fbpx

หลากเรื่องเล่า เมื่อปรีดีหนีครั้งแรก

ปรีดี พนมยงค์

“พวกเราจะเปลี่ยนรัฐบาล” คณะรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490

“ทำไมมาเปลี่ยนที่นี่ ทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภาเล่า?” ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

ทุกปีเมื่อเวลาเวียนวนเข้าถึงเดือนพฤษภาคม แวดวงประชาธิปไตยไทยล้วนพร้อมเพรียงกันรำลึกถึงท่านรัฐบุรุษอาวุโส ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ‘ผู้อภิวัฒน์ 2475’ เนื่องด้วยเป็นทั้งเดือนแห่งชาตกาลและมรณกาลของมันสมองผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายนท่านนี้

ตลอดเวลา 15 ปีแห่งการครองอำนาจของ ‘คณะราษฎร’ ระหว่างปี พ.ศ. 2475 – 2490 ปรีดี พนมยงค์ ต้องเผชิญศึกเล็กศึกใหญ่ในสนามการเมืองนับจากปีแรกที่ขึ้นสู่อำนาจ จนท้ายที่สุดถูกล้มกระดานการเมืองด้วยอำนาจอันไม่ชอบธรรมจากรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 

ปีก่อน พ.ศ. 2564 ผู้เขียนเคยได้รวบรวมเอกสารชั้นต้นบางชิ้นเขียนเป็นบทความ ‘ปรีดีนิราศ ปรีดีนิวัติ’ [1] อันเป็นเรื่องการเนรเทศปรีดีไปยังต่างประเทศครั้งแรกหลังคณะราษฎรครองอำนาจไม่ถึงปีเมื่อเดือนเมษายน 2476 ในปีนี้ พ.ศ. 2565 จึงเห็นควรจะนำเสนอต่อเนื่องถึงจุดจบคณะราษฎรสายพลเรือนผ่านบทความ ‘ปรีดีหนีครั้งแรก’ นี้


ปรีดีเล่าเอง


“คืนวันเดียวกับที่เกิดรัฐประหาร ข้าพเจ้าได้หลบหนีทหารที่ล้อมรอบบ้านพักออกไปได้อย่างหวุดหวิด และข้าพเจ้าได้ไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนทหารเรือที่ฐานทัพเรือสัตหีบอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อสู้ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองไทย ลี้ภัยไปอยู่ในสิงคโปร์ก่อน โดยรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างสันติ” [2] ปรีดี พนมยงค์

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2516 ปรีดีส่งจดหมายจากกรุงปารีสถึง สุพจน์ ด่านตระกูล แสดงความเห็นถึงหนังสือที่มีความจริงคลาดเคลื่อนในเล่ม ‘รัฐบุรุษอาวุโสลี้ภัยรัฐประหาร’ เช่น พระองค์เฉลิมพลมิได้ติดตามปรีดีไปที่บ้านเดนิสและมิได้เอาเครื่องบินไล่ติดตามระหว่างปรีดีลี้ภัย ทั้งขอร้องให้สุพจน์เห็นใจและยับยั้งการพิมพ์เล่ม ‘จากกรุงเทพฯถึงปักกิ่ง’ โดยให้เหตุผลว่า “มีผู้ช่วยเหลือผมหนีหลายคนที่เขายังสงวนความลับอยู่ ถ้าคุณงดไว้ชั่วคราวได้จะขอบใจมาก เพราะถ้าคุณเขียนจากคำบอกเล่าและคำสันนิษฐานผิดพลาดไปแม้แต่น้อย ผู้ช่วยเหลือผมก็จะเข้าใจผิดว่าผมบอกให้คุณเขียนเช่นนั้น โดยลืมผู้มีบุญคุณช่วยชีวิตไว้ เรื่องนี้ยังเป็นความลับอีกมาก”

ทั้งยังสำทับว่า “ขอแจ้งให้คุณทราบว่า หนังสือที่ผมแต่งเกี่ยวกับชีวิตและการไปเมืองจีน เป็นภาษาฝรั่งหลายภาษา จะพิมพ์ออกในไม่ช้านี้ ถ้าคุณเขียนอย่างหนึ่งและผมเขียนอีกอย่างหนึ่ง ก็จะทำให้หนังสือที่คุณแต่งหมดคุณค่าไป และจะเกิดความเสียหายแก่ผมมาก จึงขอให้คุณรอไว้ว่าผมได้เขียนเพียงแค่ไหนอย่างไร แล้วจึงปรึกษากันว่าภาษาไทยจะพิมพ์แค่ไหน” [3]

หนังสือเล่มที่ปรีดีกำลังเขียนขณะนั้น เข้าใจว่าคือเล่ม ‘MA VIE MOUVEMENTÉE ET MES 21 ANS D’EXIL EN CHINE POPULAIRE’ ประพันธ์เป็นภาษาฝรั่งเศส ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2515 และได้รับการ ‘แปลบางส่วนเป็นภาษาไทย’ หลังอสัญกรรมของปรีดีสามปีเมื่อ พ.ศ. 2529 ในชื่อ ‘ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน’


ปก MA VIE MOUVEMENTÉE ET MES 21 ANS D’EXIL EN CHINE POPULAIRE พ.ศ. 2515
ปก “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน” พ.ศ. 2529


ท่านผู้หญิงพูนศุขเปรยไว้ในคำนำฉบับแปลนี้ไว้ว่า

“ด้วยผู้เขียนประสงค์จะให้ชาวต่างประเทศอ่าน จึงมีข้อความอธิบายหลายตอน ซึ่งไม่จำเป็นสำหรับคนไทย ดังนั้น เมื่อมีผู้ขออนุญาตแปลเป็นภาษาไทย ผู้เขียนจึงไม่อนุญาต และตั้งใจจะแปลด้วยตนเอง แต่เนื่องจากผู้เขียนต้องใช้เวลาต่อสู้กับผู้ไม่หวังดี ที่สร้างความเท็จขึ้นมาใส่ร้ายป้ายสีอยู่เรื่อยๆ จึงยังไม่มีโอกาสได้ทำตามปรารถนา

บัดนี้ เวลาล่วงเลยมาจนผู้เขียนหาชีวิตไม่แล้ว จึงมีผู้ขอแปลเพื่อให้ผู้ที่ไม่รู้ภาษาฝรั่งเศสได้อ่าน ซึ่งข้าพเจ้าในฐานภรรยาของผู้เขียนก็ยินดี ด้วยเห็นว่า เป็นเรื่องจริงที่น่ารู้ นับตั้งแต่ผู้เขียนสนใจการอภิวัฒน์ในต่างประเทศ การก่อตั้ง “คณะราษฎร” และการอภิวัฒน์จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 รวมอยู่ด้วย

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนแรกเกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศ และสาเหตุที่ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ตอนที่สองเกี่ยวกับประสบการณ์ในประเทศจีน ที่ผู้เขียนได้อาศัยอยู่เป็นเวลานานถึง 21 ปี ได้เห็นกับตาได้ยินกับหู และบางเรื่องก็ได้สัมผัสด้วยตนเอง แต่กาลเวลาที่ล่วงมา กับสภาพที่ได้เห็น เปลี่ยนแปลงไปเกือบหมดสิ้น ซึ่งจะนำมาพิมพ์ในโอกาสต่อไป

สำนวนการแปลนั้น ได้พยายามอย่างดีที่สุดในการเรียบเรียงให้ตรงกับความตั้งใจของผู้เขียน หากมีข้อบกพร่องผิดพลาด หรือข้อแนะนำที่จะทำให้หนังสือแปลเรียบเรียงนี้สมบูรณ์ขึ้น ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านจะกรุณาแจ้งมาให้ทราบ เพื่อประโยชน์ในการจัดพิมพ์ครั้งต่อๆ ไป” [4]

ถึงแม้หนังสืออัตชีวประวัติเล่มสำคัญนี้จะไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยทั้งฉบับ กระนั้น เฉพาะภาคต้นก็เพียงพอที่จะฉายภาพชีวิตของผู้เขียนนับแต่ปฐมวัยจนถึงสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองด้วยการลี้ภัยทั้ง 2 ครั้ง ที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จำเป็นต้องอ่าน


ฤกษ์ ‘โค่นปรีดี’ รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490


คณะราษฎรสายพลเรือนของปรีดี พนมยงค์ สูญสิ้นอำนาจรัฐด้วยการทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 พร้อมกับการบดขยี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดและแทนที่ด้วย ‘รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม’

หัวหน้าคณะรัฐประหารเจ้าของฉายา ‘วีรบุรุษเจ้าน้ำตา’  พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ได้ขอร้องจอมพล ป. ถึง 3 คำรบ จากคราวแรกถูกปฏิเสธว่า “ป๋าจะมาชักชวนผมให้ติดตะรางอีกหรือ” จนครั้งสุดท้ายเมื่อจอมพล ป. เดินขึ้นบ้าน ท่านผู้หญิงละเอียด ยึดแขนจอมพลผินพลางกล่าวว่า “ป๋าทำไปเถิด ท่านไม่ทิ้งดอก เล่นตัวไปอย่างนั้นเอง”[5]

ด้านบุตรเขย พ.ท.เผ่า เข้าทาบทามผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ถึง 3 ครั้งเช่นเดียวกัน ซึ่ง “ในที่สุดของการเข้าไปก้มกราบเพื่ออ้อนวอนอย่างลูกแกะเข้าไปหาราชสีห์นั้นได้นำมาซึ่งความสมปรารถนา อย่างไม่คาดฝัน…พล.ร.อ.หลวงสินธุ์สงครามชัย ซึ่งร่วมมือกระทำโดยซุ่มตัวมิได้ออกหน้าแต่อย่างใด”[6]

6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 การประชุมครั้งแรกเกิดขึ้นที่บ้าน พ.อ.สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัยฯ บริเวณวังสมเด็จพระมาตุฉาฯ ถนนพระราม 6 ปทุมวัน อภิปรายกันว่า ขณะนี้มีคณะรัฐประหารคิดอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเจ้า กลุ่มเผด็จการ และกลุ่มมหาชนรัฐ ได้แก่พวกปรีดี ฉะนั้น จึงกำหนดเวลากระทำรัฐประหารให้กระชั้นขึ้น วันกำหนดยึดอำนาจคือ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490! ความเห็นของที่ประชุมตกลงว่าควรจะเร่งดำเนินการ แต่ ร.ต.ทองคำ ยิ้มกำภู โหรรัฐประหารวางฤกษ์ชะตาจอมพล, ปรีดี, หลวงอดุลฯ หลวงธำรงฯ เห็นว่า ควรจะเป็นวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490![7]

ทั้งนี้ มีความลักลั่นไม่สอดคล้องในการอ้างถึงปฏิบัติการเข้าควบคุมตัวปรีดีที่ท่าช้าง ซึ่งมักกล่าวว่าบังเกิดขึ้นคืนวันที่ 8 แต่ปรากฏหลักฐานชั้นต้นของ 2 บุคคลจาก 2 ฟากฝ่าย คือหนึ่ง จอมพลผิน ระบุคืนวันที่ 7[8] สอดคล้องกันกับสอง ฉลบชลัยย์ พลางกูร ที่บันทึกว่าเช้าตรู่ 8 พฤศจิกายน “ได้ข่าวรัฐประหารก็รีบไปที่บ้านท่าช้าง พบว่าท่านปรีดีปลอดภัย”[9]


ปรีดีหนีครั้งแรก 8 พ.ย. 2490


เรื่องเล่าปรีดีหนีเมื่อครั้งรัฐประหาร 2490 พอกล่าวได้ว่าถูกผลิตซ้ำมากที่สุดโดยภริยาคู่ชีวิตคือท่านผู้หญิงพูนศุขในหลากหลายวาระ รวมทั้งผลงานของสุพจน์ ด่านตระกูล ที่ได้รับการถ่ายทอดจากผู้ประสบเหตุมาอีกชั้นหนึ่ง

ผู้เขียนพบว่ายังคงมีบันทึกของบริวารรอบกายของปรีดีในเหตุการณ์นั้นอีกบางชิ้นที่เข้าข่าย ‘ชั้นต้น’ อันยังมิใคร่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก ดังเห็นสมควรนำเสนอตามลำดับต่อไปนี้


ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช ร.น. (พ.ศ. 2457 – 2539)

คำบอกเล่าในอนุสรณ์งานศพของ ‘องครักษ์พิทักษ์ปรีดี’


ชื่อของ ร.อ.วัชรชัย มักได้ยินเคียงคู่กับปรีดีช่วงลี้ภัยจากการเมือง พ.ศ. 2490 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นราชองครักษ์ในสมัยที่ปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ 8 และเข้าร่วมงานเสรีไทยระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา หลังปรีดีขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 ร.อ.วัชรชัยได้ลาออกจากกองทัพเรือเข้าดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกรัฐมนตรีกระทั่ง “เมื่อเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 รัฐบาลชุดนั้นได้สร้างเรื่องใส่ร้ายสร้างพยานเท็จในกรณีสวรรคต ทำให้ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช ร.น. ผู้บริสุทธิ์จำต้องจากลูกจากเมียไปพำนักยังต่างประเทศ(จีน) โดยขาดการติดต่อกับทางครอบครัวถึง 27 ปี และต่อมาได้ย้ายจากแผ่นดินใหญ่จีนเข้ามาพำนักที่มาเก๊า เพื่อขอเข้ามาเมืองไทย แต่รัฐบาลไทยในยุคนั้นไม่อนุญาต จึงต้องพักอยู่ที่มาเก๊า จนมาถึงรัฐบาลอีกยุคหนึ่ง ถึงได้กลับมาเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ. 2513 รวมการจากลูกเมียนานถึง 23 ปีเต็ม”[10]

วัชรชัยมีชีวิตยืนยาวต่อจากนั้นอีก 26 ปี จนสิ้นชีวิตในวันรำลึกเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน เมื่อ พ.ศ. 2539 รวมอายุได้ 83 ปี[11]

วัชรชัยถ่ายทอดเหตุการณ์ปรีดีหนีทั้งสองครั้งให้นายวรรณไว พัธโนทัย รับฟังอย่างละเอียดไว้ในหนังสืองานศพ ณ ที่นี้ผู้เขียนขอคัดลอกเฉพาะ ‘ปรีดีหนีครั้งแรก 2490’ มาแบ่งปันกันอ่าน


หนังสืองานศพ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช ร.น.


เริ่มที่ประเด็นเรื่องคืนวันรัฐประหารที่ถึงแม้จอมพลผินและฉลบชลัยย์จดจำว่าปรีดีหนีในคืนวันที่ 7 แต่ทหารคนสนิทของปรีดี ‘คุณตุ๊’ หรือ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช ย้อนรำลึกไว้อย่างมั่นใจว่าเป็นคืนวันที่ 8 ด้วยว่า

“…วันนั้น เป็นวันอาทิตย์[12] ทำไมลุงจึงจำได้ว่าเป็นวันอาทิตย์ เพราะวันเสาร์มันมีม้า ลุงไปเล่นม้าด้วย กลางคืนกลับมาหลับอยู่ ชอุ่ม (ชอุ่ม ศาลิคุปต ผู้ภรรยา) ปลุกขึ้นมา บอกเสียงรถเกราะมันวิ่งตอนนั้นมันมีเสียงหึ่งๆ ว่าจะรัฐประหาร…ลุงนอนต่อ พอจวนจะหกโมงได้ มีโทรศัพท์กริ๊งมาที่บ้านเป็นโทรศัพท์มาจากคุณเกื้อสามเสนลูกคุณมังกร สามเสน ผู้แทนกรุงเทพ เขาโทรมาบอก คุณตุ๊เกิดเรื่องแล้ว…ไอ้รถเกราะมันวิ่งผ่านสามเสนบ้านแกไปทางเทเวศร์แล้วตรงมาทางบางลำภู คือมันจะมาจับอาจารย์ปรีดี (พนมยงค์) น่ะแหละ ลุงก็รีบไปที่ทำเนียบท่าช้างทันที เอาปืนใส่รถไปด้วย…ไปถึงทำเนียบท่าช้าง ก็ไม่เจออาจารย์ (ท่านปรีดี พนมยงค์) อาจารย์หนีไปแล้ว เจอแต่ท่านผู้หญิงพูนศุข ก็ถามท่านว่า อาจารย์ไปไหน ท่านผู้หญิงบอกลงเรือจ้างไป ไปรู้ไปไหน อาจารย์ก็ไม่ได้บอกท่านผู้หญิงว่าไปไหน”

วันเดียวกันนั้นเอง (9 พ.ย.) วัชรชัยรุดไปหาปรีดีที่บ้านคุณลิขิต และติดตามต่อด้วยเรือยนต์จนไปพบปรีดีที่บ้านนายตำรวจชื่อสมศักดิ์ในคลองวังหลวง ซึ่งขณะนั้น “อาจารย์นั่งฟังวิทยุอยู่คนเดียว”

ทันทีที่พบตัว วัชรชัยถามท่านว่า “อ้าว อาจารย์ทำไมมานั่งฟังวิทยุอยู่ยังไง เขารัฐประหารแล้ว จะเอายังไงก็เอา จะสั่งยังไงก็สั่งซิ นั่งอยู่อย่างนี้ก็เหมือนปล่อยให้เขาเล่นงานเราข้างเดียว” เขารีบโทรศัพท์ติดต่อตามตัวหลวงสังวรยุทธกิจเพื่อให้ทั้งคู่พบกันยังโรงเรียนนายเรือที่วังเดิม โดยให้ความเห็นว่า “จะให้อาจารย์เจอกับหลวงสังวรฯ จะได้ร่วมสั่งงานกันได้ สองคนนี้สำคัญ หลวงธำรงฯ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) น่ะไม่สำคัญหรอก แกเป็นนายกฯตามที่อาจารย์ให้เป็น”

ส่วนด้านผู้บัญชาการทหารเรือ หลวงสินธุสงครามชัย ตามที่สารคดีการเมืองไทสัปดาห์อ้างไว้ข้างต้นว่า เผ่าเคยไปพบเพื่อขอความร่วมมือดูเหมือนจะมีมูล เมื่อวัชรชัยเองตัดพ้อด้วยความผิดหวังให้วรรณไวฟังว่า “หลวงสินธุ์แกหลบ ลุงเข้าใจว่าหลวงสินธุ์แกคงแอบตกลงกับฝ่ายรัฐประหารแล้ว แกไม่เล่นกับอาจารย์แล้ว หลวงสินธุ์ไม่ยอมมาพบ”

‘คุณลิขิต’ ที่วัชรชัยเอ่ยถึงข้างต้นคือ ขุนลิขิตสุรการ (ตั้ง ทรรพวสุ – พ.ศ. 2445 – 2498 )[13] ท่านขุนผู้นี้[14]กับพระมหาผัน เจ้าอาวาสวัดกล้วย บอกเล่ารายละเอียดการหลบหนีของปรีดีโดยละเอียดต่อนักหนังสือพิมพ์ นเรศ นโรปกรณ์ นำไปเผยแพร่ในนิตยสารไทสัปดาห์ ขณะขุนลิขิตช่วยพาหนี และหลบซ่อนอยู่แถวท่าน้ำวัดนางชี คลองภาษีเจริญ ปรีดียังมั่นใจจะได้กลับไปเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อพูดถึงจอมพลอดีตเพื่อนน้ำมิตร ใบหน้าของเขาจะขรึมและสลดลงทันที เขาเอ่ยด้วยน้ำเสียงต่ำๆ ในตอนหนึ่งว่า “จอมพลไม่น่าทำอย่างนี้ อายุความก็ยังไม่หมด…..จะเอายังไงก็บอกกันได้…”

ไม่มีใครเข้าใจคำพูดของเขา แม้แต่ขุนลิขิตฯก็มีสีหน้าสงสัย อายุความเรื่องอะไรกัน? แต่ก่อนที่ใครจะถามต่อ เขาก็เปลี่ยนเรื่องพูดเสียแล้ว[15]


ขุนลิขิตสุรการ (ตั้ง ทรรพวสุ)


ฉากปรีดีหนีจากบ้านพระอาทิตย์จวบจนก่อนวัชรชัยตามตัวพบนั้น  ‘เฉียบ อัมพุนันทน์’ นายตำรวจสันติบาลขณะนั้นได้เดินทางเข้าหารือกับปรีดีที่ฐานทัพเรือสัตหีบหลังการหนีออกจากพระนครสำเร็จ ณ ที่แห่งนั้นเฉียบได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวอีกทอดจาก ‘บัว กลางการ’ ไว้ว่าเวลาที่ปรีดีหนีลงเรือจ้างคือราว 23.00 น.

“เวลานั้นท่านแต่งตัวนุ่งกางเกงแพรดำ สวมเสื้อยืดแขนสั้นสีขาว มีผ้าขาวม้าคาดพุง แล้วก็สวมรองเท้าคัตชู ก่อนจะลงเรือท่านได้โทรศัพท์ไปหาคุณหลวงอดุลฯ ที่วังปารุส แต่สายโทรศัพท์ได้ถูกตัดเสียแล้ว…” ในเรือจ้างลำนั้น นั่งกันไป 3 คน คือ ส.ต.ต.สิงห์โต ไทรย้อย นั่งหัวเรือ  ปรีดี พนมยงค์  นั่งกลาง รวมทั้งตัวผู้เล่า นายบัว กลางการ โดยมีคนแจวอีกหนึ่งคน[16]

ครั้นเริ่มแจวไปถึงปากคลองบางกอกน้อย ได้แวะขึ้นบ้านขุนลิขิต[17] พักอยู่ถึง 4.00 น. จึงออกเรือต่อไป ขุนลิขิตฯ ลงเรือไปด้วยกันกระทั่งถึงบางกรวย เพื่อพบนายตำรวจคนหนึ่งยศร้อยโทชื่อสมศักดิ์ให้ช่วยเหลือจัดที่พักให้ ซึ่งนายตำรวจท่านนี้ได้จัดหาเรือยนต์เดินทางต่อไปพักบ้านภรรยาของเขา ซึ่งอยู่ในคลองซอยที่จะทะลุคลองบางหลวง จนเวลา 9 โมงเช้าจึงได้พักผ่อนที่บ้านภรรยานายตำรวจท่านนี้

อาจารย์ปรีดีสั่งให้ท่านขุนลิขิตฯ กลับไปบอกท่านผู้หญิงพูนศุขว่าปลอดภัยแล้วและให้เอาเสื้อผ้าด้วย และใช้ให้ติดต่อกับเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธเวชช …ในท้ายที่สุด ปรีดี สามารถเดินทางถึงฐานทัพเรือสัตหีบเมื่อวันที่ 11 พ.ย. เวลา 21.00 น.[18] ดังมีรายละเอียดที่ผู้เขียนค้นพบในอนุสรณ์งานศพของ พล.ร.อ.จริง จุลละสุขุมพล ที่เรือตรีบุรินท์[19] พงศ์สุพัฒน์ เล่าถึงเหตุการณ์ ‘ปรีดีหนี 2490’ ไว้ในคำอาลัยว่า

“ผมมีส่วนในการควบคุมเรือโบ๊ตติดเครื่องยนต์ประจำเรือรบหลวงโพสามต้น เดินทางพา พล.ร.ต.หลวงสังวรยุทธกิจ และ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ จากบางนาเข้าไปส่งท่านทั้งสองที่พระราชวังเดิม ในตอนเย็นของวันที่ 9 พฤศจิกายน เพื่อพบปะกับหลวงสินธุสงครามชัย และนายทหารชั้นผู้ใหญ่หารือกันในสถานการณ์ที่เกิดการรัฐประหารขึ้น ต่อวันที่ 10 พฤศจิกายนตอนสาย พล.ร.ต.ชลิต กุลกำม์ธร (รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ – แต่ก่อนมีชื่อเรียกว่า กองเรือรบ) ได้สั่งการให้ผมใช้เรือยนต์ ร.ล.โพสามต้นเป็นพาหนะ พา นายปรีดี หลวงสังวรฯ และ พล.ร.ต.ทหารฯ เดินทางจากพระราชวังเดิมไปหลบอยู่ในสวนในละแวกสำโรงเวลากลางคืน ก็มาพักแรมอยู่ในกรมสรรพาวุธทหารเรือบางนา ต่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ในตอนสาย ผมจึงได้รับคำสั่งให้พานายปรีดี หลวงสังวรฯ จากบางนาไปส่งที่บริเวณเหนือพระสมุทรเจดีย์ สมุทรปราการ เพื่อเดินทางไปลี้ภัยที่ฐานทัพเรือสัตหีบต่อไป ในการนี้ ร.อ.(ยศในขณะนั้น) จริง จุลละสุขุม เป็นผู้นำเรือ ทร.เรือลำเลียงขนาดย่อม เดินทะเลได้ออกเดินทางจากกองเรือยุทธการในกรุงเทพฯ ตามคำสั่งของผู้ใหญ่ไปรับช่วงรับเอานายปรีดี หลวงสังวรฯ พร้อมด้วยคณะติดตามเดินทางไปลี้ภัยในกรมนาวิกโยธินสัตหีบต่อไป หลังจากนั้นอีกประมาณ 7 หรือ 10 วัน นายปรีดี จึงได้ลี้ภัยจากสัตหีบต่อไปอีกยังประเทศสิงคโปร์”[20]

ณ ฐานทัพเรือสัตหีบก่อนปรีดีหนีออกไปสิงคโปร์ ผู้เขียนขอแทรกเรื่องราวที่เฉียบ อัมพุนันทน์ เขียนเล่าไว้ว่า “ขุนพลภูพาน เตียง ศิริขันธ์” ก็เดินทางมาพำนักด้วย และว่ากำลังจะกลับไปสกลนครวันถัดไป ทั้งบอกกล่าวกับเฉียบว่า “ผมจะกลับไปยึดอิสาณ…..เตรียมตัวรบ เราจะไม่ขึ้นต่อรัฐบาลของพวกรัฐประหารนี้ เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผมจะประกาศอิสาณเป็นอิสระ….จนกว่าเราจะได้รัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง”[21]

หลังจากผละจากนายเตียง เฉียบได้เข้าพบปรีดีเพื่อวางแผนยึดอำนาจกรมตำรวจกลับคืน ปรีดีได้เรียก ร.อ.วัชรชัยให้นำเงินมาแบ่งไว้ “เลขาฯ ของท่านควักเอาธนบัตรปึกใหญ่ฉบับละ 100 บาทล้วนออกจากกระเป๋ากางเกงส่งให้ท่านซึ่งข้าพเจ้ากะประมาณว่าราว 6-7 พันบาท” และมอบให้เฉียบไว้ 11 ใบ “เอ้า, คุณเฉียบก็เอาติดกระเป๋าไว้บ้าง”[22] อย่างไรก็ดี ในท้ายสุดปรีดีเลือกตัดสินใจที่จะหนีออกนอกประเทศแทนที่จะอยู่สู้ 

เบื้องต้นอาศัยพาหนะรถเชฟ อันเป็นรถประจำตำแหน่งของผู้บัญชาการกองพลนาวิกโยธิน ปรีดี พร้อมด้วยคณะผู้อารักขาทั้งหมด 6 คน รวมทั้งพลขับซึ่ง พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการกองพลนาวิกโยธินได้มอบหมายหน้าที่ให้ อาจารย์ปรีดีพรางกายแต่งชุดเครื่องแบบทหารเรือยศพันจ่า สวมแว่นตาดำและถอดฟันปลอมออกทั้งชุด แก้มซึ่งอวบอูมก็กลายเป็นแห้งตอบ ทำให้ใบหน้าผิดเป็นคนละคน ส่วนผู้ติดตามให้ความอารักขาอีก 4 คน รวมทั้งพลขับก็อยู่ในเครื่องแบบทหารเรือและชุดสีกากีลำลอง คือ อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวช (พี่ชายวัชรชัย ) และ ส.ต.ท.สิงห์โต ไทรย้อย[23]


จากกรุงเทพ สู่ สิงคโปร์

“ข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อน ได้ไปพบนาวาเอก สแตรทฟอร์ด เดนิส ซึ่งเคยร่วมต่อสู้ระหว่างสงครามภายใต้การนำของลอร์ด เมานท์แบทเตน และขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ เพื่อขอให้ติดต่อกับทูตอังกฤษ แจ้งให้ทราบถึงความประสงค์ของข้าพเจ้าในการเดินทางไปสิงคโปร์ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง นาวาเอก เดนิส และนาวาเอก การ์เดส ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรืออเมริกัน ได้ช่วยกันนำข้าพเจ้าออกจากท่าเรือกรุงเทพฯ จนกระทั่งออกไปยังทะเลลึกโดยเรือยนต์ของการ์เดส ซึ่งนำโดยการ์เดสเองพร้อมด้วยภรรยาและน้องภรรยา ต่อมาเราก็ลงเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์ กัปตันเรือบรรทุกน้ำมันและเจ้าหน้าที่ประจำเรือได้ต้อนรับเราอย่างอบอุ่น และอำนวยความสะดวกอย่างดียิ่ง”[24] ปรีดี พนมยงค์


ปรีดี พนมยงค์ ขณะลี้ภัยที่สิงคโปร์ พ.ศ. 2490


ฉากการหลบเข้ากรุงเทพฯ เพื่อติดต่อนักการทูตต่างประเทศหาเรือหนีออกนอกประเทศของปรีดีข้างต้นสามารถหาอ่านอย่างมีอรรถรสในข้อเขียนของวัชรชัย ดังนี้

“…ไอ้เราก็ไม่รู้ว่าแกจะเข้ากรุงเทพเข้ามาทำอะไร อาจารย์บอกเข้ากรุงเทพ เอ้า เข้าก็เข้า ระหว่างทางแวะที่เมืองชลบุรี ลุงบอกให้อาจารย์เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเป็นทหารซะ เพราะเวลานั้นมันตั้งด่านตรวจรถหมด ลุงให้อาจารย์แต่งตัวเป็นพันจ่า แล้วเอารถของคุณทหารซึ่งเป็นรถของผู้บัญชาการนาวิกโยธิน เป็นรถทหารจึงนั่งผ่านมาได้ทุกด่าน ลุงเข้ากรุงเทพผ่านถนนสุขุมวิท ยังเห็นคุณฉลบ (ฉลบชลัยย์ พลางกูร ภรรยาคุณจำกัด พลางกูร) กับชอุ่ม (ภรรยา) แล่นรถสวนไป เขาโบกมือใหญ่ ลุงบอกรถอย่าหยุด เพราะจะเสียเวลากลางทาง เดี๋ยวพอดีถูกจับกันหมด ลุงก็ให้ไปหลบเข้าที่ซ่อนเสียก่อน อาจารย์บอกให้เลี้ยวเข้าซอยนานา ลุงถามอาจารย์จะมาหาใคร เข้าไปก็เป็นบ้านของนายนาวาเอกเดนนิส ฑูตทหารเรือของอังกฤษ คนนี้รู้จักอาจารย์ตอนทำเสรีไทยร่วมกัน

ในรถเราตอนนั้นมีหลายคน มีคุณแช่ม พรหมยงค์ คุณสิงโต และพี่เล็ก (ร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวชช พี่ชายของ ร.อ.วัชรชัย) เมื่อเข้าไปในบ้านเดนนิส ก็ให้พี่เล็กลงมาติดต่อบอกว่ามิสเตอร์รู้ธ (นามแฝงของท่านปรีดีเมื่อครั้งทำเสรีไทย) มาหาอยู่ในรถ เขาก็เดินมา ตอนนั้นอาจารย์ถอดฟันปลอมออก คางบุ๊มไป ไอ้เดนนิสมันจำไม่ได้ พออาจารย์เอาฟันปลอมใส่เข้าไปไอ้เดนนิสก็ร้องอ้าว แล้วเข้ามาจับมือกับอาจารย์ใหญ่ แล้วก็เชิญเข้าบ้าน พามาที่ห้องรับแขก บ้านมันก็หลังเล็กๆ น่ะ มาถึงเราก็หอบปืนพะรุงพะรังเข้ามา อาจารย์ก็มาคุยกับเดนนิส เขารู้แล้วว่าเกิดรัฐประหาร เดนนิสถามว่าจะให้เขาช่วยเหลืออะไรบ้าง อาจารย์บอกว่าช่วยพาหนีไปต่างประเทศที รู้ว่าสู้ไม่ได้แล้ว ขืนอยู่ต่อไปถูกจับตัวแน่ เดนนิสตกลงจะช่วย บอกให้อยู่ที่นี่เดี๋ยว เขาจะออกไปเจรจาทำเรื่องที่สถานฑูต พวกเราก็รออยู่ในบ้านเดนนิส เดนนิสไปปรึกษากับฑูตและเรียกฑูตอเมริกันมาร่วมปรึกษาด้วย เพราะเราจะขอลี้ภัยไปต่างประเทศ จะใช้อะไรเป็นพาหนะพาไป ผู้ช่วยฑูตทหารอเมริกันชื่อกาเดสเขามีเรือยนต์เร็วอยู่ลำหนึ่งเร็วเท่าเรือยามฝั่ง เป็นเรือประจำตัวของเขา จึงตกลงจะใช้เรือลำนี้ไปส่ง แล้วทางสถานฑูตอังกฤษก็โทรเลขไปให้เรือน้ำมันของเชลล์นี่ละว่าให้ชะลอเรือคอยรับพวกเราที่ปากน้ำด้วย หมายความว่าอังกฤษกับอเมริการ่วมกันช่วยเราในฐานะเพื่อนเก่าเมื่อครั้งทำเสรีไทยด้วยกัน

กาเดสก็ไปเอาเรือซึ่งฝากไว้ที่บ้านหลวงสุขุม เพราะที่นั่นเขามีโรงเก็บเรือ ให้น้องเมียมันขับมารอรับเราที่คลองเตย เราก็นั่งรถจิ๊ปของเดนนิสมาลงที่ท่าเรือคลองเตย ตอนนั้นเรามีเสื้อผ้ามากันคนละชุดเท่านั้น ไม่มีอะไรเลย ตัวเปล่าเล่าเปลือย ยังไงก็ไปสู้กันดาบหน้าหาเอา เดนนิสมันไม่ให้เราติดอาวุธไปเลย บอกถ้าพกไป เกิดเรื่องขึ้นมามันจะยิงเราได้โดยอ้างว่าเราต่อสู้ แต่ถ้าเรามือเปล่าแล้วก็นั่งไปในรถฑูต มันทำอะไรเราไม่ได้ เราเลยต้องทิ้งปืนผาหน้าไม้ไว้ที่บ้านเดนนิสหมด ไปแต่ตัวเปล่า

ตอนนั้นไปกันสี่คน มีลุง อาจารย์ คุณแช่ม จสต.สิงห์โต ไทรย้อย ตำรวจประจำทำเนียบ พี่เล็กไปส่งถึงเรือใหญ่ด้วย แล้วก็กลับ ครอบครัวไม่มีใครรู้เลยว่าลุงไปยังไงมายังไง หายเงียบไปเฉยๆ เลย พอไปถึงที่หมายปากน้ำ เรือน้ำมันที่เดนนิสมันสั่งไว้ให้ชะลอคอยรับพวกเรานั้นมันแล่นออกไปถึงเกาะไผ่ เลยเกาะสีชังแล้ว เราต้องวิ่งไปตามทันกันที่เกาะไผ่ ก็ปีนขึ้นเรือใหญ่กัน”

อนึ่ง หนึ่งในคณะลี้ภัยนี้คือจุฬาราชมนตรีและสมาชิกมุสลิมคณะราษฎร ‘แช่ม พรหมยงค์’ ก็ได้บอกเล่าเรื่องราวอย่างละเอียดให้สุพจน์ ด่านตระกูล นำมาเรียบเรียงในหนังสือชื่อว่า ‘อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้’ [25] ไว้ด้วยเช่นกัน


ปรีดี กับ แช่ม พรหมยงค์ (อดีตจุฬาราชมนตรี และมุสลิมผู้ก่อการ 2475)


สิงคโปร์ – ฮ่องกง – กวางเจา – เซี่ยงไฮ้

ร.อ.วัชรชัย ยังบอกกล่าวสถานการณ์ต่อเนื่องหลังโดยสารเรือออกนอกประเทศไปได้แล้วว่า

ลุงจำได้ว่า ลุงหลบหนีจากเมืองไทยดูเหมือนจะเป็นวันที่ 20 พ.ย. คือหลังจากวันถูกรัฐประหารแล้ว 12 วัน ถึงได้หลบออกไปสิงคโปร เมื่อไปถึงเกาะเซนต์จอน อาจารย์ก็ส่งโทรเลขไปหาคุณดิเรก (ดิเรก ชัยนาม) ฑูตไทยที่อังกฤษ คุณดิเรกส่งเงิน 500 ปอนด์มาช่วยอาจารย์ เราจึงมีเงินใช้กันเองบ้าง…อังกฤษมันเริ่มจะเอาใจรัฐบาลใหม่แล้ว ลุงจึงปรึกษาอาจารย์ว่า เอ อาจารย์เราอยู่อย่างนี้เหมือนไอ้อังกฤษมันเอาเรามาปล่อยเกาะเหมือนนโปเลียนเสียแล้วนา อาจารย์ท่านก็รู้ว่าอังกฤษมันกำลังปล่อยเกาะเรา ไม่ยอมให้เรากระดิกกระเดี้ยไปไหน ท่านก็เลยหาเรื่องขอย้ายไปอยู่บ้านเพื่อนที่สิงคโปร อังกฤษมันก็ไม่ยอมให้เรามาอยู่สิงค์โปรได้ เราก็ย้ายมาอยู่ที่บ้านคุณย้ง คุณย้งนี่แกเป็นผู้จัดการของบริษัทเซ้าอี๊สเอเชียอยู่ที่สิงคโปร…โดยคุณย้งออกค่ากินอยู่เลี้ยงดูพวกเราทุกอย่าง

ตอนนั้นอาจารย์กินเหล้าทุกวัน เหล้าวิสกี้ กินวันละเกือบขวด คงกลุ้มใจมาก ลุงยังบอกว่า เอ อาจารย์กินหนักอย่างนี้ไม่ได้นา จะคิดอะไรไม่ออก ขอร้องอาจารย์ยังไง อาจารย์ก็ไม่ยอมหยุด ลุงเลยคิดอุบายจะให้อาจารย์หยุดเหล้าให้ได้ ก็คิดจะให้อาจารย์หันมาติดฝิ่นแทนเสียดีกว่า แล้วค่อยแก้กันทีหลัง เวลานั้น คุณแช่มแกเดินเข้าออกเมืองไทยได้อยู่ ลุงเลยบอกให้คุณแช่มช่วยหาฝิ่นติดมาหน่อย จะเอามาให้อาจารย์สูบ อาจารย์จะได้หยุดเหล้าได้เสียที แต่คุณแช่มนี่แกนับถืออาจารย์ยิ่งกว่าพระเจ้า แกเอาเรื่องไปบอกอาจารย์หมด อาจารย์เลยเรียกลุงไปบอกว่า ไม่ต้องทำถึงขนาดนั้นหรอก จะค่อยๆ เลิกเอาเองแหละ ท่านถึงรู้ว่าเราเจตนาดี ห้ามเท่าไรก็ไม่หยุดนี่หว่า”

“อยู่มาวันหนึ่ง คุณแช่มเข้ามาบอกว่า คุณเฉียบ (รตอ.เฉียบ ไชยสงค์) มาจากเมืองไทย จะมาเยี่ยมพวกเรา ถูกตำรวจสิงคโปรจับตัวฐานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เฉียบนี่เดิมอยู่สันติบาลเป็นนายตำรวจติดตามหลวงสังวรฯ การที่สิงคโปรจับเฉียบซึ่งมันรู้ว่าเป็นคนของเรา เท่ากับเป็นการตบหน้าเรา ลุงและอาจารย์จึงชักสงสัยว่าไอ้อังกฤษมันคงจะเล่นไม่ซื่อกับเราเสียแล้ว มันช่วยเราแรกๆ เท่านั้น พอตอนหลัง มันเห็นผลประโยชน์มันได้จากรัฐบาลใหม่มากกว่า มันจะมาคบเราเรื่องอะไร ลุงกับอาจารย์เริ่มกลัวว่ามันอาจจะจับเราส่งกลับเมืองไทยก็ได้ จึงคิดจะออกจากสิงคโปรไปเมืองจีน ตอนนั้นเมืองจีนไคเชคยังปกครองอยู่ แล้วคุณสงวน (สงวน ตุลารักษ์) แกก็เป็นฑูตอยู่ที่เมืองจีน แต่ตอนหลังจอมพล ป. ปลดแกออกจากการเป็นฑูตตั้งพระยาอภิบาลมาเป็นฑูตแทน แต่เจียงไคเชคอนุญาตให้คุณสงวนอยู่ในเมืองจีนโดยไม่ต้องเป็นฑูตก็ไม่เป็นไร เพราะเคยร่วมงานเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นมา อาจารย์จึงคิดจะไปเมืองจีนพบคุณสงวน…

เราก็เลยหลบออกจากสิงคโปรไปโดยเรือของโหงวฮก ไม่ได้ร่ำลาข้าหลวงสิงคโปร หนีมันไปเฉยๆ เลย เรียกว่าผิดมารยาทก็ยอม เพราะมันทำท่าจะไม่เป็นมิตรกับเราแล้ว มันก็ไม่ได้สนใจอะไรเราด้วย…

ไปถึงฮ่องกงก่อน ไปถึงก็ขึ้นฝั่ง ที่ฮ่องกงนี่ก็มีบริษัทเซ้าอี๊สเอเชียอยู่เหมือนกัน ชื่ออั๋นเป็นผู้จัดการอยู่ เขาเป็นหลานเจ้าคุณพหลฯ เขาก็มารับเราที่ฮ่องกง ก็ไปอยู่ที่แฟลตของคุณวิลาศที่เช่าเอาไว้ คุณวิลาศเขาเป็นประธานธรรมการใหญ่ของบริษัทเซ้าอี๊สเอเชีย เราก็ไปอยู่ที่นั่น ต่อมาเราก็ให้คุณอั๋นพาเข้าไปกวางโจว ไปโดยรถไฟ ไปอยู่ที่โฮเต็ลอ้อนควั่น ริมแม่น้ำจูเจียง คุณอั๋นเขาจัดการทำบัตรผ่านแดนให้เสร็จ จากกวางโจวเราก็ขึ้นไปอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ โดยรัฐบาลเจียงไคเชครับทราบเรื่องราวของเราและให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกระหว่างอยู่ในจีนในช่วงนั้น”

คุณลุงตุ๊เล่าให้ฟังถึงความหลังครั้งที่ต้องหลบหนีการรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ให้ฟังอย่างสนุกตื่นเต้น ขณะที่ท่านจากครอบครัวลูกเมียและบ้านเกิดเมืองนอนไประเหเร่ร่อนอยู่ในต่างแดนนั้น ท่านมีอายุเพียง 33 ปี…คุณลุงตุ๊กล่าวประโยคนี้กับผมด้วยน้ำตาคลอเบ้า ผมรู้ว่า คุณลุงตุ๊ขมขื่น เจ็บปวดมามากกับชีวิตของความเป็น ‘ผู้แพ้’ ทางการเมือง เพราะน้ำตาของชายชาติทหารใช่จะไหลหลั่งกันง่ายๆ และผมก็เพิ่งจะได้เห็นหยาดน้ำตาจากคำกล่าวประโยคนั้นของท่านในช่วงเกือบ 30 ปีที่รู้จักกับท่าน”

คำบอกเล่าของ ร.อ.วัชรชัย ต่อวรรณไว ในอนุสรณ์งานศพเล่มนี้ยังคงมีต่อเนื่องไปจนถึงการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยเพื่อกลับมาชิงอำนาจทางการเมืองคืนเมื่อ 26 ก.พ. 2492 จนถึงรายละเอียดการหลบหนีของปรีดีในครั้งที่ 2


เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันทน์ (พ.ศ. 2459 – 2504)

ยอดตำรวจสันติบาลผู้จงรักภักดีต่ออาจารย์ปรีดี


ในหัวข้อข้างต้นอ้างถึงบันทึกของนายเฉียบ อัมพุนันท์ บุคคลท่านนี้เดิมใช้นามสกุล ชัยสงค์ ตามนามสกุลบิดาบุญธรรม คือ ขุนเวชศาสตร์ศุภนิต เนื่องจากพระศรีธนาทร บิดาที่แท้มอบให้อยู่ในอุปการะ เขาจบนายร้อยตำรวจปี พ.ศ. 2480 ได้รับยศร้อยตำรวจเอกเมื่อ พ.ศ. 2485 พร้อมย้ายเป็นตำรวจสันติบาลเพื่อร่วมขบวนการเสรีไทยกับอาจารย์ปรีดี

ร.ต.อ.เฉียบได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 จนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไปยังสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และสิ้นสุดด้วยการไปอยู่กับคณะของปรีดีที่ประเทศจีน เขาเดินทางกลับสู่ประเทศไทย พ.ศ. 2499 เริ่มก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อศรีอารยเมตไตรย และกลับมาใช้นามสกุลเดิม ‘อัมพุนันทน์’ พร้อมคืนยศนายร้อยตำรวจเอก ระยะนี้เขาจัดพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติเล่าถึงชีวิตช่วงปฏิบัติการเสรีไทยจนถึงรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 เล่มสำคัญชื่อว่า ‘มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า’ (พ.ศ. 2500) ถัดมาอีกเพียงหนึ่งปี พ.ศ. 2501 คุณเฉียบถูก ‘ขังทิ้ง’ โดยไม่มีการนำตัวขึ้นฟ้องต่อศาลยุติธรรมด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทั่งจบลงด้วยโศกนาฏกรรมเสียชีวิตระหว่างนั้นด้วยโรคโลหิตเป็นพิษเมื่อต้นปี พ.ศ. 2504


มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า (พ.ศ. 2500) โดย เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันทน์


หนังสือ ‘มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า’ เล่มดังว่าคือบันทึกประวัติศาสตร์ที่ให้ภาพรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ที่มีคุณค่าสูงยิ่ง เนื่องด้วยเขาเป็นนายตำรวจสันติบาลฝ่ายของปรีดีที่ได้เข้าพบจอมพล ป.พิบูลสงคราม ณ ‘วอร์รูม’ กระทรวงกลาโหม เมื่อเช้าวันที่ 9 พ.ย. 2490 โดยฉายภาพฉากที่ประสบพบเห็นไว้ว่า

 “ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนกระทรวงกลาโหมด้วยอาการไว้เนื้อเชื่อใจ และอย่างมีเสรีภาพที่สุดในเช้าวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490…ข้าพเจ้าต้องชะงักทันที เพราะได้พบบุคคลสำคัญในวงการเมืองเข้า เขาผู้นั้นคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่งอยู่ที่เก้าอี้หน้าประตูเข้าห้องประชุมใหญ่นั้น…บุรุษผู้นี้เป็นนักการเมืองแห่งระบบศักดินาที่สามารถและปัจจุบันนี้ก็มีฝีปากที่คมกริบจนได้ฉายาว่า ‘ปากตะไกร’…

ข้าพเจ้าเดินเลี้ยวขวาเข้าประตูเข้าไปในห้องประชุมนั้น มันเป็นห้องโถงที่ใหญ่โตมิใช่เล่น กึ่งกลางห้องมีโต๊ะยาวบรรจุคนที่ประชุมได้ประมาณ 50 คน ณ ที่นั้นข้าพเจ้าได้เหลือบไปพบจอมพล ป.พิบูลสงคราม นั่งอยู่ที่หัวโต๊ะสุดก้นห้อง บุคคลที่อยู่ในห้องนั้นเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ส่วนมากเป็นนายพลทั้งสิ้น อินธนูเหลืองอร่ามไปทั่วทุกตัวคน…

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะถึงจอมพล ป.พิบูลสงคราม อีกก้าวเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าก็สะดุ้งอีกครั้งหนึ่ง เพราะได้พบบุคคลสำคัญทางการเมืองเข้าให้อีก คราวนี้ยิ่งใหญ่ไปกว่าที่หน้าประตูนั้นเสียอีก เขาผู้นั้นคือ ‘นายควง อภัยวงศ์’ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนแห่งระบบศักดินา…

ข้าพเจ้าชิดเท้าแล้วคำนับจอมพล ป.พิบูลสงคราม…ท่านมิได้สวมเครื่องแบบของจอมพลแต่สวมเสื้อสากลทับเสื้อเชิ้ต โดยไม่มีผ้าผูกคอ หากแต่มีผ้าพันคอแบบที่เคยเล่นกีฬา[26]และดูเหมือนว่าจะนุ่งกางเกงขาสั้นด้วย…”[27]

สุวัฒน์ วรดิลก ขณะถูกจองจำได้อยู่เป็นประจักษ์พยานวาระสุดท้ายของนายตำรวจอุดมการณ์สูงท่านนี้ โดยเขียนบรรยายไว้ในจดหมายถึงมารดาว่า “คุณ เฉียบ อัมพุกานนท์ ตายเสียแล้วจ๊ะแม่ เมื่อคืนวานซืนนี้เอง…หลายคนอาจไม่ชอบคุณเฉียบ…ก็ได้แต่โฆษณาคุณงามความดีของอาจารย์ ปรีดี ซึ่งแกจงรักภักดีเสมอชีวิต แต่เมื่อแกต้องจากเราไปในสภาพของ ‘เหยื่อเผด็จการ’ คนหนึ่ง เราก็อดจะสะเทือนใจมิได้เลยความจริงการยกย่องบูชาอาจารย์ปรีดี ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร เพราะท่านเป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติมากมาย รวมทั้งเป็นผู้กู้ชาติโดยขบวนเสรีไทยอีกด้วย การยกย่องบูชาบุคคลที่ควรบูชา ย่อมเป็นการกระทำที่ถูกต้อง

อิศรา อมันตกุล เอ่ยให้สุวัฒน์ได้ยินว่า “แกเป็นคนไม่มีพิษมีภัยกับใคร ไม่ยุ่งกับใครด้วย ที่น่ารักก็คือแกไม่ชอบนินทาว่าร้ายใคร”[28]

งานฌาปนกิจของคุณเฉียบจัดพร้อมกับภริยาเมื่อเวลาล่วงเลยมา 13 ปี กลาง พ.ศ. 2517 งานศพนี้ปรากฏการพิมพ์หนังสืออนุสรณ์จำนวน 2 เล่ม หนึ่งในนั้น ปรีดี พนมยงค์ ส่งคำไว้อาลัยจากชานกรุงปารีส จัดพิมพ์ในเล่มขนาดยาวถึง 29 หน้า บอกเล่าถึงประวัติและหัวจิตหัวใจอย่างนักสังคมนิยมของผู้วายชนม์ไว้ว่า

“…ช่วยเหลือกรรมกรในงานชุมนุมใหญ่แห่งวันกรรมกรสากล (1 พฤษภาคม 2490) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย คุณเฉียบฯ จึงได้เปลี่ยนจิตสำนึกจากการเป็นนายตำรวจของฝ่ายนายทุน มาเป็นนายตำรวจของฝ่ายกรรมกร และได้ทำการต่อต้านพวกที่มีซากทัศนะทาสกับทัศนะศักดินา ซึ่งพยายามที่จะฟื้นฟูระบบถอยหลังเข้าคลองขึ้นมาอีก…คุณเฉียบฯ จึงเห็นว่าเมื่อตนยืนหยัดในชนชั้นวรรณะกรรมกรแล้วก็ไม่เสียดายยศนายตำรวจและไม่ต้องการให้รัฐบาลบรรจุตนเข้าประจำการเป็นตำรวจตามสิทธิที่ควรมี ฉะนั้นจึงขอพระราชทานเวนคืนยศนายตำรวจเอก ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามความประสงค์ของคุณเฉียบ

คุณเฉียบได้ดำเนินจัดตั้งสหภาพแรงงานหลายอาชีพภายใต้การนำของพรรคศรีอารยเมตไตรย ตนเองกับคณะได้แต่งกายอย่างกรรมกร คือใช้กางเกงผ้าและเสื้อเชิร์ตสีน้ำเงินแก่…มรณกรรมของคุณเฉียบฯ ทำให้ครอบครัว, ญาติมิตร รวมทั้งข้าพเจ้ากับภรรยามีความเสียใจและอาลัยเป็นอันมาก คุณเฉียบฯ เป็นมิตรคนหนึ่งที่ซื่อสัตย์ของข้าพเจ้ากับภรรยาตลอดมา ยิ่งในคราวที่เราตกทุกข์ได้ยาก คุณเฉียบฯ ก็มิได้ท้อถอยในอุดมคติและความรักกับความนับถือที่มีต่อเราทั้งสอง[29]


หนังสืองานศพ เฉียบ อัมพุนันทน์ (ชัยสงค์)


พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ, พ.ศ. 2444 – 2515)

อัตชีวประวัติแบบฉบับ ‘ปูมโหร’ ของนายทหารเรือคณะราษฎรผู้ยิ่งใหญ่


“ขณะนั้นคณะรัฐประหารมีนโยบายต่อกองทัพเรือ โดยการพยายามหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งให้มากที่สุด เพราะคณะรัฐประหารทราบดีว่ากองทัพเรือ ขณะนั้นมีสมรรถภาพและอาวุธยุทธภัณฑ์เหนือกว่ากองทัพบก โดยเฉพาะกองพล “คอหนัง” หรือนาวิกโยธิน ภายใต้การบัญชาการของนายพลเรือร่างเล็กทหาร ขำหิรัญนั้น เป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในความเข้มแข็ง”[30]  สุพจน์ ด่านตระกูล

นาม ‘หลวงสังวรฯ’ มักจะถูกเอ่ยขึ้นเสมอในกรณีปรีดีหนี เคียงคู่กับอีกหนึ่งลูกประดู่ ‘คุณทหาร’ ชื่อเดิม ทองหล่อ นามสกุลขำหิรัญ[31] นายทหารเรือคู่นี้นับเป็นญาติกัน ทั้งยังเกิดปีเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2444 และยังชักชวนกันเข้าร่วมก่อการในคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475

หลวงสังวรฯ นับเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลด้วยกองกำลังทหารเรือเคียงคู่กับคณะราษฎร ช่วงระยะสงครามมหาเอเชียบูรพาเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยกับนายปรีดี จนเมื่อสงครามยุติ นายปรีดีได้โยกท่านมารักษาการตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ สมัยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ก่อนเกิดการรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ฐานบัญชาการหลักของคุณหลวงตั้งอยู่ยังจังหวัดชลบุรี ร่วมกับฐานทัพของหน่วยนาวิกโยธินที่มี พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ เป็นผู้บัญชาการรบ ทั้งคู่ช่วยพิทักษ์ความปลอดภัยให้ปรีดีในการหลบหนีภัยรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ก่อนหาช่องทางส่งปรีดีหนีออกนอกประเทศได้สำเร็จ อีกทั้งยังคงบทบาทต่อกรกับคณะรัฐประหาร 2490 ในอีกปีเศษถัดมาเมื่อปรีดีพยายามกลับมาทวงคืนประชาธิปไตยแต่ล้มเหลวจนกลายเป็น ‘กบฏวังหลวง 26 ก.พ. 2492’


ปรีดี และ หลวงสังวรยุทธกิจ กับงานเสรีไทย


หนังสืองานศพของหลวงสังวรฯ คือหนึ่งในเอกสารชิ้นสำคัญของการศึกษาการเมืองไทยระหว่าง พ.ศ. 2475 – 2492 อนุสรณ์งานศพเล่มใหญ่ขนาดหนา 200 หน้าเศษนี้ ทายาทเขียนถึงว่าเป็น “ประวัติอันแท้จริงของคุณพ่อ ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ด้วยลายมือของท่านเอง โดยมีดวงชะตากำกับอยู่ตลอดทั้งเล่ม แต่ผู้เรียบเรียงเห็นว่า ส่วนมากยังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องโหราศาสตร์ จึงมิได้นำดวงชะตาลงไว้

ครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านเคยปรารภว่า เรื่องที่แล้วมานั้น ไม่ต้องการที่จะให้พาดพิงหรือเสียหายถึงผู้ใด และท่านก็ไม่มีความประสงค์ที่จะเปิดเผยบันทึกของท่านด้วย แต่ลูกๆ มีความเห็นว่า บันทึกของคุณพ่อฉบับนี้ คงจะมีประโยชน์ในการเชื่อมโยงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ซึ่งบางท่านยังไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่ก็ขอสงวนไว้โดยเจตนารมณ์ของท่าน จึงได้ตัดข้อความบางตอนที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นออกเสีย แต่ก็มิได้เติมหรือแก้ไขข้อความและสำนวนของท่านเลย…” พร้อมด้วยคำไว้อาลัยอันทรงคุณค่าของปรีดี พนมยงค์


หนังสืองานศพ หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ)


ผู้เขียนขอยกบางย่อหน้าสำคัญที่หลวงสังวรฯ เล่าถึงการรัฐประหาร 2490 และระยะที่ได้ช่วยเหลืออาจารย์ปรีดีไว้ดังต่อไปนี้

“ปี 2490 ปูม 9 ก่อนเกิดรัฐประหาร 2-3 วัน แม่เฉลิม เมียรักฝันไปว่า มีเพชรฆาต 4 คนถือดาบยืนจ้องมาทางประตูห้องนอน เตรียมประหัตประหารเรา…โชคชะตาเราเป็นเช่นนี้…ชะตาเราอับจึงพลอยศูนย์เสียความดีแต่เก่าก่อนไปเสียอีกด้วย ทั้งพระเสาร์เสวยอายุบวกเข้าอีกด้วย เราจึงต้องนิราศบ้านเรือนต้องตกระกำลำบากไปตามชะตากรรมซึ่งเป็นเทวโองการที่มนุษย์ทุกคนฝืนไม่ได้…

พอพระจันทร์โคจรเข้าราศีอริ ในคืนที่เรามีสุขนั่งชมละครของพระองค์หญิง (เฉลิมเขต) กับนายตำรวจ 27 นาย ซึ่งมีการขอลาไปก่อนเลี้ยงอาหาร 3 นาย ได้ความภายหลังว่าไปหาหลวงอดุลย์ ทหารคนสนิทของเราได้มาบอกขณะชมละครว่าในเมืองเกิดยุ่งใหญ่ ทหารบกเต็มไปหมด แลมีหน่วยรถเกราะกำลังเคลื่อนมาทางบางกะปิ (บ้านหลวงสังวรฯ – ผู้เขียน)…เราจึงรีบลุกขึ้นเดินกลับบ้านพร้อมด้วยนายตำรวจ มาตระเตรียมตัวเพื่อให้รู้เรื่องกันที่บ้านก่อน ปรากฏว่าโทรศัพท์ติดต่อไม่ได้สักแห่งขาดหมด…นายตำรวจสันติบาลจึงขอร้องให้เราหาทางออกไปจากบ้าน เพื่อติดต่อจัดการภายนอก…

ราว 5 โมงเช้า (10 พ.ย. – ผู้เขียน) พล.ร.ต.ทหารมาถึง ก็บอกว่าทำอะไรไม่ได้…เราจึงนั่งหัวมึนอยู่สักครู่ คุณทหารก็ชวนเข้าพระนครโดยเรือยนต์ของเรือทุ่นระเบิด เรามาถึงท้องพระโรงในตอนค่ำ…คุณชลีพาเรากลับไปกองเรือรบ พอย่างเข้าไปในห้องหลวงนาวา ก็พบท่านปรีดีนั่งอยู่เตรียมจะกินข้าวผัดที่กำลังไปซื้อ ตอนนี้พบขุนลิขิตบอกว่า เป็นผู้พาท่านปรีดีกับบริวาร 3-4 คนไปในสวนตลอดวัน พอค่ำจึงได้มาที่นี่…

เรามาตื่นตอนสางวันรุ่งขึ้น เสียงฮะโหลของหลวงธำรงทักเข้ามา แล้วเขาก็ปรึกษากับท่านปรีดีเรื่องฐานะรัฐบาลเก่ากระจัดกระจายมากเวลานี้ คงไม่สามารถทำอะไรกับการเกาะกลุ่มของประชาธิปัตย์และคณะเจ้ากับคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นทหารบกเกือบ 80 % ได้ แล้วก็มีการปรึกษากันว่าจะไปตั้งตัวใหม่ต่างประเทศ

เขาหันมาชวนเราซึ่งยังไม่ตอบว่าอย่างไร ก็พอดีหลวงนาวา (พล.ร.ท.ผัน นาวาวิจิต – ผู้เขียน) ข้ามมาจากกองเรือรบ หลวงนาวาคงซุบซิบอะไรกับท่านปรีดีแล้วการเตรียมจัดเรือส่งพวกเราข้ามไปบางนาพร้อมด้วยคุณทหารด้วย ก่อนจากท้องพระโรงไปโดยเราก็ไม่ได้พบกับหลวงสินธุ์ (พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน – ผู้เขียน) หลวงนาวาบอกเราต่อหน้าปรีดีว่า ‘คุณหลวงแล้วก็เข้าหาเขาเสียอีกหนาพวกเราเขาด่ากัน’ ซึ่งเรายังไม่เข้าใจความหมาย…อีกด้านหนึ่งคือคุณทหาร มีการติดต่ออยู่กับนายกรัฐมนตรีควงอยู่ตลอดเวลา…ในระหว่างนี้เป็นสมัยเปลี่ยนแปลงจริงๆ นายกควงจัดรัฐบาลประชาธิปัตย์อย่างจับแพะชนแกะ สภาก็อยู่ในทำนองเต็มไปด้วยคณะเจ้า ส่วนคณะรัฐประหารก็มุ่งแต่กำลังทหาร…หลังจากวันรัฐประหารราว 2 อาทิตย์ ได้พบท่านปรีดีที่บ้านคุณประดิษฐ์ราว 1 ชั่วโมง บอกลาว่าจะไปเมืองนอก ซึ่งเราก็ได้แต่แสดงกิริยาสงสารท่านผู้มีกรรมนี้ และต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของคุณประดิษฐ์ช่วยเหลือท่านส่งไปสถานทูต…”[32]

บันทึกของหลวงสังวรฯ ยังคงร่ายยาวถึงความขัดแย้งของคณะรัฐประหารเช่นว่า “ราวกลางเดือนมีนาคม 2491 คุณเผ่าคุณละม้ายบอกว่า นายควงไปไม่รอด เดินกับพวกเจ้า 100 % ซึ่งเขาคิดว่าจะนำอันตรายอย่างที่สุดมาให้พวกก่อการ” ต่อเนื่องไปถึงการนัดพบกับปรีดีอีกครั้งหลังเดินทางกลับจากประเทศจีนเข้ามาก่อการชิงอำนาจคืนและล้มเหลว จนแม้แต่กับตัวหลวงสังวรฯ ก็ต้องพลอยประสบเคราะห์กรรมตามดวงชะตาที่ได้พยากรณ์ไว้เอง!


ไสว สุทธิพิทักษ์ (พ.ศ. 2460 – 2537) คนเขียนชีวประวัติปรีดีคนแรก

กับหนังสือ ‘ปรีดีหนี’ ของ นิร นิรันดร


ไสว สุทธิพิทักษ์ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช และเลขานุการนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลหลวงธำรงฯ ภายหลังรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 เขาได้ยุติบทบาททางการเมืองและหันมาเปิดสำนักทนายความย่านมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ช่วงเวลานี้เอง ไสวได้ถ่ายทอดเรื่องราวการหลบภัยของปรีดีแก่หนุ่มน้อยวัย 18 ปีผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักหนังสือพิมพ์นามว่า วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร (มีศักดิ์เป็นบุตรพี่ชายท่านผู้หญิงพูนศุข และภายภาคหน้ามีชื่อเสียงระดับราชบัณฑิต[33]) จนนำไปเขียนเป็นหนังสือสารคดีการเมืองชื่อ ‘ปรีดีหนี’ (พ.ศ.2491) ด้วยนามปากกา ‘นิร นิรันดร’ ประกอบภาพวาดปกฝีแปรงของ ‘ปยุต เงากระจ่าง’[34]


ปรีดีหนี (พ.ศ.2491) โดย วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร


ภายหลังหนังสือฉบับนี้วางแผงเพียงครึ่งปี ความล้มเหลวของปรีดีในฉายา ‘กบฏวังหลวง 26 ก.พ. 2492’ ส่งผลให้ไสวผู้เป็นคนสนิทจำต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อ 22 มี.ค. 2492 เขาบรรยายเส้นทางขณะนั้นไว้ว่า “ได้หลบหนีจากกรุงเทพฯ ลอบลงเรือโดยสาร มาขึ้นบกที่สงขลาแล้วเดินทางต่อไปยังมลายู ทั้งโดยทางเท้า ทางรถไฟ และรถโดยสาร โดยมีจุดหมายปลายทางที่สิงคโปร์” และเป็นปีนั้นเองที่ไสวได้เรียบเรียงชีวประวัติของปรีดีเล่มแรกชื่อเรื่องว่า ‘ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับการปฏิวัติ’ พร้อมส่งต้นฉบับให้ภริยาที่กรุงเทพฯ ติดต่อกับสำนักพิมพ์เพื่อจัดพิมพ์ออกจำหน่าย[35]


ปรีดี กับ ไสว สุทธิพิทักษ์


‘ปรีดีหนี’ (2491) เล่มนี้ วิชิตวงศ์ต้องใช้ความกล้าหาญในการพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะไม่น้อย เมื่อขณะนั้นประเทศยังคงปกครองด้วยคณะรัฐประหาร 2490 เนื้อหาหลายเรื่องมีการแต่งเติมเสริมบทสนทนาที่ดูจะค้านกับข้อมูลภายหลังอยู่บ้าง เช่นเรื่องเล่าอ้างว่าปรีดีไม่มีเงินติดตัวเมื่อตอนลงเรือแจวที่ท่าช้าง แต่เนื้อหาเล่มนี้กลับปรากฏบทสนทนาว่า “ออกเรือไปเร็วๆ เข้าเถิดลุง ผมให้ 100 บาท”[36] หรือแม้แต่รายละเอียดยิบย่อยเช่นความอยากบุหรี่ที่ชะรอยลืมติดตัวเพราะความรีบ จนต้องอาศัยยาสูบจากคนเรือที่เสนอว่า “ถ้าท่านไม่รังเกียจ เชิญสูบใบจากของผมก็ได้ขอรับ พูดแล้วเขาก็นั่งยองๆ เอื้อมมือยื่นกล่องยากับหินเหล็กไฟให้ ความต้องการกระทำให้ นายปรีดี รับกล่องยามามวนจุดสูบด้วยความกระหาย”[37] เป็นต้น

ทั้งยังปรากฏชื่อของ ‘โหรรัฐประหาร 2490’ เป็นครั้งแรกในย่อหน้าที่ว่า “คณะรัฐประหาร อันมี พลโท ผิน ชุณหวัน, พันเอก กาจ กาจสงคราม และพันโทก้าน จำนงภูมิเวท เป็นหัวหน้า ได้วางแผนการณ์รัฐประหารไว้อย่างเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่จะคอยฤกษ์ ซึ่งร้อยตรีทองคำ ยิ้มกำภู[38] ให้ไว้เท่านั้น[39]  


ส่งท้าย


ช่วงปัจฉิมวัย 13 ปีสุดท้ายของปรีดี พนมยงค์  ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถึงแม้ว่าท่านจะเขียนเรื่องราวจำนวนมากที่ให้ความแม่นยำและมีข้อมูลหนักแน่น ทว่าผู้อ่านที่นิยมรสดรามาอาจรู้สึกว่าจืดชืดไปบ้าง ต่างจากบันทึกของบริวารรายล้อมที่เต็มไปด้วยสีสัน ไม่ว่าจะแต่งเติมเสริมรสผ่านบทสนทนาในสารคดีการเมือง หรือแฝงรหัสนัยจากคำไว้อาลัยในอนุสรณ์งานศพที่ให้ความรู้สึกประหนึ่งกำลังเสพ Historical Fiction ชั้นดี

ข้อสังเกตสำคัญต่อความผูกพันของปรีดีที่มีต่อสหายใกล้ชิดเหล่านี้ (วัชรชัย, เฉียบ, หลวงสังวรฯ และ ไสว ล้วนเป็นสมาชิกเสรีไทย) ยังสะท้อนผ่านคำไว้อาลัยขนาดยาวที่ปรีดีส่งตรงจากกรุงปารีสในวันที่พวกเขาวายชนม์ไปแล้วเพื่อจัดพิมพ์ในอนุสรณ์งานศพ ไม่ว่าจะเป็น พล.ร.ต.หลวงสังวรยุทธกิจ (พ.ศ. 2516) หรือของเฉียบ อัมพุนันทน์ (พ.ศ. 2517) (ขุนลิขิตฯ เป็นเสรีไทยด้วยเช่นกันแต่ตายในปีที่ปรีดีลี้ภัยอยู่ในจีน ไม่พบคำไว้อาลัยในหนังสืองานศพ และ ร.อ.วัชรชัย มีชีวิตยืนยาวกว่าปรีดี ท่านผู้หญิงพูนศุขเขียนคำไว้อาลัยให้ในหนังสืองานศพ)

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ปรากฏคำไว้อาลัยของปรีดีในหนังสืองานศพของ ‘อดีตเพื่อนตาย’ หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารเรืออย่าง พล.ร.อ.หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน พ.ศ. 2444 – 2519) ผู้ลาโลกก่อนปรีดีถึง 7 ปีก่อนหน้าแต่อย่างใด

ขอทิ้งท้ายว่า ผู้เขียนจะยังคงเพียรแสวงหาโอกาสนำเสนอเรื่องราวที่ปรีดีพยายามต่อสู้เพื่อนำประเทศไทยหวนคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้งต่อจากการหนีครั้งแรกนี้ แต่กลับประสบความล้มเหลวจนต้องหนีอีกครั้งและถูกฝ่ายปฏิปักษ์ตีตราว่า ‘กบฏวังหลวง 26 ก.พ. 2492’ ในวาระต่อไป



[1] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ปรีดีนิราศ ปรีดีนิวัติ, สถาบันปรีดี พนมยงค์ เข้าถึงได้จาก https://pridi.or.th/th/content/2021/04/666

[2] พูนศุข พนมยงค์ คำชี้แจง, ปรีดี พนมยงค์ เขียน, จำนงค์ ภควรวุฒิ และ พรทิพย์ โตใหญ่ ร่วมแปล, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, พิมพ์ครั้งแรก 2529 (เทียนวรรณ), น.105-106.

[3] 80 ปี สุพจน์ ด่านตระกูล, ตุลาคม 2546 (สุขภาพใจ), น.43-47

[4] พูนศุข พนมยงค์ คำชี้แจง, ปรีดี พนมยงค์ เขียน, จำนงค์ ภควรวุฒิ และ พรทิพย์ โตใหญ่ ร่วมแปล, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, พิมพ์ครั้งแรก 2529 (เทียนวรรณ), คำชี้แจง.

[5] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ 7 พฤษภาคม 2516, (อรุณการพิมพ์),น.85.

[6] กราบการเมือง,ไท-สัปดาห์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 52 จันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2500,น.17, 35.

[7] สมุทร สุรักขกะ, 26 การปฏิวัติไทย และรัฐประหาร สมัย 2089 ถึง 2507, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2507,(โรงพิมพ์สื่อการพิมพ์),น.387-390.

[8] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ 7 พฤษภาคม 2516, (อรุณการพิมพ์),น.86.

[9] ฉลบชลัยย์ พลางกูร, ทำไมดิฉันจึงรัก เคารพและบูชาท่านปรีดี พนมยงค์, 60 ปี ประชาธิปไตย วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2535, น.64.

[10] การฌาปนกิจศพ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช ร.น. ณ ฌาปนสถาน เมรุ 1 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน วันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2539, ประวัติ.

[11] อ้างแล้ว.

[12] ดูปฏิทินย้อนหลัง https://www.myhora.com/ปฏิทิน/ปฏิทิน-พฤศจิกายน-พ.ศ.2490.aspx

[13] คำบรรยาย กฎหมายอาญาสำหรับประชาชน (บรรยายทางวิทยุกระจายเสียง) ของ นายหยุด แสงอุทัย เนติบัณฑิต และ ด๊อกเตอร์กฎหมายเยอรมัน พิมพ์เป็นที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนลิขิตสุรการ ตั้ง ทรรพวสุ ณ เมรุวัมงกุฏกษัตริยาราม วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม 2498, (โรงพิมพ์ภักดีประดิษฐ์).

[14] พูนศุข พนมยงค์, อย่ายิง…ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก เข้าถึงได้จาก https://pridi.or.th/th/content/2020/11/488

[15] นเรศ นโรปกรณ์, ปรีดีหนีคืนแรก, ไทสัปดาห์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 จันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2499,น.37.

[16] เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันทน์, มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า, พ.ศ.2500 (รวมสาส์น),น.66.

[17] อ้างแล้ว,น.68.

[18] อ้างแล้ว,น.71.

[19] สุพจน์ ด่านตระกูล อ้างชื่อว่า “บุศรินทร์” ดู ปรีดีหนี น.34.

[20] บุรินท์ พงศ์สุพัฒน์, อาลัยรักในพี่จริง อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก จริง จุลละสุขุม ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 28 กันยายน 2539, น.25-26.

[21] เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันทน์, มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า, พ.ศ.2500 (รวมสาส์น)น.73.

[22] อ้างแล้ว,น.88.

[23] สุพจน์ ด่านตระกูล, ปรีดีหนี พฤติการณ์ตอนสำคัญ ของ นายปรีดี พนมยงค์, พ.ศ.2527 (จิรวรรณนุสรณ์),น.58-59.

[24] พูนศุข พนมยงค์, อย่ายิง! ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก เข้าถึงได้จาก https://pridi.or.th/th/content/2020/11/488

[25] สุพจน์ ด่านตระกูล, อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้, พิมพ์ครั้งแรก 2547 (สุขภาพใจ),น.86-93.

[26] จากภาพเคลื่อนไหวครั้งนั้น สังเกตว่าจอมพล ป.ปรากฏกายในชุดที่มีผ้าพันคอตามที่เฉียบบรรยายไว้ ดู นาที 2:10 รัฐประหาร 2490 ฉบับสมบูรณ์ Coup d’etat 1947 เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=mSUd0akmzto

[27] เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันทน์, มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า, พ.ศ.2500 (รวมสาสน์), น.26-30.

[28] ศิวะ รณชิต (สุวัฒน์ วรดิลก), จดหมายจากลาดยาว ชีวิตของเหยื่อเผด็จการคนหนึ่งซึ่งถูกขังโดยไม่มีการฟ้องร้องในคุกลาดยาว พ.ศ.2503-พ.ศ.2506, พิมพ์ครั้งที่ 2 (อารยะสาส์น), น.111-113.

[29] ปรีดี พนมยงค์, ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันท์ ใน มนุษยสังคมปรัชญาเบื้องต้น (ตอนที่ 1) และบางเรื่องในนิตยสาร “สังคมสามัคคี” โดย นายเฉียบ อัมพุนันทน์ นายมหิทธิพล อัมพุนันทน์ งานฌาปนกิจศพ นางสุคนธ์ – นายเฉียบ อัมพุนันทน์ (ชัยสงค์) ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 2 มิถุนายน 2517, (ประจักษ์การพิมพ์). น.1-29.

[30] สุพจน์ ด่านตระกูล, ปรีดีหนี พฤติการณ์ตอนสำคัญ ของ นายปรีดี พนมยงค์, พ.ศ.2527 (จิรวรรณนุสรณ์), น.52.

[31] The People Story – ซอยทองหล่อ อนุสรณ์คณะราษฎร จุดเชื่อมต่อ https://fb.watch/cPwpzN8xJ1/

[32] พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรรณชีพ) ณ เมรุวัดธาตุทอง 27 ธันวาคม 2516, (ชวนพิมพ์), น.157-162.

[33]เสวนาวันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม 2563, รําลึกถึงเสรีไทย รําลึกถึง วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=6aYtoSdKNUM&t=3685s

[34] วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บุคคลในความทรงจำ, พ.ศ.2560 (แสงดาว), น.97 และ น.100.

[35] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ วันที่ 8 มิ.ย.2538,(ด่านสุธาการพิมพ์),น.129.

[36] นิร นิรันดร, ปรีดีหนี, พิมพ์ครั้งแรก 20 กันยายน 2491 (กรุงเทพไทม์),น.19.

[37] อ้างแล้ว,น.23.

[38] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, โหราจารย์การเมืองสมัยปฏิวัติ 2475, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 43 ฉบับที่ 3 มกราคม 2565, น.48-73.

[39] อ้างแล้ว,น.72.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save