fbpx

บ้านรัฐบุรุษอาวุโส ‘ปรีดี พนมยงค์’ ณ กรุงปารีส

“มีสัญญากันอยู่ว่า ถ้าครอบครัวคนเวียดนามอยากจะขาย ให้ติดต่อขายให้คนไทยก่อน”[1]  

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถ่ายทอดประโยคข้างต้นจากเจตจำนงของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ที่เคยเอ่ยไว้ต่อครอบครัวชาวเวียดนามผู้ซื้อบ้านอองโตนี ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังการอสัญกรรมของสามีไว้ในรายการของสรยุทธ สุทัศนะจินดา

นับจากวันนั้นถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 40 ปี บ้านหลังนี้ได้หวนกลับมาเป็นของคนไทยอีกครั้งด้วยสนนราคา 1.6 ล้านยูโร หรือราว 63,788,000 บาท ปิยบุตร แสงกนกกุล ให้รายละเอียดดีลนี้ไว้พร้อมปิดท้ายด้วยว่า “เรื่องนี้ต้องนับถือคุณธนาธร[2] เพราะเขาซื้อมาก็ทำอะไรไม่ได้ แต่เขายอมเสียเงินก้อนนี้เพื่อเก็บประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญของประเทศไทยเอาไว้”[3]


ข่าวธนาธรซื้อบ้านปรีดี โดย มติชน


ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส แห่งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ 2 พ.ค. 2526 เวลา 11 นาฬิกาเศษ ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ได้สิ้นใจอย่างสงบด้วยอาการหัวใจวายขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน สรีระของท่านได้รับการประกอบพิธีฌาปนกิจศพอย่างสมเกียรติและเรียบง่ายตามเจตนารมณ์ของผู้วายชนม์เมื่อเที่ยงของวันจันทร์ที่ 9 พ.ค .2526 ณ บริเวณสุสาน Père Lachaise สถานที่สำหรับฝังศพบุคคลสำคัญของประเทศ เช่น Chopin, Molière, Hugo, Delacroix ฯลฯ


ภาพวาดบ้านอองโตนี บนปกหลังหนังสือของ จินดา ศิริมานนท์ โดย Plan Grafik


ปรีดี ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พ.ศ.2513-2526


“เวลานี้ใครๆ ไปปารีสแล้ว ก็ดูเหมือนจะถือเป็นแฟชั่นที่จะต้องไปพบนายปรีดี” 

ภายหลังใช้ชีวิตอยู่หลังไม้ไผ่นับจากปี 2492 ด้วยระยะเวลาถึง 21 ปี (เหตุแห่งการลี้ภัยโปรดดูบทความก่อนหน้าของผู้เขียนสองเรื่อง คือ ‘หลากเรื่องเล่า เมื่อปรีดีหนีครั้งแรก’[4] และ ‘ปรีดีหนี ครั้งหลัง พ.ศ.2492’[5]) นายปรีดีตัดสินใจย้ายออกจากจีนในห้วงความวุ่นวายของช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (พ.ศ.2509-2519) ข้ามมายังประเทศเสรีนิยมอย่างฝรั่งเศสเมื่อ 5 พ.ค. 2513 ก่อนงานฉลองวันเกิด 70 ปีไม่ถึงสัปดาห์

ข่าวคราวของรัฐบุรุษอาวุโสจึงเริ่มมีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวมากขึ้นกว่าเดิม เพียงปีแรกบุคคลสำคัญที่บินไปพบท่าน คือลูกศิษย์คนดัง ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ (พ.ศ.2459-2542) หลังจากนั้นยังมีบุคคลสำคัญอีกมากเข้าพบนายปรีดี อาทิ ถนัด คอมันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งเจ้านาย เช่น พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล[6],พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร, หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล หรือแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า เช่น สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ ต่อมาดำรงตำแหน่งสังฆราช), พระพิมลธรรม (อาจ), หลวงพ่อปัญญานันทะ, สมเด็จเกี่ยว และเจ้าคุณ ป.อ. ปยุตฺโต เป็นต้น เผด็จการผู้ทรงอำนาจยามนั้นอย่างประภาส จารุเสถียร ถึงกับเคยเอ่ยว่า “เวลานี้ใครๆ ไปปารีสแล้ว ก็ดูเหมือนจะถือเป็นแฟชั่นที่จะต้องไปพบนายปรีดี”[7]


ปรีดี กับ ท่านผู้หญิง และบุตรชาย ปาล พนมยงค์ ถ่ายร่วมกับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หน้าบ้านอองโตนี เมื่อ พ.ศ.2520

สามสมเด็จฯ (ในปัจจุบัน) จากซ้ายไปขวา ป.อ. ปยุตฺโต, ช่วง วรปุญฺโญ และ เกี่ยว อุปเสโณ กับ ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เมื่อ พ.ศ.2515


ระยะนี้สอดคล้องกับกระแสตื่นตัวทางการเมืองของสังคมไทย โดยเฉพาะนักศึกษาที่พ้นช่วง ‘สายลมแสงแดด’ เข้าสู่ ‘ฉันจึงมาหาความหมาย’ จนพัฒนาไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ช่วง 3 ปีนี้ เรื่องราวของคณะราษฎรและปรีดี พนมยงค์ ถูกรื้อฟื้นนำมาเล่ากล่าวหลังจากซบเซาไปนานกว่าทศวรรษ[8] ในระหว่างการเถลิงอำนาจของเผด็จการสฤษดิ์และเครือข่ายอนุรักษนิยม กล่าวได้ว่าระยะ 3 ปี ก่อน 14 ต.ค. 2516 ที่ปรีดีย้ายข้ามมาประเทศเสรีนิยมอย่างฝรั่งเศส จนถึง 3 ปีหลังเหตุการณ์เศร้าสลด 6 ต.ค. 2519 รวมเป็นระยะเวลา 6 ปีที่ปรากฏการตีพิมพ์ข้อคิดเห็นและเรื่องราวของนายปรีดีมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับจากลี้ภัยการเมือง

บทความของปรีดีช่วงนี้ที่สำคัญ เช่น ปรีดี กับ ม.ธ.ก.(2514)[9], คำปรารภของปรีดี ใน หนังสือบางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (2515), วารสาร อ.ม.ธ. 10 ธ.ค.2516[10], บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร (2515)[11] รวมถึงคำไว้อาลัยสหายร่วมตายอย่างหลวงสังวรยุทธกิจ (สังวรณ์ สุวรรณชีพ พ.ศ.2444-2515) และคำนิยมของตัวนายปรีดีในหนังสือ พุทธปรัชญาประยุกต์[12] ของ สุภัทร สุคนธาภิรมย์ 

ระหว่างนี้นายปรีดีได้เขียนอัตชีวประวัติเล่มสำคัญในภาษาฝรั่งเศสชื่อว่า Ma vie mouvementee et mes 21 ans d ‘ éxil en Chine Populaire ใน พ.ศ.2515 ต่อมา หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์นำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษบางส่วน และได้รับการแปลเป็นภาษาไทย (ไม่สมบูรณ์ทั้งเล่ม) หลังอสัญกรรมของนายปรีดีเมื่อ พ.ศ.2529 ให้ชื่อว่า ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน[13] จนหลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาเมื่อ 6 ต.ค. 2519 สังคมไทยก็ย้อนเข้าสู่ยุคจำกัดเสรีภาพอีกครั้งโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์

จนกระทั่งใน พ.ศ.2525 ก่อนการอสัญกรรมเพียง 1 ปี เป็นเรื่องน่ายินดีว่านายปรีดีได้เขียนอัตชีวประวัติเล่มเล็กๆ ชื่อว่า ชีวประวัติย่อ ของ นายปรีดี พนมยงค์ (จนถึง 24 กรกฎาคม 2525)[14] จากเดิมเคยดำริครั้งโอกาสแต่งงานครบรอบ 50 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2521 ว่าจะทยอยพิมพ์อัตชีวประวัติขนาดยาวเป็นตอนๆ โดยคิดชื่อหนังสือว่า ชีวิตและการงานปรีดี-พูนศุข แต่ก็มีเหตุแทรกให้เลื่อนแล้วเลื่อนอีกจนมิได้จัดพิมพ์เผยแพร่แต่อย่างใด[15]

แน่นอนว่ายังคงมีความเร้นลับของประวัติศาสตร์อีกเป็นจำนวนมากที่ได้ล่วงลับไปพร้อมกับพยานบุคคลปากสำคัญท่านนี้[16]


ปรีดี กับ ส.ศิวรักษ์ ที่บ้านอองโตนี วันที่ 22 สิงหาคม 2525


จดหมายเหตุ ‘บ้านอองโตนี’ โดย จินดา ศิริมานนท์


ช่วงอาจารย์ปรีดีพำนักในบ้านหลังนี้กว่าทศวรรษ ยังคงมีบุคคลเข้าเยี่ยมเยียนสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นกัลยาณมิตร เช่น ฉลบชลัยย์ พลางกูร[17], ไสว สุทธิพิทักษ์, แช่ม พรหมยงค์ ผู้ศรัทธา เช่น สุพจน์ ด่านตระกูล นักศึกษา เช่น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ[18], ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ (ต่อมาบวชเป็นพระ ฉายา ‘วิสาโล’[19]) ไม่เว้นแม้แต่ปรปักษ์กลับใจอย่าง ส.ศิวรักษ์[20]  รวมถึงนักเขียนนักวิชาการที่ปรากฏผ่านบทสัมภาษณ์หลัง พ.ศ.2520 หลายชิ้นที่น่าศึกษา เช่น อรุณ เวชสุวรรณ[21], ฉัตรทิพย์ นาถสุภา[22], ‘รงค์ วงษ์สวรรค์[23], นิตยสารตะวันใหม่ ฉบับพิเศษ 80 ปีรัฐบุรุษอาวุโส[24] เป็นต้น


ปรีดี ณ บ้านอองโตนี ปกหนังสือบทสัมภาษณ์ของ อรุณ เวชสวุรรณ
‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เจ้าของฉายา ‘พญาอินทรีแห่งสวนอักษร’ ขณะสัมภาษณ์ ปรีดี พนมยงค์


อาคันตุกะคณะสุดท้ายที่ได้เข้าพักบ้านอองโตนี คือนักหนังสือพิมพ์ชื่อก้อง สุภา กับภริยา จินดา ศิริมานนท์ ทั้งคู่เดินทางมาถึงกรุงปารีสและเข้าอาศัยในบ้านอองโตนีเมื่อกลางเดือนเมษายน พ.ศ.2526 หลังจากไม่ได้พบอาจารย์ปรีดีเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 34 ปี  สุภาและจินดาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวปรีดีราวสองอาทิตย์ก่อนจะอำลาปลายเดือนเดียวกัน หลังจากนั้นเพียง 4 วัน เจ้าบ้านจึงถึงแก่อสัญกรรม จินดาบันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า “แต่เมื่อได้พบและพักอยู่กับท่านเพียงสองสัปดาห์เศษๆ ท่านก็จากไปอย่างไม่มีวันคืนหลังโดยปุบปับ”[25]

 ภาพถ่ายสุดท้ายขณะมีชีวิตของปรีดีเป็นฝีมือของ สุภา ศิริมานนท์ ส่วนภริยา จินดา ศิริมานนท์ ต่อมาได้ประพันธ์หนังสือชื่อว่า ‘ปัจฉิมชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ความทรงจำจากบ้านชานกรุงปารีส’ ท่านผู้หญิงพูนศุขนำมาจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มในวาระครบวันเกิดนายปรีดี เมื่อ พ.ศ.2536 ประกอบคำชี้แจงไว้ว่า “คุณจินดา ศิริมานนท์ กัลยาณมิตรของครอบครัวเราได้บันทึกไว้ภายหลังที่เธอได้ไปเยือนครอบครัวเราเมื่อครั้งพำนักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาสองสัปดาห์และเมื่อเธอลากลับประเทศไทยเพียง 4 วัน นายปรีดีก็วายชนม์ ข้อความที่เธอเขียนได้บรรยายจากการสังเกตสังกาอย่างละเอียด…บทความนี้ได้เคยลงในหนังสือ อาวุโส ที่นำมาตีพิมพ์อีกครั้งในโอกาสนี้…จะได้ทราบชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยคนหนึ่งในบั้นปลายที่ต้องระหกระเหินจากบ้านเกิดไปโดยปราศจากความผิดใดๆทั้งสิ้น”[26]


ปกหนังสือ ‘ความทรงจำจากบ้านชานกรุงปารีส’ โดย จินดา ศิริมานนท์


ความสำคัญของบันทึกฉบับนี้โดยจินดา เปรียบประหนึ่ง ‘จดหมายเหตุบ้านอองโตนี’ ที่ฉายภาพบรรยากาศทั้งอาณาบริเวณรอบบ้านและเก็บรายละเอียดบรรยากาศภายในบ้านอองโตนีได้ลึกซึ้งถึงที่สุด

ในวาระนี้ ผู้เขียนเห็นสมควรคัดเนื้อหาและภาพประกอบจากหนังสือประวัติศาสตร์เล่มนี้บางส่วนนำเสนอไว้ ดังต่อไปนี้


รมณียสถานแห่งสุดท้ายของ ปรีดี พนมยงค์


173 Avenue Aristide Briand (ต่อมาเปลี่ยนเป็น 27 Avenue Raymond Aaron) 9160 Antony FRANCE คือบ้านเลขที่ของนิวาสถานที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ มันสมองผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างสงบเป็นระยะเวลา 12 ปี[27]

ชื่อถนนเดิมนี้ตั้งเป็นเกียรติแด่ เมอร์ซิเออร์ อริสตีด บริย็องด์ รัฐบุรุษสำคัญของฝรั่งเศส ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศถึง 11 ครั้ง


บ้านอองโตนี พ.ศ.2526


เนื้อที่บ้าน 500 ตารางเมตร อยู่ติดถนนใหญ่ ลักษณะเป็นบ้านทรงสแปนิชกลายๆ 2 ชั้น ตัวตึกสร้างอยู่เกือบกึ่งกลางของพื้นที่ หันหน้าบ้านออกสู่ถนนใหญ่ ท่านผู้หญิงพูนศุข ภริยาอาจารย์ปรีดีซื้อมาจากสามีภรรยาชาวฝรั่งเศสคู่หนึ่ง ซึ่งพวกเขาก่อสร้างบ้านด้วยตนเอง

จินดาถ่ายทอดคำบอกเล่าของท่านผู้หญิงไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า

“ตอนที่ท่านผู้หญิงออกจากเมืองจีนมาอยู่ประเทศฝรั่งเศสนี้ ท่านยังไม่มีเงินทองพอจะซื้อ ในระยะแรก ๆ ท่านกับลูก ๆ ต้องเช่าอพาร์ทเม้นท์อยู่ในเมือง ซึ่งต้องเผชิญกับค่าเช่าซึ่งสูงขึ้นและสูงขึ้นทุก ๆ ปี ทำให้ต้องเริ่มแสวงหาที่อยู่ใหม่เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานอันนี้ ดังนั้น ท่านผู้หญิงจึงรวบรวมเงินจากการขายที่ดินในเมืองไทย ทั้งที่เป็นส่วนตัวของท่านเองและของท่านอาจารย์ แล้วก็รวบรวมทรัพย์สินจากกองมรดกที่ท่านผู้หญิงได้รับส่วนแบ่งจากบุพการีทั้งสองของท่านคือท่านเจ้าคุณชัยวิชิตและคุณหญิงเพ็ง ถึงกระนั้นท่านก็บอกว่าแทบจะไม่พอในการจ่ายซื้อนิวาสถานแห่งใหม่นี้

ท่านเล่าว่า หลังจากที่ได้ดูสถานที่หลายแห่งแล้วจึงได้ตัดสินใจซื้อที่แห่งนี้ โดยถือเกณฑ์วินิจฉัยว่า เพราะอยู่นอกเมืองสถานหนึ่ง และอีกสถานหนึ่งการไปมาก็นับว่าสะดวก เพราะมีรถประจำทางหลายสายแล่นผ่าน อีกทั้งยังใกล้กับสถานีรถใต้ดินประมาณ 500 เมตรเท่านั้น”

ด้านท่านผู้หญิงกล่าวถึงเหตุการณ์ซื้อบ้านหลังนี้ไว้ในอัตชีวประวัติว่า

“ช่วงแรกนั้น ครอบครัวของเราต้องไปเช่าห้องเล็ก ๆ ของอพาร์ตเม้นท์แห่งหนึ่ง ย่านถนน Emile du Bois ในกรุงปารีส ต่อมาจึงไปซื้อบ้าน ‘อองโตนี’ ซึ่งเป็นบ้านขนาดกลางหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ถนน Aristide Briand ย่านชานเมือง ไม่ห่างจากปารีสมากนัก ด้วยเงินที่ได้จากการขายบ้านสีลมและสาทร ซึ่งดิฉันได้ทำเรื่องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการนำเงินออกนอกประเทศอย่างถูกกฎหมาย พร้อมกันนั้นทางกระทรวงการคลังของไทยได้อนุมัติจ่ายเงินบำนาญของนายปรีดีในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสและอดีตนายกรัฐมนตรีให้อีกครั้ง หลังจากที่ถูกตัดไปตั้งแต่ พ.ศ.2491 ซึ่งเงินจำนวนนี้พอจะนำมาบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้บ้าง ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเราที่นี่มีความสุขสบายทางกายก็จริง แต่ทว่าทุกคนก็ยังคิดถึงความอบอุ่นของญาติมิตรในบ้านเกิดของตัวเองอยู่ตลอดเวลา”[28]


อาณาบริเวณรอบบ้าน


จินดาเริ่มต้นหนังสือเล่มนี้ด้วยการบรรยายถึงอาณาบริเวณรอบบ้านว่า ประตูหน้าบ้านเป็นเหล็กโปร่ง รั้วก็เป็นเหล็กเตี้ยๆ สูงประมาณแค่ศีรษะ มีสองประตู แห่งแรกใช้เข้าออกประจำ ส่วนประตูที่สองสำหรับรถยนต์

“ตรงริมประตูหน้าบ้านพอเลี้ยววกขวามือจะพบต้นฟอร์ไซเธียเหลืองอร่ามงามสะดุดตาไปทั้งต้น ฟอร์ไซเธียเป็นไม้ดอก ต้นสูงขนาดศีรษะ พันธุ์ไม้ชนิดนี้รู้สึกว่าจะมีแทบทุกแห่งที่ผ่าน ไม่ว่าในสวนสาธารณะหรือตามบ้านเอกชน บางแห่งก็ดูต้นใหญ่เป็นพุ่ม ส่วนมากมักปลูกไว้ริมรั้วบ้าน เข้าใจว่าคงจะผลัดใบในฤดูหนาว เพราะตอไม้เมื่อหมดใบเหลืองนี่แล้วเห็นแตกใบอ่อนเป็นสีเขียว


 ฟอร์ไซเธียเหลืออร่าม ณ บ้านอองโตนี


เลี้ยวขวาไปทางข้างบ้านติดกับรั้วจะมีอพาร์ทเม้นท์สูงสามชั้น ด้านซ้ายสุดของอพาร์ทเม้นท์บนชั้นที่สาม คุณวาณีฯ ธิดาคนสุดท้องของท่าน แยกไปเช่าอยู่ต่างหากหลังจากสมรสกับคุณสุรพันธ์ (อิ๊ด) สายประดิษฐ์ (บุตรชายของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม ศรีบูรพา – ผู้เขียน)”

ครั้นเดินเลียบตึกชิดรั้วทางขวามีกอดอกทิวลิป 2-3 กอ กำลังมีดอกตูมๆ อยู่ ริมรั้วมีกิ่งไม้ทอดมาตามแนวรั้ว ออกดอกขาวพราวไปทั้งต้น ทั้งกิ่งไม่มีใบเลย มีแต่ดอกเต็ม เมื่อเดินชิดข้างบ้านไปทะลุอาณาเขตหลังบ้าน มีต้นไม้ใหญ่วัยรุ่นออกดอกเต็มไปหมดทุกกิ่งก้าน ต้นไม้ต่างๆ เหล่านี้มีประมาณ 10 ต้นเห็นจะได้ รูปทรงของดอกคล้ายคลึงกัน คือมีกลีบแข็งชั้นนอกชั้นเดียวราว 4 ถึง 6 กลีบ มีเกสรขาวตรงกลาง มองดูเผินๆ นึกว่าดอกไม้เหล่านี้สีเดียวกัน ต่อเมื่อจับกิ่งมาพิจารณาดูจึงเห็นว่ามีดอกสีขาวบ้าง ขาวอมชมพูบ้าง ขาวนวลบ้าน ดอกไม้คงจะไม่มีกลิ่น ฉะนั้น กลิ่นหอมหวานจากเกสรดอกไม้ที่กำลังบานจึงไม่มีมากระทบจมูกเลย แม้แต่จะเดินวนเวียนอยู่ตามต้นไม้ก็จะไม่มีการแพ้กลิ่นหรือแพ้ละอองเกสรดอกไม้ ไม้เหล่านี้ล้วนเป็นไม้ผล ปลูกติดที่โดยเจ้าของเดิมซึ่งตามประวัติปรากฏว่ารักต้นไม้มาก จึงเสาะหาแต่พันธุ์ดีๆ มาลงไว้

ถัดมา “ชิดประตูด้านหลังของบ้านซึ่งเป็นห้องใต้ดิน มีกอดอกทิวลิปอีก 3-4 กอ ดอกยังตูมอยู่…ตอนที่เป็นเขตหลังบ้านนี้ได้ขึงราวตากผ้าไว้ 3 ราวด้วยกัน โดยขึงจากต้นไม้บางต้นมายังด้านหลังของบ้าน สำหรับใช้ผึ่งผ้าในขณะที่มีแสงแดด”

สุดเขตด้านหลังของบ้านตรงมุมชิดรั้วด้านซ้ายมือมีบ้านหลังน้อยๆ ปลูกอยู่พ้นดงไม้ผลเหล่านี้ มีเทอเรสหน้าบ้านนิดหน่อย ภายในมีห้องนอน เป็นบ้านของ ‘แม่หนู’ คุณ ‘วิชินี’ สุนทร-วิจารณ์ (สกุลเดิม ‘จตุรพฤกษ์’) เธอสำเร็จมัณฑนศิลป์จากวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงปารีส ด้วยความศรัทธาที่มีต่ออาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิง จึงสมัครเข้ามาทำงานเป็นเลขานุการ ทำหน้าที่สารพัด ไม่ว่าจะเป็นงานพิมพ์ดีด (ที่แม้ใช้วิธีจิ้มเอาแต่ก็รวดเร็ว) เก็บเอกสาร รวมถึงสามารถซ่อมรถทั้งๆ ที่ขับรถไม่เป็น รวมถึงงานช่างภายในบ้านหลังน้อยของเธอ คุณจินดาเล่าว่า “เราแอบตั้งชื่อบ้านน้อยของเธอว่า ‘ทับทิวา’” ในฤดูร้อนสามีของเธอจะเดินทางมาใช้ชีวิตร่วมกัน คือคุณแอ๊ะ (ยงจิต สุนทร-วิจารณ์)

บริเวณหลังบ้านก่อนลงห้องใต้ดินด้านขวามือ มีห้องเล็กๆ คุณฉลบชลัยย์ พลางกูร ซึ่งเดินทางมาพำนักที่นี้ทุกปี[29] กับเลขาฯ ครูจตุพรฯ ใช้เป็นที่พัก ห้องนี้อยู่ตรงกันข้ามกับหลังห้องคุณสุดา พนมยงค์ พอดี


ปรีดีและท่านผู้หญิง พร้อมครอบครัวญาติมิตรภายนอกอาคาร


เมื่อย่างเข้าอาคารบ้านอองโตนี


หนังสือของจินดาถ่ายทอดเนื้อที่ใช้สอยภายในบ้านไว้อย่างละเอียดลออแทบทุกซอกทุกมุม จำเพาะบทความนี้จึงเพียงสามารถคัดเฉพาะส่วนสำคัญเขียนเล่าพอสังเขป

เมื่อแลดูจากภายนอกจะเห็นอาคารเรือนนี้แบ่งเป็น 2 ชั้น ครั้นเข้าไปสำรวจภายในจะพบว่ายังมีส่วนของชั้นใต้ดินอีกด้วย

ชั้นบนสุดแบ่งเป็นส่วนของห้องนอนอาคันตุกะผู้มาเยือน เจ้าบ้านจัดให้สุภาและจินดาพักห้องนี้ ส่วนอีกห้องใหญ่คือห้องเก็บหนังสือ จินดาบรรยายไว้ว่า

 “ถัดเข้าไปราว 4-6 ก้าวตอนกลางห้องมีประตูเปิดทะลุไปสู่อีกห้องหนึ่ง ซึ่งรู้สึกว่าค่อนข้างกว้างขวางกว่าห้องอื่น ๆ สำหรับชั้นบนนี้ เป็นห้องเก็บหนังสือของท่านอาจารย์ ริมผนังเกือบทุกด้านมีชั้นไม้วางหนังสือไว้เต็ม แต่ก็เป็นระเบียบเรียบร้อย น่าจะเรียกว่าเป็นห้องสมุดเป็นเหมาะที่สุด แต่อย่างไรก็ดี บางโอกาสที่มีผู้มาพักด้วยหลายคนเช่นพวกหลาน ๆ ท่านผู้หญิงก็มักปูที่นอนให้พักที่พื้นหน้าชั้นหนังสือนี่เอง

ได้รับคำบอกเล่าว่า แต่ก่อนหนูวาณีบุตรีคนเล็กของท่านก็พักอยู่ในห้องนี้ ต่อมาหลังจากสมรสแล้วจึงได้แยกไปเช่าอพาร์ทเม้นท์”[30]

ส่วนชั้นใต้ดินแบ่งเป็นห้องของบุตรสาวคือคุณสุดา ในห้องวางเปียโนไว้หนึ่งหลัง “ซึ่งห้องนี้อยู่ตรงกับห้องของท่านอาจารย์และท่านผู้หญิงข้างบน (ชั้นล่าง-ผู้เขียน)”[31]ส่วนอีกห้องในชั้นนี้เป็นของแม่ครัว (คุณจิ๋ม รจนา รันตปาน) ชั้นใต้ดินนี้ยังวางเครื่องซักผ้ายี่ห้อซิงเกอร์ไว้หนึ่งเครื่อง “ซึ่งทุกคนใช้ซักกันโดยกำหนดผลัดเปลี่ยนเวียนวันกันไป เจ้าของเสื้อผ้าจะซักของตัวเอง และแบ่งไปเลยว่าวันไหนใครจะใช้เครื่องซักผ้า”[32]


เปียโนของสุดา บุตรีของปรีดี


พื้นที่ใช้สอยหลักอยู่ในส่วนกลางของบ้าน คือ ชั้นล่าง (ระหว่างชั้นบนสุด กับ ชั้นใต้ดิน)


ชั้นล่าง : ห้องทำงาน ห้องนอน และ ห้องอเนกประสงค์


จินดาเขียนถึงทางขึ้นบ้านไว้ว่า

“ช่องทางเดินจากประตูบ้านสู่ห้องเก็บของนี้เป็นทางแบบลาดต่ำ เวลาขึ้นหน้าบ้านจึงต้องมีขั้นก้าวสูงขึ้นไปอีกประมาณหนึ่งศอก ชิดกับตัวตึกก็มีต้นไม้เป็นกอ ๆ คล้ายต้นป่านศรนารายณ์ แต่คงจะไม่ใช่ พื้นทางเดินตรงนี้ปูด้วยปูนซีเมนต์หยาบ ๆ ตลอดถึงบันไดบ้าน

ซ้ายมือจากที่เดินวนมารอบหนึ่งก็ถึงตัวบันได สำหรับตัวบันไดนั้นปูด้วยหินเล็ก ๆ แบ่งเป็นสามช่วง ช่วงละ 2 ขั้น เป็นแบบขั้นบันไดตรง ๆ เรียบ ๆ ธรรมดา สุดขั้นบันไดด้านนอกก่อเป็นขอบทึบ อีกด้านหนึ่งของขั้นบันไดนั้นติดกับตัวตึก และทั้งสองข้างของบันไดทำยกเป็นขอบไว้ ซึ่งจะนั่งก็ได้หรือจะวางกระถางต้นไม้ก็ได้


บันไดขึ้นสู่ประตูทางเข้าหน้าบ้าน


เมื่อถึงช่วงที่สามบนสุดแล้วจะมีเทอเรสหน้าบ้านนิดหนึ่งก่อนจะเข้าประตู ขอบเทอเรสตอนบนได้ก่อสูงขึ้นมาจากพื้นราว ๆ ศอกเศษ ปรกติก็มักใช้วางกระถางต้นไม้กระถางดอกไม้ ที่ตรงนี้ทุก ๆ เช้าท่านผู้หญิงจะนำปรอทวัดอากาศมาตั้งประจำราว 15 นาทีถึงครึ่งชั่วโมง เพื่อตรวจสอบว่าอุณหภูมิจะขึ้นหรือลดกี่เซลเซียส ปรอทวัดอากาศที่ว่านี้เป็นรูปโคมไฟซึ่งปรกติจะตั้งอยู่บนหลังเครื่องทีวี. ในห้องอเนกประสงค์


สุภา-จินดา ศิริมานนท์ ถ่ายภาพร่วม ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ เทอเรสหน้าบ้านอองโตนี


ประตูตึกด้านหน้านั้นมักจะล็อคอยู่ตลอดเวลา เมื่อเปิดประตูก็เป็นอันว่าได้เข้ามาในตัวบ้าน ซึ่งสิ่งแรกที่จะพบตรงหน้าในทันทีที่ก้าวเข้าไปก็คือห้องครัว บริเวณห้องครัวมีหิ้งโทรศัพท์อยู่ตรงมุมหิ้งนั้นสูงราวแค่อก เป็นหิ้งเล็ก ๆ ยาวไปจรดประตูห้องครัว อุปกรณ์ที่วางอยู่บนหิ้งก็ได้แก่เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับโทรศัพท์นั่นแหละ อาทิเช่น ปากกา, ดินสอ, สมุด ข้างฝาก็มีเลขหมายโทรศัพท์ของบุคคลที่จะติดต่อเป็นประจำติดอยู่พร้อมทั้งข้อแนะนำในการต่อโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศโดยวิถีโทรคมนาคมผ่านดาวเทียม ซึ่งรู้สึกได้ทันทีว่าสะดวกกว่าระบบที่เป็นอยู่ในเมืองไทยเรามาก

มุมซ้ายมือชิดประตูทางเข้ามีที่แขวนเสื้อโอเว่อร์โค้ตซึ่งจะแขวนได้ราว 2 หรือ 3 ตัว พร้อมด้วยตะกร้าทรงสูงหนึ่งใบอยู่ข้างใต้สำหรับใส่ร่มและไม้เท้า ทางขวามือหรือตรงหน้าที่แขวนโอเว่อร์โค้ต เป็นบันไดสำหรับขึ้นสู่ขั้นบนสุดของบ้าน ส่วนทางซ้ายของระเบียงคือห้องที่ข้าพเจ้าขอเรียกว่าเป็นห้องอเนกประสงค์เห็นจะเหมาะที่สุด เพราะเป็นทั้งห้องรับแขก, ห้องรับประทานอาหาร, และห้องนั่งเล่น นับเป็นห้องที่มีชีวิตชีวาที่สุดของบ้านเลยทีเดียว”[33]


ห้องทำงาน


ลึกเข้าไปภายในบ้านก่อนถึงบันใดลงชั้นใต้ดิน คือ ‘ห้องทำงาน’ ของอาจารย์ปรีดี สภาพภายในตามคำสาธยายของจินดามีอยู่ว่า

“เป็นห้องเปิดโล่งถึงห้องนอน มีประตูด้านหน้าห้องติดกับประตูห้องน้ำใหม่ แต่ก็ปรากฏว่าเปิดกว้างทุกวัน จะปิดประตูห้องนี้ก็เฉพาะเวลาที่ท่านทั้งสองนอนกลางคืนเท่านั้น แม้บางวันที่ท่านนอนพักผ่อนก็ไม่ได้ปิดประตู

ตรงจากประตูเข้าไปมีโต๊ะหนังสือตัวใหญ่หันหน้าออกสู่ประตู บนโต๊ะหนังสือมีแฟ้มต่าง ๆ เท่าที่ท่านอาจารย์จะหยิบออกมาใช้ ข้าง ๆ มีหนังสือซึ่งกำลังใช้วางกองเป็นตั้ง ๆ ข้างหลังตะหนังสือเป็นชั้นต่อด้วยไม้สูงจรดเพดาน ชั้นสำหรับเก็บหนังสือและเอกสารดังกล่าวนี้เรียกว่าทำไว้รอบทั้งห้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กำแพงด้านหลังโต๊ะหนังสือและกำแพงด้านหน้าจากขอบประตูไปจนถึงกำแพงห้องนอน จากภาพถ่ายที่คุณสุภาฯ ถ่ายภาพท่านอาจารย์นั่งจับแฟ้มอยู่บนโต๊ะหนังสือ อันเป็นภาพรุ่นสุดท้ายก่อนท่านจะวายชนม์ไม่กี่วัน จะเป็นคำอธิบายชัดเจนที่สุดสำหรับห้องนี้[34]


ภาพถ่ายชุดสุดท้ายบนโต๊ะทำงาน โดย สุภา ศิริมานนท์


เก้าอี้นั่งเขียนหนังสือตัวนี้เป็นชนิดหมุนได้รอบตัว บุด้วยพลาสติค แต่รู้สึกว่าตัวออกจะเล็กไปนิดหน่อยสำหรับท่าน คือมันกระชับเฉพาะตัวท่านเลยทีเดียว ขออธิบายเพิ่มเติมว่า เก้าอี้ตัวนี้และห้องนี้คือที่ที่ท่านสิ้นลมหายใจด้วยความสงบอย่างน่าอัศจรรย์ ท่ามกลางกองหนังสือเมื่อเวลาประมาณ 11.50 น. ของวันที่ 2 พฤษภาคม 2526”


 เก้าอี้ห้องทำงานปรีดี


ด้านซ้ายมือของโต๊ะเขียนหนังสือนี้จะมีเก้าอี้ตั้งอยู่อีก 2 ตัวหันหน้าเข้าหากัน อยู่ชิดริมขอบหน้าต่างบานคู่ หันหน้าออกสู่ถนน “ท่านผู้หญิงเล่าว่า ในยามบ่ายที่ว่าง ไม่มีลูกหลานอยู่ และไม่มีผู้มาเยี่ยมเยียน ท่านทั้งสองมักจะมานั่งสนทนากัน ณ เก้าอี้คู่นี้เป็นประจำ”


ห้องนอน


ห้องถัดจากห้องหนังสือคือห้องนอน จินดาเขียนเล่าสืบต่อว่า

“จากห้องหนังสือ เดินผ่านหน้าโต๊ะหนังสือและชั้นหนังสือสองข้างผนังห้องแล้วจะทะลุถึงห้องนอน เป็นห้องนอนเล็ก ๆ ย่อม ๆ เพิ่งจะต่อเติมขึ้นในชั้นหลังจากที่ดินว่าง ๆ ของเดิม เมื่อซื้อมาใหม่ ๆ ท่านต้องขึ้นไปนอนห้องชั้นบนซึ่งคงจะไม่สะดวกที่จะขึ้นบันไดนัก เพราะบันไดนั้นทั้งสูงทั้งชัน แล้วก็แคบ ๆ จึงได้คิดต่อห้องใหม่ขึ้น โดยให้มีห้องน้ำและห้องส้วมรวมอยู่ด้วย ท่านตั้งเตียงคู่ใกล้ ๆ กัน มีโต๊ะเล็ก ๆ วางนาฬิกาปลุกเรือนน้อย ๆ หนึ่งเรือน มีทีวี.สีเครื่องเล็ก ๆ หนึ่งเครื่อง ซึ่งพวกลูก ๆ พร้อมด้วยญาติมิตรสนิทราว 5-6 คนร่วมกันจัดซื้อให้ท่านเมื่อวันเกิดคราวที่แล้วนี่เอง…


โทรทัศน์ภายในห้องนอน


เครื่องประดับในห้องนอนของท่านทั้งสองนั้นหรือเล่าก็ขอกล่าวซ้ำอีกว่าไม่มีสมบัติมีค่าอื่นใด ทั้งก็จะกล่าวได้โดยไม่ผิดด้วยว่า ทั่วทั้งบ้านจะมีก็แต่เพียงหนังสือและงานนิพนธ์ที่ท่านค้นคว้าเรียบเรียงอยู่ในแฟ้มต่าง ๆ เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นขุมทรัพย์อันมีค่ามหาศาล แต่ขุมทรัพย์อันนี้เป็นของใครเล่า?

ข้าพเจ้าเดินเข้าไป แต่ก็ไม่สามารถจะอยู่ได้นาน เพราะไม่มีอะไรให้สำรวจ และต้องรีบออกมายืนอยู่หน้าโต๊ะเขียนหนังสือด้วยดวงตาที่พร่าพราวไปด้วยอัสสุชล ยืนนิ่งอยู่คนเดียวสักครู่ใหญ่ ๆ จึงค่อยคลายความโทมนัสลงได้”[35]


เตียงนอนของปรีดี


ห้องอเนกประสงค์ ‘ชีวิตชีวาของบ้านนี้’


ในหนังสือเล่มนี้ จินดาได้แสดงบรรยากาศพื้นที่ส่วนกลางบ้านที่เธอนิยามว่า ‘ห้องอเนกประสงค์’ โดยว่า “ห้องสุดท้ายที่จะพรรณนานี้ถือว่าเป็นห้องสำคัญและมีชีวิตชีวาที่สุดของบ้าน จะขอเรียกว่า ‘ห้องอเนกประสงค์’ เพราะใช้ทั้งรับแขก รับประทานอาหาร ตรวจทานต้นฉบับข้อเขียนที่ท่านอาจารย์แก้ไข ดูรายการทีวี. และนั่งสนทนากัน สารพัดอยู่ในห้องนี้ทั้งสิ้น จึงนับว่าสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเวลานี้ก็ได้นำอัฐิของท่านอาจารย์ซึ่งใส่อยู่ในผอบมาตั้งบูชาอยู่ตรงผนังกลางห้องอันเป็นที่ที่ท่านอาจารย์เคยนั่งอยู่เป็นนิตย์ก่อนวายชนม์ ตรงหน้าประตูพอดี โดยตั้งผอบบนโต๊ะกลางซึ่งกำกับเคียงข้างไว้ด้วยเก้าอี้หวาย 2 ตัวซึ่งท่านอาจารย์และท่านผู้หญิงเคยนั่งประจำ


ปรีดีนั่งผ่อนคลายอิริยาบถในห้องอเนกประสงค์


ตอนหน้าประตูห้องนี้แขวนม่านผ้าโปร่งขาวทั้งสองข้าง เป็นผ้าอย่างเดียวกันและเย็บแบบเดียวกันกับห้องอื่น ๆ ของบ้าน ทราบว่าเป็นฝีมือของคุณสุดาทั้งสิ้น ประตูห้องอเนกประสงค์นี้เป็นชนิดบานทึบสองบาน ปิดเปิดได้สะดวก แต่โดยปรกติแล้วจะเปิดไว้ตลอดเวลา จะกล่าวว่าเปิดตลอด 24 ชั่วโมงก็ไม่ผิด นอกเสียจากเวลามีโทรศัพท์และเสียงของการสนทนาในห้องจะรบกวนผู้พูด โทรศัพท์จึงมักปิดงับเสียเป็นครั้งคราวสั้น ๆ เมื่อเสร็จธุระแล้วก็เปิดประตูตามเดิม…

ที่กำแพงด้านหลังของที่นั่งท่านอาจารย์ตอนเหนือเครื่องทำความอุ่น มีกระดาษเขียนเป็นตารางรายงานยาที่ท่านอาจารย์รับประทานเป็นประจำว่ามียาใดสำหรับมื้อใด และอัตราครั้งละกี่เม็ดปิดอยู่ ขวดยาและซองยาก็วางอยู่ในถาดเหนือเครื่องฮีทเตอร์นั้นเอง เมื่อใกล้เวลาอาหารจะมีผู้มาจัดยาเหล่านี้ใส่ถาดเล็ก ๆ วางบนโต๊ะข้างหน้าที่นั่งของท่าน ผู้จัดยาก็คือท่านผู้หญิง โดยปรกติเท่าที่เห็น…”

ภายในบ้านหลังนี้มีเตาผิงทำด้วยไม้สลับหินอ่อนใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วหากมีไว้เป็นเครื่องประดับห้อง ตั้งอยู่กลางมุมห้อง มีลักษณะหักมุม

“พื้นห้องอเนกประสงค์นี้ปูด้วยกระเบื้องแผ่นเล็ก ๆ ยาว ๆ ดังที่เคยเล่ามาแต่ต้น ลวดลายสีปูนแห้งและสีนวลอมเหลืองสลับกัน เป็นของทำมาเก่าติดกับบ้านเช่นเดียวกับห้องต่าง ๆ อื่น ๆ ท่านอาจารย์ก็จำไม่ได้เสียแล้วที่ปรารภว่าจะเปลี่ยนพื้นห้องนี้เป็นไม้หรือปูพรม แต่ยังไม่อยู่ในฐานะที่จะทำได้

ส่วนห้องอื่น ๆ ในชั้นบนของบ้านปูด้วยไม้หมด แบบไม้ปาเก้อย่างที่เห็น ๆ กันทั่วไปในบ้านเรา แต่เนื้อไม้จะเป็นอะไรก็ไม่ทราบ ข้าพเจ้าไม่มีความรู้”[36]

อนึ่ง ดุษฎี พนมยงค์ ธิดาของปรีดีเล่าเกร็ดของห้องนี้ไว้ว่า “ในฤดูใบไม่ผลิ พ.ศ.2520 อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาพักอยู่ที่บ้านอองโตนีหลายคือ นอนในห้องรับแขกเล็กๆ นี้ที่มีขนาดประมาณ 20 ตารางเมตร เพียงแต่กางเตียงผ้าใบเล็กๆ เตียงเดียว ห้องนี้ก็แปรสภาพเป็นห้องนอนของอาจารย์ป๋วยแล้ว”


บนโต๊ะอาหาร


ด้านโต๊ะอาหารในห้องอเนกประสงค์นี้มีทรงเป็นรูปไข่ขนาดนั่งได้ 8 คน จินดาว่า “เป็นโต๊ะเก่ามากแล้ว ฉะนั้นจึงไม่มีการเก็บผ้าปูโต๊ะออก ใช้ผ้าพลาสติคสีขาวลายดอกไม้ปูทิ้งไว้ตลอดเวลา เมื่อทานอาหารเสร็จและเก็บถาดซึ่งรองนานาขวดที่บรรจุเครื่องเพิ่มรสอาหาร อาทิ น้ำปลา, น้ำส้ม, พริกดอง, ซ้อสแม็กกี้ ฯ และผู้ที่นั่งทานด้วยก็ช่วยกันเก็บจานชามไปหมด ก็นำผ้าหรือฟองน้ำ ซึ่งชุบน้ำพอหมาดมาเช็ดบนพลาสติคให้ทั่วเผื่อว่าจะมีเศษอาหารตกหล่นอยู่จะได้สะอาดและไม่มีกลิ่น บางโอกาส โต๊ะรับประทานอาหารนี้ได้ใช้เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบอ่านทานต้นฉบับที่ท่านอาจารย์เขียน โดยท่านจะนั่งตรงหัวโต๊ะที่ท่านนั่งรับประทานอาหารเป็นประจำ…

สำหรับข้าวนั้น ตามปรกติก็มีสองสิ่ง อาจเป็นแกงส้มหรือแกงต้มส้มหรือแกงต้มยำ ผัดผักหรือผักอบ หรือไม่ก็สลัดผัก ฯ ส่วนของอื่น ๆ เป็นกับข้าวที่เหลือจากวันก่อน ๆ ซึ่งทานไม่หมดแต่อุ่นใหม่มาเพิ่มเติม อาทิผัดพริกขิงหรือหมูและไข่ต้มพะโล้…ท่านผู้หญิงชอบอาหารรสกลมกล่อม แต่สำหรับข้าพเจ้ารู้สึกว่าออกจะกระเดียดไปทางรสเค็มนำหน้า และถ้าเป็นแกงต้องขอให้ร้อน ส่วนท่านอาจารย์ไม่ทานรสจัดจึงไม่เห็นเติมรสอะไรเลย ตั้งมาให้อย่างไรท่านก็ทานอย่างนั้น ถ้าเป็นข้าวสวยก็ใช้ข้าวที่หุงด้วยหม้อไฟฟ้าค่อนข้างเปียกเล็กน้อย มื้อละประมาณสองช้อนโต๊ะ ถ้ามื้อไหนรู้สึกอร่อย ท่านก็จะขอเพิ่มอีกนิดหรือราว ๆ หนึ่งช้อนโต๊ะเท่านั้นเอง

ส่วนของหวานเป็นผลไม้ บางทีก็กล้วยน้ำว้าจากเมืองไทยบ้าง กล้วยหักมุกบ้าง บางครั้งก็เผาบางครั้งก็เชื่อม ท่านรับประทานไม่มาก 2-3 ช้อนก็อิ่ม ช่วงฤดูที่เราไปพักมีผลสตรอเบอรี่มาก ดังนั้นบางมื้อท่านก็ทานสตรอเบอรี่โรยน้ำตาลครีมมื้อละ 5-6 ผล…ปรกติมักจะมีผักสดให้ทานเล่นเกือบทุกมื้อ” คุณจินดายังสังเกตด้วยว่า “กับข้าวอีกอย่างทราบว่าชอบทานมากคือแกงบวน…อาหารของชอบอีกชนิดหนึ่งได้แก่น้ำพริกมะม่วงและผัดพริกขิง…”

สำหรับมื้อเช้านั้นกำหนดระเบียบว่าต่างคนต่างทาน โดยมีเครื่องดื่มทั้งน้ำชากาแฟวางไว้ให้บนโต๊ะพร้อมด้วยกระติกน้ำร้อน มีขนมปังธรรมดาและแบบครัวซ็องต์ใส่ถาดไว้ให้เลือกทานเอาเองตามความชอบ “ขนมปังที่ทานกันทุก ๆ วันนั้น เนื่องจากท่านผู้หญิงออกไปเดินเล่นทุกเช้า จึงซื้อติดมือมาเป็นประจำมิได้ขาด” 

อาหารเช้าของอาจารย์ปรีดีก็ไม่มีอะไรมาก ขนมปัง 1 แผ่นทาเนย หรือแยม บางทีก็ครัวซองต์ 1 ชิ้น แฮม 1 ชิ้น หรือไข่ลวก 1 ฟอง กาแฟ 1 ถ้วย ท่านรับประทานช้าๆ คุยไปพลางมือก็บิขนมปังเป็นชิ้นเล็กๆ ป้ายด้วยเนยและแยมตามลำดับ บางทีพอทานอาหารเช้าเสร็จก็นั่งทำงานบนโต๊ะกินข้าวนี่เองเลย[37]


ปรีดี กับ ฉลบชลัยย์ และกองเอกสารบนโต๊ะอาหาร


ด้านมื้อกลางวันหรือมื้อเย็น จะนั่งทานรวมพร้อมกัน โดยมีอาจารย์ปรีดีนั่งตำแหน่งเก้าอี้หัวโต๊ะ เฉพาะมื้อเย็น กำหนดเวลา 19.00 น. ตรง ถ้าหากยังไม่ครบคนมักจะสั่นกระดิ่งเรียก อาหารมื้อนี้จะเป็นอาหารเบา เช่น ข้าวต้มเปล่าบ้าง เกี๊ยวน้ำบ้าง ฯลฯ กับข้าวข้าวต้มมักเป็นประเภทไข่เค็ม ซีเซ็กไฉ่กระป๋อง บางทีก็มีหมูต้มเค็มหรือหมูอบ


ปรีดีกับมื้อเช้าของท่าน


ทั้งนี้ ผู้ประกอบอาหารทุกมื้อคือคุณจิ๋ม (รจนา รัตนปาน) เธอสำเร็จมาจากโรงเรียนการเรือนสตรีพระนครใต้ที่เมืองไทยและอยู่กับท่านผู้หญิงมาหลายปี


กิจวัตรประจำวันของปรีดี


จากการสังเกตของจินดา อาจารย์ปรีดีมีวัตรปฏิบัติ ดังนี้

“โดยปรกติท่านอาจารย์จะตื่นแต่เช้า ประมาณ 06.00 น. พอตื่นแล้วท่านก็จะเดินออกมานอกห้อง ในช่วงระยะนั้นท่านจะสวมปียาม่าสีน้ำตาลไหม้ แล้วก็สวมทับด้วยเดร๊สซิ่งกาวน์ ตรงจากห้องนอนท่านก็เดินไปที่ห้องอเนกประสงค์ เมื่อพบหน้าใครก็ทักทายด้วยการกล่าวคำสวัสดีก่อน และถามสารทุกข์สุกดิบ อาทิเช่น นอนหลับสบายดีไหม? ที่นอนอุ่นพอหรือไม่? แล้วจากนั้นท่านก็กลับเข้าห้องนอนอีกครั้งหนึ่งเพื่อชำระสะสางร่างกาย และจะกลับออกมาเมื่อถึงเวลาอาหารเช้าประมาณ 08.00 น. ถึง 09.00 น.”

ครั้นผ่านงานประจำวันไปแล้ว “ท่านอาจารย์จะเข้านอนราว 21.00 น. โดยกล่าวอำลาไปนอนก่อน วิธีเดินก็อย่างเคย นั่นคือ ท่านมักเดินช้า ๆ ลากรองเท้าแตะ มือทั้งสองล้วงลงไปในเสื้อเสว็ตเต้อร์เนื่องจากมีกระเป๋าอยู่ทั้งสองข้างของตัวเสื้อ เมื่อท่านทั้งสองเข้านอนแล้ว ประตูห้องหนังสือก็จะปิด”[38]


เก้าอี้หวายตัวโปรด


ภายในห้องอเนกประสงค์มีเก้าอี้หวายหนึ่งตัวที่ถือเป็นเก้าอี้ประจำที่ท่านนั่งพักผ่อนอิริยาบถ จินดาบรรยายไว้ว่า “เก้าอี้ตัวที่ท่านอาจารย์นั่งประจำนั้น เป็นเก้าอี้หวายเดี่ยว มีท้าวแขนชนิดแข็งแรงซึ่งใช้พิงได้ด้วย ตรงปลายท้าวแขนทั้งสองข้างมีโลหะคล้ายทองเหลืองหุ้มอยู่ทั้งสองข้าง ยาวราวสามนิ้ว มีเบาะผ้าฝ้ายรองนั่ง ทั้งมีเบาะพิงพนักด้วย เก้าอี้เหล่านี้เย็บเหมือนกันหมดทุกตัว

สำหรับตัวที่ท่านอาจารย์นั่งประจำนั้น ตรงกลางเบาะจะบุ๋มลงไปหน่อยหนึ่ง เนื่องจากท่านนั่งอยู่ตัวเดียว โดยไม่ย้ายไปนั่งตัวอื่น ท่านผู้หญิงจึงต้องหาเบาะเล็ก ๆ มาใส่ไว้ใต้เบาะอีกทีหนึ่งเพื่อมิให้เป็นแอ่งตรงกลาง

เก้าอี้หวายเดี่ยวขนาดนั่งคนเดียวดังกล่าวมานี้มีอยู่สองตัว ตั้งคู่กัน ท่านผู้หญิงนั่งตัวหนึ่ง ในแนวเดียวกัน”[39]


ปรีดีบนเก้าอี้หวายตัวโปรด


สิ่งประดับสำคัญภายในบ้าน


จินดา ศิริมานนท์ เขียนถึงเครื่องประดับประดาภายในบ้านไว้หลายชิ้นอันสมควรยกขึ้นอ้างถึงไว้ ดังต่อไปนี้

  • “เหนือเตาผิงมีองค์พระแก้วมรกตจำลองขนาด 6 นิ้วหนึ่งองค์ แล้วก็มีดอกบัวชนิดประดิษฐ์สีขาวนวลบูชาอยู่ 3 ดอก”[40]
  • “ตอนบนของผนังมีพระรูปของสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ วาสน์ วาสโน – ผู้เขียน) ใส่กรอบไม้แขวนอยู่ มีอักษรใต้ภาพซึ่งทรงเซ็นให้ยาวหลายบรรทัด สมเด็จพระสังฆราชก็เป็นชาวอยุธยาเช่นเดียวกับท่านอาจารย์ ดูเหมือนท่านจะเป็นชาวบ่อโพง อำเภอนครหลวง”[41]
  • “บนผนังเหนือเตาผิงมีกรอบแบบกรอบรูป ลักษณะเป็นวงกลม ภายในกรอบนี้มีโบว์ใหญ่สีแดงสดจับเป็นจีบ ๆ ซ้อนกันเป็นวงกลมตรงกลางทิ้งชายลงมาเป็นสองแฉกอยู่ในกรอบนี้” ท่านผู้หญิงพูนศุขกรุณาอธิบายให้ว่าคือ “อิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของประเทศฝรั่งเศสที่ให้แก่ประมุขของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยท่านอาจารย์เป็นผู้ที่ได้รับเมื่อครั้งยังเป็นผู้สำเร็จราชการ”[42]
  • ที่สำคัญ บนผนังอีกแห่งปรากฏปฏิทินสีขาวดำของสหกรณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่แจกจ่ายแพร่หลายเมื่อวันแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ – จุฬา ฯ ซึ่งมีรูปเขียนอาจารย์ปรีดีอยู่ทางด้านหนึ่ง พร้อมด้วยคำกลอนอันมีชื่อเสียงลือลั่นสะท้านจิต ที่ว่า

“พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน

พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี

พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี

แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ…”[43]

ปฏิทินของสหกรณ์ธรรมศาสตร์นี้ ทราบว่าอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นผู้จัดส่งไปให้อาจารย์ปรีดีเป็นแผ่นแรกที่สุด “เล่ากันว่าท่านอาจารย์ดูภาพและอ่านกลอนนี้ รวมทั้งฟังกลอนด้วยความรู้สึกที่ตื้นตันใจเป็นที่สุดทุกครั้ง”[44]  


ปัจฉิมบท ‘ประดับไว้ในโลกา’


‘บ้านอองโตนีของปรีดี’ ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นอนุสรณ์สถานแห่งสำคัญของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย เฉกเช่นสองสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กลางเมืองกรุงเทพมหานครที่อันตรธานหายไปแล้ว คือ ‘หมุดคณะราษฎร’ และ ‘อนุสาวรีย์ปราบกบฏ’

ในแง่คุณูปการของปัจเจกบุคคล คู่สามีภริยา สุภา-จินดา ศิริมานนท์ ก็นับว่าได้มีส่วนร่วมในการบันทึกพงศาวดารภาคส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็น ‘ภาพถ่ายชุดสุดท้าย’ และ ‘จดหมายเหตุบ้านอองโตนี’ ของรัฐบุรุษอาวุโสผู้นำประชาธิปไตยสถิตคู่สังคมไทย

ณ ที่แห่งนี้ ‘ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์’ ในปัจฉิมวัยได้ครองชีวิตเคียงข้างกับภริยาอย่างสงบสุข ท่านผู้หญิงพูนศุขได้ฉายภาพฉากสุดท้ายของสามีด้วยความรักอาลัยยิ่งไว้ว่า

แดดอุ่นยามสายของวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 สาดลอดหน้าต่างเข้ามาภายในบ้าน อองโตนี นั้นดูประกายงดงามแปลกตา…ไม่มีสังหรณ์ใด ๆ ที่จะบ่งบอกถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นสักเพียงนิด หลังจากนายปรีดีตื่นนอน ทำกิจวัตรประจำวันเสร็จ จึงเดินไปยังโต๊ะทำงานที่มีตำรับตำราและเอกสารมากมายวางกองอยู่ นั่งลงเขียนอะไรบางอย่างตามปกติ แล้ววานดิฉันช่วยไปตามลูกสุดาให้มาช่วยตรวจทานอีกครั้ง ดิฉันกลับเข้ามาเพราะไม่พบลูกสุดาซึ่งออกไปทำงานแล้ว เห็นนายปรีดีถอดแว่นตาออกวางพลางขยี้ตาและพูดอะไรบางประโยคฟังไม่ถนัด ก่อนที่จะเอนตัวพิงพนักเก้าอี้ คอพับลงด้านข้างแล้วนิ่งไป…ดิฉันตกตะลึงจนแทบทำอะไรไม่ถูก…

ไม่มีร่องรอยของความเจ็บปวด ไม่มีความทุกข์ทรมานปรากฏให้เห็น สีหน้าที่เรียบสงบเหมือนกับคนนอนหลับของนายปรีดีนั้น ทำให้ดิฉันหวังใจว่า แต่นี้ไปนายปรีดีคงได้พักผ่อนให้หายจากความเหน็ดเหนื่อยกับวันวารของชีวิตที่ผ่านมา และพบกับความสงบสุขอย่างเป็นนิรันดร์เสียที[45]


ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านอองโตนี


ทั้งนี้ ปิยบุตร แสงกนกกุล มิ่งมิตรเจ้าของบ้านคนใหม่แสดงทัศนะถึงอนาคตของบ้านหลังนี้ในเบื้องต้นไว้ว่า

“แล้วจะมีโอกาสที่จะเปิดให้คนไทยเข้าชมหรือเปล่านั้น จากที่คุยกันเดือนพฤษภาคม เป็นเดือนพนมยงค์ เพราะ อ.ปรีดี ก็เกิดและตายเดือนนี้ ท่านผู้หญิงพูนศุขก็เกิดเดือนนี้ เราก็คิดอ่านกันว่า ไปแถลงข่าวกันที่บ้านอองโตนี และเชิญผู้อาวุโสที่เคยมีประวัติศาสตร์อยู่ที่นี่ นั่นก็คือ ทายาทตระกูลพนมยงค์ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่เคยเจอ อ.ปรีดี ที่บ้านหลังนี้ไป ซึ่งทั้งหมดตอบรับว่าจะไปด้วย

หลังจากนั้นเชื่อว่าพี่น้องชาวไทยที่ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังจากที่ไปเที่ยวปารีส อาจจะเป็นหมุดหมายหนึ่งที่นักท่องเที่ยวแวะมา[46]


ปิยบุตร “เล่าเบื้องหลัง” โดย มติชน



[1] สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว, ‘ธนาธร’ เล่าถึง ซื้อบ้านปรีดี พนมยงค์ ในฝรั่งเศส ดู https://www.youtube.com/watch?v=cH1clez77aE

[2] ธนาธร ซื้อบ้านปรีดี พนมยงค์ ที่อยู่ขณะลี้ภัยในฝรั่งเศส เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 2475, มติชนออนไลน์ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2567 จุดเชื่อมต่อ https://www.matichon.co.th/politics/news_4504614

[3] ปิยบุตร เล่าเบื้องหลัง-เปิดราคา ธนาธร ซื้อบ้านปรีดี พนมยงค์ ในฝรั่งเศส, มติชนออนไลน์ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2567 จุดเชื่อมต่อ https://www.matichon.co.th/politics/news_4510245

[4] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, หลากเรื่องเล่า เมื่อปรีดีหนีครั้งแรก จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/pridi-banomyong-first-asylum/

[5] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ปรีดีหนี ครั้งหลัง พ.ศ.2492 จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/pridi-banomyong-last-asylum/

[6] ดูคำสัมภาษณ์พระองค์เจ้าภาณุฯในสยามไทม์ ในหนังสือ ศิษย์อาจารย์ (สำนักพิมพ์สันติธรรม),น.24-27 พิมพ์โดยสุพจน์ ด่านตระกูล ไม่ระบุปีพิมพ์แต่เข้าใจว่าราวปี พ.ศ.2514

[7] สุพจน์ ด่านตระกูล, คุยกับท่านปรีดี ฯ (10),(ประจักษ์การพิมพ์ 2516),น.2.

[8] ดู สังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับ “ประชาธิปไตยตายเสียแล้ว?”  ฉบับที่ 6 ปีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2515 เป็นเล่มที่ลงบทความเรื่องรวมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ทั้งเล่ม.

[9] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม บรรณาธิการ, ปรีดี พนมยงค์ : ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส รับอัฐิธาตุ ท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ 6-11 พฤษภาคม 2529,น.43.

[10] นายปรีดี พนมยงค์ รวมปาฐกถา  บทความ และข้อสังเกต, วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม,(เจริญวิทย์การพิมพ์ 2516).

[11] เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ.2475-2500, พิมพ์ครั้งแรก 2516,(สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย), น.30-47.

[12] คำนิยมของ ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, พุทธปรัชญาประยุกต์ โดย ร.ท.สุภัทร สุคนธาภิรมย์ พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2517,(ประจักษ์การพิมพ์),น.(3)-(9).

[13] ปรีดี พนมยงค์ เขียน, จำนงค์ ภควรวุฒิ และ พรทิพย์ โตใหญ่ แปล.ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน,พิมพ์ครั้งแรก 2529, (สำนักพิมพ์เทียนวรรณ).

[14] ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของ นายปรีดี พนมยงค์ (จนถึง 24 กรกฎาคม 2525),พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2526, (เคล็ดไทย).

[15] บรรณานุกรมผลงานของนายปรีดี 135 รายการ ดู http://www.pridi-phoonsuk.org/pridi-bibliography/

[16] ผู้เขียนเคยทำบทความ “ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติปรีดี พนมยงค์” ดู ปาจารยสาร ปีที่ 45 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2564), น.6-83 และ ออนไลน์ https://pridi.or.th/th/content/2020/05/247

[17] กษิดิศ อนันทนาธร, 100 ปีแห่งชีวิต ฉลบชลัยย์ พลางกูร : ครูผู้มีชีวิตเพื่อผู้อื่น จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/100-years-of-chalobchlaya/

[18] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บทความ • บทสัมภาษณ์ครั้งแรกกับท่านปรีดี และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ที่ปารีสประเทศฝรั่งเศส พ.ศ. 2513 (1970) กับ ครั้งสุดท้ายในบางกอก สยามประเทศ (ไทย) พ.ศ. 2544 (2001) จุดเชื่อมต่อ https://pridi.or.th/th/content/2021/05/691

[19] สถาบันปรีดี พนมยงค์, ฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องปรีดี EP 4: พระไพศาล วิสาโล จุดเชื่อมต่อ https://www.youtube.com/watch?v=siSKhiWU5ss

[20] สุลักษณ์ ศิวรักษ์, นายปรีดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก ใน  ปรีดี พนมยงค์ แกร่งกล้าทุกสมัย, (มติชน 2526),น.112 และ ดู กษิดิศ อนันทนาธร “ผู้เกินกว่าราชา” และ “สวะสังคม” จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/ultra-royalist-and-social-scum/

[21] อรุณ เวชสุวรรณ, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ บิดาแห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย, พิมพ์ครั้งแรก พ.ค.2526,(เคล็ดไทย).

[22] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2526,(เคล็ดไทย).

[23] ‘รงค์ วงษ์สวรรค์. วานปีศาจตอบ,พิมพ์ครั้งแรก 2549,(มติชน),น.387-403.

[24] ตะวันใหม่ ปีที่ 3 ฉบับที่ 113 จันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2523 ฉบับพิเศษ 80 ปี รัฐบุรุษอาวุโส.

[25] จินดา ศิริมานนท์, ความทรงจำจากบ้านชานกรุงปารีส ปัจฉิมชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, จัดพิมพ์โดย ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เนื่องในโอกาส 10 ปีแห่งการจากไปของนายปรีดี พนมยงค์ , พิมพ์ครั้งแรก 11 พฤษภาคม 2536, (เรือนแก้วการพิมพ์), น.75.

[26] ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นผู้จัดพิมพ์ เนื่องในโอกาส 10 ปีแห่งการจากไปของนายปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งแรก 11 พ.ค.2536,น.คำชี้แจง.

[27] อย่างไรก็ตาม คุณจินดาผู้บันทึกนี้ เล่าไว้ในท้ายเล่มว่า “ท่านผู้หญิงเล่าว่า ก่อนหน้าจะซื้อบ้าน ท่านเคยเช่าอพาร์ทเม้นท์อยู่ในตัวเมืองเป็นเวลา 2 หรือ 3 ปี” (ดู น.72)

[28] นรุตม์, หลากบทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ผู้ใช้ธรรมเป็นแสงสว่างส่องทางให้ชีวิต, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2551, (แพรวสำนักพิมพ์), น.109-110.

[29] จินดา ศิริมานนท์, ความทรงจำจากบ้านชานกรุงปารีส ปัจฉิมชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, จัดพิมพ์โดย ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เนื่องในโอกาส 10 ปีแห่งการจากไปของนายปรีดี พนมยงค์ , พิมพ์ครั้งแรก 11 พฤษภาคม 2536, น.65.

[30] อ้างแล้ว, น.44.

[31] อ้างแล้ว, น.37.

[32] อ้างแล้ว, น.37.

[33] อ้างแล้ว, น.16-18.

[34] อ้างแล้ว, น.25.

[35] อ้างแล้ว, น.31-32.

[36] อ้างแล้ว, น.77.

[37] อ้างแล้ว, น.81.

[38] อ้างแล้ว, น.80.

[39] อ้างแล้ว, น.63.

[40] อ้างแล้ว, น.49.

[41] อ้างแล้ว, น.71.

[42] อ้างแล้ว, น.48.

[43] อ้างแล้ว, น.64.

[44] อ้างแล้ว, น.65.

[45] นรุตม์, หลากบทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ผู้ใช้ธรรมเป็นแสงสว่างส่องทางให้ชีวิต, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2551, (แพรวสำนักพิมพ์), น.112.

[46] ปิยบุตร เล่าเบื้องหลัง-เปิดราคา ธนาธร ซื้อบ้านปรีดี พนมยงค์ ในฝรั่งเศส, มติชนออนไลน์ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2567 จุดเชื่อมต่อ https://www.matichon.co.th/politics/news_4510245 และดู Piyabutr classroom, เบื้องหลัง! ธนาธร ซื้อบ้าน อ.ปรีดี ที่ฝรั่งเศสได้อย่างไร? จุดเชื่อมต่อ https://www.youtube.com/watch?v=3YQt48vJVpw

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save