศจิกายนถึงเมษายนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอัตรา 10.8 มิลลิเมตรต่อทศวรรษ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของมรสุมฤดูหนาวเอเชียในเวลาเดียวกัน ทำให้ไทยมีแนวโน้มเผชิญกับเหตุการณ์ฝนตกหนักถี่ขึ้นและบางพื้นที่ก็มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมฉับพลันมากขึ้นอีกด้วย[4]

เพื่อคาดการณ์ระดับอุณหภูมิในอนาคต คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel of Climate Change: IPCC) ได้สร้างแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนำเสนอสมมติฐานหลากหลายรูปแบบใน ‘4 ฉากทัศน์’ แต่ละฉากทัศน์มีเส้นตัวแทนความเข้มข้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ RCP (Representative Concentration Pathways) ที่สะท้อนระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวโน้มอุณหภูมิ และความพยายามดำเนินนโยบายเพื่อรับมือวิกฤตของประชาคมโลก ตั้งแต่ปี 2000 จนถึง 2100[5] ดังนี้

  • ในฉากทัศน์ที่ถือว่าเป็นอุดมคติที่สุด (RCP2.6) ทุกประเทศร่วมมือผลักดันนโยบายภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) คาดการณ์ได้ว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิจะลดลงเหลือศูนย์ในปี 2080 และอุณหภูมิของประเทศไทยในปี 2100 จะสามารถควบคุมให้ไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.07 องศาเซลเซียสได้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากที่สุด
  • ในฉากทัศน์ระดับกลาง (RCP4.5) การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จะถึงจุดพีคในปี 2050 อุณหภูมิประเทศไทยสูงขึ้น 2.05 องศาเซลเซียสในปี 2100
  • ในฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด (RCP8.5) เมื่อโลกไม่สามารถสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงปี 2050 จนความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 950 ppm ในปี 2100 พร้อมกับอุณหภูมิประเทศไทยที่ทะยานขึ้น 4.29 องศาเซลเซียส

ตัวเลขอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อความเป็นไปของสภาพแวดล้อม กล่าวคือ หากวันนี้โลกยังคงเดินตามเส้นทางฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็จะยิ่งรุนแรงและตั้งรับได้ยากขึ้น โดยประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะประสบกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather events) ที่ถี่และหนักขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำฝนแปรปรวนหนัก ความแห้งแล้งยาวนาน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และภัยธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

ไทยเปราะบางต่อโลกรวน สูญเสียทั้งชีวิตคนและเศรษฐกิจ

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอีกเกือบ 100 ปี อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวที่ยังไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมจนกลายเป็นวาระหลักของสังคมได้มากนัก แต่ในความเป็นจริงความเสียหายจากวิกฤตดังกล่าวได้ปรากฏให้เห็นแล้วตั้งแต่วันนี้และจะลุกลามขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเป็นประเทศที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกตลอด 20 ปีที่ผ่านมา[6] การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะกระทบหนักขึ้นในอนาคต

งานศึกษาโดย Swiss Re Insititute ประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อ GDP ของ 48 ประเทศซึ่งครอบคลุม 90% ของ GDP โลก พบว่า ไทยเป็นประเทศอันดับ 5 ที่ GDP จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

เมื่อพิจารณาควบคู่กับกรณีฉากทัศน์การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกพบว่า ยิ่งโลกร้อนขึ้นเท่าไร ไทยก็ยิ่งมีโอกาสสูญเสีย GDP มากขึ้น ในกรณีดีที่สุดคืออุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส GDP ของไทยมีแนวโน้มลดลง 4.9% ขณะที่ในกรณีเลวร้ายที่สุด ซึ่งอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 3.2 องศาเซลเซียส GDP ของไทยอาจลดลงมากถึง 43.6% ตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทยข้างต้นนี้ยังถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก กลุ่มประเทศ OECD และอาเซียนอีกด้วย

นอกจากนี้ ในแง่ภัยพิบัติธรรมชาติ ประเทศไทยยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงปานกลางถึงสูง ถือเป็นอันดับที่ 75 จาก 191 ประเทศ ตามดัชนีความเสี่ยงของ INFORM Risk Index ปี 2022 โดยอุทกภัยหรือน้ำท่วมถือเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสี่ยงสูงสุดของไทย (อันดับ 9 ของโลก) ทั้งการเกิดน้ำหลากจากแม่น้ำ น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมจากชายฝั่ง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึงปีละ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 9 หมื่นล้านบาท[7] นอกจากความเสียหายทางเศรษฐกิจ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติ จากเดิมในช่วง 34 ปีมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 886,335 คน (ปี 1971-2004) ในอนาคต คนที่รับผลกระทบจากน้ำท่วมอาจเพิ่มขึ้นเป็น 3,177,190 คน ในระยะเวลาสั้นเพียง 10 ปีเท่านั้น (ปี 2035-2044)[8]

วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องเดียวกันกับปัญหาปากท้องและความมั่นคงในชีวิต

หากมองลึกลงไปในตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เป็นผลจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้ที่รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นประชาชน คนตัวเล็กตัวน้อยที่มีทรัพยากรเพื่อรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศน้อยกว่า แม้ไม่ได้เป็นผู้ก่อมลพิษ แต่พวกเขากลับมีความเสี่ยงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่กว่า มีโอกาสเผชิญภัยพิบัติและมลพิษมากกว่า กระทบกับการประกอบอาชีพ และความมั่นคงด้านต่างๆ ของชีวิต ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศจึงเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับปัญหาปากท้องและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

เกษตรกรเป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง เดิมทีเกษตรกรส่วนใหญ่มีสถานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าแรงงานในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ อยู่แล้ว อีกทั้งยังมีหนี้สิ้นครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในขณะที่รายได้ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก หากต้องต่อสู้กับสภาพอากาศที่แปรปรวน ภัยแล้งและน้ำท่วมที่รุนแรงขึ้นโดยขาดแนวทางการปรับตัวก็จะยิ่งทำให้เกษตรกรไทยสูญเสียรายได้มากขึ้น

งานศึกษาของ Attavanich (2017) คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจก่อให้เกิดความเสียหายสะสมในภาคเกษตรไทยตั้งแต่ปี 2011-2045 สูงถึง 0.61-2.85 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 17,912-83,826 ล้านบาทต่อปี ยิ่งโลกร้อนขึ้น มูลค่าความสูญเสียก็ยิ่งบานปลาย โดยพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศอย่างข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพาราจะได้รับผลกระทบโดยตรง ผลผลิตปรับตัวลดลงและอาจส่งผลสืบเนื่องถึงผู้ผลิตในอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเหล่านี้เป็นวัตถุดิบ[9]

คนอีกกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดคือ คนที่อาศัยในชุมชนเมืองซึ่งพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนเกิดความหนาแน่นแออัดทั้งในเชิงพื้นที่และประชากร พร้อมกับระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายไปด้วย เมื่อวิกฤตโลกร้อนรุนแรงขึ้น ชุมชนเหล่านี้จึงรับผลกระทบสองเด้ง คือผลจากการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปกติอุณหภูมิในเขตชุมชนเมืองจะสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ 0.1-3 องศาเซลเซียส แต่เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ความต้องการใช้พลังงานก็จะเพิ่มขึ้นราว 0.5-8.4% ไปด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากขึ้นและซ้ำเติมให้ปัญหาสภาพอากาศย่ำแย่ลง[10]

ชุมชนเมืองจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยยังเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยตามธรรมชาติ และต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเมื่อสภาพอากาศรุนแรงขึ้น เช่น ชุมชนบ่อยาง จังหวัดสงขลา ชุมชนในพื้นที่ราบชายฝั่งทะเลที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คลื่นลมแปรปรวน และน้ำท่วมขังในฤดูมรสุม กระทบกับการทำประมงซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่[11] ในขณะที่ชุมชนมิตรภาพ จังหวัดขอนแก่น อันเป็นชุมชนคนจนเมืองริมทางรถไฟ ต้องประสบภัยน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ใกล้ลำคลองระบายน้ำ เมื่อน้ำระบายไม่ทันก็ล้นเข้าท่วมบ้านเรือน จนดูเหมือนว่าชุมชนแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำเพื่อปกป้องแหล่งเศรษฐกิจใจกลางเมืองขอนแก่นที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง[12]

ชุมชนมิตรภาพ จังหวัดขอนแก่น บริเวณลำคลองระบายน้ำติดกับชุมชน
(ที่มา: เดอะอีสานเรคคอร์ด)

ผลกระทบในระดับใกล้ตัวที่สุดคือ สุขภาวะและความเป็นอยู่ของคนในสังคมที่จะยิ่งเปราะบางจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป โรคระบาดที่สัมพันธ์กับการบริโภคอาหารและน้ำดื่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยภัยธรรมชาติและอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยร่วมผลักดัน เช่น การปนเปื้อนของเชื้อโรคในแหล่งน้ำ การเกิดโรคอุบัติใหม่ และการเพิ่มจำนวนที่ง่ายขึ้นของพาหะนำโรค[13] อากาศที่ร้อนระอุขึ้นจนผิดปกติยังทำให้เกิดภาวะเครียดจากความร้อน (Heat Stress) โดยเฉพาะกับแรงงานที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ทำให้เกิดอาการวิตกกังวล ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และหากเกิดอาการสะสมยาวนานก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้[14] สถาบันวิจัย Verisk Maplecroft ประเมินว่า ในปี 2045 แรงงานไทยต้องทำงานในวันที่มีภาวะเครียดจากความร้อน (Heat Stress Days) มากถึงปีละ 289 วัน[15] ซึ่งหมายความว่าคุณภาพชีวิตและศักยภาพในการทำงานของแรงงานไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงอย่างสาหัส

แผนรับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อมไทยไม่ชัดเจน ไม่ทันการ ไม่เห็นหัวประชาชน

ข้อมูลในส่วนข้างต้นกำลังบอกเราว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถยับยั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ แม้รัฐบาลหลายสมัยจะแสดงออกถึงความตระหนักในการรับมือวิกฤตนี้ผ่านการแสดงเจตจำนงในเวทีต่างๆ การเข้าเป็นรัฐภาคีในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เมื่อปี 1994 และภาคีความตกลงปารีส เมื่อปี 2016 ตลอดจนเริ่มมีการพัฒนานโยบายและแผนระดับชาติให้สอดคล้องกับข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลไทยก็ยังไม่มีความจริงจังและเป็นรูปธรรมมากพอ กระบวนการเป็นไปอย่างล่าช้า ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และนโยบายจำนวนไม่น้อยยังละเมิดสิทธิและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนแทน

แผนไทยไม่ชัดเจนและไม่เพียงพอต่อความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ประเทศไทยเริ่มวางแผนรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศโดยนำความตกลงตามกรอบ UNFCCC มาบูรณาการในยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยังเป็นหัวเรือหลักในการจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี 2015-2050 เพื่อใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดูเหมือนว่าไทยจะเตรียมแผนแม่บทและยุทธศาสตร์ระดับโครงสร้างจำนวนมากไว้พร้อมรับมือปัญหาโลกรวน แต่หากพิจารณาในรายละเอียด แผนส่วนใหญ่ยังคงพูดถึงแนวคิดและหลักการในภาพกว้าง โดยเฉพาะประเด็นลดก๊าซเรือนกระจกที่ยังไม่มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างชัดเจนของหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ แม้ล่าสุดจะมีการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำประเทศไทย (Long-term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS) แต่ก็ยังคงเน้นที่การวางเป้าหมายภาพใหญ่ ขาดมาตรการและนโยบายที่ชัดเจนมากพอที่จะขับเคลื่อนให้แต่ละภาคส่วนลงมือทำจริงได้

ส่วนแผนลดคาร์บอนในภาคพลังงาน ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีสัดส่วนมากที่สุดของประเทศกว่า 70% ก็ยังไม่มีนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นและสอดคล้องกับความเร่งด่วนของปัญหามากพอ โดยโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE) ได้ประเมินว่า การดำเนินนโยบายปัจจุบันของภาคพลังงานไทย (เส้นสีฟ้าในภาพที่ x) ยังห่างไกลจากการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ตั้งเป้าไว้ใน 2050 อย่างมาก[16] ทั้งยังคงสนับสนุนการลงทุนในฟอสซิล เพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหิน และยังใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนไม่ถึง 30%

ที่มาภาพ: CASE for Southeast Asia

นอกจากนี้ หากดูในเนื้อหาของแผนทั้งหมดพบว่า นโยบายส่วนใหญ่ของไทยเน้นไปที่การลดผลกระทบ (Mitigation) เป็นหลัก ส่วนที่เป็นนโยบายด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างให้พร้อมรับมือกับภัยพิบัติยังเป็นส่วนน้อยกว่ามาก หากพิจารณาจากความเปราะบางสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่อเนื่องเกือบทุกปี ก็ควรให้น้ำหนักกับการวางแผนด้านการปรับตัวที่มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ เพื่อเตรียมรับมือกับน้ำท่วม การพัฒนาระบบพยากรณ์และเตือนภัยล่วงหน้า และการใช้กลไกกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and damage fund) เพื่อเยียวยาเกษตรกรและประชาชนที่มีทรัพยากรจำกัดในการปรับตัวต่อวิกฤตโลกรวน มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้การรับมือกับปัญหาโลกรวนถือเป็นความช่วยเหลือประชาชนทั้งในระยะสั้นและยาว ไม่ใช่การเพิ่มภาระหน้าที่ใหม่ซ้ำเติมปัญหาพื้นฐานนานัปการที่ยังรอวันแก้ไข

ท่ามกลางแผนและนโยบายเหล่านี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ รัฐบาลไทยดูจะให้ความสำคัญกับการผลักดัน ‘โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว)’ เพื่อสร้างการยอมรับในระดับระหว่างประเทศค่อนข้างมาก ซึ่งแนวคิดของโมเดลนี้ก็ถือว่าสอดคล้องกับเทรนด์นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่พยายามทำให้ประเด็นเศรษฐกิจเป็นเรื่องเดียวกันกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็เช่นเดียวกับแผนจำนวนมากของไทยโมเดล BCG ยังถือว่าเป็นแนวคิดกว้างๆ ไม่มีนโยบายที่จับต้องได้มากพอจะนำไปปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ดังที่รัฐบาลมักกล่าวอ้าง อีกทั้งยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน กลายเป็นศูนย์รวมของกลุ่มทุนใหญ่ที่ได้นั่งเก้าอี้คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ BCG

ความไม่ชัดเจนของนโยบายเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยยังไม่เริ่มติดกระดุมเม็ดแรกเสียด้วยซ้ำ จนถึงปัจจุบันเรายังไม่สามารถผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ หรือ พ.ร.บ. โลกร้อน [17] ได้สำเร็จ หลังจากใช้เวลาร่างและรับฟังความเห็นมาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ภาคเอกชนต้องเปิดเผยและจัดส่งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กำหนดกลไกติดตามการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งจากแหล่งกำเนิดและการกักเก็บ กำหนดมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่จะช่วยสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก และกำหนดแผนการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศและแนวทางดำเนินงานของหน่วยงานรัฐและเอกชน หากบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็น่าจะช่วยให้การขับเคลื่อนนโยบายของไทยเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

อำนวยความสะดวกกลุ่มทุน เปิดทางให้นโยบายฟอกเขียว

ที่ผ่านมา นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของไทยมักมุ่งเป้าที่ประชาชนและผู้บริโภค พร้อมกับสื่อสารในทำนองว่า “ลดโลกร้อนเริ่มต้นที่ตัวเรา” แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ แต่กับผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ที่นับว่าเป็นต้นตอของปัญหาโดยตรง รัฐกลับมีท่าทีประนีประนอมและไม่เอาจริงเอาจังกับหลักความรับผิดชอบของผู้ก่อมลพิษ ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle) มากนัก เห็นได้จากการที่ปัจจุบันยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการภาษีสิ่งแวดล้อมกับผู้ผลิตที่ก่อมลพิษเกินที่กำหนด ทั้งที่มีการศึกษาและยื่นข้อเสนอกันมาอย่างยาวนาน รวมถึงขาดการกำหนดความรับผิดชอบ มาตรการเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูระบบนิเวศ ในกรณีที่ผู้ก่อมลพิษสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้[18] และกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลมาบตาพุด ที่กระทั่งปัจจุบันประชาชนที่ได้รับความเสียหายก็ยังไม่ได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสม

กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลมาบตาพุด จังหวัดระยอง

กฎหมายและนโยบายจำนวนไม่น้อยยังเป็นไปเพื่อส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน แต่กลับทิ้งความเดือดร้อนไว้กับประชาชนและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการออกคำสั่งยกเลิกการทำแบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโรงไฟฟ้าขยะ และกำแพงกั้นคลื่นบริเวณชายหาด ตลอดจนการยกเว้นกฎหมายผังเมืองเพื่อเปิดทางให้กับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้งในภาคตะวันออก (EEC) และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งกลายเป็นเหมือนใบอนุญาตให้เกิดการแย่งยึดที่ดินประชาชนและทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างกว้างขวาง

มากไปกว่านั้น อีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่ภาครัฐเร่งประชาสัมพันธ์อย่างโครงการตลาดคาร์บอนหรือคาร์บอนเครดิตก็กำลังเปิดช่องให้กลุ่มทุนสามารถดำเนินนโยบาย ‘ฟอกเขียว’ คือชดเชยการปล่อยคาร์บอน (carbon offset) จำนวนมหาศาลของตนด้วยการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอน โดยที่พื้นที่ป่าเหล่านั้นมีชุมชนจำนวนไม่น้อยใช้อาศัยและทำกินมาก่อน ล่าสุดรัฐบาลได้ออก มติ ครม. เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2022 อนุญาตให้ภาคเอกชนเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อปลูกสร้างสวนป่าภาคเอกชน ซึ่งเป็นการให้ไฟเขียวเอกชนอย่างเต็มที่ในการบริหารจัดการป่า ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากยังต้องต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิถือครองที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าเดียวกัน บางรายถูกดำเนินคดีและถูกไล่ออกจากป่า สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรที่กลับถูกซ้ำเติมด้วยนโยบายสิ่งแวดล้อม

ไม่มีประชาชนในสมการ

ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกกำลังมุ่งไปนั้นไม่สามารถมองเพียงแค่ประเด็นสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสภาพอากาศได้ แต่ต้องควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ส่งเสริมประชาธิปไตยสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มในกระบวนการแก้ปัญหา แต่ประชาชนคนไทยยังไม่อยู่ในสมการของการแก้ปัญหาเรื่องนี้มากพอและหลายครั้งก็ถูกรัฐละเมิดสิทธิอีกด้วย

ภาพที่ปรากฏบ่อยครั้งในหน้าสื่อคือ กลุ่มชาวบ้านและชุมชนรวมตัวคัดค้านการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและวิถีของคนในพื้นที่ ปัญหาสำคัญคือโครงการเหล่านี้มักไม่มีการชี้แจงผลกระทบและรับฟังความต้องการของคนในพื้นที่อย่างจริงจัง อีกทั้งประชาชนก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลโครงการ หรือมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง เช่น โครงการสร้างสถานีสูบน้ำและอุโมงค์ผันน้ำบริเวณแม่น้ำยวม เงา เมย และสาละวิน ซึ่งขาดความโปร่งใสในการจัดทำ EIA และไม่เคยเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านที่ต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินให้โครงการได้มีส่วนร่วมแสดงความเห็น อีกโครงการหนึ่งคือการก่อสร้างเหมืองถ่านหินอมก๋อย ที่ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากรัฐ และต้องต่อสู้รวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นยุติการก่อสร้างโครงการด้วยตนเองทั้งหมด

ชาวบ้านชุมชนกะเบอะดินรวมตัวคัดค้านโครงการเหมืองอมก๋อย
(ที่มา: ประชาไท)

จุดร่วมสำคัญของสองโครงการข้างต้นและอีกหลายโครงการของรัฐที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคือ ผู้รับผลกระทบมักเป็นชนเผ่าพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกผลักให้เป็นคนชายขอบของสังคม ไร้สิทธิไร้เสียงที่จะบอกความต้องการและร่วมตัดสินใจในการดำเนินนโยบายที่จะส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขาโดยตรง

สำหรับพวกเขา การเข้าถึงความยุติธรรมยิ่งเป็นไปได้ยากและต้องสูญเสียทรัพยากรและเวลาไปไม่น้อยตลอดการต่อสู้ ที่แย่ยิ่งกว่าคือชาวบ้านที่ออกมาปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนไม่น้อยถูกรัฐดำเนินคดีปิดปาก (SLAPP) และถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ เช่น กรณี ‘สุเมธ เหรียญพงศ์นาม’ แกนนำชุมชนกรอกสมบูรณ์ จังหวัดปราจีนบุรีที่ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาทจากการยื่นร้องเรียนโรงงานกำจัดของเสีย และกรณี ‘เอกชัย อิสระทะ’ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เคยถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวและข่มขู่ให้เลิกเคลื่อนไหวกรณีโครงการเหมืองแร่หิน จังหวัดพัทลุง[19]

การดำเนินนโยบายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่สามารถละเลยมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมออกไปได้ หากการแก้ปัญหาของภาครัฐยังคงมุ่งมองเพียงมิติเชิงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ขาดการคำนึงถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนที่ได้รับผลกระทบ และรับฟังเสียงจากคนทุกกลุ่มมากพอ การแก้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนสำหรับประเทศไทยก็คงยังเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการ

References
1 “Carbon dioxide now more than 50% higher than pre-industrial levels,” NOAA, 3 June 2022
2 สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย, รายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2, 2016.
3 World Bank Group, “Climate Projections: Thailand,” Climate Change Knowledge Portal.
4 รายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2
5 IPCC, 2022: Climate Change 2022: Impacts, Adaptation, and Vulnerability, Contribution of Working Group II to the Sixth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change; “Mapped: How every part of the world has warmed – and could continue to, Berkeley Dataset,” Carbon Brief, 26 September 2018.
6 German Watch, Global Climate Risk Index 2021.
7 UNISDR, “Thailand,” PreventionWeb: Basic country statistics and indicators, 2014.
8 The World Bank Group and the Asian Development Bank, Climate Risk Country Profile: Thailand, 2021.
9 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของไทย,” 30 กันยายน 2021.
10 รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์, ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในวิกฤติภูมิอากาศ?, ป่าสาละ, 1 ตุลาคม 2021.
11 รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาและประเมินความเปราะบางของชุมชนเมืองบ่อยางสงขลาต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
12 วันนิษา แสนอินทร์, “ฤา “ชุมชนมิตรภาพ” กลายเป็นพื้นที่รับน้ำรอการระบายของคนเมืองขอนแก่น?,” เดอะอีสานเรคคอร์ด, 26 ตุลาคม 2022.
13 รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์, “โลกร้อนขึ้น โรคร้ายขึ้น?,” Greenpeace, 3 กุมภาพันธ์ 2020.
14 สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์, “ภาวะโลกร้อนกับแรงงาน,” TDRI, 17 พฤศจิกายน 2021.
15 “Heat stress threatens to cut labour productivity in SE Asia by up to 25% within 30 years,” Verisk Maplecroft, 28 October 2015.
16 CASE, เส้นทางการลดคาร์บอนในภาคพลังงานไทย เพื่อเป้าหมาย Carbon Neutrality 2050, 2 พฤศจิกายน 2022.
17 ดูร่าง พ.ร.บ. โลกร้อนฉบับรับฟังความคิดเห็น
18 บทเรียนจากเหมืองแร่ : ความล้มเหลวของรัฐในการแก้ปัญหา ‘ลำห้วยคลิตี้’,” มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, 24 พฤษภาคม 2021.
19 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, “สถานการณ์สิ่งแวดล้อม สิทธิ และกฎหมายที่ต้องติดตามในปี 2564,” 12 มกราคม 2022.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save